กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
รักน้ำ รักษ์ทะเล: สงกรานต์ไม่ขาดน้ำ มหาสมุทรไม่ขาดรัก

ภูมิปัญญาของไทยเราเป็นเรื่องน่าทึ่งเสมอ สงกรานต์กับประเพณีเล่นน้ำนั้นช่วยดับร้อนในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดของปีได้เป็นอย่างดี เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าโลกของเรานั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ปกคลุมด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ และน้ำนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่โอบอุ้มโลกเอาไว้ โดยทั้งผืนดิน มหาสมุทร และชั้นบรรยากาศ ล้วนมีน้ำเป็นส่วนประกอบที่หมุนเวียนเป็นวัฏจักรทั้งสิ้น ในวันสงกรานต์อันชุ่มฉ่ำนี้ ลองมาทำความรู้จักกับความสำคัญของมหาสมุทรต่อวงจรของน้ำ และวิกฤตที่กำลังคุกคามมหาสมุทรของเรา เพื่อร่วมกันรักษาน้ำเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน สงกรานต์ปีนี้หรือปีไหนๆ เราจะได้สนุกได้โดยที่ไม่ขาดน้ำ มหาสมุทรก็ไม่ขาดรักและขาดแคลนความอุดมสมบูรณ์


copyright © 2014 – 2015 raycollinsphoto.com

 

ความสำคัญของมหาสมุทรต่อวัฏจักรน้ำและโลก

มหาสมุทรมีบทบาทสำคัญมากต่อวัฏจักรน้ำ โดยมหาสมุทรนั้นมีน้ำมากถึงร้อยละ 97 ของน้ำทั้งหมดบนโลก ร้อยละ 78 ของหยาดน้ำฟ้า (น้ำในอากาศ) เกิดขึ้นเหนือมหาสมุทร อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของการระเหยน้ำของโลกถึงร้อยละ 86 ซึ่งตัวเลขนี้นอกจากแสดงถึงความสำคัญของมหาสมุทรต่อการหมุนเวียนของน้ำ การเกิดฝน และการผลิตน้ำจืดแล้ว ยังรวมถึงสมดุลของสภาพภูมิอากาศโลกอีกด้วย มหาสมุทรของโลกนั้นช่วยให้โลกของเราอบอุ่น ขณะที่ผืนดินและชั้นบรรยากาศนั้นดูดซับแสงอาทิตย์ รังสีของดวงอาทิตย์ก็ถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน่านน้ำเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตร และมีชั้นบรรยากาศของโลกช่วยในการกักเก็บความร้อนไว้ ไม่ให้กลับคืนไปยังอวกาศเร็วเกินไปหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน กล่าวได้ว่ากระบวนการระเหยของน้ำที่ทำให้เกิดฝนบนผืนดินนั้นส่วนใหญ่แล้วมีจุดเริ่มต้นมาจากมหาสมุทร นอกจากนี้กระแสน้ำยังช่วยสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศโลกด้วยการรับมือกับรังสีดวงอาทิตย์ที่กระจายไม่สม่ำเสมอบนพื้นผิวโลก หากไม่มีกระแสน้ำในมหาสมุทรแล้ว อุณหภูมิที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรจะร้อนจนเกินไป และหนาวสุดขั้วที่บริเวณขั้วโลก และทำให้บางพื้นที่ของโลกนั้นไม่สามารถอยู่อาศัยได้เลย

วัฎจักรของน้ำ มหาสมุทร และสภาพภูมิอากาศ ขอบคุณข้อมูลจากนาซ่า

 

มหาสมุทรนั้นแสนกว้างใหญ่ สง่างาม และทรงพลัง แต่ปัญหาต่างๆ กำลังก่อตัวขึ้นใต้ผืนน้ำสีน้ำเงินที่แสนสวยงาม นอกจากมหาสมุทรจะเป็นต้นกำเนิดของชีวิตแล้ว ในทางกลับกัน มหาสมุทรก็ยังเป็นที่รองรับมลพิษต่างๆ ที่มนุษย์ก่อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขยะ ของเสียจากอุตสาหกรรม และแม้แต่ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล ทุกสิ่งที่เราทำบนผืนดินนั้นสะเทือนถึงผืนทะเลได้มากกว่าที่เราคิด ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” 

