กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ปฏิรูปพิธีกรรม E(H)IA! ก่อนกระบี่จะตกอยู่ใต้เงาถ่านหิน

ที่ผ่านมาในกระบวนการจัดทำ E(H)IA ในการพิจารณาโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน กรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินบ้านคลองรั้ว ถือเป็นตัวอย่างของกระบวนการ E(H)IA ที่ล้มเหลวและไม่ชอบธรรมมากที่สุด 

ขณะนี้กระบวนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงาน E(H)IA ของท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ หรือคชก.เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านจากชาวกระบี่ผู้ไม่เห็นด้วยกับโครงการ และประชาชนกว่า 45,000 คน ที่ร่วมลงชื่อปกป้องกระบี่บน ProtectKrabi.org และ Change.org ทั้งในประเด็นเรื่องผลกระทบทางสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความอุดมสมบูรณ์สวยงามอันเป็นเอกลักษณ์ของกระบี่ที่อาจถูกทำลายไปหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น เห็นได้ชัดถึงจุดบอดของกลไก E(H)IA หากเราไม่เร่งรื้อระบบ E(H)IA เราคงต้องยอมสูญเสียกระบี่ไปให้กับความไม่ชอบธรรมของระบบ E(H)IA ที่เอื้อต่อเจ้าของโครงการ

#EHIAreform ต้องรื้อ! เหตุผลที่ต้องปฏิรูประบบ E(H)IA

1. แยกเจ้าของโครงการออกจากผู้จัดทำ E(H)IA

กระบวนการ E(H)IA ควรจะเป็นกระบวนการที่เอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นของชุมชนและประชาชนทั่วไป ไม่ใช่เอื้อและสร้างความชอบธรรมให้กับเจ้าของโครงการ โดยเจ้าของโครงการต้องไม่เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการทำรายงาน E(H)IA ควรมีหน่วยงานอิสระเป็นหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่จัดหาผู้ทำรายงาน และมีหน้าที่ในการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไม่ให้ตกเป็นผลประโยชน์ของผู้ใดผู้หนึ่ง จำเป็นต้องสร้างกฎหมายรองรับสิทธิชุมชน ประกอบกับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ดังเช่นที่เห็นในกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตพยายามผลักดันโครงการให้ผ่านพ้นเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยที่ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและภาคสังคม

2. กำหนดอายุของการจัดทำรายงาน E(H)IA ของโครงการนั้นๆ

ปัจจุบันกระบวนการ E(H)IA อนุญาตให้ผู้เสนอโครงการสามารถแก้ไขได้หลายรอบจนกว่าจะผ่าน กล่าวคือ ในกรณีที่คชก. ให้ความเห็นชอบกับรายงานฯ สผ.จะสรุปความคิดเห็นไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และครม.พิจารณา หลังจากนั้นหน่วยงานผู้อนุญาตจะออกใบอนุญาตให้เจ้าของโครงการดำเนินการต่อไปได้ แต่หากไม่เห็นชอบ เจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการแก้ไขรายงานฯ แล้วยื่นรายงานที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม หรือจัดทำใหม่ทั้งฉบับให้กับสผ. สรุปการพิจารณาและนำเสนอคชก.ภายใน 30 วัน ซึ่งนั่นหมายความว่า ถึงแม้ครั้งนี้คชก.จะไม่อนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่กฟผ.จะสามารถนำไปแก้ไขและเสนอได้ใหม่ในอีกทุกๆ 30 วัน หรือทำรายงานใหม่และยื่นเสนอใหม่อีกครั้งโดยไม่จำกัด อีกนัยหนึ่งคือ เราคงต้องต่อสู้เพื่อผลักดันให้โครงการนี้ยุติลงอย่างไม่มีวันสิ้นสุด หากกระบวนการ E(H)IA ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ชอบธรรม

3. เริ่มต้นระบบ SEA เพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

การประเมินผลกระทบ EIA หรือ EHIA นั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องประเมิณผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์  (Strategic Environmental Assessment: SEA) นำทางเลือกและทิศทางในการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ อย่างละเอียด สอดคล้องกับชุมชน และความคิดเห็นของประชาชน แต่สำหรับในกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น นอกจากจะไม่พิจารณาทางเลือกพลังงานหมุนเวียนที่ชุมชนต้องการแล้ว ยังผลักดันโครงการด้วยการเสนอพื้นที่ตั้งโครงการมาเพียงสองตัวเลือก คือ บริเวณสะพานช้าง และบริเวณบ้านคลองรั้ว ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่มีความสำคัญระดับโลก มีหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในประเทศอันเป็นบ้านของฝูงพะยูน และเป็นแหล่งประมงที่หล่อเลี้ยงชาวกระบี่และชาวไทย อีกทั้งยังขาดการประเมินผลกระทบที่เกิดจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และไม่มีการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพและสังคมของบริเวณนั้นอย่างแท้จริง กระบี่มียุทธศาสตร์ของจังหวัดที่ประชาชนเห็นร่วมกัน คือ การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยที่เน้นเกษตรกรรม การประมง และการท่องเที่ยว ซึ่งเหมาะกับสภาพแวดล้อมของกระบี่ ชาวกระบี่ไม่ปฏิเสธโรงไฟฟ้า แต่ปฏิเสธโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น

ถึงเวลาแล้วที่กระบวนการ E(H)IA ที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส ทั้งกระบวนการ ขาดข้อมูลที่รอบด้าน ผิดฝาผิดตัว จะต้องถูกปฏิรูปเสียใหม่ ให้กลายเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการกลั่นกรองผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสุขภาพอย่างเกิดประโยชน์สูงสุดแก่คนในชาติ มากกว่าแค่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมหนึ่งเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ หรือการทำอีไอเอ/อีเอชไอเอของโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

ร่วมหยุดถ่านหิน ปฏิรูป E(H)IA ที่นี่ www.protectkrabi.org

 
Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 2, 2558 ที่ 17:03
 



Create Date : 03 มีนาคม 2558
Last Update : 3 มีนาคม 2558 11:45:15 น. 0 comments
Counter : 953 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com