กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ธรรมาภิบาลการลงทุนพลังงานของประเทศไทยร่วง



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP-21) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัวแทนของรัฐบาลไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงจุดยืนของประเทศในการลดโลกร้อน ประกาศลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปีพ..2573 หรือภายใน 14 ปี โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการลดพลังงานจากฟอสซิล หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยอาศัยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นที่น่าสนใจว่ารัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan : PDP) อย่างไรหรือไม่ อันเป็นปัจจัยในการต่อกรกับวิกฤตโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่รัฐยังคงผูกขาดกับการลงทุนอุตสาหกรรมฟอสซิลและถ่านหิน โดยที่ขณะนี้กลายเป็นปัญหาข้ามพรมแดน เมื่อปัญหาจากการทำโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงในประเทศไทย แต่ยังเชื่อมโยงกับจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย จากโครงการเหมืองถ่านหินขนาดยักษ์ใหญ่ที่มีเจ้าของเป็นบริษัทสัญชาติไทย ที่มีชื่อว่า บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)

นี่คือที่มาของการร่วมกันหารือเสวนาเมื่อวานนี้ (31 .. 2559) ในหัวข้อ"บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน : การลงทุนพลังงานและธรรมาภิบาลเพื่อการเปลี่ยนผ่าน" ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี ๖๐ พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านพลังงานและการลงทุน เพื่อพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ในด้านการลงทุน ความเสี่ยง อนาคตพลังงานของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความรับผิดชอบข้ามพรมแดนของประชาชน นักลงทุน และรัฐบาล โดยทุกฝ่ายต่างลงความเห็นว่า หลักธรรมาภิบาลคือสิ่งที่สำคัญในประเด็นการลุงทุนทางพลังงาน เพื่อดำเนินการต่อกรกับภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแท้จริง

“พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ แต่จะทำอย่างไรถึงจะใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีปัญหาด้านสุขภาวะ และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหลักสำคัญคือหลักธรรมภิบาล การมีส่วนร่วม โปร่งใส และความรับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนยอมรับทุกภาคส่วน” รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

แก้วิกฤตโลกร้อนด้วยพลังงานหมุนเวียน … หรือถ่านหิน?

การลงทุนพลังงานกับธรรมาภิบาลบนการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต้องร่วมมือกันเพื่อแก้วิกฤตโลกร้อนที่กำลังคุกคามทั่วโลก กระแสการลงทุนพลังงานถ่านหินและฟอสซิลในขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงขาลง ไม่ว่าจะเป็นการปิดตัวลงของเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก การที่ G7 จะยกเลิกเงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิลภายในปี 2568 หรือการที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาเตือนว่าแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของเอเชียถือเป็นหายนะของโลก ในขณะเดียวกันที่อัตราการใช้งานพลังงานหมุนเวียนในประเทศต่าง ๆ ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีหยุด สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศชี้ว่า การเปลี่ยนสู่พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นสิ่งที่เป็นไปได้

"ปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในแต่ละเดือนทำลายสถิติทุกปี
ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งมีผลบังคับใช้กับทุกประเทศในการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีเป้าหมายหลักคือ เพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2°C เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หากจะลดให้ได้ตามเป้า จะต้องมีการเปลี่ยนโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม และรูปแบบการใช้พลังงาน สิ่งที่เราจะต้องทำคือการปฏิวัติครั้งใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมเปลี่ยน หรือเราจะยอมรับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น" ผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว “ถ้าเรายังอยากรักษาโลกที่มีสภาพสมดุลของสภาพภูมิอากาศ ทางเลือกที่ถูกต้องที่ควรจะไป คือ การมองต้นทุนของโครงการพลังงานแต่ละโครงการ โดยที่มองไปถึงต้นทุนสิ่งแวดล้อมระยะยาว บทบาทของภาครัฐควรจะสร้างแรงจูงในบรรยากาศการลงทุน การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะกระตุ้น และสนับสุนการลงทุนคาร์บอนต่ำ รวมถึงชี้ให้เห็นความเสี่ยงของการลงทุนคาร์บอนสูง”

นอกจากนี้ คุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระนโยบายและการวางแผนพลังงาน ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจไว้ว่า เหตุใดแผนพลังงานจึงไม่นำไปสู่ความยั่งยืน แต่เป็นการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลมากขึ้นไปเรื่อยๆ หากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 9โรง ประเทศไทยจะไม่สามารถลดอุณหภูมิได้ตามเป้าหมาย COP21 ที่รัฐบาลได้ให้ไว้อย่างแน่นอน

