กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ดอกไม้ที่เบ่งบานจากขยะ ศิลปะแห่งการรีไซเคิลเพื่อท้องทะเล


“ผมดัดแปลงให้ขยะกลายเป็นดอกไม้และวาฬในนิทรรศการนี้ ขณะนี้เรากำลังสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่เราก็สามารถเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนให้เป็นโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับสัตว์น้ำได้ หากเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลงการบริโภคและวิถีชีวิตสักวันหนึ่งวาฬและสัตว์น้ำอื่นก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ และเราเองก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เช่นกัน เราทุกคนควรร่วมกันทำอะไรสักอย่าง นอกจากเพียงแค่ใช้สิ่งของอย่างทิ้งขว้าง” -- อลิญญะ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะจากขยะ

 

 

เมื่อมองดูสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน หรือลองสังเกตสิ่งที่เราไม่ต้องการหลังจากการชอปปิ้งในแต่ละครั้ง คุณจะรู้ว่าแต่ละวันเราสร้างขยะกันเยอะมากเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นหลอด ถุงพลาสติก ขวดน้ำ ช้อนไอศกรีม และแก้วกาแฟ ซึ่งขยะเหล่านี้หากขาดการจัดการที่ดี ท้ายที่สุดแล้วอาจจะตกลงสู่ทะเล กลายเป็นมลพิษที่คร่าชีวิตสัตว์น้ำน้อยใหญ่ ในงานนิทรรศการงานศิลปะและภาพถ่าย "Art for the Ocean" ได้จัดแสดงถึงหนึ่งในวิกฤตปัญหาท้องทะเล ซึ่งก็คือปัญหาขยะ  แต่ขยะ สิ่งที่ไร้ค่าและถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรก ได้กลายเป็นผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าเมื่ออยู่ในมือของศิลปินนามว่า อลิญญะ (Aligna) ก่อนที่จะไปชมงานศิลปะของเขาในงานนี้ ลองมาทำความรู้จักกับอลิญญะ และแรงบันดาลใจดีๆ ที่ผลักดันให้เขาสร้างสรรค์ผลงานจากขยะที่หลายคนไม่เห็นค่า

 

คิดก่อนทิ้ง ลดปัญหาบริโภคนิยม คุ้มครองโลกอย่างยั่งยืน

อลิญญะ เป็นศิลปินชาวลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เขาทำงานศิลปะจากขยะเพื่อสะท้อนประเด็นเรื่องบริโภคนิยมในสังคม เพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นว่ามีวัสดุต่างๆ ที่ยังสามารถใช้ได้ และไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่เสมอไป เขาเล่าว่าเมื่อครั้งที่เขาอาศัยอยู่ที่ลาวนั้น ชาวลาวไม่มีวัสดุสิ่งของมากมายเท่าที่ยุโรป มักประดิษฐ์ของเล่นขึ้นเอง และใช้สิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆ จนกระทั่งชำรุด โดยอลิญญะ ได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะที่สะท้อนโลกแห่งสังคมบริโภคนิยมนี้ว่า “ในวันนี้ได้มีโอกาสมาสร้างสรรค์งานศิลปะสำหรับวันคุ้มครองโลกร่วมกับกรีนพีซ ปัจจุบันนี้คนเริ่มตระหนักเรื่องรีไซเคิลมากขึ้น เพราะเริ่มมีขยะเพิ่มขึ้น เราไม่เล็งเห็นถึงคุณค่าของสิ่งของต่างๆ และสังคมบริโภคนิยมทำให้ผู้คนโหยหาต้องการของใหม่อยู่เสมอ อาทิเช่น โทรศัพท์รุ่นใหม่ที่ยังไม่ออกแต่ปรากฏในโฆษณา ทั้งที่ของเก่าก็ยังคงใช้ได้ดี เราโชคดีที่มีเทคโนโลยีและสิ่งของที่ช่วยให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเราง่ายขึ้น มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ แต่ขณะที่เราใช้สิ่งของอย่างทิ้งขว้าง อีกมุมหนึ่งของโลกกลับขาดแคลนแม้กระทั่งอาหารและน้ำดื่ม ผมหวังว่าโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นสักวัน”


 

