กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
กว่าจะเป็นแบนเนอร์พะยูนยักษ์ การรวมพลังเยาวชนปกป้องกระบี่



ภาพป้ายผ้ารูปพะยูนขนาดมหึมาที่นักวิ่งและนักกิจกรรมร่วมกันส่งต่อในตอนเช้ามืดของวันที่ 18 พ.ค. ในงานวิ่งรณรงค์ปกป้องกระบี่ Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi ยังคงอยู่ในความประทับใจของใครหลายๆ คน แต่ป้ายผ้าผืนนี้มีความเป็นมาที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่อยู่เบื้องหลังและอยู่ในรายละเอียดของการทำป้ายผ้าผืนนี้คือเยาวชนกรีนพีซ และเครือข่ายเยาวชน ที่มุ่งมั่นฝากความหวังในการสร้างอนาคตสีเขียวผ่านทางพะยูนยักษ์ตัวนี้

จุดเริ่มต้น จากความคิดและพลังของเยาวชน

ป้ายผ้าถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในงานรณรงค์ของกรีนพีซเพื่อใช้ในการส่งสารและเผยแพร่งานรณรงค์ เช่นเดียวกับงานวิ่งรณรงค์ปกป้องกระบี่ Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi ในครั้งนี้แต่ก่อนที่ป้ายผ้ายักษ์รูปพะยูน.ขนาด 5x12 เมตร พร้อมข้อความ “Protect Krabi” หรือปกป้องกระบี่ถูกกางขึ้นในกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์โดยกลุ่มเยาวชน อาสาสมัครกรีนพีซและนักวิ่งกว่า 1,500 คน เพื่อร่วมแสดงพลังและจุดยืนในการปกป้องทรัพยากรณ์ทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดกระบี่จากโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนกลายมาเป็นภาพสัญลักษ์ในงานวิ่งรณรงค์  Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi ที่ถูกกระจายออกไปตามสื่อต่างๆ ฝ่ายผลิตป้ายผ้าของเราต้องร่วมกันตีโจทย์ที่สำคัญของงานนี้ คือ ทำอย่างไรให้ป้ายผ้า “ฉีก-แปลก-แหวกแนว” ไปจากรูปแบบเดิม  (ตัวหนังสือสีดำบนผ้าพื้นสีเหลือง) และทำจากวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ผู้ที่มาตอบโจทย์และสร้างสรรค์ป้ายผ้าที่เป็นดั่งพระเอกของงานเราก็คือ เยาวชน ซึ่งเป็นคำตอบของทุกคำถามในใจของทีมงานกรีนพีซ ว่าถ้าเราต้องการชิ้นงานที่ดึงดูดเพราะดูมีความสนุกและสดใส กลุ่มคนที่น่าจะมีความถนัดในการช่วยสร้างสรรค์ผลงานลักษณะนี้ได้ก็คงหนีไม่พ้นเยาวชนคนรุ่นใหม่นั่นเอง ดังนั้นเราจึงติดต่อประสานงานไปที่เครือข่ายซึ่งเป็นอาจารย์ในคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ว่ามีกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวที่พอจะสนใจงานออกแบบและผลิตป้ายผ้ารูปพะยูนสำหรับงานรณรงค์ปกป้องกระบี่หรือไม่ และนั่นคือจุดกำเนิดพะยูนยักษ์ป้ายผ้าที่มีสีสันที่สุดของกรีนพีซ

ความท้าทาย: วัสดุเหลือใช้เพื่อให้เรามีใช้อย่างเหลือเฟือ

หลังจากได้ทีมศิลปินทั้ง 3 คนมาร่วมงานพร้อมภาพร่างพะยูน อุปสรรคแรกก็คือ งบประมาณที่จำกัดเราจะหาวัสดุอุปกรณ์จากไหนมาผลิตป้ายผ้าที่ต้องสวย มีขนาดใหญ่และใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลืมกระดาษรีไซเคิลหรือวัสดุย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่มีราคาแพงเกินไปสำหรับโปรเจคนี้ไปได้เลย เราขาดกำลังในการซื้อและไม่จำเป็นต้องซื้อวัสดุใหม่ แต่สิ่งที่เราทำได้และควรจะทำคือการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ หรือ “Reuse” ซึ่งเริ่มต้นที่โกดังเก็บของของกรีนพีซนั่นเอง เรามีผ้าแคนวาสขนาดใหญ่ที่เคยใช้ในงานรณรงค์ล้างสารพิษ “ดีท็อกซ์” เมื่อหลายปีที่แล้วซึ่งเหมาะสุดๆสำหรับการทำป้ายผ้าพะยูนผืนนี้

วัสดุสำคัญอย่างที่สองก็คือขยะ ซึ่งกว่าจะได้ขยะที่มีสภาพเหมาะสม คือไม่สกปรก มีสีสันและพื้นผิวที่หลากหลาย หลังจากที่เหล่าศิลปินตระเวนหาและสำรวจกันหลายวัน  จนในที่สุดจึงพบร้านขายพลาสติกรีไซเคิลแถวบางบอน ที่ขายบรรจุภัณฑ์พลาสติกเหลือใช้หรือมีตำหนิจากโรงงาน เช่นถุงขนมและบรรจุภัณฑ์อาหารยี่ห้อต่างๆ

วัสดุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ปะการังที่ถูกแปะอยู่บนตัวพะยูนดูมีมิติก็คือ เศษผ้าที่ทำหน้าที่เหมือนนุ่นที่ถูกยัดไว้ภายในปะการัง เศษผ้าเหล่านี้ที่จริงแล้วก็คือขยะดีๆ นั่นเอง ซึ่งเราขอมาจากโรงงานเย็บเสื้อผ้าขายส่งแถวห้วยขวาง ที่ได้รับการอนุเคราะห์มาทั้งหมด 5 กระสอบใหญ่ๆ

ทำงานแข่งกับเวลา: 10 วัน จากพลังเยาวชน 40 คน สู่มือมหาชน 1,500 คน

ประภาภรณ์ สีนานวล หนึ่งในทีมศิลปินให้เหตุผลว่า “หากประชาชนทั้งประเทศยังมีความต้องการใช้พลังงานอย่างไม่สิ้นสุด ไม่เรียนรู้ที่จะใช้พลังงานทดแทน ในอนาคตเราคงไม่มีแม้กระทั่งอากาศบริสุทธิ์ไว้หายใจ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปกป้องกระบี่ จึงสร้างสรรค์ผลงานลงบนผืนผ้าใบรูปพะยูน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบในอนาคตที่กำลังเข้ามาทำลายธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ป้ายผ้าพะยูนนี้จะช่วยทำให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ถึงผลกระทบดังกล่าว และหันมาช่วยกันรณรงค์ร่วมมือกันปกป้องกระบี่ให้มากยิ่งขึ้น”

พวกเขามีเวลาทั้งหมด 10 วันเท่านั้นในการผลิตป้ายผ้าพะยูนผืนนี้ ตั้งแต่ออกแบบ ร่างภาพ หาซื้อวัสดุอุปกรณ์ ร่างแบบบนแคนวาส ลงสี และประดิษฐ์ปะการังเพื่อแปะลงบนตัวพะยูนอีกที แล้วปิดท้ายด้วยการเย็บรอบขอบป้ายผ้าขนาด  5x12 เมตร ด้วยมือ เพื่อทำช่องสำหรับสอดโครงไม้ไผ่ ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยรายละเอียดยิบย่อยที่ล้วนต้องใช้เวลาอย่างมากในการประดิบประดอย ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้งานเสร็จทันเวลา สำหรับงานนี้คำตอบคือแรงกายแรงใจจากพลังเยาวชนล้วนๆ ทุกรายละเอียดของป้ายผ้าพะยูน คือ แรงกายและแรงใจของเยาวชนกรีนพีซและเครือข่ายเยาวชนผู้มีใจรักสิ่งแวดล้อม ทั้งกลุ่มชมรมอาสาพัฒนา พระจอมเกล้าพระนครเหนือและกลุ่ม Silent Power จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมกว่า 40 ชีวิตได้ชักชวนเพื่อนฝูง ผลัดเปลี่่ยนกันมาช่วยในช่วงเตรียมงานและช่วงวันงานมาราธอน น้องธีรเมธิศวร์เหลืองอุบลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “นอกจากความสนุกที่ได้นั่งตัดปะติดเล็กๆน้อยๆ จนสำเร็จเป็นป้ายพะยูนตัวใหญ่แล้ว ผมยังมีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในการรณรงค์เพื่อปกป้องทะเลกระบี่อันเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์น้ำและปลายทางสุดโปรดของผมจากภัยคุกคามขนาดมหึมานี้ด้วย” เช่นเดียวกันน้องณรัก ศิริเมธาธนกฤต เยาวชนจากกลุ่มชมรมอาสาพัฒนา พระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เป็นหนึ่งในทีมที่มาช่วยกางป้ายผ้าบอกว่า “ครั้งแรกที่ได้เห็นป้ายผ้าก็ตื่นเต้น มันทั้งสวยทั้งใหญ่มาก และมีน้ำหนักมากต้องใช้คนช่วยกันยกเกือบ 20 คน ดีใจที่ได้เป็นกระบอกเสียงเล็กๆ ในการแสดงออกของป้ายผ้า รูปพะยูนนี้เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของสัตว์ต่างๆ และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน”


ความเหนื่อยล้าของทุกคนได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เผยแพร่งานรณรงค์ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน จากเบื้องหลังสู่เบื้องหน้า และสู่สายตาประชาชนชาวไทย ส่งต่อไปพร้อมกับความหวังในการสร้างอนาคตสีเขียวที่มั่นคงของทุกคน ทุกสิ่งเหล่านี้คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากเยาวชน พลังสร้างสรรค์ของเรา ดังที่ศศธร นฤมล จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงกล่าวไว้  “เราคือเยาวชนกรีนพีซ หน่วยสีเขียวเคลื่อนที่ มารวมตัวกันเพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น ฉันเชื่อว่า จุดเริ่มต้นของเราอาจเท่ากับจุดเริ่มต้นของคนอีกมากมาย เราเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่จุดเล็กๆของเราก็ทรงพลัง”



ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่
//www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

Blogpost โดย same star -- มิถุนายน 12, 2557 ที่ 13:05



Create Date : 16 มิถุนายน 2557
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 17:00:22 น. 1 comments
Counter : 894 Pageviews.  
 
 
 
 
อยากไปมากค่ะเสียดายจังค่ะ
 
 

โดย: cyberlifenlearn วันที่: 16 มิถุนายน 2557 เวลา:16:52:07 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com