กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
รำลึก 12 ปี “เจริญ วัดอักษร” และกำเนิดวันอนุรักษ์ชายหาด



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

"...ถ้าเจริญ วัดอักษร ทราบได้ คงภูมิใจ และอนุโมทนา แม้จะเสียชีวิตไปครบหนึ่งรอบนักษัตร แต่ได้เกิดวันอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้น เป็นผลสำเร็จที่ต้องสู้กับนายทุน บริษัทข้ามชาติ แต่การเสียชีวิตของเจริญเป็นการปลุกจิตสำนึกของเราให้ตื่นขึ้น ถ้าไม่มีเจริญ ที่ดินแทบนี้เป็นของนายทุนไปหมดแล้ว เจริญ เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา แต่รักความยุติธรรม เมื่อเจริญเห็นความอยุติธรรม เขาอุทิศตัวทำทุกอย่าง แต่ถูกคนโหดร้ายฆ่าตาย เจริญไม่ตายเปล่า แต่ปลุกให้คนหลายคนตื่นขึ้น"  ส.ศิวรักษ์ หนึ่งในผู้มาร่วมงานในวันนี้ที่ได้รับสมญานามว่า ปัญญาชนสยามกล่าว

ภาพโดย ธีรธัญภัค เหลืองอุบล อาสาสมัครกรีนพีซ

ในทุก ๆ  ปีหลังจากเสียชีวิตของ เจริญ วัดอักษร พี่น้องชาวบ่อนอกและชาวประจวบคีรีขันธ์จะพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเขียวที่มีสัญลักษณ์ของรูปพี่เจริญเพื่อร่วมงานรำลึกถึง  แต่การครบรอบการจากไป 12 ปีของ เจริญ วัดอักษร เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ในครั้งนี้เป็นการถือกำเนิดขึ้นของวันที่น่าจดจำที่ได้เกิด “วันอนุรักษ์ชายหาด” ขึ้น ในวันนี้พี่น้องชาวบ่อนอกได้รวมพลังกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้นกับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจากอ่าวต่าง ๆ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ร่วม 300 คน รวมไปถึงเด็กน้อยจากหลายโรงเรียนมาร่วมงานรำลึกในวันนี้ด้วย โดยมีกิจกรรมปลูกป่าด้วยต้นไม้ท้องถิ่นชนิดต่าง ๆ อาทิ ตีนเป็ด มะม่วงป่า มะค่า ประดู่ เพื่อฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของชายหาดบ่อนอกแห่งนี้ อันเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราวของวีรชนผู้กล้าที่น่ายกย่องของพวกเขาที่ได้ปกป้องไว้ให้ลูกหลานคนบ่อนอก

ภาพโดย ธีรธัญภัค เหลืองอุบล อาสาสมัครกรีนพีซ

เบื้องหน้าเทือกเขาตะนาวศรีบริเวณคลองชายธง ต.บ่อนอก ประจวบคีรีขันธ์ ชายหาดที่ทอดยาวกว่า 4 กิโลเมตรอันสงบนิ่งได้เป็นประจักษ์พยานแห่งการสืบทอดเจตนารมณ์ของเจริญ วัดอักษร แล้ว “ตายสิบ จักเกิดแสน”  จึงคือวลีที่เที่ยงแท้

"พวกเราอยู่กับการถูกละเมิดมาตลอด ถูกลอบทำร้าย โดนคดีความ จนกระทั่งถึงตาย ในนามของเครือข่ายคนเสื้อเขียว ถ้าพวกเราไม่รักและหวงแหนสิ่งแวดล้อม เมืองประจวบคงไม่มีหน้าตาแบบนี้ คงกลายเป็นเหมืองอุตสาหกรรมแบบระยอง ถือว่าพวกเราทุกคนมีบทบาทปกป้องรักษาบ้านเมือง เราอยากเห็นบ้านเมืองมีหน้าตาแบบไหน อยู่กันแบบไหน เราต้องช่วยกัน" คุณกรณ์อุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ภรรยาของนายเจริญ วัดอักษร กล่าว

