กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน ชุมชนคั่นกระไดกับการประมงพื้นบ้าน ทางออกเพื่อความยั่งยืนของท้องทะเล

เคยสงสัยไหมคะว่า เหตุใดอาหารทะเลจึงแพงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ปลาก็ตัวเล็กลงเรื่อยๆ ปลาในทะเลของเรากำลังหายไปไหน ทำไมทะเลที่แสนกว้างใหญ่จึงเหลือปลาน้อยลง?

คำตอบที่เราค้นหาไม่ใช่สิ่งลี้ลับอย่างสัตว์ประหลาดที่กว้านกินปลาใต้ผืนมหาสมุทร แต่เกิดจากการประมงเกินขนาดอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมการประมงที่เน้นการจับปลาปริมาณมากด้วยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง จนกระทั่งระบบนิเวศถูกทำลาย ปลาไม่มีโอกาสได้เติบโตฟื้นตัวทัน และแม้แต่สัตว์น้ำที่ไม่ใช่ปลาเศรษฐกิจเป้าหมาย อาทิ เต่าทะเล โลมา วาฬ และฉลาม ก็เป็นเหยื่อให้กับการประมงอย่างขาดความรับผิดชอบต่อท้องทะเล การประมงเกินขนาดและการประมงแบบทำลายล้างนี้ นอกจากจะเป็นการตักตวงผลประโยชน์จากท้องทะเลอันเป็นสมบัติของเราทุกคนแล้ว ยังทำให้สัตว์น้ำหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์ โดยที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างพวกเราเป็นหนึ่งในตัวการนั้นเนื่องจากเราเป็นผู้กินปลาที่จับมาอย่างไม่คำนึงถึงท้องทะเล

ทางออกไม่ใช่การเลิกกินปลา เพราะปลายังคงเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของโลก  ทางออกเพื่อความยั่งยืนของท้องทะเล คือ การประมงพื้นบ้านที่จับปลาอย่างเห็นคุณค่าของทะเล และฟื้นฟูท้องทะเลเพื่ออนุรักษ์ให้มีปลาสำหรับชนรุ่นหลัง

ชุมชนคั่นกระได จากที่ปลาเคยหายไป และการฟื้นฟู

เชื่อหรือไม่ว่า จะมีชุมชนหนึ่งซึ่งเคยประมงด้วยอวนตาถี่ จับปลาเล็กปลาน้อยจนกระทั่งอ่าวของตนไม่มีปลา จนต้องไปแย่งปลาของอ่าวอื่น ทำให้โดนไล่กลับมา และในที่สุดก็สามารถฟื้นฟูทะเลบ้านของตนเองให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยการประมงที่เป็นมิตรต่อท้องทะเล

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของชุมชนอ่าวคั่นกระได

เดิมทีพี่น้องชาวคั่นกระไดก็ทำประมงด้วยรูปแบบที่ไม่แตกต่างจากชุมชน หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ คือ เมื่อเหลือแต่ปลาที่มีขนาดเล็กลง ก็ลดขนาดตาของอวนตาม จาก 2.9 เซนติเมตร เหลือ 2 เซนติเมตร จนกระทั่งในปี 2551 เกิดวิกฤตปลาเริ่มหมดไปจากอ่าวคั่นกระได ไม่สามารถจับปลาได้ เนื่องจากลูกปลาถูกจับไปจนหมดไม่หลงเหลือให้เติบโตและขยายพันธุ์ ต้องออกไปจับปลาที่เขตบางสะพานน้อย และถูกชุมชนที่นั่นคัดค้านขับไล่ หลังจากนั้นชุมชนจึงหันมารวมตัวคุยกันถึงปัญหา โดยที่มีสมาคมรักษ์ทะเลไทยเป็นผู้แนะนำ หัวใจหลักของการฟื้นฟูมีวิธีการหลักสามวิธีด้วยกัน คือ

1. เลิกการใช้อวนตาถี่ที่คร่าชีวิตลูกปลา

เมื่อทางชุมชนลองงดใช้สัก 3 เดือน ปรากฎว่าได้ผล จึงมีตั้งกติกาตกลงกันว่าเลิกใช้อวนตาถี่ล้อมจับปลา จวบจนปัจจุบัน

