Me, Myself and Formula 1
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2559
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
28 มีนาคม 2559
 
All Blogs
 
ไม่ใช่แค่ "โชคดี" ที่ทำให้รอด

อุบัติเหตุของเฟอร์นันโด อลอนโซ่ ในการแข่งขันออสเตรเลียน กรังด์ปรีซ์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ถือเป็นอุบัติเหตุที่เจ้าตัวก็กล่าวว่าร้ายแรงที่สุดในชีวิตการเป็นนักขับ หลังจากที่รถแม็คลาเรนของเขาเสยล้อหลังซ้ายรถของเอสเตบัน กูเตียร์เรซ ของฮาสแล้ว รถได้เสียหลักไถลไปชนขอบสนามด้านซ้ายก่อนที่จะพลิกอีกหลายตลบลอยไปจบที่อีกด้านหนึ่งของแทร็ค





ใครเห็นสภาพรถก็ไม่อยากเชื่อว่าเขาไม่บาดเจ็บใดๆ เลย ซึ่งนอกจากความโชคดีหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เขาทำได้แม้กระทั่งออกจากรถเอง สิ่งหนึ่งที่ต้องให้เครดิตนั่นก็คือมาตรฐานความปลอดภัยของฟอร์มูล่าวันที่เอฟไอเอมุ่งพัฒนาเพื่อให้กีฬานี้มีความปลอดภัยสูงสุดต่อทุกคนในสนาม โดยเฉพาะนักขับ เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีสิ่งใดบ้างที่ช่วยให้อุบัติเหตุคราวนี้ของอลอนโซ่ไม่จบด้วยโศกนาฏกรรม...


โคนจมูกรถ (nosecone)





โคนจมูกรถเป็นส่วนที่ต้องผ่านการทดสอบมากที่สุด ไม่ใช่เพราะสำคัญกว่าส่วนอื่น แต่เป็นเพราะส่วนนี้เป็นตำแหน่งของแอโรไดนามิกส์ที่สำคัญอันดับต้นๆ ทีมจะต้องออกแบบบริเวณนี้ให้ทั้งมีน้ำหนักเบาและมีผลทางแอโร ในขณะที่ต้องทำให้ผ่านการทดสอบการชนของเอฟไอเอด้วย ปัจจุบัน กฎด้านเทคนิคทำให้จมูกรถสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้รถลดความเร็วลงได้ในระยะทางอันสั้น


ก้านโยงล้อ (wheels tethers)





ก้านโยงล้อมีใช้กับรถฟอร์มูล่าวันตั้งแต่ปี 2001 เพื่อลดโอกาสที่ล้อจะหลุดหลังจากรถเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจหลุดไปโดนศีรษะนักขับหรือลอยไปถึงผู้ชมและเจ้าหน้าที่ในสนาม หลังจากอุบัติเหตุล้อหลุดหล่นใส่ศีรษะของเฮนรี่ เซอร์ทีส์ ในการแข่งขันฟอร์มูล่าทูเมื่อปี 2009 ต่อมาในปี 2011 เอฟไอเอปรับปรุงกฎในเรื่องนี้ให้มีก้านโยงล้อ 2 ก้าน โดยแต่ละก้านต้องซับแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างน้อย 6 กิโลจูล ทั้งนี้ ในปี 2017 ที่จะมีการปรับปรุงให้รถกว้างขึ้น ก้านโยงล้อจึงจะต้องเพิ่มการซับแรงเป็นอย่างน้อยก้านละ 8 กิโลจูล


โครงสร้างตัวถังรถ (monocoque) ของรถแม็คลาเรน





ส่วนนี้นับเป็นหัวใจสำคัญของรถ ซึ่งแม็คลาเรนร่วมกับเฮอร์คิวลีสแอโรสเปซ พันธมิตรของทีมในขณะนั้น เป็นผู้ริเริ่มทำโครงสร้างรถจากคาร์บอนไฟเบอร์ในปี 1981 และกลายเป็นการปฏิวัติการสร้างตัวถังรถฟอร์มูล่าวันนับแต่นั้นเป็นต้นมา เนื่องจากวัสดุชนิดนี้ทั้งมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงกว่าที่เคยในอดีต


ขนาดของห้องนักขับ (cockpit)





ส่วนนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าส่วนอื่นในฐานะเป็น "ชิ้นส่วนรักษาชีวิตนักขับ" ซึ่งตามกฎได้มีการกำหนดขั้นต่ำของขนาดภายนอกไว้เพื่อให้แน่ใจว่านักขับได้รับการปกป้องเพียงพอ ส่วนนี้จะต้องได้รับการออกแบบตามกฎอย่างเคร่งครัด แต่ละทีมต้องออกแบบในทิศทางเดียวกัน เพราะนอกจากเรื่องของการรักษาชีวิตนักขับให้ได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว นักขับก็จะต้องสามารถลุกออกจากที่นั่งได้อย่างรวดเร็วด้วย


