กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ดาไน: เรื่องราวของหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์



เขียน โดย Pujarini Sen ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ อินเดีย

เชื่อหรือไม่ว่า ปี 2557 หรือเมื่อสองปีที่ผ่านมานี้ เป็นปีประชาชนชาวดาไน หมู่บ้านเล็กๆใกล้พุทธคยาทางตะวันออกของรัฐบิฮาห์ประเทศอินเดียทั้ง 2,000 คน สามารถเข้าถึงไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในรอบสามสิบปี สำหรับพวกเราที่อยู่ในยุคดิจิตอล เพียงแค่ไฟฟ้าดับชั่วโมงเดียวก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ทั้งวัน เราอาจจะแทบนึกไม่ออกเลยว่าการดำเนินชีวิตโดยปราศจากแสงสว่างจากหลอดไฟจะเป็นอย่างไร

งานรณรงค์ของกรีนพีซเพื่อแก้ไขปัญหาในอินเดียดำเนินการมาหนึ่งทศวรรษแล้ว เริ่มจากงานรณรงค์ “Choose Positive Energy” ที่โอริสสา ปี พ.ศ. 2548 จนถึง “Switch on the Sun” ที่เดลีในปัจจุบัน พวกเราเริ่มงานที่บิฮาห์ในปี พ.ศ. 2553 ร่วมกับเออร์จา กรานติ ยาตรา โดยผลักดันให้พรรคการเมืองในบิฮาห์มุ่งหาทางออกโดยการกระจายศูนย์พลังงานหมุนเวียน เพื่อให้ประชาชนในรัฐบิฮาห์มีอำนาจเข้าถึงพลังงานในระดับเดียวกันกับประชาชนในส่วนอื่นของประเทศ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2557 เป็นวันที่เมืองดาไนเริ่มมีชีวิต เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ และเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะมุ่งสู่วิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่ในการเข้าถึงพลังงานแบบพึ่งตนเองสำหรับรัฐและประเทศอินเดีย ฉันอยู่ที่นั่นตอนที่เปิดสายส่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มันเป็นนาทีประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนจากความมืดมิดเป็นแสงสว่าง ในชนบทอย่างนั้น การไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้ามักเกี่ยวโยงไปกับการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานด้วย เช่น การสุขาภิบาลและการดูแลสุขภาพซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข มีการศึกษาที่ระบุว่าสตรีในพื้นที่เหล่านั้นต้องเดินหลายไมล์เพื่อไปตักน้ำหรือหาเชื้อเพลิง หรือแม้แต่ต้องขับถ่ายโดยไม่มีห้องน้ำใช้ ความยากลำบากในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานนำไปสู่การล่วงละเมิดหรือแย่กว่านั้น

ในทางตรงกันข้าม ชีวิตของสตรีที่ดาไนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อมีสายส่งไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้ามา ไม่เพียงแต่การมีพลังงานใช้เปรียบเสมือนตัวเร่งการขับเคลื่อนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจเท่านั้น ทว่าการเปิดไฟให้หมู่บ้านอย่างดาไนนั้นได้สร้างโอกาสให้สตรีและเด็กผู้หญิงเข้าถึงสังคมและพื้นที่ส่วนตัวยามค่ำคืนมากขึ้น เด็กๆสามารถอ่านหนังสือทบทวนบทเรียนได้ในตอนกลางคืน และผู้หญิงก็ไม่ต้องรีบร้อนเตรียมข้าวปลาอาหารให้เสร็จก่อนตะวันตกดิน

ประชาชนสามารถใช้ถนนได้ในตอนกลางคืน ร้านค้าแผงลอยผุดขึ้นใต้แสงไฟ ทำให้ชุมชนปลอดภัยยิ่งขึ้น ปัจจุบันดาไนมีถนนที่ติดตั้งไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กว่า 60 เส้นทางและให้แสงสว่างหมู่บ้านเล็กๆสี่หมู่บ้าน ทำให้เพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยและเพิ่มผลผลิตของหมู่บ้านอีกด้วย

ไม่นานหลังจากพิธีเปิดใช้งานเมื่อปี 2558 มุขมนตรีนิติช กุมาร์ ได้มาเยี่ยมชมหมู่บ้าน และยอมรับว่าดาไนโมเดล คือ อนาคตของการจัดสรรพลังงาน ที่สามารถจัดหาพลังงานให้แก่ชาวบ้าน 2,000 คนในปัจจุบันและต่อประชากรทั้งโลกที่กำลังจับตาดูอยู่ การได้รับการยอมรับโดยผู้นำของรัฐเป็นช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจที่สุดของชาวหมู่บ้านดาไน กว่าสามสิบปีที่ผ่านมา สายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านหมู่บ้านโดยไม่จุดประกายแสงสว่างให้กับบ้านในหมู่บ้านแม้แต่หลังเดียว เรื่องแบบเดียวกันนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับหมู่บ้านส่วนใหญ่ในบิฮาร์ แนวคิดการใช้กริดแบบรวมศูนย์ดูสมบูรณ์แบบถ้าคุณอยู่ในเมืองอย่างเดลีหรือมุมไบ ทว่าความเป็นจริงจะปรากฎก็ต่อเมื่อคุณเหยียบย่างเข้าไปยังหมู่บ้านห่างไกลที่จะตกอยู่ในความมืดมิดยามสนธยา