คลองชายธง ตำบลบ่อนอก ความอุดมสมบูรณ์อันเป็นที่หมายตาของกลุ่มทุน 

พื้นที่บ่อนอกแห่งนี้ กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอกได้ต่อสู้การคุกคามสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลา 20 ปี เดิมทีพื้นที่อาณาเขต 931 ไร่ ที่มีชายหาดยาว 4 กิโลเมตร แห่งนี้เป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยชายหาด ป่าชายเลน และเป็นพื้นที่รับน้ำจากเทือกเขาตะนาวศรี มีหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ แต่ 20 ปีที่แล้วเริมถูกบุกรุกโดยการทำนากุ้งของกลุ่มนักการเมืองอิทธิพลท้องถิ่น พร้อมกับการเข้ามาของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอกในพื้นที่บริเวณติดกัน ในที่สุดก็สามารถคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจนทำได้สำเร็จ และปกป้องพื้นที่สาธารณะคลองชายธง จากกรณีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ การต่อสู้ผลักดันของชุมชนอย่างเข้มแข็งเป็นเหตุให้คุณเจริญ วัดอักษร ถูกยิงจนเสียชีวิต แต่ในที่สุดก็สามารถยุติการคุกคามทางสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ กับการปิดฉากนากุ้งรายสุดท้ายเมื่อปี 2556 จนกระทั่งเกิดการหมายตาให้บ่อนอกกลายเป็นพื้นที่สร้างมหาวิทยาลัยอีกครั้งเมื่อปี 2558

“เราทำแผนร่วมกันกับกรมทรัพยากรทางน้ำและทางจังหวัด อยากให้พัฒนาพื้นที่นี้ไปตามศักยภาพเดิม คือ ป่าชายเลน และป่าชายหาดที่อุดมสมบูรณ์ กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกคัดค้านการสร้างมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลว่าพื้นที่นี้ไม่เหมาะสม เนื่องจากเป็นระบบนิเวศชายฝั่ง แม้ในอดีตจะถูกทำลาย แต่ปัจจุบันอยู่ในช่วงพื้นฟื้นตัว ความอุดมสมบูรณ์เริ่มกลับมา” คุณกรณ์อุมา กล่าว

“พื้นที่นี้มีความสำคัญทั้งด้านระบบนิเวศชายฝั่ง และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชน ชาวบ้านบ่อนอกร่วมกันปลูกป่าฟื้นฟู เป็นป่าชายเลน ป่าชายหาด เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำสำคัญของประเทศ ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำและอนุรักษ์พื้นที่ ส่งต่อพื้นที่ที่มีคุณค่าทางนิเวศให้กับคนรุ่นหลัง ทรัพย์สมบัติของชาติกำลังถูกทำลายจนกระทั่งมีความเสี่ยงต่อระบบนิเวศจากการหาผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นี่จะเป็นปัญหาใหญ่หากเรายังไม่แก้ไข เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องดูแลรักษา หากเราไม่ไปทำลายธรรมชาติ พื้นที่นี้จะคืนกลับความสมดุลมาดังเดิม และเราทำให้เร็วขึ้นได้ด้วยการฟื้นฟู ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรของชาติจะตามมา” นายสมพร ปัจฉิมเพชร นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

การต่อสู้ของชาวบ่อนอกใกล้พบกับชัยชนะอีกครั้ง เมื่อพื้นที่คลองชายธงกำลังได้รับการศึกษาให้กลายเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก (แรมซาร์ไซต์) และกำลังรอการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมโดยกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ 411 ไร่ จาก 931 ไร่ โดยที่ส่วนพื้นที่อื่นจะได้รับการคุ้มครองด้วยมาตราอื่น

