www.facebook.com/ibehindyou

ทุก comment ที่คุณให้มา ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้สนุกกับการเขียน blog แล้วอ่านอยู่คนเดียว

The Lives of Others , อ๊ะ นี่มัน Infernal affairs เวอร์ชั่นกำแพงเบอร์ลิน



... ด้วยความที่ผมอ่อนภาษาปะกิต เมื่อเห็นชื่อหนังเรื่องนี้ ผมจึงไม่แน่ใจว่า

The Lives of Others มันมีความหมายถึง

ชีวิต(life – พหูพจน์)ของคนอื่น

หรือ

การใช้ชีวิต(lives)ของคนอื่น

แม้ขณะที่ผมดูผมก็ดูไปคิดไป ว่า มันแปลว่าอะไรกันแน่หว่า

แต่เมื่อดูจบ ผมก็พบว่า ไม่ต้องคิดให้เมื่อยเซลล์ภาษาฝรั่งในสมอง เพราะในหนัง สิ่งที่ตัวละครเอกเกี่ยวข้อง คือ ทั้ง ชีวิตของคนอื่น และ การใช้ชีวิตของคนอื่น

....ช่วงเวลาในหนัง คือ ช่วงเวลา 4 ปีก่อนกำแพงเบอร์ลินจะพังทลาย คือ ช่วงเวลาที่ประชาชนในฝั่งเยอรมันตะวันออกใช้ชีวิตโดยถูกควบคุมจากรัฐที่ยึดมั่นในระบบสังคมนิยม

...วิสลี่ย์ เป็นนายตำรวจในหน่วยงานของรัฐ ชื่อ สตาซี่ เขาเป็นทั้งครูผู้สอนวิชารีดความจริงผู้ต้องหาให้กับลูกศิษย์ เขารู้เทคนิคมากมายที่จะบอกได้ว่า คนตรงหน้า พูดความจริงหรือกำลังโกหก

วีสลี่ย์ เป็น คนประเภทที่อยู่ในวงสนทนาอาจจะพาให้จ๋อยหมู่ เช่น ถ้าคุณกับเพื่อนๆนินทาเจ้านาย เขาจะนั่งหน้าตายบอกบุญไม่รับ และ ไม่ยิ้มแม้แต่นิดเดียว



เขารับมอบหมายภารกิจสอดแนมด้วยการติดเครื่องดักฟัง เกออร์ก นักประพันธ์หนุ่มผู้มีชื่อเสียง มีภรรยาเป็นนักแสดงรูปงาม เกออร์ก ถูกสงสัยว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวพันกับฝั่งเยอรมันตะวันตก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ถือว่ามีความผิดฉกาจฉกรรจ์

วีสลี่ย์และลูกน้องจะสลับเวรกันคนละครึ่งวันมานั่งฟังเสียงที่เกิดขึ้นและจับจ้องภาพที่เห็นในห้องว่า มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ มีหลักฐานเพียงพอที่จะจับยัดเกออร์กเข้าซังเตหรือเปล่า

...ในยุคสมัยที่รัฐเป็นใหญ่ ชีวิตของประชาชนทุกฝีก้าวทุกตารางนิ้วถูกเฝ้ามอง ขาดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น การใช้ชีวิตต้องเดินตามกรอบของรัฐ และ หากผู้ใดต่อต้านก็เป็น ศัตรู



ประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง เช่นนี้ คงมีหลายสิ่งที่น่าสนใจ หากอยู่ในหนังเรื่องอื่นๆ แต่ ในหนังเรื่องนี้ประเด็นนี้กลับเป็นประเด็นรองที่ถูกเขียนขึ้นมารองรับในประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ ชีวิตของคนสองคน

ระหว่างตัวละครสำคัญสองคน วีสลี่ย์ VS. เกออร์ก เรามองเห็นภาพชายหนุ่มสองคนที่ต่างกันคนละขั้ว

วีสลี่ย์ ผู้การผู้โดดเดี่ยว หนุ่มโสด เปลี่ยวเหงา ไร้อารมณ์ขัน จริงจังกับชีวิตราวกับเอาไม้บรรทัดขีดเส้นไว้ เขาใช้ชีวิตราวกับเดินตามแนวทางของพรรคและขึ้นตรงต่อระบอบสังคมนิยม และ พร้อมจะเอาผิดคนต่อต้านโดยไม่ลังเล

