กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

คนละไม้คนละมือ ความหวังจากประมงพื้นบ้านสู่ผู้บริโภค เพื่อความยั่งยืนของทะเลไทย

การจับปลาไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจับปลาอย่างยั่งยืนเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลไปด้วยนี่สิ คือ เรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ทุกภาคส่วน และนั่นคือความแตกต่างระหว่าง การประมงพื้นบ้านที่คำนึงถึงคุณค่าของท้องทะเล และการประมงพาณิชย์ที่มุ่งเน้นเพื่อผลประโยชน์และการค้าโดยไม่สนใจว่าการประมงเกินขนาดจะทำให้เราไม่มีปลากินในอนาคตอันใกล้ แต่เราทุกคนสามารถสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับท้องทะเลของเราได้

ดังเช่นที่ ชาวชุมชนคั่นกระได สมาชิกและอาสาสมัครกรีนพีซ ได้ร่วมมือกันสร้างบ้านปลาและซ่อมแซมธนาคารปู ลงมือกันคนละไม้คนละมือ ทั้งผู้บริโภคอาหารทะเล และชาวประมง เพื่อรักษาความยั่งยืนของทะเลไทยเพื่อชาวไทยทุกคน

“ปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน” นี่คือคำที่เป็นเสมือนกติกาชี้นำแนวทางประมงอย่างรับผิดชอบที่ยึดถือกันมาของชาวคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน ที่ผ่านมา อาสาสมัครและสมาชิกกรีนพีซได้มาร่วมเรียนรู้ถึงเจตนารมณ์นี้ร่วมกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสร้างรักให้ทะเล ตอนชุมชนปลาชุม  ถึงจะเป็นเพียงช่วงหนึ่งสัปดาห์ แต่ก็เป็นสัปดาห์ที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย จากการเป็นเพียงผู้บริโภคอาหารทะเล ได้เข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมง ลงมือทำซั้งปลา และธนาคารปู อุปกรณ์เหล่านี้ต่างแลกมาด้วยหยาดเหงื่อซึ่งในการประดิษฐ์เครื่องมือเพื่อฟื้นฟูท้องทะเล แต่ความพยายามเเหล่านี้ไม่เสียเปล่า เพราะได้พิสูจน์มาแล้วว่า จากที่ปลาในอ่าวคั่นกระไดเคยหายไปจนไม่สามารถประมงได้อีก ได้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการประมงที่เป็นมิตรต่อท้องทะเล

สร้างบ้านปลา ธนาคารปู ปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน คืนความอุดมสมบูรณ์ให้ท้องทะเล

หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา อาสาสมัครกรีนพีซได้ใช้เวลาเตรียมอุปรณ์สำหรับสร้างบ้านปลา และซ่อมแซมธนาคารปู ซึ่งถือเป็นการซ่อมแซมธนาคารปูครั้งแรกในระยะเวลา 3 ปี โดยการเตรียมอุปกรณ์นั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด สำหรับทางชุมชนคั่นกระไดนั้นเลือกที่จะใช้ฐานเป็นปูน เพื่อป้องกันเรืออวนลาก และเครื่องมือทำลายล้างจากเรือประมงพาณิชย์อื่นๆ ที่อาจจะลากเอาซั้งปลาไป บ้านปลาของพี่น้องคั่นกระไดจึงมีฐานเป็นปูน งานที่ต้องทำเพื่อให้ได้บ้านปลาก็เริ่มตั้งแต่ การหล่อปูนลงบล็อก เคาะปูนออกจากแบบ ตัดไม้ไผ่ ร้อยเชือก ตัดทางมะพร้าว จำเป็นต้องใช้ของเหล่านี้จำนวนมาก เพื่อที่จะได้มาซึ่งบ้านปลาจำนวนร่วม 100 ซั้ง

“ขอขอบคุณกรีนพีซที่ให้มีส่วนร่วมในการเตรียมงานในครั้งนี้ ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชาวบ้าน กว่าเขาจะต่อสู้มาให้เป็นแบบนี้นั้นหนักมาก ทำให้เรารู้ว่าซั้งกอ ธนาคารปูเนี่ยเป็นอย่างไร มีวิธีการทำอย่างไร ได้รับรู้ว่าการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลทำให้เกิดอะไรได้มากขึ้น เช่น หญ้าทะเล หอยจอบที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ” อัชลี สีม่วง หนึ่งในอาสาสมัครสาวผู้ทุ่มเทให้กับกิจกรรมนี้กล่าว

ส่วนธนาคารปูของชุมชนคั่นกระไดนั้นมีเอกลักษณ์ตรงที่ไม่ได้เป็นธนาคารปูบนฝั่ง แต่เป็นกระชังขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่กลางทะเล แม่ปูจึงสามารถปล่อยไข่ลงสู่ท้องทะเลได้โดยตรง ถือเป็นการ “ปล่อยหนึ่ง เกิดแสน กินใช้อย่างยั่งยืน” และคืนความอุดสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลได้โดยตรง ความเหนื่อยยากที่พวกเราได้สัมผัสนี้ทำให้เราเข้าใจได้ดีขึ้นถึงความเหนื่อยยากของชาวประมงที่มีวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพที่พึ่งพาท้องทะเล รวมถึงอนุรักษ์ท้องทะเล เนื่องจากพวกเขาเห็นความสำคัญของทะเล ซึ่งเป็นเสมือนชีวิต หล่อเลี้ยงปากท้องของชาวประมง และเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของชาวไทยทุกคน

“การประมงพื้นบ้าน คือวิถีประมงที่ยั่งยืน มีผลิตภัณฑ์จากทะเลให้ได้กินได้ใช้อย่างไม่จบสิ้น การได้มาช่วยชุมชนคั่นกระไดครั้งนี้ทำให้ได้เห็นว่าชุมชนที่นี่หวงแหนทะเลมากแค่ไหน  อิ่มเอิบใจที่ได้ทำงานร่วมกับชุมชนที่เข้มแข็ง สามัคคี และต้องการปกป้องท้องทะเล” อานันท์ นาคนงนุช หนึ่งในอาสาสมัครชาวประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

ยุติการประมงเกินขนาด และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ปกป้องระบบนิเวศทางทะเล

