กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

4 สัญญาณที่แสดงว่าการปฎิวัติพลังงานหมุนเวียนอยู่ในมือเรา



เขียน โดย จิล เพพ นักรณรงค์ออนไลน์ กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา 

พลังงานหมุนเวียนกำลังอยู่ในทิศทางที่ดี นี่เป็นสัญญาณที่เราเห็นว่าการปฏิวัติพลังงานได้เริ่มขึ้นแล้ว

ในปี 2558 การติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าตามชายฝั่งนั้นทำลายสถิติ ทั้งพลังงานหมุนเวียนจากลมและแสงอาทิตย์ก็มีราคาถูกที่สุดเท่าที่เคยเป็น และโลกเพิ่มขีดความสามารถทดแทนได้มากกว่าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินรวมกัน

ในที่สุดเราก็สลัดคำบอกเล่าเท็จว่าพลังงานหมุนเวียนใช้ไม่ได้จริง หลายปีที่ผลกำไรจากพลังงานฟอสซิลได้ทำให้เราเชื่อว่าพลังงานหมุนเวียนจะราคาแพงเกินไปและไร้ประสิทธิภาพ แต่หลังจากปีแห่งชัยชนะของพลังงานหมุนเวียน เราก็คงไม่เชื่ออีกแล้ว

นี่คือการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในปีที่ผ่านมา

1. เริ่มต้นกันที่ เมืองเบอลิงตัน รัฐเวอมอนท์ ได้กลายเป็นเมืองขนาดกลางแห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จะใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ผู้อาศัยในเมืองเบอลิงตันใช้พลังงานจากชีวมวล ไฟฟ้าพลังน้ำ แสงอาทิตย์และลม รัฐเวอมอนท์มีเป้าหมายว่าพลังงานร้อยละ 90 จะมาจากพลังงานหมุนเวียนภายในปี พ.ศ. 2594

2. เมืองเบอลิงตัน รัฐเวอมอนท์ผลิตพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยในปี พ.ศ.2558

3. ตามมาด้วยเมืองแอสเพ็น รัฐโคโลราโด ซึ่งเมืองนี้ได้ผลิตพลังงานราวๆ ร้อยละ 80 จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในปี 2558 ได้ก้าวกระโดดด้วยการเลิกพลังงานจากถ่านหิน เมืองนี้ในปัจจุบันใช้พลังงานจาก ลม แสงอาทิตย์และความร้อนใต้พิภพ

ภาพถ่ายทางอากาศของเมืองแอสเพ็น รัฐโคโลราโด โดย จีน่า คอลเล็คเชีย/ ครีเอทีฟ คอมมอนส์

4. แต่ชัยชนะแห่งการหมุนเวียนก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในระดับเมืองเท่านั้น เมื่อเดือนมิถุนายนปีก่อน รัฐฮาวายกลายเป็นรัฐแรกที่มุ่งมั่นการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้เต็มร้อย โดยการออกกฎหมายที่จะผลักการใช้พลังงานฟอสซิลให้หมดไปได้ภายในปี พ.ศ. 2588

รัฐฮาวายได้กลายเป็นรัฐแห่งแรกที่มุ่งมั่นใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้เต็มร้อย

คอสตาริก้าก็กำลังรีบเปลี่ยนสถานะผู้ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยเช่นกัน ผันตัวเองจากแหล่งพลังงานสกปรกไปสู่พลังงานจากแสงอาทิตย์ น้ำและแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ และในปี 2558 เป็นเวลาแห่งก้าวสำคัญของประเทศนี้ นั่นคือสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้เต็มร้อย

เมืองซานโฮเซ ประเทศคอสตาริก้า จากมุมสูง

มาร่วมการปฎิวัติพลังงาน

อนาคตพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นไม่เพียงแค่เป็นไปได้ แต่นี่คือ สิ่งที่เราต้องทำ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเลวร้ายที่สุดของหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐบาลต่างๆ กำลังเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับรัฐและระดับประเทศ การมีจำนวนประเทศมากขึ้นที่ร่วมตั้งเป้าหมายอันท้าทาย ก็จะทำให้เข้าใกล้เป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดแต่ละปีได้อย่างรวดเร็ว อนาคตการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้เต็มร้อยนั้นเป็นจริงได้ 


เขียนโดย จิล เพพ 

จิลเป็นนักรณรงค์ออนไลน์ของกรีนพีซ สหรัฐอเมริกา ทำงานด้านการมีส่วนร่วมและงานขับเคลื่อน สนับสนุนและให้โอกาสเพื่อลงมือปฎิบัติและสร้างผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม


แปลโดย โปรดปราน คลาสเซ่น อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก

ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2559   
Last Update : 1 กรกฎาคม 2559 10:49:36 น.   
Counter : 1134 Pageviews.  


รำลึก 12 ปี “เจริญ วัดอักษร” และกำเนิดวันอนุรักษ์ชายหาด



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

"...ถ้าเจริญ วัดอักษร ทราบได้ คงภูมิใจ และอนุโมทนา แม้จะเสียชีวิตไปครบหนึ่งรอบนักษัตร แต่ได้เกิดวันอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้น เป็นผลสำเร็จที่ต้องสู้กับนายทุน บริษัทข้ามชาติ แต่การเสียชีวิตของเจริญเป็นการปลุกจิตสำนึกของเราให้ตื่นขึ้น ถ้าไม่มีเจริญ ที่ดินแทบนี้เป็นของนายทุนไปหมดแล้ว เจริญ เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา แต่รักความยุติธรรม เมื่อเจริญเห็นความอยุติธรรม เขาอุทิศตัวทำทุกอย่าง แต่ถูกคนโหดร้ายฆ่าตาย เจริญไม่ตายเปล่า แต่ปลุกให้คนหลายคนตื่นขึ้น"  ส.ศิวรักษ์ หนึ่งในผู้มาร่วมงานในวันนี้ที่ได้รับสมญานามว่า ปัญญาชนสยามกล่าว

