กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

เมื่อเชลล์ยืนยันเดินหน้าทำลายอาร์กติก เราทุกคนต้องเป็นผู้หยุด ก่อนจะสายเกินแก้

ขณะนี้ อาสาสมัครกรีนพีซ 6 คนกำลังปักหลักอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมันโพลาร์ ไพโอเนียร์ ของเชลล์ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก ที่กำลังมุ่งหน้าไปอาร์กติก บริเวณอลาสก้า แรกเริ่มของการติดตามแท่นขุดเจาะน้ำมันของเชลล์ ตั้งแต่ประมาณกว่าสองสัปดาห์ที่แล้ว ได้เริ่มต้นขึ้นไม่ไกลจากประเทศไทยเท่าไรนัก และได้เดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดตามแท่นขุดเจาะน้ำมันขนาดมหึมานี้พุ่งตรงสู่อาร์กติก เพื่อหยุดยั้งแผนการขุดเจาะน้ำมันของเชลล์ ด้วยทั้งทักษะความสามารถที่มี พวกเขาไม่ได้ออกเดินทางเพียงลำพัง แต่ยังมีแรงสนับสนุนจากเกือบ 7 ล้านพลังเสียงจากทั่วโลก ที่ต้องการปกป้องอาร์กติก

การเดินทางจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่แปซิฟิก

กว่าสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซได้แล่นเรือออกจากประเทศไทย มุ่งไปทางตะวันออกเพื่อค้นหาและติดตามเรือโนเบิล ดิสคอฟเวอร์เรอร์ ที่กำลังขนแท่นขุดเจาะน้ำมัน โพลาร์ ไพโอเนียร์  ซึ่งออกเดินทางจากท่าเรือบรูไน ประเทศมาเลเชีย แท่นขุดเจาะน้ำมันโพลาร์ ไพโอเนียร์ นั้น มีขนาดใหญ่ถึง 38,000 ตัน (40x30 เมตร) ทำให้อาสาสมัครของเรารู้สึกตัวเล็กมากเมื่อมองจากเรือเอสเพอรันซาขณะติดตามแท่นขุดเจาะ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก

 

 

“เราไม่รู้ว่าเจ้าแท่นขุดเจาะโพลาร์ ไพโอเนียร์ ของเชลล์รู้หรือไม่ว่าทำไมเราจึงแล่นตาม แต่ที่แน่ๆ เชลล์ตระหนักดีว่า ทั่วโลกกำลังต่อต้านแผนขุดเจาะแถบอาร์กติกของเชลล์อยู่ เชลล์ล้มเหลวในการขุดเจาะที่นั่นในปี 2557 เพราะกลุ่มชุมชนพื้นเมืองอลาสก้าและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมฟ้องร้องต่อศาล แผนการที่จะขุดเจาะในซีแอตเติลก็เป็นประเด็นร้อนอยู่เพราะคนท้องถิ่นที่นั่นคัดค้าน จากการคัดค้านที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ นายเบน แวน เบอร์เด็น ซีอีโอของเชลล์ เรียกกลุ่มคนที่คัดค้านเชื้อเพลิงฟอสซิลว่า เป็นพวก “ไร้เดียงสา ไม่รู้เรื่อง” แต่สิ่งที่ดูจะไร้เดียงสาไม่รู้เรื่อง คิดว่าน่าจะเป็นเชลล์ที่กำลังทำลายโอกาสของเราที่จะรอดพ้นจากผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อนโดยไม่มีทางออกให้มากกว่า การเดินทางของเราต้องการยุติแผนการที่อันตรายของเชลล์นี้ และเราต้องอาศัยผู้กล้าจำนวนมากที่จะมาร่วมเรียกร้องให้ยุติแผนขุดเจาะนี้กับเรา” หนึ่งในอาสาสมัครกล่าว 

ภัยจากการขุดเจาะน้ำมันของเชลล์ กับอาร์กติกที่เราต้องปกป้อง

เชลล์ได้ลงทุนมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ไปกับการขุดเจาะน้ำมันที่อาร์กติก ทั้งที่กำลังเป็นยุคที่โลกก้าวสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน เพื่อการแก้วิกฤตโลกร้อนอย่างยั่งยืน เหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อาร์กติกนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เนื่องจากสภาพอากาศที่ยากแก่การคาดเดาและภูมิภาคที่เป็นน้ำแข็ง หากมีน้ำมันรั่วเกิดขึ้นจะเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่เชลล์ยังไม่มีมาตรการใดออกมายืนยันว่าสามารถจัดการแก้ไขได้ ถือเป็นการกอบโกยผลประโยชน์จากน้ำมันด้วยความละโมบ แต่ในครั้งนี้เราจะไม่ยอมให้เชลล์ทำตามอำเภอใจมุ่งทำลายอาร์กติก ภูมิภาคที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนกับเครื่องปรับอากาศรักษาระดับสมดุลของสภาพภูมิอากาศของโลก

 

 

รัฐบาลสหรัฐฯยอมรับว่ามีโอกาสร้อยละ 75 ที่การขุดเจาะน้ำมันที่ทะเลชุกชีจะเกิดอุบัติเหตุน้ำมันรั่วโดยอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มอัตราเสี่ยง คือ เชลล์กำลังใช้บริการบริษัท Transocean ซึ่งเป็นบริษัทที่ BP ว่าจ้างให้เข้าไปดำเนินการขุดเจาะที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน เมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์หายนะน้ำมันรั่วไหลในอ่าวเม็กซิโก เมื่อ 20 เมษายน 2553 ซึ่งเป็นน้ำมั่นรั่วลงสู่ทะเลที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่มีเหตุผลอะไรดีพอที่จะยอมให้เชลล์เดินหน้าขุดเจาะน้ำมันในทะเลน้ำแข็งอาร์กติก และฉกฉวยโอกาสขณะที่น้ำแข็งอาร์กติกกำลังละลาย มองข้ามสัญญาณเตือนภัยแห่งหายนะครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติและสรรพชีวิต เร่งให้วิกฤตโลกร้อนรุนแรงยิ่งขึ้น

เชลล์ไม่ยอมยุติแผนการทำลายอาร์กติกอย่างแน่นอน มีแต่เราเท่านั้นที่สามารถหยุดยั้งเชลล์ได้ ด้วยเสียงที่ออกมาเรียกร้องปกป้องอาร์กติกจากทุกคน และล่าสุด เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา อาสาสมัครกรีนพีซทั้ง 6 คน ได้ปีนขึ้นไปปักหลักบนแท่นขุดเจาะน้ำมันโพลาร์ ไพโอเนียร์ ได้สำเร็จ พร้อมนำแรงสนับสนุนจากเกือบ 7 ล้านคนทั่วโลกเป็นกำลังใจสำคัญ

