Me, Myself and Formula 1
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 ธันวาคม 2557
 
All Blogs
 
แก้ไขปฏิทินการแข่งขันและสรุปกฎฟอร์มูล่าวันปี 2015

สภากีฬายานยนต์โลก (World Motor Sport Council) ของเอฟไอเอได้ประชุมไปแล้วเมื่อวานนี้ (3 ธ.ค.) ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ อย่างที่เราเคยเกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่ามีหัวข้อสำคัญที่ต้องติดตามอยู่หลายเรื่องทีเดียว จะมีอะไรบ้างเราไปดูกันเลยค่ะ

แก้ไขปฏิทินการแข่งขันฟอร์มูล่าวันปี 2015

เอฟไอเอประกาศยืนยันปฏิทินการแข่งขันปี 2015 ครั้งสุดท้ายในที่ประชุม WMSC ซึ่งมีเรื่องน่าประหลาดใจเมื่อปฏิทินฉบับใหม่นี้มีรายการโคเรียน กรังด์ปรีซ์ ที่หลุดไปในปี 2014 กลับเข้ามาใหม่ แม้ยังต้องรอการยืนยันอีกครั้งก็ตาม ทำให้ปฏิทินการแข่งขันปีหน้ามีโอกาสที่จะแตะถึง 21 สนาม โดยเกาหลีใต้จะเป็นสนามสุดท้ายในช่วงแรกของการแข่งขันก่อนเข้าสู่ภาคพื้นยุโรป นอกจากนั้นยังมีการสลับให้สนามเซี่ยงไฮ้มาก่อนสนามบาห์เรนและปรับวันแข่งขันจากครั้งก่อนอีกด้วย ดังข้อมูลด้านล่างนี้

15 มีนาคม - ออสเตรเลียน กรังด์ปรีซ์ (เมลเบิร์น)
29 มีนาคม - มาเลเซียน กรังด์ปรีซ์ (เซปัง)
12 เมษายน - ไชนีส กรังด์ปรีซ์ (เซี่ยงไฮ้)
19 เมษายน - บาห์เรน กรังด์ปรีซ์ (ซาคีร์)
3 พฤษภาคม - โคเรียน กรังด์ปรีซ์ (ยองอัม)*
10 พฤษภาคม - สแปนิช กรังด์ปรีซ์ (บาร์เซโลน่า)
24 พฤษภาคม - โมนาโก กรังด์ปรีซ์ (มอนติคาร์โล)
7 มิถุนายน - แคนาเดียน กรังด์ปรีซ์ (มอนทรีออล)
21 มิถุนายน - ออสเตรียน กรังด์ปรีซ์ (เร้ดบูลริง)
5 กรกฎาคม - บริติช กรังด์ปรีซ์ (ซิลเวอร์สโตน)
19 กรกฎาคม - เยอรมัน กรังด์ปรีซ์ (นัวร์บวร์กริง)
26 กรกฎาคม - ฮังกาเรียน กรังด์ปรีซ์ (ฮังกาโรริง)
23 สิงหาคม - เบลเจี้ยน กรังด์ปรีซ์ (สปา-ฟรองคอร์ชองส์)
6 กันยายน - อิตาเลียน กรังด์ปรีซ์ (มอนซ่า)
20 กันยายน - สิงคโปร์ กรังด์ปรีซ์ (มารีน่าเบย์)
27 กันยายน - เจแปนีส กรังด์ปรีซ์ (ซูซูกะ)
11 ตุลาคม - รัสเชียน กรังด์ปรีซ์ (โซชิ)
25 ตุลาคม - ยูเอส กรังด์ปรีซ์ (ออสติน)
1 พฤศจิกายน - เม็กซิกัน กรังด์ปรีซ์ (เม็กซิโกซิตี้)
15 พฤศจิกายน - บราซิเลียน กรังด์ปรีซ์ (อินเตอร์ลากอส)
29 พฤศจิกายน - อาบูดาบี กรังด์ปรีซ์ (ยาสมารีน่า)