2. แนวทางอนุรักษ์ฟื้นฟู ด้วยธนาคารปู และซั้งกอบ้านปลา

แนวความคิดการทำธนาคารปู และซั้งกอบ้านปลานั้น เกิดจากการเรียนรู้รูปแบบการทำซั้งจากชุมชนท่าศาลา ผสมกับการล่อปลาของเรือประมงพานิชย์ ซึ่งเป็นวิธีที่ล่อปลาเพื่อจับปลา และซั้งของคั่นกระไดนี้เป็นการล่อให้ได้อยู่อาศัยและขยายพันธุ์ อีกทั้งยังกำหนดไว้ว่า ห้ามล้อมจับซั้งซึ่งจะไม่ต่างจากการทำร้ายปลา แต่จับได้เฉพาะปลาที่อยู่รอบซั้ง หลังจากวางซั้งเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็เห็นผลทันทีว่ามีฝูงปลาทู และปลาทะเลเข้ามาอยู่อาศัย

3. เฝ้าระวังไม่ให้เรือพานิชย์เข้ามาจับ

เมื่อปลากลับมาชุกชุม สิ่งที่ตามมาก็คือเรือประมงพานิชย์พร้อมด้วยเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง เหมือนกับการที่เรือประเภทนี้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากสิ่งที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟู

ธรรมชาติเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เมื่อให้เวลาธรรมชาติเยียวยา ก็สามารถฟื้นตัวได้ และเปลี่ยนท้องทะเลที่ปลาหมดเป็นความอุดมสมบูรณ์ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ชุมชนคั่นกระไดสามารถฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลได้อย่างสำเร็จ คือความร่วมมือร่วมใจอย่างแข็งขันของชุมชน มีการสร้างกติกาชุมชนร่วมกัน

“เราคิดว่าการกินแม่ปูตัวหนึ่ง เท่ากับการฆ่าลูกปู 100,000 ตัว หรือปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน ถ้าทุกคนทำแบบนี้ได้ ท้องทะเลจะยั่งยืน” พี่สมพงษ์ ปานน้อย สมาชิกสมาคมประมงพื้นบ้านอ่าวคั่นกระได กล่าว


แม้แต่เด็กในชุมชนเองก็เป็นหัวใจสำคัญในการร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟู โดยมีการจัดตั้งกลุ่ม “เด็กเลี้ยงปู” ขึ้น สำหรับเยาวชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลปูและท้องทะเล ซึ่งขณะนี้มีเด็กร่วมกลุ่มทั้งหมด 30 คน ช่วยกันเลี้ยงดูให้อาหารปู ให้เขาได้รู้จักถึงคุณค่าชีวิตของแม่ปูตัวหนึ่งว่าสามารถให้กำเนิดลูกปูได้ 100,000 ตัว และเมื่อนำปูที่วางไข่แล้วไปขายก็ได้เงินกลับมาออมพรัพย์ “ลูกชายผมไม่เคยเอาแม่ปูมาขาย ยึดถือเป็นกติกาของตนเอง อยากเห็นคนเคารพกฎกติกาเหมือนกับที่นี่ ถ้าทุกชุมชนมีกฎกติกาเหมือนกัน ก็ไม่ต้องแย่งชิงกัน” หนึ่งในตัวแทนชุมชนคั่นกระไดกล่าว

“จากที่เคยไม่มีปลา ปัจจุบันสามารถจับได้มากถึง 1,000 กิโลกรัม ต่อวันต่อลำ หากเทียบตามราคาแล้ว ปลาขนาดเล็ก หรือที่เราเรียกว่า ปลาเป็ดปลาไก่นั้น เมื่อนำมาขายจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 5 บาท แต่มีปลาเป็นนับพันตัว ขณะที่หากขายปลาที่โตเต็มวัน จะได้กิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป โดยที่เป็นปลาตัวโตเต็มวัยเพียงแค่ 13 ตัว แต่อุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นฟูอนุรักษ์คือเรือประมงแบบทำลายล้าง ปัญหาอยู่ที่เจ้าหน้าที่กับกฎหมายที่ขาดการบังคับใช้ หากมีกฎหมายห้ามการครอบครองเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ทะเลไทยจะกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างแน่นอน” พี่สมพงษ์ ปานน้อย กล่าวเสริม