"มาร์กาเร็ท มีด กล่าวว่า ‘อย่าหยุดเชื่อว่าคนที่ใส่ใจต่อปัญหากลุ่มเล็กๆ เพียงไม่กี่คน สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะนั่นคือคนกลุ่มเดียวที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้’ สิ่งที่ผลักดันให้ฉันปีนแท่นขุดเจาะของเชลล์ คือ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมาร่วมลงมือต่อกรกับบริษัทและรัฐบาลที่มุ่งมั่นเดินหน้าทำลายสิ่งแวดล้อม ขุดเจาะน้ำมัน เผาผลาญพลังงานจากฟอสซิล โดยที่ไม่ใส่ใจกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น ฉันคิดว่าความล้มเหลวของรัฐบาลและบริษัทนั้นเป็นแรงผลักดันให้เราก้าวขึ้นมาลงมือ และตอนนี้เรามีโอกาสที่จะร่วมมือกันสร้างอนาคตที่เราต้องการ แต่เราต้องรีบสักหน่อยเพราะเหลือเวลาไม่มากแล้ว การปีนขึ้นไปสูง 40 เมตร ลอยอยู่กลางอากาศบนแท่นขุดเจาะโพลาร์ ไพโอเนียร์ของเชลล์นั้นไม่น่าสนุกสักเท่าไหร่ ฉันรู้สึกเมาเรือ กลัวความสูง เสี่ยงว่าจะถูกจับกุม และพยายามแชร์เรื่องราวออกไป แต่ทุกอย่างจะไม่เสียเปล่า หากเราสามารถร่วมกันเปล่งเสียงให้ดังยิ่งขึ้น เราจะยืนหยัดปกป้องอาร์กติก ซึ่งเชลล์และบริษัทน้ำมันจะต้องรับรู้ว่าการขุดเจาะน้ำมันไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน อีกทั้งจะเป็นการทำลายอาร์กติกและโลกของเรา” Zoe Buckley Lennox หนึ่งในอาสาสมัครหกคนที่ขณะนี้ปักหลักอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมันของเชลล์กล่าว

 

 

ถึงแม้จะอยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งที่อาร์กติกไม่ได้ส่งผลแต่ในเฉพาะภูมิภาคอาร์กติก แต่ทุกชีวิตบนโลกล้วนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หากปราศจากน้ำแข็งที่อาร์กติกแล้ว ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายจนไม่สามารถหยุดยั้งได้

ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มอาสาสมัคร 6 คน และเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซที่กำลังติดตามแท่นขุดเจาะน้ำมันของเชลล์ได้ที่ www.savethearctic.org/th/live

 
Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 9, 2558 ที่ 16:11
 
 
 




 

Create Date : 10 เมษายน 2558   
Last Update : 10 เมษายน 2558 18:48:52 น.   
Counter : 829 Pageviews.  


คดีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ : ทางตันของยุคถ่านหิน

หลังจากมีคำพิพากษาของศาลปกครอง และศาลสูงสุด ต่อคดีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะแล้ว เมื่อ 6 เมษายนที่ผ่านมา ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับคณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกลุ่มจับตาพลังงาน ได้จัดเวที Press Briefing ภายใต้หัวข้อ “สังคมไทยควรเรียนรู้อะไรจากกรณีแม่เมาะ” เพื่อรายงานสถานการณ์หลังคำตัดสินของศาล  และตระหนักถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยมีนักวิชาการและชาวบ้านในอำเภอแม่เมาะเข้าร่วมพูดคุยในเวทีนี้ เพื่อเป็นบทเรียนให้กับทุก ๆ คนในสังคมไทยได้รับรู้ว่า ชาวแม่เมาะ ต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง และเป็นบทเรียนอันสำคัญที่บอกเราว่าประเทศไทยไม่ควรสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก

 

มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ล้มไม่เป็นท่า

 

จากมุมมองของนักกฎหมายสิ่งแวดล้อม สุรชัย ตรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความเห็นว่า แม้ว่าคดีที่ชาวบ้านฟ้องร้องกฟผ.นี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อม หรือสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และเมื่อสิทธินี้มีความสำคัญแล้ว การประกอบกิจการใด ๆ ที่ละเมิดต่อสิทธิดังกล่าวก็ถือเป็นความผิด อย่างไรก็ดีตนเองมีคำถามเกี่ยวกับศักยภาพของมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกระบวนการ EIA/EHIA 

“ในปี พ.ศ.2538-2544 มีการกำหนดค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศใน 1 ชั่วโมง ของประชาชนทั่วประเทศกับประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะไม่เท่ากัน หมายความว่าประชาชนในพื้นที่แม่เมาะแข็งแรงกว่าประชากรทั่วประเทศหรืออย่างไร? นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของรายงานผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) ยังมีปัญหาอยู่คือ หากรายงานฉบับนั้นไม่ผ่านการพิจารณา ผู้จัดทำก็สามารถนำกลับไปแก้ไขจนผ่านโดยที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไข”

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ามาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมและกระบวนการ EIA/EHIA ยังไม่ใช่หลักประกันในการคุ้มครองสิทธิประชาชน และควรมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

 

กรีนพีซปล่อยบอลลูนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์
“ปกป้องโลกจากภาวะโลกร้อน” บริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ
 

ความต้องการถ่านหินทำให้ชุมชนแม่เมาะล่มสลาย

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ จากกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวถึงส่วนของเหมืองว่า เหมืองแม่เมาะเริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 จนถึงก่อน พ.ศ.2510  ช่วงนั้นยังไม่มีการควบคุมจากพ.ร.บ.ต่าง ๆ แต่หลังปี 2535 มีการเข้มงวดการทำเหมืองมากขึ้นเพราะถูกบังคับให้ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม EIA และ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 

สำหรับเหมืองแม่เมาะมี ประทานบัตร (ปบ.) ยังไม่สิ้นอายุทั้งหมด 78 แปลง ถือเป็นเหมืองถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พื้นที่ขนาดใหญ่เหล่านี้ การขอ ปบ. ติดต่อกันหมายความว่ามีชั้นลิกไนต์แผ่กระจายกว้างมาก 

“แต่ทำไมจึงต้องเร่งรีบเปิดหน้าดินเยอะขนาดนั้น แทนการขอ ปบ. เป็นกลุ่มพื้นที่ไป ? คำตอบก็คือเพราะ ความสะดวก และลงทุนต่ำ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจจริง ๆ ไม่สามารถขอปบ.ได้เยอะขนาดนี้ กฟผ.ต้องการเป็นเจ้าของถ่านหินในแอ่งแม่เมาะทั้งหมด กินพื้นที่ชุมชนแม่เมาะ ทำให้แหล่งอารยธรรมชุมชนแม่เมาะล่มสลายซึ่งการทำแบบนี้เป็นวิธีการทำเหมืองที่ผิดพลาด”

นอกจากชุมชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว แม้แต่แหล่งโบราณสถานซึ่งควรค่าแก่การอนุรักษ์ เช่น ภาพเขียนสีบนดอยผาตูบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในประทานบัตรเหมืองแม่เมาะอาจถูกทำลายไป เพราะทางโรงไฟฟ้ามีแผนจะระเบิดภูเขาบริเวณนั้นเพื่อนำหินปูนมาใช้ในการเผาไหม้ถ่านหินเพิ่มเติม

ใครว่าถ่านหินสะอาด?