*รอการยืนยัน


กฎการแข่งขันฟอร์มูล่าวันปี 2015

มีการเปลี่ยนแปลงจากกฎในปัจจุบันหลากหลายเรื่องดังต่อไปนี้

การให้คะแนน

ยกเลิกการให้คะแนนสะสมเป็น 2 เท่าในสนามสุดท้ายของฤดูกาลทั้งประเภทนักขับและประเภททีมผู้สร้าง

การตั้งกริดสตาร์ทใหม่หลังช่วงเซฟตี้คาร์

หลังจากปรึกษากับบรรดาทีมแข่งซึ่งมีความห่วงใยในเรื่องความปลอดภัย เอฟไอเอจึงเห็นควรให้ยกเลิกกฎการแข่งขันข้อ 42.7 และ 42.8 ว่าด้วยเรื่องการตั้งกริดสตาร์ทใหม่หลังช่วงเซฟตี้คาร์

การใช้ระบบจำลองเซฟตี้คาร์ (Virtual Safety Car - VSC)

หลังจากมีการทดสอบระบบ VSC ในสนามท้ายๆ ของฤดูกาล 2014 ขณะนี้เอฟไอเออนุมัติให้ใช้งานระบบดังกล่าวในปี 2015 โดยจะใช้เมื่อมีการโบกสัญญาณธงเหลืองคู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของสนามเพื่อเตือนให้รู้ว่ามีรถคันอื่นหรือเจ้าหน้าที่อยู่ในภาวะที่อาจเป็นอันตราย แต่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นต้องใช้เซฟตี้คาร์

การหยุดแข่งขันชั่วคราว

หากมีการหยุดแข่งขันชั่วคราว ทางออกพิตจะปิดและรถทุกคันต้องกลับเข้าไปในพิตเลนอย่างช้าๆ โดยทันที ไม่ใช่การกลับมาที่กริดสตาร์ท รถคันแรกที่ต้องเข้ามาในพิตเลนจะต้องจอดตรงสุดทางออกพิตบนเลนเร็ว (เลนบน) ของพิตเลน ส่วนรถคันอื่นที่แล่นตามเข้ามาจะต้องจอดเรียงแถวต่อกันไป

บุคลากรของทีมหรืออุปกรณ์บนกริดสตาร์ท

ไม่ว่าบุคลากรหรืออุปกรณ์ของทีมใดยังอยู่บนกริดหลังสัญญาณเตือน 15 วินาทีก่อนรอบวอร์มอัพแสดงขึ้น นักขับของรถคันที่เกี่ยวข้องจะต้องออกตัวจากพิตเลนและต้องรับโทษหยุดรถในพิต 10 วินาที (stop-and-go penalty)

บทลงโทษเกี่ยวกับหน่วยเครื่องยนต์

ต่อไปนี้จะไม่มีบทลงโทษหากมีการเปลี่ยนหน่วยเครื่องยนต์ทั้งชุด แต่บทลงโทษสำหรับการเปลี่ยนส่วนประกอบของเครื่องยนต์แต่ละส่วนดังที่ใช้มาในปี 2014 ยังมีอยู่ โดยถ้านักขับต้องรับโทษปรับอันดับกริดสตาร์ทลง แต่ไม่สามารถรับโทษได้ครบจำนวนในการแข่งขันเพียงครั้งเดียว นักขับจะต้องรับโทษในรูปแบบเวลาระหว่างแข่งขัน ไม่ใช่รับโทษที่เหลือในสนามต่อไปดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้มีอัตราการลงโทษดังนี้

- เหลือ 1-5 อันดับ: ใช้กฎข้อที่ 16.3(a) บวกเวลา 5 วินาที
- เหลือ 6-10 อันดับ: ใช้กฎข้อที่ 16.3(b) บวกเวลา 10 วินาที
- เหลือ 11-20 อันดับ: ใช้กฎข้อที่ 16.3(c) (ยังไม่มีข้อมูล)
- เหลือมากกว่า 20 อันดับ: ใช้กฎข้อที่ 16.3(d) (ยังไม่มีข้อมูล)

