กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
เล่าจากข่าว: การใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมประมงทูน่า

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“หากชาวอเมริกันและยูโรปกำลังกินปลาพวกนี้อยู่ พวกเขาควรนึกถึงพวกเรา และใต้มหาสมุทรที่เต็มไปด้วยภูเขาจากโครงกระดูก กระดูกของแรงงานที่อาจมีมหาศาลจนน่าจะเป็นเกาะแห่งหนึ่งได้ มันมีมากขนาดนั้น” แรงงานคนหนึ่งกล่าว

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสำนักข่าวชื่อดัง เอพี และ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้สืบเสาะและเผยแพร่เรื่องราวการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศไทยและทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับตัวแทนจัดจำหน่ายดังที่ข่าวรายงาน คือ ไทยยูเนี่ยน เจ้าของแบรนด์ซีเล็ค ทูน่า รวมถึงแบรนด์ชื่อดังทั่วโลก อาทิ Petit Navire, John West, Chicken of the Sea, Century Tuna, และ Mareblu น่าตกใจที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลกจากประเทศไทยของเราเคยเกี่ยวข้องและยังคงเพิกเฉยกับการกระทำอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง

ขอบคุณภาพจาก นิวยอร์ค ไทม์ //www.nytimes.com

ขอบคุณภาพจาก นิวยอร์ค ไทม์ www.nytimes.com

จากรายงานข่าวของเอพี ระบุถึงสภาพการทำงานและการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมบนเรือประมงที่ทำการประมงในทะเลจีนใต้ โดยปลาที่จับมาได้นั้นจะส่งไปที่บริษัทแปรรูปอาหารทะเลและบรรจุกระป๋องชื่อ Songkla Canning Public Company ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไทยยูเนี่ยน  และอีกรายงานหนึ่งของเอพีเผยว่า หลังจากที่เอพีติดตามรถขนส่งปลาจากเรือประมงที่ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม พบว่ารถนั้นขนส่งให้กับบริษัท Niwat Co., ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จัดจำหน่ายให้กับไทยยูเนี่ยนอีกเช่นกัน

เรื่องราวที่ข่าวนำเสนอเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการตั้งคำถามให้สังคมตระหนักว่าอาหารทะเลที่เรากินนั้น มาจากการทำประมงที่ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ การกระทำรุนแรงต่อแรงงานนั้น ตามรายงานข่าวระบุว่า แรงงานบนเรือประมงถูกเตะ ทุบตี เฆี่ยนด้วยหางกระเบน และโยนศพทิ้งลงมหาสมุทรให้กับฝูงฉลาม หรือเก็บศพไว้รวมกับคอนเทรนเนอร์ขนปลา โดยจากการสัมภาษณ์ขององค์กรสหประชาชาติ เมื่อปี 2552 เผยว่า ผลการสอบถามแรงงานชาวประมงจากกัมพูชาที่ถูกค้าแรงงานบนเรือประมงสัญชาติไทย 29 คน จาก 50 คน กล่าวว่าพวกเขาเคยพบเห็นกัปตันเรือหรือเจ้าหน้าที่คนอื่นฆ่าคนงานบนเรือประมง

“ในอดีต ผู้คุมงานบนเรือเคยทิ้งศพแรงงานลงทะเลให้เป็นอาหารของฉลาม แต่หลังจากที่เจ้าหน้าที่และบริษัทเริ่มกำหนดให้ทุกคนที่ขึ้นเรือกลับมาขึ้นฝั่งครบจำนวน กัปตันเรือก็เริ่มหันมาเก็บศพในคอนเทรนเนอร์สำหรับขนปลา จนกระทั่งกลับขึ้นฝั่งประเทศอินโดนีเซีย” -- สำนักข่าวเอพีรายงานจากการสัมภาษณ์แรงงาน

ความเป็นอยู่อันโหดร้ายของแรงงานบนเรือประมง

สิ่งที่สำนักข่าวเอพี และนิวยอร์ก ไทมส์ ได้รับรู้จากการสืบเสาะเรื่องราวจากแรงงานประมงที่ทำการประมงในทะเลจีนใต้ คือแต่ละคนล้วนมีเรื่องราวของการถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป  แต่ส่วนใหญ่แล้วเรื่องราวของแรงงานบนเรือประมงเชิงอุตสาหกรรมจากในน่านน้ำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย จากการสัมภาษณ์ของสำนักข่าวเอพี และนิวยอร์ก ไทมส์ นั้นมีที่มาที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่ได้พูดภาษาเดียวกันกับกัปตันเรือ ว่ายน้ำไม่เป็น และไม่เคยเห็นทะเลมาก่อนที่จะออกนอกชายฝั่งมาทำงานบนเรือ โดยจุดเริ่มต้นมักมาจากการถูกนายหน้าหลอกให้มาทำงาน ด้วยความหวังว่าเป็นงานที่ดีให้ผลตอบแทนสูง และหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าในดินแดนที่ไกลออกไป

