www.facebook.com/ibehindyou

ทุก comment ที่คุณให้มา ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ได้สนุกกับการเขียน blog แล้วอ่านอยู่คนเดียว

The Queen , แม้จะเป็นเรื่องของ 'ควีน' แต่นี่คือ การกะเทาะเปลือกเล่าเรื่อง 'คน'



...ก่อนหน้านั้น ผมค่อนข้างแปลกใจที่ The Queen แซงหนังหลายเรื่อง เข้าไปคว้ารางวัลใหญ่ๆมากอดในสาขา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะ โดยปกติ หนังที่ให้ความสำคัญกับ 'คน' เพียงคนเดียว มักมีโอกาสน้อยที่จะคว้ารางวัลใหญ่ๆยกเว้นสาขานักแสดงนำในบทนั้นๆ (อย่างปีนี้ ที่ Last king of Scoland คว้าแต่ รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากบท อีดี้ อามิน)

ผมยิ่งแปลกใจ เมื่อมีผู้กำกับเลือกที่จะเล่าชีวิตของ ควีนอลิซาเบ็ธที่ 2 ซึ่งที่ผ่านมา ผมเองก็ไม่ได้รู้สึกว่า จะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจถึงกับขนาดสร้างเป็นหนัง แถมยังอดคิดแทนไมได้ว่า การสร้างหนังประวัติของบุคคลจริงที่ยังมีชีวิตอยู่ โอกาสสร้างให้เห็นมุมมองต่างจากที่เราเห็นคงจะทำได้น้อย เพราะมีโอกาสทุกคัดค้านจากฝ่ายที่ถูกพาดพิง

แล้วเมื่อดูจบผมก็ไม่แปลกใจ ว่า เพราะอะไร ใครๆก็ชื่นชม เพราะอะไรไม่มีฝ่ายไหนออกมาก่อกระแสต่อต้าน เพราะอะไร The Queen ถึงขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งที่คว้ามงกุฎมาครอง



... The Queen คือ ส่วนผสมความลงตัวที่กลมกล่อม ของ บทหนัง ผู้กำกับ และ นักแสดง กับการเลือกเล่าเรื่องที่ไม่ได้หวือหวา หรือ เป็นที่น่าฮือฮา แต่ สามารถทำให้ หนังเดินไปข้างหน้าได้อย่างหนักแน่น มีสมาธิ ไม่ว่อกแว่ก และ มีเป้าหมายชัดเจน ประการสำคัญ คนดูไม่จำเป็นต้องเป็นคนในยุโรปหรือคนอังกฤษ ก็สามารถดูหนังเรื่องนี้ได้สนุก

เพราะแม้ภาพที่เราเห็นเบื้องหน้าคือเรื่องของ ‘ควีน’ แต่ความจริงนี่ก็คือการกระเทาะเปลือกเล่าเรื่องของ ‘คน’

หลายครั้งหลายหน ที่เราตัดสิน‘คน’ จาก มุมที่เราเห็น เราด่วนสรุปพิพากษาคนจากสิ่งที่เราคิด เราไม่เคยคิดจะเข้าใจ ใครคนนั้นจริงๆ เพราะ มันไม่ใช่เรื่องของเรา

หากเป็นเรื่องของคนอื่น แล้วเราเป็นคนมองจากภายนอก ย่อมไม่มีวันเข้าใจ ถึงความรู้สึกเจ็บปวดและน่าน้อยใจ จนกว่า เราจะกลายเป็น ใครคนนั้น ที่ถูกคนรอบข้างด่วนตัดสินเสียเอง

...หนังเปิดฉากด้วยการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี โทนี่ แบลร์ ผู้นำภาพลักษณ์ของคนทันสมัย เขาและภรรยา รวมทั้งลูกทีมทั้งหลายมาในฐานะตัวแทนของโลกใบใหม่ ที่เข้ามาสั่นคลอน ชนชาวอนุรักษ์นิยมของคนในโลกใบเก่าไม่ว่าจะเป็นข้าราชบริพาร หรือ ตัวควีน อลิซาเบ็ธ

... จุดเริ่มต้น ดูเหมือนจะเป็นการต่อสู้ระหว่าง แบลร์ VS. ควีน จนกระทั่ง เหตุการณ์สำคัญที่พาหนังไปในทิศทางแท้จริง นั่นคือ เหตุการณ์ เจ้าหญิงไดอาน่า สิ้นพระชนม์

ตัวผมเองยังจำได้เลยว่า รับรู้ข่าวใหญ่ข่าวนี้จากเพจเจอร์ ข่าวขึ้นมาเป็นตัววิ่ง ผมรู้สึกตื่นเต้นเพราะ ในตอนนั้น เจ้าหญิงไดอาน่าเป็นคนสำคัญ เป็นคนดัง

ในตอนนั้นตัวเองไม่เคยตระหนักรู้เลยว่า เพราะ ภาพลักษณ์คนธรรมดาสามัญที่เข้าถึงประชาชน ภาพการเข้าเยี่ยมคนไข้โรคเอดส์อย่างไม่รังเกียจ อีกทั้งภาพลักษณ์ปานประหนึ่งดารานี้เองที่ทำให้ ความเป็นสีขาว / สีดำ ของ ไดอาน่า และ ควีนอลิซาเบธกับเหล่าเชื้อพระวงศ์ชัดเจนมากขึ้น

หลังจากข่าวสิ้นพระชนม์ของไดอาน่า

พระองค์ไม่ยอมให้เครื่องบินหลวงไปรับร่างไดอาน่าจากปารีส

พระองค์ไม่ออกมากล่าวคำไว้อาลัยหรือให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้

พระองค์ไม่คิดจะลดธงที่วังเหลือครึ่งเสาตามที่ประชาชนต้องการ เหมือนประเพณีนิยมทั่วไป

พระองค์พาหลานๆและเชื้อพระวงศ์ออกจากพระราชวังไปเที่ยวป่าล่าสัตว์ที่บัลมอรัล




...เหตุการณ์เหล่านั้น ทำให้ พระองค์(ควีนอลิซาเบ็ธ)ถูกประชาชนทั่วโลกตัดสินว่าเป็น คนใจดำ

สื่อมวลชนตอกย้ำความใจร้าย ด้วยการประโคมพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งติดต่อกันหลายวัน เพื่อโน้มน้าวให้พระองค์กระทำในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าสมควร กระแสต่อต้านการกระทำของพระองค์รุนแรงจนถึงกับมีหัวข้อต้องถกกันว่า หรือ ระบอบราชวงศ์จะคร่ำครึเกินไปในโลกปัจจุบัน

... ผู้คนที่อยู่ในวันเวลาเหล่านั้น ไม่ทันได้ตระหนักว่า ควีนอลิซาเบ็ธ แทบจะไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เพียงแต่ การไม่ได้ทำอะไร ต้องกลายเป็นสิ่งผิด เพียงเพราะพวกเขาคาดหวัง อยากให้ พระองค์ ทำอะไรบ้าง