ภาพโดย ธีรธัญภัค เหลืองอุบล อาสาสมัครกรีนพีซ

ในทุก ๆ  ปีหลังจากเสียชีวิตของ เจริญ วัดอักษร พี่น้องชาวบ่อนอกและชาวประจวบคีรีขันธ์จะพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเขียวที่มีสัญลักษณ์ของรูปพี่เจริญเพื่อร่วมงานรำลึกถึง  แต่การครบรอบการจากไป 12 ปีของ เจริญ วัดอักษร เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ในครั้งนี้เป็นการถือกำเนิดขึ้นของวันที่น่าจดจำที่ได้เกิด “วันอนุรักษ์ชายหาด” ขึ้น ในวันนี้พี่น้องชาวบ่อนอกได้รวมพลังกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้นกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจากอ่าวต่าง ๆ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ร่วม 300 คน รวมไปถึงเด็กน้อยจากหลายโรงเรียนมาร่วมงานรำลึกในวันนี้ด้วย โดยมีกิจกรรมปลูกป่าด้วยต้นไม้ท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ อาทิ ตีนเป็ด มะม่วงป่า มะค่า ประดู่ เพื่อฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของชายหาดบ่อนอกแห่งนี้ อันเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวของวีรชนผู้กล้าที่น่ายกย่องของพวกเขาที่ได้ปกป้องไว้ให้ลูกหลานคนบ่อนอก

ภาพโดย ธีรธัญภัค เหลืองอุบล อาสาสมัครกรีนพีซ

เบื้องหน้าเทือกเขาตะนาวศรีบริเวณคลองชายธง ต.บ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์ ชายหาดที่ทอดยาวกว่า 4 กิโลเมตรอันสงบนิ่งได้เป็นประจักษ์พยานแห่งการสืบทอดเจตนารมณ์ของเจริญ วัดอักษร แล้ว “ตายสิบ จักเกิดแสน”  จึงคือวลีที่เที่ยงแท้

"พวกเราอยู่กับการถูกละเมิดมาตลอด ถูกลอบทำร้าย โดนคดีความ จนกระทั่งถึงตาย ในนามของเครือข่ายคนเสื้อเขียว ถ้าพวกเราไม่รักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม เมืองประจวบคงไม่มีหน้าตาแบบนี้ คงกลายเป็นเหมืองอุตสาหกรรมแบบระยอง ถือว่าพวกเราทุกคนมีบทบาทปกป้องรักษาบ้านเมือง เราอยากเห็นบ้านเมืองมีหน้าตาแบบไหน อยู่กันแบบไหน เราต้องช่วยกัน" คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร กล่าว

คลองชายธง ตำบลบ่อนอก ความอุดมสมบูรณ์อันเป็นที่หมายตาของกลุ่มทุน 

พื้นที่บ่อนอกแห่งนี้ กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกได้ต่อสู้การคุกคามสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลา 20 ปี เดิมทีพื้นที่อาณาเขต 931 ไร่ ที่มีชายหาดยาว 4 กิโลเมตร แห่งนี้เป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยชายหาด ป่าชายเลน และเป็นพื้นที่รับน้ำจากเทือกเขาตะนาวศรี มีหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ แต่ 20 ปีที่แล้วเริมถูกบุกรุกโดยการทำนากุ้งของกลุ่มนักการเมืองอิทธิพลท้องถิ่น พร้อมกับการเข้ามาของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกในพื้นที่บริเวณติดกัน ในที่สุดก็สามารถคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจนทำได้สำเร็จ และปกป้องพื้นที่สาธารณะคลองชายธง จากกรณีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การต่อสู้ผลักดันของชุมชนอย่างเข้มแข็งเป็นเหตุให้คุณเจริญ วัดอักษร ถูกยิงจนเสียชีวิต แต่ในที่สุดก็สามารถยุติการคุกคามทางสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ กับการปิดฉากนากุ้งรายสุดท้ายเมื่อปี 2556 จนกระทั่งเกิดการหมายตาให้บ่อนอกกลายเป็นพื้นที่สร้างมหาวิทยาลัยอีกครั้งเมื่อปี 2558

“เราทำแผนร่วมกันกับกรมทรัพยากรทางน้ำและทางจังหวัด อยากให้พัฒนาพื้นที่นี้ไปตามศักยภาพเดิม คือ ป่าชายเลน และป่าชายหาดที่อุดมสมบูรณ์ กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกคัดค้านการสร้างมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลว่าพื้นที่นี้ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นระบบนิเวศชายฝั่ง แม้ในอดีตจะถูกทำลาย แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงพื้นฟื้นตัว ความอุดมสมบูรณ์เริ่มกลับมา” คุณกรณ์อุมา กล่าว

“พื้นที่นี้มีความสำคัญทั้งด้านระบบนิเวศชายฝั่ง และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ชาวบ้านบ่อนอกร่วมกันปลูกป่าฟื้นฟู เป็นป่าชายเลน ป่าชายหาด เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและอนุรักษ์พื้นที่ ส่งต่อพื้นที่ที่มีคุณค่าทางนิเวศให้กับคนรุ่นหลัง ทรัพย์สมบัติของชาติกำลังถูกทำลายจนกระทั่งมีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศจากการหาผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่จะเป็นปัญหาใหญ่หากเรายังไม่แก้ไข เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องดูแลรักษา หากเราไม่ไปทำลายธรรมชาติ พื้นที่นี้จะคืนกลับความสมดุลมาดังเดิม และเราทำให้เร็วขึ้นได้ด้วยการฟื้นฟู ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรของชาติจะตามมา” นายสมพร ปัจฉิมเพชร นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

