กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

เปิดสวิตช์พลังงานหมุนเวียน เทรนด์ใหม่ที่กำลังเบ่งบานในโลกธุรกิจ

ปี 2558 นี้ดูเหมือนจะเป็นปีที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับด้านพลังงานของโลก ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นของหลายประเทศ แต่ที่น่าสนใจคือการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ชื่อดังหลายแห่งต่างเรียงแถวหันมาลงทุนกับพลังงานหมุนเวียนอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็น Apple, IKEA และ Google บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกกำลังเดินหน้าลดคาร์บอนอย่างเต็มที่ เห็นได้ชัดว่าอนาคตของพลังงานหมุนเวียนนั้นกำลังสดใสเป็นพิเศษ

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจากการที่ประเทศจีนเริ่มหันเหทิศทางสู่พลังงานหมุนเวียนเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันพิษ ทิศทางลมของประเทศเดนมาร์กก็น่าสนใจกับการที่เดนมาร์กสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้มากถึงร้อยละ 39.1 จากความต้องการพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ซึ่งอยู่ในเป้าหมายของการเป็น “สังคมปลอดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล” ภายในปี 2563 แม้แต่ประเทศที่มีปัญหาด้านพลังงานอย่างแอฟริกาก็เริ่มหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนกับหนึ่งในโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุด ณ ภูมิภาคตอนใต้ของทะเลทรายสะฮารา ประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็สดใสไม่แพ้กัน โดยที่มีการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 30 ซึ่งหมายถึงการสร้างงานมากขึ้นถึง 174,000 ตำแหน่งเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 36,000 ตำแหน่งภายในปี 2558 นี้ พลังงานหมุนเวียนสร้างโอกาสและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับภาคธุรกิจและภาครัฐ นี่เองคือสาเหตุสำคัญที่บริษัทชั้นนำของโลกกำลังเดินหน้าปฏิวัติสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง

Google ทุ่มสุดตัวเพื่อโครงการพลังงานหมุนเวียน

หลังจากที่ปี 2550 Google ได้ริเริ่มโครงการ Renewable Energy Cheaper than Coal (พลังงานหมุนเวียนถูกกว่าถ่านหิน) เพื่อพยายามลดต้นทุนของพลังงานหมุนเวียน แม้ว่า Google จะไม่ได้ดำเนินโครงการนี้ต่อ แต่ยังคงสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้าและสร้างอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน โครงการเหล่านี้มีทั้งพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ ที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับครัวเรือนในเมืองต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาใต้ตามโครงการ REIPPPP ของรัฐ

ล่าสุดนี้ Google ได้ทำสัญญาร่วมกันบริษัท SolarCity กับการลงทุน 300 เหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนโซลาร์เซลล์สำหรับผลิตไฟฟ้าให้กับอย่างน้อย 25,000 หลังคาเรือน การลงทุนในครั้งนี้จะเป็นการเร่งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับ 15 รัฐ ของอเมริกาภายในเวลา 12 เดือน ถือเป็นการลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดของ Google

“หวังว่าการลงทุนของ Google ในครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทอื่นหันมาลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน” ลินดอน รีฟ ประธานบริหารของบริษัท Solar City กล่าว

ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ของ Google ที่ ทะเลทรายโมฮาวี ทางใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียติดกับเนอวานา
ขอบคุณรูปจาก reuters.com

นอกจากนี้ Google มีแผนที่จะใช้ไฟฟ้าจากพลังงานลมทั้งหมดสำหรับสำนักงานใหญ่ภายในปี 2559  ขณะนี้โครงการทั้งหมดของ Google ผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 2.5 กิกะวัตต์ต่อปี จากการลงทุนไปทั้งสิ้นกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต้องปรบมือชื่นชมให้กับความยอดเยี่ยมและทุ่มเทของ Google จริงๆ อ่านโครงการทั้งหมดของ Google ได้ที่นี่

Apple พลังเทคโนโลยีสีเขียวเพื่ออนาคต

ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครยอมใคร แม้กระทั่งในเรื่องของการก้าวกระโดดเข้าสู่โครงการพลังงานหมุนเวียนระดับยักษ์ บริษัท Apple ล่าสุดได้ลงทุนไปกับโครงการพลังงานหมุนเวียนมูลค่า 848 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซื้อโครงการของ California Flats Solar Projects ซึ่งปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้า 130 เมกะวัตต์ แต่เมื่อเสร็จสิ้นแล้วจะสามารถผลิดไฟฟ้าได้มากถึง 280 เมกะวัตต์ ซึ่งมากพอที่จะจ่ายไฟให้กับ 1 แสนครัวเรือน ด้วยโซลาร์เซลล์บนพื้นที่กว่า 2,900 เอเคอร์

ทิม คุก ซีอีโอของ Apple กล่าวไว้ว่า “เราทุกคนที่ Apple รู้ว่าวิกฤตโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริง หมดเวลาพูดแล้วและถึงเวลาลงมือทำ ขณะนี้ศูนย์ข้อมูลของเราทั้งหมดได้ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว”

