กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

เอสเพอรันซามาถึงประจวบฯแล้ว …ความหวังเป็นแรงสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน



ชายฝั่งของอ่าวประจวบคีรีขันธ์ในวันนี้คลื่นลมแรงเป็นพิเศษราวกับเป็นการทักทายการมาเยือนของเรือเอสเพอรันซาในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ หลังจากที่ฉันได้ติดตามเรือเอสเพอรันซาไปพร้อมกับลูกเรือกรีนพีซตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์แล้วที่การมองโลกแห่งผืนนี้สีครามของฉันเปลี่ยนไป ภายใต้ผืนทะเลอันกว้างใหญ่มีวิกฤตมากมายซ่อนอยู่ ซึ่งยังไม่สายเกินไปนักที่เราจะรวมพลังกันปกป้องทะเลไทยเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลอันเป็นชีวิตของเราไว้ให้ยั่งยืน

จากระยะทางตั้งแต่สงขลามาถึงประจวบฯ ฉันได้พบเจอการประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฏหมายในเขตสามกิโลเมตรจากชายฝั่งทะเลจำนวนมาก แม้แต่ในเขตอนุรักษ์อย่างอุทยานแห่งชาติเองก็ยังมีเรืออวนลากเข้าไปกวาดล้างสัตว์น้ำในบริเวณนั้น  ที่ทำให้ฉันสงสัยว่าจะยังมีบริเวณใดของท้องทะเลไทยอีกบ้างที่จะได้หยุดพักหายใจพอที่จะฟื้นตัวได้ จนกระทั่งฉันมาถึงอ่าวประจวบฯ พร้อมกับเรือเอสเพอรันซา ฉันก็ได้ทราบจากผู้นำชุมชน พี่ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่าที่นี่เป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวที่ประกาศขยายเขตอนุรักษ์ประมงชายฝั่งเพื่อปกป้องแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำออกไปเป็น 3 ไมล์ทะเล หรือ 5.5 กิโลเมตร  จากกฏหมายประมงที่กำหนดไว้เพียง 3 กิโลเมตร ฉันจึงรู้สึกยกย่องและชื่นชมความเข้มแข็งของชุมชนผู้อนุรักษ์ท้องทะเลแห่งนี้อีกทวีคูณ

การมาเยือนประจวบฯ ในครั้งนี้ของฉันแตกต่างออกไปจากทุกครั้ง เพราะฉันได้เรียนรู้ว่าความสวยงามของธรรมชาติในพื้นที่นี้เป็นสิ่งที่ชุมชนต่างร่วมกันปกป้องต่อสู้อย่างเข้มแข็งจากการคุกคามของการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกและอุตสาหกรรมการประมงมายาวนาน เมื่อวานนี้ (วันที่ 21 มิถุนายน) ฉันและกลุ่มลูกเรือเอสเพอรันซาได้เข้าร่วมรำลึก 9 ปี การจากไป ของ เจริญ วัดอักษร ณ วัดสี่แยกบ่อนอก วีรบุรุษนักอนุรักษ์แห่งประจวบฯ ผู้เสียชีวิตไปจากการต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม พี่เจริญคอยย้ำเตือนเราทุกคนเสมอว่า “ตายสิบจักเกิดแสน ฆ่าได้เพียงร่างกาย แต่จิตใจอุดมการณ์ เจริญนับแสนล้าน จักก่อเกิดทั่วเมืองไทย” และชุมชนในจังหวัดประจวบฯ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความเข้มแข็งของชุมชนนั้นเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถปกป้องทรัพยากรทางทะเลอันเป็นชีวิตของพวกเขาไว้ได้จริงๆ

ช่วงเช้าวันรำลึก อาสาสมัครกรีนพีซ เข้าร่วมกับกลุ่มเยาวชนและเครือข่ายชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันปลูกป่าในกิจกรรม “One Hour for the Ocean” ณ บริเวณที่ดินสาธารณะทุ่งเลี้ยงสัตว์คลองชายธง เพื่อปลูกจิตสำนึกเยาวชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในบริเวณที่เจริญ วัดอักษร เคยต่อสู้เพื่อปกป้องพื้นที่ป่าชายเลนตรงนี้ไว้จากแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และทวงคืนจากการบุกรุกของนายทุนที่เข้าไปยึดครองทำนากุ้ง  ในงานรำลึกมีพี่ป้าน้าอาจากชุมชนต่างๆ ของประจวบฯ ร่วม 200 คน พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มารวมตัวกันเพียงเพื่อรำลึกถึงการจากไปของวีรบุรุษของชุมชนเท่านั้น แต่ยังมาร่วมพูดคุยถึงการร่วมกันปกป้องพื้นที่ชายฝั่งทะเลจากการคุกคามของการประมงแบบทำลายล้างอีกด้วย ภาพของชายผิวดำร่างสูงโปร่ง อารมณ์ดีผู้อุทิศตนเพื่อชุมชนและสาธารณะประโยชน์มาตลอดช่วงชีวิตของเขาปรากฏขึ้นมาในใจของพวกเราอีกครั้ง พร้อมกับย้ำเตือนว่าหากชุมชนรวมตัวกันปกป้องสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีอุตสาหกรรมสกปรกใด หรือแม้แต่อุตสาหกรรมประมงพาณิชย์แบบทำลายล้างใดสามารถรุกรานได้ แต่จะต้องมีอีกสักกี่ชีวิตที่ต้องสูญเสียเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิของทุกคน การมาเยี่ยมเยือนของเรือเอสเพอรันซา ซึ่งมีความหมายว่า “ความหวัง” ณ ประจวบฯ ในครั้งนี้ ทำให้ฉันเชื่อแน่ว่า ความหวังยังคงมีอยู่เสมอในพลังของชุมชนที่เข้มแข็ง