การต่อสู้ของชาวบ่อนอกใกล้พบกับชัยชนะอีกครั้ง เมื่อพื้นที่คลองชายธงกำลังได้รับการศึกษาให้กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก (แรมซาร์ไซต์) และกำลังรอการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ 411 ไร่ จาก 931 ไร่ โดยที่ส่วนพื้นที่อื่นจะได้รับการคุ้มครองด้วยมาตราอื่น

"คลองชายธง บ่อนอก ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม แต่เป็นระบบนิเวศที่ฟื้นตัวขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ที่นี่มีนกทั้งหมด 158 ชนิด นกใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด จึงดีกว่าเอามหาวิทยาลัยมาตั้ง ป่าพวกนี้ไม่สามารถย้ายไปไว้ที่อื่นได้ แต่มหาวิทยาลัยย้ายไปตั้งที่อื่นได้ เราไม่ได้คัดค้านการสร้างมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถสร้างในพื้นที่อื่นได้ตามพื้นที่เป้าหมายอีก 6 แห่ง แต่พื้นที่ป่าชายหาดไม่สมควรจะถูกทำลาย ท้องทะเลตรงนี้สำคัญ ขอให้เริ่มที่ตัวเรา ช่วยกันดูแลทรัพยากร เพื่อเราและลูกหลานของเรา" ชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าว

ภาพโดย ธีรธัญภัค เหลืองอุบล อาสาสมัครกรีนพีซ

"หน้าหาดบ่อนอก คลองชายธง เป็นแหล่งประมงสำคัญ ก่อนถูกบุกรุกทำนากุ้งที่ตรงนี้อุดมสมบูรณ์มีป่าโกงกาง แสม มีกระแสน้ำจืดหอบเอาตะกอนมาถับทมลงสู่ทะเล มีหอยจำนวนมาก เมื่อก่อนไม่คิดว่านากุ้งจะมีผลกระทบต่อทะเล แต่ต่อมาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปลาน้อยลง แต่ขณะนี้กำลังฟื้นฟูกลับมาได้ ชายหาดและป่าชายเลนแห่งนี้มีต้นทุนที่ดีโดยที่ไม่ต้องลงทุนทำอะไรเพิ่ม พื้นที่สาธารณะติดหน้าทะเล 4 กิโลเมตรตรงนี้ สำคัญที่สุด ผมเห็นลูกปลากระโดด และมีนกมาบินตามเรือเพื่อจับกินลูกปลา เห็นได้ชัดว่าพื้นที่กำลังฟื้นฟู การสร้างทรัพยากรยาก แต่การทำลายทำได้แค่ชั่วพริบตา และใช้เวลานานกว่าพื้นที่เก่าจะกลับมา" จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้านชุมชนคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

เราทุกคนคือนักสิทธิชุมชน

เรื่องราวของนักต่อสู้ยืนหยัดเพื่อสิทธิชุมชนแต่ละคนนั้นต่างต้องเผชิญกับอาชญากรรม และยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมไทย ตราบใดที่กลุ่มนายทุนและภาครัฐยังคงหละหลวมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของไทยอย่างยั่งยืน แต่เมื่อใดที่ยังมีคนที่ยืนหยัดลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่นเจตนารมณ์ของเจริญ วัดอักษร และนักปกป้องสิทธิทุกท่าน คนเหล่านี้แหละคือพลังที่แท้จริงที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย 

ผู้ปกป้องชุมชนและนักสิทธิฯ ก็คือคนธรรมดาทั่วไปไม่ต่างจากพวกเราทุกคน บ้างก็เป็นเกษตรกร ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า สตรี ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ หรือนักกิจกรรม แต่พวกเขามีจิตสำนึก ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อป้องป้องสิ่งแวดล้อม ชุมชน และธรรมชาติที่แวดล้อมเราอยู่ โดยลุกขึ้นต่อสู้ท้าทายอำนาจรัฐและนายทุน ที่เข้ามารุกรานสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อผลประโยชน์อันมหาศาลจากทรัพยากรแก่คนเฉพาะกลุ่ม

เราจึงขอยกย่องและรำลึกถึงความกล้าหาญ การอุทิศตน ที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของสังคมของนักปกป้องสิทธิทุกท่าน


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 23 มิถุนายน 2559   
Last Update : 23 มิถุนายน 2559 13:22:16 น.   
Counter : 1205 Pageviews.  


คุณรู้จักสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ดีแค่ไหน?



เขียน โดย MeenaRajput

คุณรู้จักสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ดีแค่ไหน? ลองมาเรียนรู้เรื่องราวน่ารัก ๆ เกี่ยวกับสัตว์ที่น่าอัศจรรย์เหล่านี้

12. หมีขาวไม่ได้ขาว

มันเป็นเรื่องจริง หมีขาวแท้จริงแล้วมีผิวหนังสีดำ (ลองดูที่จมูกของมันสิ) ที่ถูกปกคลุมไปด้วยขนที่ใส และไร้สี ขนแต่ละเส้นของหมีขั้วโลกกระจัดกระจายไปทั่วและสะท้อนแสงที่เราเห็น จึงทำให้มันดูขาวทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีสีขาวเลย - เจ้าเล่ห์จริงๆ

11. วาฬหัวทุยยืนหลับ

ค่อนข้างยากที่จะเข้าใจ และไม่ได้ฟังดูจะสบายสักเท่าไหร่ แต่วาฬหัวทุยนอนหลับในแนวตั้ง โดยให้หางห้อยลง จริง ๆ แล้ววาฬสายพันธุ์ต่าง ๆ ‘หลับ’ โดยการปิดสวิตช์สมองของมันไว้ครึ่งหนึ่งในแต่ละครั้ง (ไม่แนะนำให้ลองทำเองที่บ้าน) และท่ายืนนี้ยังทำให้วาฬที่กำลังงีบหลับนั้นหายใจผ่านช่องหายใจสะดวกขึ้น

