กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

“สมัชชาแม่น้ำ” ปกป้องสายน้ำของเราก่อนเจ้าพระยาจะเป็นอื่น



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

สายน้ำย่อมไม่ไหลย้อนกลับ เช่นเดียวกันกับโครงการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อแม่น้ำอันเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงประเทศไทย หากเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่มีทางหวนคืน การรวมตัวกันของ “สมัชชาแม่น้ำ” จึงเกิดขึ้นเพื่อร่วมกันลงมือปกป้องแม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการพัฒนาของรัฐที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนต่อแม่น้ำเจ้าพระยา

รู้หรือยังว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยา?

เมื่อวานนี้ (7 กรกฎาคม 2559) วิศวกร สถาปนิก นักประวัติศาสตร์ นักนิเวศวิทยา ช่างภาพ ศิลปิน นักธุรกิจ และองค์กรภาคประชาสังคม มาร่วมกันต่อสู้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อปกป้องเจ้าพระยา ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พวกเขาเหล่านี้มารวมตัวกันหลังทราบถึงนโยบายการจัดทำโครงการพัฒนาทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาของภาครัฐ  โครงการนี้เราอาจได้ยินว่าเป็นโครงการสร้างทางปั่นจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ข้อมูลเชิงรายละเอียดที่แท้จริงแล้ว คือ การทำถนนเลียบสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในระยะแรกมีระยะทาง 14 กิโลเมตร ตั้งแต่จากสะพานพระรามเจ็ด ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า มีความกว้าง 5-7 เมตร ปลูกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ มีเสาตอหม้อปักลงในลำน้ำกว่า 400 ต้น และใช้งบประมาณมากถึง 14,000 ล้านบาท ซึ่งหากโครงการเสร็จสิ้นตามแผนจะมีระยะทางรวม 57 กิโลเมตร และใช้งบประมาณรวมทั้งหมด 30,000 ล้านบาท นี่ไม่ใช่ทางจักรยานอย่างแน่นอน แต่ภาพรวมที่ปรากฎออกมานั้นคือถนนที่มีความกว้างไม่ต่างจากถนนสำหรับรถยนต์ ซึ่งสร้างความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ทัศนียภาพ วิถีชีวิตของชุมชน และอัตลักษณ์ของประเทศไทย

โครงการนี้เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนก่อนถึงกำหนดส่งแบบก่อสร้างในเดือนกันยายนนี้ และจะเริ่มตอกเสาเข็มในเดือนมกราคม ปีหน้า

ไม่ใช่แค่เพียงผลกระทบทางกายภาพเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ มีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนริมน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ริมน้ำถึง 33 ชุมชน และ 9 ชุมชนที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ โดยที่ชุมชนไม่มีสิทธิในการเลือกตัดสินใจในกระบวนการดำเนินโยบายของรัฐอย่างแท้จริง แล้วโครงการเช่นนี้เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร และเพื่อใคร?

นี่คือที่มาของการรวมตัวกันของเครือข่ายของสมัชชาแม่น้ำ (RA : The River Assembly) ซึ่งประกอบด้วย 40 องค์กร (และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้น)14 ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา บุคคลทั่วไปอีกร่วม 200 รายชื่อ  และอีกกว่า 20,000 พลังเสียงที่ร่วมลงชื่อรณรงค์ใน change.org ด้วยเจตนาบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์สาธารณะของลุ่มน้ำ เรียกร้องให้ยุติโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมนี้

ช่วงบ่ายวันนี้ 7 กค. 59 เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำจัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “สมัชชาแม่น้ำ” RA : The River Assemblyณ ชั้น 6 ห้องป...

Posted by Greenpeace Thailand on Thursday, July 7, 2016

“สมัชชาแม่น้ำ เป็นเสมือนหยดน้ำแต่ละหยดที่มารวมกันเป็นแม่น้ำ เป็นมหาสมุทร มารวมตัวหล่อหลอมกลไกต่าง ๆ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาและสร้างอนาคตร่วมกัน การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจ้าพระยา หรือแม่น้ำแห่งอื่น เป็นเรื่องที่ต้องทำงานร่วมกัน หยดน้ำทุกหยดมีพลังที่จะร่วมกันคิดเพื่อเจ้าพระยาต่อไป” คุณภารณี สวัสดิรักษ์ ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าว

“แม่น้ำเป็นของทุกคน ไม่ใช่แค่คนริมน้ำ ภาครัฐ หรือกลุ่มธุรกิจ ถ้าเราร่วมมือกันเราจะหาทางออกได้ สิ่งที่ทำต่อเจ้าพระยาส่งผลต่อแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และสายน้ำอื่นๆ เรามีทางเลือกอื่นไหม นี่คือคำถามจากภาคประชาชนที่ไม่มีคำตอบจากภาครัฐบาล” คุณยศพล บุญสม ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าวเสริม

ความเร่งด่วนในการปกป้องเจ้าพระยา

เดือนกันยายนนี้แล้ว จะถึงกำหนดส่งแบบก่อสร้างของถนนระยะแรกของโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ด้วยงบประมาณ 14,000 ล้านบาท กับการสร้างถนนระยะ 14 กิโลเมตร … คุณทราบหรือยัง?