ในวันนี้พี่ป้าน้าอาชาวประจวบฯ ร่วมร้อยคนก็มารวมตัวกันไม่แพ้เมื่อวาน พร้อมด้วยขบวนนักปั่นนับร้อยกับอุดมการณ์เดิมที่มั่นคง “ปั่นไปพิทักษ์รักษ์ทะเล” ที่นำโดยทีมคุณอาสุทธิชัย และกลุ่มนักปั่นสะพานบุญที่ร่วมปั่นรณรงรงค์มาตั้งแต่สงขลา เพื่อมาผนึกพลังแห่งความหวังให้กับพี่น้องชาวประจวบฯ สิ่งที่ฉันประทับใจเป็นพิเศษคือ การมารวมตัวกันของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน นำโดยพี่ปิยะ เทศแย้ม ผู้ร่วมเดินทางกับเรือเอสเพอรันซา และต่อสู้เพื่อผืนทะเลไทยร่วมกับชาวประมงพื้นบ้านมาตลอด กล่าวถึงเขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเลอันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่เข้มแข้งของพี่น้องชาวประจวบฯ  “เราทำให้เกิดวันนี้ได้ จังหวัดประจวบฯเป็นจังหวัดแรกที่สามารถขยายเขตอนุรักษ์ออกไปเป็น 3 ไมล์ทะเล แต่ละชุมชนต้องร่วมกันเฝ้าระวังการลักลอบเข้ามาทำประมงแบบทำลายล้างในเขตอนุรักษ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรือคราดหอย และเรือประมงแบบทำลายล้างทุกชนิดที่มักเข้ามาคราดทุกสิ่งทุกอย่าง ทำลายระบบนิเวศของทะเลอันเป็นชีวิตของเรา”

น่าเสียดายที่สภาพอากาศในวันนี้ไม่เป็นใจนัก มีทั้งคลื่นลมแรงและฝนตกๆ หยุดๆ อยู่เกือบตลอดทั้งวัน กำหนดการเยี่ยมชมเรือเอสเพอรันซาจึงต้องยกเลิกไป เนื่องจากเราคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคน “น่าเสียดายนะป้าอยากไปดูข้างบนเรือมากเลย เห็นว่าเค้าจะมาช่วยกันวางทุ่นในวันพรุ่งนี้ด้วย” คุณป้าที่มาร่วมในภารกิจฟื้นชีวิตทะเลไทยพูดด้วยสีหน้าเศร้าๆ

ถึงฝนตกในวันนี้จะทำให้บรรยากาศเงียบเหงาไปสักนิด แต่ก็ยังมีชาวประจวบฯ แวะเวียนมาเล่นเกม ชมนิทรรศการ สนุกสนานกับการแสดงเพลงฉ่อยรักษ์ทะเลไทยที่จับจิตจับหัวใจเหลือเกิน และการแสดงจากเยาวชนคั่นกระได สร้างความคึกคักให้กับริมอ่าวประจวบฯ ได้เป็นอย่างดี

ปิดท้ายยามเย็นกับงานเสวนา “กว่าจะได้มา เขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเล” ความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของพี่น้องชาวประจวบฯ ในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเขตอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ซึ่งหมายถึงการห้ามใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง และต้องเป็นการทำประมงแบบยั่งยืน เพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญของชาติไว้อย่างถาวร ฉันเชื่อเหลือเกินว่าตราบใดที่คนที่นี่ยังรักษ์ทะเล ทะเลก็มีความรักให้ทุกชีวิตเสมอ

ตะวันคล้อยต่ำ เป็นอีกวันหนึ่งที่จบลงไปด้วยรอยยิ้มแห่งความหวัง แต่พลังอันยิ่งใหญ่ของชุมชนชาวประจวบฯ ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในวันพรุ่งนี้ (23 มิถุนายน) ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบฯ กว่า 200 ลำ จาก 14 ชุมชนจะวางทุ่นเพื่อเป็นรั้วทะเลประกาศเขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง เพื่อให้เห็นแนวการแบ่งเขตแดน ห้ามการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง อย่างชัดเจน อาจจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการร่วมมือร่วมใจทำรั้วทะเลประกาศเขตปกป้องอย่างชัดเจนเช่นนี้ ร่วมติดตามอีกหนึ่งเหตุการณ์ประวัติของผู้พิทักษ์รักษ์ทะเล และเรือเอสเพอรันซาได้ในวันพรุ่งนี้นะคะ




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2556   
Last Update : 24 มิถุนายน 2556 11:27:14 น.   
Counter : 926 Pageviews.  


คาราวานเรือประมงทำลายล้างแห่งอ่าวไทย

หลังจากที่ได้ติดตามการเดินทางของเรือเอสเพอรันซาในอ่าวไทยมาเป็นเวลาเกือบ 4 วัน พร้อมกับเฝ้าดูการประมงแบบทำลายล้างในบริเวณน่านน้ำแห่งนี้ ฉันก็อดไม่ได้ที่จะคิดว่า จะยังมีที่ใดใต้ท้องทะเลไทยที่ปลอดภัยสำหรับให้ลูกปลาได้เติบโตหลงเหลืออยู่ไหม เพราะแม้แต่ในเขตอุทยานแห่งชาติที่ได้รับการคุ้มครองยังเป็นแหล่งปลาอันโอชะสำหรับเรืออวนลากขาประจำ

