กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

เล่าจากข่าว: การใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมประมงทูน่า

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“หากชาวอเมริกันและยูโรปกำลังกินปลาพวกนี้อยู่ พวกเขาควรนึกถึงพวกเรา และใต้มหาสมุทรที่เต็มไปด้วยภูเขาจากโครงกระดูก กระดูกของแรงงานที่อาจมีมหาศาลจนน่าจะเป็นเกาะแห่งหนึ่งได้ มันมีมากขนาดนั้น” แรงงานคนหนึ่งกล่าว

เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสำนักข่าวชื่อดัง เอพี และ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้สืบเสาะและเผยแพร่เรื่องราวการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศไทยและทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับตัวแทนจัดจำหน่ายดังที่ข่าวรายงาน คือ ไทยยูเนี่ยน เจ้าของแบรนด์ซีเล็ค ทูน่า รวมถึงแบรนด์ชื่อดังทั่วโลก อาทิ Petit Navire, John West, Chicken of the Sea, Century Tuna, และ Mareblu น่าตกใจที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลกจากประเทศไทยของเราเคยเกี่ยวข้องและยังคงเพิกเฉยกับการกระทำอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง

ขอบคุณภาพจาก นิวยอร์ค ไทม์ //www.nytimes.com

ขอบคุณภาพจาก นิวยอร์ค ไทม์ www.nytimes.com

จากรายงานข่าวของเอพี ระบุถึงสภาพการทำงานและการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมบนเรือประมงที่ทำการประมงในทะเลจีนใต้ โดยปลาที่จับมาได้นั้นจะส่งไปที่บริษัทแปรรูปอาหารทะเลและบรรจุกระป๋องชื่อ Songkla Canning Public Company ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไทยยูเนี่ยน  และอีกรายงานหนึ่งของเอพีเผยว่า หลังจากที่เอพีติดตามรถขนส่งปลาจากเรือประมงที่ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม พบว่ารถนั้นขนส่งให้กับบริษัท Niwat Co., ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จัดจำหน่ายให้กับไทยยูเนี่ยนอีกเช่นกัน

เรื่องราวที่ข่าวนำเสนอเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการตั้งคำถามให้สังคมตระหนักว่าอาหารทะเลที่เรากินนั้น มาจากการทำประมงที่ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ การกระทำรุนแรงต่อแรงงานนั้น ตามรายงานข่าวระบุว่า แรงงานบนเรือประมงถูกเตะ ทุบตี เฆี่ยนด้วยหางกระเบน และโยนศพทิ้งลงมหาสมุทรให้กับฝูงฉลาม หรือเก็บศพไว้รวมกับคอนเทรนเนอร์ขนปลา โดยจากการสัมภาษณ์ขององค์กรสหประชาชาติ เมื่อปี 2552 เผยว่า ผลการสอบถามแรงงานชาวประมงจากกัมพูชาที่ถูกค้าแรงงานบนเรือประมงสัญชาติไทย 29 คน จาก 50 คน กล่าวว่าพวกเขาเคยพบเห็นกัปตันเรือหรือเจ้าหน้าที่คนอื่นฆ่าคนงานบนเรือประมง

“ในอดีต ผู้คุมงานบนเรือเคยทิ้งศพแรงงานลงทะเลให้เป็นอาหารของฉลาม แต่หลังจากที่เจ้าหน้าที่และบริษัทเริ่มกำหนดให้ทุกคนที่ขึ้นเรือกลับมาขึ้นฝั่งครบจำนวน กัปตันเรือก็เริ่มหันมาเก็บศพในคอนเทรนเนอร์สำหรับขนปลา จนกระทั่งกลับขึ้นฝั่งประเทศอินโดนีเซีย” -- สำนักข่าวเอพีรายงานจากการสัมภาษณ์แรงงาน

ความเป็นอยู่อันโหดร้ายของแรงงานบนเรือประมง

สิ่งที่สำนักข่าวเอพี และนิวยอร์ก ไทมส์ ได้รับรู้จากการสืบเสาะเรื่องราวจากแรงงานประมงที่ทำการประมงในทะเลจีนใต้ คือแต่ละคนล้วนมีเรื่องราวของการถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป  แต่ส่วนใหญ่แล้วเรื่องราวของแรงงานบนเรือประมงเชิงอุตสาหกรรมจากในน่านน้ำประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย จากการสัมภาษณ์ของสำนักข่าวเอพี และนิวยอร์ก ไทมส์ นั้นมีที่มาที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่ได้พูดภาษาเดียวกันกับกัปตันเรือ ว่ายน้ำไม่เป็น และไม่เคยเห็นทะเลมาก่อนที่จะออกนอกชายฝั่งมาทำงานบนเรือ โดยจุดเริ่มต้นมักมาจากการถูกนายหน้าหลอกให้มาทำงาน ด้วยความหวังว่าเป็นงานที่ดีให้ผลตอบแทนสูง และหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าในดินแดนที่ไกลออกไป

แรงงานคนหนึ่งบอกเล่าผ่านนิวยอร์ก ไทมส์ว่า ก่อนที่จะขึ้นเรือ ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นผืนน้ำที่ใหญ่กว่าทะเลสาบมาก่อน และมีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่ว่ายน้ำเป็น และคนกลุ่มนั้นจำเป็นต้องรับผิดชอบในการดำน้ำลงไปในทะเลสีดำราวน้ำหมึก เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าปากอวนขนาด 50 ฟุตนั้นปิดสนิท หากว่ามีใครถูกอวนพันไว้ก็จะไม่สามารถขึ้นมาได้และก็เป็นไปได้ว่าจะไม่มีใครสังเกตเห็นโดยทันที

