...เมื่อไหร่เราจะตั้งคำถามกับสิ่งที่มันเป็นไป?...เรื่องยาวที่อยากให้คิด
ทุกวันนี้ พวกเราโดยส่วนใหญ่
ต่างมีชีวิตอยู่อย่างไร้คำถาม
ราวกับว่าทุกอย่างมีคำตอบ
และสูตรสำเร็จของมันอยู่แล้ว
แค่แทนค่าลงไปในสมการที่ให้มา
แล้วคิดให้ออกแล้วกัน
ทางเดินชีวิต เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นแค่สมการ
ไม่ต้องคิดถึงที่มาของสมการ
แค่ดำเนินรอยตามเท่านั้น
วิชาปรัชญาที่หาความหมายว่า
ชีวิตอยู่ไปทำไม
ความดีคืออะไร
ความจริงคืออะไร
ธรรมชาติมนุษย์คืออะไร
และชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร
กลายเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ
และเสียเวลาทำมาหากิน
ไม่มีความจำเป็นต้องไปคิดถึงมันอีก
นอกจากว่าจะคิดเล่นๆเป็นการบริหารสมองสนุกๆ


แล้วต่างคนก็ต่างวิ่งเข้ามาตลาดความรู้
เรียนรู้เพื่อที่จะชุบตัวเอง
ให้เป็นอะไรสักอย่างในสังคม
ให้มีที่ยืนในสังคมได้ ให้มีงานทำ ให้มีเงินใช้
นี่คือจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต
ที่สมการดังกล่าวบอกแก่เรา


เราเรียนเพื่อตอบโจทย์สำคัญที่ว่า
"จบแล้วจะไปทำอะไร"
เราถูกสอนให้คิดแบบเศรษฐศาสตร์
หรืออีกนัยหนึ่งคือ
คิดอย่างผู้ที่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์
เราคิดถึงต้นทุนของการเรียน
และกำไรที่จะได้จากการทำงาน
คิดมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่สภาพเศรษฐกิจที่ประสบ


ประเด็นอยู่ที่ว่า
มนุษยชาติกำลังถูกครอบงำด้วยเศรษฐศาสตร์
เราตั้งโจทย์โดยคำนึงถึงต้นทุน กำไรเป็นหลัก
(แปลว่ายังมีส่วนรองๆลงไปอีก ที่ไม่ใช่เรื่องเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ออาจจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ แต่ก็นับว่าน้อยมาก)
ดังนั้นเราจึงให้คำตอบต่อโจทย์เหล่านั้น
ด้วยภาษาของเศรษฐศาสตร์
อันสะท้อนถึงนัยยะของการเป็น
"ผู้ที่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์"


หาก...
ทำไมเราทั้งหลาย
ถึงยอมถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
อันเป็นการประกอบกันขึ้นอจากส่วนย่อยๆอันหลายหลาก
ลงมาเป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลเท่านั้น
ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ไม่แม่นยำเท่ากับคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ
ความเป็นมนุษย์ในส่วนอื่นๆของเรา
เราเอาไปไว้ที่ไหนเล่า


แล้วมนุษย์ก็ถูกระบบเศรษฐกิจ
ลดค่าลงไปเป็นทุนประเภทหนึ่ง
ตัวอย่างใกล้ตัวที่ทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์คือ
...คนแจกใบปลิว...
บ่อยครั้งที่คนที่ไม่อยากรับ อจะทำเป็นไม่เห็น ไม่สนใจ
หลายๆคนก็ไม่มองคนแจกเลย ทำเหมือนเค้าไม่มีตัวคน
...เป็นอากาศธาตุที่ว่างเปล่า
...เป็นเครื่องจักรชิ้นหนึ่ง
นั่นเป็นเพราะ ลึกๆแล้ว เรามองว่า ในชั่วขณะนั้น
เขาติดต่อกับเราในฐานะอะไรสักอย่างหนึ่ง
(จะว่าเครื่องจักรก็คงได้)
ที่มีหน้าที่แจก แล้วก็รับเงินเป็นค่าตอบแทน
คนแจกก็อาจจะไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดอะไร
เพราะตัวเองก็มองตัวเองเป็นเครื่องจักรเช่นกัน
ที่ทำหน้าที่ แล้วก็รับเงินเดือน
แต่ว่าความภูมิใจในความเป็นมนุษย์ของเขาล่ะ อยู่ตรงไหน


