กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

สัตว์ป่าโลกลดลงร้อยละ 50 ในเวลาเพียงแค่ 2 ชั่วอายุคน



เขียน โดย จันทร์นารี ถัดทะพงษ์ อาสาสมัครกรีนพีซ

รู้หรือไม่ว่า ภายในเพียงช่วง 2 ชั่วอายุคนของมนุษย์ โลกเราสูญเสียสัตว์ป่าไปแล้วกว่าร้อยละ 50

สาเหตุหลักของการลดจำนวนลงของสัตว์ป่า คือ การขยายตัวของเมือง การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการลักลอบล่าสัตว์ และการสร้างขยะ เมื่อป่าอันอุดมสมบูรณ์เหลือน้อยลง บ้านแหล่งพักพิงข้องสัตว์ป่าก็ลดน้อยลง

แล้วตอนนี้จำนวนประชากรสัตว์ป่าโลกเหลือเท่าไหร่

จากรายงานของ the Living Planet จำนวนประชากรของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำและปลา ลดลง 52% ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 ตัวเลขนี้ยึดหลักของ the Living Planet Index หรือ LPI ซึ่งปริมาณที่วัดได้นั้นมีมากกว่า 10,000 ตัวแทนของสายพันธุ์ที่ระบุไว้ เรียกได้ว่า มนุษย์เป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งที่หก แต่การเปลี่ยนแปลงที่มนุษย์สร้างในครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติผ่านมา และนี่คือตัวอย่างจากผลกระทบของขยะจากชีวิตประจำวันของเราต่อสัตว์

ภาพผลกระทบจากขยะต่อชีวิตของสัตว์

หากจินตนาการไม่ออกว่าชีวิตประจำวันของเราส่งผลกระทบต่อสัตว์อย่างไรบ้าง นี่คือตัวอย่างภาพถ่ายจากการสำรวจผลกระทบของขยะต่อสัตว์ป่าและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นงานรณรงค์ที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวสหราชอาณาจักรคำนึงถึงผลกระทบจากขยะต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อม สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก The Guardian

ภาพของเม่นที่ถูกรัดด้วยเศษพลาสติก (ภาพโดย Chris Packham/Lidl UK)

ภาพของตัวนากที่เกาะอยู่บนยางรถยนต์ (ภาพโดย Chris Packham/Lidl UK)

ภาพของกระรอกแดง ท่ามกลางกองขยะจากอาหารฟาสต์ฟูด (ภาพโดย Chris Packham/Lidl UK)

ภาพของบอลลูนรูปหมีแพนด้าที่ลอยไปตกใน New Forest, Hampshire ประเทศอังกฤษ (ภาพโดย Chris Packham/Lidl UK)

ถึงเวลาแล้วที่จะหันมาเลือกใช้วิธีการที่ยั่งยืนให้มากขึ้น คำนึงถึงการใช้ชีวิตที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด  เพื่อทุกสรรพสิ่งที่เชื่อมโยงกัน และหากเราร่วมมือกันจะมีศักยภาพในการสร้างวิธีการแก้ปัญหาที่จะปกป้องอนาคตของเรื่องนี้ เพื่อปกป้องสัตว์ให้อยู่คู่โลกต่อไป เพื่อโลกใบเดียวใบนี้ของพวกเรา!


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/50-2/blog/57793




 

Create Date : 26 ตุลาคม 2559   
Last Update : 26 ตุลาคม 2559 11:31:50 น.   
Counter : 3444 Pageviews.  


ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ..สำคัญอย่างไร?



เขียน โดย แก๊งค์ปิศาจฝุ่นพิษ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในอากาศที่เราหายใจอยู่นั้นมีมลพิษ…

ดัชนีคุณภาพอากาศ คือ ตัววัดที่ช่วยบอกเราได้ว่ามลพิษทางอากาศมีมากแค่ไหน แต่ที่น่าเศร้าคือ มาตรฐานในการตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศของประเทศไทยยังต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และตัวเลขที่ต่างกันนี้ส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร?

มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นฝุ่นพิษขนาดเล็กไม่เกิน 2.5  ไมครอน (PM2.5) หากไม่มีตัววัดอย่างดัชนีคุณภาพอากาศ เราจะมองไม่เห็นและไม่รู้ว่ามลพิษทางอากาศมีมากแค่ไหน มาตรฐานในการตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนั้นจึงเป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) กรณีนี้เห็นได้ชัดเมื่อต้นปีที่ผ่านมากับวิกฤตหมอกควันพิษที่เชียงใหม่จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว  แต่กรมควบคุมมลพิษยังคงรายงานว่าอากาศที่เชียงใหม่ยังปลอดภัยแม้ว่าทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยควันพิษ เนื่องจากเป็นการวัดคุณภาพอากาศจาก PM10 คือวัดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10ไมครอน ไม่รวมค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สถานกงสุลอเมริกาประจำประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่จึงเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษวัดดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 และเผยแพร่ข้อมูลฝุ่นมลพิษ PM2.5 รายวัน เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่ามลพิษที่แท้จริงเป็นอย่างไร และสามารถป้องกันตนเองได้

จากตารางนี้ จะเห็นได้ชัดว่ามาตรฐานของประเทศไทยอนุญาตให้ผู้ปล่อยมลพิษสามารถปล่อยมลพิษได้ในปริมาณค่าเฉลี่ยที่มากกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่เอื้อให้กับผู้ปล่อยมลพิษมากกว่าการคุ้มครองสิทธิและชีวิตของประชาชน

และแม้ว่าประเทศไทยจะกำหนดเพดานการปล่อยมลพิษไว้ระดับสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดเพื่อให้ผู้ปล่อยมลพิษสามารถปล่อยได้มากขึ้น แต่หลายปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5 ไมครอน(PM2.5) ก็ยังสูงเกินมาตรฐานของประเทศไทยเช่นกัน

ปกติแล้วสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนจะมีอากาศดีกว่าช่วงฤดูอื่นของปี เนื่องจากฝนช่วยชะล้างมลพิษ (สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศได้ที่นี่) และเรามักจะพบกับมลพิษทางอากาศสูงในช่วงต้นปีและปลายปี ด้วยสาเหตุหลักคือ การคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล และภาคอุตสาหกรรม

อันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ในประเทศไทยประมวลผล จากการรายงานข้อมูลของสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ 12 สถานีทั่วประเทศ

เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 เมืองที่มีค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5 ไมครอน(PM2.5) สูงสุด 5 อันดับคือ เชียงใหม่ ลําปาง ขอนแก่น กรุงเทพฯ และราชบุรี ในจํานวนสถานี ตรวจวัดคุณภาพอากาศ 11 จุด มี 7 พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ซึ่งประเทศไทยกําหนดมาตรฐานไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และทุกพื้นที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามมาตรฐานขององค์การอนามัย โลกที่กำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทางออกคืออะไร?

กรมควบคุมมลพิษต้องไม่ละเลยและเพิกเฉยในการทำหน้าที่คุ้มครองชีวิตของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการ

  1. ติดตั้งตรวจวัดและรายงานPM2.5ในทุกสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีอยู่61แห่งใน29 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์ Air4thai.pcd.go.th และโมบายแอพพลิเคชั่น Air4Thai และใช้ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5ไมครอนในการคํานวนดัชนีคุณภาพอากาศ (PM2.5 AQI)
  2. ปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2),ออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx)และฝุ่น ละอองขนาดเล็กทั้ง PM10 และ PM2.5 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
  3. กําหนดวัดค่ามาตรฐานPM2.5และปรอทที่แหล่งกําเนิดมิใช่ในบรรยากาศ รวมถึงการตรวจวัดและรายงาน การปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่

นี่คือทางออกทางเดียวที่จะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ว่าอากาศที่เราหายใจนั้นมีมลพิษและอันตรายมากน้อยเพียงใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาคุณภาพอากาศในประเทศไทย อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย … เพราะเราทุกคนต้องการอากาศดี และคงไม่มีใครอยากอยู่ในเมืองที่ปกคลุมด้วยมลพิษทางอากาศอย่างแน่นอน

ร่วมเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) ที่นี่

#RightToCleanAir #ขออากาศดีคืนมา


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/pm-25/blog/57678




 

Create Date : 25 ตุลาคม 2559   
Last Update : 25 ตุลาคม 2559 11:13:02 น.   
Counter : 1248 Pageviews.  