จะว่าไปแล้ว พระองค์เองก็ทำถูกต้อง(ตามกฎ) แต่ ไม่ถูกใจ เท่านั้นเอง

ผิดด้วยหรือ ที่พระองค์ พาหลานออกไปล่าสัตว์เพื่อไม่ต้องการให้เผชิญกับข่าวสะเทือนใจ

ผิดด้วยหรือ ที่พระองค์ ไม่ยอมลดธงลงครึ่งเสาเพราะไม่อยากฝืนพระราชพิธีซึ่งมีการกำหนดมานับร้อยปี และ ธงนี้ก็มีความหมายแทนตัวพระองค์มิได้เป็นธงสามัญทั่วไป

ผิดด้วยหรือ ที่พระองค์ ไม่ยอมกล่าวอาลัย เพราะ สถานภาพของเจ้าหญิงไดอาน่าเองก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์แล้ว อีกทั้งในมุมของพระองค์ เจ้าหญิงไดอาน่าก็ไม่ใช่คนที่รักหรือเคารพ แถมยังทำให้เชื้อราชวงศ์ต้องเสื่อมเสีย


.... ฝั่งของแบลร์ ถูกจับไปรวมอยู่กับฝั่งของสื่อมวลชน แม้กระทั่งเจ้าฟ้าชายชาร์ลยังแอบไปถือหางเข้าข้างฝั่งไดอาน่า ซึ่งในตอนนี้ กลายเป็น เจ้าหญิงของประชาชน ยืนอยู่ตรงข้ามกับ ฝั่งของควีน ซึ่งไม่ต่างอะไรจาก คนใจร้ายของประชาชน และ โทนี่ แบลร์ กลายเป็นคนที่ยืนอยู่ระหว่างทั้งสองฝั่ง



แบลร์ ต้องยืนอยู่ตรงกลาง ระหว่าง โลกของคนรุ่นใหม่ VS. โลกของคนรุ่นเก่า

แต่ความจริงแล้วนั้น มันไม่ใช่โลกสองใบนี้หรอกที่ยืนตรงข้ามกัน โลกที่อยู่ตรงข้ามแท้จริงคือ

โลกของควีน ที่ประชาชนเห็น + ที่สื่อสร้างภาพ VS. โลกของควีนที่แท้จริง ในฐานะของ’คน’


... ผู้คนที่ยืนดูและอยู่โลกคนละใบของควีน ย่อมไม่เคยเข้าใจถึง

คนที่เติบโตมากับประเพณีที่ดำรงกันมากว่าร้อยปี หน้าที่ในการปกปักษ์ระบบและประเพณี ในขณะเดียวกัน

คนที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบคนอีกนับล้านคน

คนที่เติบโตมาพร้อมกับการเลี้ยงดูที่ต้องแยกแยะอารมณ์ส่วนตัวให้ออกจากงาน ไม่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกผิดหวังเสียใจหรือกระโดดโลดเต้นเมื่อยินดีปรีดา

คนที่ไม่ใช่พระอิฐพระปูนที่ย่อมมีความรู้สึกรักหรือเกลียด

... ในนิยายหรือชีวิตจริง ของ แม่ผัวลูกสะใภ้ ทั่วๆไป เราหมั่นไส้รังเกียจ ตัวละครแม่ผัว ที่ตามแกล้งตามทำร้าย ลูกสะใภ้ แต่ ในกรณี แม่ผัวเย็นชา เจอ ลูกสะใภ้ที่ไม่เข้ากัน เราก็อาจจะไม่รู้สึกรุนแรงเท่าไหร่นัก แต่ พอมาเป็น ควีนอลิซาเบ็ธ กับ ไดอาน่า กระแสความรู้สึกเหมือนถูกขยายหนักมากขึ้น นั่นเป็นเพียงเพราะ ความคาดหวังของประชาชน ที่ มาจาก สถานภาพซึ่ง ควีน ดำรงอยู่

และ นั่นทำให้ พระองค์ ต้องประสบกับ คลื่นชีวิต ที่หนักหนากว่าคนทั่วๆไป

...หนังถ่ายทอดให้เราเข้าถึง ความยากลำบากในการตัดสินใจ เมื่ออยู่ในฐานะของพระองค์ เมื่อถูกโลกภายนอกบีบคั้นถึงขีดสุด ช่วงเวลาในบัลมอรัล ทำให้พระองค์เกือบคิดที่จะถอดใจ จากคนที่เคยคิดว่ารู้จักประชาชนตัวเองมากที่สุด และ ก็คิดว่า ประชาชนจะเข้าใจพระองค์ด้วยเช่นกัน

พระองค์ต้องถูกกดดันจากเสียงสองฝั่งที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น เสียงของมวลชนและการข่าวที่ถือฝ่ายไดอาน่า หรือ จะเป็นเสียงของผู้คนรายล้อมไปด้วยผู้เกลียดชังไดอาน่า ไม่ว่าจะเป็น เจ้าชายฟิลิป หรือ ควีนมัม

พระองค์จะยอมทำตามความต้องการของสื่อมวลชนและเสียงประชาชน ด้วยการจัดพระราชพิธีศพให้กับไดอาน่าหรือไม่ ถ้ายอมทำตาม ต่อไป หากเป็นกรณีอื่นอีก มิต้องยอมสื่อไปตลอดหรอกหรือ สถานภาพของราชินีจะเอนไหวไปตามเสียงของมวลชนหรือเปล่า

...จนกระทั่งเมื่อพระองค์ไปพบกับ กวาง ตัวหนึ่งในป่า

เราจะพบว่า กวางตัวนั้น ก็เหมือน กับตัวพระองค์เอง

ภาพของความสง่างาม แต่ โดดเดี่ยวและพร้อมจะถูกรุมล่าจากนายพราน ไม่ต่างอะไรจาก พระองค์ ที่สื่อมวลชน รอขย้ำเป็นเป้านิ่ง

ไม่ต้องสนว่า ไดอาน่า จะดีจริงหรือสร้างภาพ
ไม่ต้องแคร์ว่า ควีน จะเกลียดชังอย่างมีอคติหรือไม่

ควีนอาจจะใจร้ายจริง และ แน่นอนว่า ควีน เกลียดไดอาน่า แต่ การกระทำของพระองค์ก็มิได้ทำเกินกว่า มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำ แต่ สิ่งที่เหมือนกับแรงโต้ตอบกลับมา มันน่าเจ็บปวดมิใช่น้อย สำหรับสิ่งที่เสียสละให้ประเทศชาติมากว่า ห้าสิบปี แต่แค่เพียง ไม่ให้ความสำคัญกับเจ้าหญิงไดอาน่า ความเสียสละความดีงามทั้งหลายนั้นก็พร้อมจะถูกลืม