อาหารบนเรือใน 1 มื้อ ประกอบด้วยข้าวหนึ่งชาม ผสมกับปลาหมึกต้ม หรือปลาที่ถูกโยนทิ้งอื่นๆ ให้ดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และในห้องครัวหรือที่ต่างๆ ก็เต็มไปด้วยแมลงสาบ ห้องน้ำก็เป็นเพียงไม้กระดานที่เคลื่อนออกได้ ยามค่ำคืนสัตว์และแมลงก็มาตอมกินชามข้าวที่ไม่ได้ล้างของลูกเรือ ถูกบังคับให้ทำงานกะละ 20-22 ชั่วโมงต่อวันโดยไม่มีวันหยุดพัก บ้างก็ถูกเตะ ทุบตี หรือเฆี่ยนตีด้วยหางปลากระเบนที่มีพิษ หากบ่นหรือพยายามพักผ่อน ส่วนสถานที่นอนของแรงงานนั้นก็เป็นเพียงที่ร้อนๆ อยู่กันแออัด ไม่มีอากาศถ่ายเทเพียงพอ ได้เวลานอนเพียงสองชั่วโมง และมีเสียงเครื่องยนต์ของเรือดังสนั่นจนกระทั่งพื้นสั่นไหว บ่อยครั้งเครื่องยนต์ก็ปล่อยควันพิษสีดำออกมาในบริเวณสำหรับนอน

นอกจากจะได้ค่าตอบแทนเพียงน้อยนิดแล้ว “travel now, pay later” หรือทำงานก่อน จ่ายทีหลัง คือแนวคิดของการตอบแทนแรงงานบนเรือประมง สำนักข่าวเอพีระบุว่า แม้จะจับได้ปลาจำนวนมาก แต่แรงงานกลับไม่มีสิทธิกินปลาเหล่านั้นรวมถึงยังไม่รู้ว่าปลาที่พวกเขาจับมาได้นั้นจะถูกนำส่งไปยังที่ใด รู้เพียงแต่เป็นปลาที่มีมูลค่ามาก จึงไม่ได้รับอนุญาตให้กิน


ปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานเกิดขึ้นควบคู่กับการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) โดยเรือประมงที่ไม่สนใจต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจว่าการประมงที่ทำอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง หรือละเมิดกฏหมายใดบ้างของการประมง หนึ่งในวิธีการหลบซ่อนการประมงที่ผิดกฏหมายของตน และยืดเวลาที่เรือประมงจะอยู่ในน่านน้ำได้ คือการส่งสินค้าจากประเทศ A  ผ่านพรมแดนประเทศ B  ไปยังประเทศ C  โดยมีการขนถ่ายสินค้าในประเทศ B ในเขตปลอดภาษี  หรือถ่ายลำไปยังพาหนะลำเลียงอื่น แต่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากรของประเทศ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยเรือประมงเถื่อนของไทย หรือเรือจดทะเบียนถูกต้อง จะขนถ่ายสินค้าลงเรือแม่ที่จอดรอการขนถ่ายปลากลางทะเลจากเรือประมง หลังจากนั้นจะนำปลาทูน่ามาแปรรูป (นึ่ง/แช่แข็ง) และขนส่งไปยังท่าเรือของบริษัทแปรรูป โดยปลาเหล่านั้น ไม่ถูกจดบันทึกและรายงานไปยังเจ้าของน่านน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมการจับให้กับประเทศเจ้าของน่านน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การจับปลาที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมาย (Bycatch)ขึ้นมา ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก และปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ฉลาม เต่าทะเล และอื่นๆ วิธีนี้ เรียกว่า Transshipment การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและน้ำมันกลางทะเลนี่เองที่เอื้อให้เกิดปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน เนื่องจากแรงงานจะถูกบังคับให้อยู่กลางทะเลนานขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจนานเกินหนึ่งปี ปัญหาเกิดจากการควบคุมตรวจสอบของภาครัฐผ่านเอกสารเท่านั้น ซึ่งไม่ทั่วถึงพอ เอื้อต่อการทำผิดกฎหมาย ประกอบกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่ได้จากท้องทะเลนั้นเย้ายวนให้เกิดการกระทำการละเมิดสิทธิพื้นฐานของแรงงานขึ้น

ไทยยูเนี่ยนได้แถลงการณ์ตอบโต้ในประเด็นข่าวฉาวนี้ว่า “เราจำเป็นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับรองได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยนั้นปลอดจากการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม 100% ตลอดห่วงโซ่อุปทาน” และได้กล่าวกับสำนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์ว่า “เราจะไม่ยอมให้มีการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือการละเมิดสิทธินุษยชนในรูปแบบใดๆ” แต่อย่างไรก็ตาม นิวยอร์ก ไทมส์เผยเพิ่มเติมว่า ไทยยูเนี่ยนได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับการตรวจสอบบนเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้กับไทยยูเนี่ยน

สิ่งที่สำนักข่าวเอพีและนิวยอร์ก ไทมส์ รายงานเกี่ยวกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอาหารทะเลนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยในความจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่หากไทยยูเนี่ยนออกมาดำเนินการใช้นโยบายการตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของวัตถุดิบ และกระบวนการประมง อย่างจริงจังตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่การจับจากทะเลจนกระทั่งมาสู่กระป๋อง หันมาเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการประมงอย่างผิดกฎหมายที่เอื้อให้เกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน สิ่งสำคัญคือจะต้องแน่ใจว่าวัตถุดิบที่ได้มาในอุตสาหกรรมไทยยูเนี่ยนนั้นจะต้องไม่มาจากการลักลอบขนถ่ายสินค้าและสัตว์น้ำกลางทะเล (Transshipment) ซึ่งเป็นวิธีการเลี่ยงประมงผิดกฎหมาย เอื้อต่อการเกิดการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