นอกเหนือจากการฟื้นฟูแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนคั่นกระไดสามารถคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเลได้ ก็คือความเข้มแข็งของชุมชนที่ร่วมมือกันหยุดการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง และพยายามปกป้องอ่าวบริเวณบ้านของตนเพื่อให้สัตว์น้ำได้ฟื้นตัวอย่างแท้จริง “ปลาที่ลดน้อยลง เกิดจากการที่เราใช้เครื่องมือประมงที่ทำลายล้างมากขึ้น แต่สาเหตุหลักที่แท้จริงคือการทำงานของภาครัฐที่ไม่นำกฎหมายมาใช้อย่างเคร่งครัด การท่องเที่ยวจะหมดเสน่ห์ถ้าไม่มีอาหารทะเล ทุกวันนี้เราต่อสู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ขณะที่รัฐต้องการแก้กฎหมายทะเลเอนเอียงตามบริษัทขนาดใหญ่ ดังเช่นกรณี บริษัทส่งออกปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทุกครั้งที่มีการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างไม่ว่าจะเป็นอวนลาก อวนรุน หรืออวนตาถี่ นั่นคือความเจ็บปวดของชาวประมงพื้นบ้าน วันนี้เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน แก้การโฆษณาว่ากินลูกปลาตัวได้แคลเซียม แต่เมื่อไรที่เราไม่กินลูกปลา สัตว์น้ำจะมีโอกาสได้โต โดยที่ไม่ถูกตัดตอนวงจรชีวิต อยากให้สังคมภายนอกได้รู้เรื่องของเรา ว่าเราสู้เพื่อความยั่งยืนของท้องทะเลอย่างไรบ้าง” พี่ปิยะ เทศแย้ม  นายกสมาคมประมงพื้นบ้านทุ่งน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

เมื่อได้มาเรียนรู้ถึงปัญหาที่อันมีสาเหตุมาจากการประมงเกินขนาดที่แสนแตกต่างจากการวิถีการประมงพื้นบ้านอย่างสิ้นเชิง อาสาสมัครของเราได้แสดงความคิดเห็นถึงกรณีนี้ว่า “ประมงทำลายล้างนั้นเป็นการเอาทุกอย่างขึ้นจากทะเล แม้จะใช้ไม่คุ้มก็ยังนำขึ้นมาใช้  เพราะประมงแบบทำลายล้างมีพื้นฐานมาจากความโลภ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของบริษัทใหญ่เพียงกลุ่มเดียว”

อานันท์ นาคนงนุช กล่าว

ผู้บริโภค คือ ผู้กำหนดอนาคตท้องทะเลไทย

หลายคนอาจกำลังไม่รู้ว่า อาหารทะเลที่เรากำลังกินนั้นอาจมาจากบาดแผลสร้างให้กับท้องทะเล โดยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง และผู้บริโภคกลายเป็นผู้ทำร้ายท้องทะเลโดยไม่รู้ตัว เมื่อลูกปลาที่ถูกจับมานั้นมีคนซื้อ และเป็นที่ต้องการของตลาด ก็จะมีผู้จับไปสนองผู้บริโภค แต่หากผู้บริโภคทุกคนร่วมกันหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เลิกรับประทานลูกปลา ปูไข่ และปลาใกล้สูญพันธุ์ อนาคตของทะเลก็จะยั่งยืน มีอาหารทะเลให้เราได้กินได้ใช้กันไปอีกนานแสนนาน

“อยากให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมในการเลือกซื้อหันมาใส่ใจในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเลือกซื้อปลาทู ไม่สนับสนุนให้ซื้อปลาทูตัวเล็ก หากไม่มีผู้บริโภคซื้อ แม่ค้าคนกลางก็คงจะไม่นำมาขาย ต่อไปนี้ส่วนตัวเราเองคงคิดมากขึ้นก่อนซื้อของทะเล  ไม่เลือกกินปลาเล็ก ปูไข่ เริ่มทำจากตัวเราแล้วบอกต่อยังคนรอบข้าง” อัชลี สีม่วง กล่าวเสริม

หลังจากเตรียมอุปกรณ์เสร็จแล้ว สมาชิกกรีนพีซก็ตามมาสมทบ ร่วมกันทำธนาคารปู และประกอบบ้านปลาจนเสร็จสิ้น แต่การขนย้ายบ้านปลาซึ่งมีน้ำหนักเกือบ 100 กิโลกรัมต่อซั้ง แต่ธนาคารปูขนาดมหึมานั้นต้องใช้กำลังมา แต่มีสิ่งที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้นคือมีกลุ่มพี่ทหารที่เดินทางผ่านพอดี ได้เห็นพวกเรากำลังวุ่นกับการขนย้ายปูน จึงแวะมาช่วย ทำให้กิจกรรมครั้งนี้สำเร็จได้เร็วขึ้น “ในขณะนี้ท้องทะเลกำลังเสื่อมโทรม และกิจกรรมนี้เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูท้องทะเลที่ดีที่เราทุกคนควรสนับสนุน” ตัวแทนจากหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ กล่าว

ในเช้าวันรุ่งขึ้น ขณะที่น้ำกำลังขึ้นเต็มที่ พวกเราก็ได้ออกเรือกันไปวางบ้านปลาในจุดต่างๆ และปล่อยแม่ปูลงในธนาคารปู กลางอ่าวคั่นกระได อนาคตที่ยั่งยืนของท้องทะเลกำลังก่อเกิดขึ้น กลุ่มเด็กเลี้ยงปูของชุมชนก็ได้แวะเวียนมาเล่นกับธนาคารปู นำปลามาเป็นอาหารให้กับปู และเล่าให้พวกเราฟังว่า ถ้าจับติดแม่ปูไข่มาก็จะจับมาใส่ธนาคาร ให้แม่ปูเคลียร์ไข่เสร็จก่อน แม่ปูไข่จะมีระยะเวลาฟักไข่ ซึ่งจะประมาณ  7 วัน กลุ่มเด็กเลี้ยงปูจะผลัดกันไปดูแล ที่กระชังปูมีเลี้ยงหอยแมลงภู่ข้างล่างด้วย ประมาณ 3 เดือนก็สามารถนำมาขายได้