แล้วการตัดสินใจในตอนท้าย การตัดสินใจที่มาจากส่วนที่อยู่เบื้องลึกของพระองค์เอง การตัดสินใจที่ไม่ได้ขึ้นต่อเสียงของฝ่ายใด การตัดสินใจของพระองค์ในฐานะ พระราชินี นำไปสู่บทสรุปของการก้าวสู่โลกยุคใหม่อย่างสมดุลของประเทศอังกฤษ



... ผมเหลือ Little miss sunshine กับ Letter from iwo jima เท่านั้นที่ยังไม่ได้ดู เมื่อนับสิ่งที่ดูไปแล้ว ผมขอยกออสการ์ส่วนตัวให้กับ The Queen แซงหน้า The Departed กับ Babel

หนังดึงให้ผมจดจ่ออยู่กับจอตรงหน้า โดยไม่มีการยิงกันตูมตามหักเหลี่ยมโชว์เก๋าแบบ The departed หรือ มีปีศาจหน้าขนกับลีลาเล่าเรื่องทีละสี่ห้าชาติให้ประหลาดใจอย่าง Babel หนังเพียงเล่าเรื่องของคนๆหนึ่งไปข้างหน้าไม่สลับซับซ้อน แต่ หนังสามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า เรื่องราวธรรมดา นั้น หากมีบทที่ดี มีผู้กำกับที่เก่ง และ มีนักแสดงที่รู้งาน ความธรรมดาของเรื่องราว ก็ทำให้ หนังเรื่องนั้นเด่นขึ้นมา

บทของหนังฝีมือ ปีเตอร์ มอแกน ตีแผ่ ชีวิตของคนหนึ่งคน ได้อย่างเห็นทุกแง่มุมมอง นักแสดงที่ต่างก็เล่นได้ดี ไม่ใช่เฉพาะทักษะการแสดงขั้นเทพของ เฮเลน เมียร์เรน แต่ การสวมบทบาทเป็นโทนี่ แบลร์ ของ ไมเคิล ชีน ก็เล่นได้ดีเหลือใจ และ ทุกองค์ประกอบเหล่านั้น สตีเฟ่น เฟรียส์ ในฐานะผู้กำกับ ควบคุมให้ออกมาได้อย่างลงตัวและเดินเรื่องจากต้นไปจนจบ อย่างมีเป้าหมายและมีพลัง ส่งผลให้คนดูไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรืออยากจะเดินออกไปเข้าห้องน้ำ แม้ฉากในหนังนั้นจะไร้ซึ่งความตื่นตาตื่นใจหรือไร้ซึ่งฉากหักเหลี่ยมหักมุมเหมือนหนังเรื่องอื่นๆ



...ฉากหนึ่งที่ผมชอบมากเป็นพิเศษในหนังคือ ฉากที่ควีนเสด็จกลับพระราชวังหลังไปบัลมอรัล และ ก้าวลงมาเยี่ยมชมกองดอกไม้ที่ประชาชนนำมาไว้อาลัยเจ้าหญิงไดอาน่า ท่ามกลาง สายตาสงสัยและรังเกียจรังงอนของประชาชนบางคน ท่ามกลางคำเหน็บแนมชิงชังในการ์ดบนกองดอกไม้ มันทำให้พระองค์ต้องเจ็บปวด ราวกับ คนอังกฤษไม่ได้รักพระองค์อีกแล้ว แต่ ฉากนี้กลับลงท้ายได้อย่างสวยงามมากมาย เมื่อ เด็กผู้หญิงคนหนึ่งมอบดอกไม้ให้พระองค์ แล้วทรงรับปากว่าจะนำไปวางบนกอง แต่ เด็กคนนั้นกลับบอกว่า ดอกไม้ช่อนี้รอมอบให้พระองค์เอง

ซึ่ง คนดูคงสามารถสัมผัสได้ถึง กำลังใจที่ยิ่งใหญ่ และ ทำให้พระองค์คงได้เข้าใจว่าคนอังกฤษมิได้ จงเกลียดจงชัง พระองค์ จริงแม้จะมีคนผิดหวัง มีคนไม่พอใจ แต่ อีกหลายๆคนยังคงต้องการ ควีน อยู่

พระองค์ยังคงเป็น ราชินีของประชาชน และ ไม่ใช่ กวางป่าที่โดดเดี่ยวตัวนั้นแต่อย่างใด

...ส่วน เฮเลน เมียร์เรน ไม่ต้องชมแล้วกระมัง ว่าเธอเล่นได้ดีขนาดไหน การเดินสายคว้ามงกุฎจากแทบจะทุกสถาบันอย่างเป็นเอกฉันท์ พิสูจน์แล้วว่า เธอคุมบทนี้ได้อยู่หมัดเพียงใด ไม่มีวินาทีใดเลยที่เธอจะหลุดจากคาแรกเตอร์ควีนอลิซาเบธ ความยอดเยี่ยมไม่ใช่แค่เธอแสดงสีหน้าท่าทางได้เหมือน แต่เธอทำให้เราเชื่อได้แม้จะไม่เคยเห็นว่า ถ้าพระองค์มีความรู้สึก , ถ้าพระองค์ตื่นจากบรรทม , ถ้าพระองค์ร้องไห้ ฯลฯ พระองค์ก็คงเหมือนกับเธอ

อย่างที่ว่าไว้ข้างต้น ไม่แปลกใจที่ไม่มีฝ่ายไหนออกมาต่อต้านหนังเรื่องนี้ เพราะ ภาพของ ควีน และ โทนี่ แบลร์ ล้วนออกมาดูดี และ หนังก็ทำให้คนดูรู้สึกยอมรับบวกเห็นอกเห็นใจตัวละครมากยิ่งขึ้น จะมีตำแหน่งผู้ร้ายในหนังก็คงต้องตกไปเป็นของ เจ้าชายฟิลิป ที่ดูจะจงเกลียดจงชังอยู่อย่างเดียวทั้งเรื่อง กับ เจ้าฟ้าชายชาร์ลที่อ่อนแอ และ แคร์ภาพลักษณ์จนเกินงาม

สิ่งที่ชอบ

1.เฮเลน เมียร์เรน ... ตอนแรก ก็ผิดหวัง ที่ ป้าเมอรีล พลาดออสการ์ แต่พอได้ดูหนังเรื่องนี้แล้ว ก็ไม่คัดค้านแต่ประการใด (เพียงแต่ ก็ยังอยากมอบออสการ์อีกตัวให้ป้าเมอรีลอยู่ดี)

2.บทภาพยนตร์ ... โดย ปีเตอร์ มอแกน ตลกดี ตรงที่ ปีนี้นอกจาก Queen แล้วเขายังเขียนบทให้ King ด้วย ซึ่งก็เข้าชิงเหมือนกันในสาขานักแสดงนำกับ The Last King of Scotland