Timeline_project

สายน้ำอันเปี่ยมไปด้วยประวัติศาตร์อันยาวนานนี้กำลังจะแปรเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ โครงการเจ้าพระยาจึงเป็นภารกิจเร่งด่วนที่เราต้องร่วมกันยุติ ในนามของสมัชชาแม่น้ำ ที่ผ่านมาทางสมัชชาแม่น้ำได้ยื่นเรื่องเรียกร้องต่อกรรมการสิทธิ ตั้งแต่เดือนมีนาคม เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิชุมชน มีหลายชุมชนที่จะต้องถูกไล่รื้อถอน รวมถึงมีอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้เดินทางสัญจรทางเรือ

ผู้มาเข้าร่วมในงานเสวนาได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อสร้างอนาคตของเจ้าพระยาร่วมกัน โดยหนึ่งในผลกระทบสำคัญ คือ มิติทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมริมน้ำของประเทศไทยที่จะต้องสูญเสียไป ดังที่ คุณสุดารา สุจฉายา มูลนิธิ เล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ กล่าวว่า “คนภาคกลางเป็นคนที่อยู่กับน้ำอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ เป็นสังคมลุ่มน้ำที่มีหลากกลุ่มหลากชาติพันธุ์ 14 กิโลเมตรที่จะทำโครงการเต็มไปด้วยวังและศาสนสถานมากมาย เช่น วังหน้า วังหลัง พระราชวังเดิม วังบางขุนพรหม และวังเทเวศร์ อยู่รายรอบ นี่คือประวัติศาสตร์ริมสองฝั่งแม่น้ำ เมื่อเราทำลายแม่น้ำ คือการทำลายประวัติศาสตร์และรากฐานของชีวิตเรา”

นอกจากชุมชนแล้ว ผู้ประกอบการริมน้ำก็ได้แสดงความกังวลเช่นกัน “เรามีความผูกพันกับแม่น้ำ ทุกอย่างเริ่มต้นจากน้ำแล้วมาเป็นถนน แล้ววันหนึ่งเรามาบอกว่าเราจะสร้างถนนแทนแม่น้ำ ในมุมมองของคนทำธุรกิจริมแม่น้ำที่ผมกลัวคือถ้ามี 14 กิโลเมตรเกิดขึ้น ในอนาคตเชื่อว่าจะมี 140 กิโลเมตรเกิดขึ้น และไม่ใช่ทางเดินจักรยานแน่ ต่อให้ออกแบบอย่างไรความยาวขนาดนี้ก็ต้องเป็นถนน โดยผู้ได้รับผลประโยชน์คือโครงการอสังหาริมทรัพย์” คุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ประกอบการบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด กล่าว

แม่น้ำทุกสายล้วนเชื่อมต่อกัน ไหลลงสู่มหาสมุทร และแน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเจ้าพระยาจะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เพียงในกรุงเทพฯ คุณประเชิญ คนเทศ  เครือข่ายลุ่มน้ำท่าจีน ได้กล่าวถึงความกังวลต่อผลกระทบนี้ว่า “เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นส่งผลต่อคนนครปฐม ซึ่งจะเป็นจังหวัดที่รับเคราะห์ผลพวงจากการจัดการน้ำที่บกพร่อง โครงสร้างที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จะเป็นชะตากรรมที่เราไม่อยากให้เกิด เราเป็นผู้รับชะตากรรมจากการที่ไม่เคยถามและบอกว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร  เราต้องการกำหนดอนาคตแม่น้ำของเรา เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนาแต่การพัฒนาจะต้องสมดุล เจ้าพระยาเป็นพี่ ท่าจีนเป็นน้อง เพราะระบบแม่น้ำสัมพันธ์กันทั้งหมด”

“เรื่องนี้เป็นแค่ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ผู้ปกครอง และอำนาจ คนที่ปกครองประเทศควรให้เกียรติและรับฟังคนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นส่วนรวม และมีผลกระทบต่อวัฒนธรรม ชุมชน สิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นโครงการที่ไม่เร่งรีบ แต่ทำไมต้องรีบ ทำไมต้องลึกลับ นี่เป็นคำถามที่ผมตอบไม่ได้ ทุกคนควรได้เข้าถึงแม่น้ำ การทำทางหรืออะไรก็ตามไม่ควรจะเร่งรีบ ผมไม่ต่อต้านการสร้าง แต่การสร้างที่มีแต่ข้อเสียเต็มไปหมดนี้ ถ้าไม่สร้างจะเป็นอะไรไป?” ฮิวโก้ -จุลจักร จักรพงษ์ ดารานักแสดงกล่าว

ในวันนี้ (ศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้จัดการประชุมสัมมนาความก้าวหน้าของโครงการ (ครั้งที่ 2)  ณ ลานใต้สะพานพระราม 8 โดยที่การประชุมยังคงไม่ได้ชี้แจงชัดเจนแก่ประชาชนว่าโครงการทั้งหมดจะมีลักษณะออกมาอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ประชาชนต้องการจะเห็นคือแบบทั้งหมดของโครงการ มากกว่าคำสัญญาอันสวยหรู อนาคตแม่น้ำเป็นสิ่งที่ทุกคนร่วมกันสร้างสรรค์ ไม่ใช่การถูกกำหนดโดยนโยบายของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสวนทางกับวิถีชีวิตของชุมชน ชุมชนควรได้รับข้อมูล เข้าใจในผลกระทบ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสร้างสรรค์พัฒนาพื้นที่สาธารณะริมน้ำ เพราะชุมชนคือผู้ที่จะใช้แม่น้ำ ดูแล และรักษาแม่น้ำไว้อย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม: ภารกิจ เป้าหมาย และรายชื่อองค์กรภาคีเครือข่าย “สมัชชาแม่น้ำ”


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2559   
Last Update : 21 กรกฎาคม 2559 12:00:07 น.   
Counter : 953 Pageviews.  