10. เพศของเต่าถูกกำหนดจากอุณหภูมิ

ไม่ว่าลูกเต่าทะเลที่เพิ่งฟักจะเกิดมาเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย มันต่างก็ถูกกำหนดโดยอุณหภูมิของบริเวณรัง หากอุณหภูมิสูงกว่าจุดที่ส่งผลต่อการเพาะฟักไข่เต่า หรือ “pivotal temperature” (28 - 29 องศาเซลเซียส) เต่าที่เกิดมาจะเป็นเพศเมีย และถ้าต่ำกว่า ก็จะเป็นเพศผู้

9. เสือมีตาที่เปล่งประกายที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด

ตาของเสือถูกส่องแสงจากด้านหลัง โดยเหยื่อหุ้มเซลล์สะท้อนแสงชนิดหนึ่งผ่านทางจอประสาทตา ต้องขอบคุณสิ่งนี้ที่ทำให้เสือมีดวงตาที่ส่องประกายที่สุด และในความเห็นของฉัน มันเป็นดวงตาที่สวยที่สุดในธรรมชาติ

8. อุรังอุตังจั๊กจี้เป็น

การบ้าจี้มีอยู่สองแบบ แบบเบา ๆ ที่เพียงรู้สึกคัน ๆ และแบบที่ทำให้คุณหัวเราะได้อย่างบ้าคลั่ง สัตว์หลายชนิดบ้าจี้อย่างในแบบแรก มันเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการวิวัฒนาการที่ช่วยป้องกันพวกมันจากสัตว์ที่อาจจะทำอันตรายต่อมัน หรือสัตว์จำพวกแมลงต่าง ๆ แต่มีสัตว์อยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นแบบที่สอง ที่จริงแล้วดูเหมือนจะมีแค่มนุษย์กับสัตว์ตระกูลลิงที่มีอาการแบบนั้น ซึ่งก็รวมไปถึงอุรังอุตัง

7. หมีขั้วโลกไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำ

น้ำจืดส่วนมากในอาร์กติกเป็นน้ำแข็ง! (จริง ๆ นะ) สำหรับเราแล้วอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่ไม่ใช่สำหรับหมีขั้วโลก สัตว์ชนิดนี้ได้มีวิวัฒนาการจนทำให้มันไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำอีกต่อไป พวกมันสามารถรับ H2O ทั้งหมดที่ต้องการ ได้จากปฏิกิริยาทางเคมีในตัวที่มีหน้าที่สลายไขมัน

6. ในบรรดาสัตว์ทั้งหมด วาฬหัวทุยมีขนาดสมองที่ใหญ่ที่สุด

ไม่เพียงแค่เป็นสัตว์ที่มีฟันที่มีขนาดใหญ่ที่สุด วาฬหัวทุยยังฉลาดอีกด้วย สัตว์นักล่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกชนิดนี้ มีน้ำหนักสมองมากกว่ามนุษย์เราถึง 5 เท่า

5. เต่าทะเลคุยกันก่อนจะฟักออกจากไข่

เราต่างก็เคยคิดว่าเต่าไม่ส่งเสียง แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริง เต่าทะเลคุยกันตั้งก่อนที่จะออกจากไข่ ในขณะที่อยู่ในไข่แต่ละใบ พวกมันสื่อสารกันด้วยการส่งเสียง นักวิจัยเชื่อว่า เต่าทะเลทำเช่นนั้นเพื่อที่จะได้ฟักออกมาอย่างพร้อมเพรียงกัน (ถ้านั่นไม่น่ารัก ก็ไม่รู้ว่ายังไงแล้ว)

4. อุรังอุตังชอบรสชาติของสบู่

ไม่ใช่แค่ทุเรียนเท่านั้น แต่พวกมันก็ชอบรสชาติของสบู่เช่นกัน ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจที่สบู่ไม่ทำให้กระเพาะของมันระคายเคือง ถึงแม้เราจะคล้ายอุรังอุตังมากแค่ไหน ฉันไม่แนะนำให้ลองอยู่ดี

3. ลิ้นหมีขาวมีสีฟ้า

ดูจากรูปก็รู้แล้ว :)

2. วาฬหลังค่อมร้องและสร้างสรรค์บทเพลงตามเทรนด์

วาฬหลังค่อมรักที่จะร้องเพลง แต่พวกมันไม่ได้เพียงแค่เปล่งเสียงออกมาซ้ำ ๆ เพลงของมันเปลี่ยน และพัฒนาไปตามกาลเวลา ถ้าวาฬได้ยินบางอย่างที่มันชอบจากวาฬตัวอื่น ๆ แทนที่ทำนองนั้นจะเพียงแค่วนอยู่ในหัว แต่พวกมันจะเอามาประยุกต์เป็นบทเพลงในแบบของตัวเอง หากเสียงนั้นติดหูจริง ๆ มันจะกระจายไปสู่วาฬตัวอื่นในบริเวณใกล้เคียง และหลังจากนั้นก็จะไปถึงสมาชิกที่อยู่ห่างไกล หรือไปยังอีกฝากของมหาสมุทร -- คล้ายกับเพลงฮิตติดชาร์ทเลย!

1. ปัสสาวะเสือมีกลิ่นเหมือนป๊อปคอร์นรสเนย

นี่เป็นความจริงที่น่าสนใจนะ เอาไปใช้ดีๆล่ะ

จินตนาการถึงโลกที่ไม่มีสัตว์ที่น่าอัศจรรย์เหล่านี้อยู่ไม่ออกเลยใช่มั้ย?

แต่พวกมันกำลังตกอยู่ในอันตรายอันใหญ่หลวง ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์กำลังถูกทำลายโดยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ อุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษ และบริษัทปาล์มน้ำมันโลภมากทำกำลังทำลายป่าฝนเขตร้อน

ร่วมกันปกป้องสัตว์เหล่านี้ ด้วยการเผยแพร่เรื่องราวน่ารัก ๆ นี้ออกไปนะคะ


แปลโดย Piraorn Suvanbenjakule อาสาสมัครกรีนพีซ

ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 22 มิถุนายน 2559   
Last Update : 22 มิถุนายน 2559 13:10:56 น.   
Counter : 982 Pageviews.  