ดร.อาภา หวังเกียรติ จากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พูดถึงผลกระทบของโรงไฟฟ้าต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยยกตัวอย่างสารที่เหลือจากกระบวนการเผาไหม้เช่น  เถ้าหนัก เถ้าลอย เหล่านี้จะมีสารหนู สารตะกั่ว สารปรอท สังกะสี สารหนูมีผลกระทบต่อระบบประสาท มะเร็งในปอด หากสัมผัสจะมีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนัง สารปรอทมีผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้การพัฒนาสมองไม่เต็มที่ ซึ่งเถ้าที่ถมอยู่ในแม่เมาะจะถูกชะล้างเวลาฝนตก เถ้าเหล่านี้ก็จะสะสมลงสู่ระบบนิเวศของแม่เมาะ ทุกๆกระบวนการของการผลิตถ่านหิน ตั้งแต่การทำเหมือง การขนส่ง การเผาไหม้ การระบายน้ำเสีย มีสารโลหะหนักถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ดิน หรืออากาศ สารโลหะหนักเหล่านี้จะไปปนเปื้อนและสะสมในสิ่งมีชีวิต 

ทั้งนี้ยังเสริมในเรื่องของโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดอีกว่า “สังคมไทยควรทำความเข้าใจถ่านหินและมลสารของถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินชนิดที่มีคุณภาพดีแค่ไหนก็จะมีโลหะหนักสะสมในถ่านหิน เช่น สารปรอท สารหนู เป็นต้น สังคมต้องทราบว่าถ่านหินมีสารอื่น ๆ อีกนอกจากซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ถ่านหินสะอาดไม่ใช่มูลความจริงทั้งหมด”

ชาวแม่เมาะคือผู้รับเคราะห์ในที่สุด

ตัวแทนชุมชนแม่เมาะคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะได้ระบายความในใจผ่านเวทีนี้ว่า ลูกสาวของเธอป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเนื่องจากสูดดมก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตั้งแต่อายุน้อย ๆ ในขณะที่ปู่ของลูกสาวซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้าน 131 คนที่ฟ้องร้องเรียกเงินชดเชยได้เสียชีวิตลงด้วยโรคทางเดินหายใจเช่นกัน ส่วนค่าชดเชยจะมีให้เฉพาะชาวบ้านที่ฟ้องร้องเท่านั้น

 
 
ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมและชุมชนในบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
เชื่อว่าเป็นผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

เงินชดเชยที่ศาลพิพากษาให้กฟผ.ต้องชดใช้ก็มีแค่ ค่าเสื่อมสมรรถภาพทางร่างกาย สุขภาพและอนามัย กับค่าสูญเสียด้านจิตใจ แต่กฟผ.ไม่ต้องชดเชย ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์จากการประกอบวิชาชีพ ค่าสูญเสียโอกาสที่จะดำรงชีวิตอย่างคนปกติจนกว่าจะเสียชีวิต และค่าเสียหายในอนาคต โดยศาลกล่าวว่าชาวบ้านไม่มีพยานหลักฐานให้ศาล คำถามคือชาวบ้านจะเข้าถึงพยานหลักฐานตรงนี้ได้อย่างไร ชีวิตความเป็นอยู่ก็ลำบากเพราะพืชผักที่ปลูกโดนฝนกรด จนเสียหาย ทำให้ขาดรายได้

“เราพึ่งข้าราชการในแม่เมาะไม่ได้แล้ว ทั้งเจ้าหน้าที่และแพทย์ที่อยู่ในอำเภอหรือแม้กระทั่งในจังหวัดลำปาง ไม่มีใครกล้าพูดถึงซัลเฟอร์ไดออกไซด์เลย”

เมื่อศาลตัดสินออกมาว่าชาวบ้านป่วยเพราะซัลเฟอร์ไดออกไซด์จริง แม้ว่าจะได้รับค่าชดเชยแล้ว แต่ก็ยังมีชาวบ้านอีกกว่า 40 หมู่บ้านที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ตอนนี้ก็ยังมีชาวบ้านที่ฟ้องพร้อมกัน แต่ไม่ได้ค่าชดเชยเหมือนกัน ยกตัวอย่าง สามีได้รับค่าชดเชย แต่ภรรยายังไม่ได้  ทั้งนี้ กฟผ.ควรใส่ใจกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่ฟ้องร้องเท่านั้น เพราะพวกเขาป่วยเพราะมลพิษโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

เช่นเดียวกับคำสั่งอพยพชาวบ้านภายในรัศมี 5 กิโลเมตรออกจากพื้นที่ จนกระทั่งตอนนี้ล่วงเลยไปกว่า 60 วันจากระยะเวลาที่กำหนด 90 วันแล้ว แต่ไม่เคยมีใครหรือหน่วยงานใดเข้ามาติดต่อให้ชาวบ้านอพยพ ชาวบ้านไม่สามารถอพยพเองได้เนื่องจากไม่มีทุนมากพอ และเมื่ออพยพไปแล้วก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน พื้นที่ทำกินก็ไม่มี

ความจริงแล้วไม่ใช่แค่ชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากสารพิษกระจายออกไปเป็นวงกว้างมากกว่า 20 กิโลเมตร ตัวแทนชาวแม่เมาะได้ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ว่า ขอร้องให้ทุก ๆ ฝ่ายช่วยเหลือชาวแม่เมาะตามคำสั่งศาล เพราะชาวแม่เมาะอยากเห็นความรับผิดชอบของหน่วยงาน

ชาวแม่เมาะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลาน จนกระทั่งตอนนี้ เหมืองถ่านหินก็ไม่ได้ปิดลง ยิ่งไปกว่านั้น กฟผ.กำลังดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แทนโรงไฟฟ้าเก่าที่กำลังจะหมดอายุ หากยังละเลยในเรื่องของผลกระทบอยู่  ก็ไม่ทราบว่าในอนาคต ชาวแม่เมาะจะต้องอยู่กับโรคภัยไปอีกกี่ปี?  บทเรียนจากคดีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะครั้งนี้บอกเราว่า หน่วยงานที่เข้าไปดูแลรับผิดชอบพื้นที่นั้นไร้ศักยภาพ ไม่สามารถควบคุมมลพิษได้อย่างแท้จริง รวมถึงยังละเลยต่อสุขภาพของคนในชุมชนบริเวณใกล้เคียง