ปัญหาหลักก็คือโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์และการจัดลำดับความสำคัญที่ผิดพลาดในการจ่ายกระแสไฟฟ้ามาสิ้นสุดที่หมู่บ้านเล็กๆอย่างดาไน ซึ่งแม้ว่าจะมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้นจากโซล่าฟาร์มขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์ ก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ ประสิทธิภาพของแผงเซลแสงอาทิตย์บวกเข้ากับประสิทธิภาพของระบบสายส่งที่ย่ำแย่จะส่งผลต่อคุณภาพของไฟฟ้าและส่งผลถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด การที่หมู่บ้านที่อยู่ไกลออกไปจะเข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องอยู่บนพื้นฐานของระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าขนาดเล็กจากพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น

ฉันหวังว่าจะมีเรื่องราวความสำเร็จอย่างหมู่บ้านดาไนที่ผู้คนและพลังงานเชื่อมโยงถึงกันเพิ่มขึ้น และมีรัฐบาลที่มองภาพวิถีทางที่ยั่งยืนมากขึ้นให้กับอนาคตของเรา ดังเช่นถนนหนทางที่ดาไนสว่างไสวด้วยแสงไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ ฉันอยากจะเห็นมุมมืดในเดลีและอีกกว่าร้อยเมืองที่ถูกนำเสนอเป็นเมืองทันสมัย หรือ “Smart Cities” ที่มีแสงสว่างตามถนนจากหลอดไฟพลังงานแสงอาทิตย์ และเป็นเมืองที่ปลอดภัยขึ้นและทันสมัยยิ่งขึ้น


Pujarini Sen เป็นผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ อินเดีย


แปลโดย กานต์วลี ปรินรัมย์ อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก

ที่มา : Greenpeace Thailand




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2559   
Last Update : 20 มิถุนายน 2559 13:26:48 น.   
Counter : 1009 Pageviews.  


World Meat Free Day - งดกินเนื้อสัตว์สักวันเพื่อโลก!



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

รู้ไหมว่าการงดกินเนื้อสัตว์นอกจากจะเป็นการช่วยชีวิตสัตว์แล้ว ยังดีต่อสุขภาพของเราและสุขภาพของโลกอีกด้วย

วันนี้คือวัน World Meat Free Day หรือวันที่กำหนดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ทั่วโลกหันมาลดการบริโภคเนื้อสัตว์ เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์นั้นก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างใหญ่หลวง ก่อนที่เนื้อวัว หมู หรือไก่ จะมาเป็นอาหารบนจานของเรานั้น ได้สร้างร่องรอยที่ส่งผลกระทบไปไกลถึงการทำลายป่าไม้ สร้างมลพิษให้แหล่งน้ำ และการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล แต่ข่าวดีคือการกินของเราเนี่ยแหละที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบห่วงโซ่อุปทาน และช่วยโลกให้ดีขึ้นได้

งดกินเนื้อกู้โลกได้อย่างไร

คุณอาจไม่จำเป็นต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต แต่เพียงแค่หนึ่งวัน หรือหันมาปรับเปลี่ยนวิธีการกิน ไม่ว่าจะเป็นการกินเนื้อสัตว์น้อยลง หรือเลือกกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มีที่มาจากอุตสาหกรรมที่บุกรุกทำลายป่า คุณก็ช่วยโลกของเราได้มากแล้ว 


ข้อดีของการงดเนื้อสัตว์เพียง 1 มื้อ

- ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ปริมาณมากพอที่จะต้มกาต้มน้ำให้เดือดได้  388 ครั้ง
- ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของ 9 คน
- ลดการบริโภคไขมัน 11 กรัม ซึ่งเทียบเท่ากับเนย 2 ช้อนโต๊ะ
- ลดการบริโภค 90 แคลอรี

ข้อมูลจาก worldmeatfreeday.com

การทำปศุสัตว์ใช้ทรัพยากรมหาศาล

ร้อยละ 30 ของผืนโลกที่ไม่ได้ปกคลุมด้วยน้ำแข็งนั้นถูกใช้ไปกับการทำปศุสัตว์ หรือปลูกพืชเพื่อเลี้ยงปศุสัตว์ ขณะที่ผู้คนหลายพันล้านต้องหิวโหยทุกวัน และการทำปศุสัตว์บนพื้นที่เหล่านี้ได้สร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าภาคคมนาคมทั้งหมด ปัจจุบันนี้มนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์มากถึง 230 ล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วถึงสองเท่า การทำปศุสัตว์นั้นต้องใช้น้ำและอาหารปริมาณมาก ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ รวมถึงผลิตของเสียมหาศาล หากเทียบกันแล้วโดยร้อยละ 80 ของการผลิตถั่วเหลืองทั่วโลก (ส่วนมากแล้วเป็น GMO) ถูกผลิตเพื่อเลี้ยงสัตว์สำหรับการบริโภคของมนุษย์ มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่ผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคของมนุษย์โดยตรง ซึ่งการผลิตถั่วเหลืองนั้นใช้ปริมาณน้ำและสารเคมีจำนวนมาก (เพื่อเป็นปุ๋ยและกำจัดศัตรูพืช)