อะไรก็ไม่ร้ายเท่า มันทำร้ายสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของธุรกิจ
มันทำให้สายใยเชื่อมโยงที่แท้จริงหายไป
เราไม่ได้ติดต่อกันในฐานะมนุษย์อีกต่อไป

เมื่อลักษณะความสัมพันธ์ที่ถักทอโครงร่างเป็นสังคมมนุษย์
กลายเป็นระบบความสัมพันธ์ของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์
แล้วเรากำลังดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแบบไหนกันหรือ


สิ่งที่ถามตัวเองต่อมาคือ
แล้วอย่างนี้แปลว่าจะไม่ให้มีระบบธุรกิจเลยหรือ
ก็คงจะไม่ใช่ เพราะตลาดคือสิ่งที่แสดงว่าชุมชนนั้นยังมีชีวิตอยู่
เพียงแต่ว่า...
เราต้องกลับไปพิสูจน์ความจริงของสมมติฐานที่ว่า
"ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์นั้นมีไม่จำกัด"


ทรัพยากรมีจำกัดอย่างแน่นอน
แม้ว่าจะมีคนออกมาพูดว่า
ถ้าทรัพยากรในพื้นดินในระดับนี้หมดลง
เทคโนโลยีก็สามารถจะขุดลึกลงไปในพื้นดินได้อีก
เพื่อเอาทรัพยากรมาใช้ได้เรื่อยๆ
ไม่ก็ไปเอาทรัพยากรจากดาวเคราะห์อื่นมาใช้ได้
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะจริงสักแค่ไหน
รู้อย่างเดียวว่า มันน่ากลัวจัง


ส่วนที่ว่าความต้องการของมนุษย์นั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัด
สิ่งนี้กลับน่าสงสัยว่า เป็นจริงอย่างนั้นหรือ
ความต้องการของมนุษย์อาจะมีได้ 2 แง่คือ
...ความต้องการทางกายภาพ และ
......ความต้องการทางจิตใจ
ความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดนั้น
(แน่นอนว่าในแง่นี้ เรากำลังพูดถึงความต้องการทางวัตถุ)
บ่อยครั้งความต้องการบริโภควัตถุ
มันเหมารวมเอาความต้องการทางจิตใจเข้ามาด้วย
แท้จริงแล้วจิตใจต่างหากที่ต้องการอาหาร
เมื่อเผชิญกับความตึงเครียด ความเหงา ความเบื่อหน่าย
หรือภาวะขาดที่พึ่งพิงทางจิตใจ อื่นๆ
ก็จะถูกชักนำให้เขาหาทางออกด้วยการบริโภค
เพื่อระงับอาการทางใจ
ใจจึงไม่หายหิว แค่เพียงแต่...
มันทำให้ลืมไปได้ชั่วครู่ชั่วยาม


อาการขาดแคลนอาหารใจจึงไม่ได้หายไปไหน
และทุกๆครั้งที่มันแสดงอาการ เราก็หันไปบริโภค
ไปดูหนัง ช็อปปิ้ง เที่ยวห้าง ซื้อเสื้อผ้า กินข้าว
เฮฮาปาร์ตี้ เล่นเกม ดื่มเหล้า เที่ยวซ่อง
...อื่นๆอีกมากมาย
อาการบริโภคนิยม ดูๆไปก็คล้ายกับคนติดยา
ขาดไม่ได้ ไม่งั้นลงแดง