ทางเลียบบนเจ้าพระยา 14,000ล้าน ที่ต้องแลกด้วยรากเหง้าประวัติศาสตร์ไทย



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“14,000 ล้านบาท อาจจะเป็นเงินภาษีของเราที่ถูกนำไปใช้ทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาโดยที่เรายุติไม่ได้” คุณยศพล บุญสม ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ กล่าว

“ทางเลียบบนเจ้าพระยา พัฒนาหรือทำลาย?” นี่คือคำถามที่ประชาชนกำลังรอคำตอบที่ชัดเจนจากภาครัฐ ก่อนที่โครงการทางเลียบบนแม่น้ำเจ้าพระยาจะเริ่มก่อสร้างภายในเดือนมกราคม 2560 นี้ ที่น่ากังวลที่สุด คือ เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าโครงการนี้ทำไปเพื่ออะไร จะส่งผลกระทบเช่นไรบ้าง แม้แต่ชุมชนริมแม่น้ำกว่า 30 ชุมชนเองก็ยังไม่รู้รายละเอียดดีพอ ในเวลาที่เหลือเพียงไม่กี่เดือนกับการเดินหน้าก่อสร้างโครงการนี้ 

#RiverNotRoad #หยุดทางเลียบบนเจ้าพระยา

ช่วงสายของวันที่ 16 กรกฎาคม 2559 สองฝั่งริมน้ำเจ้าพระยาคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวและผู้คนต่าง ๆ มาเที่ยวและสัญจร  เมื่อคิดถึงเจ้าพระยาสิ่งที่เรานึกถึงคงไม่ใช่ถนนคอนกรีตขนาดกว้าง 5-7 เมตร บนตอหม้อขนาบสองฝั่งแม่น้ำ แต่เป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำอย่างเรือ และชุมชนเก่าริมน้ำที่สืบทอดอัตลักษณ์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ท่ามกลางเรือที่สัญจรขวักไขว่ กลุ่มสมัชชาแม่น้ำและตัวแทนของกลุ่มคนรักแม่น้ำเจ้าพระยากว่า 200 คน ได้มารวมตัวกันบนเรือเพื่อพูดคุยกันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนริมน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของกรุงเทพฯ ที่เราไม่อยากสูญเสียไป และเปล่งเสียงบอกภาครัฐให้ “หยุดทางเลียบบนเจ้าพระยา” ที่คาดการณ์ว่าจะเป็นโครงการที่ทำลาย มากกว่าพัฒนาสองฝั่งน้ำ

"ทุกคนใช้แม่น้ำไม่ว่าแง่ใดก็แง่หนึ่ง การชมแม่น้ำ คือการยืนชมริมแม่น้ำไม่ใช่มีการปิดกันด้วยเขื่อน กำแพง หรือถนน มันฆ่าหมดในแง่ความรู้สึก ท้องน้ำและวิถีชีวิตไทยเดิมจะถูกทำลาย การที่บอกว่าชุมชนยึดครองแม่น้ำนั้นไม่ถูก เพราะเขาเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำมายาวนาน เป็นบรรยากาศสาธารณะ แม่น้ำถูกใช้อยู่แล้วโดยกลุ่มธุรกิจ ชุมชน และประชาชนทั่วไป แต่การจะให้มหาชนมาใช้ต้องมีการให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนเลือกตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นการตัดสินของภาครัฐ อย่าทำเลย โอกาสปรับปรุงเจ้าพระยายังมีอีกเยอะแยะ" อ.ขวัญสรวง อติโพธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมือง สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม กล่าว 

ไม่ใช่เพียงการทำลายชุมชน แต่คือการทำลายรากเหง้าประวัติศาสตร์ไทย

โครงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยามีระยะทางรวมทั้งสิ้น 57 กิโลเมตร โดยในระยะแรกจะเริ่มต้นด้วยระยะทางนำร่อง 14 กิโลเมตร จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และมีกรอบระยะการทำงานให้แล้วเสร็จพร้อมส่งแบบก่อสร้างภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งในระยะ 14 กิโลเมตรมีชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจำนวน 33 ชุมชน โดยมี 9 ชุมชนที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ โดยจากข้อมูลเพียงเล็กน้อยที่โครงการระบุไว้นั้น ภาพของเจ้าพระยาจะแปรเปลี่ยนไปอย่างถาวร

1. เปลี่ยนเมืองเวนิสตะวันออก เป็นเมืองถนนลอยน้ำ

ทางเลียบบนแม่น้ำเจ้าพระยามีความกว้าง 5-7 เมตร ปลูกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ มีเสาตอหม้อปักลงในลำน้ำกว่า 400 ต้น ชุมชนเล็งเห็นว่ามีการแฝงเจตนารมณ์เพื่อเป็นถนนรองรับการสัญจรด้วยรถยนต์มากกว่าเป็นทางเดินหรือทางจักรยาน อีกทั้งการลงตอหม้อขนาดใหญ่จำนวนมากนั้นจะยิ่งทำให้แม่น้ำแคบลง และแผ่นดินริมฝั่งแม่น้ำอาจทรุดลง เร่งให้ผลกระทบจากอุทกภัยทวีคูณ

2. เปลี่ยนชุมชนริมน้ำ เป็นชุมชนริมกำแพง

หากมองสองฝั่งเจ้าพระยาจะพบว่าปัจจุบันมีกำแพงเขื่อนสูง 2.85 เมตร อันมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่บดบังทิวทัศน์ระหว่างชุมชนและการเข้าถึงสายน้ำเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาน้ำขังให้กับชุมชน ในอนาคตหากต้องตอบโจทย์โครงการนี้จะต้องสร้างกำแพงสูงขึ้นอีก 45 เซนติเมตร บดบังเอกลักษณ์ของเมือง วัด และพระราชวังเก่าไปจนสิ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางอุทกภัยต่อชุมชนในจังหวัดอื่นที่อยู่รอบเจ้าพระยาตอนบนทั้งหมด แม่น้ำเจ้าพระยาจะคับแคบลง ปิดกั้นระหว่างผืนดินกับผืนน้ำ ไม่ต่างอะไรกับคลอง หรือท่อระบายน้ำเส้นหนึ่ง