วีสลี่ย์ ใช้ชีวิตตาม สังคม สั่งให้ทำ ตาม ระเบียบบอกให้เดิน แต่ ไม่เคย ถามหัวใจตัวเองว่า แท้จริงแล้วตัวเองต้องการอะไร


ส่วน เกออร์ก ศิลปินผู้มีชีวิตคู่ในสังคมเลิศหรูสวยงาม พรั่งพร้อมด้วยคนรอบกาย ผู้มีความเป็นศิลปะในหัวใจ ประมาณ หนุ่มติ๊สท์อารมณ์ศิลปิน มีด้านที่อ่อนไหวละเอียดอ่อน เขาทำงานตามที่หัวใจสั่ง ตามแรงบันดาลใจ บางหนเขาเลือกประนีประนอมเพื่อให้อยู่รอดในระบอบ แม้ ในใจลึกๆเขาก็มีสิ่งที่อยากจะพูดอยากจะประกาศออกมาในแนวทางตรงกันข้ามกับรัฐบาล

หลังจาก วีสลี่ย์ ติดตาม เกออร์ก ได้สักพัก

วีสลี่ย์ ก็เปลี่ยนไป

จากเดิมแค่ได้ยิน ได้เห็น เขาเริ่มสนใจที่จะได้ สัมผัส ชีวิตของอีกฝ่าย

จากหน้าที่เดิมมีแค่ สอดส่อง เขาเริ่มเข้า แทรกแซง เล็กๆน้อยๆ เช่น หยิบหนังสือส่วนตัวของเกออร์กมาอ่าน

...หากใครคิดว่า ผู้ชายอย่างวีสลี่ย์ เหมือนภูผาที่ไร้ความรู้สึกแล้ว เป็นการตัดสินใจแบบฉาบฉวยรวดเร็วเกินไป เป็นการตัดสินจากภาพภายนอกที่เราเห็น บุคลิกลักษณะของคน

คนบางคนเฉยชา หาใช่เพราะไร้ความรู้สึก แต่ คนบางคนมีกำแพงที่สร้างขึ้นด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้คนอื่นๆเข้าไม่ถึงเนื้อที่ความรู้สึกภายใน และ อาจหมายรวมถึงตัวเขาเอง

...เช่นเดียวกับในหนัง ภายนอกที่แตกต่าง ของ ผู้ชายสองคนนี้ กลับ มีภายในที่เหมือนกันอย่างน่าฉงน

นักศึกษาในหน่วยสตาซี่คนหนึ่งทำงานวิจัยวิเคราะห์บุคลิกภาพ พบว่า บุคคลอย่าง เกออร์ก เป็น บุคคลประเภทที่กลัวการต้องอยู่คนเดียว การถูกตัดทิ้งจากผู้อื่นเป็นความทรมานแสนสาหัส และ เป็นวิธีการที่จะทำให้คนอย่าง เกออร์ก ยอมสารภาพทุกอย่าง จนถึงขนาดอาจทำให้เขาไม่สามารถสร้างงานได้อีกเลย

เกออร์ก กลัว ความโดดเดี่ยว วีสลี่ย์ เองก็ไม่ต่างกัน

เพียงแต่ เกออร์ก เติมเต็มความโดดเดี่ยวด้วย 'คน' (เพื่อน , คนรัก) แต่ วีสลี่ย์ ชดเชยความโดดเดี่ยวด้วย 'งาน'

...วีสลี่ชดเชยความอ้างว้างและโหยหาผู้คนไปอยู่กับงาน เพราะเขามีงาน เขาจึงไม่อ้างว้าง แต่ งานมันก็ไม่สามารถรดน้ำหัวใจที่แห้งเหี่ยวของเขาได้ จนเมื่อเขาได้มามีส่วนร่วมในชีวิตของเกออร์ก

