ต้นราชพฤกษ์ (Golden shower)
https://goo.gl/wlqrou
ราชพฤกษ์ หรือ คูน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cassia fistulosa L. ชื่อภาษาอังกฤษ : Golden shower, Indian Laburnum, Pudding-pine Tree
ชื่อพื้นเมือง : คูน ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง) ลมแล้ง (ภาคเหนือ) ลักเคยลักเกลือ (ภาคใต้) กุเพยะ (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี) ปึยยะปูโย เปอโซ แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
วงศ์ : ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)
ราชพฤกษ์ เป็นไม้ผลัดใบยืนต้นขนาดกลาง มีความสูง 10-20 เมตร ดอกเป็นช่อยาว 20-40 เซนติเมตร แต่ละดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร มีกลีบดอกสีเหลืองขนาดเท่ากัน 5 กลีบ ลำต้นอาจมีปุ่มตาบ้าง เล็กน้อย เรือนยอดเป็นรูปทรงกรวยหรือรูปทรงกลมกลาย ๆ เรือนยอดโปร่ง (open crown) ความยาวเรือน ยอดแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปจะเป็น 2 ใน 5 ของความสูงทั้งหมด ผลยาว 30-62 เซนติเมตร และกว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่มีพิษเป็นจำนวนมาก
https://goo.gl/tycHdb
ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน เป็นต้นไม้พื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า และศรีลังกา สามารถปลูกได้ทั้งดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ดินร่วนเหนียว ทนต่อความแห้งแล้งและดินเค็มได้ดี แต่ไม่ทน ในอากาศหนาวจัด ซึ่งอาจติดเชื้อราหรือโรคใบจุดได้ เจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง และเป็นที่รู้จัก ในประเทศไทยมาหลายสิบปี
https://goo.gl/vWFFYG
ใบประกอบแบบขนนก ประกอบด้วยก้านใบหลัก ยาวประมาณ 20-30 ซม. แต่ละก้านใบหลักประกอบด้วย ใบย่อย ออกเป็นคู่เรียงสลับตรงข้ามและเยื้องกันเล็กน้อย ใบย่อยแต่ละก้านมีประมาณ 3-8 คู่ ใบย่อยมีก้าน ใบยาวประมาณ 5-10 ซม. แต่ละใบมีรูปทรงรีแกมรูปไข่ โคนใบมน ปลายใบแหลมสอบ มีสีเขียวอ่อน และค่อย ๆ เข้มขึ้นจนเขียวสด ใบกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 7-15 ซม. ใบคู่แรก ๆ มีขนาดเล็กและใหญ่ขึ้น ในคู่ถัดไป ใบส่วนปลายมีขนาดใหญ่สุด ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านล่างมีขน
https://goo.gl/aDmxYt
ดอก สีเหลือง ออกเป็นช่อห้อยย้อยลงจากกิ่ง ช่อดอกค่อนข้างโปร่ง ยาวประมาณ 20-45 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกรูปขอบขนานมีความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร กลีบมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย กลีบดอกยาว กว่ากลีบรองดอกประมาณ 2-3 เท่า บริเวณพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน ที่ดอกมีเกสรตัวผู้ ขนาดแตกต่างกัน จำนวน 10 อัน มีก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ดอกมักจะบานในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม แต่ก็มีบางกรณีที่ ออกดอกนอกฤดูเหมือนกัน เช่น ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม
https://goo.gl/PE60Am
ผล : เป็นฝักรูปทรงกระบอกยาว 20-60 ซม. วัดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 ซม. ฝักอ่อนสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่จัด ในฝักมีผนังเยื่อบาง ๆ กั้นเป็นช่อง ๆ ตามขวางของฝัก และตามช่องเหล่านี้ จะมีเมล็ดรูปมน แบน สีน้ำตาลเป็นมันอยู่ช่องละ 1 เมล็ด หุ้มด้วยเนื้อสีดำเหนียว กว้าง 5 มม. ยาว 8 มม. มีกลิ่นฉุน และเมล็ดมีพิษเป็นจำนวนมาก
https://goo.gl/hgy2e9 - https://goo.gl/hlhkv7
การขยายพันธุ์ https://goo.gl/WdjaXj
วิธีขยายพันธุ์ ที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดสด ๆ มาขลิบด้วยกรรไกรตัดเล็บ แต่ต้องเลือก ขลิบบริเวณด้านป้าน เพราะด้านแหลมจะมีต้นอ่อนอยู่ จากนั้นนำไปแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ข้ามวัน จึงค่อยเทน้ำออก ให้เหลือปริมาณพอหล่อเลี้ยงเมล็ดได้ จากนั้นทิ้งไว้อีกคืนก็จะพบรากงอก และสามารถนำลงปลูกได้เลย ดูวิธีเพาะ https://goo.gl/svuyqB