"พลังงานหมุนเวียนถูกมองว่าเป็นสิ่งที่กัดเซาะผลประโยชน์ของการไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนไม่แพงและมีประสิทธิภาพ แต่เพราะอะไรการลงทุนภาคพลังงานของไทยจึงเน้นถ่านหินและก๊าซ คำตอบคือเรื่องธรรมาภิบาล และการเอื้อประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจพลังงานในขณะนี้ ที่ผ่านมาการไฟฟ้าเลือกที่จะเปรียบเทียบเฉพาะต้นทุนการผลิตเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบอย่างไม่เท่าเทียม ไม่ใช่บนฐานเดียวกัน การลงทุนถ่านหินต้องใช้สายส่ง มีการสูญเสียระหว่างทาง แต่พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ต้องลงทุนมาก ใช้อยู่ตรงนั้น ผลิตอยู่ตรงนั้น ประหยัดทั้งการสูญเสียและภาระการลงทุนเพื่อการผลิตไฟฟ้า

การวางแผนภาคพลังงานตอนนี้ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการใช้ไฟฟ้าที่แท้จริงอีกต่อไป แต่วางแผนเกินการใช้งานจริง อยู่บนผลประโยชน์แบบผูกขาดของธุรกิจพลังงานภาคไฟฟ้า" คุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน กล่าวถึงปัญหาธรรมภิบาลที่เกิดขึ้นในภาพการผูกขาด หากเราสามารถปลดล็อคการผูกขาดนี้ เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงสู่ยุคพลังงานที่ยั่งยืนได้

ลงทุนเพื่อคุ้มทุนและกำไร …หรือเพื่อความยั่งยืน?

โลกจะต้องขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ทั้งการผลิตและการบริโภค นี่คือสิ่งที่บริษัทอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันจะต้องคำนึงถึงในการลงทุน แต่ขณะนี้กลับเป็นไปอย่างกอบโกยเพื่อหวังผลกำไรโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมาต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด ได้เผยข้อค้นพบจากงานวิจัย (เบื้องต้น) การประเมินระดับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับในประเทศไทย  จากศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าและมูลค่าตลาดของหุ้นผู้ประกอบการ โดยวัดจากเกณฑ์ความถูกต้อง ความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ และกระบวนการการตรวจสอบรับรอง ซึ่งใจความหนึ่งของบทวิเคราะห์สรุปไว้ว่า  “กิจการที่รัฐเป็นเจ้าของ ได้แก่ กฟผ.และปตท.ควรแสดงความรับผิดชอบ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะในระดับที่สูงกว่าบริษัทเอกชน เนื่องจากมีการใช้อำนาจผูกขาด ใช้ทรัพยากรสาธารณะ เป็นกิจการของรัฐซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชน มีบทบาทต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบายด้านการพลังงานของประเทศ และควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับบริษัทเอกชน” คุณสฤณี อาชวานันทกุล เผย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรหมแดน จากบริษัทไทยสู่หายนะที่อินโดนีเซีย

“อยากเรียกร้องสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ดีของชุมชนคืนกลับมา เพราะยังจำได้ดีอยู่่ว่าธรรมชาติดีๆ ในสมัยเด็กเป็นอย่างไร”

หนึ่งในผู้มาแลกเปลี่ยนประเด็นในวันนี้ คือ อี เคอร์ตุส บาเกียร์ ยาสะ ตัวแทนชุมชนหมู่บ้านเคอทาบัวนา เหมืองถ่านหินกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย ผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองถ่านหินกาลิมันตัน โดยเจ้าของเหมืองบริษัทสัญชาติไทยนามว่า บ้านปู จากพื้นที่ที่เคยเป็นทุ่งนา ภูมิทัศน์ก็เปลี่ยนไป น้ำโดยรอบมีมลพิษ ยากที่จะหาแหล่งน้ำสะอาดใช้อุปโภคบริโภค จำเป็นต้องซื้อน้ำเพื่อดื่มกิน จากการที่เหมืองใช้น้ำเยอะ ช่วงหน้าแล้งชุมชนจึงไม่มีน้ำใช้ทำเกษตรกรรม และน้ำที่ปล่อยออกมาจากเหมืองก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางเกษตร มีปัญหาเด็กตกเหมืองเสียชีวิต บ้างก็มีมากถึงปีละ 3 คน การเปลี่ยนภูมิทัศน์จึงไม่เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนพื้นที่ แต่ยังเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ทำกิน ทำลายวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้านอย่างถาวร