ทำไมเกรตแบร์ริเออร์รีฟถึงกำลังวิกฤต



เขียน โดย Justin Hawk

ปลาหลากหลายสีและสายพันธุ์แหวกว่ายไปตามปะการัง ท่ามกลางแสงแดดที่ส่องลงมาจากผืนน้ำ ปลากระเบนว่ายผ่านไปอย่างช้า ๆ ราวกับกำลังพักผ่อน นี่คือภาพที่ย้ำเตือนฉันว่าแท้จริงแล้วโลกแห่งธรรมชาตินั้นมหัศจรรย์เพียงใด ทว่ามีความเป็นไปได้ว่าประการังเหล่านั้นสามารถสูญพันธุ์ไปได้ตลอดกาล เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (The Great Barrier Reef) ซึ่งเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเสื่อมโทรมลงอย่างน่าตกใจ ในเวลา 30 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียปะการังไปกว่าครึ่ง ถ้าอยากให้ที่แห่งนี้มีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหลายทศวรรษ ณ เวลานี้ พวกเราจะต้องลงมือทำอะไรสักอย่างแล้ว

การทำความเข้าใจว่าอะไรที่ทำให้ปะการังทรุดโทรมลงดูจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีหลายสาเหตุและปัจจัย แล้วอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปะการังตาย

อุตสาหกรรมถ่านหิน ปะการังฟอกขาว และน้ำเสีย คือหนึ่งในหลายสาเหตุที่มาจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งกำลังทำร้ายเกรตแบร์ริเออร์รีฟ หากเราอยากจะเก็บสิ่งมหัศจรรย์นี้ไว้ให้ลูกหลานได้ชื่นชม ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกับปกป้อง

ถ่านหิน

หินสีดำ ๆ ก้อนเล็กก้อนน้อยมีส่วนอย่างมากในการทำลายความเป็นอยู่ของปะการัง รัฐบาลควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลียได้ให้การสนับสนุนขยายเหมืองถ่านหินและท่าเรือด้วยเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล อุตสาหกรรมถ่านหินถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่อันตรายต่อชีวิตและทำลายสุขภาพของเกรตแบร์ริเออรีฟ

หากเหมืองถ่านหิน Carmichael ผ่านการอนุมัติโครงการจะกลายเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย จะสร้างมลพิษและทิ้งรอยเท้านิเวศขนาดใหญ่กว่าเมืองซิดนีย์ถึงสิบเท่า นอกจากนี้ยังใช้น้ำปริมาณเท่าสระน้ำโอลิมปิกทุก ๆ สองชั่วโมง อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานะทางการตลาดของถ่านหิน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเรียกเหมืองแห่งนี้ว่า “หายนะทางเศรษฐกิจ” ขณะนี้โครงการเหมืองถ่านหินแห่งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการถูกฟ้องร้องจากองค์กรสิ่งแวดล้อมในประเทศออสเตรเลีย

ภาพของท่าเรือถ่านหิน Abbot Point Coal Terminal ที่รัฐควีนสแลนด์

อุตสาหกรรมถ่านหินที่กำลังขยายใหญ่ขึ้น หมายถึงจำนวนเรือและมลพิษที่มากขึ้น ถ่านหินถือเป็นแหล่งพลังงานสกปรกที่เป็นตัวเร่งภาวะโลกร้อน เรือที่แล่นเร็วที่สุดในเอเชียเทียบท่าในบริเวณที่ใกล้กับแนวปะการังแห่งนั้น เป็นเหตุผลว่าทำไมบริษัทถ่านหินถึงวางแผนที่จะขุดลอกบริเวณใกล้เคียง ซึ่งการกระทำเหล่านี้จะทำให้เต่าทะเลและปลาการ์ตูนตกอยู่ในอันตราย การขยับขยายท่าเรือถ่านหิน Abbot Point Coal Terminal จะต้องขุดดิน 1.1 ล้านคิวบิกเมตรในบริเวณใกล้เคียงกับแนวปะการังนั้นและนำไปทิ้งที่พื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ถัดไปไม่ไกลนัก

