คุณคิดอย่างไรกับพลังงานหมุนเวียนที่มาจากธรรมชาติ


เช่น แสงแดด ลม เศษอาหาร และความร้อนใต้พิภพ นำมาผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน ภาพโซล่าเซลล์ กังหันลมมีให้เห็นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ไม่กล้าหันมาใช้พลังงานเหล่านี้ เพราะดูไกลตัวเราเหลือเกินหรือด้วยต้นทุนและเทคโนโลยีล้ำหน้าหรือ หรือเรากำลังรออะไรอยู่


ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงานด้วยทรัพยากรธรรมชาติและเชื้อเพลิงที่ร่อยหรอแปรผกผันกับความต้องการพลังงานที่มีอย่างไม่จำกัด การตัดสินใจด้านพลังงานของทางรัฐบาลได้เลี้ยวไปทางพลังงานที่ไม่ยั่งยืนเช่น ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ รวมถึงพลังงานนิวเคลียร์ จนต้องพลิกแผ่นดินหาซึ่งล้วนทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งป่าไม้ แม่น้ำ สัตว์ป่า วิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งประเทศไทยเรามีวัฒนธรรมการใช้พลังงานแบบดั้งเดิมคือการใช้พลังงานที่ผูกติดกับระบบทุนนิยมโดยรัฐและเอกชน “เติมไม่เต็ม กินไม่เคยพอ” ทำให้ต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ จนประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเลือกใช้พลังงานจนพึ่งตนเองไม่ได้ ถ้าถึงวันที่พลังงานฟอสซิลเหล่านี้หมดลง คงจะสายไปแล้วที่จะเริ่มคิดหาพลังงานในอนาคต
อาจารย์ทรงกช  สนเท่ห์  ผอ.ศูนย์การเรียนรู้  จังหวัดสระบุรี  กำลังบรรยายด้านการทำงานและลักษณะการชำรุดของเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์



อาจารย์ทรงกช สนเท่ห์ ผอ.ศูนย์การเรียนรู้ จังหวัดสระบุรี กำลังบรรยายด้านการทำงานและลักษณะการชำรุดของเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์

แต่กระนั้นช่องว่างพลังงานยังกว้างอยู่มาก ในปัจจุบันปัญหาการพัฒนาพลังงานยังมีช่องว่างอยู่มาก คนส่วนใหญ่ขาดความรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนและยึดติดอยู่กับภาพพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ในราคาแสนแพง เช่น แผงโซล่าเซลล์ กังหันลม เป็นต้นจนชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่งเข้าไม่ถึงพลังงานหมุนเวียนเหมือนอยู่ในถ้ำมืด มองเห็นแสงสว่างที่ปลายถ้ำ แต่ไม่รู้ว่าจะไปให้ถึงได้อย่างไร หลายคนอ้างว่าการใช้โซล่าร์เซลล์เป็นเรื่องไกลตัวเพราะมีราคาแพงและไม่มีทักษะความรู้ด้านไฟฟ้า แต่ในขณะเดียวกันประชาชนหลายกลุ่มได้ผนึกกำลังสร้างเครือข่ายและเลือกที่จะหยุดนิ่งเพื่อเรียนรู้ศักยภาพที่ตนเองมีอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของธรรมชาติ อย่างเครือข่ายเรียนรู้การซ่อมโซล่าเซลล์ ณ คำแสดธรรมธาร จ.กาญจนบุรี ในวันที่ 23-24 เมษายน 2554 ซึ่งจัดร่วมกับมูลนิธินโยบายสุขภาวะ โดยมีอาจารย์ ทรงกช สนเท่ห์ ปราชญ์ชาวบ้านจากสระบุรีมาเป็นวิทยากร


พวกเรากลุ่มเยาวชนยุคพลังงานสะอาด(Solar Generation) กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลือกที่จะก้าวเดินเพื่อเน้นย้ำการปฏิเสธพลังงานนิวเคลียร์ และถ่านหิน และเลือกอุดช่องว่างพลังงานโดยร่วมเป็นหนึ่งในผู้เข้าอบรมการซ่อมโซล่าเซลล์ในครั้งนี้ ตามแนวความคิดที่ว่า “เราทุกคนสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้โดยพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อผลิตพลังงานใช้เองได้”พวกเราได้เรียนรู้การซ่อมโซล่าเซลล์ร่วมกับพระคุณเจ้า และลุง ป้า น้า อา ประมาณ 40 คนที่สนใจจากจังหวัดบุรีรัมย์ ลพบุรี เพชรบุรี กรุงเทพฯ กาญจนบุรี และนครสวรรค์ ผู้เข้าร่วมสนใจติดแผงโซล่าเซลล์เพื่อลดค่าไฟรายเดือน และบางกลุ่มจะนำไปติดกับเครื่องสูบน้ำใช้แทนน้ำมัน เพื่อลดต้นทุนและใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียน


จากรอยแตกไม่กี่รอยทำให้แผงโซล่าเซลล์ราคาหลายพันลดเหลือเพียงแค่ 500 บาท แต่เชื่อหรือไม่ว่ากระดาษฟอยด์ติดหม้อธรรมดาแผ่นหนึ่งสามารถคืนคุณค่าของแผงโซล่าเซลล์ที่ใครหลายคนมองข้ามให้กลับมาผลิตไฟฟ้าได้ดังเดิม ในการอบรมครั้งนี้เราได้ลงมือเจาะกระจกชั้นบนสุดจนถึงชั้นที่เซลล์ขาด แล้วเชื่อมเซลล์เพื่อต่อวงจรด้วยกระดาษฟอยด์ติดหม้อ จากนั้นต่อวงจรไดโทด ก่อนเคลือบโพลียูริเทนปิดแผล กันน้ำ กลายเป็นแผงโซล่าเซลล์ที่ให้ประโยชน์สูงในราคาประหยัดสุด นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การล้างแบตเตอรี่ คือการเทน้ำที่มีค่าความเป็นกรดจากแบตเตอรี่เก่าออก แล้วใส่น้ำกลั่นเข้าไปแทน ทำให้สามารถนำกลับแบตเตอรี่มาใช้ใหม่ โดยไม่ต้องทิ้งให้เป็นขยะไร้ค่า  ดีกว่าซื้อของใหม่ที่แพงกว่า 10-15 เท่า