3. อัตลักษณ์ของชุมชนริมน้ำจะกลายเป็นสิ่งใด หากถูกตัดขาดจากแม่น้ำ

ถนนลอยน้ำขนาดใหญ่ และกำแพงสูง สองสิ่งนี้ก็เพียงพอที่จะปิดกั้นการเข้าถึงแม่น้ำของชุมชน หรือแม้แต่การสัญจรทางน้ำของประชาชน ยังไม่มีใครสามารถจินตนาการการใช้เจ้าพระยาผ่านกำแพงและตอหม้อได้ เรือเล็กจะสัญจรได้ดังเดิมหรือไม่ โป๊ะเรือสำหรับขึ้นลงเรือประจำทางจะอยู่ตรงไหน แล้วประวัติศาสตร์อันยาวนานของชุมชนที่ผูกพันมากับสายน้ำตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้นจะต้องยุติลง กลายเป็นอื่นไป วัฒนธรรม วิถีชีวิตอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์จะสามารถหาจากที่ใดมาทดแทนได้

“เมื่อทราบข่าว 33 ชุมชนของเรากินไม่ได้นอนไม่หลับมาสามเดือน เราไม่รู้ไม่ได้ข้อมูลว่าโครงการนี้คืออะไร วันหนึ่งบอกเป็นทางคนเดินเป็นทางจักรยาน วันหนึ่งเป็นทางเลียบขนาดใหญ่ แล้วทำไปเพื่ออะไร ถามชุมชนก่อนไหม ช่วงปิ่นเกล้าถึงพระรามเจ็ดเป็นช่วงที่นักลงทุนจับจ้อง หากเร่งด่วนจำเป็นจริงทำไมไม่ทำช่วงที่เป็นบริเวณของโรงแรมก่อน แต่เริ่มที่บริเวณชุมชน ต่อไปสองฝั่งจะกลายเป็นสัมปทานของนายทุนใหญ่แน่นอน” คุณสรเทพ โรจน์พจนารัช – ตัวแทนเครือข่ายต่อต้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 33 ชุมชน กล่าว 

“สถาพของชุมชนเจ้าพระยาจะเหลืออะไรถ้ามีถนนคอนกรีตขนาดยักษ์ ต้นทุนของเจ้าพระยาและกรุงเทพฯ คือความหลากหลายของชุมชน นี่คือสิ่งที่ประเทศที่มีแม่น้ำในเมืองหลวงพยายามอนุรักษ์และรักษา ในอนาคตข้างหน้าถ้าสูญเสียไปแล้ว กี่หมื่นกี่แสนล้านก็เอาคืนไม่ได้ ถ้าเราทุกคนร่วมกันแสดงออกเราจะมีพลังมากพอที่จะทำให้ภาครัฐรับฟัง ประชาชนมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงได้ เราต้องส่งเสียงให้รัฐบาลได้ทราบ มติประชาชนยิ่งใหญ่กว่ามติครม.” อ.ปริญญา เทวาณฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ขณะนี้ 33 ชุมชนริมน้ำกำลังรวมตัวกันติดป้ายคัดค้านทางเลียบแม่น้ำที่กำแพงของบริเวณชุมชน เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่ภาครัฐกำลังทำนั้นไม่ใช่การถามความคิดเห็นหรือแจ้งผลกระทบ แต่เพียงแค่ประชาสัมพันธ์โครงการ

“หลายโครงการของภาครัฐเข้ามาทันทีโดยไม่มีการตรวจสอบตรึกตรองอะไร  หากจุดประสงค์คือการทำทางให้เหมือนกับแม่น้ำเเซนของฝรั่งเศส หรือ แม่น้ำเทมส์ของอังกฤษ แต่เส้นทางริมแม่น้ำในเมืองใหญ่เหล่านั้นเป็นพื้นที่สาธารณะของรัฐที่ไม่มีชุมชน ไม่มีการก่อสร้างโครงการใหญ่ เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกๆ ที่ภาครัฐอยากจะสร้างประวัติศาตร์ความสวยงาม แต่หารู้ไม่ว่าจะกระทบกับชุมชน วัดวาอาราม โบราณสถาน ซึ่งมีกฎหมายที่ระบุไว้ว่าต้องอนุรักษ์” อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  กล่าวถึงนโยบายภาครัฐที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชน

“การมีแม่น้ำหลายสายในประเทศคือสรวงสวรรค์ เมื่อเจ้าพระยาเปลี่ยนไปเราจะโหยหาในสิ่งที่สาบสูญไปแล้ว สังคมไทยไม่เคยถามชุมชนสักคำ เราอ้างว่าทำเพื่อประเทศ เพื่อส่วนรวม เพื่อการเดินทาง คนที่จะมาตัดสินอนาคตแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างผู้กำหนดนโยบายเคยอยู่กับแม่น้ำมาหรือเปล่า คิดว่าเราควรมีการถามพูดคุยแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้ หาความจริงว่าวิถีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเจ้าพระยาคืออะไร คุณค่าของชุมชนวิถีชีวิตแบบเก่าแท้จริงมีมูลค่า ในเมื่อการท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ ราคามันสูงมากถ้าปล่อยให้เปลี่ยนแปลงจะน่าเสียดายมาก เพียงแค่ปรับปรุงเจ้าพระยานิดหน่อยก็สามารถสร้างมูลค่า โดยที่วิถีชีวิตยังคงอยู่ แต่เรามักไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้สูญหาย ได้มาแต่เศษไม่ได้หัวใจที่ถูกทำลายไป” คุณมาโนช พุฒตาล ศิลปินนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าว

