กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
อีไอเอ/อีเอชไอเอ กลไกที่สร้างความชอบธรรมให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

เพราะเหตุใดนักวิชาการ และคนรักกระบี่หลายภาคส่วนถึงยังต้องมาถกกัน แม้ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำอีไอเอ/อีเอชไอเอ โครงการท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ จะสิ้นสุดไปแล้ว? และเพราะเหตุใดเรือหัวโทงอัตลักษณ์ของอันดามัน แหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุด ความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นความมั่นคงทางอาหารของไทย ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำติดอันดับโลก และความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของกระบี่ จึงถูกมองข้ามไปในอีไอเอ/อีเอชไอเอฉบับนี้

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นักวิชาการ ชาวกระบี่ และประชาชนคนรักกระบี่ได้รวมตัวกันถกถึงระบบกลไกอีไอเอ/อีเอชไอเอ กรณีถ่านหินกระบี่ เปิดรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ถือเป็นการชำแหละกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ/อีเอชไอเอ) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทําโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เผยให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมและไม่โปร่งใสของกระบวนการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ดูแล้วจะเอื้อต่อการสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการ จนไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กังวลต่ออนาคตของกระบี่ และไม่คำนึงว่าจะเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของกระบี่ที่แสนสวยงามจนได้ขนานนามว่าเป็นมรกตแห่งอันดามัน

หรือกระบี่ก็เป็นเพียงแค่อัญมณีชิ้นหนึ่งที่ไร้ค่าไร้ราคาในสายตาของกฟผ.

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทําโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ต. ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เพื่อขนถ่านหินไปใช้ที่โรงไฟฟ้า โครงการนี้มีการตัดไม้ป่าชายเลน และขนถ่านหินผ่านพื้นที่ป่าชายเลน แหล่งประมง แหล่งดำน้ำ พื้นที่ชุมชน ตลอดระยะเวลาการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโครงการนี้ ชาวกระบี่ ชาวไทย นักท่องเที่ยว และทุกคนที่รักกระบี่ต่างออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา แต่ดูเหมือนว่าเสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนั้นจะเป็นเสียงที่กฟผ.ไม่ยอมรับฟัง จึงเป็นที่มาของความไม่ชอบธรรมและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับกระบวนการการจัดทำอีไอเอ/อีเอชไอเอ ที่แต่ละครั้งนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น การใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจา การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยที่ชุมชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ ท้ายที่สุดในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ชาวกระบี่ผู้ไม่เห็นด้วยจากหลายพื้นที่ได้มานั่งปิดปากแสดงอารยะขัดขืนต่อกลไกอันไม่ชอบธรรมเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเเสียงของประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อปกป้องจังหวัดกระบี่ไม่มีใครฟัง สิ่งเหล่านี้คือความไม่ชอบธรรม ไม่โปร่งใส และไม่ชอบด้วยกฏหมาย ที่เป็นคำถามคาใจประชาชนว่ากระบวนการอีไอเอผ่านพ้นลุล่วงมาถึงจุดที่ใกล้อนุมัติโครงการเช่นนี้ได้อย่างไร

โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สําคัญนอกเหนือจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ําปากน้ํากระบี่ที่เป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว ยังเป็น พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีสัตว์ที่ถูกคุกคามระดับโลกและระดับประเทศ ทําให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งผลิตอาหารและปอดเลี้ยงคนกระบี่ เป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อาศัยอยู่ และมีชาวประมงเรือเล็กใช้พื้นที่ทํากินกว่า ๔๐๐ ลํา การขนถ่านหินมีเส้นทางเดินเรือซ้อนทับกับเรือท่องเที่ยว ผ่านจุดดําน้ําที่สําคัญและผ่านตําแหน่งวางอุปกรณ์ทําการประมงของชาวประมงเรือเล็ก