“เราเห็นว่าทะเลมีความเปลี่ยนไป จากที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับมีความหลากหลายทางธรรมชาติลดลงจากเวลาไม่เกิน 20 ปี อาหารทะเลในเชิงพาณิชย์เพื่อการส่งออกทำให้เกิดการประมงแบบทำลายล้าง ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะสร้างสมดุลระหว่างการประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ที่ทำลายล้างได้อย่างไร เราควรสร้างความเข้าใจระหว่างคนกลางที่อยู่ระหว่างผู้บริโภคและผู้จับ ให้เลือกเฉพาะปลาที่ได้มาจากการจับอย่างรับผิดชอบ หากคนไทยหันมาตระหนักถึงเรื่องนี้ หันมาเป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพ ซื้ออาหารทะเลจากแหล่งที่ไม่ทำร้ายท้องทะเล ก็จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” พี่นันทิยา ศรีเทพ หนึ่งในสมาชิกกรีนพีซผู้เป็นเกษตรกรเดินทางมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีกล่าว

ไม่เพียงแค่การหันมาร่วมกิจกรรมฟื้นฟูทะเลแบบนี้เท่านั้น แต่ผู้บริโภคคือตัวแปรสำคัญหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งมีอิทธิพลมากพอที่จะยุติการทำร้ายทะเลและสร้างความยั่งยืนให้กับท้องทะเลได้ ผ่านการเผยแพร่ความรู้ และเลือกกินเลือกใช้อย่างถูกต้อง โดยที่เริ่มต้นจากตัวเราไม่ว่าจะเป็นผู้จับหรือผู้กิน พี่จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ตัวแทนชุมชนคั่นกระได ได้กล่าวถึงการเข้ามาทำกิจกรรมของทุกคนในครั้งนี้ว่า “รู้สึกดีใจที่คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วม เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราทำ ได้เห็นว่าผู้บริโภคที่กินใช้ทรัพยากรทางทะเลยังมีจิตสำนึกในการปกป้องทะเลไม่ใช่การซื้อแต่เพียงอย่างเดียว ทรัพยากรเริ่มน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด การที่เราใช้เครื่องมืออะไรสักอย่างอยากให้นึกถึงระบบนิเวศทางทะเล ว่าเรามีบ้านมีครอบครัว มีวิถีชีวิตได้เพราะทะเล อยากให้เราทำอะไรคืนให้กลับท้องทะเลบ้าง สิ่งสำคัญคือเริ่มต้นที่ตัวเรา อนุรักษ์อย่างจริงจังไม่ใช่เพื่อกอบโกย แต่เป็นการอนุรักษ์เพื่อให้ปลาได้พักได้อาศัย สิ่งที่เราทำนั้นเห็นผลได้ตั้งแต่ครั้งแรก และเราทำอย่างต่อเนื่องที่นี่มีการวางซั้งอย่างน้อยปีละสามครั้ง รวมถึงมีการดูแล ป้องกันไม่ให้เครื่องมือแบบทำลายล้างเข้ามากอบโกยเอาผลประโยชน์อย่างผิดๆ เช่น การล้อมซั้งที่กวาดเอาทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงหน้าดินไป ห้ามการใช้อวนตาถี่ แต่เราไม่ได้ห้ามการจับแบบไม่ทำลายล้าง บางครั้งก็รู้สึกท้อที่ผู้ที่ไม่ได้อนุรักษ์กลับมาใช้ผลประโยชน์ แต่เราต้องทำต่อไปเพื่อท้องทะเลและวิถีชีวิตของเรา อยากให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนด้วย เพราะผู้บริโภคก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ”

ขอขอบคุณทุกความร่วมมือจากชาวชุมชนคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงสมาชิกและอาสาสมัครกรีนพีซทุกท่าน ที่ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลไทย เพื่อให้เราได้มีปลากินกันอย่างยั่งยืน ปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน คงจะเป็นอีกคำที่ตราตรึงอยู่ในใจเราทุกคน พร้อมกับคำมั่นที่เรามอบให้กับท้องทะเลว่า อย่างน้อยจากนี้ต่อไป เราจะไม่กินลูกปลา ปูไข่ และใส่ใจนึกถึงท้องทะเลทุกครั้งก่อนเลือกซื้อบริโภคอาหารทะเล ภารกิจสร้างรักให้ทะเล ตอนชุมชนปลาชุม จบลงไปด้วยความประทับใจ แต่การต่อสู้เพื่อความยั่งยืนของท้องทะเลยังไม่สิ้นสุดลง และคงไม่มีวันสิ้นสุดหากขาดการร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวประมง ผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาครัฐผู้กำหนดกฎหมาย จำเป็นต้องอุดช่องโหว่งของกฎหมาย กำหนดกฏหมายที่คำนึงถึงความยั่งยืนของท้องทะเล มีการบังคับใช้บทลงโทษ และปรับเปลี่ยนกฏหมายที่ให้ไม่เอื้อต่ออุตสาหกรรมการประมงทำลายล้างขนาดใหญ่ที่เป็นต้นเหตุหลักของปัญหา และทำให้ผู้บริโภคตกเป็นผู้สร้างบาดแผลให้กับท้องทะเลโดยที่ไม่รู้ตัว


Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 27, 2558 ที่ 17:30


ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52723/





 

Create Date : 29 เมษายน 2558   
Last Update : 29 เมษายน 2558 12:17:35 น.   
Counter : 964 Pageviews.  


แรงงานทาส เบื้องหลังอาหารทะเลผลพวงจากการประมงเกินขนาด

อาหารทะเลจานโปรดที่อยู่หน้าคุณ มาจากบาดแผลของทะเลและแรงงานทาสหรือเปล่า…?

เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา การใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนเรือประมงอวนลากบนเรือประมงไทยที่ดำเนินการโดยบริษัทชื่อดังซึ่งจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และบริษัทแปรรูปอาหารทะเลทั่วสหรัฐอเมริกา ได้กลายเป็นข่าวอื้อฉาวในไทย ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาตั้งคำถามว่า อาหารทะเลที่เรากินอยู่นั้นมีส่วนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่อีกประเด็นหนึ่งนอกเหนือจากปัญหาแรงงานทาสในห่วงโซ่การผลิตอาหารทะเลที่เราอาจยังไม่รู้ คือการประมงเกินขนาดอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการประมงที่เน้นการจับปลาปริมาณมากด้วยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง  ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ  ทั้งแรงงานทาส ปลาที่เหลือน้อยลงจนใกล้หมดไปจากท้องทะเล รวมถึงทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นผู้สร้างบาดแผลให้กับท้องทะเล และแรงงานโดยไม่รู้ตัว

Transshipment (การลักลอบขนถ่ายสินค้าและสัตว์น้ำกลางทะเล) วิธีเลี่ยงการประมงผิดกฏหมาย เอื้อต่อการเกิดแรงงานทาส

