ชายฝั่งของอ่าวประจวบคีรีขันธ์ในวันนี้คลื่นลมแรงเป็นพิเศษราวกับเป็นการทักทายการมาเยือนของเรือเอสเพอรันซาในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ หลังจากที่ฉันได้ติดตามเรือเอสเพอรันซาไปพร้อมกับลูกเรือกรีนพีซตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แล้วที่การมองโลกแห่งผืนนี้สีครามของฉันเปลี่ยนไป ภายใต้ผืนทะเลอันกว้างใหญ่มีวิกฤตมากมายซ่อนอยู่ ซึ่งยังไม่สายเกินไปนักที่เราจะรวมพลังกันปกป้องทะเลไทยเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลอันเป็นชีวิตของเราไว้ให้ยั่งยืน

จากระยะทางตั้งแต่สงขลามาถึงประจวบฯ ฉันได้พบเจอการประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฏหมายในเขตสามกิโลเมตรจากชายฝั่งทะเลจำนวนมาก แม้แต่ในเขตอนุรักษ์อย่างอุทยานแห่งชาติเองก็ยังมีเรืออวนลากเข้าไปกวาดล้างสัตว์น้ำในบริเวณนั้น  ที่ทำให้ฉันสงสัยว่าจะยังมีบริเวณใดของท้องทะเลไทยอีกบ้างที่จะได้หยุดพักหายใจพอที่จะฟื้นตัวได้ จนกระทั่งฉันมาถึงอ่าวประจวบฯ พร้อมกับเรือเอสเพอรันซา ฉันก็ได้ทราบจากผู้นำชุมชน พี่ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่าที่นี่เป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวที่ประกาศขยายเขตอนุรักษ์ประมงชายฝั่งเพื่อปกป้องแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำออกไปเป็น 3 ไมล์ทะเล หรือ 5.5 กิโลเมตร  จากกฏหมายประมงที่กำหนดไว้เพียง 3 กิโลเมตร ฉันจึงรู้สึกยกย่องและชื่นชมความเข้มแข็งของชุมชนผู้อนุรักษ์ท้องทะเลแห่งนี้อีกทวีคูณ

การมาเยือนประจวบฯ ในครั้งนี้ของฉันแตกต่างออกไปจากทุกครั้ง เพราะฉันได้เรียนรู้ว่าความสวยงามของธรรมชาติในพื้นที่นี้เป็นสิ่งที่ชุมชนต่างร่วมกันปกป้องต่อสู้อย่างเข้มแข็งจากการคุกคามของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกและอุตสาหกรรมการประมงมายาวนาน เมื่อวานนี้ (วันที่ 21 มิถุนายน) ฉันและกลุ่มลูกเรือเอสเพอรันซาได้เข้าร่วมรำลึก 9 ปี การจากไป ของ เจริญ วัดอักษร ณ วัดสี่แยกบ่อนอก วีรบุรุษนักอนุรักษ์แห่งประจวบฯ ผู้เสียชีวิตไปจากการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พี่เจริญคอยย้ำเตือนเราทุกคนเสมอว่า “ตายสิบจักเกิดแสน ฆ่าได้เพียงร่างกาย แต่จิตใจอุดมการณ์ เจริญนับแสนล้าน จักก่อเกิดทั่วเมืองไทย” และชุมชนในจังหวัดประจวบฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเข้มแข็งของชุมชนนั้นเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถปกป้องทรัพยากรทางทะเลอันเป็นชีวิตของพวกเขาไว้ได้จริงๆ

ช่วงเช้าวันรำลึก อาสาสมัครกรีนพีซ เข้าร่วมกับกลุ่มเยาวชนและเครือข่ายชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันปลูกป่าในกิจกรรม “One Hour for the Ocean” ณ บริเวณที่ดินสาธารณะทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง เพื่อปลูกจิตสำนึกเยาวชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในบริเวณที่เจริญ วัดอักษร เคยต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าชายเลนตรงนี้ไว้จากแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และทวงคืนจากการบุกรุกของนายทุนที่เข้าไปยึดครองทำนากุ้ง  ในงานรำลึกมีพี่ป้าน้าอาจากชุมชนต่างๆ ของประจวบฯ ร่วม 200 คน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มารวมตัวกันเพียงเพื่อรำลึกถึงการจากไปของวีรบุรุษของชุมชนเท่านั้น แต่ยังมาร่วมพูดคุยถึงการร่วมกันปกป้องพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากการคุกคามของการประมงแบบทำลายล้างอีกด้วย ภาพของชายผิวดำร่างสูงโปร่ง อารมณ์ดีผู้อุทิศตนเพื่อชุมชนและสาธารณะประโยชน์มาตลอดช่วงชีวิตของเขาปรากฏขึ้นมาในใจของพวกเราอีกครั้ง พร้อมกับย้ำเตือนว่าหากชุมชนรวมตัวกันปกป้องสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีอุตสาหกรรมสกปรกใด หรือแม้แต่อุตสาหกรรมประมงพาณิชย์แบบทำลายล้างใดสามารถรุกรานได้ แต่จะต้องมีอีกสักกี่ชีวิตที่ต้องสูญเสียเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิของทุกคน การมาเยี่ยมเยือนของเรือเอสเพอรันซา ซึ่งมีความหมายว่า “ความหวัง” ณ ประจวบฯ ในครั้งนี้ ทำให้ฉันเชื่อแน่ว่า ความหวังยังคงมีอยู่เสมอในพลังของชุมชนที่เข้มแข็ง