ในรายงาน What’s Feeding Our Food? โดย Friends of the Earth เผยว่า พื้นที่ป่า 6 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศลัทเวีย หรือพื้นที่สองเท่าของประเทศเบลเยียม ถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นฟาร์มและปศุสัตว์ต่อปี โดยส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการปลูกพืชเพื่อป้อนปศุสัตว์

นอกจากนี้ปริมาณน้ำ 403,000 ลิตรที่ใช้ในกระบวนการทำปศุสัตว์เพื่อการบริโภคเฉลี่ยสำหรับคนหนึ่งคนตลอดปีนั้นเทียบเท่ากับปริมาณน้ำที่เราใช้อาบน้ำตลอดทั้งปีมากถึง 6,190 ครั้ง หรือการอาบน้ำ 17 ครั้งต่อวันตลอดปี กล่าวคือ เมื่อคุณบริโภคเนื้อสัตว์เข้าไป เท่ากับว่าคุณได้บริโภคปริมาณน้ำที่สัตว์จำเป็นต้องใช้ด้วย

กินอย่างไรช่วยโลกได้

ถึงยังเลิกกินเนื้ออย่างถาวรไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ยังมีอีกหลายวิธีที่คุณสามารถช่วยได้ เช่น เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม การซื้ออาหารหรือพืชผักจากในท้องถิ่น เลี่ยงการซื้อสินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน เช่น อาหารกล่อง อาหารแช่แข็ง หันมาเลือกซื้อผักออร์แกนิค รับประทานผักพื้นบ้าน หรืออุดหนุนผลิตภัณฑ์จากการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

หรือให้ดีกว่านั้นคุณยังสามารถปลูกผักกินเองได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดรอยเท้าคาร์บอนได้

ข้อดีของการกินมังสวิรัติ หรือกินเนื้อสัตว์น้อยลงนั้นมีอีกมาก ที่สำคัญคือดีต่อสุขภาพของเราเอง เพราะอาหารที่ผ่านขั้นตอนการผลิตการเลี้ยงดูที่ดีนั้นย่อมดีต่อสุขภาพของเราเช่นกัน เพราะผู้บริโภคคือพลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลง กินกู้โลก คุณก็ทำได้


ที่มา: Greenpeace Thailand





 

Create Date : 13 มิถุนายน 2559   
Last Update : 13 มิถุนายน 2559 13:36:35 น.   
Counter : 1031 Pageviews.  


ความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่พบได้จากปรากฏการณ์เอลนีโญ



เขียน โดย แอรอน เกรย์-บล็อค

ปรากฎการณ์เอลนีโญในปีที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดพายุเฮอริเคนแพทริเซียที่ใหญ่ที่สุดซึ่งทำลายสถิติที่เคยบันทึกไว้ พายุลูกดังกล่าวอาจสร้างความเสียหายต่อป่าพรุและทำให้เกิดไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดอย่างกระทันหันในอินโดนีเซียซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

พายุเฮอริเคนแพทริเซียเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งแปซิฟิกของเม็กซิโก [ตุลาคม พ.ศ. 2558]

โลกเผชิญกับปรากฎการณ์เอลนีโญมาหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2541 เป็นปีที่คนทั่วทวีปแอฟริกา เอเชีย และอเมริกากลางหลายล้านคนต้องทนทุกข์ทรมานกับความอดอยาก  ปรากฎการณ์เอลนีโญในปีนี้และปีที่ผ่านมากลับรุนแรงขึ้นกว่าเก่า และอาจส่งผลให้ความอดอยากเลวร้ายลง ผลกระทบยิ่งร้ายแรงขึ้น

นักภูมิอากาศวิทยาเคยคาดการณ์ว่าจะเกิดเอลนีโญขึ้นในปี พ.ศ. 2557 แต่แล้วปรากฎการณ์เอลนีโญก็ไม่เกิดขึ้นตามที่คาดไว้ ถึงแม้ว่าปีนั้นจะเป็นปีที่ร้อนและอุณหภูมิที่พื้นผิวมหาสมุทรแปซิฟิกกลางจะร้อนผิดปกติก็ตาม

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2558 สภาวะต่าง ๆ ก็พร้อมที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดเอลนีโญขึ้น และในเดือนมีนาคม องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) ก็ประกาศว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญได้เกิดขึ้นแล้ว