ปะการังฟอกขาว

ปะการังสีสันสดใสเปลี่ยนเป็นสีขาวซีดอย่างรวดเร็ว นับว่าเป็นปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ อุทยานแห่งชาติทางทะเลเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (The Great Barrier Reef Marine Park Authority หรือ GBRMPA) ได้วัดระดับการตอบสนองต่อการฟอกขาวทางตอนเหนือของแนวปะการังและพบว่าเป็นการฟอกขาวที่รุนแรงที่สุดในภูมิภาค การสำรวจของศาสตราจารย์ Terry Hughes ผู้อำนวยการของ Australian Research Council Centre of Excellence for Coral Reef Studies เปิดเผยว่าปะการังจำนวน 516 ตัว จาก 520 ตัว กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ฟอกขาวและอาจไม่สามารถฟื้นตัวกลับคืนมาได้ (ข้อมูลเมื่อปี 2558)

ภาพบริเวณที่ปะการังฟอกขาว จาก ARC Centre of Excellence for Coral Reef Studies/ Terry Hughes

ปรากฏการณ์ฟอกขาวเกิดจากการที่อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงกว่าปกติ ทำให้ปะการังสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง การสูญเสียสาหร่ายชนิดนี้สร้างผลกระทบแก่ปะการังและทำให้กลายเป็นสีขาว ถึงแม้ว่าปะการังจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาของการฟอกขาวนั้นว่าจะทำให้ปะการังมีชีวิตรอดหรือไม่ กว่าครึ่งหนึ่งของปะการังที่ฟอกขาวอยู่ในขณะนี้ถูกคาดการณ์ว่าจะตาย

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์ฟอกขาวแบบนี้มีสิทธิ์เกิดขึ้นทุกปีจนกระทั่งปี 2573 ปรากฏการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปีนี้มีสาเหตุมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ (El nino) นี่เป็นตัวอย่างปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่แย่ที่สุดที่เราเคยเห็นมา เราอาจจะเสียนีโม่ไปมากกว่าที่จะต้องไปตามหามัน

น้ำทะเลเป็นกรด

ยิ่งเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปบนท้องฟ้ามากเท่าไหร่ มหาสมุทรจะกลายเป็นพิษมากเท่านั้น มีการคาดเดาว่ามหาสมุทรจะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 25 ของคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์

เมื่อมหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเคมีและมีระดับความเป็นกรดมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของความเป็นกรดแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้เกรตแบร์ริเออร์รีฟซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่บอบบางได้รับผลกระทบและมีปะการังตายเป็นจำนวนมาก อาจใช้เวลากว่า 50 ปีเพื่อให้สภาวะความเป็นกรดกลับมาเป็นปกติ ดังนั้นหากสภาวะโลกร้อนยังไม่ได้รับการจัดการ ปะการังเหล่านี้อาจไม่สามารถกลับเป็นดังเดิมได้

คุณภาพน้ำที่แย่

น้ำสกปรกมากขึ้นเรื่อยๆ จากมลพิษและสิ่งสกปรกที่มนุษย์เป็นคนทำ ประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่ชายฝั่งควีนสแลนด์ถูกใช้เพื่อการเกษตร ทำใหัปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและมูลของเสียจากสัตว์ไหลลงสู่ทะเลและทำให้คุณภาพน้ำเสื่อมโทรมลง น้ำที่ขุ่นมัวทำให้การสังเคราะห์แสงของปะการังเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลให้สาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) ซึ่งจำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของปะการังมีจำนวนลดลง

รายงานซึ่งถูกตีพิมพ์โดย Australian Institute of Marine Science (AIMS) แสดงให้เห็นว่า คุณภาพน้ำในบริเวณของเกรตแบร์ริเออร์รีฟแย่ลงจนไม่น่าจะถึงเป้าหมายอัตราการตกตะกอนและระดับไนโตรเจนที่ถูกกำหนดไว้ในแผนอนุรักษ์แนวปะการังปี พ.ศ. 2593 ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าควรจะมีการปฏิบัติตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดมากกว่านี้

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ภัยธรรมชาติต่างๆ อย่างพายุไซโคลนสามารถสร้างความเสียหายแก่ปะการังและผืนหญ้าทะเลอย่างมาก พะยูนและเต่าทะเลได้รับผลกระทบจากทุ่งหญ้าทะเลที่เสียหาย ยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงก็ยิ่งทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งขึ้น ในปี 2554 พายุไซโคลน Yasi ฉีกแนวปะการัง ทำให้ปะการังประมาณร้อยละ 13 ของปะการังทั้งหมดได้รับความเสียหาย

ภาพความเสียหายที่เกิดจากพายุไซโคลน Yasi ในปี 2011

ดาวมงกุฏหนามหรือปลาดาวหนาม

ร้อยละ 42 ของปะการังที่สูญไปมีสาเหตุมาจากถูกดาวมงกุฎหนามหรือปลาดาวหนามกินเป็นอาหาร ปลาดาวหนามซึ่งแพร่ระบาดอยู่เนืองๆได้กลับมาระบาดอีกครั้งเมื่อต้นปี 2553

ภาพของดาวมงกุฏหนามหรือปลาดาวมงกุฏในบริเวณแปซิฟิคตะวันตก

ปลาดาวหนามมีบทบาทอย่างมากต่อจำนวนปะการังจนถูกคาดเดาว่าหากไม่มีปลาดาวหนามในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา หินปะการังคงจะเพิ่มมากขึ้น แผนระยะสั้นที่สามารถทำได้คือ การให้ทีมผู้รับผิดชอบควบคุมจำนวนประชากรของปลาดาวหนามโดยวิธีการฉีด สำหรับแผนระยะยาวนั้นควรจะเป็นวิธีการรับมืออย่างท่วงทีหากมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต

แผนอนุรักษ์แนวปะการังปี พ.ศ. 2593

สถานการณ์ของแนวปะการังในปัจจุบันทำให้เกิดการถกเถียงขึ้นในคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก้เกี่ยวกับรายชื่อสถานที่ที่ตกอยู่ในอันตราย ด้วยเหตุนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศออสเตรเลีย (Australian Government Department of the Environemtn) ได้ออกแผนอนุรักษ์แนวปะการังอย่างยั่งยืนปี พ.ศ. 2593 แผนการนี้ระบุครอบคลุมถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คำมั่นของรัฐบาลในการควบคุมมลพิษและควบคุมผลกระทบที่เกิดจากการขุดลอกในบริเวณข้างเคียง

อย่างไรก็ตามแผนการอนุรักษ์ยังถือว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่มีการระบุแผนการปฏิบัติการที่ชัดเจนเจาะจง มีเพียงแค่เป้าหมายและแนวทางการปฏิบัติอย่างกว้างๆ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการคุกคามซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงน้อยนิดและอนุญาตให้อุตสาหกรรมถ่านหินขยายไปในบริเวณที่ใกล้กับแนวปะการัง

เราควรจะทำอย่างไร?