3 เหตุผลที่บริษัทบ้านปูควรลงทุนพลังงานหมุนเวียน 100%



เขียน โดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การทำเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเชียของบริษัทในเครือบ้านปูได้สร้างรอยแผลเป็นที่บาดลึกและยากเกินจะเยียวยาแก่ภูมิประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก และกาลิมันตันตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า น้ำที่ปนเปื้อนเต็มไปด้วยสารพิษ รวมไปถึงผืนแผ่นดินที่ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมี แต่บ้านปูสามารถเป็นผู้นำเพื่อการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยได้ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญและแบบอย่างการลงทุนพลังงานที่ยั่งยืนที่ไม่ทำร้ายคนและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทบ้านปู

กลุ่มบริษัทบ้านปูเป็นบริษัทถ่านหิน โดยร้อยละ 93 ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทมาจากการทำเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีอินโดนีเซียเป็นฐานสำคัญในการประกอบธุรกิจ อาจกล่าวได้ว่า บ้านปูเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย โดยธุรกิจของบ้านปูฯ ในประเทศอินโดนีเซีย อยู่ภายใต้การดำ เนินกิจการของบริษัท พีที อินโด ทามบางรายา เมกา ทีบีเค (PT Indo Tambangraya Megah TbK) หรือ ไอทีเอ็ม “ITM” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ของประเทศอินโดนีเซีย บริษัท ไอทีเอ็ม ITM ควบคุมดูแลบริษัทอื่น ๆ ในเครือทั่ว กาลิมันตัน ในปี 2557 บริษัทไอทีเอ็ม ITM ผลิตถ่านหิน 29.1 ล้านตัน เพื่อขายในอินโดนีเซีย และเพื่อการส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย แต่การทำเหมืองของบริษัทบ้านปูกำลังสร้างรอยแผลที่บาดลึกให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชนกาลิมันตันตะวันออกและตะวันตก ซึ่งบ้านปูมีศักยภาพในการเป็นผู้นำสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุนพลังงานอย่างยั่งยืน  และนี่คือ 3 เหตุผลที่บริษัทบ้านปูควรหันมาลงทุนพลังงานหมุนเวียน 100% 

1. การทำเหมืองถ่านหินสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรมของชุมชน

ตัวอย่างที่น่าเศร้าซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้ามาของเหมืองถ่านหินในเครือบริษัทบ้านปู คือ กรณีของหมู่บ้านเคอทาบัวนาในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก แหล่งผลิตข้าวที่สำคัญแห่งหนึ่ง เมื่อบริษัทเหมืองถ่านหิน พีทีคิทาดิน (PT Kitadin) เริ่มทำเหมืองถ่านหิน เกษตรกรพบว่า พืชผลของพวกเขาได้รับผลกระทบ และเกษตรกรจำนวนมากจึงตัดสินใจขายที่ดินของตนและย้ายไปสู่เมืองอื่น เพื่อเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน

ผืนดินของหมู่บ้านเคอทาบัวนา ผืนแล้วผืนเล่าถูกกลืนกินโดยการทำเหมือง

ถ่านหิน ของบริษัทพีที คิทาดิน (PT Kitadin) บริษัทย่อยของไอทีเอ็ม (ITM) เริ่มดำเนินการทางตอนใต้ของหมู่บ้าน ชาวบ้านหลายคนยอมแพ้และขายที่ดินของตนไป แต่นั่นไม่ใช่ผู้ใหญ่บ้านเนามัน เขายังคงต่อต้านการทำเหมืองถ่านหินอยู่ จนเขาถูกจับ และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำการยุยงให้เกิดการประท้วงต่อต้าน 

“พวกเราไม่สามารถเพาะปลูกได้อย่างที่เคยทำมา จะปลูกอะไรก็ทำได้ยาก พวกเราปลูกข้าวได้ไม่พอสำหรับส่งขาย แค่จะปลูกให้ได้พออยู่พอกินไปจนจบฤดูเก็บเกี่ยวยังยากเลย ผมได้แต่ภาวนาให้หยุดการทำเหมืองถ่านหินซะที กลบหลุมเหมืองพวกนั้นไปซะ แล้วเอาแผ่นดินคืนให้ชาวบ้าน แต่คงจะไม่มีความหวังหลงเหลือแก่อนาคตของหมู่บ้านนี้อีกต่อไปแล้ว” ผู้ใหญ่บ้านเนามัน หมู่บ้านเคอทาบัวนา ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกกล่าว

2. เหมืองถ่านหินสร้างมลพิษในแหล่งน้ำ

“หลังจากเริ่มทำเหมืองถ่านหิน พวกชาวบ้านก็เริ่มประท้วงต่อต้าน เพราะไปทำเหมืองถ่านหินตรงที่เป็นแหล่งน้ำ สำหรับนาของพวกเรา” ผู้ใหญ่บ้านเนามัน หมู่บ้านเคอทาบัวนา กล่าว

ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ชาวบ้านในหมู่บ้านเคอทาบัวนาต่างร้องทุกข์เกี่ยวกับน้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่พืชผล เนื่องจากบริเวณแห่งนี้เป็นพื้นที่เหมือง

ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกที่สุด น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีจะไหลบ่าจากทะเลสาบเทียม (หลุมเหมืองที่มีน้ำขัง) ที่บริษัทเหมืองถ่านหินปล่อยทิ้งร้างไว้เข้าท่วมทุ่งนา เส้นทางระบายน้ำ ที่บริษัทพีทีคิทาดิน (PT Kitadin) สร้างไว้ ตัดเข้าสู่กลางหมู่บ้าน ดังนั้น เมื่อน้ำเอ่อล้นจากเส้นทางระบายน้ำ จึงไหลเข้าท่วมบ้านของชาวบ้าน บริษัทพีทีคิทาดิน (PT Kitadin) สร้างคลองและช่องทางระบายน้ำ ผ่านหมู่บ้านเคอทาบัวนา และทุ่งนา เมื่อฝนตกหนัก ของเสียจากการทำเหมืองถ่านหิน อาทิ น้ำมันเสีย และเชื้อเพลิงยานพาหนะต่าง ๆ จะไหลเอ่อเข้าสู่ทุ่งนา ปนเปื้อนสู่พืชผล หากฤดูฝนนอกจากภัยอันตรายจากน้ำท่วมแล้วนั้น ในฤดูแล้งชาวนาก็ยังไม่สามารถ เพาะปลูกข้าวได้เนื่องจากระบบชลประทานแห้งขอด น้ำที่จะควรจะนำมาหล่อเลี้ยงระบบ ชลประทานกลับถูกกักเก็บไว้ในเหมืองถ่านหินที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ ส่วนผืนนาของ ชาวนาก็ถูกปล่อยให้แห้งแล้งท่ามกลางแสงอาทิตย์

ก่อนที่จะมีการทำเหมืองถ่านหิน ชาวนาสามารถดำ นาได้ 2 ครั้งต่อปี และเก็บเกี่ยวข้าวได้ปริมาณมากถึง 10 ตัน ปัจจุบันพวกเขาสามารถดำนาได้เพียงปีละหน และเก็บเกี่ยวได้ปริมาณลดลงเหลือ 4 ตัน เมื่อระบบชลประทานดั้งเดิมถูกทำลายลงโดยหลุมเหมืองถ่านหิน ชาวนาบางคนเริ่มหันไปใช้น้ำที่ถูกกักไว้ในทะเลสาบเทียมเพื่อทำการเพาะปลูก ทว่า น้ำจากทะเลสาบเทียมนี้ไม่เหมาะสมสำหรับใช้เพาะปลูก ชาวนาจึงจำเป็นต้องใส่ปูนขาวลงในที่นาเพื่อปรับสมดุลของดิน พวกเขาจะต้องใช้ปูนขาวในปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากคุณภาพของดินเสื่อมโทรมลง ไม่ว่าจะเป็นฤดูฝนหรือฤดูแล้ง ชาวนาก็ต้องทนทุกข์จากผลกระทบที่เกิดจากการทำเหมืองถ่านหินที่ดึงน้ำไปกักเก็บไว้ในฤดูแล้ง และก่อให้เกิดน้ำท่วมในฤดูฝน ปัจจุบันชาวบ้านหลายคนต้องซื้อหาน้ำสะอาดมาใช้ดื่มกิน 

เหมืองถ่านหินสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทรัพยากรน้ำ ซึ่งหากบริษัทบ้านปูหันมาลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้

3. เหมืองถ่านหินสร้างผลกระทบต่อภูมิทัศน์ของผืนดิน

อีกหนึ่งผลกระทบหนึ่งจากการทำเหมืองถ่านหินของบริษัทบ้านปู คือ การปล่อยทิ้งหลุมเหมืองบนแผ่นดินที่ถูกทิ้งร้าง เขตโจล่ง (Jorong) และทานาลอท (Tana Laut) ในจังหวัดกาลิมันตันใต้ มีภูมิประเทศปกคลุมไปด้วยหลุมเหมืองถ่านหินที่ถูกทิ้งร้างไว้นับร้อย ๆ แห่ง โดยบริษัทพีทีโจล่ง บารูทามา เกรสตัน (PT Jorong Barutama Greston) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูฯ ปล่อยทิ้งร้างหลุมเหมืองเหล่านี้ไว้หลังจากเสร็จสิ้น การทำเหมืองถ่านหิน ดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ของกาลิมันตันแห่งนี้ ปัจจุบันดูกันดารราวกับพื้นผิวของดวงจันทร์ หลุมเหมืองแห่งหนึ่งมีขนาดใหญ่มหึมา มีความกว้างถึง 2 กิโลเมตร จากการ สำรวจโดยกรีนพีซ ในปี 2557 เผยให้เห็นว่า น้ำในทะเลสาบแห่งนี้มีคุณสมบัติเป็นกรดสูงที่ pH 3.74 และมีส่วนประกอบของแร่แมงกานีสสูง กว่าค่ามาตรฐานมาก เรียกได้ว่าเป็นการทำลายภูมิประเทศและสร้างมลพิษอันตรายให้กับแหล่งน้ำในบริเวณนั้น

บ้านปูสามารถเป็นผู้นำเพื่อการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยภายในปี 2568 จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้เพียงร้อยละ 20 บริษัทบ้านปูและบริษัทในเครือเข้าลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มองโกเลียและออสเตรเลีย รวมถึงการลงทุนพลังงานหมุนเวียนในจีนและญี่ปุ่น ดังนั้นบ้านปูจึงมีศักยภาพสูงในการหันมาลงทุนพลังงานที่ยั่งยืนและไม่สร้างผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หากมุ่งมั่นดำเนินการอย่างแท้จริง

ผลักดันบ้านปูยุติยุคถ่านหิน ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ร่วมลงชื่อคลิกที่นี่

อ่านรายงาน ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการลงทุนถ่านหินของบริษัทไทยในอินโดนีเซีย ที่นี่


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 21 มิถุนายน 2559   
Last Update : 22 มิถุนายน 2559 17:43:29 น.   
Counter : 1156 Pageviews.  