ในบริเวณที่ท้องทะเลสงบและสวยงามอย่างที่นี่ ชุมชนยังเล่าอีกว่ามักพบวาฬบรูด้า และโลมาสีชมพู บ้างก็มีฉลามหัวค้อน พบเห็นอยู่เป็นประจำ สัตว์ทะเลมหัศจรรย์เหล่านี้คงเป็นหลักฐานที่ดีถึงความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลอ่าวคั่นกระได จากการที่ไม่มีเครื่องมือประมงที่ทำร้ายพวกเขา สิ่งที่ชุมชนได้สร้างการเปลี่ยนแปลงถือเป็นชัยชนะของท้องทะเลที่เอื้อประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งต่อชุมชน ต่อทะเล และต่อผู้บริโภคที่ไม่ต้องกลายเป็นผู้ร้ายทำลายท้องทะเลโดยที่ไม่รู้ตัว ไม่ใช่แต่เพียงชุมชนเท่านั้นที่คืนอนาคตให้กับท้องทะเลได้ แต่ผู้บริโภคอย่างเราเองคือผู้ที่มีอิทธิพลในการช่วยกำหนดชะตาท้องทะเล ซึ่งพี่สมพงษ์ ปานน้อย ยังได้ฝากถึงผู้บริโภคว่า “ถ้าไม่ซื้อปูไข่ ปูไข่ก็ขายไม่ได้ ลูกปูก็ได้เกิด เช่นเดียวกับปลาตัวเล็กที่ยังไม่โตเต็มวัย เท่านี้ก็ช่วยลูกปูลูกปลาได้แล้ว ชาวประมงขอได้ไหมว่าอย่ากินเลย เพราะเป็นการส่งเสริมการฆ่าลูกปูลูกปลา หากปล่อยให้เติบโตก็จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและต่อท้องทะเลมากขึ้น” เรื่องง่ายๆ เช่นนี้ คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องทะเลอย่างยั่งยืนได้ ดังที่ชุมชนคั่นกระไดกล่าวไว้ว่า ปล่อยหนึ่งจักเกิดแสน เพราะทะเลเป็นของเราทุกคน หากทุกคนร่วมมือกันจะสามารถแก้วิกฤตทะเลได้อย่างแน่นอน

ติดตามกิจกรรมของกรีนพีซกับชุมชนคั่นกระได้เร็วๆ นี้

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 21, 2558 ที่ 15:42

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52656/




 

Create Date : 23 เมษายน 2558   
Last Update : 23 เมษายน 2558 13:40:03 น.   
Counter : 998 Pageviews.  


ดอกไม้ที่เบ่งบานจากขยะ ศิลปะแห่งการรีไซเคิลเพื่อท้องทะเล


“ผมดัดแปลงให้ขยะกลายเป็นดอกไม้และวาฬในนิทรรศการนี้ ขณะนี้เรากำลังสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่เราก็สามารถเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนให้เป็นโลกที่น่าอยู่ขึ้นสำหรับสัตว์น้ำได้ หากเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลงการบริโภคและวิถีชีวิตสักวันหนึ่งวาฬและสัตว์น้ำอื่นก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ และเราเองก็ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้เช่นกัน เราทุกคนควรร่วมกันทำอะไรสักอย่าง นอกจากเพียงแค่ใช้สิ่งของอย่างทิ้งขว้าง” -- อลิญญะ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะจากขยะ

 

 

เมื่อมองดูสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวัน หรือลองสังเกตสิ่งที่เราไม่ต้องการหลังจากการชอปปิ้งในแต่ละครั้ง คุณจะรู้ว่าแต่ละวันเราสร้างขยะกันเยอะมากเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นหลอด ถุงพลาสติก ขวดน้ำ ช้อนไอศกรีม และแก้วกาแฟ ซึ่งขยะเหล่านี้หากขาดการจัดการที่ดี ท้ายที่สุดแล้วอาจจะตกลงสู่ทะเล กลายเป็นมลพิษที่คร่าชีวิตสัตว์น้ำน้อยใหญ่ ในงานนิทรรศการงานศิลปะและภาพถ่าย "Art for the Ocean" ได้จัดแสดงถึงหนึ่งในวิกฤตปัญหาท้องทะเล ซึ่งก็คือปัญหาขยะ  แต่ขยะ สิ่งที่ไร้ค่าและถูกมองว่าเป็นสิ่งสกปรก ได้กลายเป็นผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าเมื่ออยู่ในมือของศิลปินนามว่า อลิญญะ (Aligna) ก่อนที่จะไปชมงานศิลปะของเขาในงานนี้ ลองมาทำความรู้จักกับอลิญญะ และแรงบันดาลใจดีๆ ที่ผลักดันให้เขาสร้างสรรค์ผลงานจากขยะที่หลายคนไม่เห็นค่า

 