ไม่ใช่เพียงแค่ปรากฎการณ์เอลนีโญเท่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ภัยพิบัติอื่น ๆ ที่รุนแรงก็เกิดขึ้นตามมาด้วย เช่น พายุเฮอริเคนแพทริเซียเมื่อปีก่อน ภาวะภัยแล้งในปีนี้ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ชวนให้เราตั้งคำถามว่า เหตุการณ์เหล่านี้มีเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนอย่างไร

องค์กรอ็อกแฟมเตือนว่า ประชากรอย่างน้อยสิบล้านคนทั่วโลกจะถูกคุกคามจากภัยของความอดอยากเนื่องจากทำการเกษตรไม่ได้ผล ซึ่งมีสาเหตุคือปรากฎการณ์เอลนีโญนั่นเอง

เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฎการณ์เอลนีโญจะทดสอบการรับมือในระดับประเทศ กรีนพีซไม่ใช่แค่เพียงเป็นประจักษ์พยานของปัญหา แต่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข

ปรากฎการณ์เอลนีโญได้ทำให้ฤดูแล้งในอินโดนีเซียทวีความรุนแรงขึ้นและได้ทำลายป่าพรุ รวมทั้งทำให้เกิดไฟป่าที่ส่งผลให้เกิดหมอกควันปกคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเพื่อที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ กรีนพีซได้เรียกร้องให้หยุดการตัดไม้ทำลายป่าและเรียกร้องให้มีกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เม็กซิโกเคยเผชิญหน้ากับภัยคุกคามต่าง ๆ ที่เกิดจากพายุเฮอริเคนแพทริเซียที่ทรงพลังมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกมาในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกและลุ่มน้ำแอตแลนติกเหนือ ความรุนแรงของพายุเฮอริเคนแพทริเซียนี้มีสาเหตุจากน้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ จนขับเคลื่อนปรากฏการณ์เอลนีโญ

นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมา พายุไต้ฝุ่นคอปปุได้เคลื่อนตัวเข้ามาและทิ้งปริมาณน้ำฝนสูงมากกว่าหนึ่งเมตรไว้ที่ฟิลิปปินส์ ทำให้ภูมิภาคที่ปลูกข้าวเป็นหลักเกิดน้ำท่วม เหตุการณ์นี้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับที่เราคาดไว้ที่ว่าจะมีภาวะแห้งแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกได้

ชาวนาและครอบครัวยืนอยู่ในทุ่งนาที่แห้งแล้งในหมู่บ้านที่ฟิลิปปินส์

กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ประสานงานแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ผักออร์แกนิคและปุ๋ยไปช่วยเหลือเกษตรกรให้เพาะปลูกพืชผลใหม่แทนพืชผลเก่าที่ถูกทำลายไป ซึ่งวิธีการแก้ปัญหานี้เป็นวิธีเดียวกับที่กรีนพีซเคยใช้ตอนที่เกิดพายุไต้ฝุ่นฮากูปิต

ที่ออสเตรเลีย กรีนพีซออสเตรเลียแปซิฟิกสำรวจแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ และพบการฟอกขาวของปะการังจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น การฟอกขาวเป็นอันตรายระยะยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อแนวปะการัง และเป็นสิ่งที่บอกเราว่าทำไมเราต้องหยุดโครงการเหมืองถ่านหินคาร์ไมเคิลในควีนส์แลนด์ นั่นก็คือ เพื่อที่จะลดการเพิ่มอุณหภูมิของบรรยากาศโลก

ปรากฎการณ์เอลนีโญเป็นเป็นเพียงการแสดงตัวอย่างผลกระทบของภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากมนุษย์ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เราต้องปรับปรุงระบบอาหารและเกษตรกรรมทั่วโลกรวมทั้งยุติยุคของเชื้อเพลิงฟอสซิลให้ได้

สัญญานเตือนเหล่านี้ชัดเจนอยู่แล้ว

มีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ไคลเมทเชนจ์ พบว่า อัตราการปล่อยคาร์บอนในปัจจุบันอาจทำให้เกิดปรากฎการ์เอลนีโญเป็นสองเท่าของผลที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นในอีกหนึ่งร้อยปีข้างหน้า

ปรากฎการณ์เอลนีโญเป็นสภาวะลำดับต้น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนระยะยาว

ในขณะที่ความแปรปรวนทางธรรมชาติยังคงมีบทบาทต่อสภาพอากาศของเรา ภาวะโลกร้อนได้เปลี่ยนแปลงขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะรับได้และเพิ่มความเป็นไปได้ที่สภาพอากาศแบบสุดโต่งจะเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น

ปรากฎการณ์เอลนีโญที่เราเผชิญนี้เป็นเครื่องเตือนใจถึงสิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นและย้ำความจำเป็นที่จะต้องบรรลุข้อตกลงร่วมกันเพื่อที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลง

ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เราจะต้องทำทุกอย่างที่เราพอจะทำได้


แปลโดย วรานุช ทนุบำรุงสุข อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก

แปลและเรียบเรียงจากบทความ Climate change in the eyes of El Nino?โดย แอรอน เกรย์-บล็อค

ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 10 มิถุนายน 2559   
Last Update : 10 มิถุนายน 2559 10:32:12 น.   
Counter : 1035 Pageviews.  