ในวันนี้พี่ป้าน้าอาชาวประจวบฯ ร่วมร้อยคนก็มารวมตัวกันไม่แพ้เมื่อวาน พร้อมด้วยขบวนนักปั่นนับร้อยกับอุดมการณ์เดิมที่มั่นคง “ปั่นไปพิทักษ์รักษ์ทะเล” ที่นำโดยทีมคุณอาสุทธิชัย และกลุ่มนักปั่นสะพานบุญที่ร่วมปั่นรณรงรงค์มาตั้งแต่สงขลา เพื่อมาผนึกพลังแห่งความหวังให้กับพี่น้องชาวประจวบฯ สิ่งที่ฉันประทับใจเป็นพิเศษคือ การมารวมตัวกันของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน นำโดยพี่ปิยะ เทศแย้ม ผู้ร่วมเดินทางกับเรือเอสเพอรันซา และต่อสู้เพื่อผืนทะเลไทยร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านมาตลอด กล่าวถึงเขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเลอันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่เข้มแข้งของพี่น้องชาวประจวบฯ  “เราทำให้เกิดวันนี้ได้ จังหวัดประจวบฯเป็นจังหวัดแรกที่สามารถขยายเขตอนุรักษ์ออกไปเป็น 3 ไมล์ทะเล แต่ละชุมชนต้องร่วมกันเฝ้าระวังการลักลอบเข้ามาทำประมงแบบทำลายล้างในเขตอนุรักษ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรือคราดหอย และเรือประมงแบบทำลายล้างทุกชนิดที่มักเข้ามาคราดทุกสิ่งทุกอย่าง ทำลายระบบนิเวศของทะเลอันเป็นชีวิตของเรา”

น่าเสียดายที่สภาพอากาศในวันนี้ไม่เป็นใจนัก มีทั้งคลื่นลมแรงและฝนตกๆ หยุดๆ อยู่เกือบตลอดทั้งวัน กำหนดการเยี่ยมชมเรือเอสเพอรันซาจึงต้องยกเลิกไป เนื่องจากเราคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคน “น่าเสียดายนะป้าอยากไปดูข้างบนเรือมากเลย เห็นว่าเค้าจะมาช่วยกันวางทุ่นในวันพรุ่งนี้ด้วย” คุณป้าที่มาร่วมในภารกิจฟื้นชีวิตทะเลไทยพูดด้วยสีหน้าเศร้าๆ

ถึงฝนตกในวันนี้จะทำให้บรรยากาศเงียบเหงาไปสักนิด แต่ก็ยังมีชาวประจวบฯ แวะเวียนมาเล่นเกม ชมนิทรรศการ สนุกสนานกับการแสดงเพลงฉ่อยรักษ์ทะเลไทยที่จับจิตจับหัวใจเหลือเกิน และการแสดงจากเยาวชนคั่นกระได สร้างความคึกคักให้กับริมอ่าวประจวบฯ ได้เป็นอย่างดี

ปิดท้ายยามเย็นกับงานเสวนา “กว่าจะได้มา เขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเล” ความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของพี่น้องชาวประจวบฯ ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเขตอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ซึ่งหมายถึงการห้ามใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง และต้องเป็นการทำประมงแบบยั่งยืน เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของชาติไว้อย่างถาวร ฉันเชื่อเหลือเกินว่าตราบใดที่คนที่นี่ยังรักษ์ทะเล ทะเลก็มีความรักให้ทุกชีวิตเสมอ

ตะวันคล้อยต่ำ เป็นอีกวันหนึ่งที่จบลงไปด้วยรอยยิ้มแห่งความหวัง แต่พลังอันยิ่งใหญ่ของชุมชนชาวประจวบฯ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในวันพรุ่งนี้ (23 มิถุนายน) ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบฯ กว่า 200 ลำ จาก 14 ชุมชนจะวางทุ่นเพื่อเป็นรั้วทะเลประกาศเขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง เพื่อให้เห็นแนวการแบ่งเขตแดน ห้ามการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง อย่างชัดเจน อาจจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการร่วมมือร่วมใจทำรั้วทะเลประกาศเขตปกป้องอย่างชัดเจนเช่นนี้ ร่วมติดตามอีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติของผู้พิทักษ์รักษ์ทะเล และเรือเอสเพอรันซาได้ในวันพรุ่งนี้นะคะ