3 .ผู้กำกับ ... จากเรื่องนี้ เมื่อผมย้อนไปดูผลงานเก่าๆของ สตีเฟ่น เฟรียส์ ที่ผมชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น Dirty Pretty Things / High Fidelity / Dangerous Liaisons ผมก็พบว่า งานของเขา สะท้อน ความสามารถหนึ่งที่โดดเด่นมาก คือ ตัวเขานั้นเป็น ผู้กำกับที่เหมือนคอนดักเตอร์ในวงออเคสตร้า ที่สามารถควบคุม ทุกเครื่องดนตรีหรือองค์ประกอบในหนัง ให้เดินเรื่องไปข้างหน้าได้อย่าง มีจุดหมายชัดเจน มีสมาธิแน่วแน่ และไม่หลุดตัวโน้ตหรือหลุดประเด็นระหว่างทาง

สรุป ... ผมชอบมาก แต่ ก็คงไม่ใช่หนังที่จะแนะนำให้ใครๆเข้าไปดูโดยไม่รู้ว่าคนๆนั้น ชอบหนังแบบไหน เพราะนี่ไม่ใช่หนังที่คนดูทั่วไปจะดูสนุก สรุปเอาเป็นว่า

... คอหนังดราม่า ห้ามพลาดดดดด

... คออังกริ๊ดอังกฤษ ประเภท ชื่อเล่นชื่อจอห์น เกิดในอังกฤษ ตอนเด็กๆวิ่งจ๊อกกิ้งผ่านหอนาฬิกาบิ๊กเบน ตอนสายๆไปดูคอนเสิร์ต Oasis ตอนเย็นๆเดินเล่นโอลแทร็ฟฟอร์ด ห้ามพลาดดดด

... คอประวัติศาสตร์ รู้จักชีวิต ควีนอลิซาเบ็ธ หรือ เจ้าหญิงไดอาน่า ถ้าสนใจในประวัติศาสตร์พระราชวงศ์ ห้ามพลาดดดดด

... คอไม่ชอบหนังดราม่า หรือ "ใครหว่า ควีนอลิซาเบ็ธ" รอแผ่นดีกว่า มีโอกาสหลับในโรง


ป.ล. ในบรรดาหนังที่เข้าโรงอยู่ตอนนี้ ผมขอเชียร์ Bridge to Terabithia ขาดใจ ผมชอบหนังเรื่องนี้มาก เป็นไม่กี่เรื่องในช่วงหลังที่ต้องแอบปาดน้ำตาป้อยๆและซาบซึ้งประทับใจไปกับเรื่องราวในหนัง แต่ อย่าเพิ่งรีบด่วนไปตีตั๋ว หรือ ไปดูเพราะเห็นตัวอย่างหนัง โปรดไปอ่านข้อควรรู้ก่อนดูหนังเรื่องนี้ที่ความเห็นด้านล่างใน หน้าแรก ของ Blog หรือ ไปที่ ลิงค์นี้เลยครับ --> คลิก



ขอฝาก"หนังสือรัก"ไว้กับผู้อ่านด้วยเน้อ กับ พ็อกเก็ตบุ้คเล่มแรก ที่หยิบยกความรักและความสัมพันธ์ในภาพยนตร์ มาช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ได้มากขึ้นและลึกซึ้งกว่าเดิม



(วางขายตามร้านหนังสือทั่วไป หาไม่เจอถามจากพนักงานขายได้เลยจ้า)






ชวนไปอ่านบทความเรื่องอื่นๆ คลิก >> หน้าสารบัญ

ชวนคลิก ชวนคุยกับเจ้าของ Blog ที่ --> หน้าแรก

รวบรวมรายชื่อหนังเรื่องเก่าๆที่เคยเขียนไว้แล้วที่ ---> ห้องเก็บหนัง





ขอคิดค่าบริการต่อการอ่าน 1 หน้าในอัตราเพียง

ความเห็น
ของคุณมีประโยชน์กับผู้อ่านคนถัดมา คำทักทายของคุณเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน คำติชมหรือคำแนะนำของคุณจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพัฒนาหากคุณเข้ามาอ่านครั้งถัดไป


Create Date : 17 มีนาคม 2550
Last Update : 19 มีนาคม 2550 18:37:07 น. 20 comments
Counter : 10884 Pageviews.

 
เพิ่งตามไปซื้อหนังสือ เจ้าของบล๊อกมาอ่านค่ะ
ปลื้ม ...

เพิ่งดู เดอะ ควีนมา เช่นกัน
ตลอดเวลารูสึกว่ากำลังดู ชีวิต ไม่ใช่ดูหนังสักหน่อย ประมาณนั้นค่ะ


โดย: ประกายดาว วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:6:26:22 น.  

 
หลายครั้งหลายหน ที่เราตัดสิน‘คน’ จาก มุมที่เราเห็น เราด่วนสรุปพิพากษาคนจากสิ่งที่เราคิด เราไม่เคยคิดจะเข้าใจ ใครคนนั้นจริงๆ เพราะ มันไม่ใช่เรื่องของเรา

หากเป็นเรื่องของคนอื่น แล้วเราเป็นคนมองจากภายนอก ย่อมไม่มีวันเข้าใจ ถึงความรู้สึกเจ็บปวดและน่าน้อยใจ จนกว่า เราจะกลายเป็น ใครคนนั้น ที่ถูกคนรอบข้างด่วนตัดสินเสียเอง

..เป็นความไม่ยุติธรรมที่คนส่วนมากมอบให้คนอื่นโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไรมาตลอด..น่าเศร้า


โดย: hayashimali วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:6:32:24 น.  

 
ยังไม่ได้ดู The Departed ครับ แต่ถ้าเทียบกับ Babel แล้ว ผมก็ยกออสการ์ให้ The Queen เหมือนกัน

ฉากที่เด็กถวายดอกไม้ให้กับควีนชวนให้รู้สึกตื้นตันก็จริง แต่ก็ดูจงใจให้ซาบซึ้งไปนิดนึง ส่วนตัวแล้วชอบฉากที่ควีนทอดพระเนตรเห็นกวางมากกว่า มันเรียบง่าย งดงาม และมีนัยยะสำคัญ


โดย: das Kino วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:11:54:03 น.  

 
จาก 4 เรื่อง (รวม LMS ด้วย) เรื่องนี้ผมให้สูสีกับ Little Miss Sunshine ครับ...
(แต่จริงๆแล้วเรื่องไหนจะได้ก็ไม่น่าเกลียด ยกเว้น The Departed)

ฉากที่เดอะควีนกลับวังแล้วเดินดูกองดอกไม้นั่นผมก็ชอบมากๆเหมือนกัน... น้ำตาแทบไหลตอนที่เด็กคนนั้นมอบช่อดอกไม้ให้
(เฮเลน เล่นได้เทพเวรี่เทพ)

อีกฉากที่ผมค่อนข้างชอบคือช่วงท้ายเรื่องที่มีภาพของไดอาน่าหันมามองกล้อง แล้วก็หยุดภาพสายตาของไดอาน่าที่มีนัยยะอะไรบางอย่าง
สายตาที่จ้องราวกับจะกินเลือดกินเนื้อ...

