เมื่อ พูดถึง “จำเลยสิ่งแวดล้อม” เรานึกภาพออกว่าหมายรวมถึงการกระทำใดๆ ของคนที่มุ่งทำลายสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้คำว่า “จำเลยสิ่งแวดล้อม” กำลังย้อนศรชี้ความผิดไปยังชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง

โจทก์จึงกลับกลายเป็นกลุ่มทุนและบริษัทฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้านผู้คัดค้านในฐานะจำเลยหลักล้านบาทหรือฟ้องให้ดำเนินคดีตามคดีอาญา



ในขณะที่ “หน่วยงานของรัฐ” ที่มีหน้าที่ในการอนุมัติโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนกลับลอยนวล ทั้งๆ ที่รายงานประจำปีด้านสิ่งแวดล้อมสวยหรูที่หน่วยงานเหล่านั้นนำเสนอต่อหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ มาจากการร่วมมือกันปกป้องสิ่งแวดล้อมของคนไทยทุกคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่หากินและใช้ประโยชน์กับทรัพยากรธรรมชาติมายาวนาน ย่อมรู้ดีว่า ความมั่นคงทางด้านพลังงานกับความมั่นคงทางด้านอาหารจะต้องสอดคล้องกัน มิใช่การต้องถูกบังคับเลือกด้วยข้อเสนอของรัฐที่ขาดวิสัยทัศน์ในการเชื่อมโยง นโยบายพลังงานกับแผนพัฒนาจังหวัดและแผนชุมชน


การต่อสู้คัดค้านโครงการถ่านหิน ชาวบ้านคือด่านแรกที่ต้องแลกด้วยชีวิตหรือหมดเสรีภาพในคุกเพื่อหยุดโครงการดัง กล่าว สิ่งที่กรีนพีซต้องการนำเสนอในครั้งนี้จึงมิใช่การก้าวล้ำเพื่อวิพากษ์คำตัดสินของศาลแต่อย่างใด หากแต่มุ่งหวังจะให้สังคมไทยในทุกระดับ มองปัญหาอย่างเชื่อมโยงกันและคิดค้นเครื่องมือที่จะสร้างความยุติธรรมให้กับชาวบ้านในฐานะจำเลยสิ่งแวดล้อมตัวปลอม โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทร่วมกันของกระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


ข้อเสนอประการแรกในการกำจัดข้อจำกัดในการพิจารณาคดี เป็นที่ทราบกันดีว่าหลักในการพิจารณาคดีอาญานั้น หลักฐานที่จะนำมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณาคดีนั้นจะต้องเป็นหลักฐานที่มีความเกี่ยวข้องทางตรงกับคดีโดยแท้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นข้อจำกัดมัดตัวชาวบ้านผู้ตกอยู่ในฐานะจำเลย เนื่องจากมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดเชื่อมโยงกับการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อหยุดโครงการถ่านหิน ดังนั้นรัฐและหน่วยงานข้างต้นจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อให้การพิจารณาคดีหรือ กระบวนการคุ้มครองชาวบ้านผู้ตกที่นั่งในฐานะจำเลยสิ่งแวดล้อมได้รับการคุ้มครอง และเป็นธรรม


ตั้งแต่อดีตจนถึงวันนี้ ประเทศไทยมีจำนวนนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเสียชีวิตและถูกดำเนินคดีมาโดยตลอด รัฐยังคงเพิกเฉยต่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนที่ถูกละเมิดมานาน การสูญเสียในแต่ละครั้งของนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมมิเคยได้รับการชดเชย ความช่วยเหลือให้กับครอบครัวหรือการเหลียวแลจากรัฐเลย นักต่อสู้เหล่านั้นไม่ได้ต้องการธงชาติห่มร่างกายเมื่อสิ้นลม พวกเขาไม่เคยหวังการยกย่องจากสังคมทั้งๆ ที่พวกเขายืนหยัดทำสิ่งเหล่านี้มายาวนาน หากแต่รัฐต้องเหลียวกลับมาทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองการต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม อย่าปล่อยให้โจทก์จำเลยตกเป็นข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนกับชาวบ้าน แต่รัฐกลับเป็น ตาอยู่ หยิบชิ้นปลามัน อิ่มแปร้กับผลประโยชน์ แต่กลับโยนผลกระทบรุนแรงให้กับชาวบ้านและประเทศ


