เหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้ถือว่าเป็นความเสียหายครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศ คงโทษใครไม่ได้นอกจากมนุษย์เรานี่เองที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกิกรรมต่างๆ ที่ทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ แต่ตอนนี้ขอให้กำลังใจทุกหน่วยงานในการทำงานแก้ไขปัญหา และส่งกำลังใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบให้ผ่านพ้นวิกฤตอันเลวร้ายครั้งนี้ไปได้ กรีนพีซยังคงติดตามสถานการณ์ติดตามอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด พร้อมทั้งร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือตามสรรพกำลังและความสามารถที่มี



จากการลงพื้นที่และประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมา ประเด็นที่เป็นข้อน่าห่วงใยต่อประชาชนที่อยู่บริเวณน้ำท่วมขังคือปัญหามลพิษ สำหรับในเมืองคงหนีไม่พ้นเรื่องของขยะและสิ่งปฏิกูล เราก็ขอให้ทั้งหน่วยงานท้องถิ่นและประชาชนเองช่วยกันเก็บขยะขึ้นมาไว้บนที่แห้งและผูกถุงให้มิดชิดอย่าปล่อยลอยตามน้ำ เนื่องจากหากทิ้งอยู่ในท่วมขังอย่างต่อเนื่องแล้ว น้ำคงต้องเน่าแน่ๆ และอาจส่งผลรุนแรง ทั้งโรคระบาดและความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการสัมผัสน้ำของประชาชนโดยรวม

อีกประเด็นที่สำคัญที่ต้องระวัง คือปัญหาความเสี่ยงของการรั่วไหลของสารเคมีบริเวณอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการรั่วไหลแล้ว อาจส่งผลกระทบรุนแรงอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว  หน่วยศึกษาและเฝ้าระวังมลพิษทางน้ำ จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีน้ำท่วมบริเวณอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา ที่พบว่านิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น สวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และนิคมอุตสหกรรมสหรัตนนิคม ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาหาการรั่วไหลของสารเคมีที่อาจจะตามมา รวมถึงน้ำเสียและตะกอนเคมีในบ่อบำบัดที่จะปนเปื้อนรั่วไหลออกมาพร้อมกับน้ำท่วม


ซึ่งพบว่ามีสารเคมีอันตราย อาทิ สารซายาไนท์ ได้ถูกเก็บกู้มาได้จากสวนอุตสาหกรรมโรจนะ และยังเป็นที่น่ากังวลว่าน่าจะยังคงมีสารเคมีอันตรายที่ยังไม่ถูกค้นพบรั่วไหลออกมาโดยที่ชาวบ้านไม่สามารถรู้ได้ และอาจจะเกิดอันตรายเหมือนกรณีสารเคมีรั่วไหลสู่แหล่งน้ำชุมชนในเมืองโบพาล ประเทศอินเดีย เหตุการณ์ในครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนนับพันภายในเวลาชั่วข้ามคืน

สิ่งที่จำเป็นตอนนี้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบปฏิบัติคือ การออกมาตรการป้องกันและเตือนภัยการรั่งไหลของสารเคมี และประเมินติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงจากการรั่วไหลของสารเคมีอันตรายต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมกว่าพันชนิดจากนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอบอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังพบว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังมีท่าเรือสำหรับขนส่งถ่านหิน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ย้ายมาจากการต่อสู้ของประชาชนชาวสมุทรสาคร ถ่านหินจำนวนหลายพันตันถูกกองอย่างเปิดเผยพร้อมที่จะส่งไปยังโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่เพื่อเป็นเชื้อเพลิง แต่จากวิกฤตน้ำท่วมกองถ่านหินเหล่านี้บางส่วนที่ยังไม่มีการขนส่งจึงถูกน้ำท่วม และก่อมลพิษทางน้ำซ้ำเติมปัญหาให้กับประชาชน


อีกสิ่งหนึ่งที่น่าขบคิดคือ การที่เราเอาพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับการทำเกษตรและพื้นที่ที่อ่อนไหวต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติมาเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม จนวันนี้เราได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว เหตุการณ์นี้ควรนำไปเป็นบทเรียนแก้ไข ปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับภูมิประเทศและทรัพยากรที่เรามี

นอกเหนือจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนแล้ว.... อีกสิ่งที่ภาครัฐต้องรีบเร่งเข้ามาดูแลและให้ความสำคัญพร้อมกันคือ การเข้าติดตามตรวจสอบและแจ้งเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงของการรั่วไหลของสารเคมีอย่างจริงจัง และมีมาตรการป้องกันต่างๆ แจ้งเตือนโรงงานอุตสาหกรรมในเขตน้ำท่วมให้ปฏิบัติระวังป้องกันเหตุการรั่ว
ไหล ก่อนที่จะสายเกินไป