Apple has lost a visionary and creative genius, and the world has lost an amazing human being.

But his spirit will forever be the foundation of Apple. 6 October 2011

<<
พฤศจิกายน 2566
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
27 พฤศจิกายน 2566

อยุธยา : วัดส้ม



เป็นโบราณสถานที่ได้รับการปรับภูมิทัศน์ที่เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์
ภายใต้โครงการเนรมิตอยุธยาเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยว
วัดส้มเป็นวัดขนาดเล็กอยู่ติดกับคลองฉะไกรใหญ่ (คลองท่อ)
 
ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัด
คือพระปรางค์ประธาน วิหาร เจดีย์ราย จากการศึกษาทางด้าน
สถาปัตยกรรมพบว่า พระปรางค์องค์นี้เป็นปรางค์ก่ออิฐ
และมีการทำลายทับหลัง อีกทั้งลายปูนปั้นต่างๆ
 
มีทั้งลายรูปเรขาคณิต สัตว์ในนิทานโบราณ รวมทั้งลายราหูอมจันทร์
ล้วนเป็นลายที่วิวัฒนาการมาจากศิลปะเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18
แสดงให้เห็นว่าพระปรางค์ประธานวัดส้มสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
 
และนั่นก็เป็นความรู้อย่างเป็นทางการ
ต่อจากนี้คือความเห็นส่วนบุคคล



นักวิชาการกล่าวว่าการสร้างปรางค์เกิดขึ้นในช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยา
โดยเชื่อว่าเป็นสิ่งที่สืบทอดมาจากการสร้างศาสนสถานแบบขอม
หากจะสืบอายุตามพงศาวดารแล้วปรางค์วัดพุทไธสวรรย์ย่อมเก่าสุด
เพราะเป็นสิ่งก่อสร้างร่วมยุคสมัยกับสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
 
แต่หากไปดูปรางค์นี้ในปัจจุบัน จะเห็นว่าเป็นอาคารใหม่มาก
ทรงยืดยาวแบบที่เรียกว่าทรงฝักข้าวโพด แสดงว่าถูกบูรณะแล้ว
ตามพงศาวดารบอกว่าปรางค์ต่อมา คือสมัยสมเด็จพระรามเศวร

ศักราช ๗๓๑ ระกาศก  (พ.ศ. ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม
 
แม้จะไม่ใหม่มากถึงสมัยอยุธยาตอนปลายแบบวัดพุทไธสวรรย์
แต่ปรางค์วัดพระรามนั้นก็ไม่เก่ามากร่วมสมัยกับพระราเมศวร
จากการตั้งอยู่บนฐานสูงที่มีปรางค์หลายองค์ และจำนวนเรือนยอด
ทำให้เชื่อว่าพระปรางค์ไม่น่าจะสถาปนาเสร็จในสมัยพระราเมศวร
 
บุคคลที่ลงมาชิงบัลลังค์กรุงศรีอยุธยา คือขุนหลวงพะงั่ว

ศักราช ๗๓๖ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๑๗) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า
แลพระมหาเถรธรรมากัลญาณ แรกสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ
ฝ่ายบูรพทิศหน้าพระบันชั้นสิงห์สูงเส้น ๓ วา

 

 
แต่หากไปดูวัดมหาธาตุในปัจจุบันก็จะไม่พบเรือนยอดให้ศึกษา
เพราะกล่าวกันว่าถล่มลงมาในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ถึงกระนั้น
เมื่อไปดูภาพถ่ายเก่าก็จะเห็นว่าเป็นปรางค์ที่ไม่เก่าถึงอยุธยาต้น
 
เพราะตามพงศาวดารกล่าวว่าบูรณะในสมัยพระเจ้าปราสาททอง
โดยปรางค์เดิมถล่มลงมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
ดังนั้นสิ่งที่เหล่าพอจะศึกษาได้ ก็คือปรางค์รายที่ตั้งอยู่ด้านหลัง
กำหนดชื่อว่า
ปรางค์หมายเลข 6 ที่มีความเก่าพอถึงสมัยอยุธยาต้น
 