"หากไทยยูเนี่ยนมีความตั้งใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จะนำไปสู่การขจัดการใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนหมดไปจากห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด มิใช่แต่เพียงการยกเลิกผู้จัดหาวัตถุดิบเพียงรายเดียว การรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตจากการใช้แรงงานทาสที่น้อยลงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่อาจยอมรับได้ ไทยยูเนี่ยนจะต้องเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างแท้จริงโดยมีมาตรการการตรวจสอบย้อนกลับในผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เรือต้นทางที่จัดหาวัตถุดิบไปถึงการวางจำหน่าย นอกจากนี้ ควรที่จะมีการตรวจสอบจากบุคคลภายนอกและการขึ้นตรวจเรือโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอ บริษัทควรเดินหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของวัตถุดิบนั้นมาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลิตภัณฑ์ทูน่าที่จัดจำหน่ายโดยไทยยูเนี่ยนจะต้องไม่มีแหล่งที่มาจากเรือลำอื่น หรือการขนถ่ายในทะเลซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการผิดกฎหมายและป้องกันการตรวจสอบย้อนกลับที่จำเป็นในการขจัดแรงงานทาสจากห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเล" นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ร่วมลงชื่อเพื่อรณรงค์ให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าสร้างความเป็นธรรมต่อแรงงาน และปกป้องมหาสมุทรที่นี่

อ่านเพิ่มเติม

  1. ‘Sea Slaves’: The Human Misery that Feeds Pets and Livestock.
  2. Consumers and Lawmakers Take Steps to End Forced Labor in Fishing
  3. AP Investigation: Are slaves catching the fish you buy?
  4. Seafood from slavery: Can Thailand tackle the crisis in its fishing industry?
  5. แรงงานทาส เบื้องหลังอาหารทะเลผลพวงจากการประมงเกินขนาด




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2558   
Last Update : 20 ตุลาคม 2558 19:49:07 น.   
Counter : 975 Pageviews.  


SEALECT ทูน่า …ทราบแล้วเปลี่ยน! เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อแรงงาน และมหาสมุทร

ทูน่ากระป๋องที่เรากินอาจไม่ได้ดีต่อสุขภาพของคน (แรงงานบนเรือประมง) และท้องทะเลดังคำโฆษณา และหนึ่งในแบรนด์ทูน่ากระป๋องชื่อดังอย่าง ซีเล็ค ทูน่า ของเครือไทยยูเนี่ยน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก เคยเกี่ยวข้องและยังคงเพิกเฉยกัวิธีการประมงแบบทำลายล้าง  และคร่าชีวิตสัตว์ทะเล อย่างฉลาม รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้อย่างไม่เป็นธรรมในห่วงโซ่อุปทาน แต่หากไทยยูเนี่ยนหันมาเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างความเป็นธรรมต่อแรงงานและมหาสมุทร อุตสาหกรรมปลาทูน่าทั่วโลกก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงตามได้ ด้วยการยกระดับมาตรฐานและหลักการปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรมจากบทบาทผู้นำระดับโลกของไทยยูเนี่ยน

แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่คนชอบกินปลาทูน่าจะต้องหันมาใส่ใจ และตั้งคำถามว่าปลาทูน่ากระป๋องที่เราหาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น มีที่มาที่ทำร้ายแรงงานบนเรือประมงและท้องทะเลหรือไม่

รู้จักกับไทยยูเนี่ยน และบทบาทความเป็นอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ไทยยูเนี่ยน เป็นผู้ผลิตทูน่ากระป๋องรายใหญ่ที่สุดของโลก ทูน่ากระป๋องทุก 5  กระป๋องที่ส่งสู่ตลาดโลก จะมี 1 กระป๋องมาจากไทยยูเนี่ยน และถูกนำมาจำหน่ายเป็นทูน่ากระป๋องที่หาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป นอกจากซีเล็ค ทูน่า ของไทยแล้ว ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ชื่อดังอื่นๆ ทั่วโลก อาทิ Petit Navire, John West, Chicken of the Sea, Century Tuna, และ Mareblu ในห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์เหล่านี้มีเบื้องหลังที่เชื่อมโยงกับการทำประมงอย่างไม่รับผิดชอบต่อมหาสมุทร และต่อแรงงานบนเรือประมง ซึ่งกรีนพีซได้ทำการสำรวจภาคสนามในหลายประเทศ และจัดอันดับทูน่ากระป๋องแบรนด์ต่างๆ พบว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องส่วนใหญ่ของไทยยูเนี่ยนที่ขายยังขาดหลักการพื้นฐานว่าด้วยความยั่งยืนและเป็นธรรม (ดูการจัดอันดับผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องทั่วโลกได้ที่นี่ และของประเทศไทยที่นี่) ไม่เพียงแค่แบรนด์ที่ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของ อย่างเช่น ซีเล็ค ทูน่า และ โอเชี่ยนเวฟ เท่านั้น แต่ยังมีแบรนด์ที่ไทยยูเนี่ยนจัดหาวัตถุดิบให้ อย่าง ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี และโฮมเฟรช มาร์ท ซึ่งนั่นหมายความว่าห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์เหล่านี้เคยเกี่ยวข้องและยังคงเพิกเฉยกับการกระทำอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างเช่นกัน

ซีเล็ค ทูน่ามีสัดส่วนการจำหน่ายถึงร้อยละ 43 ของตลาดทูน่ากระป๋องในประเทศ โดยจากการสอบถามเพื่อทำการจัดอันดับผลิตภัณฑ์กับแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋อง  ซีเล็ค ทูน่ามีจุดแข็งตรงที่การเลือกใช้ปลาทูน่าท้องแถบที่เป็นสายพันธุ์ที่ยังมีปริมาณอุดมสมบูรณ์มากสุด แต่กลับพบว่าได้มาจากวิธีการทำประมงที่ไม่ยั่งยืน คือการจับโดยใช้อวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา (FADs) ในปริมาณมากถึง 3 ใน 4