แรงงานคนหนึ่งบอกเล่าผ่านนิวยอร์ก ไทมส์ว่า ก่อนที่จะขึ้นเรือ ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นผืนน้ำที่ใหญ่กว่าทะเลสาบมาก่อน และมีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่ว่ายน้ำเป็น และคนกลุ่มนั้นจำเป็นต้องรับผิดชอบในการดำน้ำลงไปในทะเลสีดำราวน้ำหมึก เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าปากอวนขนาด 50 ฟุตนั้นปิดสนิท หากว่ามีใครถูกอวนพันไว้ก็จะไม่สามารถขึ้นมาได้และก็เป็นไปได้ว่าจะไม่มีใครสังเกตเห็นโดยทันที

อาหารบนเรือใน 1 มื้อ ประกอบด้วยข้าวหนึ่งชาม ผสมกับปลาหมึกต้ม หรือปลาที่ถูกโยนทิ้งอื่นๆ ให้ดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และในห้องครัวหรือที่ต่างๆ ก็เต็มไปด้วยแมลงสาบ ห้องน้ำก็เป็นเพียงไม้กระดานที่เคลื่อนออกได้ ยามค่ำคืนสัตว์และแมลงก็มาตอมกินชามข้าวที่ไม่ได้ล้างของลูกเรือ ถูกบังคับให้ทำงานกะละ 20-22 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีวันหยุดพัก บ้างก็ถูกเตะ ทุบตี หรือเฆี่ยนตีด้วยหางปลากระเบนที่มีพิษ หากบ่นหรือพยายามพักผ่อน ส่วนสถานที่นอนของแรงงานนั้นก็เป็นเพียงที่ร้อนๆ อยู่กันแออัด ไม่มีอากาศถ่ายเทเพียงพอ ได้เวลานอนเพียงสองชั่วโมง และมีเสียงเครื่องยนต์ของเรือดังสนั่นจนกระทั่งพื้นสั่นไหว บ่อยครั้งเครื่องยนต์ก็ปล่อยควันพิษสีดำออกมาในบริเวณสำหรับนอน

นอกจากจะได้ค่าตอบแทนเพียงน้อยนิดแล้ว “travel now, pay later” หรือทำงานก่อน จ่ายทีหลัง คือแนวคิดของการตอบแทนแรงงานบนเรือประมง สำนักข่าวเอพีระบุว่า แม้จะจับได้ปลาจำนวนมาก แต่แรงงานกลับไม่มีสิทธิกินปลาเหล่านั้นรวมถึงยังไม่รู้ว่าปลาที่พวกเขาจับมาได้นั้นจะถูกนำส่งไปยังที่ใด รู้เพียงแต่เป็นปลาที่มีมูลค่ามาก จึงไม่ได้รับอนุญาตให้กิน


ปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานเกิดขึ้นควบคู่กับการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) โดยเรือประมงที่ไม่สนใจต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจว่าการประมงที่ทำอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง หรือละเมิดกฏหมายใดบ้างของการประมง หนึ่งในวิธีการหลบซ่อนการประมงที่ผิดกฏหมายของตน และยืดเวลาที่เรือประมงจะอยู่ในน่านน้ำได้ คือการส่งสินค้าจากประเทศ A  ผ่านพรมแดนประเทศ B  ไปยังประเทศ C  โดยมีการขนถ่ายสินค้าในประเทศ B ในเขตปลอดภาษี  หรือถ่ายลำไปยังพาหนะลำเลียงอื่น แต่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากรของประเทศ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยเรือประมงเถื่อนของไทย หรือเรือจดทะเบียนถูกต้อง จะขนถ่ายสินค้าลงเรือแม่ที่จอดรอการขนถ่ายปลากลางทะเลจากเรือประมง หลังจากนั้นจะนำปลาทูน่ามาแปรรูป (นึ่ง/แช่แข็ง) และขนส่งไปยังท่าเรือของบริษัทแปรรูป โดยปลาเหล่านั้น ไม่ถูกจดบันทึกและรายงานไปยังเจ้าของน่านน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมการจับให้กับประเทศเจ้าของน่านน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การจับปลาที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมาย (Bycatch)ขึ้นมา ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก และปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ฉลาม เต่าทะเล และอื่นๆ วิธีนี้ เรียกว่า Transshipment การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและน้ำมันกลางทะเลนี่เองที่เอื้อให้เกิดปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน เนื่องจากแรงงานจะถูกบังคับให้อยู่กลางทะเลนานขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจนานเกินหนึ่งปี ปัญหาเกิดจากการควบคุมตรวจสอบของภาครัฐผ่านเอกสารเท่านั้น ซึ่งไม่ทั่วถึงพอ เอื้อต่อการทำผิดกฎหมาย ประกอบกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่ได้จากท้องทะเลนั้นเย้ายวนให้เกิดการกระทำการละเมิดสิทธิพื้นฐานของแรงงานขึ้น