แล้วทำไมคน (โดยเฉพาะในเมือง) ถึงไม่เติมอาหารให้ใจ
คำตอบก็คือ ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วตัวเองขาดอาหารใจ
ไม่รู้ว่าความต้องการจะบริโภค ต้องการแสงสีนั้น
แท้จริงแล้วเป็นอาการของจิตใจที่ขาดแคลนอาหาร
และการเข้าถึงอาหารใจเหล่านี้เป็นไปได้ยากเหลือเกิน
และเพราะการเข้าถึงยาก ทำให้พวกเขาไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่


อะไรที่เขาไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ในโลก
...เขาก็จะไม่รู้ว่าเขาสามารถต้องการมันได้

คนที่ไม่เคยรู้ว่ามันมีหนังสือหรือบทกวีอยู่ในโลก
...เขาก็คงจะไม่อาจรู้ได้ว่า
...หนังสือเล่มนั้นสามารถตอบโจทย์ชีวิตเขาได้

คนที่ไม่เคยใหเวลากับการฟังดนตรี เขาก็จะไม่รู้ว่า
...วิญญาณเขาจะได้รับการปลุกปลอบผ่านเสียงเพลง

และงานศิลป์ใดๆย่อมไม่สามารถแสดงพลังได้
...ต่อผู้คนที่ไม่ให้ความสำคัญแก่มัน


ทั้งๆที่งานศิลป์เหล่านี้เอง ที่เป็นสิ่งที่แสดงออก
ถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์
และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า
...มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์อยู่...


มันน่าเศร้าที่ทุนนิยมทำให้ศิลปะกลายเป็นของผูกขาด
ที่ทำให้คนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิจะหามาครอบครอง
ทำให้คนที่ไม่รวยหมดโอกาสที่จะได้สัมผัส
เพราะราคาและเวลาที่จะต้องจ่าย
ดูจะไม่คุ้มกับค่าเสียโอกาส
ในการเอาเงินและเวลาไปทำมาค้าขาย
จิตใจจึงไม่เคยได้รับการปลอบประโลม
จิตใจที่หิวโหยจึงแสดงออกด้วยความต้องการ
ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น
ความทะเยอทะยาน และการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น


และในแง่ของผู้สร้างงานศิลป์
ศิลปะดูจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนนิยมไปด้วย
ศิลปินที่พอจะมีฐานะเท่านั้น ที่มีสิทธิจะสร้างสรรค์
โดยไม่ต้องคำนึงถึงโจทย์ทางการตลาด
เท่ากับว่า ทั้งผู้สร้างและผู้เสพ
ต่างก็ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน
นั่นคือ ชะตากรรมการสูญเสียความเป็นมนุษย์


"สมัยก่อน การสร้างสรรค์เป็นด้านหลัก
แล้วใช้การตลาดเป็นตัวเสริม
แต่เดี๋ยวนี้ การตลาดเป็นด้านหลัก
การสร้างสรรค์เป็นตัวเสริมเท่านั้นเอง
มันก็เลยยาก จะคิดอะไรออกมา"

อ.วีระ สมบูรณ์ กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์จาก //www.onopen.com


ศาสนาก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งทางใจได้อีกต่อไป
เมื่อคำสอนทางศาสนาต่างๆ
ไม่สามารถจะตอบโจทย์ของบริโภคนิยม
ที่เน้นการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบเพื่อให้มีชีวิตรอดได้
ผู้คนจึงเลือกเชื่อ เลือกศรัทธาในสิ่งที่มันเยียวยาจิตใจเขาได้
และฟ้องออกมาในรูปของ
การเล่นหวย ขูดเลข จตุคามรามเทพ ฯลฯ


เพราะขณะนี้

ความคิดทุกอย่างเวียนว่ายอยู่ในบริโภคนิยม

คิดและตัดสินใจทุกอย่างด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์

เวลาแทบทุกหยดจึงหมดไปกับการหาเงิน

คล้ายๆกับการมีชีวิตอยู่เพื่อทำมาหากินเท่านั้น

ทุนนิยมมีสูตรสำเร็จให้ชีวิต โดยที่ไม่ต้องตั้งโจทย์อย่างอื่นอีก

โลกภายใต้ระบบทุนนิยมจึงแย่ลงทุกวัน

เมื่อแก่นแท้ของศาสนาก็ถูกทำลาย

และศิลปะถูกขัดขวางจนไม่สามารถรักษามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ได้

นอกจากนี้ทุนนิยมยังทำลายสายใยระหว่างมนุษย์

แล้วสร้างสายสัมพันธ์ใหม่

ให้คนสัมพันธ์กันในฐานะฟันเฟืองของระบบธุรกิจ




คำถามคือ...

