กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
โลกแห่งพลังงานหมุนเวียนในมหกรรมพลังงาน

ในวันที่ 27 ก.พ. – 1 มี.ค. 57 ได้มีการจัดงานมหกรรมพลังงานขึ้น ที่ จ.กาญจนบุรี ผม มังกร ในฐานะอาสาสมัคร กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย ได้มีส่วนร่วมกับกรีนพีชในงานนี้ด้วยครับ ซึ่งในวันดังกล่าวเราได้ไปแนะนำเกี่ยวกับ กฎหมายพลังงานหมุนเวียน ที่เราได้รวบรวมรายชื่อพี่น้องชาวไทย เพื่อผลักดันกฎหมายพลังงานหมุนเวียน เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยในงานมหกรรมพลังงานครั้งนี้ เป็นเหมือนการนำนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีการคิดค้นและนำมาใช้โดยกลุ่มเครือข่ายโดยวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งในส่วนใหญ่เป็นการพึ่งพาตนเอง โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง  เก็บเกี่ยวพลังงานหมุนเวียนที่มีในธรรมชาติอย่างไม่สิ้นสุดมาใช้ ซึ่งทำให้เห็นว่า การทำกิจวัตรประจำวันของเรา สามารถทำได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเลย เช่น การใช้เตาจากเชื้อเพลิงชีวมวล การหมักแก๊สชีวภาพจากเศษอาหารในครัวเรือน การใช้กังหันพลังงานลมเพื่อสูบน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม การปลูกผักไร้ดินโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี และการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นต้น

⁞⁞⁞⁞

นอกจากการแสดงนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังมีเวทีกลางที่เป็นเวทีที่ใช้แสดงความคิดเห็น หาทางออกร่วมกันเกี่ยวกับผลงานนวัตกรรมชิ้นต่างๆ ของกลุ่มพี่น้องเครือข่าย ซึ่งเวทีนี้ทำให้เห็นว่ามีกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานคิดค้นนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนอยู่จริง และทำให้เกิดความสามัคคีต่อกลุ่มเครือข่าย ที่จะช่วยกันผลักดันสร้างสรรค์ผลงานเพื่อโลกของเราต่อไป

ในช่วงเย็นของกิจกรรมวันที่ 27 ก.พ. นั้น ทางผู้จัดได้จัดกิจกรรมขึ้นโดยให้กลุ่มต่างๆที่มาร่วมงาน จับสลากหมายเลขเตาพลังงานหมุนเวียนชนิดต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารมื้อเย็นจำนวน 5 รายการอาหาร ซึ่งรวมถึงการหุงข้าวด้วย เตาของกลุ่ม กรีนพีชฯ ที่เราจับสลากได้คือ เตาแก๊สชีวมวล ของคุณลุง พนม ธรรมวิชัยพันธ์ จากกลุ่ม ปราชญ์เกษตรอินทรีย์ บ้านดอนผิงแดด จ.เพชรบุรี ซึ่งครั้งแรกที่รู้ว่าได้เตาของคุณลุง ก็หาข้อมูลว่าต้องใช้เชื้อเพลิงชนิดใด ก็หาข้อมูลด้านเชื้อเพลิงอย่างเดียว คำตอบที่ได้รับคือ ฟืนแห้ง กิ่งไม้แห้ง ที่มีบริเวณใกล้เคียง และผมก็ได้อาสาเป็นคนประกอบอาหารจากเตาดังกล่าว ด้วยความที่มั่นใจในวิชาลูกเสือที่มี คิดว่าไม่น่าจะเกินความสามารถ ( แอบมั่นใจตัวเองสูงไปหน่อยครับ ) เมื่อถึงเวลาที่เริ่มปรุงอาหารก็เริ่มจุดเตา รายการอาหารได้แก่ ทอดมันปลา ผัดผักรวมใส่หมู ต้มฟักไก่ ต้มผักจิ้มน้ำพริก และหุงข้าว รายการแรกที่เริ่มทำคือ ทอดมันปลา เพราะน่าจะง่ายที่สุด ความร้อนที่ได้จากเตามากพอที่จะทำให้ทอดมันสุกได้โดยง่าย จากการกระหน่ำใส่ฟืนตามหลักของวิชาลูกเสือซึ่งหากไฟลุกแล้วให้ใส่ฟืนใหญ่ได้เลยจะทำให้ไฟอยู่ได้นาน และเมื่อทอดมันเสร็จแล้วก็ต่อด้วยผัดผักรวม ถึงตอนนี้ไฟจากเตายังให้ความร้อนได้ดีอยู่ อาจจะต้องลงไปนอนเป่าลมเพื่อให้ไฟแรงขึ้นบ้าง แต่ผัดผักก็เสร็จได้บริบูรณ์ รายการต่อไปคือการต้มน้ำ เพื่อต้มผักจิ้มน้ำพริก ถึงตอนนี้ไฟเริ่มเบา เพราะฟืนที่เราหามาได้นั้นยังไม่แห้งสนิทดี ซึ่งฟืนยังมีความชื้นอยู่ด้วย ความเข้าใจที่ว่าวิชาลูกเสือจะใช้ได้ผลกับเตานี้ ถึงตอนนี้รู้แล้วว่าเป็นความเชื่อที่ผิด แต่ก็ยังดีที่คุณลุงพนม เจ้าของนวัตกรรมเตาดังกล่าว มาบอกว่า ใส่ฟืนมากเกินไป และฟืนยังมีความชื้นอยู่ คุณลุงได้นำฟืนแห้งมาให้และช่วยดูไฟจนต้มผักสุก และคุณลุงก็ทิ้งชะตากรรมการทำอาหารให้ตกเป็นของพวกเราต่อไป