“ปัญหาหนื่งที่เหมืองถ่านหินของบริษัทไอทีเอ็ม “ITM” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปูฯ นี้ได้สร้างบาดแผลไว้คือ มลพิษและความเสียหายทางภูมิทัศน์ทางธรรมชาติหลังจากการทำเหมือง โดยที่ชุมชนต้องรับผลกระทบเนื่องจาก ลำห้วยของหมู่บ้านซึ่งชุมชนใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรเป็นลำคลองเดียวกันกับที่เหมืองถ่านหินใช้ชะล้างถ่านหิน และปล่อยน้ำเสียทิ้งลงคลอง การไม่ฟื้นฟูภูมิทัศน์ทางธรรมชาติจึงถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่งของการทำเหมืองถ่านหิน เราไม่ได้กินถ่านหิน เรากินข้าว เราอยากขอให้บริษัทถ่านหินออกไปจากพื้นที่ชุมชน” อี เคอร์ตุส บาเกียร์ ยาสะ กล่าว

การสำรวจของกรีนพีซพบว่า เหมืองถ่านหินในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกและตะวันตกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายภูมิทัศน์และทำความเสียหายต่อคุณภาพน้ำใต้ดิน ทำให้ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และหนึ่งในบริษัทเหมืองถ่านหินรายใหญ่ที่สุดที่เข้ารับสัมปทานในบริเวณนี้ คือบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชนปัจจุบันหมู่บ้านเคอทาบัวนาในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกได้สูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรกว่าครึ่งหนึ่ง หรือราว 80 แฮกตาร์ให้แก่สัมปทานเหมืองถ่านหินไปแล้ว และสิ่งที่บริษัทเหลือทิ้งไว้หลังจากสร็จสิ้นการทำเหมืองก็คือ หลุมเหมืองร้างที่น้ำเต็มไปด้วยการปนเปื้อนสารพิษ เหมืองถ่านหินเหล่านี้ดำเนินการโดยบริษัท PT Indo Tambangraya Megah Tbk (ITM), ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซีย บริษัท ITM ควบคุมโดยบ้านปูซึ่งมีหุ้นส่วนร้อยละ 65 บริษัทลูกของ ITM ในกาลิมันตันได้แก่ PT Kitadin, PT Indominco Mandiri และ PT Jorong Barutama Greston.

อ่านเพิ่มเติม: รายงาน ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการลงทุนถ่านหินของบริษัทไทยในอินโดนีเซีย

“การลงทุนใดๆ ก็ตามที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงไม่ถือว่าเป็นการลงทุนที่ก้าวหน้าและประสบผล บ้านปูต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบและทำการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชุมชนในกาลิมันตัน บริษัทบ้านปูต้องมุ่งมั่นและเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อย กลุ่มนักลงทุนและประชาชนสามารถร่วมกันผลักดันบริษัทอุตสาหกรรมสู่การลงทุนในแนวทางที่ถูกต้อง” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ดังที่ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ กล่าวไว้ว่า “เรื่องการลงทุนพลังงาน ประเทศเราคิดแค่เพียงการคุ้มทุน แต่เราต้องมองความหมายของการคุ้มทุนให้กว้างกว่าเดิม เพราะความเสี่ยงอันตรายคือสิ่งที่ทุกคนต้องรับ ความรับผิดชอบในการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านจะต้องมีธรรมาภิบาลด้วยเช่นกัน” การลงทุนพลังงานถ่านหินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในช่วง “การช่วงชิง” ระหว่างการลงทุนธุรกิจพลังงานถ่านหินและธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยมีบริษัทบ้านปูเป็นหนึ่งในห้าบริษัทยักษ์ใหญ่ในภูมิภาค แม้ภาครัฐในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงผลักดันพลังงานถ่านหินอย่างดึงดัน แต่ขณะนี้มี 20 ประเทศทั่วโลกที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง และยังเพิ่มจีดีพีของประเทศได้ นี่คือโจทย์ที่ประเทศไทย ทั้งภาครัฐและอุตสาหกรรมอย่างบริษัทบ้านปู จะต้องก้าวเดินไปพร้อมกันเพื่อความยั่งยืนของประเทศ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อม ถ้าเราไม่คำนึงถึงความยั่งยืน

ผลักดันบ้านปูยุติยุคถ่านหิน ลงทุนพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ร่วมลงชื่อคลิกที่นี่


ที่มา: Greenpeace Thailand




Create Date : 08 มิถุนายน 2559
Last Update : 8 มิถุนายน 2559 14:09:04 น. 0 comments
Counter : 801 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com