ทำไมเราถึงยอมให้ทุนนิยมทำร้ายเราได้ขนาดนี้

เมื่อไหร่ที่เราจะตั้งคำถามกับสูตรสำเร็จนี้



Create Date : 30 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2550 7:13:57 น.
Counter : 1366 Pageviews.

19 comments
  
รู้ว่าตัวเองไม่รู้นี่ดีนะครับครูเสี้ยว
ดีกว่าไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ แต่ดันคิดว่าตัวเองรู้

.....................

ชีวิตอยู่ไปทำไม
ความดีคืออะไร
ความจริงคืออะไร
ธรรมชาติมนุษย์คืออะไร
และชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร

ชุดคำถามนี้
จะทำให้เรารู้ว่าเรามีชีวิตอยู่บนโลกนี้เพื่ออะไร
ไม่ใช่คอยแต่ถามว่าเราจะรวยแค่ไหน


...........................


คำถามคือ...

ทำไมเราถึงยอมให้ทุนนิยมทำร้ายเราได้ขนาดนี้

เมื่อไหร่ที่เราจะตั้งคำถามกับสูตรสำเร็จนี้

......................

ชอบบทความวันนี้ของครูเสี้ยวนะ
อ่านแล้วนึกถึงเรื่อง

ภิษุสันดานกา และเสื้อเหลือง







โดย: กะว่าก๋า (กะว่าก๋า ) วันที่: 30 พฤศจิกายน 2550 เวลา:8:18:16 น.
  
สวัสดีครับคุณ gluhp คิดว่าคงจำกันได้ว่าเราเคยคุยกันมาสองสามปีก่อน แล้วก็หายไปเลย bug เป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันกัน ใช้แบบไม่เป็นทางการ คำถามของคุณทำให้นึกถึงแนวคิด Marxism นะ เสียดายที่คนคิดว่ามันจบสิ้นไปแล้วทั้งที่โซเวียตและจีนไม่เคยใช้ความคิดของมาร์กซ์เลย
โดย: Johann sebastian Bach วันที่: 30 พฤศจิกายน 2550 เวลา:9:22:40 น.
  
จุดมุ่งหมายของนักคิดคือ "จะทำอย่างไรให้โฉมหน้าของทุนนิยมจ๋าเป็นใบหน้าของทุนนิยมที่เปี่ยมด้วยมนุษยธรรมและคุณธรรม มิใช่ขจัดล้างฐานเศรษฐกิจอันนี้"

ส่วนที่ว่าศาสนาไม่สามารถเป็นที่พึ่งทางใจได้ผมว่าไม่จริง ถ้าคุณปฏิบัติตามแนวทางพุทธคุณจะพบว่า ใจของคุณนั้นสามารถเข้มแข็งและหยัดยืนได้ด้วยใจตนโดยมิต้องร่ำร้องครวญว่าตัวนี้ช่างเศร้ากระไรยิ่ง(ก่อนที่จะดำเนินชีวิตตามแนวอุดมคติที่เชื่อ สิ่งแรกที่คุณต้องทำให้ตัวเองมี คือ ดวงจิตที่กล้าแกร่ง)

ป.ล.เปลี่ยนรูปในช่องคอมเม้นท์นี้ได้บ่ครับ ลายตาจนพิมพ์ลำบาก
โดย: ชาวโลกพฤหัส IP: 125.27.119.229 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2550 เวลา:9:38:11 น.
  
