Group Blog
All Blog
### ผู้ปฏิบัติไม่ควรมองข้ามความเพียร ###















“ผู้ปฏิบัติไม่ควรมองข้ามความเพียร”

ผู้ปฏิบัติจะเห็นคุณค่าของการเจริญสติ

 หลังจากที่ได้สัมผัสกับการรวมของจิต

หลังจากที่ได้สัมผัสกับสมาธิ

หลังจากที่ได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดจากความสงบของใจ

 อยากจะทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ไป

ไม่ว่าจะเป็นบุคคล จะเป็นข้าวของเงินทองอะไรต่างๆ

มันสู้ความสุขที่ได้จากความสงบไม่ได้

รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง

ผู้ใดได้สัมผัสรสแห่งธรรมแม้แต่เพียงชั่วขณะเดียว

 เหมือนกับลิ้มรสของอาหารเพียงหยดเดียว

ก็จะเกิดความยินดี ที่อยากจะลิ้มรสอาหารชนิดนั้น

จะไม่อยากลิ้มรสจะไม่อยากรับประทานอาหารชนิดอื่นอีกต่อไป

 เพราะรสของอาหารที่ได้ลองลิ้มรสนี้

มันดีกว่ารสอาหารทั้งปวงนั่นเอง

 รสแห่งธรรมก็เป็นอย่างนั้น รสแห่งธรรมก็รสของความสงบนี่เอง

 ความสงบที่เกิดจากการเจริญสติอยู่เรื่อยๆ

ตอนนี้ถ้าเรายังไม่มีความเพียรที่จะเจริญสติ

 เราก็ต้องใช้ความระลึกถึงผลที่เราจะได้รับจากการเจริญสติ

จากการเจริญความเพียร ว่าเราจะได้ผลที่ดีกว่า

สิ่งต่างๆ ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าเรารู้ว่าถ้าเราทำไปแล้ว เราจะได้รับผลที่ดีกว่าสิ่งที่เรามีอยู่

ก็จะทำให้เรามีกำลังใจที่จะหมั่นเจริญสติอยู่เรื่อยๆ

 หมั่นเพียรเจริญสติอยู่เรื่อยๆ

เมื่อมีความเพียรพยายามอยู่เรื่อยๆ ไม่ช้าก็เร็ว

ผลก็จะต้องปรากฏขึ้นมาอย่างแน่นอน

เพราะความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น

 อยู่ที่ความเพียรนี่เอง

ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรที่จะมองข้ามความเพียรไป

ควรมีความเพียรนี้ฝังอยู่ในใจเสมอ

พอตื่นขึ้นมาปั๊บ พอได้สติรู้สึกตัวขึ้นมา

ก็บอกว่าต้องทำความเพียรแล้ว ต้องเจริญสติแล้ว

 ถ้ามีอะไรมาเป็นอุปสรรค ต่อการเจริญสติต่อการทำความเพียร

ก็พยายามกำจัดมันไป ถ้าเป็นการงานก็ลดจำนวนงานลงไป

ถ้ายังมีความจำเป็นที่ต้องทำอยู่ก็ทำเท่าที่จำเป็น

อย่าทำไปมากกว่าความจำเป็น

ความจำเป็นพื้นฐานก็คือปัจจัย ๔ นี้เท่านั้น

คืออาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม

เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องมีไว้ในการดูแลรักษาร่างกาย

เพื่อจะได้ใช้ร่างกายนี้มาเจริญ มาทำความเพียร

มาเจริญสติ มาเจริญปัญญา มาเจริญสมาธิกัน

แต่อย่าทำมากไปกว่านั้นไม่เป็นประโยชน์อะไร

เงินทองที่มากกว่าเราจะต้องเอามาใช้ให้กับปัจจัย ๔ นี้

ไม่สามารถที่จะมาทำให้เราได้ความสงบ

ได้รสแห่งธรรมที่เหนือกว่ารสทั้งปวงได้

แต่สิ่งที่จะทำให้เราได้ ก็คือเวลา

ที่เราจะได้เอามาใช้กับการเพียรเจริญสติอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ดังนั้นถ้ามีอะไรเป็นอุปสรรคขวางกั้นในการทำความเพียร