ตั้งแต่เรือเอสเพอรันซาเดินทางมาถึงน่านน้ำบริเวณเกาะสมุยและเกาะพงันเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในแต่ละวันทั้งเช้าและบ่ายนักกิจกรรมกรีนพีซได้คอยเฝ้ามองจากเรดาร์ของเรือเอสเพอรันซาในระยะ 6 ไมล์ ปรากฏว่ามีเรืออวนลากทั้งเดี่ยวและคู่อยู่เกิน 50 ลำ และเมื่อสอบถามกับชาวประมงก็ได้รับข้อมูลว่า เรืออวนลากนั้นจะทำงานกะละ 6 ชั่วโมงต่อวัน อย่างน้อยสามกะ และบ้างก็ดำเนินการลากอวนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดพัก เรียกได้ว่าการหมุนเวียนของเรือประมงอวนลากเดี่ยวและคู่ในบริเวณนี้แทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้ท้องทะเลได้หยุดพักหายใจ และสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาทดแทน

จากที่เราเคยได้รับรู้ข้อมูลจากการสำรวจวิจัยด้านความสมดุลทางทะเลของประเทศไทยว่า ร้อยละ 60 ของปริมาณปลาที่เรืออวนลากจับขึ้นมานั้นไม่ใช้ปลาเป้าหมายที่ต้องการ และร้อยละ 32 ในจำนวนนั้นเป็นลูกปลาเศรษฐกิจวัยอ่อน แต่เมื่อเราออกไปสำรวจด้วยตนเองแล้วจำนวนลูกปลาคงไม่ใช่เพียงร้อยละ 32 อย่างแน่นอน และไม่ต้องพูดถึงว่าขนาดของอวนนั้นมีตาถี่เล็กเพียงใด แม้แต่น้ำที่ก้นอวนก็ยังไม่สามารถไหลออกได้เพราะติดลูกปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็กที่อวนจนเหมือนกับถุงน้ำขนาดใหญ่ที่เพิ่งถูกดึงขึ้นจากทะเล

ไม่ใช่เพียงเรืออวนลากเท่านั้นที่เราพบเจอ แต่ยังมีเรือคราดหอยที่จะออกประมงในช่วงบ่ายจนถึงเวลาประมาณตีสามในตอนเช้า เรือประมงประเภทนี้มีประสิทธิภาพในการทำลายระบบนิเวศท้องทะเลไม่แพ้กับเรืออวนลาก โดยใช้เครื่องมือที่คล้ายตะแกรงขูด แซะเพื่อจับหอยที่อยู่ใต้ผิวดิน และแน่นอนว่าได้ทำลายระบบนิเวศหน้าดินของทะเลและสัตว์วัยอ่อนทุกชนิดที่คราดเคลื่อนผ่าน ถือเป็นอีกหนึ่งศัตรูสำคัญของการทำการประมงแบบยั่งยืน



ในวันรุ่งขึ้นวันที่ 18 มิถุนายน นักกิจกรรมของกรีนพีซจากเรือเอสเพอรันซาได้นำเรือยางออกเผชิญหน้ากลุ่มเรือประมงแบบทำลายล้างในอ่าวไทย ห่างจากชายฝั่งเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 10 กิโลเมตร พร้อมชูป้าย “หยุดทำร้ายทะเลไทย” ด้านหน้าหนึ่งในเรืออวนลากจำนวนนับร้อยในบริเวณนี้ รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและมุ่งนโยบายที่นำไปสู่การยุติการทำประมงเกินขนาดและการประมงแบบทำลายล้าง เพื่อปกป้องและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย  แล้วเรือเอสเพอรันซาจึงออกเดินทางไปยังทะเลชายฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน สะพานเดินเรือของเอสเพอรันซาได้แจ้งกับเราว่าพบเรือประมงในเขต 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นเขตผิดกฏหมายห้ามทำการประมงเชิงอุตสาหกรรมใดๆ ในบริเวณนี้ และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นคือน่านน้ำบริเวณนี้อยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง โดยภาพที่เรดาร์ของเรือเอสเพอรันซาแสดงนั้นเป็นภาพของเรืออวนลากคู่เรียงรายเป็นขบวนในรัศมี  6 ไมล์ นับดูแล้วเกิน 10 คู่ และยังไม่รวมถึงเรืออวนลากเดี่ยวอีกหลายลำ เอสเพอรันซาจึงส่งเรือยางออกไปสำรวจในบริเวณนั้น พร้อมกับแจ้งเจ้าหน้าที่กรมประมงและกรมอุทยาน หลังจากติดต่อแล้วในที่สุดกรมอุทยานได้แจ้งว่าจะส่งเรือลาดตระเวนออกมาสำรวจ นักกิจกรรมที่เรือยางจึงคอยอยู่ในบริเวณนั้น เป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงผ่านไปที่เรือลาดตะเวนนั้นมาถึง และแน่นอนว่าเรือประมงผิดกฏหมายนั้นได้ออกไปที่อื่นแล้ว  แต่ทางกรีนพีซได้เก็บข้อมูลภาพถ่าย ตำแหน่ง ช่วงเวลาและชื่อเรือไว้ได้อย่างละเอียด พร้อมแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อ

ต่อมาในวันที่ 19 มิถุนายน ช่วงเช้าเราได้พบเรือประมงอวนลากคู่เกือบสิบคู่ที่จอเรดาร์ในบริเวณเดิมอีกครั้ง และมีประมาณสองคู่ที่อยู่ในเขต 3 กิโลเมตรของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองจุดเดิม เรือเอสเพอรันซาจึงส่งเรือยางออกไปสำรวจอีกครั้ง และต้องการตรวจสอบว่าเรือที่พบนั้นมีชื่อเดียวกันกับที่พบเมื่อวานหรือไม่ เมื่อเรือยางไปใกล้จุดที่เรดาร์ระบุไว้ เรือประมงอวนลากดังกล่าว และเรือประมงแบบทำลายล้างโดยรอบต่างรีบออกจากบริเวณหมู่เกาะอ่างทองทันที่ที่เห็นเรือยางของกรีนพีซ นักกิจกรรมของเราจึงแล่นเรือยางไปรอบๆ ชายฝั่งบริเวณนั้นเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจ เห็นได้ชัดว่าเรือประมงตระหนักดีว่าตนทำผิดกฏหมาย และต้องการหลบเลี่ยงพวกเรา ซึ่งในช่วงบ่ายก็เป็นเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน

ทะเลเป็นทรัพยากรอันมีค่าของทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อุทยานเป็นพื้นที่ที่ควรได้รับการคุ้มครอง และเป็นทรัพย์สินของชาติ  ซึ่งพี่ศิรสา กันตรัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กล่าวว่า “ภาครัฐควรดูแลบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ และควรมีการปรับปรุงกฏหมายตั้งแต่ภาคนโยบายไปจนถึงการดำเนินการบังคับใช้ เพียงแค่พื้นที่เล็กๆ ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง  รัฐก็ยังไม่สามารถดูแลได้ แล้วภาครัฐจะสามารถดูแลพื้นที่ทั้งหมดของทะเลไทยได้อย่างไร หากมีกฏหมายแต่ขาดการบังคับใช้อย่างแท้จริงก็คงไม่ต่างอะไรกับตัวหนังสือบนกระดาษเท่านั้น”

คงจะมีคาราวานเรือประมงทำลายล้างในอ่าวไทยอีกนับไม่ถ้วนที่เรายังไม่ได้พบเห็น ในวันนี้เรือเอสเพอรันซากำลังมุ่งหน้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เพื่อสำรวจการประมงแบบทำลายล้างและผิดกฏหมายต่อไป ยิ่งเราเดินทางออกสำรวจมากเท่าไรก็ยิ่งพบว่าภายใต้ระลอกคลื่นน้อยใหญ่นั้นทะเลไทยกำลังมีชีพจรที่อ่อนแรงลงไปทุกที ทุกที ยังไม่สายที่เราทุกคนจะร่วมกันรักษ์พิทักษ์ทะเล และรวมพลังกันฟื้นฟูทะเลไทยไปพร้อมกับกรีนพีซ  แล้วพบกันที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์พร้อมกับกิจกรรมดีๆ และเรื่องราวของการสำรวจทะเลไทยในวันที่ 22 มิถุนายนนี้นะคะ




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2556   
Last Update : 24 มิถุนายน 2556 11:22:26 น.   
Counter : 1214 Pageviews.  


แล้วต่อไปทะเลจะเหลืออะไร

ฉันทราบข่าวการมาถึงของ “เรือแห่งความหวัง” เรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซในน่านน้ำอ่าวไทย เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา และการมาเยือนเพื่อปกป้องทะเลอันเป็นแหล่งอาหารและวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านไปพร้อมกับพวกเขา ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลคนหนึ่ง  และรักการกินปลาเป็นอย่างมาก ฉันรู้สึกสลดใจว่าวิกฤตทะเลไทยที่กำลังเผชิญอยู่นั้นกำลังทำให้ปลาหลายๆ ชนิดถูกจับไปจนใกล้หมดทะเล ฉันถือโอกาสนี้ถ่ายทอดเรื่องราวจากการที่ได้เดินทางไปกับเรือเอสเพอรันซา บอกเล่าเรื่องราวที่ฉันพบเจอระหว่างลอยล่อยไปตามอ่าวไทย

ในวันนี้ฉันติดตามกลุ่มนักกิจกรรมกรีนพีซและอาสาสมัคนั่งเรือยางออกไปสำรวจหาเรือประมงประเภทต่างๆ ในระยะ 5 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งของเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎ์ธานี โดยก่อนหน้าออกเดินทางนั้นเราาได้สำรวจตำแหน่งของเรือประมงจากเรดาร์ของเรือและพบว่ามีเรือเกือบร้อยลำที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ในบริเวณนี้ เมื่อใช้เรือยางขับไปตามตำแหน่งต่างๆ เราก็พบว่าเรือส่วนใหญ่ที่เห็นนั้นเป็นเรืออวนลาก ไม่ว่าจะเป็นเรืออวนลากเดี่ยว หรืออวนลากคู่ กำลังลากจูงอวนขนาดตาถี่มากเคลื่อนไปข้างหน้าเรื่อยๆ ลากเอาปลาหน้าดิน ปลาผิวน้ำ และหมึก โกยขึ้นจากท้องทะเล  จนกระทั่งเราพบเรืออวนลากคู่กำลังยกอวนและนำปลาที่จับมาได้นั้นขึ้นเรือ ขณะที่อวนกำลังถูกยกนั้น ฝูงปลาต่างๆ ทั้งลูกปลาขนาดเล็กเพียงปลายเล็บมือของคนก็ยังไม่สามารถหลุดรอดออกไปได้ และขนาดของอวนนั้นก็ตั้งแต่พื้นทรายจนเกือบจรดพื้นผิวทะเล เหล่าปลาที่แหวกว่ายในบริเวณนั้นไม่สามารถหลบหนีได้ ไม่ว่าจะเป็นปลาชนิดใด หรือมีขนาดเล็กเท่าไรก็ตาม