น่าคิดนะครับ
เพราะจะว่าไปตอนนี้ "ทุนนิยม" ก็เป็นเหมือนอากาศที่ทุกคนเคยชินและต้องใช้ไปเสียแล้ว
จนไม่กล้าที่จะคิดว่าถ้าขนาดมันไป แล้วจะอยู่ได้หรือไม่
ผมเป็นคนนึงครับที่ไม่ชอบทุนนิยม
แต่ทำไงได้ ตั้งแต่เด็กจนโตก็อยู่กับมันมาตลอด ยิ่งต้านก็ยิ่งทรมาน
รอคอยสักวันที่ระบบใหม่จะเกิดขึ้นมาแทนที่อยู่ครับ
โดย: noomloso วันที่: 30 พฤศจิกายน 2550 เวลา:14:07:11 น.
  
นักจิตวิทยาบอกว่า ความหิวเป็นเงื่อนไขของการเรียนรู้
ถ้าสัตว์หิวก็ต้องล่าเหยื่อ
ถ้าคนหิวก็ต้องดิ้นรน
ศาสตร์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเศรษศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์
ไสยศาสตร์ ฯลฯ.จึงถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุนี้แท้ๆ
เห็นด้วยตรงที่ว่าหลายอย่าง
มันล้ำหน้าไปเร็วมาก จนทำให้อดคิดไม่ได้
ว่าเราได้ลืมอะไรไว้ข้างหลังหรือเปล่า?

โดย: วีระริก วันที่: 30 พฤศจิกายน 2550 เวลา:14:17:30 น.
  
เมื่อเราเป็นเด็ก เวลาที่เราโกรธใครเราจะชกเค้าอย่างเต็มแรง เราคิดเพียงแค่ว่าเค้าเป็นศัตรู และเราก็เชื่อย่างนั้นจริงๆ ในขณะที่ผู้ใหญ่ เค้าเพียงแค่ดันหัวเราเอาไว้ ในขณะที่เราต่อยไปนั้น เค้าก็หัวเราะในความเป็นเด็กของเราแล้วก็พูดว่า "เรื่องเด็กๆ" พอผมโตขึ้น พอจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่แก่ได้ ก็เห็นเรื่องแบบนี้ เจอเรื่องแบบนี้ เรื่องเด็กๆ ไม่นามมานี้ผมรู้สึกแปลกแยก โดดเดี่ยวเฝ้าถามว่า พวกเค้าทำอะไรกัน เค้าคิดอะไรกัน เพียงแค่เรียนให้จบเเพ่อทำงาน เพื่อเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อกำไร เพื่อคุณภาพชีวิต แล้ว... สิ่งที่เรียกความความสุขคืออะไร ไปอยู่ไหน แล้วมันจะลงท้ายที่ว่าแค่ทำงานก็หมดเวลา ทุกวันนี้เราต่างเห็นคุณแม่ของเราท่านทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเราเรียน เราเรียนเพื่อทำงานอย่างหนักเพื่อส่งลูกของเราเรียน แล้วไง เราจะตายจากโลกนี้ไปโดยที่ไม่มีใครมาดูใจ ไร้เวลาเยี่ยม เพราะมันไม่ใช่เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ผมจึงย้อมมาคิดว่าเค้าทำอะไรกันอยู่ อย่างที่ผมบอกแต่แรก อาจารย์จึงเล่าเรื่องเด็กให้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า สูงสุดคืนสู่สามัญ ความแปลกแยกเป็นอาการเด็กๆของนักวิชาการ เราต้องปิดตาข้างนึงกับสังคมหากเราจะอยู่ร่วมกับสังคม ผมจึงกลับมาคิดว่า บางครั้งเราก็ใจเย็นๆที่จะฟังอะไรๆ แล้วถ้าเราเชื่ออีกอย่างก็เก็บไว้ก่อนเพราะตอนนี้เค้าคงรับไม่ได้ ที่เขียนมาถึงบรรทัดนี้ ผมอยากบอกว่าผมอึดอัดกับสิ่งที่เป็น เหมือนโดนขังในความจำกัดทางด้านความคิด และการแสดงออก ก็บ่นให้ฟังครับ
โดย: นิวคับ IP: 125.24.132.181 วันที่: 30 พฤศจิกายน 2550 เวลา:23:21:55 น.
  