คิดก่อนทิ้ง ลดปัญหาบริโภคนิยม คุ้มครองโลกอย่างยั่งยืน

อลิญญะ เป็นศิลปินชาวลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส เขาทำงานศิลปะจากขยะเพื่อสะท้อนประเด็นเรื่องบริโภคนิยมในสังคม เพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นว่ามีวัสดุต่างๆ ที่ยังสามารถใช้ได้ และไม่จำเป็นต้องซื้อของใหม่เสมอไป เขาเล่าว่าเมื่อครั้งที่เขาอาศัยอยู่ที่ลาวนั้น ชาวลาวไม่มีวัสดุสิ่งของมากมายเท่าที่ยุโรป มักประดิษฐ์ของเล่นขึ้นเอง และใช้สิ่งของอุปโภคบริโภคต่างๆ จนกระทั่งชำรุด โดยอลิญญะ ได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ศิลปะที่สะท้อนโลกแห่งสังคมบริโภคนิยมนี้ว่า “ในวันนี้ได้มีโอกาสมาสร้างสรรค์งานศิลปะสำหรับวันคุ้มครองโลกร่วมกับกรีนพีซ ปัจจุบันนี้คนเริ่มตระหนักเรื่องรีไซเคิลมากขึ้น เพราะเริ่มมีขยะเพิ่มขึ้น เราไม่เล็งเห็นถึงคุณค่าของสิ่งของต่างๆ และสังคมบริโภคนิยมทำให้ผู้คนโหยหาต้องการของใหม่อยู่เสมอ อาทิเช่น โทรศัพท์รุ่นใหม่ที่ยังไม่ออกแต่ปรากฏในโฆษณา ทั้งที่ของเก่าก็ยังคงใช้ได้ดี เราโชคดีที่มีเทคโนโลยีและสิ่งของที่ช่วยให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเราง่ายขึ้น มีทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ แต่ขณะที่เราใช้สิ่งของอย่างทิ้งขว้าง อีกมุมหนึ่งของโลกกลับขาดแคลนแม้กระทั่งอาหารและน้ำดื่ม ผมหวังว่าโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นสักวัน”


 

ศิลปะที่เบ่งบานจากขยะ

ดังท่าน ติช นัท ฮันห์ ชี้ว่า ดอกไม้กับขยะไม่ได้แยกจากกัน ต่างเป็นดั่งกันและกัน ดอกไม้ย่อมกลายเป็นขยะ แต่ขยะก็ก่อเกิดดอกไม้ด้วยเช่นกัน ผลงานของอลิญญะชิ้นนี้ไม่ได้เป็นการแสดงเจตจำนงค์เลียนสิ่งสวยงามตามธรรมชาติอย่างดอกไม้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีสิ่งประดิษฐ์ใดจะทัดเทียมความสวยงามตามธรรมชาติได้ แต่อลิญญะมุ่งหวังให้ดอกไม้จากขยะสื่อถึงความสวยงามจากสิ่งที่คนเรามองข้ามและทิ้งขว้าง หากดัดแปลงสักนิดไม่ว่าสิ่งใดก็สามารถมีรูปลักษณ์ใหม่ที่สวยงาม “ทุกคนสามารถทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นดอกไม้ได้ไม่ยาก แม้แต่การผลิตจากขยะ ขยะทุกชิ้นยังมีค่า แม้แต่ตะปูสนิมขึ้นก็ยังมีค่าสามารถใช้งานได้และมีความสวยงาม สิ่งที่เรามองว่าสกปรก แต่ที่จริงแล้วเป็นความสกปรกแค่เปลือกนอก ภายในยังสะอาดและมีค่าเสมอ” อลิญญะกล่าว

อลิญญะผลิตงานศิลป์จากขยะทุกชิ้นที่หาได้ ไม่ได้เป็นการเลือกเฟ้นชิ้นใดชิ้นหนึ่งแต่อย่างไร แต่นำเอาขยะทุกชนิดที่สังคมบริโภคนิยมทิ้งขว้าง นำมาสร้างคุณค่าใหม่ ซึ่งอลิญญะเสริมว่า “หากเราใช้ขยะเหล่านี้ซ้ำ ก็จะถือเป็นการลดขยะลงไปอีกชิ้น และทำร้ายโลกเราน้อยลง”

 

ดอกไม้ขยะที่เบ่งบานเพื่อปกป้องท้องทะเลจากขยะ

“วิกฤตขยะที่ส่งผลต่อท้องทะเลในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากการที่เราทิ้งขว้างขยะไปทุกที่ทุกทาง และนั่นเป็นการทำร้ายมหาสมุทรและธรรมชาติ แต่ทุกคนสามารถร่วมกันลงมือทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และสิ่งละอันพันละน้อยเหล่านั้นเมื่อรวมกันจะกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ การทำดอกไม้จากขยะคงไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด แต่เป็นการสร้างไอเดียให้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรกับขยะได้”

 

 

เมื่อปี พ.ศ.2553 ข้อมูลเผยออกมาว่า ประเทศต่างๆ ที่ติดชายฝั่งทะเลได้ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากถึง 8 ล้านตัน ขยะพลาสติกเหล่านี้ลอยไปเกาะกลุ่มรวมตัวกันเป็นแพขยะในมหาสมุทร โดยที่ประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก ซึ่งหากตัวเลขเหล่านี้ยังไม่น่ากลัวพอ ลองคิดดูสิว่า หากเรายังคงไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค มีความเป็นไปได้สูงว่าพลาสติกในมหาสมุทรอาจจะมีจำนวนมากเท่าปลา อนาคตของมนุษย์กับสังคมบริโภคนิยมคงไม่ใช่ความสะดวกสบายที่เราใฝ่ฝัน แต่จะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบกลับมาทำร้ายตัวเราเอง ไม่ใช่เพียงแค่ท้องทะเลเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

“สิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดคือ มลพิษ และขยะที่เราทิ้งนั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวัน ผมหวังว่าทุกคนจะหันมาร่วมกันทำสิ่งดีๆ เพื่อมหาสมุทร เพราะการที่เราทำเพื่อมหาสมุทรนั้นเท่ากับทำเพื่อตัวเราเองเช่นกัน ตอนนี้เรายังอยู่อาศัยบนโลกได้อย่างปกติ แต่ลูกหลานของเราอาจจะไม่ หากเรายังคงทิ้งขยะ ทิ้งมลพิษอยู่เช่นนี้ ท้องทะเลที่สวยงามของเราจะล่มสลายไป” อลิญญะกล่าว งานศิลปะจากขยะของเขาในครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนถึงปัญหาบริโภคนิยมของเราที่ส่งผลต่อท้องทะเล ซึ่งศิลปินหวังว่าจะช่วยให้สังคมนำกลับไปขบคิดถึงปัญหาขยะ ตั้งคำถาม เรียนรู้ รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกสิ่งสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เพื่อลดมลพิษให้กับท้องทะเลและโลก ดังเช่นศิลปะจากขยะของอลิญญา

ติดตามผลงานตัวอย่างของ Aligna ได้ที่ aligna.fr 

ชมนิทรรศการ "Art for the Ocean" 22-28 เม.ย.นี้ เวลา 10.00-19.00 และเข้าร่วม Workshop เพื่อศึกษาและทำงานศิลปะจากขยะกับอลิญญะได้ ระหว่าง  16.00-19.00 น.

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก อลิญญะ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะจากขยะ

 

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 20, 2558 ที่ 9:42

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52641/


 




 

Create Date : 23 เมษายน 2558   
Last Update : 23 เมษายน 2558 13:11:54 น.   
Counter : 1692 Pageviews.  


กรีนพีซยินดีกับแผนการของแอปเปิลด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในจีน

ปักกิ่ง, 17 เมษายน 2558 – หลังจากแอปเปิลประกาศแผนพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ 2 โครงการในมณฑลเสฉวนของจีน 

Download English version here

หยวน หยิง ผู้ประสานงานรณรงค์อาวุโสด้านพลังงานหมุนเวียน กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า

“ประกาศของแอปเปิลเป็นย่างก้าวที่สำคัญก้าวแรกสำหรับการบริหารจัดการการใช้พลังงานของแอปเปิลในจีน และเป็นกรณีตัวอย่างที่สำคัญยิ่งต่อบริษัทอื่นๆ ที่ประกอบธุรกิจอยู่ในจีน เป็นการกระตุ้นเตือนว่าพวกเขาสามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยพลังงานหมุนเวียนได้จริง ทั้งนี้ จีนประกาศเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานจากแหล่งที่ไม่ใช่เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นร้อยละ 15 ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 2563 โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะเพิ่มเป็น 200 กิกะวัตต์ (GW) และ 100 กิกะวัตต์ ตามลำดับ ทั้งบริษัทท้องถิ่นและบริษัทข้ามชาติหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการเพื่อใช้พลังงานหมุนเวียนในการขับเคลื่อนธุรกิจในจีนกันบ้างแล้ว และเมื่อมีบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเช่นแอปเปิลเป็นผู้นำทาง เราก็คาดหวังว่า การลงทุนในพลังงาหมุนเวียนจะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2563

“ก้าวต่อไปของแอปเปิลน่าจะเป็นการประสานความร่วมมือจากบรรดาผู้จัดจำหน่ายของแอปเปิลในการขับเคลื่อนโรงงานผลิตสินค้าในจีนด้วยพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของจีนที่จะลดการใช้ถ่านหินและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนกำลังก้าวหน้าด้วยดี แต่เราต้องการความก้าวหน้าที่รวดเร็วกว่านี้ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศที่ถึงขั้นวิกฤตในหลายเมืองของจีน ทั้งนี้เพื่อให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในจีนถึงจุดอิ่มตัวและเริ่มลดปริมาณการปล่อยอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บรรดาบริษัทธุรกิจที่มีโรงงานผลิตอยู่ในจีนและต้องใช้พลังงานมากมีความรับผิดชอบในการช่วยเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนด้วย”