ฝักอ่อน มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีกลิ่นเหม็นเอียน เย็นจัด สรรพคุณสามารถใช้ขับเสมหะได้ (ฝักอ่อน) สรรพคุณอื่น ๆ อ่านเพิ่มเติม : https://goo.gl/EftXNH
https://goo.gl/mVRHDB
ต้นราชพฤกษ์กับความเชื่อ
ต้นราชพฤกษ์ เป็นไม้มงคลนาม ที่คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดที่ปลูกต้นราชพฤกษ์ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยให้มีเกียรติและศักดิ์ศรี สาเหตุเพราะคนให้การยอมรับว่า ต้นราชพฤกษ์เป็นไม้ที่มีคุณค่าสูงเป็นสัญลักษณ์ ของประเทศไทย และยังเชื่อว่าจะทำให้ผู้อยู่อาศัยนั้นเจริญรุ่งเรือง โดยจะนิยมปลูกต้นราชพฤกษ์ในวันเสาร์และปลูกไว้ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้าน (อาจเป็นเพราะทิศดังกล่าวได้รับแสงแดดจัดในช่วงตอนบ่าย เลยปลูกไว้เพื่อช่วย ลดความร้อนภายในบ้านและช่วยประหยัดพลังงาน)
https://goo.gl/I4bmiR
ใบต้นราชพฤกษ์ ใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา เช่น ทำน้ำพุทธมนต์ พิธีวางศิลาฤกษ์ ใช้ทำเสา หลักเมือง เสาเอกในการก่อสร้างพระตำหนัก ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร คฑาจอมพล
เนื้อไม้ใช้ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ ด้ามเครื่องมือต่าง ๆ หรือทำเป็นไม้ไว้ใช้สอยอื่น ๆ เช่น ใช้ทำเสา เสาสะพาน ทำสากตำข้าว ล้อเกวียน คันไถ เป็นต้น
เนื้อของฝักแก่นำมาใช้แทนกากน้ำตาลในการทำเป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์และจุลินทรีย์ขยาย ฝักแก่ นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มด้วยเตาเศรษฐกิจที่มีขนาดพอเหมาะ โดยไม่ต้องผ่าหรือตัดหรือเลื่อย
https://goo.gl/d31J1V
ราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย
เมื่อปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้มีข้อเสนอและได้สรุปให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ ประจำชาติ 3 สิ่ง ประกอบด้วย ดอกไม้ สัตว์ และสถาปัตยกรรม ซึ่งจากการพิจารณาได้ข้อสรุป คือให้ "ดอกราชพฤกษ์" เป็นดอกไม้ประจำชาติ
โดยมีการเสนอให้ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด จนกระทั่งมีการลงนามให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544
https://goo.gl/Prf70u
ประวัติดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย เนื่องจาก ต้นราชพฤกษ์ ออกดอกสีเหลืองชูช่อ ดูสง่างาม อีกทั้งยังมีสีตรงกับ สีประจำวันพระราชสมภพของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (ร.9) จึงถูกตั้งชื่อว่าเป็น "ต้นไม้ของในหลวง" และมีการลงนามให้ต้นราชพฤกษ์ เป็น 1 ใน 3 สัญลักษณ์ประจำชาติไทย โดยมี
1. ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติไทย 2. ศาลาไทย เป็นสถาปัตยกรรมประจำชาติไทย และ 3. ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย
https://goo.gl/638477
เหตุผลที่เลือกเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย
1. เนื่องจากเป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย 2. มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีสำคัญ ๆ ในไทยและเป็นต้นไม้มงคลที่นิยมปลูก 3. ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นยารักษาโรค อีกทั้งยังใช้ลำต้นเป็นเสาเรือนได้ เป็นต้น 4. มีสีเหลืองอร่าม พุ่มงามเต็มต้น เปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา 5. มีอายุยืนนาน และทนทาน
คำว่า "ราชพฤกษ์" มีความหมายว่า "ต้นไม้ของพระราชา" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานมหกรรมพืชสวนโลก ซึ่งจัดขึ้นเพื่อฉลองในวโรกาสอันเป็นมหามงคล ที่พระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ได้ทรงครองสิริราช สมบัติครบรอบ 60 ปี
------------------------------
อ้างอิง : https://goo.gl/kuS60V https://goo.gl/kM6xW7 https://www.dnp.go.th/EPAC/plant/Golden_Shower.htm
ต้นไม้ของพ่อ - เบิร์ด ธงไชย
Create Date : 24 ตุลาคม 2559 |
Last Update : 20 ธันวาคม 2566 20:33:28 น. |
|
20 comments
|
Counter : 28267 Pageviews. |
|
|
ดอกราชาวดี (Butterfly Bush) คลิกที่นี่ค่ะ