ถือเป็นการรวมพลังของกลุ่มคนอันหลากหลายที่มาร่วมกันปกป้องเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักคิดนักเขียน ศิลปิน สถาปนิก และประชาชนทั่วไป รวมถึงตัวแทนจากจังหวัดอื่นที่กังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มีตัวแทนจากคุ้งน้ำบางกระเจ้าและบางประกงมาร่วมให้คำมั่นว่าจะนำเรื่องนี้ไปเผยแพร่ให้ได้มากที่สุด หรือแม้แต่ตัวแทนจากหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่ตระหนักดีว่าหากผลกระทบเกิดขึ้นจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขฟื้นฟูนาน หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ กลุ่มคนเหล่านี้คือสมัชชาแม่น้ำที่ร่วมกันปกป้องเจ้าพระยาด้วยใจรักและหวงแหน ประกาศเจตนารมณ์ไว้ให้ภาครัฐทบทวนโครงการ พวกเขาไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา หากการพัฒนานั้นสามารถอยู่คู่กับวิถีชีวิตชุมชน ไม่เช่นนั้นแล้วเจ้าพระยาจะกลายเป็นอื่น หรือกลายเป็นเพียงสายน้ำที่ไร้ชีวิต เพราะอัตลักษณ์วัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของประวัติศาสตร์ไทย จะเอาโครงการมูลค่ากี่หมื่นล้านมาแลกก็ไม่มีทางคุ้ม 

สิ้นสุดไปเรียบร้อยแล้วกับกิจกรรมล่องเรือเสวนา "นับถอยหลังปักทางเลียบทำลายเจ้าพระยา" ที่จัดขึ้นโดย ภาคีสมัชชาแม่น้ำ สมัช...


ที่มา: Greenpeace Thailand





 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2559   
Last Update : 21 กรกฎาคม 2559 11:19:52 น.   
Counter : 993 Pageviews.  


คนปลูกป่า: สองเรื่องราวไม่ธรรมดาของคนเล็กเปลี่ยนโลก



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

คนตัวเล็ก ๆ ที่เชื่อมั่นและลงมือทำ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ และนี่คือสองเรื่องราวของคนปลูกป่าด้วยตนเองเรื่องแรกคือ เรื่องราวของชาวอินเดียคนหนึ่งซึ่งใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตในการปลูกป่าด้วยมือของเขาเพียงคนเดียว และอีกเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ไม่แพ้กัน ชายตาบอดกับเพื่อนผู้ไร้แขนร่วมกันปลูกต้นไม้กว่า 10,000 ต้น ให้เติบโตในพื้นที่แห้งแล้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พวกเขาเหล่านี้สามารถทำเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ให้สำเร็จได้ เปลี่ยนจากความแห้งแล้งเป็นป่าเขียวขจี แม้จะต้องใช้กำลังกาย กำลังใจ และเวลาที่ยาวนาน แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ 

ป่า Molai อันเป็นถิ่นฐานของนก กวาง แรก เสือ และช้างนานาชนิด (ขอบคุณภาพจาก aljazeera.com)

ปลูกป่าคนเดียว 30 ปี 1,360 เอเคอร์

กว่า 30 ปีที่แล้ว เด็กวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อว่า Jadav "Molai" Payeng ได้เริ่มนำเอาเมล็ดพืชไปปลูกบริเวณสันดอนทรายที่แห้งแล้งของปากแม่น้ำ Brahmaputra ของเกาะ Majuli ใกล้กับบ้านเกิดของตนเพื่อให้กลายเป็นถิ่นฐานสำหรับสัตว์ป่า และไม่นานจากนั้น เขาก็ตัดสินใจอุทิศทั้งชีวิตเพื่อทำให้สำเร็จ กระทั่งย้ายบ้านไปอยู่ในพื้นที่นี้ เพื่อที่จะได้ลงมือได้เต็มที่ ไม่น่าเชื่อว่าจากพื้นที่แห้งแล้งในอดีตจะกลายมาเป็นป่าพื้นที่ 1,360 เอเคอร์ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสวนสาธารณะเซนทรัล พาร์ค ของนิวยอร์กเสียอีก และนี่เกิดขึ้นจากฝีมือของ Payeng ล้วนๆ 

จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจอันมหาศาลนี้เกิดขึ้นเมื่อ Payeng อายุ 16 ปี ในปี 2522 ในช่วงนี้เกิดน้ำท่วมพัดพางูจำนวนมากขึ้นมาที่สันดอนทราย และในวันหนึ่งเมื่อน้ำแห้ง พื้นที่นั้นก็เต็มไปด้วยงูตายเกลื่อน นั่นคือจุดเปลี่ยนของชีวิตของเขา 

“งูตายเนื่องจากความร้อน และไม่มีต้นไม้ใด ๆ ปกคลุม ผมนั่งร้องไห้ตรงนั้นให้กับซากงูที่ไร้ชีวิต ผมแจ้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และขอให้ปลูกต้นไม้ที่บริเวณนี้ เขาตอบกลับมาว่าแถวนั้นปลูกอะไรไม่ได้ และยังเสนอว่าไม่เช่นนั้นลองปลูกต้นไผ่ดูสิ มันน่าเศร้ามากแต่ผมก็ทำ ไม่มีใครช่วยผม ไม่มีใครสนใจ” Payeng ในวัย 47 กล่าว


ขณะนี้ป่า “Molai” เขียวชะอุ่ม มีป่าไผ่ 300 เฮคตาร์ และมีต้นไม้หลายพันชนิด จากมือของ Payeng กลายเป็นถิ่นฐานของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ รวมถึงช้างราว 100 เชือก เสือเบงกอล และนกหลายพันธุ์ที่หายไปจากเกาะแห่งนี้กว่า 40 ปี