ธรรมาภิบาลการลงทุนพลังงานของประเทศไทยร่วง



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัวแทนของรัฐบาลไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงจุดยืนของประเทศในการลดโลกร้อน ประกาศลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปีพ..2573 หรือภายใน 14 ปี โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการลดพลังงานจากฟอสซิล หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่น่าสนใจว่ารัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) อย่างไรหรือไม่ อันเป็นปัจจัยในการต่อกรกับวิกฤตโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐยังคงผูกขาดกับการลงทุนอุตสาหกรรมฟอสซิลและถ่านหิน โดยที่ขณะนี้กลายเป็นปัญหาข้ามพรมแดน เมื่อปัญหาจากการทำโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในประเทศไทย แต่ยังเชื่อมโยงกับจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย จากโครงการเหมืองถ่านหินขนาดยักษ์ใหญ่ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่มีชื่อว่า บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

นี่คือที่มาของการร่วมกันหารือเสวนาเมื่อวานนี้ (31 .. 2559) ในหัวข้อ"บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน : การลงทุนพลังงานและธรรมาภิบาลเพื่อการเปลี่ยนผ่าน" ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านพลังงานและการลงทุน เพื่อพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ในด้านการลงทุน ความเสี่ยง อนาคตพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความรับผิดชอบข้ามพรมแดนของประชาชน นักลงทุน และรัฐบาล โดยทุกฝ่ายต่างลงความเห็นว่า หลักธรรมาภิบาลคือสิ่งที่สำคัญในประเด็นการลุงทุนทางพลังงาน เพื่อดำเนินการต่อกรกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง

“พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ แต่จะทำอย่างไรถึงจะใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาด้านสุขภาวะ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหลักสำคัญคือหลักธรรมภิบาล การมีส่วนร่วม โปร่งใส และความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนยอมรับทุกภาคส่วน” รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

แก้วิกฤตโลกร้อนด้วยพลังงานหมุนเวียน … หรือถ่านหิน?

การลงทุนพลังงานกับธรรมาภิบาลบนการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันเพื่อแก้วิกฤตโลกร้อนที่กำลังคุกคามทั่วโลก กระแสการลงทุนพลังงานถ่านหินและฟอสซิลในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง ไม่ว่าจะเป็นการปิดตัวลงของเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก การที่ G7 จะยกเลิกเงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิลภายในปี 2568 หรือการที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาเตือนว่าแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของเอเชียถือเป็นหายนะของโลก ในขณะเดียวกันที่อัตราการใช้งานพลังงานหมุนเวียนในประเทศต่าง ๆ ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีหยุด สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศชี้ว่า การเปลี่ยนสู่พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

"ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในแต่ละเดือนทำลายสถิติทุกปี
ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายหลักคือ เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หากจะลดให้ได้ตามเป้า จะต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม และรูปแบบการใช้พลังงาน สิ่งที่เราจะต้องทำคือการปฏิวัติครั้งใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมเปลี่ยน หรือเราจะยอมรับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น" ผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว “ถ้าเรายังอยากรักษาโลกที่มีสภาพสมดุลของสภาพภูมิอากาศ ทางเลือกที่ถูกต้องที่ควรจะไป คือ การมองต้นทุนของโครงการพลังงานแต่ละโครงการ โดยที่มองไปถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อมระยะยาว บทบาทของภาครัฐควรจะสร้างแรงจูงในบรรยากาศการลงทุน การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะกระตุ้น และสนับสุนการลงทุนคาร์บอนต่ำ รวมถึงชี้ให้เห็นความเสี่ยงของการลงทุนคาร์บอนสูง”

นอกจากนี้ คุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระนโยบายและการวางแผนพลังงาน ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้ว่า เหตุใดแผนพลังงานจึงไม่นำไปสู่ความยั่งยืน แต่เป็นการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากขึ้นไปเรื่อยๆ หากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 9โรง ประเทศไทยจะไม่สามารถลดอุณหภูมิได้ตามเป้าหมาย COP21 ที่รัฐบาลได้ให้ไว้อย่างแน่นอน

"พลังงานหมุนเวียนถูกมองว่าเป็นสิ่งที่กัดเซาะผลประโยชน์ของการไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนไม่แพงและมีประสิทธิภาพ แต่เพราะอะไรการลงทุนภาคพลังงานของไทยจึงเน้นถ่านหินและก๊าซ คำตอบคือเรื่องธรรมาภิบาล และการเอื้อประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจพลังงานในขณะนี้ ที่ผ่านมาการไฟฟ้าเลือกที่จะเปรียบเทียบเฉพาะต้นทุนการผลิตเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบอย่างไม่เท่าเทียม ไม่ใช่บนฐานเดียวกัน การลงทุนถ่านหินต้องใช้สายส่ง มีการสูญเสียระหว่างทาง แต่พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต้องลงทุนมาก ใช้อยู่ตรงนั้น ผลิตอยู่ตรงนั้น ประหยัดทั้งการสูญเสียและภาระการลงทุนเพื่อการผลิตไฟฟ้า

