กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ร้อนสุดขั้ว! น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้เหลือปริมาณน้อยสุดทุบสถิติในฤดูหนาว

หากเรากำลังนั่งทำงานในออฟฟิศ พักผ่อนอยู่บ้าน หรือเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ อาจจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสักเท่าไหร่ และคงไม่รู้ว่า ช่วงอากาศร้อนๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้แต่ขั้วโลกใต้เองอากาศยังร้อนกว่าหลายเมืองในอเมริกาและยุโรปเสียอีก

น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลายมากเป็นปรากฎการณ์แม้แต่ในฤดูหนาว

โลกร้อน … ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังคงปฏิเสธวิกฤตที่กำลังคุกคามเราอย่างเงียบงันอยู่ในขณะนี้ แต่หลักฐานที่ดีอีกชิ้นหนึ่งถึงวิกฤตโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกปี คือ ปริมาณน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่ลงน้อยลงเป็นสถิติใหม่ทุกปี ที่ผ่านมาเราอาจจะพูดถึงปริมาณน้ำแข็งที่ละลายมากเป็นปรากฎการณ์ในช่วงฤดูร้อน แต่ในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงเดียวที่น้ำแข็งขั้วโลกจะสามารถฟื้นตัวคืนกลับมาได้ แต่แล้วในปี 2558 นี้ สถิติใหม่ที่น่ากลัวออกมาว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้เหลือปริมาณน้อยที่สุดในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่บันทึกสถิติมา 35 ปี

การเปรียบปริมาณทะเลน้ำแข็งอาร์กติกระหว่างปี 2557 กับปี 2552 โดยบริเวณสีเหลืองคือปริมาณทะเลน้ำแข็งมาตรฐานที่ควรขยายตัวสูงสุดในช่วงฤดูหนาว

ขั้วโลกเหนือ--ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกเหลือน้อยกว่าปริมาณมาตรฐาน 1.1 ล้านตารางกิโลเมตร

ตามปกติแล้วทะเลน้ำแข็งอาร์กติกจะขยายตัวจนมีปริมาณมากสุดในช่วงต้นเดือนมีนาคมซึ่งเป็นฤดูหนาว แต่ในปีนี้ ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งของสหรัฐอเมริกา (NSIDC) รวมถึงองค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NOAA) และนาซ่า  เผยว่าน้ำแข็งอาร์กติกขยายตัวสูงสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาที่มีปริมาณสูงสุดเร็วกว่าปกติเป็นอันดับที่สองจากการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2522 เท่านั้น แต่ยังเป็นปริมาณที่น้อยที่สุดที่ได้บันทึกไว้ในการเก็บสถิติผ่านทางดาวเทียม กล่าวคือ ในปีนี้ปริมาณทะเลน้ำแข็งอาร์กติกสูงสุดอยู่ที่ 14.54 ตารางกิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานระหว่างปี 2524-2553 อยู่ 1.1 ล้านตารางกิโลเมตร และน้อยกว่าปริมาณที่ขยายตัวสูงน้อยที่สุดจากสถิติในปี 2554 ถึง 130,000 ตารางกิโลเมตร โดยปริมาณน้ำแข็งที่หายไปนั้นเทียบเท่ากับขนาดของรัฐเท็กซัสและแคลิฟอร์เนียเลยทีเดียว

นาซ่าได้อธิบายรายละเอียดผ่านทางวิดีโอนี้

นาซ่าได้ระบุว่า ถึงแม้ปริมาณน้ำแข็งที่ขยายตัวน้อยที่สุดในฤดูหนาวนี้ ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าในช่วงฤดูร้อนจะทำให้ทะเลน้ำแข็งยิ่งละลายเพิ่มขึ้นเป็นสถิติใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ปริมาณน้ำแข็งที่หายไปในช่วงฤดูหนาวมากเช่นนี้ก็ยังเป็นสถิติที่น่ากลัว และทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ในช่วงฤดูร้อนที่ทะเลน้ำแข็งเหลือปริมาณน้อยสุดในช่วงเดือนกันยายนนั้นจะเป็นเช่นไร แต่แน่นอนว่าน้ำแข็งที่บางย่อมละลายเร็วขึ้น และยิ่งกลายเป็นทะเลที่เปิดปราศจากน้ำแข็งมากเท่าไร น้ำทะเลก็จะดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้มากขึ้นเนื่องจากขาดน้ำแข็งที่ช่วยสะท้อนความร้อนกลับ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากเรายังคงเดินหน้าเผาผลาญก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่เช่นนี้ เราอาจได้เห็นทะเลอาร์กติกที่ปราศจากน้ำแข็งภายในศตวรรษหน้า

ขั้วโลกใต้--แอนตาร์กติการ้อนกว่าลอนดอน!