เบื้องหลังอาหารทะเลผลพวงจากการประมงเกินขนาด คือปัญหาแรงงานทาส ที่เกิดขึ้นควบคู่กับการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) โดยเรือประมงที่ไม่สนใจต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจว่าการประมงที่ทำอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง หรือละเมิดกฏหมายใดบ้างของการประมง หนึ่งในวิธีการหลบซ่อนการประมงที่ผิดกฏหมายของตน และยืดเวลาที่เรือประมงจะอยู่ในน่านน้ำได้ โดยที่การส่งสินค้าจากประเทศ A  ผ่านพรมแดนประเทศ B  ไปยังประเทศ C  โดยมีการขนถ่ายสินค้าในประเทศ B ในเขตปลอดภาษี  หรือถ่ายลำไปยังพาหนะลำเลียงอื่น แต่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากรของประเทศ แทรกรูปการขนย้ายให้ชัดเจนตรงนี้ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยเรือประมงเถื่อนของไทย หรือเรือจดทะเบียนถูกต้อง จะขนถ่ายสินค้าจากเรือแม่ที่จอดรอการขนถ่ายปลากลางทะเลจากเรือประมง หลังจากนั้นจะนำปลาทูน่ามาแปรรูป (นึ่ง/แช่แข็ง) และขนส่งไปยังท่าเรือของบริษัทแปรรูป โดยปลาเหล่านั้น ไม่ถูกจดบันทึกและรายงานไปยังเจ้าของน่านน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมการจับให้กับประเทศเจ้าของน่านน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การจับปลาที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมายขึ้นมา (Bycatch) ซึ่งมีปลาที่ยังเป็นขนาดเล็ก และปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ฉลาม เต่าทะเล และอื่นๆ วิธีนี้ เรียกว่า Transshipment การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและน้ำมันกลางทะเลนี่เองที่เอื้อให้เกิดแรงงานทาส เนื่องจากแรงงานจะถูกบังคับให้อยู่กลางทะเลนานขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจนานเกินหนึ่งปี ปัญหาเกิดจากการควบคุมตรวจสอบของภาครัฐผ่านเอกสารเท่านั้น ซึ่งไม่ทั่วถึงพอ เอื้อต่อการทำผิดกฎหมาย ประกอบกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่ได้จากท้องทะเลนั้นเย้ายวนให้เกิดการกระทำการละเมิดสิทธิพื้นฐานของแรงงานขึ้น

แรงงานของอุตสาหกรรมประมง กลุ่มแรงงานที่สภาพการทำงานแย่ที่สุดในโลก


“อยากให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อเหลือปลาให้ลูกหลานในอนาคตและมีความเป็นรับผิดชอบต่อการจ้างแรงงานบนเรือบ้าง เพื่อความเป็นธรรมลูกจ้างอย่างเรา เราก็เป็นคนเหมือนกัน”

ชีวิตของแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงเชิงพาณิชย์นั้นต้องเผชิญกับชะตาชีวิตที่แย่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับให้ใช้แรงงาน และแม้แต่การฆาตรกรรม ซึ่งการหลบหนีและขอความช่วยเหลือจากกลางทะเลนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แม้ว่าปัญหาแรงงานทาสนี้จะเกิดขึ้นมานาน แต่เพิ่งจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน โดย

กรีนพีซได้พูดคุยกับหนึ่งในแรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิ หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากธุรกิจการค้ามนูษย์ที่ทำให้เขาต้องตกเป็นแรงงานทาสบนเรือประมงสัญชาติไทยในน่านน้ำอินโดนีเซียเป็นเวลานานกว่า 4 ปี เขาเปิดเผยประสบการณ์ชีวิตอันเลวร้ายในอดีตที่ไม่มีวันลืมว่า เขาถูกนายหน้าหลอกด้วยการหว่านล้อมว่างานที่เสนอนั้นเป็นงานดีให้ผลตอบแทนสูง แต่เมื่อเขาไปยังอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งซึ่งทำให้เขารู้ตัวว่ากำลังโดนหลอก เขาถูกขังรวมกับคนที่ถูกหลอกมาราวร้อยชีวิต และถูกส่งตัวไปทำงานบนเรือประมงทางตอนใต้ของประเทศไทย ซึ่งผ่านไปสักระยะ เขาจึงตัดสินใจไปทำงานบนเรือในน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย ด้วยแรงจูงใจของค่าตอบแทนที่จะได้ถึงปีละกว่าแสนบาท แต่การตัดสินใจในครั้งนั้นคือความผิดพลาดครั้งใหญ่ นอกจากไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างที่ควรจะเป็นแล้วยังต้องทำงานหนักมาก บางช่วงอาจต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 48 ชั่วโมง โดยไม่หยุดพัก  แม้กระทั้งเวลาเจ็บป่วย อาหารการกินบนเรือบางมื้อเป็นแค่ปลาทะเลต้มกับน้ำธรรมดาเท่านั้น

เรือประมงที่เขาทำงานอยู่นั้นเป็นเรือประมงพาณิชย์อวนลากโดยจะทำประมงอยู่ที่น่านน้ำอินโดนีเซียตลอด 4-6 ปี โดยไม่กลับประเทศไทย แต่จะใช้วิธีขนถ่ายปลาที่จับได้ส่งเรือใหญ่แทน และการลากอวนของเรือนั้นจะลากวันละ 4 รอบ ด้วยอวนตาถี่ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งสัตว์น้ำที่ติดมานั้นเป็นสัตว์น้ำขนาดยังไม่โตเต็มวัน และบ้างก็เป็นสัตว์ที่ไม่ใช่เป้าหมายแต่ถูกอวนลากมาอย่าง ฉลาม และโลมา

เขาอดทนทำงานบนเรือเป็นเวลากว่า 3 ปีจึงตัดสินใจขอให้ไต๋กงเรือส่งกลับประเทศไทย เพราะหากต้องทำงานแบบนี้ต่อไปเขาคงต้องจบชีวิตที่นี่แน่ๆ แต่คำตอบที่ได้จากไต๋กงเรือคือ  “ถ้าอยากกลับบ้านกลับได้นะ แต่ต้องหาทางกลับบ้านเอง” จากคำตอบดังกล่าวเขาจึงตัดสินใจที่จะไปตายเอาดาบหน้า โดยการขึ้นบกที่ เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย เพราะได้ยินคนงานด้วยกันเองพูดว่าที่เกาะนี้มีคนไทยที่ทนทำงานบนเรือไม่ไหวหนีมาอยู่เป็นจำนวนมาก และในที่สุดก็ได้รับการช่วยเหลือกลับประเทศไทยจากองค์กรส่งเสริมเครือข่ายแรงงาน (LPN: Labor Promotion Network) นี่เป็นเพียงเสียงของหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบที่โชคดีสามารถหนีรอดออกมาได้ แต่ยังมีแรงงานทาสที่กำลังเป็นเหยื่อของอุตสาหกรรมการประมงเกินขนาดอีกจำนวนมาก และยังคงเดินหน้าคุกคามท้องทะเล และใช้แรงงานมนุษย์อย่างไร้ความเป็นธรรม