จิตวิญญาณที่แห้งผาก ไร้รสชาติ ก็ได้ การใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะ เสียงดนตรี การใช้ชีวิตที่มีรสชาติของความรัก ความอบอุ่น อารมณ์พิศวาสปรารถนา ของ เกออร์ก มาเติมเต็ม สิ่งเหล่านี้ทำให้ ภูผาน้ำแข็งของวีสลี่ย์ค่อยๆทะลายลงทีละน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเขาได้สัมผัสบทเพลงของบีโธเฟ่นผ่านการเล่นเปียโนของเกออร์ก บทเพลงที่เลนินยังไม่อยากฟังเพราะกลัวมันจะสั่นคลอนความแข็งแกร่งภายในจนปฏิวัติไม่สำเร็จ

…เราจะได้เห็น ความเปลี่ยวเหงาลึกๆในใจของวีสลี่ย์ ที่ซุกซ่อนอยู่ในใจแล้วเริ่มแย้มออกมาให้เห็น ในฉากที่ เขาตามนางทางโทรศัพท์มาใช้บริการ การร่วมรักด้วยการกอดอย่างโหยหาความอบอุ่น และ พยายามที่จะเหนี่ยวรั้งอีกฝ่ายไว้ให้อยู่ด้วยกัน

... เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เมื่อเขาเลือกที่จะไม่ถามเด็กในลิฟต์ต่อว่าพ่อของเด็กเป็นใคร ในตอนที่รู้ว่าพ่อของตาหนูคนนี้พูดจาดูหมิ่นพรรค ซึ่งถ้าเป็นแต่ก่อนคงไม่รอดเหมือนที่เขากากบาทชื่อเด็กนักเรียนที่มีแนวโน้มทางความคิดไม่คล้อยตาม




...ประตูทางความคิดความรู้สึกที่ปิดตายของ วีสลี่ย์ ได้รับการไขออก ด้วย ตัวตนและการใช้ชีวิตของ เกออร์ก

ชีวิตในส่วนที่วีสลี่ย์ขาดหายไป , ชีวิตในส่วนที่เขาโหยหา ,ชีวิตในส่วนที่เขาไม่ได้ใช้ ถูกค้นพบใน ชีวิตและการใช้ชีวิตของเกออร์ก

ยังมี อีกสิ่งหนึ่งที่วีสลี่ย์ค้นพบ

ชีวิตนี้ไม่ได้มีอยู่แค่ 'งาน' แต่ เขายังมี ‘ใคร’อยู่อีกคน

เขายังสัมผัสถึงการมี ‘เพื่อน’ อีกคน บนโลกที่เดียวดาย เพื่อนที่สัมผัสได้แม้ไม่เคยเสวนาร่วมกัน

... แต่ การที่วีสลี่ย์ เปลี่ยนไปเช่นนี้ การที่ วีสลี่ย์เปิดรับ คน เข้ามาในชีวิต ทำให้ วีสลี่ย์ ต้องพบกับทางแยกของการตัดสินใจ เช่นเดียวกับ เกออร์ก ที่เขากำลังสอดแนม

เพราะเมื่อ เกออร์ก ตัดสินใจเลือกเข้าร่วมฝั่งตรงข้ามเต็มตัว โดยไม่รู้ว่าถูกสอดแนม เขาตีพิมพ์ผลงานส่งไปให้กับฝั่งตะวันตก ด้วยบทความที่ไม่ระบุชื่อคนเขียน แต่เมื่อบทความลงในแม็กกาซีนออกมาในที่สาธารณะ เขาคือเป้าหมายหมายเลขหนึ่งที่ถูกสงสัย หน่วยงานของรัฐร้อนเป็นไฟ พยายามที่จะหาเจ้าของ เครื่องพิมพ์ดีดหมึกแดง ที่ตีพิมพ์งานชิ้นนี้มาลงโทษ

วีสลี่ย์ ที่รู้ความจริงทุกอย่างต้องเลือกว่า จะจับ เกออร์ก ด้วยตัวเอง หรือ จะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเพื่อปกป้อง เกออร์ก