ศิลปะที่เบ่งบานจากขยะ

ดังท่าน ติช นัท ฮันห์ ชี้ว่า ดอกไม้กับขยะไม่ได้แยกจากกัน ต่างเป็นดั่งกันและกัน ดอกไม้ย่อมกลายเป็นขยะ แต่ขยะก็ก่อเกิดดอกไม้ด้วยเช่นกัน ผลงานของอลิญญะชิ้นนี้ไม่ได้เป็นการแสดงเจตจำนงค์เลียนสิ่งสวยงามตามธรรมชาติอย่างดอกไม้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีสิ่งประดิษฐ์ใดจะทัดเทียมความสวยงามตามธรรมชาติได้ แต่อลิญญะมุ่งหวังให้ดอกไม้จากขยะสื่อถึงความสวยงามจากสิ่งที่คนเรามองข้ามและทิ้งขว้าง หากดัดแปลงสักนิดไม่ว่าสิ่งใดก็สามารถมีรูปลักษณ์ใหม่ที่สวยงาม “ทุกคนสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นดอกไม้ได้ไม่ยาก แม้แต่การผลิตจากขยะ ขยะทุกชิ้นยังมีค่า แม้แต่ตะปูสนิมขึ้นก็ยังมีค่าสามารถใช้งานได้และมีความสวยงาม สิ่งที่เรามองว่าสกปรก แต่ที่จริงแล้วเป็นความสกปรกแค่เปลือกนอก ภายในยังสะอาดและมีค่าเสมอ” อลิญญะกล่าว

อลิญญะผลิตงานศิลป์จากขยะทุกชิ้นที่หาได้ ไม่ได้เป็นการเลือกเฟ้นชิ้นใดชิ้นหนึ่งแต่อย่างไร แต่นำเอาขยะทุกชนิดที่สังคมบริโภคนิยมทิ้งขว้าง นำมาสร้างคุณค่าใหม่ ซึ่งอลิญญะเสริมว่า “หากเราใช้ขยะเหล่านี้ซ้ำ ก็จะถือเป็นการลดขยะลงไปอีกชิ้น และทำร้ายโลกเราน้อยลง”

 

ดอกไม้ขยะที่เบ่งบานเพื่อปกป้องท้องทะเลจากขยะ

“วิกฤตขยะที่ส่งผลต่อท้องทะเลในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากการที่เราทิ้งขว้างขยะไปทุกที่ทุกทาง และนั่นเป็นการทำร้ายมหาสมุทรและธรรมชาติ แต่ทุกคนสามารถร่วมกันลงมือทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้นเมื่อรวมกันจะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ การทำดอกไม้จากขยะคงไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด แต่เป็นการสร้างไอเดียให้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรกับขยะได้”

 

 

เมื่อปี พ.ศ.2553 ข้อมูลเผยออกมาว่า ประเทศต่างๆ ที่ติดชายฝั่งทะเลได้ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากถึง 8 ล้านตัน ขยะพลาสติกเหล่านี้ลอยไปเกาะกลุ่มรวมตัวกันเป็นแพขยะในมหาสมุทร โดยที่ประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก ซึ่งหากตัวเลขเหล่านี้ยังไม่น่ากลัวพอ ลองคิดดูสิว่า หากเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค มีความเป็นไปได้สูงว่าพลาสติกในมหาสมุทรอาจจะมีจำนวนมากเท่าปลา อนาคตของมนุษย์กับสังคมบริโภคนิยมคงไม่ใช่ความสะดวกสบายที่เราใฝ่ฝัน แต่จะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกลับมาทำร้ายตัวเราเอง ไม่ใช่เพียงแค่ท้องทะเลเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

“สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ มลพิษ และขยะที่เราทิ้งนั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวัน ผมหวังว่าทุกคนจะหันมาร่วมกันทำสิ่งดีๆ เพื่อมหาสมุทร เพราะการที่เราทำเพื่อมหาสมุทรนั้นเท่ากับทำเพื่อตัวเราเองเช่นกัน ตอนนี้เรายังอยู่อาศัยบนโลกได้อย่างปกติ แต่ลูกหลานของเราอาจจะไม่ หากเรายังคงทิ้งขยะ ทิ้งมลพิษอยู่เช่นนี้ ท้องทะเลที่สวยงามของเราจะล่มสลายไป” อลิญญะกล่าว งานศิลปะจากขยะของเขาในครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาบริโภคนิยมของเราที่ส่งผลต่อท้องทะเล ซึ่งศิลปินหวังว่าจะช่วยให้สังคมนำกลับไปขบคิดถึงปัญหาขยะ ตั้งคำถาม เรียนรู้ รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกสิ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อลดมลพิษให้กับท้องทะเลและโลก ดังเช่นศิลปะจากขยะของอลิญญา

ติดตามผลงานตัวอย่างของ Aligna ได้ที่ aligna.fr 

ชมนิทรรศการ "Art for the Ocean" 22-28 เม.ย.นี้ เวลา 10.00-19.00 และเข้าร่วม Workshop เพื่อศึกษาและทำงานศิลปะจากขยะกับอลิญญะได้ ระหว่าง  16.00-19.00 น.

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก อลิญญะ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะจากขยะ

 

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 20, 2558 ที่ 9:42

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52641/


 



Create Date : 23 เมษายน 2558
Last Update : 23 เมษายน 2558 13:11:54 น. 1 comments
Counter : 1688 Pageviews.  
 
 
 
 
//www.juhyt.com/
juhyt //www.juhyt.com/
 
 

โดย: juhyt IP: 94.23.252.21 วันที่: 22 มิถุนายน 2558 เวลา:4:13:27 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com