ทั้งนี้ โรงงานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีความต้องการใช้พลังงานมากทั้งในจีนและทั่วโลก และความต้องการนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณการว่าอาจสูงถึงร้อยละ 2-3 ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกภายในปี 2560 (1)

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

หยู จง ผู้ประสานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออก

อีเมล: @greenpeace.org">yu.chong@greenpeace.org

หมายเหตุ

[1] Estimated Trends in Electricity Consumption for Consumer ICT(2013) //aran.library.nuigalway.ie/xmlui/handle/10379/3563n

 

ข่าวประชาสัมพันธ์ - เมษายน 17, 2558

 

 




 

Create Date : 23 เมษายน 2558   
Last Update : 23 เมษายน 2558 12:48:47 น.   
Counter : 602 Pageviews.  


13 ขั้นตอนการปีนแท่นขุดเจาะน้ำมันเพื่อปกป้องอาร์กติก

 

ขณะนี้อาสาสมัครกรีนพีซทั้งหกได้กลับสู่เรือเอสเพอรันซาแล้วเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยเมื่อสภาพอากาศเริ่มเลวร้ายขึ้น หลังจากการติดตามโพลาร์ ไพโอเนียร์มา 8,000 ไมล์ทะเล ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมา 30 วัน และเป็นเวลา 123 ชั่วโมง ที่นักปีนทั้งหกได้ปักหลักอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมันอาร์กติกผ่านค่ำคืนที่หนาวเย็นและลมโหมกระหน่ำ เพื่อให้แน่ใจว่าแผนการขุดเจาะน้ำมันของเชลล์นั้นจะไม่รอดพ้นสายตาคนทั่วโลก โดยที่กว่า 6.8 ล้านเสียงสนับสนุนจากทั่วโลกร่วมเดินทางไปกับพวกเขา เพื่อร่วมกันเปิดโปงแผนขุดเจาะน้ำมันอาร์กติก

อย่างไรก็ตามการเดินทางเพื่อปกป้องอาร์กติกจากการขุดเจาะน้ำมันที่แสนอันตรายของเชลล์นั้นยังไม่สิ้นสุดเท่านี้ ที่ผ่านมาการติดตามและการปีนขึ้นไปปักหลักบนเเท่นขุดเจาะน้ำมันนั้นเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก เราลองมาดูกันว่า 13 ขั้นตอน (ที่เหมือนจะ) ง่ายๆ ในการปีนแท่นขุดเจาะน้ำมันเพื่อปกป้องอาร์กติกนั้น มีอะไรบ้าง 

 

สิ่งที่คุณต้องการในการปีนแท่นขุดเจาะน้ำมัน

  • เหตุผลที่ดีพอ (เช่นเพื่อหยุดยั้งเชลล์จากการขุดเจาะน้ำมันที่อาร์กติก)
  • แท่นขุดเจาะน้ำมัน (ของเชลล์ ที่กำลังมุ่งหน้าไปอาร์กติก) 

     

    1. กำหนดเป้าหมายแท่นขุดเจาะน้ำมัน


     

    2. เคลื่อนเรือยางเข้าไปประชิด และขึ้นแท่นขุดเจาะ


     

    3. ติดตั้งเชือกเพื่อให้เพื่อนร่วมทีมปีนขึ้นมา


     

    4. ปีนแท่นขุดเจาะน้ำมัน


     

    5. ปีนขึ้นเชือกและเฝ้าดูลูกเรือแล่นออกไป


     

    6. ปีนต่อ


     

    7. แล้วก็ปีนอีก


     

    8. พักบนโซ่สมอ


     

    9. ชมวิวสักหน่อย


     

    10. แขวนป้ายผ้ารณรงค์


     

    11. พักผ่อนตามอัธยาศัย


     

    12. นอนเอาแรง


     

    13. งานเสร็จสิ้นเรียบร้อย



    ภาพ 1,2,4,5,7,10 โดย © Vincenzo Floramo / Greenpeace 
    ภาพอื่นโดยอาสาสมัครกรีนพีซบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน

     