สถานการณ์ของประเทศไทยกับปัญหาแรงงานทาสของอุตสาหกรรมประมง

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตปัญหาการค้ามนุษย์ขั้นรุนแรง จนกระทั่งถูกลดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีกลุ่ม Tier 3 เป็นกลุ่มประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นลำดับที่ต่ำสุด หลังจากที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกล่ม Tier 2 Watch list เป็นเวลาติดต่อกันสี่ปี และล่าสุดคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเรื่องการขาดมาตรการที่เพียงพอในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU) และให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา การประกาศของสหภาพยุโรปเป็นผลมาจากความล้มเหลวของประเทศไทยต่อการจัดการและต่อกรกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ทำลายล้างและไม่ยั่งยืน

ปัญหาแรงงานทาส การประมงเกินขนาดที่ผิดกฎหมายและใช้เครื่องมือทำลายล้าง ที่สร้างบาดแผลให้กับคนและท้องทะเลนั้นยังเป็นเรื่องที่คนกินอาหารทะเลส่วนใหญ่ยังคงไม่รู้ แต่เมื่อรู้ถึงปัญหาแล้ว ผู้บริโภคทุกคนจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอนาคตของท้องทะเลและยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ด้วยการปฏิเสธการซื้อและรับประทานอาหารทะเลที่มีที่มาจากการประมงที่เป็นปัญหาเหล่านี้ แล้วหันมาสนับสนุนอาหารทะเลที่มาจากการประมงทีรับผิดชอบ รวมถึงรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องมีกฎหมายที่รัดกุม พร้อมกับดำเนินการบทลงโทษทางกฎหมายกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาดตลอดช่วงห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมประมง และบริษัทจัดจำหน่าย นอกจากนี้ในส่วนของผู้ผลิตอาหารทะเลทั้งแช่แข็งและแปรรูป ตลาดและห้างร้าน ก็ยังเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่เชื่อมโยงระหว่างชาวประมงและผู้บริโภค ภาคส่วนเหล่านี้จึงต้องมีความตระหนักและควรจะมีการสร้างเครื่องมือและนโยบายที่จะผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเลที่ปลอดจากการทำประมงแบบผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ปราศจากการใช้แรงงานทาส เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจของไทยที่ไม่ถูกต่อต้านและกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ไม่ทำร้ายทั้งลูกเรือและ ปกป้องอนาคตของทะเลไทยให้เรามีอาหารจานทะเลจานโปรดที่ไม่สร้างบาดแผลให้แก่ท้องทะเลอีกต่อไป

บทสัมภาษณ์และข้อมูลโดย สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 24, 2558 ที่ 19:33


ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52705/




 

Create Date : 29 เมษายน 2558   
Last Update : 29 เมษายน 2558 11:24:57 น.   
Counter : 929 Pageviews.  


แถลงการณ์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องสหภาพยุโรปออกใบเหลือง

แถลงการณ์ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องสหภาพยุโรปออกใบเหลืองกรณีที่ประเทศไทยขาดมาตราการที่เพียงพอในการต่อสู้กับการประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU)

กรุงเทพฯ, 23 เมษายน 2558 – คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปเตือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเรื่องการขาดมาตรการที่เพียงพอในการต่อสู้การประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการรายงานและขาดการควบคุม (IUU) และให้เวลา 6 เดือนในการดำเนินแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา การประกาศของสหภาพยุโรปเป็นผลมาจากความล้มเหลวของประเทศไทยต่อการจัดการและต่อกรกับการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ทำลายล้างและไม่ยั่งยืน

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า

“การออกใบเหลืองจากสหภาพยุโรปครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ย้ำเตือนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องแผนปฏิบัติการเพื่อยุติการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจคิดเป็นเงินราว 659 พันล้านบาท (1) จากการทำประมงที่ผิดกฎหมายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการที่ประเทศไทยล้มเหลวในการฟื้นฟูทะเลและปกป้องมหาสมุทรจากภัยคุกคามที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์

จากการเตือนของคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปครั้งก่อน รัฐบาลไทยได้ดำเนินการโดยการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน และออกใบอนุญาตให้แก่เรืออวนลากเถื่อน ทั้งๆที่เรืออวนลากเป็นการทำประมงที่ทำลายล้าง กวาดล้างปลาและพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลไทยและทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศทางทะเลที่มีความสำคัญ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีนี้ได้สร้างผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพาระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก

กรมประมงควรใช้วิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสและยึดถือการพัฒนาที่ยั่งยืนการจัดการทรัพยากรประมง รวมถึงการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงและชุมชนชายฝั่งทะเลในการวางแผนและการตัดสินใจเพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์”

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้

  1. ยกเลิกการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้างรวมถึงอวนลาก อวนรุน ซึ่งทำลายแหล่งปลาและระบบนิเวศของทะเลไทย
  2. ดำเนินการปฏิรูปกฎหมายประมงและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบและยกระดับธรรมาภิบาลด้านการประมงในอันที่จะต่อกรกับการทำประมงเกินขนาดที่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมของทะเลและมหาสมุทร
  3. สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการควบคุม ติดตามตรวจสอบ รวมถึงการประสานงานเชิงนโยบายและการจัดการประมงในระดับภูมิภาคเพื่อที่จะอุดช่องโหว่ของการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น การขนถ่ายสินค้าจากการประมงนอกน่านน้ำกลางมหาสมุทร เป็นต้น

หมายเหตุ :
(1) //europa.eu/rapid/press-release_IP-15-4806_en.htm

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089 476 9977 อีเมล @greenpeace.org">tara.buakamsri@greenpeace.org
สมฤดี ปานะศุทธะ  ผู้ประสานงานสื่อมวลชน  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โทร. 081 929 5747อีเมล: @greenpeace.org">spanasud@greenpeace.org

Download English version here


ข่าวประชาสัมพันธ์ - เมษายน 23, 2558




 

Create Date : 29 เมษายน 2558   
Last Update : 29 เมษายน 2558 11:05:13 น.   
Counter : 573 Pageviews.  