เมื่อทางรัฐไม่รีรอวีสลี่ย์ ส่งคนเข้าไปจัดการด้วยตัวเอง

วีสลี่ย์ ต้องเลือกว่า จะนิ่งเฉย หรือ จะแทรกแซง

เพราะถ้า เกออร์ก รอด เขาก็จบเห่ แต่ถ้าเกออร์กถูกจับ ชีวิตใหม่ของเขาก็ย่อมเหมือนกับถูกลิดรอนตามไปด้วยเช่นกัน และ คนกับความเป็นเพื่อน ที่เขาเชื่อมโยง(connect)ด้วยได้นั้น ก็จะต้องจากเขาไป

บทหนังในช่วงท้าย แสดงถึง การเลือกของทุกตัวละคร



เกออร์ก ต้องเลือก ว่า จะกล้าทำในสิ่งที่หัวใจอยากจะทำหรือไม่ กล้าเขียนในสิ่งที่อยากจะพูดหรือไม่

เช่นเดียวกับ



ทางแยกที่ วีสลี่ย์ ต้องเลือก ว่าจะปกป้องหรือจับกุม จะเลือกงาน หรือ เลือกคน



เช่นเดียวกับ คริสต้า นางเอกของเรื่องคู่รักเกออร์ก เธอ ก็ต้องเลือกด้วยเช่นกัน

เธอจะยอมเอาร่างกายเข้าแลกให้รัฐมนตรีต่อไปเพื่อให้ไม่เอาชื่อเธอขึ้นแบล็กลิสต์หรือไม่

เธอจะยอมบอกความจริงที่เธอแอบรู้ว่าเกออร์กร่วมมือกับฝั่งตะวันตกเพื่อแลกกับการมีชีวิตทำงานต่อไปหรือไม่

…มีฉากหนึ่งในช่วงครึ่งหลังนี้เองที่ผมชอบ

วีสลี่ย์ อาจจะไม่ได้เจอเกออร์ก แต่เขาก็ถือโอกาสเข้าแทรกแซงชีวิตของคริสต้า เมื่อเขาไปพบเธอในบาร์แล้วบอกเธอว่า

“ผมคือผู้ชมของคุณ”

วีสลี่ย์ พูดประโยคนี้กับ คริสต้า

เธออาจเข้าใจว่า เขาคือผู้ชมละครของเธอ เธอไม่รู้ตัวสักนิดว่า เขาเองยังเป็น ผู้ชมชีวิต ของเธอด้วยเช่นกัน

ประโยคนี้ ถูกกล่าวขึ้นอีกครั้งตอนสอบสวน เขาบอกเธอแล้วว่า “อย่าทำให้ผู้ชมผิดหวัง” น่าเสียดายที่ คริสต้า ไม่ทันตระหนักเข้าใจ ว่า ผู้ชม ในที่นี้ มิได้หมายรวมแค่ ผู้ชมละครเวที แต่เป็น ผู้ชมชีวิตของเธอตลอดมา

เมื่อถึงจุดที่ทุกคนต้องตัดสินใจ ก็ถึงเวลาที่เรื่องราวต้องคลี่คลาย ทุกตัวละครก็ได้รับผลตามสิ่งที่ตัวเองคิดและกระทำอย่างเหมาะสมไม่มากไม่น้อยเกิน

และหนังที่เริ่มต้นด้วยความเป็นหนังดราม่าการเมืองชวนเหงาหลับ ก่อนจะมาลุ้นระทึกช่วงกลาง ก็ปิดท้ายลงอย่างอิ่มอุ่นชนิดอยากปรบมือให้ทีมงาน ที่หาทางออกโยงไปสู่ โซนาต้าสำหรับคนแสนดี

... ผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าไหร่ในตอนแรก เพราะนึกว่าเป็นหนังดราม่าในตระกูลหลับคร่อก แม้เพื่อนๆหลายคนมาเชียร์ในบล้อกหน้าแรก ผมก็เกือบๆจะออกไปดู แต่พอเห็นรอบไม่เป็นใจก็เลยทำเฉยกะรอแผ่น จนกระทั่งผมได้ดู Pan's Labyrinth จบ ผมเกิดเปลี่ยนใจกะทันหันทิ้งโปรแกรมที่จะดู black book ไปดูเรื่องนี้ เพราะผมอยากรู้เหลือเกินว่า หนังเรื่องที่แซง Pan's Labyrinth ไปคว้าออสการ์ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเย่ยม นั้น เยี่ยมยุทธประมาณใด