โลกร้อน มหาสมุทรยิ่ง(เดือด)ร้อน

ปัญหามลพิษทั้งจากการทิ้งลงทะเลโดยตรง มลพิษจากน้ำเสีย รวมถึงจากการชะล้างมลพิษทางอากาศและพื้นดินของน้ำฝนที่ไหลลงสู่ทะเล

นอกจากนี้สภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกปีนั้นทำให้อุณหภูมิของท้องทะเลสูงขึ้น สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S.Environmental Protection Agency) ระบุว่าในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงกว่าในอดีต จากการบันทึกข้อมูลไว้ตั้งแต่ประมาณปี 2423 เมื่อมนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ก๊าซเหล่านี้หากไม่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก็จะละลายไปกับน้ำทะเล คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ทำให้น้ำทะเลมีสภาวะเป็นกรด ส่งผลต่อสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูนเพื่อดำรงชีวิต เช่น แพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นอาหารหลักของสัตว์น้ำ และหอย ซึ่งพวกมันจะสร้างเปลือกหุ้มตัวได้ยากขึ้น ที่เด่นชัดคือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และความเปลี่ยนแปลงนี้เองจะส่งผลกระทบกันต่อไปเป็นทอด ๆ ทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวนทั้งระบบ รวมถึงยังมีสัตว์น้ำบางชนิดไม่สามารถรอดชีวิตได้ในอุณหภูมิและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยน แน่นอนว่าปลาเศรษฐกิจที่เราชอบรับประทานก็จะยิ่งลดจำนวนลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางทะเล ด้วยเหตุนี้สภาวะน้ำทะเลเป็นกรดจึงถูกขนานนามว่าเป็น “แฝดตัวร้าย” ของสภาวะโลกร้อน

เมื่อมนุษย์มีความต้องการทางการบริโภคเพิ่มขึ้น จากการจับปลาเพียงเพื่อพอเพียงต่อการบริโภคก็กลับกลายเป็นอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ โดยไม่นานมานี้ วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง sciencemag.org ได้เผยงานวิจัยว่า สภาวะทะเลเป็นกรด การประมงเกินขนาด และกิจกรรมของมนุษย์อื่นๆ นั้นเป็นตัวการที่คุกคามอนาคตที่ยั่งยืนของท้องทะเล ซึ่งนี่เป็นเพียงปัญหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่มหาสมุทรซุกซ่อนไว้ภายใต้ความเวิ้งว้างอันสวยงาม ที่เรามักนำปัญหาและความทุกข์ไปฝากไว้ทุกครั้งเมื่อไปเยี่ยมเยือนทะเล

สงกรานต์ปีนี้นอกจากสนุกกับการเล่นน้ำกันแล้ว อย่าลืมหันมาปกป้องมหาสมุทรอันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของแหล่งน้ำบนโลกเพราะหากปราศจากมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์แแล้ว โลกใบนี้ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน   

มาร่วมกัน รักน้ำ รักษ์ทะเล เพื่อให้สงกรานต์ไม่ขาดน้ำ มหาสมุทรไม่ขาดรัก ด้วยกันค่ะ

ต่ากระที่ใกล้สูญพันธุ์ ณ เกาะ Kanawa ใกล้เมือง Flores อินโดนีเซีย

 

ปะการัง บ้านของนานาสัตว์น้ำ ที่กระบี่

 

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 13, 2558 ที่ 10:23

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52590/




Create Date : 23 เมษายน 2558
Last Update : 23 เมษายน 2558 10:43:26 น. 0 comments
Counter : 1282 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com