ไม่ว่าจะเป็นแผนการยุติการใช้งาน การพบรอยแตกร้าว และการปิดตัวลงของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศต่างๆ สัปดาห์นี้ถือเป็นสัปดาห์ที่เลวร้ายสำหรับพลังงานนิวเคลียร์ แต่เป็นสัญญาณอันดีว่ายุคของพลังงานนิวเคลียร์ใกล้สิ้นสุดลงแล้ว

หลังจากฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่นได้ผ่านพ้นไปโดยไม่เกิดไฟฟ้าดับจากการเปิดใช้งานเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียงสองเครื่องดังที่ทางอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และกลุ่มผู้สนับสนุนได้วิตกกังวลกัน ล่าสุดทางรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ออกมาประกาศในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 ว่าจะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในช่วงปี 2030-2040 นับเป็นข่าวดีครั้งประวัติศาสตร์ เพราะการประกาศการแยกทางกับพลังงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นนี้ช่วยตอกย้ำว่าถึงคราวที่มนุษย์ต้องหันหลังให้กับพลังงานนิวเคลียร์เสียที

การตัดสินใจของญี่ปุ่นในครั้งนี้หมายความว่าญี่ปุ่นได้เดินหน้าไปร่วมสมทบกับประเทศเยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้บอกลากับพลังงานนิวเคลียร์หลังจากอุบัติภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมะเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนับว่าเป็นการเดินหน้าครั้งสำคัญสำหรับประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์มากถึงร้อยละ 30 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ รวมถึงมีการยังได้มีการออกมาเรียกร้องจากพลเมืองที่ไม่เคยมีอารยะขัดขืนเพื่อให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชนและเหล่านักวิทยาศาสตร์ และยุติการผลิตไฟฟ้าจากเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดลง

การตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นผลอันสืบเนื่องมาจากการที่เตาปฏิกรณ์สองเครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเบลเยี่ยมไม่สามารถใช้การได้หลังจากพบรอยแตกร้าวที่ตัวเตาปฏิกรณ์

ในเวลาใกล้เคียงกันทางสเปนก็ร่วมย้ำความพ่ายแพ้ของนิวเคลียร์ด้วยการประกาศว่าจะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กาโรนาลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 ซึ่งได้เปิดใช้งานมายาวนานตั้งแต่ปีพ.ศ.2514 นอกจากนี้รัฐบาลของควิเบกซิตี้ ประเทศแคนาดายังยืนยันเพิ่มเติมว่าจะปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เจนติลลีทั้งสองเครื่อง

เรียกได้ว่าเป็นการล่มสลายของยุคพลังงานนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง

ทางกรีนพีซให้การตอบรับ "กลยุทธ์พลังงานและสิ่งเเวดล้อม" (Energy and Environment Strategy) แผนการใหม่ของญี่ปุ่นเป็นอย่างดี แต่ก่อนจะถึงวันนั้นประชากรญี่ปุ่นยังคงเสี่ยงกับอันตรายของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไปอีกเป็นเวลา 18 ปี ซึ่งกรีนพีซตระหนักว่านานเกินไปเนื่องจากญี่ปุ่นได้แสดงศักยภาพให้เห็นแล้วว่าสามารถดำเนินการได้ตามปกติในฤดูร้อนที่ผ่านมาโดยไร้การรายงานถึงเหตุไฟดับหรือไฟฟ้าไม่พอใช้ โดยใช้เพียงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียงสองเครื่องจากทั้งหมด 50 เครื่อง เห็นได้ชัดว่าอนาคตของญี่ปุ่นกำลังก้าวไปสู่พลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนกว่า ไม่ใช่อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์จึงรู้สึกตระหนกเนื่องจากหากญี่ปุ่นสามารถเติบโตได้โดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่อันตรายและแสนแพงนี้ นั่นหมายถึงธุรกิจจะต้องจบลง ตัวอย่างที่ดีจากญี่ปุ่นจะกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินตามได้