การวางแผนภาคพลังงานตอนนี้ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริงอีกต่อไป แต่วางแผนเกินการใช้งานจริง อยู่บนผลประโยชน์แบบผูกขาดของธุรกิจพลังงานภาคไฟฟ้า" คุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน กล่าวถึงปัญหาธรรมภิบาลที่เกิดขึ้นในภาพการผูกขาด หากเราสามารถปลดล็อคการผูกขาดนี้ เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสู่ยุคพลังงานที่ยั่งยืนได้

ลงทุนเพื่อคุ้มทุนและกำไร …หรือเพื่อความยั่งยืน?

โลกจะต้องขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ทั้งการผลิตและการบริโภค นี่คือสิ่งที่บริษัทอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันจะต้องคำนึงถึงในการลงทุน แต่ขณะนี้กลับเป็นไปอย่างกอบโกยเพื่อหวังผลกำไรโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมาต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด ได้เผยข้อค้นพบจากงานวิจัย (เบื้องต้น) การประเมินระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับในประเทศไทย  จากศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าและมูลค่าตลาดของหุ้นผู้ประกอบการ โดยวัดจากเกณฑ์ความถูกต้อง ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ และกระบวนการการตรวจสอบรับรอง ซึ่งใจความหนึ่งของบทวิเคราะห์สรุปไว้ว่า  “กิจการที่รัฐเป็นเจ้าของ ได้แก่ กฟผ.และปตท.ควรแสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะในระดับที่สูงกว่าบริษัทเอกชน เนื่องจากมีการใช้อำนาจผูกขาด ใช้ทรัพยากรสาธารณะ เป็นกิจการของรัฐซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชน มีบทบาทต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบายด้านการพลังงานของประเทศ และควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับบริษัทเอกชน” คุณสฤณี อาชวานันทกุล เผย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรหมแดน จากบริษัทไทยสู่หายนะที่อินโดนีเซีย

“อยากเรียกร้องสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ดีของชุมชนคืนกลับมา เพราะยังจำได้ดีอยู่่ว่าธรรมชาติดีๆ ในสมัยเด็กเป็นอย่างไร”

หนึ่งในผู้มาแลกเปลี่ยนประเด็นในวันนี้ คือ อี เคอร์ตุส บาเกียร์ ยาสะ ตัวแทนชุมชนหมู่บ้านเคอทาบัวนา เหมืองถ่านหินกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองถ่านหินกาลิมันตัน โดยเจ้าของเหมืองบริษัทสัญชาติไทยนามว่า บ้านปู จากพื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งนา ภูมิทัศน์ก็เปลี่ยนไป น้ำโดยรอบมีมลพิษ ยากที่จะหาแหล่งน้ำสะอาดใช้อุปโภคบริโภค จำเป็นต้องซื้อน้ำเพื่อดื่มกิน จากการที่เหมืองใช้น้ำเยอะ ช่วงหน้าแล้งชุมชนจึงไม่มีน้ำใช้ทำเกษตรกรรม และน้ำที่ปล่อยออกมาจากเหมืองก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตร มีปัญหาเด็กตกเหมืองเสียชีวิต บ้างก็มีมากถึงปีละ 3 คน การเปลี่ยนภูมิทัศน์จึงไม่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนพื้นที่ แต่ยังเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ทำกิน ทำลายวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านอย่างถาวร

“ปัญหาหนื่งที่เหมืองถ่านหินของบริษัทไอทีเอ็ม “ITM” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูฯ นี้ได้สร้างบาดแผลไว้คือ มลพิษและความเสียหายทางภูมิทัศน์ทางธรรมชาติหลังจากการทำเหมือง โดยที่ชุมชนต้องรับผลกระทบเนื่องจาก ลำห้วยของหมู่บ้านซึ่งชุมชนใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรเป็นลำคลองเดียวกันกับที่เหมืองถ่านหินใช้ชะล้างถ่านหิน และปล่อยน้ำเสียทิ้งลงคลอง การไม่ฟื้นฟูภูมิทัศน์ทางธรรมชาติจึงถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งของการทำเหมืองถ่านหิน เราไม่ได้กินถ่านหิน เรากินข้าว เราอยากขอให้บริษัทถ่านหินออกไปจากพื้นที่ชุมชน” อี เคอร์ตุส บาเกียร์ ยาสะ กล่าว