ความหลากหลายทางชีวภาพและสังคมมากขนาดนี้…
ทำไมอีไอเอ/อีเอชไอเอไม่บอก

“อีไอเอระบุว่าหญ้าทะเลมีน้อยมาก ทั้งที่มีขนาดพื้นที่หญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดของไทย ไม่ศึกษาชนิดปลา กุ้ง หอย หมึก ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร มีแต่แพลงตอน และสัตว์หน้าดิน ขณะที่มหาลัยเล พบปลา 269 ชนิด เฉพาะแหลมหินที่เดียวที่จะสร้างท่าเทียบเรือพบ 173 ชนิด หอย 72 ชนิด เกาะปู หอย 42 ชนิด กุ้งและกั้ง 21 ชนิด พบที่ป่าชายเลนที่รายงานระบุว่าเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม” --- ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิเคราะห์ถึงรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอฉบับย่อ เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยมหาลัยเลของชุมชน

ไม่เพียงเท่านั้น ในรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ ยังให้ความสำคัญของข้อมูลการประมงไว้น้อยมาก ทั้งที่คลองรั้วช่องแหลมหิน เป็นเสมือน “เมืองหลวงของการประมงแห่งอันดามัน”  เป็นพื้นที่สำคัญของการทำประมงชุมชนแถวนี้ เป็นตู้เอทีเอ็มของชาวบ้าน เป็นพื้นที่วิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชาวบ้าน “ถึงแม้จะมีความอุดมสมบูรณ์มากเพียงนี้ แต่กฟผ.กลับอ้างว่าหากได้รับผลกระทบจะรองรับชดเชยด้วยการให้เลี้ยงปลากระชัง ซึ่งไม่สมเหตุสมผลและทดแทนไม่ได้กับความอุดมสมบูรณ์ที่กระบี่มี” นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าว

ไม่ใช่เพียงแค่ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังละเลยมิติทางสังคมของชุมชน กล่าวอ้างว่าไม่มีแหล่งโบราณคดี โดยที่ไม่ได้อธิบายให้เห็นประวัติศาสตร์ชุมชนที่มีความหลากหลาย เช่น อุรักละโวย ไทยพุทธ  และไทยมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีวันจัดการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ได้จัดตรงกับพิธีลอยเรือ ซึ่งมีความสำคัญกับชุมชน แสดงว่าไม่ให้ความสำคัญกับคนแต่อย่างไร รวมถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านของการประมงที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และขาดการกล่าวถึงเรือหัวโทงเป็นอัตลักษณ์ของอันดามัน

ผลกระทบต่อคลองปะกาสัย… ทำไมอีไอเอ/อีเอชไอเอไม่บอก

“ทางกฟผ.อ้างว่าไม่มีการขุดลอกคลอง แต่ช่องเดินเรือแหลมหินมีความตื้นเพียง  2.5 เมตร อ้างว่าจะลอยเรือรอน้ำขึ้น แต่ระยะเวลาที่ต้องรอให้เรือเข้านั้นชาวประมงจะทำมาหากินไม่ได้ อีกทั้งยังระบุทิ้งท้ายว่าหากมีการขุดลอกคลอง จะเป็นมาตรการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งที่อันที่จริงแล้วการขุดลอกร่องน้ำจะต้องใช้เวลา 8 ปี กว่าระบบนิเวศจะฟื้นคืนกลับมา นอกจากนี้ดูเหมือนว่ากฟผ.ยังลืมนึกถึงปริมาณน้ำหล่อเย็นที่ต้องทิ้งเป็นหลานแสนคิวต่อวันที่อาจต้องปล่อยลงคลองปะกาสัยที่แคบมาก แต่เป็นคลองของชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ” --- คุณณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร นักวิชาการอิสระวิเคราะห์เนื้อหาของรายงานอีไอเอ/อีเอชไอ

เมื่อมีการเปรียบเทียบเนื้อหาของรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอค.1 และค.3 ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงคือ ขนาดของเรือขนส่งถ่านหิน จากเดิม3,000 เดทเวทตัน (กินน้ำลึก 3.5 เมตร) ในค.1 แต่ในค.3 เปลี่ยนเป็น 10,000 เดทเวทตัน (กินน้ำลึก 5.5 เมตร) วันละ 2 รอบ มีเรือนำ 2 ลำ และเรือนำเชือกอีก 1 ลำ “เห็นได้ชัดว่าที่ตั้งของโครงการไม่เหมาะสม ในบริเวณที่ใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่นี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่ประมง เกษตร การท่องเที่ยว พื้นที่สีเขียว การกำจัดปรอททำได้ยาก แม้จะใช้เทคโนโลยีระดับหนึ่ง แต่โครงการนี้ใช้เพียงระดับสี่เท่านั้น” คุณณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร กล่าว