แต่ Payeng จะไม่หยุดแค่เพียงป่า “Molai” ตอนนี้เขาได้วางแผนจะปลูกป่าเพิ่มอีก 500 เฮคตาร์ บนพื้นที่สันดอนทรายอีกแห่ง “อาจจะใช้เวลาอีก 30 ปี แต่ผมยังคงมองโลกในแง่ดี ผมรู้สึกเศร้าทุกครั้งที่เห็นคนตัดต้นไม้ เราจะเป็นต้องปกป้องธรรมชาติ ไม่เช่นนั้นเราจะเองก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน” Payeng กล่าวพร้อมกับย้ำว่ามนุษย์ทุกคนควรร่วมกันปลูกต้นไม้ “ความพยายามของผมไม่เสียเปล่า ผมอาจจะเป็นคนที่ต่ำต้อย แต่ผมพึงพอใจที่เป็นคนหนึ่งที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับคนที่รักธรรมชาติ”

ขอบคุณภาพจาก AP

เราจะเป็นตาและแขนของกันและกันเพื่อเติมเต็มผืนป่า

ชายตาบอด และชายไร้แขน ใช้ช่วงเวลา 10  ปี ในการปลูกป่ากว่า 10,000 ต้น ที่เขตนอกเมือง ประเทศจีน นับเป็นเรื่องที่ยากมากแล้วสำหรับใครสักคนที่จะลงมือปลูกป่าด้วยตนเอง ดังเช่นเรื่องราวของ Payeng  แต่ชายสองคนนี้ไม่ธรรมดา เพราะ Jia Wenqi เป็นผู้พิการที่ไร้แขนสองข้าง และ Jia Haixia ตาบอดทั้งสองข้าง

ทุก ๆ วันเป็นเวลา 13 ปี Jia Wenqi และ Jia Haixia จะเดินทางไปยังพื้นที่ 8 เฮคตาร์ที่เขาเช่ามาจากรัฐบาล ในจังหวัด Hebei ใกล้กับปักกิ่ง ชายสองคนนี้เป็นเพื่อนตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นเสมือนพี่น้องกัน เขาต่างร่วมกันฟื้นฟูภูมิทัศน์ที่ถูกการพัฒนาเข้ามาทำลาย เป้าหมายของเขาคือ การปลูกต้นไม้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อป้องกันน้ำท่วมหมู่บ้าน และปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

Wenqi วัย 54 สูญเสียแขนทั้งสองข้างไปตั้งแต่อายุ 3 ปี ด้วยอุบัติเหตุจากการจับสายไฟฟ้า ส่วน Haixia มีตาซ้ายที่บอดมาตั้งแต่กำเนิด และได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในปี 2543 จากเศษหินกระเด็นเข้าตาขวา  ทำให้ปัจจุบันเขาตาบอดทั้งสองข้าง

ในการไปพื้นที่ปลูกป่า Wengi จะเป็นคนนำทางให้กับเพื่อนตาบอดของเขา และเมื่อถึงแม่น้ำ Haixia จะขึ้นขี่หลัง Wengi เพื่อข้ามไปยังอีกฝั่ง “เราคือคู่หูที่ดี” Haixia กล่าว (ขอบคุณภาพจาก AP)

จากที่เคยมุ่งเพียงแค่ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างรายได้ที่ดีขึ้น แต่ขณะนี้ทั้งสองหวังเพื่อกู้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น นี่เป็นงานที่ยาก ในช่วงปีแรกมีเพียงต้นไม้ 2 ต้นที่รอดชีวิตจาก 800 ต้น แต่ทั้งคู่ไม่ท้อถอย ปรับปรุงพื้นที่สร้างทางเล็ก ๆ ให้น้ำไหลผ่าน “สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจจะทำสำเร็จได้ด้วยเหงื่อ” Haixia กล่าว “แต่สำหรับเราสองคน ด้วยความบกพร่องทางร่างกายเช่นนี้ ต้องอาศัยทั้งเลือดและน้ำตา เราอยากให้คนรุ่นหลัง และทุกคนได้เห็นว่า คนพิการ สองคนสามารถทำสิ่งยิ่งใหญ่ให้สำเร็จได้ แม้ว่าเราสองคนตายไป เขาก็ยังคงเห็นภาพของชายตาบอดและชายไร้แขนที่สร้างผืนป่าไว้ให้คนรุ่นหลัง”


เมื่อครั้งที่ทั้งสองเริ่มลงมือนั้น คนอื่นในหมู่บ้านไม่มีใครเชื่อว่าเขาทำได้ เนื่องจากแม่น้ำได้เหือดแห้งเป็นเวลาหลายปี และแทบจะไม่มีต้นไม้อยู่เลย แต่เมื่อผืนป่าเติบโตเขียวชะอุ่ม คนในหมู่บ้านก็เปลี่ยนความคิดและเริ่มหันมาช่วย ขณะนี้พื้นที่เดิม 3 เฮคตาร์ได้ถูกปลูกป่าจนเต็ม อุดมสมบูรณ์ มีนกนานาชนิด และทั้งสองกำลังพยายามปลูกป่าในพื้นที่ 100 เอเคอร์เพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาอากาศ และการขาดแคลนน้ำ แต่เป้าหมายสูงสุดของสองสหายคือ การปลูกป่าที่ปกคลุมทั่วทั้งภูเขา

เรื่องราวเหล่านี้สร้างความหวังให้กับโลก ว่าพลังของคนหนึ่งคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ ผืนป่าหนึ่งผืนอาจดูเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในการที่จะปลูกขึ้นมา แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ นี่คือแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ ที่ลงมือทำเพื่อโลกที่น่าอยู่ของเรา


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2559   
Last Update : 15 กรกฎาคม 2559 10:40:02 น.   
Counter : 1144 Pageviews.  