และที่ผมสงสัยก็ไม่ผิดเพี้ยน ครึ่งชั่วโมงแรกของหนัง มันช่างเป็น ดราม่าหลับคร่อก จริงๆ แต่เมื่อหนังเข้าสู่องก์ที่สอง หลังจากปูเรื่องราวใครต่อใครครบ เมื่อหนังเข้าสู่ช่วงเวลาสอดแนม ผมตื่นตัวตลอดเวลา ยิ่งช่วงท้ายยิ่งรู้สึกลุ้นเหมือนกับว่า กำลังนั่งดู Infernal affairs เวอร์ชั่นกำแพงเบอร์ลิน

...หลายคนอาจแย้งว่า มันคนละแนวหนัง มันคนละเรื่อง มันคนละโลกกันเลย แต่ หากมองเข้าไปภายในจิตใจตัวละคร โลกของสองเรื่องนี้ ก็มีการซ้อนทับกันอยู่

ตัวละคร วีสลี่ย์ กับ ตัวละคร หมิง ของ หลิวเต๋อหัว ล้วนอยากมีชีวิตและอยากใช้ชีวิตเหมือนตัวละครอีกคน อยากเป็นเพื่อนกับศัตรูฝั่งตรงข้าม แต่ทั้งคู่ได้แค่พึมพำด้วยเสียงในใจ

หมิง อยากเป็นคนดี อยากเป็นตำรวจที่คนยอมรับ อยากมีชีวิตเช่นอาหยั่น(เหลียงเฉาเหว่ย) แต่ก็ต้องถูกจำกัดกรอบไว้ด้วย สถานะที่แฝงมาและด้วยความเห็นแก่ตัวที่ไม่อาจละวาง

วีสลี่ย์ อยากมีเพื่อน อยากมีความรัก อยากสัมผัสความอบอุ่น และ อยากใช้ชีวิตบางส่วนเช่นเดียวกับเกออร์ก แต่ก็ต้องถูกจำกัดกรอบไว้ด้วย สถานะของตัวเอง กฏระเบียบของสังคม

หมิง VS. อาหยั่น และ วีสลี่ย์ VS.เกออร์ก คือ ความสัมพันธ์คนละขั้ว ที่ผูกกันด้วยความเป็นศัตรูกัน และ ไม่อาจพูดคุยเสวนาฉันเพื่อน แต่ในความเป็นขั้วตรงข้ามกันนั้น ต่างก็สัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่เชื่อมโยงคนสองคนเข้าไว้ด้วยกัน

... หากจะต่างอยู่บ้างก็ตรง คู่ หมิง กับ อาหยั่น คือ การห้ำหั่นชนิดเอาตาย ไม่มีที่ว่างให้กับคำว่า มิตรภาพ ตรงกันข้ามกับคู่ของวีสลี่ย์ และ เกออร์ก

ความเหมือนของสองเรื่องนี้ยังอยู่ที่การให้คนดูต้องลุ้น การเอาตัวรอดของตัวละครภายใต้ภาวะจำกัด และ ภายใต้ภาวะกดดันที่ปัญหาเข้ามาเหมือนไฟที่วิ่งไล่จี้แต่ละตัวละครให้ต้องรีบหาทางออก ก่อนจะขมวดปมทั้งหมดไปที่จุดสุดท้ายและจบลงด้วยความรู้สึกอบอุ่น

บทหนังเขียนมาดีและมีการกำกับที่ดี หนังมีการเล่าเรื่องที่มีทิศทางที่ชัดเจน โดยบทก็ช่วยส่งเสริม ให้หนังไปถึงปลายทางได้อย่างลงตัวเหลือเชื่อ ส่งผลให้หนังเดินเรื่องไปอย่างรื่นไหลลงตัวมากๆ ยิ่งมาได้การแสดงของแต่ละคนที่ทำให้ ภาพคาแรคเตอร์ของตัวเองเด่นชัดขึ้นมาและน่าเชื่อถือ ยิ่งส่งผลให้ การดำเนินเรื่องดูหนักแน่น และ ดึงคนดูไปมีส่วนร่วมในหนังแบบไม่รู้ตัว ชนิดเราทั้งลุ้น ทั้งเห็นใจ ทั้งเอาใจช่วย ตัวละครตลอดเวลา