ทีนี้เราควรจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องปะการังเหล่านั้น สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้และให้ผลมากที่สุดคือการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากสาเหตุที่ปะการังถูกทำลายส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นน้ำมือของมนุษย์ เราควรจะลดรอยเท้าทางระบบนิเวศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และใช้พลังงานหมุนเวียนแทนพลังงานจากถ่านหิน นอกจากนี้ยังควรออกกฏหมายบังคับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  ร่วมยืดหยัดเพื่อเกรตแบร์ริเออร์รีฟ เพราะหากเราไม่ต่อสู้เพื่อปกป้องแนวปะการังที่สำคัญของโลกนี้ เกรตแบร์ริเออร์รีฟก็จะกลายเป็นอดีตอย่างรวดเร็ว

บทความนี้แปลและเรียบเรียงจากภาษาอังกฤษ สามารถอ่านได้ที่นี่


แปลโดย วริษา สี่หิรัญวงศ์ อาสาสมัครกรีนพีซในโครงการแปลเปลี่ยนโลก

ที่มา :www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/57775




 

Create Date : 21 ตุลาคม 2559   
Last Update : 21 ตุลาคม 2559 11:47:19 น.   
Counter : 1200 Pageviews.  


คำสอนจากพ่อ - “ต้องเผาน้อยลงและต้องปลูกต้นไม้มากขึ้น” แนวคิดก้าวหน้าแก้ปัญหาโลกร้อน ในพระราชดำรัสปี



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์


“ถ้าดูในโลกก็เห็นได้ว่าความวุ่นวายนานาประการ ทั้งในด้านที่มนุษย์ทำ ทั้งในด้านที่ธรรมชาติทำ ในระยะหลังๆ นี้ก็ดูได้ว่ามีภัยธรรมชาติทั่วโลก เพราะว่าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง เขาบอกว่าเพราะว่ามีสารคาร์บอนขึ้นไปในอากาศมาก จะทำให้เหมือนเป็นตู้กระจกครอบ แล้วโลกนี้ก็จะร้อนขึ้น เมื่อโลกนี้ร้อนขึ้น มีหวังว่าน้ำแข็งจะละลายลงทะเล และรวมทั้งน้ำในทะเลนั้นจะพองขึ้น เพราะสิ่งของที่ร้อนขึ้นย่อมมีการพองขึ้น ปริมาตรก็มากขึ้น เมื่อน้ำพองขึ้น ก็จะทำให้ที่ต่ำ เช่น กรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลท่วม อันนี้เป็นเรื่องเขาว่า ก็เลยสนใจว่าเรื่องเป็นอย่างไร จึงได้ข้อมูลมาว่า สิ่งที่ทำให้คาร์บอน (ในรูปคาร์บอนไดออกไซด์) ในอากาศ เพิ่มมากขึ้นนั้น มากจากการเผาเชื้อเพลิงซึ่งอยู่ในดินและจากการเผาไหม้”

--- พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิม พระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันอังคาร ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒

หนึ่งในพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ แนวคิดที่มองการณ์ไกลเสมอ และยังไม่ตกยุคแม้จะผ่านมาหลายสิบปี ซึ่งพระองค์ท่านทรงนำพระอัจฉริยภาพเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศตลอดมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ คือปัญหาสำคัญที่พระองค์ทรงไม่สบายพระทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเร่งพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งนำเอาทรัพยากรธรรมชาติอันสมบูรณ์มาใช้ประโยชน์ แต่ได้ละเลยคุณภาพและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมไป พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงแนะนำแนวคิดต่าง ๆ ผ่านทางพระราชดำรัส และพระราชดำรัสที่เราขอยกนำมาบอกเล่านี้ คือ แนวคิดเกี่ยวกับต้นเหตุของปัญหาโลกร้อน ตั้งแต่เมื่อ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2532 ที่ท่านได้ทรงเตือนให้ประชาชนร่วมมือกันแก้ไขทุกภาคส่วน เมื่อย้อนกลับมาอ่านในปีพ.ศ.2559 ปีที่ภาวะโลกร้อนกำลังวิกฤตไปทั่วโลก ก็ยังชัดเจนว่าเป็นคำแนะนำที่เราน่าจะรับฟังในปัจจุบัน