ฉันเฝ้าดูฝูงปลาถูกจับขึ้นมานับแสน ซึ่งส่วนใหญ่มีแต่ลูกปลาที่เพิ่งเกิดได้ไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ ฉันมองดูแล้วก็รู้สึกเศร้าใจ ไม่เพียงแค่ว่าปลาเหล่านี้ยังเป็นปลาวัยเด็กที่เพิ่งเกิดมามองโลกได้ไม่นาน แต่ยังรวมถึงเสียดายโอกาสที่พวกมันจะเติบโตเต็มวัย จนสามารถเป็นปลาเศรษฐกิจที่หล่อเลี้ยงผู้คนอีกหลายพันหลายหมื่นชีวิตทั่วไทยได้จากการถูกจับขึ้นมาในครั้งนี้ ฉันมองดูอวนค่อยๆ ถูกดึงขึ้นจากน้ำเรื่อยๆ ไม่ค่อยได้ปลาจำนวนมากนัก หากเทียบกับขนาดของอวน ปลาที่ถูกจับได้มีทั้งลูกปลาอินทรีย์ ปลาแชบ๊วย ปลากะลอน ปลากะตัก ปลาหลังเขียว หมึก ปลาแข้งไก่ กุ้งกุลา ปลาดาบเงิน ปลาปักเป้า ปลาทู ปลาจาระเม็ดดำ ปลาข้างเหลือง ปลาแดง และปลาแป้น แม้แต่ปลาดาวตัวน้อยเล็กกว่าเล็บของนิ้วก้อย หรือกระทั่งปลาตัวขนาดนิ้วชี้กำลังกินปลาเล็กค้างอยู่ในปาก และหนึ่งในนั้นมีปลากระเบนติดมาด้วย แน่นอนว่าเขาตกเป็นเหยื่อการประมงแบบทำลายล้างนี้ทั้งที่ไม่ได้เป็นปลาเศรษฐกิจแต่อย่างไร

บรรดาลูกปลาทั้งหลายที่พวกเขาจับมาได้นั้นก็ถูกชะล้างออกจากเรือด้วยการฉีดน้ำกลับลงไปในทะเล ซึ่งล้วนเป็นปลาที่ตายแล้ว ต้องกลายเป็นอาหารปลาอื่นต่อไป (หากยังมีปลาเหลือ) ไม่สามารถเติบโตได้อีก นอกจากนั้นสิ่งที่พวกเขาโยนกลับลงทะเลคือขยะต่างๆ และแมงกระพรุนที่ติดกับอวนมา คิดดูสิครับว่าตาข่ายมีขนาดเล็กเพียงใด ขนาดตอนที่บรรดาชาวประมงกำลังเก็บอวนขึ้นมานั้น น้ำที่ก้นอวนไม่สามารถไหลออกได้เพราะติดลูกปลาตัวเล็กๆ ที่ก้นอวน จนลูกเรือต้องช่วยกันเหยียบเพื่อให้น้ำไหลออก

ขณะที่กลุ่มกรีนพีซกำลังดูปลา ปลาหมึก และลูกปลาต่างๆ ที่ถูกจับมาได้ นั้น พี่ศิรสา กันตรัตนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กล่าวว่า “หากปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้เติบโตเป็นปลาตัวใหญ่จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ไม่ใช่เป็นเพียงแค่อาหารสัตว์ ปลาหมึกเล็กที่ถูกจับมานี้ไม่มีขายตามตลาด ไม่มีมูลค่า ปลาหมึกขนาดกลางสามารถขายได้ 20 บาท ต่อ กิโลกรัม ปลาหมึกตัวโตเต็มวัยสามารถขายได้ถึง 220 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งหมายถึงเราสามารถขายได้จำนวนกิโลมากขึ้น และมีราคาสูงขึ้น”

ปลาที่ถูกจับขึ้นมาด้วยเรืออวนลากนั้น ถึงแม้จะเป็นเพียงลูกปลาที่ดูไร้ราคา ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจใดใด แต่พวกเขามีมูลค่าเหนือคณานับสำหรับระบบนิเวศ หากปล่อยให้ลูกปลาเหล่านี้เติบโตเป็นตัวเต็มวัยสามารถขยายพันธุ์สร้างปลาอันเป็นผลผลิตอีกจำนวนนับไม่ถ้วน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

“จากการที่รัฐขาดการบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มข้นนี่เอง ท้ายที่สุดก็จะมีคนได้รับความเจ็บปวด และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นั่นก็คือชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเป็นผู้ที่เลือกจับเฉพาะปลาที่ตัวเต็มวัยเพื่อความยั่งยืนของท้องทะเล ผู้ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ท้องทะเลอันเป็นชีวิตหล่อเลี้ยงพวกเรา” พี่ปิยะ เทศแย้ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เสริมขึ้น

การประมงในประเทศไทยไม่ควรต้องแลกมาด้วยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นเพียงหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการฟื้นฟูสภาพทะเลที่เสื่อมโทรมของไทยด้วยการมีกฏหมายรองรับการประมงอย่างยั่งยืนที่เข้มแข็ง  และร่วมยุติการประมงแบบทำลายล้างที่ส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมงชายฝั่งซึ่งเป็นกลุ่มชาวประมงส่วนใหญ่ของประเทศ หากรัฐยังขาดกฏหมายและนโยบายจัดการการประมงอย่างยั่งยืน อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเราจะตอบลูกหลานอย่างไรว่าทำไมอ่าวไทยจึงไม่มีปลา

ร่วมเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลกับกรีนพีซ เพื่อปกป้องทะเลจากการประมงแบบทำลายล้าง




 

Create Date : 18 มิถุนายน 2556   
Last Update : 19 มิถุนายน 2556 7:11:07 น.   
Counter : 850 Pageviews.  