    ถึงแม้จะเป็น 13 ขั้นตอนที่ยาก แต่สิ่งที่ผลักดันให้อาสาสมัครของเราทำได้สำเร็จคือ พลังสนับสนุนจาก 6.8 ล้านคนทั่วโลก และพลังใจของพวกเขาที่มุ่งมั่นต้องการปกป้องอาร์กติกจากการขุดเจาะน้ำมัน ที่ผ่านมาเชลล์พยายามยืมอำนาจทางกฏหมายมาหยุดอาสาสมัครทั้งหก แต่ล้มเหลวเนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่มีอำนาจทางศาลในการดำเนินการกรณีนี้ พวกเรามาจากทั่วโลก และเราอยู่นอกเขตน่านน้ำของสหรัฐอเมริกา เราเดินทางมากับเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซ ซึ่งอยู่ใต้ธงสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ไม่ผิดต่อข้อกฎหมายน่านน้ำสากล เชลล์ล้มเหลวครั้งใหญ่! อย่างไรก็ตาม เชลล์กำลังเดินหน้าแผนการขุดเจาะน้ำมันนี้ได้ทุกเมื่อ เราอาจเหลือเวลาอีกไม่ถึง 100 วันเท่านั้นในการหยุดยั้งเชลล์จากการคุกคามภูมิภาคอาร์กติกอันเปราะบางและสวยงาม และคุกคามพวกเราทุกคนให้ตกอยู่ในอันตรายจากวิกฤตโลกร้อนที่จะทวีผลกระทบรุนแรงขึ้นหากน้ำแข็งอาร์กติกถูกทำลาย

     

    ร่วมลงชื่อปกป้องอาร์กติก ได้ที่ 

    www.savethearctic.org

     

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ เรียบเรียง -- เมษายน 17, 2558 ที่ 6:19

 

 




 

Create Date : 23 เมษายน 2558   
Last Update : 23 เมษายน 2558 11:27:16 น.   
Counter : 789 Pageviews.  


รักน้ำ รักษ์ทะเล: สงกรานต์ไม่ขาดน้ำ มหาสมุทรไม่ขาดรัก

ภูมิปัญญาของไทยเราเป็นเรื่องน่าทึ่งเสมอ สงกรานต์กับประเพณีเล่นน้ำนั้นช่วยดับร้อนในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดของปีได้เป็นอย่างดี เราคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าโลกของเรานั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ปกคลุมด้วยน้ำเป็นส่วนใหญ่ และน้ำนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่โอบอุ้มโลกเอาไว้ โดยทั้งผืนดิน มหาสมุทร และชั้นบรรยากาศ ล้วนมีน้ำเป็นส่วนประกอบที่หมุนเวียนเป็นวัฏจักรทั้งสิ้น ในวันสงกรานต์อันชุ่มฉ่ำนี้ ลองมาทำความรู้จักกับความสำคัญของมหาสมุทรต่อวงจรของน้ำ และวิกฤตที่กำลังคุกคามมหาสมุทรของเรา เพื่อร่วมกันรักษาน้ำเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน สงกรานต์ปีนี้หรือปีไหนๆ เราจะได้สนุกได้โดยที่ไม่ขาดน้ำ มหาสมุทรก็ไม่ขาดรักและขาดแคลนความอุดมสมบูรณ์


copyright © 2014 – 2015 raycollinsphoto.com

 

ความสำคัญของมหาสมุทรต่อวัฏจักรน้ำและโลก

มหาสมุทรมีบทบาทสำคัญมากต่อวัฏจักรน้ำ โดยมหาสมุทรนั้นมีน้ำมากถึงร้อยละ 97 ของน้ำทั้งหมดบนโลก ร้อยละ 78 ของหยาดน้ำฟ้า (น้ำในอากาศ) เกิดขึ้นเหนือมหาสมุทร อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของการระเหยน้ำของโลกถึงร้อยละ 86 ซึ่งตัวเลขนี้นอกจากแสดงถึงความสำคัญของมหาสมุทรต่อการหมุนเวียนของน้ำ การเกิดฝน และการผลิตน้ำจืดแล้ว ยังรวมถึงสมดุลของสภาพภูมิอากาศโลกอีกด้วย มหาสมุทรของโลกนั้นช่วยให้โลกของเราอบอุ่น ขณะที่ผืนดินและชั้นบรรยากาศนั้นดูดซับแสงอาทิตย์ รังสีของดวงอาทิตย์ก็ถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน่านน้ำเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตร และมีชั้นบรรยากาศของโลกช่วยในการกักเก็บความร้อนไว้ ไม่ให้กลับคืนไปยังอวกาศเร็วเกินไปหลังจากพระอาทิตย์ตกดิน กล่าวได้ว่ากระบวนการระเหยของน้ำที่ทำให้เกิดฝนบนผืนดินนั้นส่วนใหญ่แล้วมีจุดเริ่มต้นมาจากมหาสมุทร นอกจากนี้กระแสน้ำยังช่วยสร้างสมดุลให้กับสภาพภูมิอากาศโลกด้วยการรับมือกับรังสีดวงอาทิตย์ที่กระจายไม่สม่ำเสมอบนพื้นผิวโลก หากไม่มีกระแสน้ำในมหาสมุทรแล้ว อุณหภูมิที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรจะร้อนจนเกินไป และหนาวสุดขั้วที่บริเวณขั้วโลก และทำให้บางพื้นที่ของโลกนั้นไม่สามารถอยู่อาศัยได้เลย