ผมดูตอนนี้แล้วขนลุกเลยอะครับ...


ปล. ตอนไตเติ้ลเริ่มเรื่องก็เจ๋งมั่กๆ ตอนที่ให้เดอะควีนหันหน้ามาพร้อมกับขึ้นชื่อเรื่องอยู่ข้างๆ


โดย: nanoguy IP: 203.113.35.7 วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:14:44:02 น.  

 
เป็นไปได้ว่า ไปดูหนังเรื่องนี้ ตามประเด็นที่ จขบ. แจงไว้ที่ว่า

" ... คออังกริ๊ดอังกฤษ ประเภท ชื่อเล่นชื่อจอห์น เกิดในอังกฤษ ตอนเด็กๆวิ่งจ๊อกกิ้งผ่านหอนาฬิกาบิ๊กเบน ตอนสายๆไปดูคอนเสิร์ต Oasis ตอนเย็นๆเดินเล่นโอลแทร็ฟฟอร์ด ห้ามพลาดดดด .... "


* ฉากประทับใจและน้ำตาร่วง ก็ตอนเดอะควีนมองเห็นดอกไม้ในมือของเด็กอ่ะค่ะ...

ดีใจที่ได้ดู


โดย: renton_renton วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:16:24:19 น.  

 
เยี่ยมครับ


โดย: เจ้าชายชาเย็น วันที่: 18 มีนาคม 2550 เวลา:7:02:30 น.  

 
บทสนทนาเด็ดๆ เพียบ ตั้งแต่เริ่มเรื่องเลย
Portrait Artist: You may not be allowed to vote, ma'am, but it is your government.
HM Queen Elizabeth II: Yes. I suppose that is some consolation.
จิตรกร : พระองค์อาจจะทรงไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง แต่มันก็เป็นรัฐบาลของพระองค์
พระราชินี : ใช่ ฉันคิดว่า นั่นคงเป็นเหมือนการปลอบใจ


โดย: T o O - t o O IP: 58.8.13.250 วันที่: 18 มีนาคม 2550 เวลา:12:13:56 น.  

 
เห็นด้วยอย่างยิ่งกับส่วนที่ว่า "เรื่องราวธรรมดา นั้น หากมีบทที่ดี มีผู้กำกับที่เก่ง และ มีนักแสดงที่รู้งาน ความธรรมดาของเรื่องราว ก็ทำให้ หนังเรื่องนั้นเด่นขึ้นมา"
ดูหนังเรื่องนี้แล้วรู้สึกทึ่งมากที่หนังที่ดำเนินเรื่องเรียบง่าย จากหนึ่งไปสองและสามเหมือนชีวิตจริง ไม่มีเพลงประกอบมาสร้างอารมณ์อะไร จะสามารถเป็นหนังที่ยอดเยี่ยมเรียกอารมณ์แบบไร้ที่ติได้เรื่องนึง ประทับใจเฮเลน เมียร์เรน แน่นอนค่ะ เล่นได้ยอดเยี่ยมมากเลย ขอตบมือให้หลายๆฉาดเลย


โดย: TaMaChAN IP: 211.104.133.202 วันที่: 18 มีนาคม 2550 เวลา:19:59:14 น.  

 
ได้ชื่นชมฝีมือการแสดงที่สมรางวัลสุดสุด
ชอบทุกตัวแสดง ซีนกระชากน้ำตา และผู้กำกับสุดยอด

และรอเก็บแผ่นอย่างแรง...


โดย: bua ja วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:1:51:13 น.  

 
อ่านจาก pantip (ไม่ได้เป็นสมาชิก) แล้วตามมาที่นี่ เพื่อแสดงหนึ่งความเห็น เรื่องเจ้ากวางตัวนั้น
เห็นอีกอย่างแตกต่างไปตรงที่ว่า
กวางนั้นชวนให้นึกถึง เลดี้ได

diana ตามปกรณัมแล้ว คือ นางฟ้าแห่งการล่า แต่ในชีวิตจริง เลดี้ได กลับเป็นเหยื่อ ผู้ถูกล่าแบบสุดขอบฟ้า จนชีพดับโดยกองทัพปาปารัซซี่
ก่อนหน้านั้น สำหรับพระราชินีแล้ว การล่ากวางก็คือ เกมกีฬาศักดินา
แต่ในยามนี้ที่พระองค์ทรงรู้สึกกดดัน รถพระที่นั่งก็มาติดอยู่ริมลำธาร เมื่อพระองค์ได้ทรงเห็นกวางเขางาม ในระยะใกล้ พระองค์จึงบังเกิดความรู้สึกสงสาร และทรงสะเทือนพระทัย เมื่อทรงทราบว่าเจ้ากวางตัวนี้ถูกยิงตาย
กับกวางพระองค์ยังทรงรู้สึกรู้สา ทรงเอาพระทัยใส่ เสด็จไปดูร่างที่ไร้วิญญาณ แล้วกับเลดี้ได ทั้งคนเล่า
แม้ว่าจะมีความบาดหมาง ขัดแย้งกันมาก่อน แต่เลดี้ไดก็เคยเป็นคนในครอบครัว เป็นพระสุณิสา และยังเป็นพระมารดาของสองรัชทายาท
พระองค์จะวางองค์นิ่งเฉย เงียบ
ตามแบบแผน ประเพณี หรือ พระองค์จะทรงแสดงออกบ้าง
อย่างพอประมาณ เพื่อเป็นหลัก เป็นขวัญให้ประชาชนผู้(รู้สึกว่า)สูญเสีย
ความตายของเจ้ากวางเขางาม ปฏิกิริยาของประชาชน และคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี คือ ปัจจัยให้พระองค์ทรงตัดสินพระทัยในที่สุด ที่
จะไม่เงียบ (- ทรงมีพระราชดำรัสออกอากาศทางโทรทัศน์) และ ไม่นิ่งเฉย (ทรงมีรับสั่งให้ลดธงครึ่งเสา ทรงเสด็จร่วมในพิธี ฯลฯ) อีกต่อไป


โดย: sila IP: 125.24.236.93 วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:14:46:22 น.  