เราต้องหาวิธีกำจัดเขาให้หมดไปให้ได้

 เหมือนกับเราเดินทาง เดินไปตามทางเดินแล้ว

ถ้ามีกิ่งไม้มีต้นไม้ขวางทางหรือมีอะไรขวางทาง

เราจะทำอย่างไร ถ้าเราต้องการที่จะเดินข้ามทางเหล่านี้ไป

เราก็ต้องกำจัดมันออกไป อะไรที่เป็นอุปสรรคขวางกั้น

การทำความเพียร เราต้องพยายามตัดมันไป

มันไม่มีคุณมีประโยชน์กับจิตใจ

มันอาจจะมีประโยชน์ กับการหาความสุขที่เราเคยหามา

 แต่ถ้าเรารู้ว่าความสุขที่เราได้จากสิ่งเหล่านี้

มันสู้ความสุข ที่จากการทำความเพียร เจริญสติทำใจให้สงบไม่ได้

 เราก็ตัดทิ้งมันไปดีกว่า

 เช่นเรายังติดอยู่กับการดูละคร

ติดอยู่กับการทำกิจกรรมสังคมอะไรต่างๆ

เราก็ต้องมาใช้ปัญญาพิจารณาชั่งน้ำหนักดูว่า

ความสุขที่ได้รับจากการดูละคร

ากการทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ นี้

มันสู้ความสุขที่ได้จากการมาทำใจให้สงบได้หรือไม่

และอะไรเป็นความสุขที่ถาวรอะไรเป็นความสุขชั่วคราว

ถ้าเราใช้การพิจารณาด้วยปัญญา เราก็จะเห็นว่า

ความสุขต่างๆ ที่เราเคยหาอยู่นี้มันเป็นความสุขชั่วคราว

เป็นความสุขที่ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอกับเรา

เป็นความสุขที่จะทำให้เราต้องดิ้นไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆ

เพราะเป็นความสุขที่เราต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

 พอร่างกายอันนี้ตายไป เราก็ต้องไปหาร่างกายอันใหม่

 เราก็ต้องไปเกิดใหม่ เมื่อไปเกิดแล้วก็ต้องไปเจอกับ

ความแก่ ความเจ็บ ความตายใหม่

แต่ถ้าเรามาหาความสุขที่เกิดจากความสงบนี้

 เราก็จะได้ความสุขที่ถาวร เพราะเป็นความสุขที่ติดอยู่กับใจ

จะไม่มีวันเสื่อมถ้าเรารู้จักวิธีสร้างมันขึ้นมาแล้ว

เราจะรู้จักวิธีรักษา และเราจะสามารถรักษา

ให้มันอยู่ไปกับใจไปได้ตลอด

เราไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือหาความสุขอีกต่อไป

 เมื่อร่างกายนี้ตายไปแล้ว เราก็ไม่ต้องกลับมาหาร่างกายอันใหม่

มาเกิด มาแก่ มาเจ็บ มาตายใหม่

เราก็จะได้หลุดพ้นจากความทุกข์ด้วยความเพียร

ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนไว้

ถ้าเราพิจารณาเปรียบเทียบชั่งน้ำหนัก

ระหว่างความสุข ๒ รูปแบบนี้แล้ว เราก็จะรู้ว่า

ความสุขที่ได้จากความสงบนี้เป็นความสุขที่แท้จริง

เป็นความสุขที่เราควรที่จะพุ่งเป้าไป

ถ้ามีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการหาความสุขจากความสงบ

เราก็ต้องตัดมันไป งานสังคมต่างๆ ภารกิจการงานต่างๆ

ถ้าเราพอมีพอกินแล้วอยู่ไปไม่เดือดร้อน

ก็ไปหาเงินทองมาเพิ่มขึ้นมาอีกทำไม

หาไปเท่าไรก็เท่านั้น หรือจะอ้างว่าหาให้คนนั้นคนนี้

หาไปให้เขาทำไม สู้สอนให้เขามาหาความสุข

ที่เกิดจากความสงบนี้ไม่ดีกว่าหรือ

ชวนเขามาบำเพ็ญมาปฏิบัติไปกับเรา

เขาจะได้รับความสุขที่แท้จริง

 ถ้าเรายังต้องหาเงินหาทองเพื่อให้เขาอยู่อย่างมีความสุขอยู่

 แล้วถ้าเราเกิดตายไปหรือเป็นอะไรไป เขาจะมีใครมาหาให้เขาได้

เขาก็ต้องหาของเขาเองอยู่ดี

เพราะฉะนั้นถ้าเราคิดอย่างนี้

เราก็จะสามารถที่จะตัด ความผูกพันธ์หรือภาระผูกพันธ์ต่างๆ

ให้หมดไปได้ เพื่อที่เราจะได้มีเวลามาสร้างความเพียรกัน

 มาเจริญสติกัน มานั่งสมาธิทำใจให้สงบเป็นหนึ่งกัน

เพื่อจะได้สัมผัสกับความสุขที่เกิดจากความสงบ

แล้วเมื่อได้รับความสุขที่ได้จากความสงบนี้แล้ว

ก็ใช้ปัญญารักษาต่อไป

สิ่งที่จะมาทำลายความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ก็คือความอยาก

