กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ท่วมแต่ยังไม่... “เต็ม”

ในสถานการณ์น้ำท่วมเช่นนี้ หลายคนคงได้ยิน ได้เห็น “ไฟฉายฉุกเฉินพลังงานแสงอาทิตย์” แจกจ่ายไปตามพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งโดนตัดน้ำ ตัดไฟ แนวคิดนิ้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือของทีมคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อีสาน และทีมงานอาสาสมัครโซล่าร์เซลล์ ของ อ.นันท์ ภักดี โดยอาศัยวิชาความรู้และประสบการณ์ บวกกับศักยภาพการผลิตพลังงานของประเทศไทยที่มีอยู่มาก ซึ่งชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆในการผลิตไฟฉายได้มาจากการบริจาคของผู้ใจบุญทั่วประเทศ ทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน




กลุ่มเยาวชนยุคพลังงานสะอาด และท่านผู้ปกครอง จากกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รวมพลกันอาสาช่วยทำไฟฉายพลังงานแสงอาทิตย์ ณ ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ จ.นครนายก หลังจากที่ฝึกฝีมือกันมาจากอบรม “ปฏิวัติพลังงาน” ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถึงคราวนี้จึงได้ลงสนามจริง ใช้ความรู้และทักษะที่มีช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม





คุณว่าไหม ชีวิตคนเราก็เหมือนกับการเดินทางของเส้นรอบวง ที่มีจุดเริ่มต้นและจุดบรรจบจุดเริ่มต้นอีกครั้ง


จุดเริ่ม “เต็ม” ในอดีตโลกเราอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่าไม้ น้ำ ดิน และสัตว์ป่า


จุดต่อ “ขาด” แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ ไม่เคยเต็มในสิ่งที่ตนเองมี จึงพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อความสะดวกสบาย สร้างตึกรามบ้านช่องอาคารบ้านเรือน แข่งความร่ำรวย แข่งความใหญ่โต แข่งยศฐาบรรดาศักดิ์ มีความอยากเป็นแรงผลักดัน ฉันอยากมี ฉันอยากเป็น


จุดแจ้ง “ขาด” ความตระหนักรู้ถึงคุณประโยชน์ของธรรมชาติ ยิ่งมนุษย์สร้างเทคโนโลยีมาเพื่อตอบสนองความสะดวกสบายมากขึ้นเท่าใด ความสุขทางใจกลับหนีห่างออกไปมากขึ้นเท่านั้น และความสมุดลทางธรรมชาติก็เสื่อมลง น้ำท่วมครานี้รุนแรงมาก เป็นบทพิสูจน์ของความโง่เขลาของมนุษย์ในการพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมระบบทุนนิยมจนไม่ลืมหูลืมตา ตัดต้นไม้และถมที่สร้างสิ่งก่อสร้าง แก้มลิงหายไป เหลือแต่แก้มตอบไร้ที่ให้ชุ่มน้ำ พลังของมนุษย์ตัวเล็กๆหลายล้านคนรวมกันก็ไม่สามารถจัดการกับมวลน้ำขนาดใหญ่ได้ทัน นี่เป็นการเตือนภัยทางธรรมชาติที่ย้ำเตือนว่าไม่มีมนุษย์คนไหนอยู่เหนือธรรมชาติได้


“คนจำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้า ต้องกินอาหาร พอน้ำท่วมหนหนึ่ง ก็เกิดการแย่งน้ำ อาหาร ขาดไฟฟ้า จึงเป็นเหตุให้ศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติแห่งนี้เปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งผลิตไฟฉายพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ถ้าโดนตัดน้ำ ตัดไฟ ยังไงก็ยิ้มได้ หากเราไม่ฝึกเรียนรู้กระบวนการพึ่งพาตัวเองและการใช้ชีวิตรอบตัว เงินเดือนกี่หมื่นกี่แสนก็ไม่ช่วยอะไรอาจารย์ปัญญา ปุลิเวคินทร์ หัวหน้าผู้ดูแลศูนย์ภูมิรักษ์ธรรมชาติ