“ต้องเผาน้อยลง และต้องปลูกต้นไม้มากขึ้น”  จากพระราชดำรัสของพ่อหลวง

พระองค์ทรงตระหนักถึงต้นเหตุของวิกฤตโลกร้อน คือ ก๊าซเรือนกระจก  อันมีมูลเหตุมาจากการทำลายป่า และการปล่อยก๊าซมลพิษ อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ซีเอฟซี ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกล่าวถึงสาเหตุ ไว้ว่า เราควรต้องเผาน้อยลง ปลูกต้นไม้ให้มากขึ้น

“การเผาเชื้อเพลิง เช่น ถ่าน ถ่านหิน น้ำมัน เชื้อเพลิง อะไรๆ ต่างๆ เหล่านี้ ทั้งหมดทำให้คาร์บอนขึ้นไปในอากาศจำนวน 5 พันล้านต้นต่อปี แล้วก็ยังมีการเผาทำลายป่าอีก 1.5 พันล้านตัน รวมแล้ว เป็น6.5 พันล้านตัน ถ้าขึ้นๆไปอย่างนี้ ก็เท่ากับเกือบสิบเปอร์เซนต์ ของจำนวนที่มีอยู่แล้วในอากาศ ถ้าไม่มีอะไรที่จะทำให้จำนวนของสารนี้ในอากาศลดลง ก็จะทำให้สารนี้กลายเป็นเหมือนตู้กระจกครอบ ทำให้โลกนี้ร้อนขึ้น ก็เกิดเรื่องยุ่งตามที่ได้กล่าวแล้วพูดกันว่าต้นไม้ทำให้จำนวนคาร์บอนมีน้อยลงได้ ก็เป็นความจริง ต้นไม้ทั่วโลกในปัจจุบันนี้ กินคาร์บอนได้ในอัตรา 110 พันล้านตัน (แสนหนึ่งหมื่นล้านตัน) ต่อปี ก็เป็นอันว่าถ้าเป็นเช่นนั้น ก็สบายใจได้ แต่ว่าถ้าเราดูต่อไปอีก ต้นไม้นั้นเองมันกำไรเพียงครึ่งเดียว ในครึ่งนี้ยังมีดินหรือสิ่งที่กำลังสลายตัวต่างๆ ที่จะส่งคาร์บอนขึ้นไปในอากาศอีก 54.5 พันล้านตัน (ห้าหมื่นสี่พันห้าร้อยล้านตัน) ลงท้ายก็จะได้กำไรเหลือเพียงห้าร้อยล้านตัน ฉะนั้นถ้าดูแล้ว ยังขาดทุนอีก 6 พันล้านตัน มีอีกอย่างหนึ่ง ก็คือทะเล ทะเลนั้น เขาจะส่งคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปบนฟ้า 90 พันล้านตัน(เก้าหมื่นล้านตัน) แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็ดูดคาร์บอนจากอากาศมา 93 พันล้านตัน (เก้าหมื่นสามพันล้านตัน) ที่เขาส่งออกไปนั้น เก้าสิบ ที่เขาดูดลงมา เก้าสิบสามหมายความว่าเขาทำกำไรให้ 3 พันล้าน ถ้าบวกทั้งหมด เป็นอันว่ายังมีการเพิ่มคาร์บอนในอากาศ 3 พันล้านตัน ทุกปีๆ อันนี้ทำให้นักวิชาการเขาเดือดร้อน วิธีแก้ไขก็คือ ต้องเผาน้อยลง และต้องปลูกต้นไม้มากขึ้น”

ไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไร คำสอนของพ่อยังอยู่ในใจของปวงประชาชาวไทยเสมอ เหลือแต่เพียงเราทุกคนนั้นจะน้อมนำและปฏิบัติตามหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด 


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/-/blog/57757




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2559   
Last Update : 20 ตุลาคม 2559 14:57:45 น.   
Counter : 868 Pageviews.  