ซึ่งละม้ายคล้ายกับปรางค์วัดลังกาและวัดส้มที่ใช้เทียบอายุกันได้
สิ่งที่มีร่วมกันคือ ปรางค์ที่มีความอวบอ้วน มียอดเป็นกลด
แต่ปรางค์วัดส้ม มีความเรียวกว่าปรางค์ทั้งสองที่กล่าวมา
แสดงว่ามีอายุหลังกว่านั้น

ซึ่งเป็นยุคที่ปรางค์จะเริ่มผอมลง ชั้นยอดจะเป็นพุ่มมากขึ้น
เทียบได้กับปรางค์วัดราชบูรณะ
ดังนั้นหากเชื่อว่าวัดราชบูรณะสร้างในสมัยเจ้าสามพระยา
ปรางค์วัดส้มควรจะสร้างในรัชกาลก่อนหน้านี้

เราจะมาเรียงลำดับกันใหม่ ตามราชวงศ์ รัชกาล และสถานที่ตั้ง



 
กลุ่มอู่ทอง – พระเจ้าอู่ทอง - วัดพุทไธสวรรย์ – ตะวันตกเฉียงใต้
กลุ่มสุพรรณภูมิ – ขุนหลวงพระงั่ว – วัดมหาธาตุ – ตะวันออกเฉียงเหนือ
กลุ่มอู่ทอง – พระราเมศวร – วัดพระราม – กลางเกาะเมือง


พระรามราชา - กลุ่มอู่ทอง  เจ้านครอินทร์ - กลุ่มสุพรรณภูมิ
วัดลังกา – ตะวันออกเฉียงเหนือ วัดส้ม – ตะวันตกเฉียงใต้
 
สังเกตได้ว่ากลุ่มสุพรรณภูมิจะสร้างวัดทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ
สัมพันธ์กับพื้นที่ที่สันนิษฐานกันว่า เป็นเมืองอโยธยาโบราณ
ในขณะที่กลุ่มอู่ทองจะสร้างวัดทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้
สัมพันธ์กับพื้นที่นอกเกาะเมืองที่กล่าวกันว่าคือเมืองปทาคูจาม
 
พงศาวดารกล่าวถึงการชิงอำนาจในกรุงศรีอยุธยา
ระหว่างกลุ่มอู่ทองและสุพรรณภูมิในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20
ทั้งสองฝ่ายน่าจะมีฐานที่มั่น สำหรับการเข้ามาชิงอำนาจกัน

ดังนั้นเราอาจเชื่อมโยงปรางค์วัดส้มนี้กับสมเด็จพระรามราชา
 ด้วยตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ 
ในขณะที่ปรางค์วัดลังกาก็น่าจะสร้างโดยเจ้านครอินทร์
เพราะตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ

ซึ่งจะขัดกับหลักฐานที่กล่าวก่อนหน้า ด้วยปรางค์วัดลังกามีความอวบอ้วนกว่า
ดังนั้นควรจะมีอายุมากกว่าปรางค์วัดส้มที่ทรงออกเรียวสูงไปแล้ว
 แต่กระนั้นก็ต้องมีหมายเหตุว่า ปรางค์วัดลังกามีการซ่อมแซม
ดังนั้นการกำหนดอายุจึงยังไม่สามารถทำได้แน่ชัด 


สิ้นอำนาจกลุ่มอู่ทอง กลุ่มสุพรรณภูมิก็สถาปนาอำนาจอย่างมั่นคง
แสดงออกถึงในรัชกาลของเจ้าสามพระยาที่ทรงสร้างวัดราชบูรณะ  
บนพื้นที่ใจกลางเกาะเมือง โดยมีปรางค์เป็นองค์ประธานของวัด
 