บ้างอาจกำลังแย้งว่าทะเลน้ำแข็งของแอนตาร์กติกาขยายตัวมีปริมาณมากเป็นสถิติใหม่เช่นกันมิใช่หรือ ดังนั้นโลกของเราคงไม่ได้ร้อนอย่างที่คิด  แต่ล่าสุดรายงานล่าสุดจากจุลสาร Science ของอเมริกา ได้เผยว่าการละลายของชั้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกานั้นเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าที่คาด ซึ่งอัตราเร็วที่ว่านั้นสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่าช่วงเวลา 18 ปีนั้น ชั้นน้ำแข็งได้ละลายไป 310 ตารางกิโลเมตร ทุกปี แต่ละชั้นนั้นเสียความหนาแน่นไปร้อยละ 18 และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแอนตาร์กติกามีอุณหภูมิสูงถึง 17.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิของเมืองวอชิงตัน ดีซีอยู่ที่ 7.7 องศา นิวยอร์กอยู่ที่ 45 องศา และลอนดอนอยู่ที่ 10 องศา 

น้ำแข็งขั้วโลกที่เหลือน้อย ส่งผลกับเราอย่างไร?

การที่ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกละลายนั้นอาจไม่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และการสูญเสียทะเลน้ำแข็งไปยิ่งเป็นการเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้รุนแรง ส่วนที่แอนตาร์กติกานั้นการละลายเร็วขึ้นของชั้นน้ำแข็งนี้ มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากชั้นน้ำแข็งนั้นเป็นส่วนที่ประคองก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ไม่ให้ตกลงสู่มหาสมุทร เพราะหากน้ำแข็งบนพื้นดินลงสู่มหาสมุทร นั่นหมายความว่าปริมาณน้ำแข็งจะเพิ่มปริมาณน้ำในทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แตกต่างจากทะเลน้ำแข็งที่ไม่ได้เพิ่มระดับน้ำทะเลเมื่อละลาย

กรณีนี้ เฮเลน ฟริคเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และสถาบัน Scripps Institution of Oceanography เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “หากคุณกำลังถือแก้วเหล้าจินโทนิกอยู่ ซึ่งมีน้ำอยู่เต็มแก้ว แต่บาร์เทนเดอร์กลับเติมน้ำแข็งเพิ่มเข้าไปให้ น้ำก็ย่อมล้นออกจากแก้ว” การที่ชั้นน้ำแข็งบนดินของแอนตาร์กติกาละลายก็เป็นเช่นนั้น

ขอบคุณภาพจาก washingtonpost.com

ดร.พอล ฮอลแลนด์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ สถาบัน British Antarctic Survey (BAS) กล่าวว่า การที่ชั้นน้ำแข็งละลายเป็นการเร่งให้แผ่นน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกาตะวันตกถล่มเร็วขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3.5 เมตร อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจไม่เกิดขึ้นภายในศตวรรษนี้ กรณีสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นในปี 2643 คือ น้ำแข็งละลายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นสูงอีก 70 เซนติเมตร

ตัวบ่งชี้ที่เห็นชัดเช่นนี้ ชี้ชัดเหลือเกินว่าภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีนักวิทยาศาสตร์มาช่วยบอก และเราต้องร่วมกันต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนอย่างเร่งด่วน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกนั้นไม่ได้อยู่ไกลตัวสุดขั้วอย่างที่เราคิด ขณะนี้อุตสาหกรรมน้ำมันกำลังฉกฉวยโอกาสขณะที่น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายมองข้ามสัญญาณเตือนภัยแห่งหายนะครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติและสรรพชีวิต ล่าสุดประธานาธิบดีบารัคโอบามา ได้อนุมัติสัญญาเช่าให้กับเชลล์ ซึ่งเป็นการช่วยดันให้แผนการขุดเจาะของเชลล์เข้าใกล้การขุดเจาะน้ำมันในภูมิภาคอาร์กติก แถบอลาสก้าในปีนี้อีกก้าว

การใช้ฟอสซิลเช่นน้ำมัน เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตโลกร้อน และกิจกรรมขุดเจาะนี้ยังทำลายความสมบูรณ์ของน้ำแข็งอาร์กติกด้วย อาร์กติกที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องปรับอากาศที่คอยรักษาระดับสมดุลของสภาพภูมิอากาศของโลก  น้ำแข็งของอาร์กติกเป็นเหมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนแสงอาทิตย์และความร้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศ ถึงแม้จะอยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งที่อาร์กติกไม่ได้ส่งผลแต่ในเฉพาะภูมิภาคอาร์กติก แต่ทุกชีวิตบนโลกล้วนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หากปราศจากน้ำแข็งที่อาร์กติกแล้ว ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายจนไม่สามารถหยุดยั้งได้

ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มอาสาสมัคร 6 คน และเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซที่กำลังติดตามแท่นขุดเจาะน้ำมันของเชลล์ได้ที่ //savethearctic.org/th/live/

การเปรียบเทียบปริมาณชั้นน้ำแข็งของแอนตาร์กติกา ขอบคุณภาพจาก theguardian.com

 

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 7, 2558 ที่ 10:00

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52506/

 
 



Create Date : 07 เมษายน 2558
Last Update : 7 เมษายน 2558 17:32:17 น. 0 comments
Counter : 1649 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com