ในฐานะที่ซีเล็ค ทูน่า มีส่วนสำคัญหลักในการยกระดับอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องตลอดห่วงโซ่การผลิตของผู้ค้าปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทย และยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการการทำประมง การซื้อและจำหน่ายปลาทูน่าด้วยวิธีที่ถูกกฎหมาย ยั่งยืนและมีความเสมอภาค โอกาสนี้กรีนพีซจึงรณรงค์และผลักดันซีเล็ค ทูน่า เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะได้มั่นใจว่าปลาทูน่าเรากินกันนั้นไม่ได้มาจากการทำประมงแบบ IUU หรือเป็นปลาที่ถูกจับด้วยวิธีที่สร้างความเสียหายให้กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ และสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล 

ทูน่ากระป๋องของประเทศไทย กับสายพันธุ์ที่เรากินในทูน่ากระป๋อง

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก โดยสามารถสร้างรายได้ จากการส่งออกปลาทูน่าปีละหลายหมื่นล้านบาท และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งในไทยมีการนำเข้าปลาทูน่าท้องแถบมาใช้เป็นวัตถุดิบมากที่สุด และอันดับสองคือปลาทูน่าครีบเหลือง รองลงมาคือปลาทูน่าครีบยาว ส่วนสายพันธุ์ที่พบได้ในประเทศไทย คือ ปลาโอดำ และปลาโอลาย

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการนำเข้าวัตถุดิบของอุตสาหกรรมปลาทูน่าในประเทศไทยได้ที่นี่

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลการส่องออกของอุตสาหกรรมปลาทูน่าในประเทศไทยได้ที่นี่

วิธีการประมงแบบทำลายล้างในห่วงโซ่อุปทานที่ไทยยูเนี่ยนมีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเชื่อมโยงกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม  การประมงผิดกฎหมาย และการทำลายระบบนิเวศทางทะเล โดยทางไทยยูเนี่ยนออกมากล่าวว่า “ปริมาณปลาของไทยจัดอยู่ในขั้นวิกฤต ถึงแม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางทรัพยากรในอ่าวไทยและทะเลอันดามันก็ตาม” วิธีการทำประมงปลาทูน่าของไทยยูเนี่ยน

แม้ว่าสายพันธุ์หลักที่เป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องในแบรนด์ต่างๆ ของไทยยูเนี่ยน คือพันธุ์ปลาทูน่าท้องแถบ แต่ยังมีการประมงปลาทูน่าสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย คือ ปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาทูน่าครีบยาว ปลาทูน่าตาโต และปลาโอดำ ซึ่งบางส่วนนั้นมาจากการประมงเกินขนาด และการประมงด้วยเครื่องมือที่ทำลายล้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้อวนล้อมควบคู่กับอุปกรณ์ล่อปลา (FADs) และเบ็ดราว โดยปลาทูน่าตาโตนั้น สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดอยู่ในสายพันธุ์ที่เสี่ยง ส่วนปลาทูน่าครีบเหลือง และปลาทูน่าครีบยาว ถูกจัดไว้ในข่ายใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) หากไทยยูเนี่ยนซึ่งเป็นอุตสหกรรมทูน่าอันดับหนึ่งของโลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดหาวัตถุดิบของตน อาจเป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุที่ปลาทูน่าสายพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้หมดสิ้นไปได้

วิธีการประมงแบบทำลายล้างเช่นนี้ ทำให้นอกจากปลาทูน่าเป้าหมายแล้ว ยังมีสัตว์ทะเลชนิดอื่น เช่น ฉลาม เต่า และกระเบน ถูกคร่าชีวิตไปด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้นการประมงปลาทูน่าอย่างไร้ความรับผิดชอบ ยังเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากใช้วิธีหลบเลี่ยงด้วยการขนถ่ายกลางทะเล (Transshipment)

แต่อุตสาหกรรมปลาทูน่าที่เป็นปัญหานี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แรงงานบนเรือประมงและในสายพานการผลิตต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ทะเลและมหาสมุทรจำต้องได้รับการปกป้อง ผู้บริโภคทุกคนควรมีข้อมูลที่โปร่งใสและชัดเจนเพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋อง  แทนที่จะเพิกเฉยต่อความจริง นี่คือโอกาสของซีเล็ค ทูน่า และไทยยูเนี่ยน ในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อความเป็นธรรมต่อแรงงานและปกป้องมหาสมุทร

หากไทย ยูเนี่ยนสร้างความโปร่งใสและมีภาระรับผิดตลอดห่วงโซ่อุปทานของตน เรือประมงทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงทำลายล้าง รวมถึงการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมก็ไม่อาจเข้าถึงตลาดชั้นนำในอเมริกาเหนือ และยุโรปได้

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์ระดับโลก และสร้างความเป็นธรรมต่อแรงงานและปกป้องมหาสมุทร


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/sealect/blog/54388/




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2558   
Last Update : 16 ตุลาคม 2558 13:40:42 น.   
Counter : 1127 Pageviews.  


Not Just Tuna อะไรอยู่ในกระป๋อง: ความจริงเบื้องหลังอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมปลาทูน่า

การประมงปลาทูน่าระดับโลกกำลังอยู่เหนือการควบคุม อุตสาหกรรมปลาทูน่าทำให้ปลาในมหาสมุทรของเราหร่อยหรอลง ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในทะเล และมีการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน ซึ่งในบางกรณีก็ร้ายแรงจนน่าตกใจ

แรงงานบนเรือประมงยังคงถูกกดขี่ ถูกละเมิดสิทธิที่พึงได้รับ หรือแม้กระทั่งถูกบังคับให้ทำงานบนเรือเป็นเวลาหลายเดือน หรือแรมปีโดยที่ไม่ได้กลับเข้าฝั่ง วิธีการประมงทูน่าที่ใช้กันอยู่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล  อาทิ ฉลาม และเต่า ปลาทูน่าที่จับได้ถูกเก็บรวมกับคอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าเดียวกันกับที่ใช้เก็บน้ำมันดีเซลสกปรกที่ใช้ในเรือ จากนั้นส่งต่อตามห่วงโซ่อุปทานมายังผู้บริโภค