ตำแหน่งในห้องนักขับ





ตั้งแต่ปี 1988 เท้าของนักขับต้องอยู่หลังเส้นกึ่งกลางของล้อหน้า เป็นข้อบังคับหลังจากอุบัติเหตุหลายๆ ครั้งก่อนหน้านั้นทำให้นักขับขาหัก สิ่งนี้ทำให้ตำแหน่งการนั่งของนักขับเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากในอดีต (ภาพด้านบนจากปี 1983) เนื่องจากเท้าของนักขับถูกยกให้สูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน


การป้องกันจากด้านข้าง





จากการปรับปรุงกฎด้านเทคนิคในปี 2014 ได้มีการปรับปรุงเสาค้ำด้านข้าง ซึ่งเป็นส่วนแรกที่จะป้องกันนักขับหากเกิดอุบัติเหตุด้านข้าง เสาค้ำนี้มีที่มาภายหลังอุบัติเหตุหนักของโรเบิร์ต คูบิซ่า ในการแข่งขันที่แคนาดาปี 2007 ครั้งนั้นเอฟไอเอได้จับมือกับทีมแข่งร่วมกันทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างการป้องกันการชนเมื่อรถประสบอุบัติเหตุในมุมเอียง และจากการศึกษาดังกล่าวนำมาสู่การออกแบบเสาค้ำด้านข้างที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยแรกเริ่มมาจากการออกแบบของมารุสเซียและต่อมาได้รับการปรับปรุงจากเร้ดบูล สำหรับเสาค้ำด้านข้างทุกวันนี้รับแรงได้เกือบ 40 กิโลจูล ทั้งในทิศทางปกติและมุมเอียง





สำหรับปัจจุบัน ทีมต่างๆ พยายามที่จะออกแบบด้านแอโรให้ไปได้กับการมีเสาค้ำด้านข้าง โดยการเพิ่มความโป่งให้กับโป่งข้างรถหรือไซด์พ็อด (ดูตัวอย่างจากภาพของเมอร์เซเดสด้านบน) เพื่อทั้งให้คลุมเสาค้ำและเพิ่มประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกส์ในบริเวณนั้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความละเอียดอ่อน


ความสูงของขอบด้านข้างรถบริเวณศีรษะ





ในปี 2007 เอฟไอเอเริ่มออกข้อบังให้ทีมสร้างขอบด้านข้างของที่นั่งนักขับด้วยแถบไซลอน (Zylon) ซึ่งไซลอนนี้มีความแข็งแรงสูงและใช้กับเสื้อกันกระสุนมาก่อน โดยในปี 2016 กฎได้เพิ่มความสูงเป็น 20 มิลลิเมตร ขณะที่เพิ่มการรับน้ำหนักจาก 15 เป็น 50 กิโลนิวตัน


ที่นั่งนักขับถอดออกได้





เรามักได้ยินบ่อยๆ ว่านักขับจะต้องมาทำการลองที่นั่งนักขับในโรงงานของทีมก่อนเปิดฤดูกาล ซึ่งนักขับจะต้องมาทำการหล่อที่นั่งให้พอดีกับสรีระของตนด้วยเรซินและผลิตด้วยโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์น้ำหนักเบา ที่นั่งนักขับจะต้องถอดออกจากห้องนักขับได้โดยง่ายในกรณีที่นักขับไม่สามารถลุกออกมาด้วยตนเอง ทีมกู้ภัยสามารถใช้อุปกรณ์ทั่วไปช่วยในการถอดได้ โดยมีส่วนที่สามารถสอดเพิ่มด้านบนหากทีมแพทย์ต้องช่วยเหลือนักขับด้วยการพยุงส่วนของศีรษะและคอ ในส่วนของเข็มขัดนิรภัยเพิ่งมีการบังคับให้ใช้เมื่อปี 1972 และในปัจจุบันใช้แบบ 6 จุด


การทดสอบการชนของห้องนักขับ





ตัวถังมีโครงสร้างป้องกันอีก 2 จุดในกรณีที่รถพลิกกลับ จุดแรกอยู่บนแชสซีส์ในตำแหน่งก่อนถึงพวงมาลัย และอีกจุดหนึ่งต้องอยู่เหนือตำแหน่งปีกที่อ้างอิงอย่างน้อย 940 มิลลิเมตร โดยอยู่หลังห้องนักขับไป 30 มิลลิเมตร ซึ่งส่วนหลังนี้มีความสำคัญอันดับแรก เมื่อใดก็ตามที่รถพลิกคว่ำ หมวกกันน็อกของนักขับจะต้องไม่สัมผัสกับพื้น ทั้งนี้ เอฟไอเอกำหนดให้ชิ้นส่วนดังกล่าวสามารถรองรับน้ำหนักได้ในแนวขวาง 50 กิโลนิวตัน แนวยาวไปทางด้านหลัง 60 กิโลนิวตัน และแนวดิ่ง 90 กิโลนิวตัน ซึ่งหากโครงสร้างนี้เสียหายจะนับเป็นความหายนะเลยทีเดียว


ระบบ HANS (head and neck support)