นอกจากนี้ยังมีเกร็ดความรู้น่าคิดเรื่องกระแสไฟฟ้าอย่างที่ทราบกันดีว่าไฟฟ้ากระแสตรงต้องแปลงเป็นกระแสสลับก่อนใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน เช่น หลอดไฟ โทรทัศน์ ตู้เย็น เป็นต้น แต่ความจริงแล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าสามารถต่อเข้ากับกระแสตรงและกระแสสลับได้ด้วยแรงดันประมาณ 110-240 V ได้เลยโดยไม่ต้องผ่าน Inverter ยิ่งไปกว่านั้น อ.ทรงกช ยังได้ชี้หนทางการลดต้นทุนการซื้อ Inverter ใหม่ในราคาหลายพันบาท ด้วยการใช้เครื่องสำรองไฟฟ้าแทน การใช้โซล่าเซลล์จึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ไม่ต้องลงทุนถึงหลักแสน หลักพันต้นๆกว่าใช้ได้แล้ว ใครๆก็ทำได้ ขอให้กล้าทำ


ฉันได้พูดคุยกับศานติ ธนธีระโชติ เยาวชนยุคพลังงานสะอาด (Solar Generation) จากจังหวัดนครสวรรค์ ที่ได้เข้าร่วกิจกรรมในครั้งนี้ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดว่า “ผมได้รับประโยชน์จากการอบรมครั้งนี้มาก ได้รู้ข้อมูลจำเพาะของเซลล์แสงอาทิตย์ซึ่งนึกไม่ถึงว่าเราสามารถเจาะและตัดกระจกเพื่อเชื่อมเซลล์ได้ รู้สึกชื่นชมการช่างสังเกตและสร้างสรรค์ของคนไทยเรา แต่อย่างไรก็ตามผมจะพยายามทดลองไม่ใช้แบตเตอรี่ซึ่งจะกลายเป็นขยะมีพิษในอนาคต”


ด.ช. สายหยุด พิญเพียรคิด เยาวชนยุคพลังงานสะอาดจากจังหวัดนครสวรรค์อีกคน กล่าวเสริมว่า “ผมชอบการพูดแล้วลงมือปฏิบัติ ผมจะนำความรู้ที่ได้รับและแผงโซล่าเซลล์ที่ซ่อมไปทดลองใช้กับวิทยุของผม กลางวันผมจะฟังเพลงและชาร์ตแบตเตอรี่ไปด้วยเพื่อสะสมไฟฟ้าไว้ใช้ตอนกลางคืน ผมจะทดลองใช้แผงโซล่าเซลล์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นด้วย”


อาจารย์ทรงกช สนเท่ห์  ปราชญ์ชาวบ้าน จากจังหวัดสระบุรี เน้นว่า “ชาวบ้านส่วนใหญ่มีศักยภาพที่จะผลิตพลังงานใช้เอง แต่ยังขาดการสนับสนุนจากองค์กรอย่างจริงจัง การให้ความรู้ไม่ใช่แค่การประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์และป้ายโฆษณาทั่วไป แต่เป็นการลงมาให้ความรู้แล้วปฏิบัติให้เกิดผลจริง การอบรมครั้งนี้เป็นความสำเร็จขั้นหนึ่ง และก็จะมีขึ้นที่สอง สาม สี่ ไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าทุกคนทำได้ เราสามารถนำของเหลือทิ้งไร้เปล่าประโยชน์ มาเติมความรู้แล้วประดิษฐ์เป็นเครื่องใช้ประหยัดพลังงานได้”

สำเริง บริรักษ์
เจ้าหน้าที่ดูแลโครงการเรารักษ์โลกประจำมูลนิธิคำแสดธรรมธาร ย้ำความเป็นไปได้ของการใช้พลังงาน หมุนเวียนว่า “เรากินข้าว เราต้องไปหาวัตถุดิบมาทำอาหาร พลังงานหมุนเวียนก็เหมือนกัน ทรัพยากรมีอยู่เหลือเฟือ ขึ้นอยู่กับเราจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร”


กลุ่มเยาวชนยุคพลังงานสะอาด (Solar Generation) เป็นหนึ่งเยาวชนที่ได้มีโอกาสจะสร้างพลังงานที่พึ่งตนเองได้และได้ตั้งปณิธานว่าเราจะช่วยลดช่องว่างขององค์ความรู้ด้านพลังงานที่ต่างกันในสังคม โดยนำความรู้มาเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจโดยส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานต่อไป เช่นการเอากุญแจแห่งความรู้และทักษะด้านไฟฟ้าให้คนที่อยากใช้พลังงานหมุนเวียนไขประตูเข้าไป เปรียบเหมือนตัวเชื่อมความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน พลิกของไร้ค่ามาสู่พลังงานที่พึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงพลังงานจากส่วนกลาง นี่แหละหนึ่งในอาวุธการปฏิวัติพลังงานในมือคุณ ที่ไม่ต้องรอให้ใครมาหยิบยื่นพลังงานให้เรา


โดย วีรากานต์ เก่งกาจ ผู้ประสานงานโครงการเยาวชนยุคพลังงานสะอาด กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้