ซึ่งอาจเป็นสิ่งก่อสร้างตามคติของขอมโบราณรุ่นสุดท้ายสมัยอยุธยาตอนต้น
ตัวปรางค์นั้นคล้ายกับปราสาทแบบนครวัด เห็นได้จากการประดับกลีบขนุน
ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดเจนเช่นกันที่ปรางค์วัดส้มแห่งนี้
อาจจะเป็นไปตามพงศาวดาร ว่าพระองค์ไปตีเมืองพระนครได้

สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจเมื่ออ่านถึงบรรทัดนี้ก็คือ
คติการสร้างวัดของอยุธยาแตกต่างไปจากคติการสร้างปราสาทขอม
เพราะปราสาทขอมเมื่อสิ้นรัชกาลก็มักจะถูกทิ้งร้างไป
แต่การสร้างวัดของอยุธยาน่าจะมีการสร้างต่อจนสำเร็จ

การกำหนดอายุปรางค์ดังที่กล่าวมา อาจจะต้องละไว้ในฐานที่เข้าใจ
เช่นปรางค์วัดมหาธาตุอาจจะถูกสร้างเสร็จในสมัยพระรามเศวรครั้งที่ 2 ก็ได้
 


รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่เสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก
ทำให้รับเอาความนิยมเจดีย์แบบลังกาที่เผยแพร่อยู่ในสุโขทัย
นั่นอาจจะเป็นการสิ้นสุดความนิยมในเจดีย์ทรงปรางค์ไป 
เห็นได้จากการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่มีเจดีย์ทรงระฆัง 3 องค์
อันยังถกเกียงกันว่าสร้างพร้อมกันหมดหรือไม่
 
เจดีย์ทรงปรางค์กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในรัชกาล
สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เหตุผลกลับไปอ่านตอนวัดขนอนดูได้
สิ่งที่น่าสนใจคือปรางค์วัดไชยวัฒนารามนั้นคล้ายกับวัดวรเชตุเทพบำรุง
ดังนั้น การกำหนดอายุปรางค์ที่เราพบเห็นในวัดอื่นๆตามหัวเมือง
 
ที่เคยกล่าวกันว่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ถึงตอนกลาง
เช่น พระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก มหาธาตุ เมืองเชลียง
วัดหน้าพระธาตุ สิงห์บุรี วัดมหาธาตุ สรรคบุรี แม้แต่วัดปรางค์หลวง
ที่นนทบุรี เป็นต้น ปรางค์เหล่านี้อาจจะต้องกำหนดอายุใหม่หรือไม่
 
เพราะโดยทรงแล้วไม่มีความคล้ายกับปรางค์ในช่วงอยุธยาตอนต้น
ทีมีความบึกบึน ความแข็งเป็นสี่เหลี่ยม ดังเช่นปรางค์วัดส้ม และวัดราชบูรณะ
แต่มีศิลปะแบบของอยุธยาที่เน้นความอ่อนช้อยมากกว่าความแข็งแรง
เรื่องนี้ยังคงเป็นปริศนา ที่เราต้องตามหากันต่อไป



Create Date : 27 พฤศจิกายน 2566
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2566 8:27:39 น. 2 comments
Counter : 618 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณหอมกร, คุณเริงฤดีนะ


 


โดย: หอมกร วันที่: 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา:15:16:59 น.  

 

อ้าว..
เพิ่งกลับจากอยุธยา 24-25 พ.ย.
ไปเป็นออเจ้า
ไปมา 4 วัดค่ะ.วัดมหาธาตุ
วัดราชบูรณะ..มีพระปรางค์ประธานใหญ่และสวยงาม
ที่อยู่ติดๆกัน
วัดแม่นางปลื้ม ที่ห่างออกไป 800 กิโลเมตร

แล้วยาวไปวัดไขยฯ
ยามค่ำคืน.
วัดหน้าไปวัดส้ม



โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 1 ธันวาคม 2566 เวลา:1:32:39 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ผู้ชายในสายลมหนาว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]




New Comments
[Add ผู้ชายในสายลมหนาว's blog to your web]