บทลงโทษด้วยเวลา

นอกจากการลงโทษด้วยการบวกเวลา 5 วินาทีเข้ากับเวลาการแข่งขันที่ทำได้ ดังที่มีอยู่ในปัจจุบันตามกฎข้อ 16.3a แล้ว ต่อไปนี้จะมีการเพิ่มบทลงโทษบวกเวลา 10 วินาทีตามกฎข้อที่ 16.3b อีกด้วย

การปล่อยรถโดยไม่ปลอดภัย (Unsafe Release)

หากรถคันใดถูกปล่อยออกมาโดยไม่ปลอดภัยระหว่างการแข่งขัน นักขับของรถคันดังกล่าวจะต้องรับโทษหยุดรถในพิต 10 วินาที และอาจได้รับโทษเพิ่มขึ้นตามการพิจารณาของกรรมการควบคุมการแข่งขัน หากนักขับผู้นั้นยังขับต่อไปทั้งที่รู้ว่าถูกปล่อยออกมาโดยไม่ปลอดภัย

กระบวนการควอลิฟาย

หากมีรถเข้าร่วมการแข่งขัน 24 คัน จะตัดรถช้าที่สุด 7 คันออกไปในช่วง Q1 และ Q2 หรือถ้ามีรถ 22 คันก็จะตัดรถช้าที่สุด 6 คันออกไปในช่วง Q1 และ Q2 ซึ่งสัดส่วนจะลดลงตามนี้หากมีจำนวนรถน้อยลงอีก

รถที่ถูกน็อกรอบในช่วงเซฟตี้คาร์

เมื่อรถที่ถูกน็อกรอบคันสุดท้ายผ่านรถคันนำไปแล้ว เซฟตี้คาร์จะกลับเข้าพิตเมื่อสิ้นสุดรอบถัดไป โดยผู้อำนวยการการแข่งขันไม่จำเป็นต้องรอให้รถที่ถูกน็อกรอบทุกคันกลับไปต่อท้ายแถวในช่วงเซฟตี้คาร์


กฎด้านเทคนิครถฟอร์มูล่าวันปี 2015

- มีการปรับเกณฑ์น้ำหนักขั้นต่ำของรถโดยไม่รวมเชื้อเพลิง โดยรถต้องหนักไม่น้อยกว่า 702 กิโลกรัม จากกฎปัจจุบันอยู่ที่ 701 กิโลกรัม

- มีการปรับเรื่องกฎการทดสอบรถในอุโมงค์ลมและปรับช่วงการรายงานด้านแอโรไดนามิกส์สำหรับปี 2015 และ 2016

- ระบบช่วงล่างของล้อหน้าทั้ง 2 ล้อจะต้องเป็นไปตามผลการตอบสนองจากการเปลี่ยนแปลงการโหลดน้ำหนักของล้อหน้าเท่านั้น

- ระบบช่วงล่างของล้อหลังทั้ง 2 ล้อจะต้องเป็นไปตามผลการตอบสนองจากการเปลี่ยนแปลงการโหลดน้ำหนักของล้อหลังเท่านั้น

- แผ่น Zylon anti-intrusion (ตามภาพด้านล่าง) ทั้ง 2 ด้านจะตั้งสูงขึ้นจนถึงขอบที่นั่งนักขับและขนานกับศีรษะนักขับ






ทั้งนี้ การประชุมของกลุ่มกลยุทธ์ฟอร์มูล่าวันครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 18 ธันวาคม โดยวาระสำคัญอยู่ที่เรื่องการลดต้นทุนการทำทีม การปรับปรุงการแข่งขันเพื่อให้น่าติดตามมากขึ้น การทำรถให้เร็วขึ้นและขับได้ยากขึ้น รวมถึงการทบทวนกฎด้านเทคนิคและกฎการแข่งขันเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นในบางจุด