ขณะนี้ ไทยยูเนี่ยน อุตสาหกรรมปลาทูน่าชื่อดังระดับโลก ได้เปิดตัวโลโก้ และแคมเปญประชาสัมพันธ์ใหม่ เรียกว่า “One Future”  เพื่อโน้มน้าวให้ทุกคนเห็นว่าชื่อเสียงและการปฏิบัติงานของบริษัทนั้นไร้ข้อกังขา แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับไร้อนาคตสำหรับปลาทูน่า และคนงานบนเรือจำนวนมากที่ถูกบังคับใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม หากไทยยูเนียนยังคงไม่แก้ไขปัญหาเหล่านี้ในห่วงโซ่อุปทานของตน และหันมาร่วมปกป้องมหาสมุทร

เราต้องการมากกว่าโลโก้และวิสัยทัศน์ที่ไม่หนักแน่น ด้วยเหตุนี้ กรีนพีซยื่นจดหมายถึงไทยยูเนี่ยน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา แจ้งให้ทราบว่า กรีนพีซกำลังเปิดตัวงานรณรงค์ระดับโลก เรียกร้องให้ไทยยูเนี่ยนดำเนินการแก้ไขปัญหาประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ตลอดห่วงโซ่อุปทาน กรีนพีซจะทำงานเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่ามีปัญหาอะไรซุกซ่อนอยู่ในทูน่ากระป๋องที่ตนซื้อ

ในแบรนด์ที่อยู่ในสายการผลิตของไทยยูเนี่ยนทั้งหมด ตั้งแต่ซีเล็คทูน่า ในประเทศไทย ชิกเก้นออฟเดอะซีในสหรัฐอเมริกา และจอห์นเวสต์ในสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ กรีนพีซยังส่งจดหมายถึงบริษัทในเครือของไทยยูเนี่ยน และผู้ลงทุนทั่วโลกเตือนถึงความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เป็นผลพวงมาจากการใช้วิธีการทำประมงแบบทำลายล้าง

ถึงเวลาที่ไทยยูเนี่ยนจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่ในการจะทำเช่นนั้นได้ ผู้บริหารระดับสูงของไทยยูเนี่ยนต้องรับรู้ถึงแรงกดดันและพลังของผู้บริโภคและประชาชนทั่วโลก 

ไทยยูเนี่ยนสามารถเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมปลาทูน่าระดับโลกได้ด้วยการผลิตอาหารทะเลที่ได้มาด้วยกระบวนการที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ด้วยความเป็นอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างไทยยูเนี่ยน การเข้าถึงผู้บริโภค และความสามารถในการระดมทรัพยากร หมายถึงความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงของไทยยูเนี่ยน ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการประมงปลาทูน่าระดับโลกได้มากเท่าที่ต้องการ

ที่ผ่านมากรีนพีซได้ผลักดันให้แบรนด์ปลาทูน่ากระป๋องชั้นนำในตลาดหลักๆ  อย่างสหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย หันมาทำให้ห่วงโซ่อุปทานปลอดจากเบื้องหลังที่ทำร้ายมหาสมุทร ขณะนี้เรากำลังต่อกรอยู่กับอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดของโลก และบริษัทในเครือต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก การรณรงค์ครั้งนี้ต้องอาศัยพลังจากทุกคน  แต่หากเราสามารถเปลี่ยนแปลงไทยยูเนี่ยนได้ เราก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงการดำเนินการของอุตสาหกรรมปลาทูน่าทั้งหมดทั่วโลกได้เช่นกัน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานรณรงค์ระดับโลก และร่วมผลักดันให้ไทยยูเนี่ยนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อแรงงานและปกป้องมหาสมุทร

Graham Forbes - Global Seafood Markets Project Leader กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/not-just-tuna/blog/54313/




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2558   
Last Update : 15 ตุลาคม 2558 10:47:17 น.   
Counter : 901 Pageviews.  


ทราบแล้วเปลี่ยน! ทูน่ากระป๋องในไทยยังห่างไกลต่อการตรวจสอบย้อนกลับและความเป็นธรรม

เมื่อกรีนพีซจัดอันดับทูน่ากระป๋องของแบรนด์ต่างๆ ในไทย สิ่งที่พบคือ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องส่วนใหญ่ที่ขายยังขาดหลักการพื้นฐานว่าด้วยความยั่งยืนและเป็นธรรม แต่หากแบรนด์เหล่านี้เป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับนโยบายในการตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดห่วงโซ่อุปทานแล้ว ภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทยที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้นของโลกนั้นจะต้องเติบโตไปในทิศทางที่ยั่งยืน ไม่ทำร้ายท้องทะเลหรือเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

การตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน และความเป็นธรรม คือประเด็นสำคัญที่ยังขาดหายไปในนโยบายการจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์ทูน่ากระป๋อง ในวันนี้ (29 กันยายน 2558) กรีนพีซได้เปิดเผย รายงาน “จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย” ซึ่งเป็นการประเมินแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่ขายในประเทศและแบรนด์ที่ขายเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งหมด 14 แบรนด์ โดยพบว่ามี 5 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ “ควรปรับปรุง” และ 9 แบรนด์อยู่ในเกณฑ์ “พอใช้”  แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ควรปรับปรุงและอยู่ในอันดับรั้งท้าย ได้แก่ ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี โฮม เฟรช มาร์ท และโรซ่า จากการตรวจสอบทั้ง 14 แบรนด์ไม่มีแบรนด์ใดเลยที่ได้รับคะแนน “ดี” แสดงให้เห็นว่า แต่ละแบรนด์ต้องพยายามมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน


ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปลาทูน่าปรุงสุกเป็นอันดับต้นของโลก (ร้อยละ 53 ของสัดส่วนทั่วโลก) มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง และสหภาพยุโรปเป็นอันดับสอง รวมถึงมีการนำเข้าราวเกือบ 600,000 ตันต่อปี จากประเทศต่างๆ อย่างไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ไปจนถึงมัลดีฟ  เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงปลาทูน่าโลกทว่าเรากำลังถูกจับตามองในประเด็นด้านวิกฤตทะเลจากปัญหาการทำประมง ข่าวและรายงานหลายฉบับในระยะนี้ระบุว่าประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประมงผิดกฎหมาย และการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมด้านสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่ออุปทานอาหารทะเล ข้อมูลเหล่านี้ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ จัดให้ไทยอยู่ในเทียร์ 3 และได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ซึ่งอุตสาหกรรมปลาทูน่าคือหนึ่งในสาเหตุของวิกฤตทะเล

อุตสาหกรรมปลาทูน่ามีมูลค่าหมื่นล้านเหรียญ คิดเป็นร้อยละ 8 ของการค้าอาหารทะเลโลก และเป็น 1 ใน 5 ของอาหารทะเลที่มีการบริโภคทั่วโลก เพียงในปี 2556 ที่ผ่านมาทั่วโลกมีการจับปลาทูน่าได้  4.6 ล้านตัน ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้มหาศาล ในทางเดียวกันหากขาดนโยบายและมาตรการตรวจสอบย้อนกลับที่เข้มแข็ง จะทำให้มหาสมุทรของเราต้องเผชิญกับปัญหาการทำประมงเกินขนาด การประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฎหมาย  รายงานฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางให้ภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่ามีนโยบายและผลิตภัณฑ์ที่มาจากการทำประมงที่ยั่งยืน เพื่อให้คนซื้อและคนกินปลาทูน่าได้รับทราบ เพราะผู้บริโภคมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลว่าทูน่ากระป๋องผ่านอะไรมาบ้าง กว่าจะมาถึงมือเรา

การจัดอันดับความยั่งยืนปลาทูน่ากระป๋องในไทยประเมินจากการส่งแบบสอบถามที่ส่งไปยังผู้ผลิตทั้ง 14 แบรนด์ โดยสอบถามถึงนโยบายและการปฎิบัติในการจัดหาวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า รวมถึงเครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับปลาทูน่าว่ามีการทำลายทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น การจับฉลามเพื่อเอาครีบหรือไม่ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ถึงแหล่งที่มาได้หรือไม่ นอกจากนี้ ยังสอบถามถึงความเป็นธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมของในแต่ละแบรนด์  สภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และการปฎิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในอุตสาหกรรมปลาทูน่า

แล้วแบรนด์ไหนที่อยู่ในเกณฑ์ระดับ “ดี” ?

ในกระบวนการวิจัยกรีนพีซได้ส่งจดหมายไปขอความร่วมมือการจัดอันดับผลิตภัณฑ์กับแบรนด์ปลาทูน่ากระป๋อง 14 แบรนด์ โดยส่วนมากแล้วแบรนด์ต่างๆ ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามเป็นอย่างดี แต่ผลจากการจัดอันดับปรากฎว่าไม่พบแบรนด์ใดเลยจาก 14 แบรนด์ ที่มีเกณฑ์ระดับ “ดี” เนื่องจากข้อมูลหลายๆ อย่างยังไม่สามารถเปิดเผยกับผู้บริโภคได้ รวมถึงชนิดพันธุ์ กระบวนการจับ และความเป็นธรรมของการปฏิบัติต่อแรงงาน แสดงให้เห็นว่ายังมีปัญหาในการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งการประเมินการจัดอันดับจากข้อมูลของผู้ประกอบการนี้เป็นเสมือนกระจกสะท้อน ว่ามีสิ่งใดที่บริษัทสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้าง เพื่อลดช่องว่างในการเกิดปัญหาต่างๆ

จากการจัดอันดับพบว่า ทีซีบี ได้รับคะแนนสูงสุดกว่าแบรนด์อื่น แต่ยังไม่ได้จัดอยู่ในระดับที่ “ ดี” ทีซีบี ทำคะแนนมากในด้านการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์มีนโยบายในเรื่องแหล่งที่มา อย่างไรก็ตาม ทีซีบี ยังต้องปรับปรุงในด้านความยั่งยืนและเป็นธรรม เนื่องจากใช้ปลาทูน่าครีบเหลืองและปลาทูน่า Tonggol ซึ่งทั้งสองสายพันธุ์นี้มีปัญหาในเรื่องจำนวนประชากรรวม และการจับปลาทูน่าทั้งสองสายพันธุ์นี้ถูกจับมาด้วยวิธีการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยใช้อวนล้อมร่วมกันกับเครืองมือล่อปลา (FAD) ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหาของการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย

ห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่าระดับโลกมีความซับซ้อนมาก และยังคงซุกซ่อนเบื้องหลังอย่างปัญหาการจับปลาที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมาย การละเมิดสิทธิแรงงาน และการขนถ่ายทางทะเล รายงาน “จากทะเลสู่กระป๋อง: การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย” จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยให้อุตสาหกรรมทูน่าในหลายประเทศลงมือเปลี่ยนแปลง เริ่มจากมาตรการตรวจสอบย้อนกลับเป็นพื้นฐาน รวมถึงเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคว่า ควรสนับสนุนสินค้าปลาทูน่ากระป๋องจากแบรนด์ใด คิดก่อนเลือกซื้อ เพราะพลังของผู้บริโภคมีความสำคัญในการทำให้มหาสมุทรของเรายั่งยืนต่อไป

“เป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมปลาทูน่าที่จะทำประเด็นเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับ อันเกี่ยวข้องกับการปลดใบเหลืองอียู โดยการตรวจสอบย้อนกลับนี้จะช่วยส่งเสริมความยั่งยืน ความเป็นธรรม เพราะอุตสาหกรรมทูน่าของไทยเชื่อมโยงกันในระดับโลก ไทยจึงควรปรับปรุงภาพลักษณ์ของบริษัท ของอุตสาหกรรม หันมาเป็นเจ้าอุตสาหกรรมปลาทูน่าของโลกผู้พัฒนาไปในทิศทางที่ยั่งยืน ปกป้องดูแลมหาสมุทรของเรา และจัดหาปลาทูน่าให้กับบริโภคได้อย่างยั่งยืนและเป็นธรรมอย่างแท้จริง” นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