ไทยยูเนี่ยนได้แถลงการณ์ตอบโต้ในประเด็นข่าวฉาวนี้ว่า “เราจำเป็นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับรองได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยนั้นปลอดจากการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม 100% ตลอดห่วงโซ่อุปทาน” และได้กล่าวกับสำนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์ว่า “เราจะไม่ยอมให้มีการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือการละเมิดสิทธินุษยชนในรูปแบบใดๆ” แต่อย่างไรก็ตาม นิวยอร์ก ไทมส์เผยเพิ่มเติมว่า ไทยยูเนี่ยนได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับการตรวจสอบบนเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้กับไทยยูเนี่ยน

สิ่งที่สำนักข่าวเอพีและนิวยอร์ก ไทมส์ รายงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเลนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยในความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากไทยยูเนี่ยนออกมาดำเนินการใช้นโยบายการตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของวัตถุดิบ และกระบวนการประมง อย่างจริงจังตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การจับจากทะเลจนกระทั่งมาสู่กระป๋อง หันมาเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการประมงอย่างผิดกฎหมายที่เอื้อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน สิ่งสำคัญคือจะต้องแน่ใจว่าวัตถุดิบที่ได้มาในอุตสาหกรรมไทยยูเนี่ยนนั้นจะต้องไม่มาจากการลักลอบขนถ่ายสินค้าและสัตว์น้ำกลางทะเล (Transshipment) ซึ่งเป็นวิธีการเลี่ยงประมงผิดกฎหมาย เอื้อต่อการเกิดการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

"หากไทยยูเนี่ยนมีความตั้งใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จะนำไปสู่การขจัดการใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนหมดไปจากห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด มิใช่แต่เพียงการยกเลิกผู้จัดหาวัตถุดิบเพียงรายเดียว การรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตจากการใช้แรงงานทาสที่น้อยลงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่อาจยอมรับได้ ไทยยูเนี่ยนจะต้องเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างแท้จริงโดยมีมาตรการการตรวจสอบย้อนกลับในผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เรือต้นทางที่จัดหาวัตถุดิบไปถึงการวางจำหน่าย นอกจากนี้ ควรที่จะมีการตรวจสอบจากบุคคลภายนอกและการขึ้นตรวจเรือโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอ บริษัทควรเดินหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของวัตถุดิบนั้นมาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลิตภัณฑ์ทูน่าที่จัดจำหน่ายโดยไทยยูเนี่ยนจะต้องไม่มีแหล่งที่มาจากเรือลำอื่น หรือการขนถ่ายในทะเลซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการผิดกฎหมายและป้องกันการตรวจสอบย้อนกลับที่จำเป็นในการขจัดแรงงานทาสจากห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเล" นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ร่วมลงชื่อเพื่อรณรงค์ให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าสร้างความเป็นธรรมต่อแรงงาน และปกป้องมหาสมุทรที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

  1. ‘Sea Slaves’: The Human Misery that Feeds Pets and Livestock.
  2. Consumers and Lawmakers Take Steps to End Forced Labor in Fishing
  3. AP Investigation: Are slaves catching the fish you buy?
  4. Seafood from slavery: Can Thailand tackle the crisis in its fishing industry?
  5. แรงงานทาส เบื้องหลังอาหารทะเลผลพวงจากการประมงเกินขนาด




Create Date : 20 ตุลาคม 2558
Last Update : 20 ตุลาคม 2558 19:49:07 น. 1 comments
Counter : 975 Pageviews.  
 
 
 
 
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาเยี่ยมนะจ้ะ ^____^ สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้วลายเส้น เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ขิง น้ำมันมะพร้าว ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ
 
 

โดย: peepoobakub วันที่: 15 มีนาคม 2560 เวลา:17:55:15 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com