*****************************************************


นอกจากหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟอร์มูล่าวันปี 2015 แล้ว ในการประชุม WMSC ยังมีเรื่องสำคัญที่ได้ประกาศตามด้านล่างนี้ค่ะ

สรุปการเกิดอุบัติเหตุของฌูลส์ เบียงคี่

ตามที่เอฟไอเอได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีอุบัติเหตุของฌูลส์ เบียงคี่ ที่เกิดขึ้นในสนามซูซูกะเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น จากการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องสรุปได้ว่าเบียงคี่ลดความเร็วในช่วงธงเหลืองไม่เพียงพอ เขาชนกับรถยกขนาด 6,500 กก. ที่กำลังทำงานอยู่ข้างแทร็คด้วยความเร็ว 126 กม./ชม. นอกจากนั้น ในรายงานยังยืนยันว่าไม่ว่าจะทำค็อกพิตแบบปิดหรือติดสเกิร์ตให้รถยกก็ไม่อาจช่วยเบียงคี่ได้เมื่อพิจารณาจากแรงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สามารถอ่านรายงานฉบับเต็ม 396 หน้าได้ที่เว็บไซต์ fia.com


เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การพิจารณาให้ใบอนุญาตแข่งขันฟอร์มูล่าวันหรือ Super Licence

สืบเนื่องจากการที่โตโร รอสโซ เซ็นสัญญากับแม็กซ์ เวอร์สตัปเพ่น เป็นนักขับตัวจริงของทีมในฤดูกาลหน้า ซึ่งเขาจะมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้นเมื่อลงแข่งขันสนามแรกที่เมลเบิร์น ทำให้เอฟไอเอตัดสินใจปรับเกณฑ์การพิจารณาให้ใบอนุญาตแข่งขันฟอร์มูล่าวันนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นไป ดังนี้

1. เกณฑ์ด้านความปลอดภัย
- ต้องถือใบขับขี่รถยนต์ซึ่งไม่หมดอายุ
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
- ต้องผ่านความรู้ในเรื่องกฎการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน

2. เกณฑ์ด้านประสบการณ์
- มีประสบการณ์ขับรถฟอร์มูล่าวันไม่น้อยกว่า 300 กิโลเมตร
- มีประสบการณ์ในการแข่งขันรถฟอร์มูล่ารุ่นเล็กไม่น้อยกว่า 2 ปี

3. เกณฑ์ด้านความสามารถ
- จะมีการประเมินด้วยระบบคะแนน โดยพิจารณาจากผลการแข่งขันของนักขับในรายการก่อนๆ










*ข้อมูลจาก fia.com
ภาพจาก slideshare.net


Create Date : 04 ธันวาคม 2557
Last Update : 5 ธันวาคม 2557 1:08:43 น. 3 comments
Counter : 2904 Pageviews.

 
อยากไปเกาหลี
อยากไปญี่ปุ่น
อยากไปฮังการี


โดย: Rainrain7 IP: 125.27.63.5 วันที่: 5 ธันวาคม 2557 เวลา:18:25:24 น.  

 
^
^
^
ไปด้วยยย


โดย: finishline วันที่: 6 ธันวาคม 2557 เวลา:22:51:59 น.  

 
เซปัง ซิลเว้อสโตนเจอกานนนน


โดย: อิอิ IP: 1.47.232.168 วันที่: 6 ธันวาคม 2557 เวลา:23:17:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

finishline
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ในประเทศไทยหาข่าวฟอร์มูล่าวันอ่านได้ยากเหลือเกิ๊นนนน...เขียนเองเลยดีกว่า!

**เจ้าของบล็อกเขียนข่าวขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลข่าวและแปลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ท่านใดที่นำข้อความในบล็อกไปเผยแพร่ต่อ ขอความกรุณาให้เครดิตบล็อกด้วยนะคะ**
Friends' blogs
[Add finishline's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.