การโฆษณาจำนวนเงินมหาศาลหลายร้อยล้านบาทที่จะมาพร้อมกับ โครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อตอบแทนการยินยอมของชาวบ้านให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยกำหนดพื้นที่ที่ได้รับผลประโยชน์เพียง 5 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านั้น หลักของกองทุนรอบโรงไฟฟ้าจึงเอื้อสิทธิให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ยอมรับโครงการ โรงไฟฟ้าเท่านั้น หากแต่ตัดสิทธิตั้งแต่ต้นสำหรับชาวบ้านในพื้นที่ที่ร่วมกันคัดค้านโครงการเหล่า นั้น เพราะชาวบ้านเหล่านี้จะไม่ได้ผลประโยชน์จากกองทุนรอบโรงไฟฟ้าแม้แต่บาทเดียว ทั้งๆที่ผลกระทบของโครงการเกิดขึ้นตั้งแต่หน่วยงานของรัฐเข้าไปสำรวจความเป็นไปได้ในการทำพัฒนาโครงการ โดยไม่มีการแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการ ขาดการนำเสนอข้อมูลทั้งด้านดีและด้านเสีย การขาดความโปร่งใสในการทำประชาพิจารณ์ เป็นต้น


จริงๆ แล้วหลายประเทศ อย่างเช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ได้มีมาตรการเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากประชาชนตั้งแต่ต้นและให้เกิดการตรวจ สอบผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ประเทศดังกล่าวผลักดันให้เกิดการลงุทนหรือถือหุ้นร่วมกันของคนในชุมชนและ บริษัท โดยจะต้องมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการเพื่อผลิตพลังงานให้ชุมชนนั้นใช้ก่อน จากนั้นที่เหลือจึงส่งขายให้กับพื้นที่อื่น และกระบวนการทั้งหมดในการดำเนินการชุมชนและบริษัทจะต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของ ชุมชนตั้งแต่ต้นและมาจากหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อให้การจัดการพลังงานมี ประสิทธิภาพเพื่อตอบโจทย์ให้เกิดการจัดการพลังงานที่ชุมชนต้องการอย่างแท้จริง น่าเสียดายที่หน่วยงานด้านพลังงานมุ่งหวังเพียงเพื่อนำแนวคิดเรื่องการใช้เงิน เพื่อซื้อ “ความยินยอมของประชาชน” ในการดำเนินการโครงการด้านพลังงานให้สำเร็จ


ขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นโครงการที่ไม่มีการแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างเป็นทางการว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดบ้าง การลวกจิ้มจึงเกิดขึ้นอย่างลับหูลับตาประชาชนตาดำๆ ที่นั่งรอรับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ตราบใดที่ประเทศไทยยังขาดผู้กำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพ นโยบายในการจัดการพลังงานของประเทศก็ยังคงไร้สมรรถภาพ และย่อมส่งผลให้ประชาชนทุกจังหวัดตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงและรอลุ้นว่า “หวยถ่านหิน” จะออกที่บ้านของพวกเขาเมื่อไหร่หรือหากพวกเขาออกมาคัดค้านจะถูกดำเนินคดีหรือละเมิดสิทธิเพียงใด และจะต้องตกอยู่ภายใต้มาตรการเป็นศูนย์ที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิประชาชนในการลุกขึ้นมาปกป้องสิ่งแวดล้อมของรัฐ แต่รัฐกลับคุ้มครองจำเลยด้านสิ่งแวดล้อมตัวจริงอย่างกลุ่มนายทุนเต็มร้อย