วันคุ้มครองโลก ปกป้องมหาสมุทรเพื่อทุกสรรพชีวิตบนโลก

22 เมษายน ของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก ซึ่งวันนี้คงจะเป็นเพียงแค่วันวันหนึ่งที่มนุษย์ตั้งไว้เพื่อย้ำเตือนว่าเราควรหันมาใส่ใจดูแลโลกของเราอย่างไร ให้ทรัพยากรบนโลกยังคงมีให้กินและใช้อย่างยั่งยืน ในวันคุ้มครองโลกปีนี้ ลองมาเซ็คชีพจรสีน้ำเงินของโลก กับอีกวิกฤตที่ถูกซุกซ่อนลึกลงไปใต้มหาสมุทรที่แสนกว้างใหญ่สีคราม คุณรู้หรือไม่ว่าแหล่งโปรตีนสำคัญของโลกกำลังถูกทำลาย ปลากำลังหมดไปจากท้องทะเล และต้นเหตุของปัญหาเกิดขึ้นจากการประมงเกินขนาดของอุตสาหกรรมการประมงที่ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง และทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นหนึ่งในผู้ทำร้ายท้องทะเลโดยไม่รู้ตัว 

ในวันคุ้มครองโลกปีนี้ กรีนพีซได้จัดแสดงงานนิทรรศการงานศิลปะและภาพถ่าย "Art for the Ocean"

 

 

เพื่อสะท้อนถึงหลากหลายวิกฤตปัญหาทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการประมงเกินขนาด ปัญหาแรงงานทาส และปัญหาขยะ ภายใต้ความสวยงามของผืนมหาสมุทร ภายในการจัดแสดงภาพถ่ายเหล่านี้ได้บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นใต้ท้องทะเลราวกับเป็นมุมมืดที่อุตสาหกรรมการประมงไม่อยากให้ใครรับรู้ สิ่งเหล่านี้กำลังรอให้คุณมาลองค้นหาว่าวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นนั้นคืออะไร รวมถึงภาพความสวยงาม และทางออกที่ยั่งยืนของท้องทะเล ด้วยการทำประมงแบบยั่งยืนและอนุรักษ์ที่ไม่ทำร้ายมหาสมุทร เพื่อรักษาความมหัศจรรย์ของมหาสมุทรไว้เพื่อทุกสรรพชีวิตบนโลก 

หนึ่งในไฮไลท์ของงานที่คุณไม่ควรพลาด คือ งานศิลปะที่สร้างสรรค์จากขยะวัสดุเหลือใช้ แปรเปลี่ยนเป็นวาฬที่กำลังแหวกว่ายอยู่ในมวลหมู่ดอกไม้ทะเล โดยศิลปินชาวลาว Aligna (อลิญญะ) ในชื่อผลงานว่า “Let me live among beautiful corals" (ขอให้ฉันได้อยู่ท่ามกลางดอกไม้ทะเลอันสวยงาม) อลิญญะเป็นศิลปินผู้อุทิศตนให้กับสร้างสรรค์ศิลปะที่สะท้อนโลกแห่งสังคมบริโภคนิยม อันส่งผลกระทบต่อท้องทะเลที่เคยรองรับมลพิษจากมนุษย์เช่นกัน ซึ่งในการร่วมงานกับกรีนพีซในครั้งนี้ เขาได้กล่าวว่า “หากเราไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดปัญหาขยะในท้องทะเลปลาและสัตว์น้ำทุกชนิดกำลังได้รับสารพิษปนเปื้อน  ไม่ต่างอะไรกับการแหวกว่ายท่ามกลางขยะพลาสติกในผลงานชิ้นนี้ ผมได้แปรเปลี่ยนขยะให้เป็นดอกไม้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เราร่วมกันช่วยทำให้ท้องทะเลสะอาดสวยงาม ผมจึงจินตนาการถึงวาฬที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรท่ามกลางขยะพลาสติก ร้องขอให้เราหยุดทำลายบ้านอันสวยงามของเขา ‘ขอร้องละ มนุษย์ ขอให้ฉันและครอบครัวสัตว์ทะเลได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สวยงามที่ธรรมชาติได้รังสรรค์ให้เราทุกคนได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข”

 


โลกของเราคือโลกแห่งมหาสมุทร ประกอบด้วยน้ำมากถึงสามในสี่ส่วน
ร้อยละ 80 ของสรรพชีวิตบนโลกนั้น มีถิ่นฐานซ่อนเร้น

อยู่ใต้เกลียวคลื่นของมหาสมุทร ช่วยสร้างออกซิเจนมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณออกซิเจนทั้งหมด เป็นตัวขับเคลื่อนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ รักษาสมดุลของชีวิตบนโลก หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตทั้งใต้ท้องทะเลและบนผืนโลก แต่ในทางกลับกันมหาสมุทรก็ยังเป็นที่รองรับมลพิษต่างๆ ที่มนุษย์ก่อขึ้น รวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล และภัยคุกคามจากการประมงแบบทำลายล้างที่กำลังทำให้ปลาหายไปจากทะเลของเรา ทุกสิ่งที่เราทำบนผืนดินนั้นสะเทือนถึงผืนทะเลได้มากกว่าที่เราคิด และมีแต่เราเท่านั้นสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ในวันคุ้มครองโลกปีนี้คุณเองก็สามารถหันมาลงมือปกป้องมหาสมุทรอย่างจริงจังได้ หากยังนึกไม่ออกว่าเราทำอะไรเพื่อทะเลได้บ้าง 9 ไอเดียต่อไปนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อปกป้องมหาสมุทรของเรา

1. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าคุณจะอยู่ไหนก็ตาม ใกล้หรือไกลจากทะเล ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั้นจะตกลงสู่ทะเลในที่สุด คุณสามารถช่วยรักษาท้องทะเลและแหล่งน้ำอื่นๆ ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่แล้วการทำความสะอาดในครัวเรือสามารถใช้สารง่ายๆ ที่ไม่ใช่สารเคมีอันตราย เช่น น้ำส้มสายชู โซดาไฟ หรือน้ำมะนาว เพราะท่อระบายน้ำทุกท่อท้ายที่สุดแล้วจะไหลลงสู่ท้องทะเลในที่สุด