“เรือแห่งความหวัง” กับบทใหม่แห่งภารกิจปกป้องทะเลไทย

ช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 มิถุนายน 2556 “เอสเพอรันซา” ที่แปลว่า “ความหวัง “ เรือลำทีใหญ่ที่สุดของกรีนพีซได้เข้าทอดสมอบริเวณหน้าหาดสมิหลา สงขลา ฉันอดตื่นเต้นไม่ได้กับการมาเยือนเมืองไทยครั้งแรกของเรือลำนี้ทั้งๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่คนนึงของกรีนพีซ พร้อมๆ ไปกับตื่นเต้นที่จะต้อนรับพี่ ป้า น้า อา และน้องๆ ที่มาจากทั้งหาดใหญ่ สงขลา จากนครศรีฯ ก็ยังมี ที่ตั้งหน้าตั้งหาจะมาเยี่ยมชมเรือและรู้จักกับทีมเรือทั้งกัปตันและลูกเรือของเรา

เรือทอดสมอตรงเวลาเป๊ะ ที่ 6 โมงเช้า เป็นเวลาเดียวกันกับขบวนนักปั่นเริ่มนัดหมาย เพื่อ “ปั่นไปพิทักษ์รักษ์ทะเล” โดย ลุง ป้า น้า อา ทีมนักปั่นจากหาดใหญ่กว่า 120 คน ซึ่งนำโดยทีมคุณอาสุทธิชัย นักปั่นสะพานบุญที่มาสมทบจากกรุงเทพฯ และจะไปสมทบกลุ่มใหญ่กับนักปั่นสงขลาที่ให้เกียรตินำทีมโดยท่านนายกเทศมนตรีนครสงขลา ที่เป็นกันเองและแสนใจดีที่เตรียมข้าวต้มร้อนๆ เผื่อพวกเราทุกๆ คน  จากนั้นภาพนักปั่นกว่า 400 ชีวิตที่แตกต่างวัย ได้ร่วมกันปั่นรณรงค์และชวนชาวสงขลามาร่วมเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเล ในงาน ฟื้นชีวิตทะเลไทย กับเรือเอสเพอรันซา ที่หาดสมิหลา


“นครสงขลาขอต้อนรับเรือเอสเพอรันซาสู่ประเทศไทย และยินดีร่วมสนับสนุนภารกิจฟื้นชีวิตทะเลไทยในครั้งนี้ สงขลาเป็นจังหวัดที่ต้องพึ่งพิงทะเลเป็นอย่างมาก เราต้องการจะปกปักรักษาท้องทะเลเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต” นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าว

น้องๆ มโนราตัวน้อย ฟ้อนรำต้อนรับลูกเรือเอสเพอรันซาชนิดที่เรียกได้ว่า นักยิมนาสติกยังอาย ทำให้ฉันแอบอดคิดไม่ได้ว่าอะไรกันนะ ที่นำพวกเรามาพบกันอย่างไม่มีเงื่อนไข ฉันเชื่อว่ากับตันและลูกเรือต่างชาติของเราคงไม่มีใครเข้าใจหรอกว่ามโนราคืออะไร และพี่ น้องหรือลุง ป้า ที่นี่ก็คงไม่ได้รู้จัก งานรณรงค์ปกป้องทะเลและมหาสมุทรของเรือเอสเพอรันซามาก่อนมากนัก แต่ฉันรู้สึกได้ถึงจุดหมายร่วมกันของพวกเค้า นั่นคือ ทะเล เพราะทะเลคือชีวิตของพวกเค้าและพวกเราทุกคน

งาน ‘ฟื้นชีวิตทะเลไทย กับเรือเอสเพอรันซา’ ที่สงขลาครั้งนี้ จึงเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายอนุรักษ์มากมาย อาทิ เทศบาลนครสงขลา สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สงขลาฟอรั่ม ประมงพื้นบ้านจังหวัดสงขลา วิทยาลัยวันศุกร์ เครือข่ายรักษ์ทะเลจะนะ เครือข่ายพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา และอื่นๆ เพื่อร่วมกันส่งเสียงให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทะเล การยุติการทำประมงทำลายล้าง หยุดสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำบนชายหาด และหยุดการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรก

“หนูรู้จักอวนนี้ เป็นอวนตาถี่มาก จับลูกกุ้งลูกปลาตัวเล็กๆ ได้หมด ขนาดนิ้วหนูยังลอดช่องออกมาไม่ได้เลย” เสียงเล็กๆ จากเด็กหญิงคนหนึ่งที่เข้ามาชมนิทรรศการในงาน ที่ให้ทั้งความรู้แล้ว ยังมีเกมสนุกๆ สร้างจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดชายหาด การแสดงประติมากรรมทราย เต่า ปลาหมึกทะเล ขนาดยักษ์ ที่สวยงาม จนฉันอดภาวนาไม่ได้ให้พี่ฝนอย่าเพิ่งโปรยปรายลงมาตอนนี้เลย


ส่วนนี้คงขาดไม่ได้ถ้าไม่ได้พูดถึงซึ่งเป็นส่วนที่ฉันทั้งตื่นเต้น ทั้งแอบกังวลพอประมาณที่จะต้อนรับ พี่น้องชาวสงขลา ไปเยี่ยมชมเรือแห่งความหวัง กันได้ทั่วถึงหรือไม่ พวกเรารู้ว่าทุกคนอยากรู้จักเธอ “เอสเพอรันซา” เรือแห่งความหวัง พวกเราพยามกันเต็มที่ทั้งจัดคิวประสานเรือเล็กรับส่งจากหน้าหาดสิมิหลาไปยังเรือเอสเพอรันซา ในที่สุดพวกเราก็สามารถต้อนรับพี่น้องชาวสงขลา หาดใหญ่ได้ราวเกือบ 400 คน ตั้งแต่ 11 โมงเช้าถึงราวบ่ายสี่โมงเย็น แต่ก็ยังคงมีพี่น้องหลายคนที่พลาดโอกาสนี้ไป พี่สาวคนนึงถึงกับพูดก่อนเดินกลับไปว่า  “ไม่เป็นราย ทำจายได้แล้ว” และอมยิ้มเล็กๆ พวกเรารู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถต้อนรับพี่น้องได้ครบทุกคน เนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งเวลา ขนาดเรือ จำนวนผู้เยียมชม แต่ในอีกด้านพวกเราก็รู้สึกได้ถึงความอิ่มเอมที่พี่น้องให้การต้อนรับ อย่างอุ่นหนาฝาคั่งขนาดนี้ เรือรณรงค์ของเรายังคงเดินหน้ารณรงค์ปกป้องทุกๆ ปีไปทั่วโลกและฉันเชื่อว่า เราคงมีโอกาสได้กลับมาพบกันอีกเรื่อยๆ