รายการต่อไปคือต้มฟักไก่ ถึงตอนนี้ความมั่นใจไม่เท่ากับในช่วงแรกแล้ว เพราะฟืนที่คิดว่ามีมากพอ ตอนนี้รู้สึกได้แล้วว่าไม่พอ และเหลือแต่ฟืนที่มีความชื้นสูง จึงทำให้ต้มน้ำไม่เดือดสักที เลยต้องลงไปนอนเป่าไฟอีกครั้ง เพื่อให้ไฟแรงขึ้น แต่ก็ไม่แรงพอที่จะทำให้น้ำร้อนได้ จนคุณฯ “พ่ออู๊ด” เจ้าของนวัตกรรม เตาแกลบมหาชน มาสะกิดและบอกผมว่า “เลิกเป่าได้แล้วพ่อหนุ่ม อายเขา” จากนั้นก็บอกให้เดินตามแกไป เพื่อนำเตาของแก ซึ่งใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง มาต้มฟักจนสุก และก็หมดเวลาประกอบอาหารพอดี ซึ่งเรายังไม่ได้หุงข้าวเลย จากนั้นก็นำอาหารที่ปรุงเสร็จของแต่ละกลุ่มไปวางเป็นกองกลาง เพื่อรับประทานร่วมกับพี่น้องเครือข่าย และรับฟังความคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม ที่ได้นำเตาแต่ละชนิดไปใช้ เป็นอย่างไรกันบ้าง จากนั้นก็รับประทานอาหารร่วมกัน บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น ทั้งๆที่ผมไม่เคยรู้จักพี่น้องเครือข่ายฯ ทุกท่านมาก่อนเลย แต่ก็รู้สึกถึงความเอ็นดูที่พี่น้องมีต่อเราเป็นอย่างมากครับ

วันที่ 28 ก.พ. หลังจากที่ได้รับบทเรียนจากมื้อเย็นมาแล้ว ว่าหากมีอุปกรณ์อย่างเดียว แต่ไม่มีความเข้าใจในการใช้งาน ก็จะทำให้เตาไม่มีศักยภาพเพียงพอในการให้ความร้อน ผมจึงได้หาโอกาสไปคุยกับคุณลุงพนม ซึ่งทำให้ทราบถึงหลักการทำงานของเตาดังกล่าว ว่า เตาทำงานโดยระบบแก๊สเชื้อเพลิงชีวมวลแบบอากาศไหลขึ้น โดยความร้อนที่ได้จะทำปฏิกิริยาต่อเนื่องอื่นๆ ให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็ง กลายเป็นแก๊สเชื้อเพลิง เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) แก๊สไฮโดรเจน(H2) และแก๊สมีเธน (CH4) เป็นต้น ซึ่งการจะให้เกิดเป็นแก๊สต่างๆได้นั้น ต้องค่อยๆใส่ฟืน และรอให้ควันจากการเผาไหม้นั้นลอยเข้าไปสะสมให้ห้องเผาไหม้ของเตาจากรูซึ่งเจาะไว้ด้านล่าง เมื่อควันในห้องเผาไหม้มากพอและสะสมจนเป็นแก๊สก็จะลอยออกมาให้เชื้อเพลิงแก่เปลวไฟ จากรูซึ่งเจาะไว้ด้านบน ซึ่งไฟจะมีคุณภาพพอในการทำอาหาร จึงทำให้ตัวผมเองรู้ว่าการทะนง ในความรู้วิชาลูกเสือที่มีนั้น ไม่ได้เป็นผลดีเลยจริงๆ