 
+ โอวว ... พอคุณ จขบ. พูดถึงผลงานเก่าๆ ของ ผกก.สตีเฟน เฟรียส์ ก็เลยรู้ว่าผมก็ดูมาหมดแล้วนะเนี่ย ทั้ง Dirty Pretty Things, High Fidelity และ Dangerous Liaisons ... ซึ่งผมว่าเค้าเป็น ผกก. ที่สามารถจัดการกับซีนอารมณ์ได้เก่งนะครับ อย่างแต่ละเรื่องเนี่ยก็จะมีอารมณ์แปลกๆ แทรกซ่อนอยู่อย่างแยบยลแทบทั้งนั้น แต่ก็ไม่เคยหลุดโทนจากหนังทั้งเรื่องนั้นๆ ... สำหรับ queen นี่ ถ้าคนไม่ค่อยชอบหนังอารมณ์ยุโรป ก็อาจหลับได้เหมือนกัน ... เหมือนที่คุณ จขบ. แนะนำไว้ตอนท้ายอ่ะครับ
+ อีกอย่างนับถือในความกล้าของ ผกก. และคนเขียนบท ที่นำเอาเหตุการณ์ร่วมสมัยที่เพิ่งผ่านไม่กี่ปี และยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คน อย่างเหตุการณ์การสวรรคตของเจ้าหญิงไดอาน่า ผู้เป็นขวัญใจมหาชน มาเล่นเป็นประเด็น ... งานนี้ เจ้าชายฟิลิป, ฟ้าชายชาร์ลส์ และควีนมัม (ถ้ายังอยู่) คงดูแล้วฉุนกึกที่ตัวเองต้องเป็นผู้ร้ายบนจอ (แต่เจ้าชายฟิลิปนี่ เหมือนคาแรคเตอร์ตัวอิจฉาในละครไทยมากไปหน่อยนะ มีมิติเดียวเลย) ... แต่เห็นว่าหลังจากควีนองค์จริงได้ชม ได้มีการเชิญ ผกก. และป้าเฮเลน เข้าเฝ้าฯ และจัดเลี้ยงน้ำชา + ทรงสนทนาด้วยเลยนี่ครับ

+ ป้าเฮเลน เกิดมาเพื่อเป็น "ควีน(อลิซาเบธ)" จริงๆ ทั้ง อลิซาเบธที่ 1 (ทีวี) และ 2 ... กวาดรางวัลซะเรียบเชียวปีที่ผ่านมา ... และผมชอบการแสดงของไมเคิล ชีนนะครับ น่าได้เข้าชิงออสการ์ประกอบชาย ... โทนี แบลร์ คงยิ้มไม่หุบ ที่ตัวเองเหมือนเป็นนักบุญ ผู้ประนีประนอมให้ 'โลกเก่า' กับ 'โลกใหม่' เข้ามาหลอมรวมกันได้อย่างสมบูรณ์ (ซีนที่เค้าเถียงกับภริยา แล้วภริยาพูดเรื่องแม่ของเค้า ก็เลยทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า ทำไมเค้าถึงพยายามปกป้องควีนนัก) ... แหม ไม่เหมือนปัจจุบัน ที่เค้ากลายร่างจากนักบุญ กลายเป็นคนบาปเสียแล้ว หลังจากไปคบ 'เพื่อนอันธพาล' อย่าง ปธน. พุ่มไม้น้อย แห่งเมกาเข้า
+ ไอเดียการตีความจากคุณ sila#10 เรื่องกวางตัวนั้น น่าสนใจมากทีเดียวครับ ... เพราะมันคือสัญลักษณ์ที่แสดงนัยยะที่เด่นชัดที่สุดในเรื่องนี้ ... ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเข้าใจฉากที่ควีนไปดูซากกวางที่ถูกตัวหัวแล้วแขวนไว้เหมือนกันครับ ... แต่พออ่านที่เขียนไว้ก็ อืม ... เป็นไปได้แฮะ


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 20 มีนาคม 2550 เวลา:13:36:24 น.  

 
^
^
[แก้คำผิด] ใช้คำราชาศัพท์ผิด ... สวรรคต รู้สึกจะใช้กับกษัตริย์ผู้ครองราชย์แล้วเท่านั้น ... ตรง + ที่ 2 บรรทัดที่ 3 ขอแก้เป็น "เหตุการณ์การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า" ครับผม


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 20 มีนาคม 2550 เวลา:13:40:42 น.  

 
นิดหนึ่ง เกี่ยวกับคห. ๑๒ ของคุณบลูฯ
เลดี้ได ตอนที่เสียชีวิต เธอเป็นสามัญชน; princess of wales เป็น titleในฐานะที่เธอเป็นพระมารดาของสองรัชทายาท(ถ้าจำไม่ผิด), จึงไม่ต้องใช้คำราชาศัพท์กับเลดี้ได
เมื่อเธอเป็นสามัญชน คนนอกราชวงศ์(แล้ว) ทั้งยังมีข่าวเรื่องผู้ชาย
จึงเป็นการสมเหตุ ต่อผลที่ควีนจะ
ทรงวางพระองค์เงียบ เฉย
แต่แล้ว..... ก็มีเหตุปัจจัยอื่น ที่ยังผลให้เป็นเช่นที่ปรากฏ ในที่สุด


โดย: sila IP: 125.24.226.152 วันที่: 21 มีนาคม 2550 เวลา:11:34:48 น.  

 
^
^
รับทราบ ... และขอบคุณครับ
... แล้วสื่อมวลชนก็ตกเป็นผู้ร้ายอีกตามฟอร์ม


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:11:21:38 น.  

 
ชอบ The Queen เหมือนกันเลยครับ แต่แอบชอบ จขบ มากกว่าอ่ะครับ เขียนได้ดีจริงๆ


โดย: ราชันย์เมฆา IP: 203.151.10.61 วันที่: 23 มีนาคม 2550 เวลา:9:55:13 น.  

 
... คุณม่านฝนตอบกระทู้บทความนี้ มีความเห็นดีๆและน่าสนใจมากครับ ผมจึงขออนุญาติเจ้าตัวเพื่อนำมาลงใน Blog


คุณ “ผมอยู่ข้างหลังคุณ” คะ

ชอบจัง ที่คุณ หยิบประเด็นที่คุณมองเห็นและได้จากหนัง มาเขียนให้คนอื่นได้อ่าน
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ที่ไปดูหนัง หนึ่งเพราะ กระแสจากรางวัลนักแสดงนำหญิงจากออสการ์
และอีกหนึ่ง คือ ด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่า ชีวิตของผู้เป็นราชินีจริงๆนั้นจะเป็นอย่างไร
ก่อนดูก็พอรู้เลาๆว่า เป็นเรื่องราวบทบาทของราชินีอังกฤษหลังเหตุการณ์เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์

พอดูจบแล้ว...(หัวใจ)ก็รู้สึกว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ทำได้ดีมากเรื่องหนึ่ง
ทั้งรายละเอียดของเนื้อหา การสวมบทบาทของนักแสดงนำ
และประเด็นดีๆบางประเด็น ที่คุณได้เขียนมาข้างบน
ตลอดทั้งเรื่อง ก็คอยเอาใจช่วยควีนส์อลิซาเบ็ธกับวิกฤติราชบัลลังค์อย่างที่หนังได้นำเสนอ