“โฆษณาของกฟผ. ที่บอกว่าอากาศที่แม่เมาะบริสุทธิ์เท่าๆ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มันไม่จริงเลย เป็นโฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้น พวกเราชาวแม่เมาะดูแล้วหดหู่ใจ” ตัวแทนชุมชนแม่เมาะกล่าว

ในอนาคต กฟผ.มีแผนที่จะผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 14 แห่งทั่วประเทศไทย โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เพียงแค่บทเรียนจากคดีโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะก็เป็นเครื่องบอกเราว่าเราควรหยุดใช้ถ่านหิน 

หากกรณีของปัญหาผลกระทบที่แม่เมาะยังไม่สามารถจัดการแก้ไขและเยียวยาได้ อีกทั้งยังขาดมาตรการจัดการกับผลกระทบที่รัดกุมและเหมาะสมอย่างแท้จริง นอกเหนือจากคำโฆษณาชวนเชื่อว่า “ถ่านหินสะอาด” แล้ว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสุขภาพ และไม่ทำลายแหล่งชุมชนที่เราอาศัยอยู่

การมุ่งหน้าสู่ความมั่นคงทางด้านพลังงานโดยการเพิ่มโรงไฟฟ้าจากถ่านหินจึงไม่ใช่ทางออกของความยั่งยืนทางพลังงาน ไม่ว่าจะมองในมิติไหนก็ตาม สังคมไทยมีบทเรียนมากเพียงพอแล้วจากกรณีแม่เมาะกว่า  46 ปี (ตามข้อมูลจาก รัฐบาลตราพ.ร.บ.จัดตั้งกฟผ.ในปี 2511 และรวมกิจการเหมืองแม่เมาะให้เมื่อ 1 พฤษภาคม 2512) แต่ทางออกที่ยั่งยืนนั่นก็คือ “แหล่งพลังงานหมุนเวียน” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเรา

ข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, รายงานพลังงานของประเทศไทย และรายงานพลังงานทดแทนของประเทศไทยปี 2556 รายงานว่า จากสถิติกำลังผลิตติดตั้งของพลังงานหมุนเวียนปี 2537 – 2556 นั้นแม้ว่ามูลค่าการลงทุนพลังงานหมุนเวียนยังผันผวนเพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันในแต่ละปี แต่ประเทศไทยมีการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มขึ้นทุกประเภท โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพและลม  

 
 
 
ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน,
รายงานพลังงานของประเทศไทย และรายงานพลังงานทดแทนของประเทศไทยปี 2556
 

ประเทศไทยสามารถพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจังได้ ซึ่งทุกภูมิภาคในประเทศมีศักยภาพทางด้านพลังงานหมุนเวียนมาก รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย ขาดแต่เพียงนโยบายที่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนของรัฐบาล ตั้งแต่การเริ่มต้นวางแผน หรือกฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริง

 
Blogpost โดย Supang Chatuchinda -- เมษายน 9, 2558 ที่ 11:55
 
 




 

Create Date : 10 เมษายน 2558   
Last Update : 10 เมษายน 2558 18:25:25 น.   
Counter : 1701 Pageviews.  


นักกิจกรรมกรีนพีซ 6 คน ปีนแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทเชลล์ที่กำลังถูกขนย้ายไปอาร์กติก

มหาสมุทรแปซิฟิก, 7 เมษายน 2558 – นักกิจกรรมกรีนพีซ 6 คนเข้าขวางแท่นขุดเจาะน้ำมันที่บริษัทเชลล์ กำลังเคลื่อนย้ายไปยังอาร์กติก กลางมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮาวายเป็นระยะทาง 750 ไมล์ โดยปีนขึ้นไปบนแท่นขุดเจาะที่มีน้ำหนัก 38,000 ตัน

นักกิจกรรมจากหลายประเทศจะตั้งแคมป์ด้านล่างดาดฟ้าของแท่นขุดเจาะน้ำมันโพลาร์ ไพโอเนียร์ โดยมีเสบียงเพียงพอเพื่อที่ดำรงชีวิตอยู่บนแคมป์ได้หลายวัน พร้อมด้วยเทคโนโลยีสื่อสารสำหรับติดต่อกับผู้สนับสนุนการรณรงค์จากทั่วโลกถึงแม้ว่าจะมีระยะทางห่างไกลจากภาคพื้นทวีปนับร้อยไมล์

สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยของสหรัฐอเมริกาอนุมัติแผนของบริษัทเชลล์เพื่อขุดเจาะน้ำมันที่ทะเลชุกชี (Chukchi Sea) ในมหาสมุทรอาร์กติกแถบอลาสก้า นั่นหมายถึงภาย ใน 100 วัน บริษัทเชลล์อาจเริ่มขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าวได้

ในช่วงเช้าตรู่ของวันนี้ นักกิจกรรมทั้ง 6 คน จากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สวีเดนและ ออสเตรีย นั่งเรือยางออกจากเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซ[2] มุ่งหน้าสู่แท่นขุดเจาะน้ำมันโพลาร์ ไพโอเนียร์ ที่บริษัทเชลล์จะนำไปใช้ขุดเจาะน้ำมันที่ทะเลชุกชี

พวกเขากางป้ายผ้าที่ประกอบด้วยรายชื่อคนจำนวนถึง 6.7 ล้านรายชื่อจากทั่วโลกที่คัดค้านแผนการขุดเจาะน้ำมันในอาร์กติก

อลิยาห์ ฟิล์ด หนึ่งในนักกิจกรรมทั้ง 6 ส่งข้อความผ่านทวิตเตอร์จากแท่นขุดเจาะน้ำมันโพลาร์ ไพโอเนียร์ว่า “เราทำได้ เราอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมันของเชล์ และพวกเราไม่ได้โดดเดี่ยว ทุกคนช่วยเปลี่ยนให้แท่นขุดเจาะน้ำมันนี้เป็นเวทีของพลังประชาชนได้ #TheCrossing”

โจห์โน สมิท จากนิวซีแลนด์ นักกิจกรรมอีกหนึ่งคน กล่าวว่า “ เรามาที่นี่เพื่อบอกให้ทุกคนรู้ว่าเหลือเวลาอีกไม่ถึง100วันที่เชลล์กำลังจะเดินทางไปอาร์กติกเพื่อขุดเจาะน้ำมัน  สิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์ต้องการได้รับปกป้องเพื่อคนรุ่นต่อไปและสรรพชีวิตที่อาศัยอยุ่ในอาร์กติก  แต่สิ่งที่เชลล์กำลังทำนั้นเป็นการแสวงประโยชน์จากน้ำแข็งที่กำลังละลายโดยจะยิ่งเพิ่มภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริง และก่อให้เกิดความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานต่อพ่อแม่พี่น้องของเราในมหาสมุทรแปซิฟิก