“การขาดการตรวจสอบย้อนกลับ และความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานทูน่ายังเป็นปัญหาที่พบในประเทศไทย เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีบทบาทในตลาด อุตสาหกรรมปลาทูน่าและอาหารทะเลจะต้องส่งเสริมมาตรฐานด้านแรงงาน และการตรวจสอบย้อนกลับให้เข้มแข็งโดยการพัฒนานโยบายการจัดหาวัตถุดิบที่สาธารณะชนเข้าถึงได้และทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ  การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สร้างความเสียหายต่อมหาสมุทรของเราก็จะหมายถึงความเสียหายสำหรับธุรกิจด้วย ผู้บริโภคก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืนและความเป็นธรรม” อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวสรุป

จากทะเลสู่กระป๋อง คือเส้นทางที่ผู้บริโภคทุกคนควรต้องรับรู้ถึงที่มาของปลาทูน่ากระป๋อง เพื่อให้แน่ใจว่าปลาทูน่าที่เราเลือกกินนั้นไม่ได้มีเบื้องหลังที่สร้างปัญหาให้กับท้องทะเล และไม่เป็นธรรมในด้านแรงงาน ผู้บริโภคอย่างเราสามารถร่วมกันเป็นพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง และผลักดันให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าใช้โอกาสนี้ร่วมแก้ปัญหา เพื่ออนุรักษ์ปลาทูน่าและทรัพยากรทางทะเลให้เราได้มีกินมีใช้อย่างยั่งยืน

อ่านรายงาน “จากทะเลสู่กระป๋อง : การจัดอันความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย” ฉบับเต็มได้ที่ www.greenpeace.or.th/s/Thailand-canned-tuna-ranking


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/54255/




 

Create Date : 14 ตุลาคม 2558   
Last Update : 15 ตุลาคม 2558 10:51:16 น.   
Counter : 1181 Pageviews.  


คุณรู้ไหมว่าอะไรอยู่ใน “ทูน่ากระป๋อง” ?

เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์


ทูน่ากระป๋อง น่าจะเป็นอาหารอันดับแรกๆ ที่คนกินอาหารทะเลสามารถหาซื้อได้ง่ายตามซูเปอร์มาร์เก็ต แต่คุณรู้ไหมก่อนที่ปลาทูน่าจะมาอยู่ในกระป๋องนั้นมีที่มาที่ไปและมีเบื้องหลังอย่างไรบ้าง หากอุตสาหกรรมปลาทูน่าและบริษัทจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไม่มีนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถระบุถึงที่มาของปลาทูน่าและการทำประมง  ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่าปลาทูน่าที่เรากินนั้นเชื่อมโยงกับวิกฤตทะเลไทยและมหาสมุทรโลกของเราอย่างไร ซึ่งผู้บริโภคเองก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างปัญหาเหล่านี้ให้กับท้องทะเลโดยไม่รู้ตัว แต่หากผู้บริโภครับทราบข้อเท็จจริง ก็จะสามารถเป็นพลังหนึ่งในการกอบกู้วิกฤตนี้ได้ เพราะในขณะนี้ปลาทูน่ากำลังเหลือปริมาณน้อยลงไปทุกที

ปลาทูน่าเป็นหนึ่งในพันธุ์ปลาซึ่งเป็นที่นิยม และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก แต่ความต้องการบริโภคในระดับโลกเช่นนี้ทำให้มหาสมุทรของเราต้องเผชิญกับปัญหาการทำประมงเกินขนาด การประมงแบบทำลายล้าง และการประมงผิดกฎหมาย จนปัจจุบันนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกตอนกลางมีปลาทูน่าตาโตหลงเหลืออยู่เพียงร้อยละ 16 เท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นเพียงหนึ่งในตัวเลขประชากรปลาทูน่าที่ลดลงอย่างน่าใจหาย จากการที่ปลาทูน่าไม่ได้ถูกจัดหามาจากแหล่งประมงที่มีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม

เทคนิคการจับปลาทูน่าที่เป็นสาเหตุการทำลายล้างมหาสมุทรของเรา

“ยังมีสัตว์ทะเลอีกหลายสายพันธุ์ที่ถูกฆ่าทิ้งพร้อมๆกับการจับทูน่าพันธุ์ท้องแถบเพื่อทำทูน่ากระป๋อง สัตว์ทะเลที่ถูกฆ่าเหล่านั้นมีจำนวนมากพอๆกับรายชื่อสัตว์ทั้งหมดในภาพยนต์ Finding Nemo” -- ชารล์ส โคลเวอร์ ผู้เขียนหนังสือ The End of the Line

การประมงพาณิชย์ที่จับปลาทูน่าจำนวนมากด้วยการประมงแบบทำลายล้างนั้นสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับมหาสมุทรของเรา การประมงปลาทูน่าที่ไร้ความรับผิดชอบและทำลายล้างนั้นมีเครื่องมือหลักๆ คือ การประมงอวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา FADs และเบ็ดราว


อวนล้อมเป็นลักษณะเหมือนกำแพงตาข่ายล้อมวงเป็นถุงขนาดใหญ่และมีห่วงมัดด้านล่างเพื่อจับ ซึ่งบางครั้งก็มีปลาชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมายรวมอยู่ด้วย หากอวนล้อมถูกใช้ร่วมกับเครื่องมือล่อปลา (Fish Aggregating Device; FADs) จะยิ่งทำให้เกิดการจับแบบทำลายล้างมากยิ่งขึ้น โดยประมาณร้อยละ 60 ของทูน่ากระป๋องในโลกนั้น ถูกจับโดยวิธีการใช้อวนล้อมจับร่วมกับเครื่องมือล่อปลา ซึ่งเป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงฉลามและเต่ามารวมกลุ่มกัน แล้วเครื่องโซน่าหรือเครื่องตรวจจับฝูงปลาจะส่งสัญญาณดาวเทียมไปยังเรือประมงเพื่อมาล้อมจับเอาฝูงปลาทั้งฝูง FADs เป็นอุปกรณ์เลี่ยงอัตราควบคุมจำนวนเรือ เมื่อถูกควบคุมจำนวนเรือ ก็หันไปติดตั้ง FADs แทนได้นับร้อยเพื่อล่อปลาทูน่า