แต่อีกด้านหนึ่ง(สมอง)ก็มีคำถามกับหลายๆประเด็นในหนังเรื่องนี้ ในมุมที่ต่างออกไป

เมื่อหนังสร้างจากเรื่องราวของผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่

แล้วจะเป็นไปได้ไหม ที่หนังเรื่องนี้ จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือแก้ต่างรอยด่างของควีนส์อลิซาเบ็ธ
ต่อข้อครหาที่มีทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์

อย่างการที่เนื้อเรื่อง แสดงให้เห็นถึงความสันโดษของควีนอลิซาเบธในพระราชวัง ออกไปเดินเล่นกับสุนัขตามลำพัง ประกอบอาหารในช่วงเวลาปิ๊กนิก และขับรถไปไหนมาไหนเองโดยไร้ผู้ติดตามในเขตพระราชฐานเพื่อแก้ต่างข้อครหาที่ว่า ราชวงศ์เป็นชนชั้นอภิสิทธ์ชนมีความเป็นอยู่หรูหราฟุ่มเฟือยด้วยภาษีของประชาชน ในขณะที่ไม่ต้องบริหารราชการบ้านเมือง เหมือนระบอบกษัตริย์ปกครองในสมัยก่อนอีกต่อไปทั้งยังไม่ต้องจ่ายภาษีเหมือนประชาชนคนอื่นๆ เพราะปัจจุบันโลกตะวันตกอย่างอังกฤษก็มีเสรีที่จะวิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ มากขึ้น

และยังสร้างขึ้นมาเพื่อกู้หน้า ในสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หลังเจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ นำเสนอเหตุและผล และความชอบธรรมออกสู่สายตาประชาชนในเหตุผลที่พระองค์ไม่ยอม ใยดีมากมาย กับการตายของเจ้าหญิง และเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องยอมกลับลำ ออกมาร่วมงานพระศพ ยอมกล่าวไว้อาลัย และยอมลดธงดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่เสียหน้าไม่น้อย สำหรับคนที่อยู่บนราชบังลังก์

อีกทั้ง ยังเป็นเครื่องมือประสานภาพรอยร้าวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างแบลร์(ฝ่ายรัฐบาลผู้ดูเหมือนจะหาประโยชน์จากการอ่อนตามกระแสของประชาชน)และควีนอลิซาเบ็ธ(ผู้ถูกครหาว่าเป็นแม่สามีผู้เย็นชา)
เพราะเมื่อ ความคิดแบบเก่าและแบบใหม่ยังมีอยู่ในอังกฤษ การเป็นปรปักษ์ต่อกันย่อมจะไม่ส่งผลดีต่อทั้งสองฝ่าย
แต่หากเดินไปด้วยกัน ภาพลักษณ์รัฐบาลนั้นย่อมดูดีไม่มีที่ติในฐานะผู้เข้าอกเข้าใจ คงไว้ซึ่งการเคารพและทำนุบำรุงในสถาบันเก่าแก่ ส่วนข้างฝ่ายราชวงศ์ก็จะสามารถดำรงบัลลังก์ไว้

ที่มีข้อสันนิษฐานแบบนี้ ส่วนหนึ่ง เพราะเห็นต่างจากคุณผมอยู่ข้างหลังคุณว่า การวางบทบาทของแบลร์ในเรื่องนั้นอ่อน ทั้งต้องฟังคำภรรยา และ เชื่อฟังที่ปรึกษาทางการเมือง และบางช่วง ก็ไม่ค่อยเข้าท่า ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างกรณีที่จู่ๆแบลร์ก็โวยวายว่าที่ปรึกษาไม่เข้าใจควีนฯ พูดๆเสร็จก็พรวดพราดออกไปเหมือนเด็กมากกว่าผู้นำบ้านเมือง... แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็เข้าล็อคการอ้างความเข้าใจมวลชนในยุคสมัยใหม่ขณะเดียวกัน แบลร์นี่แหละ ที่เข้าพระทัยในพระเกียรติและศักศรีของควีนส์มากที่สุด
โดยการโยนความเป็นจำเลยในการฉกฉวยประโยชน์จากมวลชน ให้กับที่ปรึกษา และความอ่อนแอ ให้กับเจ้าฟ้าชายชาล์ล แต่ผู้น้อยกว่า ก็อาจยอม(หรือโดนผลักให้)เสียสละภาพพจน์ของตัวเอง เพื่อการดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของสถาบันและองค์กรที่ตนอาศัยร่มเงาอยู่มิใช่หรือ


เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว มันคล้ายกับรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวต่อสื่อของเจ้าหญิงไดอาน่าในยามที่มีชีวิตอยู่
โดยนางเอกแสนดีผู้สวมบทบาทเป็นลูกสะใภ้ที่มีชีวิตรันทด ก็คือตัวเจ้าหญิง และผู้ร้ายก็คือ ฝ่ายราชวงศ์

ดังนั้น เราจึงไม่ควรจะมองข้ามและไม่ลืม ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง ที่หนังได้นำเสนอไว้

สื่อนี่แหละ ที่ทำให้ภาพลักษณ์เจ้าหญิงไดอาน่าครองใจผู้คน
สุดท้าย สื่อนี่แหละฆ่าเจ้าหญิงไดอาน่า(สิ้นพระชนม์จากการขับรถหนีนักข่าว?)

สื่อนี่แหละเป็นเหมือนพรานล่ากวางที่คอยจะขย้ำ ควีนอลิซาเบธ
และสุดท้าย ก็ทรงใช้สื่อนี่แหละเป็นเครื่องมือกู้(หน้า) เกียรติ และศักดิ์ศรี


เป็นที่เห็นกันอยู่ว่า ปัจจุบันนี้ สื่อ นั้น เป็นใหญ่ และเป็นเครื่องมือชักจูงปลุกปั่นมวลชนที่มีพลังมากเพียงใด
ซึ่งอันที่จริงก็มีตัวอย่างให้เห็นมานานพอสมควรแล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์ ตุลา พฤษภา
ที่ท่านผู้นำอันฉ้อฉล เผด็จการทั้งหลายใช้เป็นเครื่องมือปกป้องตนเองและสร้างความขัดแย้ง
หรือกระทั่งเหตุการณ์ล่าสุดอย่าง ปัญหาไอทีวี