“ผมเชื่อว่าการเปิดเผยสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนมากขึ้นลุกขึ้นมาต่อสู้กับเชลล์ และบริษัทอื่นที่แสวงหาวิธีการทำลายโลกเพียงเพื่อที่จะแสวงหาผลกำไร ผมเป็นเพียงแค่หนึ่งเสียงบนแท่นขุดเจาะนี้ แต่ผมรู้ว่าผมไม่ได้โดดเดี่ยว ผู้คนนับล้านที่เรียกร้องสิทธิในการดำรงชีวิตที่ดีและปลอดภัยคือโอกาสของการเปลี่ยนแปลง”

แท่นขุดเจาะน้ำมัน โพลาร์ ไพโอเนียร์กำลังถูกขนย้ายด้วยเรือที่มีชื่อว่าบลูมาร์ลินความยาวถึง  712 ฟุตหรือ 217 เมตร เรือบลูมาร์ลินเป็นหนึ่งในเรือสองลำของเรือขุดเจาะน้ำมันที่มุ่งหน้าสู่อาร์กติกเพื่อให้บริษัทเชลล์ใช้ในปีนี้ ส่วนเรือลำที่สองมีชื่อว่า โนเบิล ดิสโคเวอเรอร์ เป็นหนึ่งในเรือขุดเจาะน้ำมันที่มีอายุการใช้งานมากที่สุดในโลก เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2557ที่ผ่านมา โนเบิลดริลลิ่งเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ของบริษัทเชลล์ในอาร์กติกและเป็นเจ้าของเรือโนเบิล ดิสโคเวอเรอร์ ยอมสารภาพในการกระทำผิดแปดครั้งที่เชื่อมโยงกับความล้มเหลวของบริษัทเชลล์ในการขุดเจาะน้ำมันในมหาสมุทรอาร์กติกเมื่อปี 2555

เรือขุดเจาะน้ำมันทั้งสองลำนี้กำลังแล่นข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกโดยคาดการว่าจะถึงเมืองซีเอตเติล[3]ประมาณกลางเดือนเมษายนนี้ก่อนที่จะมุ่งหน้าสู่ทะเลชุกชี

เมื่อไม่นานมานี้ โครงสร้างพื้นฐานของแท่นขุดเจาะน้ำมันอาร์กติกของเชลล์ได้ถูกขนย้ายผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว ประเทศฟิลิปปินส์กลายเป็นจุดศูนย์กลางแห่งความหายนะจากซูเปอร์ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ซึ่งเป็นพายุไต้ฝุ่นที่มีกำลังแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก ก่อให้เกิดการเสียชีวิตถึง 7,000 คน ประชาชนนับล้านไร้ที่อยู่อาศัย และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อเร็วนี้ฟิลิปปินส์ต้องเผชิญกับพายุใต้ฝุ่นไม้สัก(Maysak)  ซึ่งได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อนดีเปรสชั่นหลังจากเข้าถล่มจังหวัดอิซาเบลลา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ซูเปอร์ไต้ฝุ่นไม้สักพัดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกโดยมีความความเร็วลมอยู่ที่ 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่บางส่วนในแถบหมู่เกาะไมโครนีเชีย(Micronesia) ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยห้าคน

“ในขณะที่ผู้นำโลกยังคงปล่อยให้อนาคตของพวกเราอยู่ในอุ้งมือของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลสกปรก พายุที่มีกำลังในการทำลายล้างนั้นได้สร้างผลกระทบไปทั้งโลกและกำลังจะกลายเป็น “ความเคยชินอันใหม่” เปลี่ยนผันชีวิตผู้คนนับล้านโดยเฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์” แอนนา อาบัด ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

“ความเข้มแข็งและความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของเราไม่ควรกลายเป็น ตั๋วฟรีของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลสกปรกอย่างเช่นเชลล์ที่พยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อขุดเจาะน้ำมันในเขตแดนที่ปราะบางอย่างอาร์กติกโดยไม่สนใจวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในฟิลิปปินส์” แอนนา กล่าวเสริม

หมายเหตุ

[1] นักกิจกรรมของกรีนพีซทั้ง 6  ประกอบด้วย Aliyah Field  อายุ 27 ปี จาก สหรัฐอเมริกา(@aliyahfield), Johno Smith อายุ 32ปี จากนิวซีแลนด์ (@nsp_one), Andreas Widlund อายุ 27 ปี จากสวีเดน (@widlundandreas), Miriam Friedrich อายุ 23ปี จากออสเตรีย (@mirifriedrich), Zoe Buckley Lennox1 อายุ 21 ปี จากออสเตรเลีย(@zoevirginia) และ Jens Loewe อายุ 46ปี จากเยอรมนี (jens4762).

[2] ลูกเรือบนเรือเอสเพอรันซา 35 คนได้เฝ้าติดตามแท่นขุดเจาะน้ำมัน โพลาร์ ไพโอเนีย  เป็นระยะทางมากกว่า 5,000 ไมล์ทะเล ตั้งแต่ออกจากอ่าวบรูไนในมาเลเซีย

[3] เชลล์มุ่งมั่นที่จะใช้ท่าเรือของซีแอตเทิลเป็นฐานสำหรับกองเรือเดินสมุทรอาร์กติกของบริษัทฯ แม้ว่าจะมีกลุ่มที่คัดค้านเพิ่มมากขึ้นในซีแอตเทิล:

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ:

เมดซ์ ฟิสเกอร์  ผู้ประสานงานสื่อมวลชน บนเรือเอสเพอรันซา กรีนพีซ นอร์ดิก
โทร +47 2367 4819 อีเมล @greenpeace.org">mads.fisker@greenpeace.org

เทเรซ ซาลวาดอร์ หัวหน้าฝ่านสื่อสารองค์กร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร.:+63917-8228734 อีเมล: @greenpeace.org">therese.salvador@greenpeace.org

สำหรับภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหว กรุณาติดต่อ เกรซ คาบุช ผู้ประสานงานด้านภาพถ่าย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร.: +63917-6345126 อีเมล.: @greenpeace.org">grace.duran@greenpeace.org

สามารถดูภาพถ่ายได้ที่ www.photo.greenpeace.org

สามารถโหลดภาพเคลื่อนไหวได้ที่ FTP ตามรายละเอียดด้านล่าง (กรุณาดาวน์โหลดซอฟแวร์ เช่น  Filezilla หรือ Cyberduck)

server:               ftp.greenpeacemedia.net
login:                 dvout
passw:               3e4r5t
folder:                THE_CROSSING
subfolder:          NEWS_ACCESS

ภาพเคลื่อนสามารถดาวน์โหลดได้ที่ //tinyurl.com/qxlls68  กรุณาลงทะเบียนก่อนการดาวน์โหลด

 

Download English version here

 
ข่าวประชาสัมพันธ์ - เมษายน 8, 2558
 




 

Create Date : 09 เมษายน 2558   
Last Update : 9 เมษายน 2558 10:59:36 น.   
Counter : 794 Pageviews.  