อื้ม..จ้ะ

บ่นมา
โดย: เสี้ยว IP: 124.120.185.70 วันที่: 1 ธันวาคม 2550 เวลา:13:23:49 น.
  
ตอนที่ผมเห็นหินสามก้อนนี้กลางทะเล
ผมนึกถึงเรื่องบางเรื่อง

แต่สุดท้ายมาสรุปถึงเรื่องของการใช้ชีวิต

เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงได้ธรรมะจ๋าในเวลานั้น
55555

แต่ก็คิดครับ


โดย: กะว่าก๋า (กะว่าก๋า ) วันที่: 1 ธันวาคม 2550 เวลา:13:51:36 น.
  
เป็น ideal นะแหละครับดี ถ้าเกิดสมจริงหรือ realistเมื่อไรก็จบเห่กัน ตอนนี้ Marxism หดตัวเหลือเป็นแค่เชิงวิพากษ์สังคมทุนนิยมไปไม่ได้พูดถึงยูโทเปียเหมือนแต่ก่อน (แนวคิดของมาร์กซ์ถูกพัฒนาหรือ ลบล้างโดยศานุศิษย์ตั้งหลายคน) แต่ถ้าจะว่า Marxism ก็ต้องว่าศาสนาต่างๆ ด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรจะมีอย่างน้อยก็เป็นความหวัง.ในการถ่วงดุลกับลัทธิบริโภคนิยมและระบบทุนนิยม
โดย: Johann sebastian Bach วันที่: 1 ธันวาคม 2550 เวลา:20:26:19 น.
  
อืมม...ยาวจริงๆด้วย
:p

ผมเห็นด้วยกับหลายๆอย่างที่คุณ gluhp ว่ามา

ผมเห็นด้วยว่าสังคมในปัจจุบัน ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นสังคมที่ดี
และคนในสังคมส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความสุข

แต่ผมว่า 'ทุนนิยม' อาจจะเป็นแค่ 'แพะ' นะครับ มันแค่บังเอิญอยู่แถวนี้ในเวลานี้พอดี :)

ผมคิดว่า
บางทีสิ่งที่ทำร้ายมนุษย์จริงๆ อาจจะไม่ใช่ระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ หรือระบบสังคม
แต่เป็น 'ปิศาจ' ในใจมนุษย์ต่างหาก ที่ทำให้มนุษย์ไม่มี 'ความสุข'

เป็น'ปิศาจ'ตัวเดียวกับที่ทำร้ายมนุษย์
ในสังคมเร่ร่อนล่าสัตว์
เมื่อหลายหมื่นปีก่อน
และเป็น'ปิศาจ'ตัวเดียวกับที่ทำร้ายมนุษย์
ในสังคมเกษตรกรรม เมื่อหลายพันปีก่อน
...ฯลฯ

ผมไม่เชื่อว่า
มนุษย์จะมีความสุขหรือสังคมจะดีขึ้นมาได้
ถ้าเราขับไล่ 'ทุนนิยม' ออกไป
แล้วเอา 'สังคมนิยม' หรือระบบอะไรก็แล้วแต่ เท่าที่จะคิดประดิษฐ์กันขึ้นมาได้ มาแทนที่
ตราบใดที่ 'ปิศาจ' มันยังอยู่

ว่ากันว่า 'ปิศาจ' มันมีกันหลายตัว แถมยังแปลงร่างเก่งอีกด้วย
แต่ตัวหัวโจกมันดูเหมือนจะชื่อ 'ความอยาก' กับ 'ความไม่เข้าใจ' นะครับ
โดย: Amygdala วันที่: 2 ธันวาคม 2550 เวลา:13:33:56 น.
  