ถือเป็นใบเบิกทางสู่อนาคตของพลังงานสะอาดที่สดใสและชัดเจน

นอกจากนี้กรีนพีซได้เสนอแผนปฏิวัติพลังงาน "Energy [R]evolution" ซึ่งหากญี่ปุ่นใช้พลังงานหมุนเวียนได้ตรงตามประสิทธิภาพ ญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจรวมถึงลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ตรงตามเป้าหมายของประเทศ ในปีพ.ศ.2563 "อนาคตที่ปราศจากนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ แผนการปฏิวัติพลังงานนี้จะเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะช่วยให้ญี่ปุ่นหลุดพ้นจากความเสี่ยงจากนิวเคลียร์ รวมถึงยังเป็นการส่งข้อความบอกกับประเทศอื่นๆ ว่าถึงเวลาแล้วที่จะยุติเทคโนโลยีที่แสนอันตรายนี้ในครั้งนี้และตลอดไป" คาซูเอะ ซูซึกิ ผู้รณรงค์ด้านนิวเคลียร์แห่งประเทศญี่ปุ่นกล่าว

ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องกลับไปเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใดๆ หลังจากเหตุการณ์อุบัติภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ รวมถึงการที่เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดเอลสามเครื่องและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ติฮางอีกสองเครื่องของประเทศเบลเยี่ยมไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้หลังจากตรวจสอบพบรอยแตกร้าวที่ตัวเครื่องเป็นการป้องกันและยับยั้งไม่ให้ประชาชนต้องเสี่ยงกับอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากพลังงานนิวเคลียร์

เป็นไปได้ว่าความเสียหายนั้นเลวร้ายเกินกว่าที่เตาปฏิกรณ์เหล่านี้จะสามารถกลับมาใช้งานได้อีก

ยังไม่หมดเท่านั้น นี่ยังหมายความว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกจำนวนมากทั่วโลกอาจกำลังเจอกับผลกระทบนี้ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เหล่านี้ถูกผลิตขึ้นโดยบริษัทของเนเธอร์แลนด์ อาร์ดีเอ็ม (Rotterdamsche Droogdok Maatschappij) ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว

เมื่อเดือนที่แล้ว องค์กรเฝ้าระวังด้านพลังงานนิวเคลียร์ของเบลเยียม FANC (The Federal Agency for Nuclear Control) ได้จัดการประชุมหารือกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยของพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองบรัสเซลส์เพื่อพูดคุยถึงประเด็นปัญหา โดยมีหน่วยงานจากประเทศเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และอาร์เจนตินาร่วมเข้าประชุมด้วย เรื่องนี้ทำให้กรีนพีซตื่นตัวยิ่งขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการและผู้ควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศเหล่านี้กล่าวอ้างว่าไม่พบปัญหาอะไรในเตาปฏิกรณ์ทั้งสิ้น โดยทางกรีนพีซต้องการเรียกร้องให้ปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวทันทีเพื่อตรวจสอบว่าไม่อยู่ในสภาพที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน

แต่อีกด้านหนึ่ง สัปดาห์นี้ประเทศสเปนได้ยกระดับความปลอดภัยสาธารณะอีกขึ้นขั้นหนึ่งเมื่อมีการประกาศถึงการปิดตัวลงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กาโรนาในเดือนกรกฎาคมปีหน้านี้ โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมธิการความปลอดภัยนิวเคลียร์มีแผนที่จะต่ออายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กาโรนาออกไปอีกจนถึงปีพ.ศ.2562 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 120 ล้านยูโร (หรือ 153 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ไปกับการปรับปรุงด้านความปลอดภัยและความทันสมัย แต่แล้วก็ต้องยอมรับกับความพ่ายแพ้ในสัปดาห์นี้เอง สิ่งนี้ควรเป็นสัญญาณในการเริ่มต้นของอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนของสเปน รวมถึงเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของผู้รณรงค์ในประเทศสเปนหลังจากได้ยืนหยัดต่อสู้เพื่ออนาคตที่สดใสเช่นนี้มากว่า 20 ปี

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เราเห็นว่าอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ควรที่จะต้องยอมรับและปิดตัวลง รัฐบาลควรต้องหันมาสนับสนุนการประหยัดพลังงานควบคู่ไปกับพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่มีทางชนะได้เลย