ร้อนสุดขั้ว! น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้เหลือปริมาณน้อยสุดทุบสถิติในฤดูหนาว

หากเรากำลังนั่งทำงานในออฟฟิศ พักผ่อนอยู่บ้าน หรือเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ อาจจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสักเท่าไหร่ และคงไม่รู้ว่า ช่วงอากาศร้อนๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้แต่ขั้วโลกใต้เองอากาศยังร้อนกว่าหลายเมืองในอเมริกาและยุโรปเสียอีก

น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลายมากเป็นปรากฎการณ์แม้แต่ในฤดูหนาว

โลกร้อน … ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังคงปฏิเสธวิกฤตที่กำลังคุกคามเราอย่างเงียบงันอยู่ในขณะนี้ แต่หลักฐานที่ดีอีกชิ้นหนึ่งถึงวิกฤตโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกปี คือ ปริมาณน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่ลงน้อยลงเป็นสถิติใหม่ทุกปี ที่ผ่านมาเราอาจจะพูดถึงปริมาณน้ำแข็งที่ละลายมากเป็นปรากฎการณ์ในช่วงฤดูร้อน แต่ในช่วงฤดูหนาวจะเป็นช่วงเดียวที่น้ำแข็งขั้วโลกจะสามารถฟื้นตัวคืนกลับมาได้ แต่แล้วในปี 2558 นี้ สถิติใหม่ที่น่ากลัวออกมาว่า น้ำแข็งขั้วโลกเหนือและใต้เหลือปริมาณน้อยที่สุดในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่บันทึกสถิติมา 35 ปี

การเปรียบปริมาณทะเลน้ำแข็งอาร์กติกระหว่างปี 2557 กับปี 2552 โดยบริเวณสีเหลืองคือปริมาณทะเลน้ำแข็งมาตรฐานที่ควรขยายตัวสูงสุดในช่วงฤดูหนาว

ขั้วโลกเหนือ--ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกเหลือน้อยกว่าปริมาณมาตรฐาน 1.1 ล้านตารางกิโลเมตร

ตามปกติแล้วทะเลน้ำแข็งอาร์กติกจะขยายตัวจนมีปริมาณมากสุดในช่วงต้นเดือนมีนาคมซึ่งเป็นฤดูหนาว แต่ในปีนี้ ศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งของสหรัฐอเมริกา (NSIDC) รวมถึงองค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NOAA) และนาซ่า  เผยว่าน้ำแข็งอาร์กติกขยายตัวสูงสุดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นเพียงช่วงเวลาที่มีปริมาณสูงสุดเร็วกว่าปกติเป็นอันดับที่สองจากการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2522 เท่านั้น แต่ยังเป็นปริมาณที่น้อยที่สุดที่ได้บันทึกไว้ในการเก็บสถิติผ่านทางดาวเทียม กล่าวคือ ในปีนี้ปริมาณทะเลน้ำแข็งอาร์กติกสูงสุดอยู่ที่ 14.54 ตารางกิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานระหว่างปี 2524-2553 อยู่ 1.1 ล้านตารางกิโลเมตร และน้อยกว่าปริมาณที่ขยายตัวสูงน้อยที่สุดจากสถิติในปี 2554 ถึง 130,000 ตารางกิโลเมตร โดยปริมาณน้ำแข็งที่หายไปนั้นเทียบเท่ากับขนาดของรัฐเท็กซัสและแคลิฟอร์เนียเลยทีเดียว

นาซ่าได้อธิบายรายละเอียดผ่านทางวิดีโอนี้

นาซ่าได้ระบุว่า ถึงแม้ปริมาณน้ำแข็งที่ขยายตัวน้อยที่สุดในฤดูหนาวนี้ ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าในช่วงฤดูร้อนจะทำให้ทะเลน้ำแข็งยิ่งละลายเพิ่มขึ้นเป็นสถิติใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ปริมาณน้ำแข็งที่หายไปในช่วงฤดูหนาวมากเช่นนี้ก็ยังเป็นสถิติที่น่ากลัว และทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ในช่วงฤดูร้อนที่ทะเลน้ำแข็งเหลือปริมาณน้อยสุดในช่วงเดือนกันยายนนั้นจะเป็นเช่นไร แต่แน่นอนว่าน้ำแข็งที่บางย่อมละลายเร็วขึ้น และยิ่งกลายเป็นทะเลที่เปิดปราศจากน้ำแข็งมากเท่าไร น้ำทะเลก็จะดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้มากขึ้นเนื่องจากขาดน้ำแข็งที่ช่วยสะท้อนความร้อนกลับ ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากเรายังคงเดินหน้าเผาผลาญก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่เช่นนี้ เราอาจได้เห็นทะเลอาร์กติกที่ปราศจากน้ำแข็งภายในศตวรรษหน้า

ขั้วโลกใต้--แอนตาร์กติการ้อนกว่าลอนดอน!

บ้างอาจกำลังแย้งว่าทะเลน้ำแข็งของแอนตาร์กติกาขยายตัวมีปริมาณมากเป็นสถิติใหม่เช่นกันมิใช่หรือ ดังนั้นโลกของเราคงไม่ได้ร้อนอย่างที่คิด  แต่ล่าสุดรายงานล่าสุดจากจุลสาร Science ของอเมริกา ได้เผยว่าการละลายของชั้นน้ำแข็งแอนตาร์กติกานั้นเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าที่คาด ซึ่งอัตราเร็วที่ว่านั้นสูงขึ้นถึงร้อยละ 70 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่าช่วงเวลา 18 ปีนั้น ชั้นน้ำแข็งได้ละลายไป 310 ตารางกิโลเมตร ทุกปี แต่ละชั้นนั้นเสียความหนาแน่นไปร้อยละ 18 และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแอนตาร์กติกามีอุณหภูมิสูงถึง 17.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุณหภูมิของเมืองวอชิงตัน ดีซีอยู่ที่ 7.7 องศา นิวยอร์กอยู่ที่ 45 องศา และลอนดอนอยู่ที่ 10 องศา 

น้ำแข็งขั้วโลกที่เหลือน้อย ส่งผลกับเราอย่างไร?