แล้วจะเป็นไปได้ไหมว่า
หนังเรื่องนี้ ก็เป็นวิธีการที่ไม่ต่าง คือ การใช้สื่อออกมาสนับสนุนแก้ต่างให้ตนเอง โดยนำเสนอออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นสื่อที่มีพลังทางความคิดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างหนึ่ง
เห็นได้จากตัวอย่าง อย่างหนังฮอลลิวู้ดทั้งหลายแหล่ ที่เป็นหน้าต่างนำวัฒนธรรมฝรั่งมากมายให้ไหลทะลักมาสู่บ้านเรา หรือ ซีรี่ย์แดจังกึมที่ทำให้ชื่อเสียงอาหารเกาหลี วัฒนธรรมเกาหลีดังเป็นพลุแตกในหลายประเทศ รวมทั้งธุรกิจร้านอาหารเกาหลีในบ้านเรา

“และสุดท้ายแล้วหนังก็จบอย่างงดงามใน ฉากที่ ควีนอลิซาเบธ กับ นายก โทนี่ แบลร์ เดินปรึกษาหารือในยุทธศาสตร์ของอนาคต”

ถามว่า หากคนเราจะใช้สื่อ เพื่อให้สังคมเข้าใจตัวเอง บอกเล่าผลงานที่ตนได้กระทำนั้น ผิดหรือไม่ โดยส่วนตัว ก็เห็นว่าไม่น่าจะผิด แต่เส้นแบ่งระหว่างการสร้างภาพลักษณ์เพื่อดำรงผลประโยชน์และรักษาอำนาจ กับ การชี้แจงเพื่อให้สังคมเห็นความจริงนั้น เบาบางเหลือเกิน
โดยเฉพาะเป็นการใช้สื่อของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ด้วยแล้ว

ในฐานะประชาชนตาดำๆ... เราคงปฏิเสธได้ยากว่า
หลายครั้งคำว่า “ความจริง” นั้น ราวกับอยู่แสนไกลเกินจะเอื้อมถึง



โดย: ความเห็นคุณ ม่านฝน จากเว็บพันทิป ("ผมอยู่ข้างหลังคุณ" ) วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:20:01:39 น.  

 
ออกจะเห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเห็นที่ 10 เรื่องสัญลักษณ์กวางตัวนั้น น่าจะหมายถึงไดอาน่ามากกว่า...

แล้วทำให้นึกถึงอิทธิพลของสื่อในการสร้างและทำลายได้ทุกอย่าง...ดูๆ ไป ผู้ร้ายในหนังมิใช่ใครอื่น...ความจริงที่บิดเบือนเกิดขึ้นได้เสมอ

แล้วตกลงเรากำลังอยู่ใน Hyperreality อยู่หรืออย่างไร? ความจริงที่เกิดขึ้นในหนังเกิดจากความสามารถระดับมืออาชีพของคนสร้าง หรือว่า...?

แต่ต้องยอมรับในความกล้าที่สร้างหนังซึ่งทุกคนยังมีชีวิตอยู่จริง อยู่ในสถาบันที่ยากจะแตะ และอาจจะโดนโจมตีได้ทุกเมื่อ คนเขียนบททำหน้าที่ได้สำเร็จ โดยได้รับการชื่นชมถ้วนหน้าแทนก้อนอิฐหรือบาทาลอยลม

สงสัยจริงว่า หลายคนที่มีบทในแง่ลบอยู่ในเรื่อง เขามีปฏิกิริยาอย่างไรกับหนังเรื่องนี้


โดย: หมีบางกอก (Bkkbear ) วันที่: 25 มีนาคม 2550 เวลา:11:20:24 น.  

 
ไปลองเช็คในimdbดูครับว่าไอ้ที่เขาว่าคุณหญิงเฮเลน เมียร์เรน กวาดรางวัลนำหญิงยอดเยี่ยมจากแทบทุกสถาบันน่ะ มันกี่สถาบันกันแน่ นับได้30สถาบันครับหลายคนเล่นหนังไม่รู้กี่เรื่องยังเก็บไปไม่ได้มากขนาดนี้เลย ฉากที่ทำให้ทึ่งในการแสดงของเมียร์เรน มากที่สุด คือฉากหน้าพระราชวังบัคกิงแฮม ที่เธอพยายามฝืนยิ้มให้ประชาชน แต่พอเธได้รับดอกไม้จากเด็กน้อย รอยยิ้มของเธอก็เปลี่ยนเป็นรอยยิ้มจากความรู้สึจริงๆ ทึ่งที่เธอสามารถใช้แค่รอยยิ้มสื่อความรู้สึกได้สุดขั้ว ไม่มีการฟูมฟายใดๆ ลองเรียงลำดับอารมณ์ในฉากนั้นด้วยตัวเองดู ได้มาอย่างนี้ครับ
ตอนที่The Queenก้าเดินลงจากรถ เต็มไปด้วยความหวาดหวั่นต่อสิ่งที่จะเกิด

พอเธอเห็นข้อความบนการ์ด ความรู้สึกของเธอคือความเจ็บปวด และ(อาจจะ)รู้สึกผิด

เมื่อประชาชนบางคยปฎิเสธที่จะทำความเคารพ แน่นอน เธอต้องเจ็บปวดและเสียใจ

แต่พอเธอได้รับดอกไม้จากเด็กน้อย เธอก็ได้รับรู้ว่า เธอยังเป็น "ราชินี" ในใจของใครหลายคน และก็ไม่ทุกคนที่รุมจ้องจะกินเลือดเธอ(นอกจากนั้น แว่บหนึ่งที่เธอเข้าใจไปเองว่า เด็กน้อยไม่ต้องการให้มือสกปรกของเธอจับดอกไม้ที่จะมอบให้เจ้าหญิงไดอาน่า สายตาเธอก็บ่งบอกได้ถึงความผิดหวัง เสียใจ)

ทั้งหมดนี้กินเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่เมียร์เรนสามารถถ่ายทอดความรู้สึทั้งหมดออกมาได้โดยแทบไม่เปลี่ยนท่าทาง(งามสง่าอย่างราชินี) และไม่มีบทสนทนาใดๆที่เธอพูดเพื่อรรยายความรู้สึก แต่เราเข้าใจ

นี่คือความยอดเยี่ยม และแค่ฉากนี้ฉากเดียว ก็บอกได้เลยว่าทุกรางวัลที่เธอได้มา อยู่ในมืคนที่คู่ควรจริงๆ


โดย: Ben IP: 202.5.89.60 วันที่: 8 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:36:31 น.  

 
เพิ่งได้ดู ชอบครับ ชนะใจตนเอง เก่งมาก


โดย: คนขับช้า วันที่: 15 เมษายน 2551 เวลา:19:11:39 น.  

 
สั้นๆ " สุดยอดเหนือทุกสิ่ง"


โดย: นุ๊ก IP: 58.10.33.72 วันที่: 21 กันยายน 2551 เวลา:0:11:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

"ผมอยู่ข้างหลังคุณ"
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




New Comments
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2550
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
17 มีนาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add "ผมอยู่ข้างหลังคุณ"'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.