2. เลือกกินอาหารทะเลที่จับจากการประมงแบบยั่งยืน

ขณะนี้ปลากำลังหมดไปจากท้องทะเล ระบบนิเวศทางทะเลกำลังใกล้ล่มสลาย และอาหารทะเลจานโปรดของเรากำลังหมดไป องค์การอนามัยโลก (FAO) ระบุว่าสามในสี่ของปริมาณสัตว์น้ำทะเลของโลกกำลังใกล้หมดไป และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้จากการคุกคามของอุตสาหกรรมประมงที่ใช้เครื่องมือแบบทำลายล้าง ผู้บริโภคอย่างเราสามารถเลือกกินปลาที่ไม่ทำร้ายท้องทะเลได้ ด้วยการสอบถามถึงที่มาของปลา และไม่เลือกซื้ออาหารทะเลที่ยังเป็นสัตว์น้ำ รวมถึงส่งเสริมการประมงพื้นบ้านที่ประมงที่ประมงอย่างอนุรักษ์และฟื้นฟู

3. ลดการใช้พลังงาน

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลนั้นทำให้น้ำทะเลเป็นกรด ซึ่งผลกระทบนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วอย่างชัดเจน คือ ปรากฎการณ์ปะการังฟองขาว อันเนื่องมาจากค่าความเป็นกรดของน้ำทะเลทำให้สัตว์น้ำที่มีแคลเซียมหินปูนไม่สามารถเติบโตได้ รวมถึงสัตว์อย่างแพลงก์ตอนพีชซึ่งเป็นอาหารสำคัญของปลาทะเล มีหลากหลายวิธีที่ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เช่น การขี่จักรยาน เดิน ใช้รถสาธารณะ ประหยัดพลังงาน สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้พลังงานถ่านหิน

4. ลดการใช้พลาสติก และนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่

แพขยะส่วนใหญ่แล้วมีที่มามาจากขยะบนดิน ไม่ว่าคุณจะอยู่ห่างไกลทะเลสักแค่ไหน ขยะในละแวกบ้านของคุณก็สามารถตกสู่ท้องทะเลได้ด้วยการไหลไปตามแม่น้ำ ขยะในท้องทะเลเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตของสัตว์ทะเลและถิ่นฐานของสัตว์น้ำจำนวนมหาศาล เนื่องจากพลาสติกที่ลอยน้ำมีลักษณะคล้ายอาหารสำหรับนก เต่า และสัตว์ทะเล พวกมันจะกินเศษพลาสติกข้าไปแล้วติดคอจนตาย เพราะพลาสติกเข้าไปขวางระบบย่อยอาหาร คุณสามารถช่วยชีวิตสัตว์พวกนี้ได้ เพียงแค่ลดการใช้พลาสติก อย่างน้อยก็ลองคิดว่าลดการใช้พลาสติกหนึ่งครั้งอาจช่วยชีวิตสัตว์ได้หนึ่งตัว

5. กำจัดสารเคมีอันตรายอย่างถูกวิธี

สารเคมีอันตรายทั้งจากอุตสาหกรรมและจากครัวเรือนมักถูกกำจัดชะล้างลงสู่ทะเลเนื่องจากไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี รวมถึงปุ๋ยเคมีที่ใช้ในสวนและเกษตรกรรมอีกด้วย สารพิษเหล่านี้เป็นภัยคุกคามทำลายความอุดมสมบูรณ์ และออกซิเจนในท้องทะเล เราสามารถทำได้ด้วยการเลือกใช้สารเคมีน้อยที่สุด และไม่มีสารพิษ รวมถึงไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยสารเคมีอันตรายลงสู่สายน้ำ ซึ่งสารเคมีอันตรายเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วจะไม่ได้ทำร้ายแต่สัตว์น้ำเท่านั้น แต่เมื่อสัตว์น้ำได้รับสารเคมีและเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อาหาร เมื่อสัตว์น้ำถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารและเรารับประทานเข้าไป เราก็อาจได้รับสารพิษมีผลต่อสุขภาพของเราเช่นกัน

6. เก็บขยะที่ชายหาด

ขยะในทะเลส่วนใหญ่แล้วมีจุดเริ่มต้นจากชายหาด เมื่อมีนักท่องเที่ยวตามชายหาดมากขึ้น ขยะก็ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังมากขึ้น เมื่อไปเที่ยวทะเลครั้งหน้า หากคุณช่วยเก็บขยะกันคนละชิ้นสองชิ้นจากชายหาด หรือไม่ผลั้งเผลอทิ้งขยะใดไว้ ทะเลของเราก็น่าจะสะอาดขึ้น

7. ไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ทำร้ายทะเล

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับที่ผลิตจากกระดองเต่า หางปลากระเบน กระดูกวาฬ ไข่เต่า ปะการัง และอื่นๆ รวมถึงไม่บริโภคหูฉลามซึ่งไม่ได้มีโปรตีนมากไปกว่าไข่ไก่ทั่วไป เพราะสิ่งเหล่านี้ได้มาจากการประมงแบบทำลายล้างโดยตรง และยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งหมด

 8. เที่ยวทะเลอย่างมีสุขโดยไม่ทำร้ายสัตว์น้ำ

ครั้งหน้าหากคุณไปเที่ยวทะเล ไปดำน้ำ เล่นเซิร์ฟโต้คลื่น พายเรือ หรือกิจกรรมทางน้ำอื่นๆ พยายามอย่าสัมผัสปะการัง ให้อาหารสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำเคลื่อนย้ายจากถิ่นฐานที่อยู่ เคารพท้องทะเล และความสง่างามของมัน โดยที่ไม่พยายามทำร้ายและครอบครอง

9. เข้าร่วมกลุ่ม I love My Ocean

การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องมหาสมุทรกำลังเติบโตขึ้น และอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่คุณสามารถทำได้ คือ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับทะเล อาหารทะเลที่เป็นมิตรต่อท้องทะเล แนวคิดในการปกป้องทะเล และแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มคนที่รักทะเลเหมือนกับคุณ พลังเล็กๆ ของเรา หากรวมกลุ่มกันจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สามารถปกป้องสิ่งที่เรารักได้

ท้ายที่สุดแล้ว การปกป้องโลก และการทำดีเพื่อทะเล ก็คือการทำเพื่ออนาคตสีเขียวที่ยั่งยืนของเราทุกคน

ร่วมชมนิทรรศการ "Art for the Ocean" 22-28 เม.ย.นี้ เวลา 10.00-19.00 และเข้าร่วม Workshop เพื่อศึกษาและทำงานศิลปะจากขยะกับอลิญญะได้ ระหว่าง  16.00-19.00 น.