การที่ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกละลายนั้นอาจไม่ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และการสูญเสียทะเลน้ำแข็งไปยิ่งเป็นการเร่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้รุนแรง ส่วนที่แอนตาร์กติกานั้นการละลายเร็วขึ้นของชั้นน้ำแข็งนี้ มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากชั้นน้ำแข็งนั้นเป็นส่วนที่ประคองก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ไม่ให้ตกลงสู่มหาสมุทร เพราะหากน้ำแข็งบนพื้นดินลงสู่มหาสมุทร นั่นหมายความว่าปริมาณน้ำแข็งจะเพิ่มปริมาณน้ำในทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แตกต่างจากทะเลน้ำแข็งที่ไม่ได้เพิ่มระดับน้ำทะเลเมื่อละลาย

กรณีนี้ เฮเลน ฟริคเกอร์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และสถาบัน Scripps Institution of Oceanography เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า “หากคุณกำลังถือแก้วเหล้าจินโทนิกอยู่ ซึ่งมีน้ำอยู่เต็มแก้ว แต่บาร์เทนเดอร์กลับเติมน้ำแข็งเพิ่มเข้าไปให้ น้ำก็ย่อมล้นออกจากแก้ว” การที่ชั้นน้ำแข็งบนดินของแอนตาร์กติกาละลายก็เป็นเช่นนั้น

ขอบคุณภาพจาก washingtonpost.com

ดร.พอล ฮอลแลนด์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ สถาบัน British Antarctic Survey (BAS) กล่าวว่า การที่ชั้นน้ำแข็งละลายเป็นการเร่งให้แผ่นน้ำแข็งบริเวณแอนตาร์กติกาตะวันตกถล่มเร็วขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3.5 เมตร อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้อาจไม่เกิดขึ้นภายในศตวรรษนี้ กรณีสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นในปี 2643 คือ น้ำแข็งละลายจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นของน้ำทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นสูงอีก 70 เซนติเมตร

ตัวบ่งชี้ที่เห็นชัดเช่นนี้ ชี้ชัดเหลือเกินว่าภาวะโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริงโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีนักวิทยาศาสตร์มาช่วยบอก และเราต้องร่วมกันต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนอย่างเร่งด่วน ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกนั้นไม่ได้อยู่ไกลตัวสุดขั้วอย่างที่เราคิด ขณะนี้อุตสาหกรรมน้ำมันกำลังฉกฉวยโอกาสขณะที่น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายมองข้ามสัญญาณเตือนภัยแห่งหายนะครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติและสรรพชีวิต ล่าสุดประธานาธิบดีบารัคโอบามา ได้อนุมัติสัญญาเช่าให้กับเชลล์ ซึ่งเป็นการช่วยดันให้แผนการขุดเจาะของเชลล์เข้าใกล้การขุดเจาะน้ำมันในภูมิภาคอาร์กติก แถบอลาสก้าในปีนี้อีกก้าว

การใช้ฟอสซิลเช่นน้ำมัน เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตโลกร้อน และกิจกรรมขุดเจาะนี้ยังทำลายความสมบูรณ์ของน้ำแข็งอาร์กติกด้วย อาร์กติกที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นเครื่องปรับอากาศที่คอยรักษาระดับสมดุลของสภาพภูมิอากาศของโลก  น้ำแข็งของอาร์กติกเป็นเหมือนกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนแสงอาทิตย์และความร้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศ ถึงแม้จะอยู่ห่างออกไปอีกซีกโลก ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็งที่อาร์กติกไม่ได้ส่งผลแต่ในเฉพาะภูมิภาคอาร์กติก แต่ทุกชีวิตบนโลกล้วนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน หากปราศจากน้ำแข็งที่อาร์กติกแล้ว ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเลวร้ายจนไม่สามารถหยุดยั้งได้

ติดตามการเคลื่อนไหวของกลุ่มอาสาสมัคร 6 คน และเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซที่กำลังติดตามแท่นขุดเจาะน้ำมันของเชลล์ได้ที่ //savethearctic.org/th/live/

การเปรียบเทียบปริมาณชั้นน้ำแข็งของแอนตาร์กติกา ขอบคุณภาพจาก theguardian.com

 

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 7, 2558 ที่ 10:00

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52506/

 
 




 

Create Date : 07 เมษายน 2558   
Last Update : 7 เมษายน 2558 17:32:17 น.   
Counter : 1650 Pageviews.  


รู้หรือไม่? โลกร้อนทำให้คุณภาพและรสชาติอาหารแย่ลงได้

ภาวะโลกร้อนไม่ได้ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่วิกฤตการณ์นี้ส่งผลถึงรสชาติของอาหารในทุกๆ มื้อที่เรารับประทานอีกด้วย ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อเพราะว่านักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อผลผลิตทางเกษตรกรรม โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างในออสเตรเลีย แล้วก็ได้ผลการวิจัยที่พบว่า ภาวะโลกร้อน ทำให้คุณภาพอาหารแย่ลงจริง!

ภาวะโลกร้อนส่งผลต่ออาหารได้อย่างไร ?

ด้วยปัจจัย 5 ข้อต่อไปนี้ จะทำให้เราทราบว่า ภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลกระทบต่ออาหารการกินแต่ละมื้อของเรามากมายเลยทีเดียว
1.พืชจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสม
ผลการวิจัย ของ เดวิด คารอยล์ และ ริชาร์ด เอ็กการ์ด ระบุว่าพืชหลากหลายชนิดได้รับผลกระทบทั้งจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น คลื่นความร้อน และฝนแล้ง เมื่อเจอกับสภาพอากาศอันแปรปรวนเลวร้ายหนักขึ้นทุกปี พืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดีเหมือนเดิม หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ เกษตรกรได้ผลผลิตจากผักและผลไม้น้อยลงนั่นเอง

ยกตัวอย่างพืชที่ได้รับผลกระทบอย่างเห็นได้ชัดก็คือ เลมอน โดยปกติแล้วเลมอนจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส แต่ขณะนี้อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 37 องศาเซลเซียส ทำให้ลำต้นสลัดผลเลมอนก่อนที่เกษตรกรจะขายผลผลิตได้ นอกจากนี้ยังมี ข้าวโพด ที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่าเลมอนเลย แม้ว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจเพิ่มผลผลิตข้าวโพดในพื้นที่พอสมควร แต่หากพื้นที่ใดที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ปริมาณข้าวโพดที่ผลิตได้ก็จะลดลง

นอกจากนี้แม้ว่าประเทศออสเตรเลียจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับแมลงหรือวัชพืช แต่เมื่ออยู่ในสภาวะอากาศที่ไม่เหมาะสม แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคในต้นไม้จะเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ทำให้ร้อยละ 9 ของต้นพืชถูกโรคร้ายฆ่าตาย เช่น ส้ม หัวหอม เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยซึ่งมีข้าวเป็นพืชเกษตรกรรมหลักของประเทศนั้น ข้าวบางพันธุ์จะสูญเสียความสมบูรณ์ของละอองเรณูเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 34 องศาเซลเซียส ผลผลิตข้าวที่ได้เมล็ดอาจจะลีบลง แม้ว่าต้นข้าวยังเติบโตอยู่