การสำรวจของกรีนพีซพบว่า เหมืองถ่านหินในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกและตะวันตกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายภูมิทัศน์และทำความเสียหายต่อคุณภาพน้ำใต้ดิน ทำให้ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และหนึ่งในบริษัทเหมืองถ่านหินรายใหญ่ที่สุดที่เข้ารับสัมปทานในบริเวณนี้ คือบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชนปัจจุบันหมู่บ้านเคอทาบัวนาในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกได้สูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรกว่าครึ่งหนึ่ง หรือราว 80 แฮกตาร์ให้แก่สัมปทานเหมืองถ่านหินไปแล้ว และสิ่งที่บริษัทเหลือทิ้งไว้หลังจากสร็จสิ้นการทำเหมืองก็คือ หลุมเหมืองร้างที่น้ำเต็มไปด้วยการปนเปื้อนสารพิษ เหมืองถ่านหินเหล่านี้ดำเนินการโดยบริษัท PT Indo Tambangraya Megah Tbk (ITM), ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซีย บริษัท ITM ควบคุมโดยบ้านปูซึ่งมีหุ้นส่วนร้อยละ 65 บริษัทลูกของ ITM ในกาลิมันตันได้แก่ PT Kitadin, PT Indominco Mandiri และ PT Jorong Barutama Greston.

อ่านเพิ่มเติม: รายงาน ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการลงทุนถ่านหินของบริษัทไทยในอินโดนีเซีย

“การลงทุนใดๆ ก็ตามที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงไม่ถือว่าเป็นการลงทุนที่ก้าวหน้าและประสบผล บ้านปูต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบและทำการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชนในกาลิมันตัน บริษัทบ้านปูต้องมุ่งมั่นและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อย กลุ่มนักลงทุนและประชาชนสามารถร่วมกันผลักดันบริษัทอุตสาหกรรมสู่การลงทุนในแนวทางที่ถูกต้อง” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ดังที่ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ กล่าวไว้ว่า “เรื่องการลงทุนพลังงาน ประเทศเราคิดแค่เพียงการคุ้มทุน แต่เราต้องมองความหมายของการคุ้มทุนให้กว้างกว่าเดิม เพราะความเสี่ยงอันตรายคือสิ่งที่ทุกคนต้องรับ ความรับผิดชอบในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านจะต้องมีธรรมาภิบาลด้วยเช่นกัน” การลงทุนพลังงานถ่านหินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในช่วง “การช่วงชิง” ระหว่างการลงทุนธุรกิจพลังงานถ่านหินและธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยมีบริษัทบ้านปูเป็นหนึ่งในห้าบริษัทยักษ์ใหญ่ในภูมิภาค แม้ภาครัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงผลักดันพลังงานถ่านหินอย่างดึงดัน แต่ขณะนี้มี 20 ประเทศทั่วโลกที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง และยังเพิ่มจีดีพีของประเทศได้ นี่คือโจทย์ที่ประเทศไทย ทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรมอย่างบริษัทบ้านปู จะต้องก้าวเดินไปพร้อมกันเพื่อความยั่งยืนของประเทศ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อม ถ้าเราไม่คำนึงถึงความยั่งยืน

ผลักดันบ้านปูยุติยุคถ่านหิน ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ร่วมลงชื่อคลิกที่นี่


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2559   
Last Update : 8 มิถุนายน 2559 14:09:04 น.   
Counter : 801 Pageviews.  


ไทยยูเนี่ยนต้องหยุดทำลายล้างมหาสมุทร



เขียน โดย ทอม โลว บรรณาธิการมัลติมีเดีย กรีนพีซสากล

การได้นั่งอยู่กลางมหาสมุทรอินเดียในตอนกลางคืน มันเหลือเชื่อมาก คุณรู้สึกได้ถึงความกว้างใหญ่ของทะเลที่อยู่ล้อมรอบ พลังของคลื่นลูกแล้วลูกเล่า ความลึกและความดำมืด

ผมอยากให้คุณลองจินตนาการวาดภาพจากที่ที่อยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร คุณกำลังมองเห็นกลุ่มแสงเรืองรองขนาดใหญ่ตรงเส้นขอบฟ้า และเมื่อเข้าไปใกล้มันมากขึ้น แสงจ้าจากรางไฟที่มีหลอดไฟฟ้ากำลังสูง 80 ดวง ส่องลงไปในน้ำทุกคืน สัตว์ทะเลที่ว่ายวนกันอย่างหนาแน่นใต้น้ำ ถูกล่อเข้าสู่แสงไฟสว่างจ้านั้น

The supply vessel Explorer II in the Indian Ocean. Activists on board the Greenpeace ship Esperanza peacefully confront marine operations at the heart of Thai Union’s supply chain, the latest in a series of global protests against the tuna giant’s destructive fishing practices. At 06.00 local time, activists in inflatable boats deliver a cease and desist letter to the deck of the Explorer II, a supply vessel using an underwater seamount to perch on and contribute to massive depletion of ocean life.  © Will Rose / Greenpeace

นั่นคือสิ่งที่เราพบระหว่างเผชิญหน้ากับเรือเอ็กซ์พลอเรอร์ ทู เรือจับทูน่าขนาดใหญ่ที่จัดหาวัตถุดิบให้กับไทยยูเนี่ยน มันไม่เหมือนเรือลำอื่นๆที่เราเคยเห็น และแสงไฟสว่างจ้านั้นก็น่าจะด้วยเหตุผลอื่น วิธีทำประมงที่กำลังถกเถียงกันอยู่นี้ใช้ไฟล่อสัตว์ทะเลแทบทุกชนิด ก่อนที่เรือประมงลำอื่นๆจะมาวางเบ็ดทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันถูกต้องแล้วหรือ