แสงอาทิตย์ท่ามกลางฝันร้ายทรายน้ำมัน



เขียน โดย Melina Laboucan-Massimo

หลังจากที่เราต้องแสวงหาน้ำมัน ก๊าซ ตัดต้นไม้ ขุดเจาะปิโตรเลียม และใช้ประโยชน์จากทรายน้ำมัน (tar sands) ในโลกของเรามากว่าสามทศวรรษ ชุมชนลิ้ตเติ้ลบัฟฟาโลเล็กๆของฉันตัดสินใจที่จะเปลี่ยนอนาคตใหม่โดยใช้พลังงานที่มาจากดวงอาทิตย์


เมื่อมีชาติแรกที่เป็นแนวหน้าของการดึงเอาทรัพยากรพลังงานมาใช้ในปริมาณมากเป็นเวลากว่าหลายปี เราจึงต้องจ่ายราคาค่าเสพติดการใช้น้ำมันของมวลมนุษย์เป็นจำนวนมหาศาล แต่อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังที่จะพบหนทางแก้ไขวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ในอัลเบอร์ต้าและทั่วโลก

กว่า 500 ชุมชนในภาคเหนือของอัลเบอร์ต้าได้ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ 20.8 กิโลวัตต์เพื่อใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนศูนย์สุขภาพเป็นประเทศแรก โดยพลังงานส่วนเกินนั้นจะถูกส่งกลับไปยังสายส่งไฟฟ้า ชุมชนของเรามักจะอยู่กันแบบพอเพียงและดำเนินชีวิตต่อไปได้ถึงแม้จะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบาย ตอนนี้ที่ชุมชนกำลังหาทางจัดการกับน้ำที่ปนเปื้อน มลพิษทางอากาศและภูมิทัศน์ที่ถูกบุกรุก ในปี 2554 นั้น ชุมชนประสบกับปัญหาหนึ่งในเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอัลเบอร์ต้า

การปฏิเสธที่จะเป็นเหยื่อของเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้ ชุมชนลิ้ตเติ้ลบัฟฟาโลเล็กๆได้กลายเป็นผู้นำในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน และก้าวกระโดดไปสู่อนาคตใหม่ที่นักคิดชั้นนำบางส่วนได้แนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม

ถึงแม้อัลเบอร์ต้าจะเป็นเมืองแห่งการผลิตน้ำมันของประเทศแคนาดา แต่พลังงานแสงอาทิตย์ค่อยๆเป็นที่นิยมในอัลเบอร์ต้า  ชาวอัลเบอร์ต้าต้องการที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง และพลังงานแสงอาทิตย์เป็นความต้องการหลักของการเปลี่ยนแปลงจะที่เกิดขึ้น ทว่าเราจำเป็นต้องเรียกร้องในการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย และการเปลี่ยนแปลงนั้นควรจะเกิดขึ้นไม่เพียงเฉพาะในชุมชนที่สามารถลงทุนใช้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้ แต่จะต้องเกิดขึ้นและเริ่มต้นในทุกชุมชนที่ประสบกับวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม สังคม และมีผลกระทบด้านสุขภาพจากอุตสาหกรรมการขุดเจาะและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์นี้ ส่วนใหญ่จะถูกดำเนินการโดยสมาชิกของชุมชนที่ยังไม่เคยติดตั้งโซล่าเซลล์มาก่อน ทำให้ตอนนี้พวกเขาสามารถใช้ทักษะใหม่ที่ได้รับมาเพื่อติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ให้มากขึ้นทั่วอัลเบอร์ต้า

โครงการพลังงานหมุนเวียนนี้ไม่ควรตกอยู่ในความรับผิดชอบของชุมชนเพียงลำพัง แต่พวกเขาควรจะได้รับการสนับสนุนจากทั้งอัลเบอร์ต้าและรัฐบาลแคนาดาด้วย เฉกเช่นเดียวกับเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลที่รัฐเคยสนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมานานหลายทศวรรษ

แผงโซลาร์เซลล์เหล่านี้จะยังคงอยู่แม้โครงการขุดเจาะน้ำมันชิ้นสุดท้ายจะเสร็จสิ้นแล้ว แล้วคุณล่ะ? อยากเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดนี้หรือเปล่า?


แปลโดย ดลชนก แก้วปรีดาเชษฐ อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก

ที่มา : Greenpeace Thailand




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2559   
Last Update : 5 กรกฎาคม 2559 14:05:59 น.   
Counter : 834 Pageviews.  


เปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน? ทำไมต้องเปลี่ยนเมื่อคนอื่นยังไม่เปลี่ยน?



เขียน โดย Piraorn Suvanbenjakule อาสาสมัครกรีนพีซ

ปัญหาหลักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ คนส่วนใหญ่ยังคงใช้วิถีชีวิตที่สร้างรอยเท้าคาร์บอน กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราส่วนใหญ่เป็นสาเหตุหลักในการสร้างมลพิษและปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การเผาผลาญเชื้อเพลิง การหมดไปของทรัพยากร พฤติกรรมบริโภคนิยม และการสร้างขยะเหลือใช้จากการบริโภค ในขณะที่มีเพียงคนกลุ่มน้อยที่หันมาเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ชีวิตเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ตรงกันข้ามกับความจริงที่ว่า วิกฤตโลกร้อนนี้กำลังเกิดขึ้นจริงและกำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก

ลองมาดูกันว่า อะไรคือเหตุผลที่คนทั่วไปยังไม่ตระหนักเรื่องผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนมากพอ และอะไรคือข้อจำกัดเหล่านั้น


ต้นข้าวโพดแห้งตายคาไร่ ในประเทศฟิลิปปินส์ หนึ่งในผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร

Robert Gifford อาจารย์ด้านจิตวิทยาและสิ่งแวดล้อม จาก University of Victoria ได้ทำงานวิจัยเรื่อง The Dragons of Inaction ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ตามหลักจิตวิทยาถึงสาเหตุของว่าทำไมผู้คนถึงยังไม่ตระหนักและเปลี่ยนเพื่อต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยระบุว่า เหตุผลทางจิตวิทยาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้อจำกัดของการรับรู้ ความเชื่อ เทรนด์ หรือกระแสสังคม ความกลัวต่อความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง ไม่เชื่อแหล่งข้อมูล และข้อจำกัดทางพฤติกรรม ต่างมีส่วนทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมองข้ามปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