พระอาทิตย์เริ่มลับขอบฟ้าแล้ว ขณะนี้ก็ประมาณ หกโมงเย็น พร้อมอากาศเย็นที่ชุ่มฉ่ำจากน้ำฝน เพลงเพราะๆ และงานเสวนา จากบรรดาผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลตัวจริง ที่ร่วมปกป้องรณรงค์ทะเลไทยมายาวนานเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลาน นั่งล้อมวงเสวนากันในหัวข้อ “กู้วิกฤตพื้นที่ผลิตอาหาร (ทะเลไทย)” เพื่อพูดคุยกันหาทางออกการจัดการประมงที่ยั่งยืน ทะเลไทยมีความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ติดอันดับโลก แต่หากเราไม่เริ่มปกป้องทะเลไทยจากการทำลายล้างเหล่านี้ เราอาจต้องสูญเสียปลา และความสวยงามของท้องทะเลไทยตลอดไป “ถึงเวลาแล้วที่ ‘คนกินปลา’ต้องลุกขึ้นมาปกป้องแหล่งอาหารโปรตีนของโลกให้หลุดออกจากกลุ่มทุนอุตสาหกรรมประมงที่เอาเปรียบและเห็นแก่ตัว พื้นที่ทุกตารางนิ้วในอ่าวไทยผ่านการถูกอวนลากกวาดมาแล้วจนราบเรียบ กลายเป็นพื้นโคลนโล่งๆ จนสัตว์น้ำไม่มีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์ เราจึงต้องร่วมกันหยุดประมงทำลายล้างให้หมดสิ้นไป” พี่บรรจง นะแส ประธานสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวในคำแถลงการณ์ภาคประชาชนบนเรือเอสเพอรันซา

ฉันเชื่อว่าการมาเยือนของเอสเพอรันซาในครั้งนี้จึงถึงเป็นการรวมตัวและรวมหัวใจของผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลจากทั่วทุกสารทิศอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามแม้เอสเพอรันซาจะเป็นเรือแห่งความหวังในการปกป้องมหาสมทุร แต่ความหวังอันแท้จริงของมหาสมุทรและทุกสรรพชีวิตบนโลกก็คือ “คุณ” คือเราทุกคน เพราะเราทุกคนสามารถเป็นผู้ปกป้องท้องทะเลได้ มาร่วมเป็น"ผู้พิทักษ์รักษ์ทะเล "ไปพร้อมกับกรีนพีซในวันนี้ เพื่อฟื้นฟูทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนต่อไปในอนาคต  เพราะหากปราศจากทะเลอันอุดมสมบูรณ์แล้ว สรรพชีวิตก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน

ลิงค์เพิ่มเติม

ติดตามการเดินทางของภารกิจการปกป้องทะเลไทย ของเรือแห่งความหวัง “เอสเพอรันซา” ได้ที่ www.greenpeace.org/seasia/th/about/ships/esperanza/ship-tour-2013




 

Create Date : 17 มิถุนายน 2556   
Last Update : 17 มิถุนายน 2556 19:53:42 น.   
Counter : 1077 Pageviews.  


สำรวจเรือแห่งความหวัง กับทุกลมหายใจของการรณรงค์

เป็นเวลานับสิบปีแล้วที่เรือ “เอสเพอรันซา” ซึ่งมีความหมายว่า “ความหวัง” ได้รณรงค์ปกป้องมหาสมุทรมาแล้วทั่วโลก เรือรณรงค์ของกรีนพีซลำนี้จึงมีลมหายใจและเรื่องราวของต่อสู้เพื่อผืนน้ำของโลกมามากมายไหลเวียนอยู่ทั่วทุกซอกมุมของเรือ แต่ละอุปกรณ์มีความหมาย แต่ละห้องมีเรื่องเล่า ก่อนที่เรือเอสเพอรันซาจะมาไทยในวันที่ 15-30 มิถุนายน นี้ ลองมาสำรวจส่วนต่างๆ ของเรือกับแง่มุมที่คุณจะหลงรักเรือลำที่แสนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนี้มากขึ้น

ในการมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ แน่นอนว่าเรือเอสเพอรันซามาพร้อมกับเรื่องราวการปกป้องสิ่งแวดล้อมด้วยการเผชิญหน้าเปิดโปงและเป็นประจักษ์พยานต่ออาชญากรรมสิ่งแวดล้อมในทะเลและมหาสมุทรมามากมาย เรื่องราวเหล่านี้หากคุณได้มีโอกาสแวะมาเยี่ยมชมเรือไม่ว่าจะเป็นที่จังหวัดสงขลา ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ รับรองได้ว่าลูกเรือจากทั่วโลกที่เดินทางร่วมกับเอสเพอรันซายินดีที่จะเล่าให้ฟังอย่างไม่รู้เบื่อ