"คลองชายธง บ่อนอก ไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม แต่เป็นระบบนิเวศที่ฟื้นตัวขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ที่นี่มีนกทั้งหมด 158 ชนิด นกใกล้สูญพันธุ์ 5 ชนิด จึงดีกว่าเอามหาวิทยาลัยมาตั้ง ป่าพวกนี้ไม่สามารถย้ายไปไว้ที่อื่นได้ แต่มหาวิทยาลัยย้ายไปตั้งที่อื่นได้ เราไม่ได้คัดค้านการสร้างมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถสร้างในพื้นที่อื่นได้ตามพื้นที่เป้าหมายอีก 6 แห่ง แต่พื้นที่ป่าชายหาดไม่สมควรจะถูกทำลาย ท้องทะเลตรงนี้สำคัญ ขอให้เริ่มที่ตัวเรา ช่วยกันดูแลทรัพยากร เพื่อเราและลูกหลานของเรา" ชัยณรงค์ วงศ์ศศิธร กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าว

ภาพโดย ธีรธัญภัค เหลืองอุบล อาสาสมัครกรีนพีซ

"หน้าหาดบ่อนอก คลองชายธง เป็นแหล่งประมงสำคัญ ก่อนถูกบุกรุกทำนากุ้งที่ตรงนี้อุดมสมบูรณ์มีป่าโกงกาง แสม มีกระแสน้ำจืดหอบเอาตะกอนมาถับทมลงสู่ทะเล มีหอยจำนวนมาก เมื่อก่อนไม่คิดว่านากุ้งจะมีผลกระทบต่อทะเล แต่ต่อมาเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปลาน้อยลง แต่ขณะนี้กำลังฟื้นฟูกลับมาได้ ชายหาดและป่าชายเลนแห่งนี้มีต้นทุนที่ดีโดยที่ไม่ต้องลงทุนทำอะไรเพิ่ม พื้นที่สาธารณะติดหน้าทะเล 4 กิโลเมตรตรงนี้ สำคัญที่สุด ผมเห็นลูกปลากระโดด และมีนกมาบินตามเรือเพื่อจับกินลูกปลา เห็นได้ชัดว่าพื้นที่กำลังฟื้นฟู การสร้างทรัพยากรยาก แต่การทำลายทำได้แค่ชั่วพริบตา และใช้เวลานานกว่าพื้นที่เก่าจะกลับมา" จิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้านชุมชนคั่นกระได จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าว

เราทุกคนคือนักสิทธิชุมชน

เรื่องราวของนักต่อสู้ยืนหยัดเพื่อสิทธิชุมชนแต่ละคนนั้นต่างต้องเผชิญกับอาชญากรรม และยังคงไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคมไทย ตราบใดที่กลุ่มนายทุนและภาครัฐยังคงหละหลวมในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของไทยอย่างยั่งยืน แต่เมื่อใดที่ยังมีคนที่ยืนหยัดลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่นเจตนารมณ์ของเจริญ วัดอักษร และนักปกป้องสิทธิทุกท่าน คนเหล่านี้แหละคือพลังที่แท้จริงที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย 

ผู้ปกป้องชุมชนและนักสิทธิฯ ก็คือคนธรรมดาทั่วไปไม่ต่างจากพวกเราทุกคน บ้างก็เป็นเกษตรกร ชาวประมง พ่อค้าแม่ค้า สตรี ผู้นำชุมชน พระสงฆ์ หรือนักกิจกรรม แต่พวกเขามีจิตสำนึก ต่อสู้ยืนหยัดเพื่อป้องป้องสิ่งแวดล้อม ชุมชน และธรรมชาติที่แวดล้อมเราอยู่ โดยลุกขึ้นต่อสู้ท้าทายอำนาจรัฐและนายทุน ที่เข้ามารุกรานสิ่งแวดล้อมเพียงเพื่อผลประโยชน์อันมหาศาลจากทรัพยากรแก่คนเฉพาะกลุ่ม

เราจึงขอยกย่องและรำลึกถึงความกล้าหาญ การอุทิศตน ที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของสังคมของนักปกป้องสิทธิทุกท่าน


ที่มา: Greenpeace Thailand



Create Date : 23 มิถุนายน 2559
Last Update : 23 มิถุนายน 2559 13:22:16 น. 1 comments
Counter : 1205 Pageviews.  
 
 
 
 
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาเยี่ยมนะจ้ะ ^____^ สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้วลายเส้น เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ
 
 

โดย: peepoobakub วันที่: 15 มีนาคม 2560 เวลา:16:27:12 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com