 
Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 22, 2558 ที่ 17:09
 
 




 

Create Date : 29 เมษายน 2558   
Last Update : 29 เมษายน 2558 10:46:13 น.   
Counter : 674 Pageviews.  


กรีนพีซจัดแสดงงานศิลปะปกป้องทะเลและมหาสมุทรในวันคุ้มครองโลก

กรุงเทพฯ, 22 เมษายน 2558 – เนื่องในวันคุ้มครองโลก (Earth Day) กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดนิทรรศการแสดงงานศิลปะและภาพถ่าย ภายใต้หัวข้อ “Art for the Ocean” เพื่อนำเสนองานศิลปะจากขยะในท้องทะเลและจากครัวเรือนโดย Aligna (อลิญญะ)[1] ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย สะท้อนวิกฤตของท้องทะเลต่อสังคม เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรโลก ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้ประชาชนและทุกภาคส่วนลงมือทำเพื่อปกป้องท้องทะเลและมหาสมุทร
นิทรรศการภาพถ่ายได้รวบรวมผลงานภาพถ่ายกว่า 20 ภาพ จากหลายประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยภาพความสวยงามของท้องทะเลและมหาสมุทร พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในมหาสมุทร ได้แก่ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง การจับสัตว์น้ำพลอยได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลพิษ
“มนุษย์พึ่งพาทะเลและมหาสมุทรเพื่อความอยู่รอด แต่ในขณะนี้ ทะเลและมหาสมุทรกำลังเผชิญกับวิกฤตทางนิเวศวิทยาหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการทำประมงเกินขนาด การใช้เครื่องมือทำลายล้าง รวมถึงการประมงผิดกฎหมายที่เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวง” อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

“กรีนพีซทำงานร่วมกับเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ชุมชนชายฝั่ง บุคคลและกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานภาครัฐร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ นอกจากกลไกทางกฎหมายที่มีอยู่แล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างแผนการเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่เสื่อมโทรมและยุติการทำประมงเกินขนาด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แรงกดดันจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปที่ได้ให้ใบเหลืองการประมงไทยเมื่อวานนี้ [2]”

ในกิจกรรม ยังมีการแสดงศิลปะจัดวาง (Installation Art) จากขยะในท้องทะเลและครัวเรือน ภายใต้แนวความคิดที่จะทำให้คนในสังคมหันมาใส่ใจในการอนุรักษ์ทะเลและสิ่งแวดล้อมโดยการนำขยะที่คนทิ้งมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน คือ ปลาที่กำลังว่ายน้ำท่ามกลางดอกไม้พลาสติก  

“ผมต้องการสะท้อนให้เห็นว่าหากเราไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อหยุดปัญหาขยะในท้องทะเล วันหนึ่งปลาและสัตว์น้ำทุกชนิดจะได้รับสารพิษปนเปื้อนและแหวกว่ายท่ามกลางกองขยะ (ซึ่งขณะนี้ก็กำลังเกิดขึ้นแล้ว) ผมจึงจินตนาการถึงปลาที่กำลังว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทรท่ามกลางขยะพลาสติก ร้องขอให้มนุษย์หยุดทำลายบ้านอันสวยงามของเขา ผมหวังว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เราร่วมกันช่วยทำให้ท้องทะเลสะอาดสวยงามดังที่เคยเป็นมา” อลิญญะ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานกล่าว

นิทรรศการแสดงงานศิลปะและภาพถ่าย  “Art for the Ocean” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2558 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2558 ที่ HOF ART Residency Bangkok ผู้สนใจยังสามารถเข้าร่วมอบรมการทำดอกไม้จากขยะกับอลิญญะ ในเวลา 16.00น.-19.00น. ทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ I love my Ocean ของกรีนพีซที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรและสร้างจิตสำนึกให้สาธารณชนรวมถึงผู้บริโภคร่วมกันปกป้องทะเลและมหาสมุทร ผ่านการบริโภคอาหารทะเลอย่างยั่งยืน และการสนับสนุนการทำประมงที่มีความรับผิดชอบ สามารถติดตามโครงการได้ที่ www.greenpeace.or.th/oceans

หมายเหตุ

[1] Aligna (อลิญญะ) เป็นศิลปินชาวลาว ที่พำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส อลิญญะฝึกฝนตนเองในทักษะทางศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปั้น การวาดภาพ และการเล่นดนตรี อลิญญะมีผลงานที่โดดเด่นจากการผลิตงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ อาทิ ขวดน้ำ เศษพลาสติก กระป๋อง ขวดอลูมิเนียม ตะปูเก่า ถังน้ำมัน ไม้แขวนเสื้อ ให้เป็นงานศิลปะสวยงามอย่างดอกไม้

ผลงานของอลิญญะได้ถูกจัดแสดงมาแล้วหลากหลายแห่งทั่วโลก เช่น อิตาลี ฝรั่งเศสและเม็กซิโก ในรูปแบบงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่สร้างการฉุกคิดให้ผู้ชมงานถึงการบริโภค และการนำกลับมาใช้ใหม่ ในการจัดแสดงงานครั้งนี้ อลิญญะได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อสะท้อนหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องทะเล และรณรงค์ให้ผู้เข้าชมได้ตระหนักถึงวิกฤตของทะเลและมหาสมุทรที่กำลังกลายเป็นแหล่งรองรับขยะจากการบริโภคของมนุษย์

[2] เมื่อวานนี้ (21 เมษายน 2558) คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการ และขึ้นบัญชีไทยเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (Non-cooperating Country) ในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) โดยระบุว่าภายในเวลา 6 เดือน ประเทศไทยจะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร.:091 770 3521 อีเมล: @greenpeace.org">apipatta@greenpeace.org

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร.:081 929 5747 อีเมล: @greenpeace.org">spanasud@greenpeace.org

Download English version here

ข่าวประชาสัมพันธ์ - เมษายน 22, 2558




 

Create Date : 29 เมษายน 2558   
Last Update : 29 เมษายน 2558 10:33:16 น.   
Counter : 858 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com