นี่คือหนังเรื่องที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้ และ บังเอิญว่า มันเป็นหนังที่ดูสนุกที่สุดอีกเรื่องหนึ่งของปีด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ชอบ

1.บท ... ถ้าไม่นับช่วงแรกที่ผมหาวหวอดและเผลอหลับ ช่วงกลางถึงท้าย หนังทำเอาผมลุ้นอยู่ตลอดเวลา อารมณ์เดียวกับตอนดู Infernal affairs ว่าตัวละครเอกแต่ละคนจะเอาตัวรอดอย่างไร พอถึงช่วงท้าย หนังก็คลี่คลายไปสู่ตอนจบที่อบอุ่นได้อย่างน่าทึ่ง

2.การกำกับ ... สุดยอด กำกับได้อย่างเข้าถึง เอาหนังได้อยู่หมัดเหมือนรู้จักมันเป็นอย่างดี ดีทั้งเนื้อหา ดีทั้งอารมณ์ และ สร้างความสมดุลให้กับหนังได้ลงตัว

3.นักแสดง ... ทุกคาแรกเตอร์ ฝากการแสดงที่จริงจังจนหนังเรื่องนี้ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง

4.ฉากบุกจับที่ต้องลุ้น , ฉากการตัดสินใจของแต่ละตัวละคร , ฉากรีดความจริงนางเอกโดยวีสลี่ย์ , ฉากจบที่สัมผัสได้ถึงมิตรภาพที่อบอุ่น ฯลฯ ... หนังอุดมไปด้วยฉากดีๆที่ติดอยู่ในความทรงจำ

สรุป.... หนังเรื่องนี้เกิดความรู้สึกเดียวกับตอนที่ดู Children of men จบ นั่นคือมีคำนิยมให้แค่สามคำในใจ

สุดยอด สุดยอด และ สุดยอดดดดด

สมควรแล้วกับรางวัลออสการ์ต่างประเทศยอดเยี่ยมที่หนังได้รับ กับคุณสมบัติที่คู่ควร ทั้ง ความดูง่าย ดูสนุก และ มีคุณภาพ น่าเสียดายที่ผมดูช้าไปเลยหมดโอกาสเชียร์ให้ใครต่อใครได้ดู กระนั้น โอกาสรับชมก็ยังมี หนังยังฉายรอบเดียวที่ลิโด้ รอบที่ผมไปดู คนดูยังถือว่าหนาตา


ขอฝาก"หนังสือรัก"ไว้กับผู้อ่านด้วยเน้อ กับ พ็อกเก็ตบุ้คเล่มแรก ที ไม่ใช่ หนังสือวิจารณ์หนัง แต่คือการหยิบยกความรักและความสัมพันธ์ในภาพยนตร์ มาช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ได้มากขึ้นและลึกซึ้งกว่าเดิม



(วางขายตามร้านหนังสือทั่วไป หาไม่เจอถามจากพนักงานขายได้เลยจ้า)






ชวนไปอ่านบทความเรื่องอื่นๆ คลิก >> หน้าสารบัญ

ชวนคลิก ชวนคุยกับเจ้าของ Blog ที่ --> หน้าแรก

รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง





ขอคิดค่าบริการต่อการอ่าน 1 หน้าในอัตราเพียง

ความเห็น
ของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป




Create Date : 10 เมษายน 2550
Last Update : 10 เมษายน 2550 12:52:57 น. 13 comments
Counter : 3841 Pageviews.

 
ชอบเรื่องนี้มาก กำลังรอคุณจขบ.เขียนถึงอยู่เลยค่ะ มาอ่านแล้วรู้สึกเหมือนเห็นอีกมุม (ที่ใกล้ๆกัน แต่ไม่เหมือนกันกับเวลาดูเอง) เรามองไปที่ความดีงามของคน ในสถานการณ์ที่แตกต่าง กดดัน ผลักให้เดินไปในด้านตรงข้ามอย่างไรก็ตาม แต่วีสเลอร์ได้เห็นมุมใหม่ๆของชีวิต และได้เลือกตามสิ่งที่เขาเรียนรู้ และเชื่อ