พ่อของแผ่นดิน ร่มโพธิ์แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์


“ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญ เราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้เปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่การระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว”

--- พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2529

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างไม่เคยว่างเว้น และทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ถึงพร้อมด้วยความบริบูรณ์ โดยหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือป่าไม้ ซึ่งมีความสำคัญต่อทรัพยากรน้ำและดิน  นับเป็นร่มพระบารมีที่ปกปักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

แนวคิดและทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นเกื้อกูลการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ปัญหาป่าไม้ของไทยที่ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อยามน้ำหลากก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันและมีการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จนเป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร กลายเป็นทุกข์ร้อนของแผ่นดินที่พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างมากตลอดมา จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับป่าต้นน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและป้องกันอุทกภัย

ทฤษฎีและแนวคิดตามพระราชดำริต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจนานัปการของพระองค์

1. "ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก"

แนวคิดที่สะท้อนถึงความเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งถึงวิถีแห่งธรรมชาติ โดยที่ได้พระราชทานแนวคิดว่าบางครั้งป่าไม้ก็เจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติขอเพียงอย่าเข้าไปรบกวนและทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากปล่อยไว้ตามสภาพธรรมชาติช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยไม่ต้องทำอะไร ป่าไม้ก็จะขึ้นสมบูรณ์เอง  การระดมปลูกป่าด้วยความไม่เข้าใจ เช่น ปอกเปลือกหน้าดินซึ่งมีคุณค่ามากออกไป และปลูกพันธุ์ไม้ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและระบบนิเวศบริเวณนั้น นอกจากต้นไม้ที่ปลูกไว้จะตายโดยไม่ได้ประโยชน์แล้วยังทำลายสภาพแวดล้อมอีกด้วย

2. ปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง

แนวคิดของการผสมผสานความต้องการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคม  ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ โดยการปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง แบ่งออกเป็น ป่าสำหรับไม้ใช้สอย ป่าสำหรับเป็นไม้ผล และป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ป่าหรือสวนป่า นอกจากประโยชน์เหล่านี้ ป่าไม้ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็จะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และคงความชุ่มชื้นเอาไว้ อันเป็นการอำนวยประโยชน์อย่างที่ 4 ซึ่งเป็นผลพลอยได้

ดังพระราชดำรัสว่า “...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่แล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย...”

3. การปลูกป่าทดแทน

แนวทฤษฏีการพัฒนาป่าไม้เพื่อคืนธรรมชาติสู่แผ่นดินด้วยวิถีทางแบบผสมผสานกันในเชิงปฏิบัติ ซึ่งหนึ่งในใจความของแนวคิดระบุไว้ว่า เพื่อเพิ่มที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ป่า และปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า จนกระทั่งหลายโครงการในปัจจุบันที่เป็นการปลูกป่าทดแทนตามแนวพระราชดำริได้บรรลุผลสัมฤทธิ์น่าพึงพอใจ อาทิเช่น โครงการปลูกป่าชัยพัฒนาแม่ฟ้าหลวง ที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย และที่หนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการปลูกสร้างสวนป่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ โครงการสวนป่าสิริเจริญวรรษ จังหวัดชลบุรี โครงการปลูกป่าห้วยองคต จังหวัดกาญจนบุรี โครงการปลูกป่าเสริมธรรมชิตในและนอกเขตภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

ดังพระราชดำริความตอนหนึ่งว่า “...การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้น แล้วจำต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วนนั้นควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วคลุมแนวร่องน้ำเสียก่อน เพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟจะเกิดง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น ในปีต่อไปก็ให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ถัดขึ้นไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีก ต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี...”

พระองค์ทรงเป็นพระราชาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก และเป็นที่กล่าวว่าไม่มีที่ใดที่พระองค์ไม่เคยเสด็จไปถึง พระองค์ทรงโอบอุ้มผืนดินและผืนป่าเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติไว้ให้กับชาวไทย เป็นหน้าที่ของเราทุกคนแล้วที่จะต้องร่วมปกป้องดูแลสมบัติอันล้ำค่าสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อสืบไป

ขอขอบคุณข้อมูลจากมูลนิธิชัยพัฒนา


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/57733




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2559   
Last Update : 19 ตุลาคม 2559 10:13:24 น.   
Counter : 5363 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com