People living at Samrong canel

น้ำ...เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต วีถีชีวิต ชุมชน และวัฒนธรรม น้ำ...ยังเป็นทรัพยากรส่วนรวม ที่ทุกคนควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่สถานการณ์น้ำในประเทศไทยขณะนี้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต แม่น้ำสายหลักของประเทศไทยและลำคลองส่วนใหญ่ในพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมกลับเป็นแหล่งรองรับน้ำเสีย จากที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ วันนี้สายน้ำส่วนใหญ่เป็นเพียงทางระบายของเสียผ่านสู่ทะเล ภาพการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในพื้นที่เมืองแทบไม่เหลือให้เห็นมากนัก

คลองสำโรงเป็นหนึ่งของลำคลองในพื้นที่เมือง มีชุมชนหนาแน่นและโรงงานอุตสาหกรรมตลอดริมคลองที่ยาวถึง 55 กิโลเมตร ตัดผ่านระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำบางปะกง เดิมทีคลองสำโรงใสสะอาด มีความอุดมสมบูรณ์มาก ชุมชนต่างใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งอุปโภคบริโภค เป็นแหล่งอาหาร และเส้นทางคมนาคมหลัก แต่คลองสำโรงก็เริ่มเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา คลองสำโรงตอนต้นซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดสมุทรปราการเป็นบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่นมากที่สุด จากการตรวจสอบเมื่อปี พ.ศ.2553 พบว่ามีการปนเปื้อนจากโลหะหนัก สารรบกวนฮอร์โมน และสารก่อมะเร็งในคลองสำโรงและตะกอนดิน โดยมีค่าสูงกว่าระดับ “การปนเปื้อนอย่างร้ายแรง” ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความล้มเหลวของมาตรการควบคุมมลพิษและปกป้องแหล่งน้ำของประเทศ

แต่ความเสื่อมโทรมของคลองสำโรงก็ใช่ว่าจะเลวร้ายไปตลอด 55 กิโลเมตร หากเราล่องไปตามคลองขึ้นไปทางฝั่งแม่น้ำบางปะกง จะพบว่าคลองสำโรงตอนกลางกลับมีสภาพน้ำที่สะอาดขึ้นเล็กน้อย และก็พอที่จะทำให้ชุมชนใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เราสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่าเหตุใดน้ำในคลองสายเดียวกันถึงมีสภาพที่แตกต่างกันมากถึงเพียงนี้

ยามรัฐไร้ประสิทธิภาพ ชุมชนจึงลุกขึ้นปกป้องสายน้ำ

แม้มีการพูดเป็นอย่างดีจากหน่วยงานรัฐถึงการปฏิบัติงานปกป้องแหล่งน้ำ แต่ก็ยังดูไม่มีกระบวนการที่เห็นเป็นรูปธรรม คลองสำโรงตอนต้นจึงยังคงประสบปัญหามลพิษทางน้ำจากการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรม ประชาชนที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับสายน้ำจำเป็นต้องลุกขึ้นมาปกป้องลำคลองอันเป็นบ้านและแหล่งอาชีพของชุมชนเพื่อไม่ให้กลายเป็นสายน้ำแห่งสารพิษ จึงเป็นผลทำให้ที่คลองสำโรงตอนกลางยังมีสภาพน้ำที่ดูใสสะอาดและสามารถนำน้ำในลำคลองมาใช้ในการอุปโภคได้ มีการทำเกษตรกรรม ยึดอาชีพริมคลองด้วยการปลูกผักบุ้ง ผักกระเฉด และจับปลามาขาย อีกทั้งยังปกป้องลำคลองด้วยการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประเพณีการเดินทางไปสักการะหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้หากชุมชนมัวแต่หวังรอการดูแลฟื้นฟูจากรัฐบาลและละเลยการร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในชุมชน

มาร่วมเรียนรู้ชุมชนคลองสำโรงแห่งนี้เพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลสายเลือดหลักของชุมชนที่เข้มแข็ง ในการสร้างจิตสำนึกถึงถึงความรับผิดชอบของคนทุกคนต่อสายน้ำ พวกเขามีกระบวนการปกป้องสายน้ำของชุมชนอย่างไร พร้อมกับร่วมรักษ์สายน้ำไปกับพวกเขาใน การเสวนาภายในงานคืนชีวิตสู่ลำคลอง คืนสายน้ำสู่ชุมชน วันที่ 20 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ เวลา 8.30-13.00 น. ณ กลางตลาดโบราณบางพลี คลองสำโรง วัดบางพลีใหญ่ สมุทรปราการ โดยมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านปราชญ์ชุมชนและเยาวชนเพื่อเป็นการประกาศเจตนารมณ์อนุรักษ์แม่น้ำคูคลอง พร้อมกับส่งสัญญาณให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนเร่งแก้ไขปัญหามลพิษทางน้ำ

ทว่าเพียงแค่พลังชุมชนที่เข้มแข็งหรือจะสามารถต้านทานศัตรูที่คร่าชีวิตอย่างมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่นับวันถูกปล่อยเพิ่มมากขึ้นๆ อย่างไร้กฏระเบียบข้อบังคับได้อีกนานสักแค่ไหน การต่อสู้กับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อปกป้องแม่น้ำไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อปราศจากการช่วยเหลือของอำนาจรัฐ ถึงเวลาที่รัฐและหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องให้ข้อมูลที่โปร่งใส  กรมควบคุมมลพิษต้องนำระบบการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลการปล่อยมลพิษสู่แหล่งน้ำ (PRTRs) โดยไม่ปล่อยให้ชุมชนเป็นผู้ต่อสู้กับมลพิษที่ตนไม่ได้ก่ออยู่ฝ่ายเดียว เพื่อให้การร่วมมือปกป้องสายน้ำที่เข้มแข็งของชุมชนไม่สูญเปล่า ทั้งยังเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้กับทุกชุมชนในการพิทักษ์สิทธิและปกป้องสายน้ำอันเป็นพื้นที่ชีวิตของตนต่อไป