ที่ยังไม่ตายไปจากกำลังของสติและสมาธิ

สติและสมาธินี้เพียงแต่ยับยั้งความอยากไว้ชั่วคราว

 แต่เวลาที่ใจออกมาคิดปรุงเเต่ง ความอยากนี้ก็จะโผล่ขึ้นมาได้

 เวลาโผล่ขึ้นมาถ้าปล่อยให้มันออกมาแผงฤทธิ์

มันก็จะมาทำลายความสุขที่ได้จากความสงบ

ดังนั้นเวลาเกิดความอยากก็ต้องใช้ปัญญา

 ปัญญาก็จะชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่ความอยากต้องการนั้น

 มันเป็นทุกข์ มากกว่าเป็นสุข เพราะว่ามันเป็นความสุขเดี๋ยวเดียว

 อยากจะไปเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เวลาไปเสพก็มีความสุข

แล้วพอไม่ได้เสพปั๊บมันก็หายไปหมด

 พอหายไปมันก็ทำให้เกิดความอยาก ที่จะเสพขึ้นมาใหม่

ก็ต้องไปเสพอยู่เรื่อยๆ เวลาที่ไม่ได้เสพ

ก็จะเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจขึ้นมา เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 นี่คือปัญญาสอนใจให้เห็นว่าอย่าไปทำตามความอยาก

สู้อยู่เฉยๆ สู้กลับมาทำใจให้นิ่ง ให้สงบหยุดความอยากดีกว่า

ถ้ามีทั้งปัญญา มีทั้งสติก็จะสามารถฝืนความอยากได้

ไม่ทำตามความอยากได้ พอไม่ทำตามความอยาก

ความอยากก็จะอ่อนกำลังลงไป

แล้วต่อไปความอยากก็จะไม่โผล่ขึ้นมาอีก

เวลาไม่มีความอยาก ใจก็จะนิ่งสงบเย็นสบายใจตลอด

นี่คือหน้าที่ของปัญญาคือคอยเตือนใจสอนใจ

ว่าการทำตามความอยากนี้เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับใจ

ไม่ใช่เป็นการสร้างความสุขให้กับใจ

การไม่ทำตามความอยากนี้ต่างหากที่จะทำให้สร้างความสุขให้กับใจ

ถ้าไปทำตามความอยาก ใจก็จะต้องทุกข์กับสิ่งที่อยากได้

 เพราะได้อะไรมาแล้วก็จะเกิดความหวงเกิดความห่วงใย

เกิดความรัก เกิดความผูกพันธ์

 เกิดความอยากไม่ให้สูญเสียสิ่งที่ได้มา

แต่ธรรมชาติของสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในโลกนี้

ที่ได้มาด้วยความอยากนี้ ไม่ช้าก็เร็วมันก็จะต้องมีวันเสื่อม

 มีวันหมดไป มีวันพลัดพรากจากกันไป

 พอเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

 อันนี้เป็นหน้าที่ของปัญญา ที่จะทำให้สามารถทำลาย

ความอยากต่างๆให้หมดไปจากใจได้

 ส่วนสติหรือสมาธินี้เพียงแต่หยุดไว้ชั่วคราว

เช่นเวลาเจริญมรณานุสตินี้

ก็จะไม่สามารถไปคิดถึงรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไม่สามารถไปคิดถึงสิ่งต่างๆ บุคคลต่างๆได้

 พอไม่ไปคิดใจก็จะมีความอยาก

พอใจสงบหยุดคิด ความอยากต่างๆ ก็จะหยุดไปพร้อมกับความคิด.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๙

“เพียรระลึกถึงความตาย”









ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 29 มกราคม 2559
Last Update : 29 มกราคม 2559 12:50:00 น.
Counter : 982 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