ไม่ต้องห่วงหากถ่านหินตกลงทะเล ทางกฟผ.จัดการได้! ด้วยการช้อนเก็บและใช้นักประดาน้ำ

“ถ้ามีถ่านหินร่วงหล่น จะต้องใช้นักประดาน้ำสักกี่คน ต้องใช้สวิงใหญ่ขนาดไหน จึงจะเก็บถ่านหินได้หมด กฟผ.จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ต่อผลกระทบเรื่องประมง เกษตร และการท่องเที่ยว  ทั้งที่การศึกษาวิจัยเสร็จสิ้นขั้นตอนแล้วยังไม่มีอะไรชัดเจน” ---  นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวถึงวิธีการจัดการของกฟผ.

นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์  เสริมว่า ในการแก้ไขปัญหาเรื่องถ่านหินตกลงทะเลระหว่างการขนส่ง ทางกฟผ.มีการจัดการด้วยการช้อนเก็บ และใช้นักประดาน้ำดำน้ำเก็บกู้ ซึ่งวิธีเช่นนี้จะยิ่งทำให้ถ่านหินฟุ้งกระจาย และยิ่งหากตกลงชายหาดด้วยไม่รู้ว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไร

“หากเรือถ่านหินล่ม การท่องเที่ยวฝั่งอันดามันก็พังหมด ขณะนี้มีมติคณะรัฐมนตรีว่าห้ามใช้ป่าชายเลนโดยเด็ดขาดเพียงแต่ยังไม่ประกาศออกมา พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่สำคัญระดับโลก เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ หากสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่ได้ ก็สามารถสร้างที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย” รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล กล่าว

หลากหลายเสียงที่มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเรื่องอีไอเอ/อีเอชไอเอ ของโครงการท่าเรือขนส่งถ่านหินกระบี่ในวันนี้ต่างเรียกร้องให้ภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย และกฟผ.ยุติโครงการที่จะคุกคามความอุดมสมบูรณ์ของกระบี่แห่งนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นยังมีพี่น้องจากมาบตาพุด จังหวัดระยองมากล่าวถึงความเดือดร้อนของตน และกังวลว่ากระบี่จะเป็นอีกประวัติศาตร์ที่ซ้ำรอย “ถ่านหินไปเกิดที่ไหน หายนะก็เกิดที่นั่น น้ำฟ้าไม่ได้กิน น้ำดินไม่ได้ใช้ ตั้งแต่มาบตาพุดมีอุตสาหกรรม มีท่าเรือ มีแต่ต้องรับกรรมจากกลุ่มทุนหลายๆ ชนิด เราคิดว่ากระบี่ควรเป็นแหล่งอาหารของประเทศไทย อย่าให้เหมือนระยอง เป็นความทุกข์ที่เจ็บปวดของคนระยอง ฝนตกลงมาเราจะแสบ ผมจะร่วง เมื่อมีท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมจะตามไปแน่นอน และชะตาก็คงไม่หนีจากคนระยอง”

“หนูจะเอาเงินที่ไหนเรียนหนังสือ ถ้าพ่อจับปลาไม่ได้” นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงเล็กๆ จากเยาวชนผู้เป็นอนาคตของกระบี่ แต่อนาคตของกระบี่ยังคงอยู่ในเงื้อมมือของกระบวนการอีไอเอ/อีเอชไอเอที่ไม่ชอบธรรม จากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ชะตากระบี่ว่าจะให้อีไอเอ/อีเอชไอเอฉบับนี้ผ่านหรือไม่ แต่ยังไม่สายที่เราทุกคนจะมารวมพลังกันกำหนดอนาคตสีเขียวให้กับกระบี่และประเทศไทย ร่วมเปล่งเสียงรักกระบี่ให้ดังยิ่งขึ้นที่ HugKrabi.org และบอกกับกฟผ.ว่า ทางออกที่ยั่งยืนของพลังงานคือพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่การดึงดันเร่งผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยอย่างไม่ชอบธรรม

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- กุมภาพันธ์ 12, 2558 ที่ 17:10

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52097/




Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2558 10:36:58 น. 0 comments
Counter : 956 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com