วัฎจักรของน้ำ มหาสมุทร และสภาพภูมิอากาศ ขอบคุณข้อมูลจากนาซ่า

 

มหาสมุทรนั้นแสนกว้างใหญ่ สง่างาม และทรงพลัง แต่ปัญหาต่างๆ กำลังก่อตัวขึ้นใต้ผืนน้ำสีน้ำเงินที่แสนสวยงาม นอกจากมหาสมุทรจะเป็นต้นกำเนิดของชีวิตแล้ว ในทางกลับกัน มหาสมุทรก็ยังเป็นที่รองรับมลพิษต่างๆ ที่มนุษย์ก่อขึ้น ไม่ว่าจะเป็นขยะ ของเสียจากอุตสาหกรรม และแม้แต่ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิล ทุกสิ่งที่เราทำบนผืนดินนั้นสะเทือนถึงผืนทะเลได้มากกว่าที่เราคิด ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” 

โลกร้อน มหาสมุทรยิ่ง(เดือด)ร้อน

ปัญหามลพิษทั้งจากการทิ้งลงทะเลโดยตรง มลพิษจากน้ำเสีย รวมถึงจากการชะล้างมลพิษทางอากาศและพื้นดินของน้ำฝนที่ไหลลงสู่ทะเล

นอกจากนี้สภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกปีนั้นทำให้อุณหภูมิของท้องทะเลสูงขึ้น สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S.Environmental Protection Agency) ระบุว่าในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงกว่าในอดีต จากการบันทึกข้อมูลไว้ตั้งแต่ประมาณปี 2423 เมื่อมนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ก๊าซเหล่านี้หากไม่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก็จะละลายไปกับน้ำทะเล คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งถูกดูดซับโดยมหาสมุทร ทำให้น้ำทะเลมีสภาวะเป็นกรด ส่งผลต่อสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูนเพื่อดำรงชีวิต เช่น แพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นอาหารหลักของสัตว์น้ำ และหอย ซึ่งพวกมันจะสร้างเปลือกหุ้มตัวได้ยากขึ้น ที่เด่นชัดคือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และความเปลี่ยนแปลงนี้เองจะส่งผลกระทบกันต่อไปเป็นทอด ๆ ทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวนทั้งระบบ รวมถึงยังมีสัตว์น้ำบางชนิดไม่สามารถรอดชีวิตได้ในอุณหภูมิและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยน แน่นอนว่าปลาเศรษฐกิจที่เราชอบรับประทานก็จะยิ่งลดจำนวนลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางทะเล ด้วยเหตุนี้สภาวะน้ำทะเลเป็นกรดจึงถูกขนานนามว่าเป็น “แฝดตัวร้าย” ของสภาวะโลกร้อน

เมื่อมนุษย์มีความต้องการทางการบริโภคเพิ่มขึ้น จากการจับปลาเพียงเพื่อพอเพียงต่อการบริโภคก็กลับกลายเป็นอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ โดยไม่นานมานี้ วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง sciencemag.org ได้เผยงานวิจัยว่า สภาวะทะเลเป็นกรด การประมงเกินขนาด และกิจกรรมของมนุษย์อื่นๆ นั้นเป็นตัวการที่คุกคามอนาคตที่ยั่งยืนของท้องทะเล ซึ่งนี่เป็นเพียงปัญหาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่มหาสมุทรซุกซ่อนไว้ภายใต้ความเวิ้งว้างอันสวยงาม ที่เรามักนำปัญหาและความทุกข์ไปฝากไว้ทุกครั้งเมื่อไปเยี่ยมเยือนทะเล

สงกรานต์ปีนี้นอกจากสนุกกับการเล่นน้ำกันแล้ว อย่าลืมหันมาปกป้องมหาสมุทรอันเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของแหล่งน้ำบนโลกเพราะหากปราศจากมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์แแล้ว โลกใบนี้ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน   

มาร่วมกัน รักน้ำ รักษ์ทะเล เพื่อให้สงกรานต์ไม่ขาดน้ำ มหาสมุทรไม่ขาดรัก ด้วยกันค่ะ

ต่ากระที่ใกล้สูญพันธุ์ ณ เกาะ Kanawa ใกล้เมือง Flores อินโดนีเซีย

 

ปะการัง บ้านของนานาสัตว์น้ำ ที่กระบี่

 

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 13, 2558 ที่ 10:23

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52590/




 

Create Date : 23 เมษายน 2558   
Last Update : 23 เมษายน 2558 10:43:26 น.   
Counter : 1284 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com