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ Apple ได้กล่าวว่า ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ในรัฐอริโซนา จะใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด ซึ่ง Apple ได้ลงทุนกับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์นี้ไป 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สามารถผลิตพลังงานได้ 70 เมกะวัตต์ เพียงพอกับการจ่ายไฟฟ้าให้กับ14,500 ครัวเรือนในรัฐอริโซนา

ภาพจาก usnews.com

“การพูดว่าจะเป็นบริษัทที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความมุ่งมั่นและลงมือทำอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่ Apple ทำได้อย่างโดดเด่นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ถึงแม้จะยังต้องทำอีกมากเพื่อลดรอยเท้าผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่บริษัทสร้าง แต่การเดินหน้าสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มที่นี้ถือเป็นการต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนที่ต้องการการลงมืออย่างเร่งด่วนได้เป็นอย่างดี” แกรี คุก ผู้วิเคราะห์นโยบายเทคโนโลยีอาวุโสของกรีนพีซสากล กล่าว 

Ikea เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของทุกคน

“ความยั่งยืนคือปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญของกลยุทธ์ทางธุรกิจของเรา เรามองเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาธุรกิจ” Peter Agnefjäll ประธานและซีอีโอของบริษัท Ikea กล่าว “นี่เป็นเหตุผลที่เรามุ่งมั่นสู่เป้าหมายความยั่งยืน 100% ไม่ว่าจะเป็นไฟ LED วัตถุดิบการผลิต รวมถึงพลังงานหมุนเวียน เรามุ่งหมายที่จะพัฒนา Ikea โดยที่สร้างผลกระทบทางบวกให้กับผู้คนและโลกของเรา”

ภาพจาก //www.energy-today.biz

บริษัทเฟอร์นิเจอร์น่ารักๆ สัญชาติสวีเดนอย่าง Ikea เองก็วางเป้าหมายลงทุนมูลค่า 1.72 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กับโครงการพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2558 ตามเจตนารมย์มุ่งสู่ความยั่งยืน และลดคาร์บอนของบริษัท โดยที่มุ่งจะผลิตพลังงานหมุนเวียนให้ได้สัดส่วนมากกว่าพลังงานที่ใช้ทั้งหมดภายในปี 2563  จวบจนปี 2557 Ikea ได้ติดตั้งกังหันลมไปทั้งหมด 224 เครื่อง และโซลาร์เซลล์ 700,000 แผง ทำให้ร้าน Ikea ที่สหรัฐอเมริกานั้นใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากถึงร้อยละ 90 จากจำนวนร้านทั้งหมดในในปัจจุบัน

แม้แต่บริษัทรถยนต์ของอเมริกา GM Motors ก็ยังหันมามุ่งมั่นสร้างฟาร์มกังหันลมสำหรับผลิตไฟฟ้าให้กับโรงงานการผลิตของตน การปรับทิศทางมาใช้พลังงานหมุนเวียนนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกธุรกิจจนกระทั่งกลายเป็นเทรนด์การแข่งกันการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนไปเสียแล้ว การหันมาลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเช่นนี้จะเป็นการทำให้ธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนขยายตัว สามารถต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวลาที่พลังงานฟอสซิลยังคงมีราคาลงทุนที่น่าดึงดูดกว่าพลังงานหมุนเวียน การแข่งขันเช่นนี้ ไม่ว่าใครแพ้หรือชนะ แต่หากเราสามารถเอาชนะการเสพติดพลังงานฟอลซิลได้ ผลดีก็คืออนาคตสีเขียวของพวกเราทุกคน

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 17, 2558 ที่ 10:03

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52337/





 

Create Date : 17 มีนาคม 2558   
Last Update : 18 มีนาคม 2558 11:22:20 น.   
Counter : 1249 Pageviews.  


เส้นทางสู่ความสำเร็จของพลังงานหมุนเวียนในแอฟริกาใต้

A view of Medupi coal power station, which is currently under construction just outside Lephalale. The mega power station will be one of the biggest in the world when completed, but the project is heavily delayed and over-budget. Major new coal mines and power stations are planned in the area.
โรงไฟฟ้าถ่านหิน เมดูพี Medupi หนึ่งในโรงไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

แอฟริกาใต้มีปัญหาด้านพลังงานมานานเพราะจำนวนประชากรที่มีปริมาณมาก แม้ว่าราคาพลังงานไฟฟ้าของประเทศในช่วงปีพ.ศ. 2524-2532  จะถูกที่สุดในโลก แต่หลังจากเกิดการหยุดจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนในวงกว้างและเกิดปัญหาการลงทุนด้านพลังงานที่ไม่เพียงพอ ปัญหาพลังงานไฟฟ้าก็เริ่มเป็นประเด็นถกเถียงกันในระดับประเทศ ทั้งนี้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ราคาพลังงานไฟฟ้ายังพุ่งสูงเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งยังไม่มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับความผันผวนของราคาพลังงาน

ประเทศแอฟริกาใต้มีอัตราการผลิตพลังงานสูงแต่ส่วนใหญ่การผลิตพลังงานไฟฟ้ามาจากกระบวนการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอัตราสูง เช่น เหมืองถ่านหิน