นักกิจกรรมบนเรือเอสเพอรันซาปฏิบัติการอยู่ในมหาสมุทรอินเดียมาแล้วห้าสัปดาห์ เพื่อขจัดการทำประมงทำลายล้างออกไปจากสายการผลิตที่จัดส่งวัตถุดิบให้ไทยยูเนี่ยน ทั้งติดตามและเก็บกู้อุปกรณ์จับปลาที่ทำลายล้างออกไปจากทะเล อย่างที่เรากำลังทำกับเรือเอ็กซ์พลอเรอร์ ทู สัตว์ทะเลว่ายวนอยู่ใต้อุปกรณ์ล่อปลาและเรือประมงก็ใช้อวนล้อมจับขึ้นมาทั้งหมด แต่เรือเอ็กซ์พลอเรอร์ ทู ใช้อุปกรณ์ล่อปลามากขึ้นและเข้าข่ายการประมงเกินขนาด ไม่ใส่ใจต่ออันตรายขั้นรุนแรงที่จะเกิดกับชีวิตสัตว์ทะเล 

The supply vessel Explorer II in the Indian Ocean.  © Will Rose / Greenpeace

เรือเอ็กซ์พลอเรอร์ ทู ทำประมงโดยลอยลำอยู่กับที่ ซึ่งไม่เหมือนเรือลำอื่นๆ โดยทอดสมอไว้กับภูเขาใต้น้ำ โกโก้ เดอ แมร์ ทางตอนเหนือของหมู่เกาะซีเชลส์ นั่นคือสิ่งที่เราพบครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งการลอยลำอยู่กับที่ทำให้เรือประมงลำอื่นๆรู้พิกัดที่แน่นอน เรือเอ็กซ์พลอเรอร์ ทู จึงแค่ลอยลำไว้นิ่งๆ ส่องไฟลงไปใต้น้ำเพื่อล่อปลา

ผู้สนับสนุนของเราในอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ช่วยกันค้นข้อมูล จนได้รู้ว่า เรือเป็นของบริษัทสัญชาติสเปน ชื่ออัลบาโครากรุ๊ป เป็นบริษัทจัดหาวัตถุดิบส่งให้บริษัทไทยยูเนี่ยนและทูน่ากระป๋องที่วางขายในยุโรป ทั้ง จอห์น เวสต์ เปอติ นาวีร์ และ มาเรบู

สิ่งที่เราพบจึงชี้ชัดได้ว่า เรือเอ็กซ์พลอเรอร์ที่ ทู เกี่ยวข้องกับการทำประมงอย่างไม่เอาใจใส่ เข่นฆ่าสัตว์ทะเลโดยไม่เลือก ทำประมงเกินขนาดด้วยการจับปลาไปแทบหมดมหาสมุทร และเบียดเบียนวิถีชีวิตของชุมชนประมงท้องถิ่น

Greenpeace Activists confront supply vessel Explorer IIActivists on board the Greenpeace ship Esperanza peacefully confront marine operations at the heart of Thai Union’s supply chain, the latest in a series of global protests against the tuna giant’s destructive fishing practices. At 06.00 local time, activists in inflatable boats deliver a cease and desist letter to the deck of the Explorer II, a supply vessel using an underwater seamount to perch on and contribute to massive depletion of ocean life.  © Will Rose / Greenpeace

เราไม่อาจแล่นเรือผ่านไปได้และปล่อยให้ทำประมงเช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป เราจึงต้องเผชิญหน้ากับเรือประมง ดับไฟล่อปลาด้วยการทาสีทับหลอดไฟ และถอนสมอเรือจากคอนใต้น้ำ เรือประมงไม่ชอบวิธีการนี้ของเราและพยายามแล่นเรือหลบเลี่ยง

วันนี้ ที่การประชุมสุดยอดทางการเมืองว่าด้วยการทำประมงทูน่า มีประกาศห้ามใช้ไฟล่อปลาบนเรือประมงอย่างเอ็กซ์พลอเรอร์ ทู

เราจะรู้สึกตัวเล็กนิดเดียวเมื่ออยู่กลางทะเลที่กว้างใหญ่ แต่เราในฐานะมนุษย์ที่กำลังสร้างผลกระทบมหาศาล ผู้คนหลายแสนคนกำลังเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเพื่อแสดงความเคารพต่อมหาสมุทรของเรา นั่นคือความโชคดีที่เราได้มีโอกาสทำ

แล้วคุณจะไม่ร่วมต่อสู้ไปกับเราหรือ?

ทอม โลว บรรณาธิการมัลติมีเดีย กรีนพีซสากล ปฏิบัติการจากเรือเอสเพอรันซา


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2559   
Last Update : 8 มิถุนายน 2559 13:35:23 น.   
Counter : 935 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com