ประทับใจกับตอนจบในร้านหนังสือ ถึงความสัมพันธ์แบบไม่ต้องพบตัวของสองคนนี้ ประทับใจกับปฏิกิริยาของ Georg ตอนที่รู้ว่าคริสต้าออกไปกับรมต.คนนั้น เขาเจ็บ แต่เขาก็เข้าใจ ไม่โกรธแต่อ้อนวอน ประทับใจกับน้ำตาของวีสเลอร์ที่หยดลงตอนฟัง Sonate vom guten Menschen ที่คุณผมฯ แปลว่า โซนาต้าของคนแสนดี

ขอบคุณที่เขียนให้อ่านนะคะ :D

ปล. งืมๆๆ คุณตำรวจน่าจะชื่อ วีสเลอร์ (Wiesler) มากกว่าวีสลีย์ นะคะ


โดย: thaliana IP: 128.36.59.138 วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:9:46:57 น.  

 
เป็นหนังที่เรียกว่าดีกว่าที่คิด นึกว่าจะหลับ แต่ก็ลุ้นตลอด ตอนแรกก็เกลียดวีสเลอร์ แต่ภายหลังเขาน่าสงสารไม่ใช้น้อย


โดย: initial A IP: 203.209.123.33 วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:10:44:50 น.  

 
เข้าใจเปรียบเทียบนะครับ
น่าดูเหมือนกันเนาะ

ป.ล.
เพิ่งได้รับ หนังสือรัก
เป็นของขวัญวันคล้ายวันเกิดปีนี้ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา


โดย: Commencer วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:10:48:37 น.  

 
ตอนจบของหนังเรื่องนี้ประทับใจมากๆครับ
ตอนแรกผมก็คิดว่าเป็นหนังการเมืองคอมมิวนิสต์แหงๆ... แต่ชื่อไทยมันดันตั้งว่า "วิกฤตรักแดนเบอร์ลิน" เลยชักรู้สึกว่ามันน่าจะมีอะไรมากกว่าการเป็นหนังการเมืองนะ
(แม้ว่าจะดูจบแล้วรู้สึกว่า ช่างเป็นชื่อไทยที่ห่างไกลกับ content หลักของหนังเป็นโยชน์)

การแสดงของ Ulrich Muhe ที่เล่นเป็นวีสเลอร์นี่ได้ใจผมจริงๆครับ ยังติดตาอยู่จนถึงบัดนี้...
ตอนนี้ก็กะลังรอดู Pan's Labyrinth อยู่ ไว้กลับกรุงเมื่อไหร่เจอกันนะจ๊ะ ป๋ากีเยร์โม


ปล. เห็นได้ข่าวว่าอเมริกา (มิราแมกซ์) จะเอาไปรีเมคนี่ครับ กลัวมันจะออกมาแบบ The Departed น่ะสิ


โดย: nanoguy วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:11:06:04 น.  

 
ชอบเรื่องนี้มากๆ เลยครับ ตอนท้ายน้ำตาซึมเลย

ไม่น่าเอาไปเปรียบกับ IA เลยครับ ไม่เคยดูหรอกครับ แต่ไม่ปลื้มยังไงไม่รู้ พอเอาไปเปรียบรู้สึกขุ่นนิดๆอ่ะ

รู้สึกว่าตัวเองจะถูกโฉลกกับหนังเยอรมันยังไงไม่รู้


โดย: Ten Fifty-Nine IP: 66.214.171.133 วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:11:38:06 น.  

 
อ่านแล้วทําให้เรื่องนี้น่าดูขึ้นเยอะเลย ถ้าดูเองคงไม่พ้นช่วง"หลับคร่อก"


โดย: เป๋อน้อย วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:13:20:46 น.  

 
หลับไปแล้วอ่าตอนดู
ตื่นมาไม่รู้เรื่องเละเทะ ต้องถามแฟนเอา


โดย: 645 IP: 58.8.121.59 วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:15:26:16 น.  

 





ยังไม่ได้ดูเลยค่ะ แต่ก้อขอมาเก็บข้อมูลก่อนน่ะค่ะ


โดย: icebridy วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:19:50:43 น.  