ขอบคุณสำหรับทุกๆความเห็นค่ะ ขอบคุณอย่างยิ่งที่อ่านและให้ความสนใจ (อื้ม...รูปใน comment box นี่ลายตาจริงๆด้วย )

เป็นไปได้นะคะคุณ Amygdala ว่ามี "ปีศาจ" ที่ทำร้ายมนุษย์อยู่จริง และก็อยู่กับมนุษย์มาตลอด สุดแล้วแต่จะเรียก นักคิดบางท่านเช่น Hobbes ก็เรียกมันว่าธรรมชาติมนุษย์

สิ่งที่เสี้ยวสนใจคือ เสี้ยวมองว่าทุนนิยมเนี่ยแหละ เป็นอาหารที่เจ้า "ปีศาจ" โปรดปรานมากที่สุด มันเลยโตเร็ว แล้วก็แผ่ขยายอิทธิพลครอบงำอย่างน่ากลัว
โดย: gluhp วันที่: 2 ธันวาคม 2550 เวลา:21:51:02 น.
  
เป็นประเด็นให้จุดประกายความคิดที่ดีมากครับ อย่างน้อยก็เป็นอีกแง่มุมนึง ที่บางคนหลงลืม
โดย: ดีมเมอร์เร่อ วันที่: 3 ธันวาคม 2550 เวลา:11:23:58 น.
  
เพราะมันได้ความสบายมาโดยง่ายไงครับ....




แต่กลับลืมไปว่ากำลังหลอกตัวเองว่า "มีความสุขอยู่..."
ทั้งๆที่จริงตัวเองก็ยังไม่รู้เลยว่าความสุขจริงๆหาซื้อไม่ได้
ด้วยเงินอย่างเดียว....
โดย: ST.Exsodus วันที่: 3 ธันวาคม 2550 เวลา:18:55:39 น.
  
มาส่งของที่ต้องการค่ะ
//i80.photobucket.com/albums/j198/fluffyboy101/f1/04--1.swf
โดย: ดอกฝิ่นในสายลมหนาว วันที่: 4 ธันวาคม 2550 เวลา:9:49:48 น.
  
เด็กหน้าห้อง
เอ่อ....อดีตเด็กหน้าห้อง
แวะมาทักทายเด็กหลังห้องครับ

โดย: กะว่าก๋า (กะว่าก๋า ) วันที่: 4 ธันวาคม 2550 เวลา:15:43:37 น.
  
เราว่า.. ทุนนิยมและเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่สิ่งเดียวกันนะ
เศรษฐศาสตร์ ครอบคลุมถึงอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วย
แต่ทุนนิยม.. จะมองตัวเงินเป็นหลักจริงๆ
โดย: nods วันที่: 5 ธันวาคม 2550 เวลา:14:01:28 น.
  
อืมม...
ถ้างั้น 'ทุนนิยม' ก็อาจจะไม่ใช่ 'แพะ'
แม้ว่าจะไม่ใช่ 'ตัวการ'

แล้วจะให้มันเป็นอะไรดีล่ะ...
เอาเป็นว่า
'ทุนนิยม' อาจจะเป็นแค่ 'ผู้ยุยง ปลุกปั่น' ก็แล้วกันนะครับ : )
โดย: Amygdala วันที่: 6 ธันวาคม 2550 เวลา:7:44:22 น.
  
เห็นบีจีแล้วนึกถึงผิวโลกพระจันทร์ 555

ผมว่าผมจินตนาการไกลไปแล้วมั้งครับ
สงสัยจะเป็นผนังบ้านที่ไหนสักแห่ง
อิอิอิ


ทำเลยครับครูเสี้ยว
ขอใบนึงล่วงหน้าเลยครับ
จองตั้งแต่ยังไม่ได้ทำเลยครับ 5555


มีความสุขมากๆนะครับ

โดย: กะว่าก๋า (กะว่าก๋า ) วันที่: 6 ธันวาคม 2550 เวลา:8:34:40 น.
  
มนุษย์เพิกเฉยต่อกันมากขึ้น
โดย: คนเลวที่แสนดี วันที่: 6 ธันวาคม 2550 เวลา:8:39:48 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Gluhp.BlogGang.com

gluhp
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]

บทความทั้งหมด