นอกจากเรื่องการทำงานของเตาแล้ว ยังได้คุยถึงความคิดริเริ่มของคุณลุงพนมอีกว่า สาเหตุที่คุณลุงริเริ่มทำเตานี้ มากจากการศึกษาการทำนาแบบอินทรีย์ การทำน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งคุณลุงบอกว่ารู้แค่นี้ไม่พอ ต้องรู้เพิ่มอีก จึงศึกษาเกี่ยวกับเตาเผาถ่านไร้ควัน และจึงมาศึกษาเตาแก๊สชีวมวล และได้ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ คุณลุงได้สอนเรื่องการทำเตาแก๊สชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นมาแล้ว 4 ปี โดยประมาณ และยังได้สอบถามแนวคิดของคุณลุงเกี่ยวกับงานมหกรรมพลังงานครั้งนี้อีกว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่หลากหลาย และยังยินดีที่คนอื่นจะนำเตาแก๊สชีวมวลของคุณลุงไปคิดพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะพัฒนาให้เหมาะสมกับเชื้อเพลิงที่มีมากในแต่ละท้องถิ่น และการจัดงานครั้งนี้ ยังดีตรงที่ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้กันด้วย และคุณลุงยังได้เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร จากเหตุการณ์หนึ่งตอนที่คุณลุงทำน้ำมันไบโอดีเซลใช้เองใหม่ๆนั้น และมีการแผ่หลายใช้กันทั่วประเทศ ก็ได้มีข่าวประกาศกฎหมายห้ามเติมน้ำมันดังกล่าวใช้กับรถยนต์บนถนน ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจมาก จึงมีหน่วยงานที่ทำงานด้านน้ำมัน มาบอกว่าให้คุณลุงนำน้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้ ไปตรวจวัดคุณภาพ โดยจะนำไปตรวจให้ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องให้ค่าห้องแล็บประมาณหลักหมื่นบาท ซึ่งคุณลุงก็บอกว่า หากจะต้องเสียเงินขนาดนั้นก็ไม่ขอตรวจ เพราะใช้มาเป็นเวลานานแล้ว ไม่เคยมีปัญหาอะไร และในเวลาต่อมา หน่วยงานดังกล่าวกลับต้องนำใบรับรองคุณภาพมาให้คุณลุงเสียเอง

อีกหนึ่งเหตุการณ์ คุณลุงเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้มีกลุ่มนักศึกษามาขอให้คุณลุงช่วยสอนการผลิตเตาแก๊สชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ และหลักการทำงานของเตา เพื่อจะนำไปแสดงในงานของสถานศึกษา ซึ่งคุณลุงก็ตอบตกลง แต่เมื่อถึงเวลานัด กลุ่มนักศึกษาก็ไม่มา เพราะติดธุระจำเป็นบางอย่าง จึงบอกให้คุณลุงช่วยประกอบเตาไว้ให้ แต่ไม่ต้องทาสี ทางกลุ่มนักศึกษาจะนำไปทาสีเอง คุณลุงก็บอกว่า ถ้าเป็นอย่างนี้จะเข้าใจหลักการทำงานของเตา และเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องได้อย่างไร แต่ถึงกระนั้นคุณลุงก็ยินดีทำให้ตามคำขอ หลังจากคุยกับคุณลุงแล้ว ก็ทำให้ผมคิดได้ว่า หากพลังงานหมุนเวียน ถูกสนใจจากบุคคลรุ่นใหม่ และนำไปต่อยอดพัฒนา สักวันสถานการณ์การใช้พลังงานหมุนเวียนในบ้านเราคงดีขึ้นแน่นอน และหากคนรุ่นใหม่ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่ยังยึดติดกับความสะดวกสบายจากพลังงานฟอสซิลนั้น หันมาร่วมมือ สนใจ นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการพึ่งพาตนเองได้ ในอนาคตโลกของเรา คงมี สภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

สำหรับงาน มหกรรมพลังงาน ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ตัวผมเองขอขอบคุณ เครือข่าย มานะ ENERGY มานี POWER ที่ได้จัดงานครั้งนี้ขึ้น ขอบคุณพี่ๆเครือข่าย ฯ ต่างๆทุกท่าน ที่เอ็นดูช่วยเหลือพวกเราในการใช้เตา และให้ความรู้ด้านต่างๆ ขอบคุณ กรีนพีช ที่ให้พื้นที่ผม ในฐานะอาสาสมัคร เข้าร่วมกิจกรรม และทำให้รู้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวเพียงใด ทำให้เห็นว่าพลังงานไม่ใช่เรื่องยากสำหรับมนุษย์เราทุกคนอีกต่อไป ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ ด้วยการเริ่มต้นที่พวกเราเอง ขึ้นอยู่กับว่าตัวเรานั้นจะเปิดใจยอมรับ และเริ่มเมื่อไหร่เท่านั้นเอง

อานันท์ นาคนงนุช
อาสาสมัคร กรีนพีช เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Letter-to-thailand-human-right




Create Date : 31 มีนาคม 2557
Last Update : 3 เมษายน 2557 11:48:48 น. 0 comments
Counter : 803 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com