 

ไร่ผักบริเวณทางเหนือของออสเตรเลีย ขอบคุณรูปภาพจาก agric.wa.gov.au

 

2.สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้วส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร
ก่อนอื่นต้องอธิบายคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” เสียก่อน ซึ่งนิยามโดยสรุปของความมั่นคงทางอาหารที่นิยามโดย องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คือ มีปริมาณอาหารที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ เราสามารถเข้าถึงอาหารและมีสิทธิที่จะได้อาหารอย่างเหมาะสมตามความจำเป็นด้านโภชนาการ สามารถใช้ประโยชน์จากอาหาร มีปริมาณอาหารและน้ำที่เพียงพอเพื่อสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพที่ดี และอาหารต้องมีสม่ำเสมอ ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอตลอดเวลา

แต่ขณะนี้ ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นภัยคุกคามพวกเราเหล่าผู้บริโภค เพราะอาหารที่พวกเรารับประทานนั้นกำลังจะสูญเสียคุณภาพตามที่ควรจะเป็น คำว่าสูญเสียคุณภาพไม่ใช่แค่ไม่อร่อยอย่างเดียว แต่คุณค่าทางอาหารก็ลดลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผักคาโนลาที่มีสารชนิดหนึ่ง เราเรียกว่า น้ำมันผัก ซึ่งน้ำมันชนิดนี้มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่การเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศยังลดคุณภาพของน้ำมันในผักคาโนลา นอกจากนี้ยังมีผลไม้ที่สูญเสียคุณภาพทางด้านรสชาติเนื่องจากภาวะโลกร้อนอีก เช่น ลูกพลัมส์ ราสเบอร์รี่ แครอท เป็นต้น

3.น้ำทะเลในมหาสมุทรมีสภาพเป็นกรด ห่วงโซ่อาหารเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ สัตว์น้ำอยู่อาศัยไม่ได้ 

เมื่อมนุษย์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ก๊าซเหล่านี้หากไม่ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ก็จะละลายไปกับน้ำทะเล นี่คือสาเหตุที่น้ำทะเลมีสภาพเป็นกรด และคุณสมบัติความเป็นกรดเป็นด่างในทะเลนี่เองมีผลต่อสัตว์ที่มีโครงสร้างหินปูนเพื่อดำรงชีวิต ยกตัวอย่างเช่น เม่นทะเล หรือหอย ซึ่งพวกมันจะสร้างเปลือกหุ้มตัวได้ยากขึ้น นอกจากนี้ปะการัง บ้านของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดซึ่งเป็นพืชที่มีโครงสร้างหินปูนก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่สิ่งมีชีวิตที่ต้องใช้หินปูนเท่านั้น แต่สิ่งมีชีวิตอื่นก็ต้องรับเคราะห์ด้วย เช่น ไส้เดือนทะเล เป็นอาหารของปลาหลายชนิด พวกมันจะพยายามวางไข่ให้ได้มากที่สุดก่อนตาย แต่เมื่อน้ำทะเลมีสภาพเป็นกรด เรากลับพบว่าไข่ที่พวกมันวางไว้ไม่สมบูรณ์ ทำให้ไส้เดือนทะเลมีจำนวนลดน้อยลง เมื่อเป็นเช่นนี้ปลาที่กินไส้เดือนทะเลอาจลดจำนวนลงตามเพราะขาดแคลนอาหาร แพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างผิดสังเกตทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนไป ขณะที่แพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นอาหารหลักของท้องทะเลไม่สามารถสร้างเปลือกได้ และจะกระทบกันต่อไปเป็นทอด ๆ ทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวนทั้งระบบ แน่นอนว่าปลาเศรษฐกิจที่เราชอบรับประทานก็จะยิ่งลดจำนวนลงเนื่องจากไม่สามารถปรับตัวและฟื้นตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางทะเล

 


ฟาร์มไก่ ทางเหนือของประเทศเยอรมนี

 

4.อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความร้อนทำให้สัตว์เครียด

โลกร้อนไม่ใช่แค่มนุษย์เราที่ร้อน แต่สัตว์ก็ร้อนด้วยเหมือนกัน เราอาจยังไม่ทราบว่าสัตว์ในฟาร์ม อาทิ ไก่ที่เรารับประทานนั้นอ่อนไหวต่ออุณหภูมิมาก เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น พวกมันจะมีความเครียดจนส่งผลให้คุณภาพของเนื้อไก่แย่ลง แม้กระทั่งนมวัวและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส ก็ลดน้อยลงถึงร้อยละ 40 เนื่องจากคลื่นความร้อนทำร้ายวัวเหล่านี้

5.ราคาอาหารสูงขึ้น

จากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างหนัก เราพบว่าปัญหาภัยแล้งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อราคาอาหารได้อย่างชัดเจนในปี พ.ศ.2555 เพราะประเทศที่ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลกมีผลผลิตได้น้อยกว่าเท่าที่ควร โดยในปีพ.ศ.2555 และ 2556 องค์กร Oxfam ได้เผยรายงานออกมาเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นอาจส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น และการขาดแคลนอาหารบางชนิด

นอกจากนี้ทางFAO ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า ราคาอาหารของโลกไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแน่นอน ตรงกันข้ามกลับมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก การขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศทำลังพัฒนาที่มีกำลังบริโภคเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการอาหารโลกก็เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่ธัญพืชอาหารโลกกลับผลิตได้น้อยลง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายของภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง

ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป เพราะมันไม่ได้ทำให้สภาพอากาศของโลกย่ำแย่เพียงอย่างเดียว แต่วิกฤตการณ์นี้จะส่งผลต่อกันเป็นทอด ๆ กระทบกันไปเรื่อยๆ และหนึ่งในภัยคุกคามนั้นคือ ความมั่นคงทางอาหาร หรือเรียกง่ายๆ ว่า กระทบถึงอาหารทั้งสามมื้อที่เรารับประทานกัน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกๆคนที่จะต้องร่วมมือกันลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อกรกับวิกฤตโลกร้อน เพื่ออนาคตสีเขียวที่ยั่งยืน และปกป้องไม่ให้อาหารอร่อยๆ ของเราถูกคุกคาม!

 

Blogpost โดย Supang Chatuchinda -- เมษายน 1, 2558 ที่ 10:32
 

 

 




 

Create Date : 01 เมษายน 2558   
Last Update : 1 เมษายน 2558 17:16:48 น.   
Counter : 1145 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com