หลังจากการศึกษาอย่างเข้มข้นเพื่อตอบคำถามว่าทำไมต้องมีสิ่งนี้ เอฟไอเอก็ได้ออกกฎบังคับให้ใช้ในปี 2003 และตอนนี้ HANS ได้กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับนักขับทั่วโลกไปเสียแล้ว อุปกรณ์นี้ช่วยให้ยึดศีรษะของนักขับให้อยู่ในตำแหน่งปกติของร่างกาย และยังช่วยถ่ายแรงที่ได้รับไปยังร่างกายขณะที่ศีรษะจะได้ผ่อนแรงลง ทั้งนี้ เอฟไอเอได้ทุ่มเทศึกษามานานหลายปีเกี่ยวกับผลกระทบจากอุบัติเหตุต่อศีรษะ และในปี 2016 นี้เอฟไอเอได้สั่งติดตั้งกล้องความเร็วสูง (high-speed camera) บริเวณหน้านักขับเหนือแชสซีส์เพื่อช่วยบันทึกภาพระหว่างเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย ซึ่งภาพจากอุบัติเหตุของอลอนโซ่ในสนามเมลเบิร์นครั้งนี้จะเป็นข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญในการพัฒนาระบบความปลอดภัยในฟอร์มูล่าวันต่อไปในอนาคต










*ข้อมูลและภาพจาก motorsport.com



Create Date : 28 มีนาคม 2559
Last Update : 28 มีนาคม 2559 23:13:35 น. 7 comments
Counter : 3603 Pageviews.

 
ใครสนใจอ่านจากต้นฉบับเข้าไปที่ลิงค์ด้านล่างนี้ได้นะคะ

//www.motorsport.com/f1/news/tech-analysis-the-key-safety-advances-that-saved-alonso-s-life-682435/


โดย: finishline วันที่: 28 มีนาคม 2559 เวลา:0:54:40 น.  

 
ขอบคุณที่แปลให้อ่านนะครับ

ความปลอดภัยสำคัญที่สุดจริงๆ


โดย: kurachima IP: 223.206.11.137 วันที่: 28 มีนาคม 2559 เวลา:19:33:51 น.  

 
สุดยอดปลอดภัยผสมดวงแข็งพอควร


โดย: nuwatchai IP: 223.206.247.227 วันที่: 28 มีนาคม 2559 เวลา:20:54:37 น.  

 
ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูล


โดย: เอก IP: 125.26.121.15 วันที่: 28 มีนาคม 2559 เวลา:23:48:28 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ


โดย: Pakadon IP: 110.169.88.107 วันที่: 30 มีนาคม 2559 เวลา:21:40:10 น.  

 
แจ้งข่าวด่วนค่ะ เฟอร์นันโด อลอนโซ่ ไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งที่บาห์เรนหลังการทดสอบสภาพร่างกายกับหมอเอฟไอเอไม่ผ่าน
โดยแม็คลาเรนจะให้สตอฟเฟล แวนดูร์น นักขับเบลเจี้ยนวัย 24 ปี นักขับสำรองของทีมลงสนามแทน ซึ่งอลอนโซ่ต้องเข้ารับการทดสอบร่างกายอีกครั้งก่อนลงแข่งขันที่เซี่ยงไฮ้ด้วยเช่นกันค่ะ

เขาเปิดเผยอาการที่แท้จริงหลังประสบอุบัติเหตุที่เมลเบิร์นว่าเขามีอาการปอดทะลุและซี่โครงหัก ขั้นแรกในวันอาทิตย์นั้นเขารู้สึกแค่ปวดเข่าและหมอตรวจแล้วก็ปล่อยออกจากสนามได้ ซึ่งเขาบินกลับสเปนวันจันทร์ แต่ก็รู้สึกว่าอาการปวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาจึงได้ไปตรวจพบว่าปอดทะลุเล็กน้อย (คือมีอากาศเข้าไปแทรกในช่องระหว่างปอดกับผนังทรวงอก) ตอนนี้อาการนั้นหายแล้ว เหลือแต่ว่ากระดูกซี่โครงมีรอยร้าว ทั้งนี้ เขากล่าวผิดหวังที่ไม่ได้แข่ง แต่ก็เคารพการตัดสินใจและเข้าใจทางเอฟไอเอว่าต้องไม่เสี่ยง

//www.motorsport.com/f1/news/alonso-reveals-he-had-a-pneumothorax-broken-rib-683214/


โดย: finishline วันที่: 31 มีนาคม 2559 เวลา:21:53:24 น.  

 
อ่านแล้วได้ประโยชน์มากครับ


โดย: punch IP: 122.155.35.120 วันที่: 4 เมษายน 2559 เวลา:15:55:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

finishline
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 110 คน [?]




ในประเทศไทยหาข่าวฟอร์มูล่าวันอ่านได้ยากเหลือเกิ๊นนนน...เขียนเองเลยดีกว่า!

**เจ้าของบล็อกเขียนข่าวขึ้นจากการรวบรวมข้อมูลข่าวและแปลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือของต่างประเทศเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ที่ชื่นชอบกีฬาชนิดนี้ ท่านใดที่นำข้อความในบล็อกไปเผยแพร่ต่อ ขอความกรุณาให้เครดิตบล็อกด้วยนะคะ**
Friends' blogs
[Add finishline's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.