 
ชอบเรื่องนี้เหมือนกันครับ
ที่ลองเข้าไปดูเพราะอยากรู้ว่าหนังออสการ์ปีนี้จะเปนยังไง
เพราะได้ดูของปีที่แล้วเรื่อง Tsotsi ที่ได้รางวัลเดียวกันแล้วรู้สึกชอบกับประเด็นของหนังก็เลยอยากดูของปีนี้
ซึ่งก็ไม่ผิดหวังครับ แต่คุณดูแล้วจดจำอะไรได้เยอะมากเลยนะครับ ชื่นชม ๆ


โดย: bamboo IP: 124.121.189.32 วันที่: 10 เมษายน 2550 เวลา:23:02:39 น.  

 
+ เหมือนกันเลยครับ ช่วงแรกตอนปูเรื่องยังจับอะไรไม่ได้มากนัก เลยมึนๆ ... อ้ายกระผมก็ยิ่งไม่ค่อยถูกโฉลกกับหนังการเมือง, หนังดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนา, หนังที่อารมณ์นิ่งๆ สไตล์ยุโรปซะด้วย ... แต่พอดูๆ ไป ก็เริ่มจะเข้าใจถึงตัวตนที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปของวีสเลอร์ จนกลายเป็น 'อีกคนหนึ่ง' ในช่วงใกล้ท้ายเรื่อง ... ตอนจบของหนังก็ทำได้สวยงามและอิ่มอุ่นมั่กๆ ครับ ... และผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ที่หน้าแรกแล้ว คงขอไม่เขียนซ้ำอีก (เพราะจำไม่ได้แล้วว่าตัวเองเขียนอะไรไว้ 555)
+ เคืองเช่นกันที่ฮอลลีวูดคิดจะเอาไปรีเมคเสียแล้ว อะไรกัน! หนังยังรับรางวัลไม่ทันข้ามปีเลยอ่า


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 18 เมษายน 2550 เวลา:13:47:08 น.  

 
ชอบเรื่องนี้มากๆ เลยค่ะ (แต่เพิ่งจะเห็นว่าคุณเขียนรีวิวเรื่องนี้ด้วย)

ตรงนี้มีสปอยล์!!!! ใครยังไม่ได้ดูข้ามไปเลยค่ะ





อยากเพิ่มตอนท้ายที่วิสเลอร์ไปซื้อหนังสือ แล้วคนขายถามว่าจะห่อของขวัญรึเปล่า แต่วีสเลอร์พูดว่า Das ist fuer mich. แต่แปลซับไทยออกมาว่า เล่มนี้ผมซื้อไว้อ่านเอง เราว่าความหมายประโยคนี้ลึกซึ้งกว่านั้นนะคะ คือมันหมายถึง หนังสือเล่มนี้สำหรับผม (ไว้อ่านเอง) และความหมายนัยคือ หนังสือเล่มนี้เขียนให้กับผม


โดย: แก้มน้อยคอยรัก IP: 61.90.144.101 วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:12:50:24 น.  

 
เพิ่งจะได้ดู(ช้าไปซักนิด)ตอนเป็น DVD แล้ว รู้สึกชอบหนังเรื่องนี้มากๆ โดยเฉพาะกับตอนจบที่เล่นเอาน้ำตาซึมไปเลย

ขอบคุณเจ้าของบล็อคที่ทำให้รู้สึกรักหนังเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น และขอขอบคุณ คุณเจ้าของกระทู้ที่ 11 ที่ทำให้เข้าใจ และประทับใจกับตอนจบมากขึ้นไปอีก จำหน้าวีสเลอร์ตอนยิ้มได้เลย มันช่างติดตาและติดอยู่ในความทรงจำจริงๆ


โดย: MaiKung IP: 203.146.136.88 วันที่: 6 กันยายน 2550 เวลา:9:43:14 น.  

 
ชอบตอนจบเหมือนกันครับ แต่ถ้าเอามาเฉลี่ยน้ำหนักตั้งแต่ต้นจนจบผมชอบหนังเรื่องนี้ในระดับนึงเท่านั้น


โดย: yatiko IP: 125.27.130.56 วันที่: 21 มกราคม 2551 เวลา:15:02:47 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
10 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.