1. ข้อจำกัดของการรับรู้

การไม่รู้ปัญหา หรือรับรู้ปัญหาแต่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหา นอกจากนี้เนื่องจากปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาระยะยาว ทำให้สมองเรามองว่าสิ่งนี้ไม่กะทันหันมากพอที่ควรจะกังวล ความไม่แน่ใจ หรือความประมาทในความสามารถของตน กับการติดในกรอบความคิดว่าคนๆเดียวไม่สามารถจะแก้ไขอะไรได้

2. ความเชื่อ

หากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามหรือขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของแต่ละบุคคล อาจมีผลให้คนนั้นเลือกที่จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมของตน เช่น ความมั่นใจในระบบทุนนิยมที่นำความร่ำรวยมาให้เรามาจากรุ่นสู่รุ่น จนกระทั่งมีความเชื่อมั่นว่าเงินและเทคโนโลยีจะสามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างรวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตโลกร้อนได้ แต่มันเพียงพอจริง ๆ น่ะหรือ?

3. เทรนด์ หรือกระแสสังคม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งคนส่วนใหญ่ในสังคมทำ ก็ยากที่คนหนึ่งจะสวนกระแสนั้น โดยส่วนมากมีแนวโน้มที่จะคิดว่า ทำไมเราต้องเปลี่ยนในเมื่อคนอื่นไม่เห็นจะเปลี่ยนเลย

4. ความกลัวต่อความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลงจะถูกโยงรวมไปกับการปรับตัวใหม่ เราจึงกังวลต่อความเสี่ยงที่จะตามมามากกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้ชีวิตเราดูยุ่งยากและสูญเสียความเป็นระเบียบที่เคยมี เนื่องจากเราจะยังไม่คุ้นเคยกับสิ่งนั้นโดยทันที ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเงิน เวลา ความมั่นคงในการใช้ชีวิต และการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนนี้ เห็นผลได้ช้ากว่าปัญหาอื่น ทำให้เราขาดแรงกระตุ้นที่สม่ำเสมอและมากพอที่จะเปลี่ยนสิ่งที่เราคุ้นเคย ตัวอย่างเช่น ถ้าเราคิดจะซื้อรถใหม่ อาจมีการตั้งคำถาม หรืออาจถึงกับมีอคติและความกังวลต่อรถที่ขับเคลื่อนด้วยด้วยพลังงานไฟฟ้า มากกว่ารถที่ใช้น้ำมันทั่วไปในปัจจุบัน จนเราไม่กล้าเลือกตัวเลือกที่จะช่วยลดผลกระทบต่อโลกในระยะยาวได้

5. ไม่เชื่อแหล่งข้อมูล

หากมุมมองหนึ่งถูกมองในด้านลบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขาดความเชื่อมั่นในแหล่งข้อมูล จนถึงการเหมารวมว่าข้อมูลจากฝั่งนั้นไม่มีความจริงที่มากพอ โดยส่วนมากจะส่งผลให้บุคคลคนนั้นเพิกเฉย หรือเลือกทำสิ่งอื่นในทางตรงกันข้าม ซึ่งมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เชื่อข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และข้อเสนอในการดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม เพราะวิธีแก้ไขที่ถูกเสนอขึ้นมา ไม่สามารถเห็นผลได้ในระยะสั้น จนลืมคำนึงถึงหลักความเป็นจริงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

6. ข้อจำกัดทางพฤติกรรม

ในรายงานหลายฉบับ คนส่วนมากยอมรับว่าตนเองสามารถช่วยลดโลกร้อนได้มากกว่าที่เป็นอยู่หากเราลองทำสิ่งใหม่ ๆ โดยส่วนมาก เรามักจะคิดไว้ก่อนเสมอว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเราไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกได้ ทั้งที่หากทุกคนร่วมลงมือทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนในชีวิตประจำวันได้ เราก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

เหตุผลทางจิตวิทยาเหล่านี้ เป็นเรื่องปกติโดยธรรมชาติที่สมองจะเล่นตลกกับเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือหยุดสักนิด และคิดอีกสักหน่อย คิดวิเคราะห์ถึงหลักฐานข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับวิกฤตโลกร้อนนี้ ซึ่งมีอยู่แล้วมากมายรอบตัวเรา ทางฝ่ายข้อมูลอาจนำเสนอข้อมูลที่ใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น เพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาและให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น รวมถึงนำเสนอวิธีแก้ไขที่ทุกคนจะสามารถทำได้ อาจจะดูยากที่เราเองต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง แต่เพื่ออนาคตที่ปลอดภัย ยั่งยืน และดีกว่า ก็คุ้มค่าที่จะพยายาม

การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต่างก็มีความสำคัญทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “What is an ocean but a multitude of drops?” (David Mitchelle, Cloud Atlas)  มหาสมุทรนั้นไม่ใช่อะไรเลย หากแต่เป็นหยดน้ำที่มารวมกัน อย่าประมาทพลังความสามารถของคุณ ที่จะพาตัวคุณเอง และคนทุกคนไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

อีกหนึ่งทางที่คุณทำได้ คือ ร่วมแบ่งปันเรื่องราวที่คุณเพิ่งอ่านนี้ให้คนรอบตัวได้รับรู้ เพียงแค่นี้ ก็เท่ากับเป็นการเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงแล้ว

อ่านเพิ่มเติม


ที่มา: Greenpeace Thailand 




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2559   
Last Update : 5 กรกฎาคม 2559 11:03:29 น.   
Counter : 1158 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com