ความหวังในความแล้ง: ชุมชนต้นน้ำน่าน อีกหนึ่งคำตอบสำหรับปัญหาเขาหัวโล้น



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ปัญหาเขาหัวโล้นของน่านไม่ใช่ปัญหาของคนในพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นปัญหาของประเทศ

ภาพภูเขาของน่านที่กลายเป็นผืนดินสีน้ำตาลอันว่างเปล่าสุดลูกหูลูกตาเป็นภาพที่ทำให้เราทุกคนสะเทือนใจ ไม่เพียงแค่ป่าจำนวนมหาศาลที่หายไปเท่านั้น แต่นี่คือภาพสะท้อนของความล้มเหลวในการจัดการดูแลป่าไม้จากการทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว ที่มุ่งเน้นผลผลิตจำนวนมากเพื่อป้อนอุตสาหกรรม โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร ผลกระทบที่ตามมานั้น คือ ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ที่พังทลายไป เร่งให้เกิดผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน ซึ่งกำลังคุกคามประเทศไทยและทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี … แล้วอะไรคือทางออกของปัญหานี้?

ภูเขาหัวโล้นของน่าน ภาพสะท้อนของความล้มเหลวในการจัดการดูแลป่าไม้และการทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยว ที่มุ่งเน้นผลผลิตจำนวนมากเพื่อป้อนกับอุตสาหกรรม

แม่น้ำน่าน คือ ต้นน้ำสายสำคัญที่เป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่การคุกคามป่าไม้จากอการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อป้อนอุตสาหกรรมทำให้พื้นที่ป่าหายไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัญหาภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเมื่อฤดูฝนมาถึงพื้นที่ต้นน้ำก็จะไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ปัญหาป่าไม้ของน่านจึงเป็นปัญหาของประเทศไทย ไม่ใช่เพียงปัญหาของจังหวัด

แต่ไม่ใช่ทุกระบบการเกษตรส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์ ยังมีการเกษตรอีกแนวทางหนึ่งที่ตั้งอยู่บนการสร้างสมดุลย์ระหว่างการสร้างผลผลิตและการรักษาระบบนิเวศ แนวทางนี้มีตัวอย่างจริงอยู่ที่ชุมชนต้นน้ำน่าน  ชุมชนต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล บนพื้นที่ 60 ไร่ ที่หมู่ 6 บ้านคั๊ว ตำบลศรีภูมิ อำเภอวังท่าผา จังหวัดน่าน เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร การจัดการน้ำ และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นทางออกของวิกฤตภัยแล้งและปัญหาเขาหัวโล้นที่เกษตรกรทุกคนสามารถร่วมกันทำได้


ชุมชนต้นน้ำน่าน “ภัยแล้ง เราไม่เคยแล้ง”

ท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุของฤดูร้อนและภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงกว่าทุกปี ชุมชนต้นน้ำน่านแห่งนี้ยังคงความชุ่มชื้น เขียวชะอุ่ม เต็มไปด้วยพืชผักผลไม้นานาชนิด คุณกุล ปัญญาวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชุมชนต้นน้ำน่าน เล่าถึงความเป็นมาของการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่นี่ว่าต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน และการเปลี่ยนแปลงที่ทำได้จริง ดังที่ชุมชนต้นน้ำน่านทำสำเร็จมาแล้ว

สถานที่ในอดีตเป็นสวนยางพารา อายุ 4 ปี ปลูกบนพื้นที่ที่ปรับจากสวนผลไม้ แต่เดิมดินมีความเป็นด่างเยอะมาก เนื่องจากมีสารเคมีตกค้างทั้งในดินและในแหล่งน้ำ พืชน้ำไม่มีความหลากหลาย ผืนดินเต็มไปด้วยวัชพืชเพียงชนิดเดียว ไม่มีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ คุณกุลจึงเริ่มด้วยการปลูกต้นไม้ในต้นฤดูฝน ฟื้นฟูป่า ปล่อยให้ต้นไม้ที่มีรากมีเมล็ดอยู่ในดินเติบโต ซึ่งมีประมาณ 25 ชนิด บางชนิดเป็นสมุนไพร จากนั้นจึงหาไม้มาปลูกเพิ่ม ตามแนวคิดป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกป่า 5 ระดับ เพื่อกิน เพื่อใช้ สร้างที่อยู่อาศัย และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ต่อมาจึงปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเก็บน้ำ ด้วยการขุดหนอง คลอง และปรับนาให้เป็นคันนากว้างและลึก มีคลองไส้ไก่ขนาดเล็กเพื่อกระจายความชุ่มชื้นในดิน บริเวณหัวคันนาจะปลูกพืชผักสำหรับกินใช้ ในนาจะมีปลาและกุ้งฝอย มีการปลูกถั่วเพื่อเก็บกิน และไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ผลที่ได้คือมีสิ่งมีชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งนก กระรอก แมลงในเวลาไม่ถึง 3 ปี รวมถึงคืนความอุดมสมบูรณ์ของป่าเพื่อกักเก็บและจัดการน้ำได้ สามารถทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศได้อย่างสมบูรณ์

ช่วงแล้งที่ผ่านมาที่ชุมชนต้นน้ำน่านไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเลย โดยคุณกุลกล่าวว่า น้ำในหนองทั้ง 5 หนองยังคงมีอยู่ แห้งไปเพียงครึ่งเดียว พืชผักก็ยังมีน้ำหล่อเลี้ยง “สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่ คือสิ่งที่บรรพบุรุษเราทำไว้หมดแล้ว แต่เราหลงลืมหันไปทำเกษตรรูปแบบใหม่ ถ้าเราหันมาทำวิธีเดิม นั่นคือทางรอดเพื่อสุขภาพของตนเองและสิ่งแวดล้อม หวังว่าชุมชนต้นน้ำน่านจะเป็นตัวอย่างให้คนเห็น และเกิดแรงบันดาลใจสู่การเปลี่ยนแปลงต่อไป” คุณกุล ปัญญาวงศ์ กล่าว