การนำอวนมาล้อมจับใต้เครื่องมือล่อปลาทำให้สัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมายจำนวน 2.7-6.7 เท่า ของจำนวนปลาทูน่าที่จับได้ต้องตกเป็นเหยื่อ โดยที่ปลาทูน่าที่จับได้ส่วนใหญ่ยังเป็นลูกปลา อีกทั้งเครื่องมือล่อปลายังเป็นขยะในท้องทะเล มักถูกพัดพาไปติดอยู่กับปะการังอีกด้วย


นอกจากนี้ยังมีการใช้เบ็ดราวเพื่อจับปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า และมีมูลค่าสูงกว่า ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีจับปลาที่แย่ที่สุดในโลก เบ็ดราวทำงานโดยการวางสายเบ็ดจากเรือจับปลาทูน่าที่ยาวถึง 170 กิโลเมตร หรือ 105 ไมล์ ที่มีขอเบ็ดเกี่ยวอยู่ตลอดสาย ปัญหาคือปลาทะเลขนาดใหญ่ ฉลาม นกทะเล เต่าและสิ่งมีชีวิตในทะเลอื่นๆ ถูกจับติดกับสายเบ็ด ในหนึ่งปีมีเต่าทะเลถูกจับมากกว่า 300,000 ตัว และนกทะเลกว่า 160,000 ตัวต้องมาจบชีวิตลง 

ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ การประมงปลาทูน่าอย่างไร้ความรับผิดชอบ ยังเป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่ามีการใช้แรงงานทาสบนเรือประมงใน 50 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย การละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง มักเชื่อมโยงกับการทำประมงปลาทูน่าที่ผิดกฎหมาย แรงงานประมงปลาทูน่าต้องทำงานในสภาพแย่บนเรือประมงเบ็ดราว โดยปราศจากสุขอนามัย ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย หรือรุนแรงถึงกับถูกฆ่า ซึ่งในบางกรณีถูกทิ้งไว้ในทะเลยาวนานบางทีถึงแรมปี และต้องทำงานยาวนานโดยแทบจะไม่ได้ค่าตอบแทนอะไร

ประมงเบ็ดราวส่วนมากจะขนถ่ายปลาที่จับได้กลางทะเล แทนที่จะกลับเข้าหาฝั่ง เป็นวิธีหลบเลี่ยงที่เรียกว่า การขนถ่ายกลางทะเล (Transshipment) ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้ปลาที่ถูกจับอย่างผิดกฏหมายสามารถเล็ดลอดเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน และถ้าเรือประมงไม่กลับเข้าท่าเรือเป็นแรมปี แรงงานที่ถูกกระทำรุนแรงก็จะไม่อาจติดต่อสื่อสารถึงภายนอกได้

นโยบายการตรวจสอบย้อนกลับ คือทางออกของวิกฤตทูน่า

ปัญหาจากอุตสาหกรรมปลาทูน่านั้นมีหนทางแก้ไขได้ โดยการแก้ปัญหานั้นหมายถึง การประมงที่มีความเป็นธรรมและยั่งยืน นั่นหมายถึงบริษัททูน่ากระป๋องจะต้องมีนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับตลอดการดำเนินการในห่วงโซ่อาหาร ที่สามารถระบุถึงตั้งแต่แหล่งที่มาของปลาทูน่าและการทำประมง ไปจนถึงการวางจำหน่ายในชั้นวางสินค้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจได้ว่า ปลาทูน่าที่เราเลือกซื้อมาจากแหล่งที่มีประชากรปลาทูน่าจำนวนมากพอ เป็นชนิดที่ยังไม่ใกล้สูญพันธุ์ มาจากการทำประมงอย่างรับผิดชอบ ตลอดจนมีมาตรฐานที่เข้มแข็งทางด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน มีการรายงานการเข้าออกจากฝั่งของเรือ รวมถึงลดการขนถ่ายกลางทะเลที่เอื้อให้เกิดช่องโหว่ในการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งอุตสาหกรรมปลาทูน่าควรใช้โอกาสนี้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันแก้ไขปัญหา

อุตสาหกรรมปลาทูน่าที่ดีหมายถึงการสนับสนุนวิธีการทำประมงที่เหมาะสมและมีความยั่งยืนมากกว่า เช่น การใช้เบ็ดตวัด และปลอดจากการใช้อวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา โดยผู้บริโภคอย่างเราคือพลังสำคัญที่จะแก้ไขวิกฤตปลาทูน่านี้ ด้วยการผลักดันให้บริษัทจัดจำหน่ายทูน่ากระป๋องมีนโยบายตรวจสอบย้อนกลับ ไม่เลือกซื้อเลือกกินปลาทูน่าที่ไม่แน่ใจถึงแหล่งที่มาและวิธีการจับ ไม่บริโภคปลาทูน่าที่ใกล้สูญพันธุ์ คนกินปลาอย่างเราจะได้ไม่เป็นหนึ่งในสาเหตุการทำร้ายมหาสมุทร และหันมาเป็นพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เพื่ออนาคตของปลาทูน่าอาหารแสนอร่อยของคนทั่วโลก และอนาคตของมหาสมุทรของเรา


ที่มา: //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/54225/




 

Create Date : 12 ตุลาคม 2558   
Last Update : 15 ตุลาคม 2558 10:52:13 น.   
Counter : 6071 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com