“ผมมองว่าน้ำท่วมครั้งนี้คือ “เผาหลอก” ระบบไฟฟ้ายังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ถ้าในอนาคตเกิด “เผาจริง” น้ำจะท่วมสูงกว่าเดิมมาก คนกรุงอยู่ไม่ได้แน่นอนเพราะคนส่วนใหญ่ต้องพึ่งไฟฟ้า ตอนนี้เราสร้างเรือโนอาห์ไม่ได้ แต่เราสอนให้แต่ละคนสร้างเรือของตัวเอง สำหรับตัวเองและครอบครัวได้” อาจารย์พีระพงษ์ ภัทรพันธุ์ชัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอีสาน


จุดเต็ม “เต็ม” นานมากแล้วที่เราตามหาความสุขและคำตอบของชีวิตด้วยการวิ่งตามเส้นรอบวงมองไปข้างหน้า แต่ไม่เคยมองรอบตัว จนตอนนี้ยุคของเรากำลังวิ่งใกล้ถึงจุดเริ่มอีกครั้ง แต่ก่อนถึงจุดนั้น ลองมองด้านข้าง เราจะพบที่ว่างอันกว้างใหญ่มหาศาลที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยคิดจะก้าวเข้าไป...สร้าง “พื้นที่แห่งการเติมเต็ม” ฐานทรัพยากรที่มีอยู่อย่างร่อยหรอและความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ซึ่งมีไม่สิ้นสุดจะก้าวไปด้วยกันได้ด้วย “หลักเศรษฐกิจพอเพียง” ตามพระราชดำรัสของในหลวง โดยลดความต้องการที่เกินความจำเป็นและสร้างธนาคารอาหารและพลังงานขึ้นมา พลังงานหมุนเวียนที่ไม่มีวันหมดไปจึงเป็นคำตอบของความยั่งยืนในอนาคต




อาจารย์นันท์ ภักดี หนึ่งในคนต้นคิดไฟฉายฉุกเฉิน ซึ่งเป็นแสงเทียนเล่มสำคัญที่กำลังส่องไฟนำทางให้กับทางออกของวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และจุดไฟเรื่องพลังงานหมุนเวียนต่อให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป กล่าวว่า “โซลาร์เซลล์ไม่ใช่ใหม่และไม่ใช่เรื่องยาก ไฟฉายฉุกเฉินนี้ก็ผลิตมาจากการพลิกแพลง จับแพะชนแกะ เอาอุปกรณ์ที่ได้จากการบริจาค มาประกอบกัน ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด สุดท้ายแล้วเราก็กลับมาสู่ความเรียบง่าย ผมเห็นว่าถ้าทุกครัวเรือน ทุกหมู่บ้าน ติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้เหมือนต่อไฟบ้านได้ ทุกบ้านก็จะสร้างพลังงานใช้เองได้ ถึงคราวนั้นก็ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่เป็นต้นเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมต่างๆ”


ไฟฉายพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้ถูกส่งต่อไปยังเครือข่ายพลังงาน ผ่านองค์กรต่างๆและผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตพื้นที่ต่างๆ


ทางกรีนพีซได้กระจายไฟฉาย 40 ชุด ไปยังเต้นท์หน้าโรงแรมดุสิต บางกะปิ อ่างทอง ลพบุรี ดอนเมืองและรังสิต


พื้นที่ว่างในวงกลมกำลังอ้าแขนรับทุกคน เข้ามาเติมพลังงานหมุนเวียน พลังงานแห่งอนาคตอันยั่งยืนให้เต็มวง และพร้อมจะขยายขนาดของวงให้กว้างพอที่สู้ภัยน้ำท่วมได้


รู้จัก "ไฟฉายพลังงานแสงอาทิตย์" หรือ "เจ้าเต่าไฟ" มากขึ้น





Create Date : 11 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2554 22:14:36 น. 0 comments
Counter : 1076 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com