เรือเอสเพอรันซามีจุดเด่นที่น่าสนใจให้พวกเราได้ชมอย่างมากมาย เมื่อขึ้นมาแล้วเราขอแนะนำให้ไปชมลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ห้องเก็บเฮลิคอปเตอร์ และอุปกรณ์แอคชัน ที่จอดเรือยาง และสะพานเรือ ซึ่งแต่ละจุดนั้นเป็นจุดที่ลูกเรือใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมร่วมกัน ลองมาฟังเรื่องราวของแต่ละจุดไปพร้อมกันดีกว่า จุดแรกที่หากเรามองจากมุมบน ส่วนหนึ่งที่โดดเด่นที่สุด และถือว่าสำคัญมากในการทำงานรณรงค์ ก็คือ ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ (Heli-Deck) โดยขณะนี้ไม่มีเฮลิคอปเตอร์จอดอยู่ แต่ทางกรีนพีซจะเช่าเพื่อใช้งานในเฉพาะช่วงรณรงค์เท่านั้น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง เฮลิคอปเตอร์จะถูกใช้เพื่อบินสำรวจข้อมูลสำหรับการทำงานรณรงค์ เช่น การสำรวจฝูงปลา เรือล่าวาฬ ในกรณีทำงานรณรงค์เรื่องปกป้องวาฬ และสำรวจภูเขาน้ำแข็ง หรือการถ่ายภาพนิ่งและวีดีโอการรณรงค์ รวมถึงเปิดโปงอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ช่วงที่ไม่มีเฮลิคอปเตอร์พื้นที่นี้ยังเป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ประเพณีการข้ามเส้นอิเควเตอร์ หรือการอบรมเจ้าหน้าที่รณรงค์เกี่ยวกับการใช้เรือในการรณรงค์ ที่เป็นการจำลองสถานการณ์โดยลูกเรือจะสมมติบทบาทเป็นอาชญากรสิ่งแวดล้อม อาทิ ผู้จับปลาผิดกฎหมาย ส่วนผู้เข้าอบรมก็เป็นฝ่ายกรีนพีซที่มาปกป้องสิ่งแวดล้อม เมื่อจบบทบาทสมมติที่เสมือนเป็นการซักซ้อมไปในตัว ทุกคนก็จะปิ้งบาบิคิวกินกันอย่างมีความสุข

จุดต่อมาคือ ห้องเก็บเฮลิคอปเตอร์ และอุปกรณ์แอคชัน (Heli-Hanger) ซึ่งหน้าที่ของห้องนี้ก็คือเก็บเฮลิคอปเตอร์ในช่วงที่เช่ามา และยังเป็นที่เก็บอุปกรณ์การทำงานรณรงค์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ปีน ผ้าสำหรับทำป้ายผ้า และอุปกรณ์เรือต่างๆ แน่นอนว่าเป็นห้องสำหรับเขียนป้ายผ้าอีกด้วย เพื่อส่งข้อความให้กับอาชญากรสิ่งแวดล้อมและสาธารณชนรับรู้ว่าสิ่งแวดล้อมของพื้นที่นี้กำลังถูกทำลายในบางพื้นที่เราอาจต้องปีนเพื่อแขวนข้อความ หรือต้องใช้เรือยางเข้าไป เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ทั้งหมดในห้องนี้จึงมีความจำเป็นสำหรับงานรณรงค์

ถัดไปอีกจุดหนึ่ง คือ ที่จอดเรือยาง (Boat-Deck) โดยเรือยางมีทั้งหมด 6 ลำ แบ่งออกเป็นลำใหญ่ 2 ลำ ลำเล็กอีก 4 ลำ สำหรับใช้ในการขัดขวางเรือล่าวาฬ รวมถึงให้สื่อมวลชนนั่งเพื่อทำข่าวรณรงค์เนื่องจากเรือใหญ่จะโคลงน้อยกว่าเรือเล็ก เรือยางแต่ละลำจะมีชื่อและเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย

จุดสุดท้ายที่เราจะพาไปชมในครั้งนี้ คือ สะพานเดินเรือ (Bridge-Deck) ในห้องนี้จะมีอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ สำหรับบังคับทิศทางเรือ อันได้แก่ เข็มทิศ คันเร่ง ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่สามารถตั้งค่าให้เรือแล่นไปโดยไม่ต้องขับเอง เครื่องซาวน์เดอร์ สำหรับวัดระดับความลึกของน้ำ เครื่องเรดาร์ สำหรับจับพิกัดเรือล่าวาฬ และเรือประมงผิดกฏหมายอื่นๆ รวมทั้งใช้เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือด้วย ห้องแผนที่สำหรับการวางแผนการเดินเรือ วิทยุสื่อสารเพื่อติดต่อกับเรือต่างๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเดินเรือและความปลอดภัยอื่นๆ


หากต้องการชมภาพสดๆ อัพเดททุกนาทีจากเรือเอสเพอรันซา คุณสามารถติดตามจากเว็บแคมของเรือเพื่อเที่ยวชมท้องทะเลไปกับเราได้ ดูซิว่าการมองทะเลผ่านสายตาของเอสเพอรันซานั้นเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีจุดต่างๆ ของเรือเอสเพอรันซารอให้ทุกคนมาค้นพบ อาทิ หัวเรือ สมอเรือ เป็นต้น เพื่อให้คุณสามารถจินตนาการถึงการทำงานรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรของกรีนพีซได้ เราคงไม่สามารถเล่าถึงทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเรือเอสเพอรันซาลำนี้ได้ แต่คุณสามารถมาร่วมสัมผัสประสบการณ์และฟังการผจญภัยเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากลูกเรือเอสเพอรันซาได้ในงาน “ฟื้นชีวิตทะเลไทยกับเรือเอสเพอรันซา” อย่าพลาดนะคะ เรือแห่งความหวังกำลังรอให้คุณมาเติมพลังเพื่อปกป้องท้องทะเลไทยอยู่

ร่วมเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลกับกรีนพีซ

//www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/45555/




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2556   
Last Update : 14 มิถุนายน 2556 7:24:09 น.   
Counter : 851 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com