กักเก็บน้ำอย่างยั่งยืนด้วยป่าและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนดังที่ชุมชนต้นน้ำน่านทำจนประสบความสำเร็จนั้น ทำได้ด้วยการออกแบบให้มีพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยคำนวนปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาให้เหมาะสม พร้อมการคำนวนการสูญเสียน้ำจากการระเหย เพียงพอสำหรับทั้งการเกษตรและอุปโภคบริโภค โดยโมเดลที่ชุมชนต้นน้ำทำนั้น นอกจากกักเก็บไว้ในหนองน้ำแล้ว ยังมีการกักเก็บน้ำด้วยการปลูกต้นไม้ ทำนาด้วยการยกหัวคันนาสูงเพื่อเก็บไว้ในรูปแบบของนาข้าว ทำคลองไส้ไก่กระจายน้ำไปตามพื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปลูกป่า เนื่องจากคุณสมบัติและความหลากหลายของพืชจะช่วยอุ้มน้ำได้มากกว่า หัวใจของการทำเกษตรของชุมชนต้นน้ำน่าน คือ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ  ที่เน้นถึงความสำคัญของวิถีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าหญ้า เนื่องจากยาฆ่าหญ้าจะฆ่าสิ่งมีชีวิตในดินด้วย

“การให้อาหารดินคือการให้อาหารคน การทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อเน้นเพียงผลผลิตจำนวนมากของบริษัทและอุตสาหกรรมควรหันมาเคารพธรรมชาติและวิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศอันเป็นวิถีดั้งเดิม ไม่ต้องเปลี่ยนทุกอย่างผลเพื่อตอบแทนทางเศรษฐกิจ จะเป็นการทำลายแผ่นดิน ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องการทำเกษตรกรรมมาก มีทุกอย่างแล้วที่บรรพบุรุษสร้างไว้ แต่เรากลับมาที่ลบศูนย์เมื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำลายความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อป้อนต่ออุตสาหกรรม แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สายที่จะกลับมาดูแล” คุณกุลกล่าวเสริม

ทุ่งข้าวโพดใกล้กับชุมชนต้นน้ำน่าน หนึ่งในการทำเกษตรกรรมพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาภัยแล้ง การลุกล้ำทำลายป่า และหมอกควันพิษจากการเผาในที่โล่งและการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ความร่วมมือของเกษตรกรและอาสาสมัคร

ชุมชนต้นน้ำน่าน คือ ศูนย์การเรียนรู้ที่เปิดให้อาสาสมัครทั้งคนไทยและคนต่างชาติ จากทุกพื้นที่ทั่วโลกมาร่วมกันศึกษาวิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศ และการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในอาสาสมัครของชุมชนต้นน้ำน่าน คือ คุณชัยวัฒน์ ดำรงค์กุล ได้ร่วมเป็นอาสาสมัครมาเป็นเวลา 5 เดือน ผันตัวเองจากการทำธุรกิจส่วนตัวหลายกิจกรรม ใช้เวลา 10 วัน ตัดสินใจลาออกเพื่อศึกษาวิถีชีวิตเกษตรของชุมชนต้นน้ำแห่งนี้ นอกจากความรู้ด้านการพึ่งพาตนเองแล้ว ยังได้ข้อคิดดี ๆ ถึงเกษตรกรรมเชิงนิเวศและความสำคัญของป่าต้นน้ำ

“ในประเด็นเรื่องเขาหัวโล้นต้องถามย้อนกลับไปว่า ทำไมคนถึงทำลายป่า การมีป่าทุกคนรู้หมดว่าดียังไง แต่คนเห็นอะไรสำคัญมากกว่าป่า เงินหรือคุณค่าของสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การเป็นอาสาสมัครทำให้เราเห็นคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ มากกว่าเงิน” คุณชัยวัฒน์ ดำรงค์กุล กล่าว 

Victor Bonfiglioli Pinedo อาสาสมัครจากประเทศบราซิล กล่าวเสริมว่า “ผมสนับสนุนการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ช่วยดูแลดิน ระบบการจัดการน้ำ ทำให้ไม่ประสบปัญหายามแล้ง ชุมชนต้นน้ำน่านทำให้ผมได้เรียนรู้การพึ่งพาตนเอง ปลูกพืชพรรณอาหารเพื่อเลี้ยงตนเองได้” 

ชุมชนต้นน้ำน่าน ชุมชนต้นแบบโคก หนอง นา โมเดล บนพื้นที่ 60 ไร่ ที่หมู่ 6 บ้านคั๊ว ตำบลศรีภูมิ อำเภอวังท่าผา จังหวัดน่าน เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร การจัดการน้ำ และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ

“ทุกวันนี้มีสัญญาณเตือนภัยหลายอย่างด้านภัยพิบัติ เรามีสัญญาณเตือนอยู่ว่าเราไม่มีน้ำ ไม่มีป่า เรากำลังจะเจอหายนะ แต่เราไม่ตื่น อยากให้ตื่นขึ้นมาเจอกับความจริงได้แล้วว่าจะเจอกับอะไร ถ้าไม่นึกถึงตนเองก็นึกถึงลูกหลาน ทางรอดได้คือการทำให้ตัวเองรอด และให้เพื่อนรอด คือช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ และให้คนอื่นพึ่งพาได้ด้วย เราจะได้ดูแลสิ่งแวดล้อมและโลก มีที่อยู่ให้ลูกหลานเราต่อไป” คุณกุล ปัญญาวงศ์ กล่าว

ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้โลกต้องเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรง ทางออกของเขาหัวโล้นและการแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนคือการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่รักษาผืนดินและผืนน้ำ ซึ่งเกษตรกรทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนใช้ได้จริง ดังที่ชุมชนต้นน้ำทำจนสำเร็จจริง 

อ่านเพิ่มเติม: ความหวังในความแล้ง: แม่ปิงแล้งสุดใน 40 ปี กับทางรอดของเกษตรกร


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 20 มิถุนายน 2559   
Last Update : 20 มิถุนายน 2559 16:54:40 น.   
Counter : 1361 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com