เหมืองถ่านหินในแอฟริกาใต้
เหมืองถ่านหินในแอฟริกาใต้

แม้ว่าประเทศแอฟริกาใต้ต้องรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 1 ของโลกเท่านั้น แต่ภาครัฐก็มองเห็นโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตสีเขียว จึงเป็นที่มาของโครงการ Renewable Energy Independent Power Procurement Program (REIPPP) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2554

“REIPPP เป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่” อ้างอิงจากคำพูดของ มาร์โก้ บูคานัน ที่ปรึกษาด้านพลังงานของ องค์กร Futuregrowth Asset Management องค์กรด้านพลังงานและการลงทุนที่สอดคล้องกับจริยธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทวีปแอฟริกา บูคานันได้กล่าวกับสำนักข่าวเศรษฐกิจของแอฟริกา เอเอฟเคอินไซด์เดอร์ว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการอีก 39 โครงการที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกว่า 2,050 เมกะวัตต์ โครงการยักษ์ใหญ่เหล่านี้กำลังอยู่ในการพัฒนาเพื่อต่อยอดไปยังรัฐอื่นๆ ถือเป็นหนึ่งในโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดของทวีป ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า

แผนการผลิตดั้งเดิมคือผลิตพลังงานโดยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 3,600 เมกะวัตต์ บูคานัน กล่าวว่า “รัฐบาลจัดการเสนอราคากัน 4 ครั้งก่อนหน้านี้ และขณะนี้กำลังมุ่งมั่นที่จะผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์

โครงการนี้มีการแข่งขันมาก ผู้ชนะการเสนอราคาที่สูงที่สุดในการประมูลจำนวนการผลิตไฟฟ้าเมกะวัตต์สูงสุดจะได้รับอนุญาตให้ผลิตโรงไฟฟ้าขนาดเล็กได้ ซึ่งจะสามารถผลิตพลังงานได้มากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งโครงการนี้ช่วยเพิ่มการติดตั้งแหล่งพลังงานหมุนเวียนให้กับประเทศที่ขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก อย่างไรก็ดี ผลพลอยได้อีกอย่างคือ REIPPP สามารถช่วยส่งเสริมการลงทุนกับการใช้พลังงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ใครต่างก็คาดไม่ถึง

“ในที่สุด REIPPP จะอนุญาตให้สร้างอำนาจสินทรัพย์ในตลาดรองของพลังงาน” ดิว ทอยต์ กล่าว “ฉันเชื่อมั่นว่า จะมีการกำหนดวันในการหาปัจจัยลงทุน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนของตลาดรองในโครงสร้างพื้นฐานของตลาดพลังงานทั่วทวีปแอฟริกา” 

ในตลาดรอง ผู้ผลิตได้รับอนุญาตให้ซื้อ – ขาย หุ้นของพวกเขา ซึ่งการซื้อขายดังกล่าวทำให้พวกเขาตระหนักถึงผลตอบแทนด้านการลงทุน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับฝ่ายผู้ผลิต

ทำไมวิธีการนี้จึงได้ผล

การติดตั้งแผงโซลาเซลในแอฟริกาใต้เมื่อปีพ.ศ.2554
การติดตั้งแผงโซลาเซลในแอฟริกาใต้เมื่อปีพ.ศ.2554

เหตุผลที่ประสบความสำเร็จส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าแอฟริกาเป็นดินแดนที่เหมาะกับการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงยังมีศักยภาพด้านพลังงานลม แต่ประโยชน์ของ REIPPP ยังไม่หมดแค่นั้น

เอมิลี่ ดิว ทอยต์ ผู้อำนวยการศูนย์การลงทุนขั้นพื้นฐานและประธานของ Southern African Venture Capital and Private Equity Association ซึ่งเป็นสมาคมการร่วมทุนของภาคประชาชนในแอฟริกาใต้ กล่าวกับเอเฟเคอินไซด์เดอร์ว่า “REIPPP เป็นกระบวนการที่ดีที่สามารถกระจายต่อไปในประเทศอื่น ๆ และเราหวังว่าพลังงานหมุนเวียนจะเป็นทางออกของปัญหาพลังงานที่ประเทศอื่นสามารถนำไปใช้ได้ และหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาความขาดแคลนอื่นๆ ของแอฟริกาได้” 

โครงการนี้ประสบความสำเร็จมากจนกระทั่งธนาคารโลกได้ทำรายงานเกี่ยวกับโครงการนี้ไว้ โดยในระบุถึงนวัตกรรม ปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการนี้ได้

อันดับแรก คือการสร้างทีมเล็กๆ ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นที่น่าเชื่อถือต่อภาคประชาชน และเอกชน โดยทีมดังกล่าวจะพัฒนาโครงการจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ โดยที่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและเอกชนมากที่สุด นอกจากนี้โครงการยังให้ความสำคัญกับความโปร่งใส อีกทั้งผลกำไรก็พร้อมดึงดูดผู้เข้าร่วม

ในการคัดเลือก โครงการยังต้องการผู้มีส่วนร่วมที่มีศักยภาพพอที่จะไม่มีการปล่อยสินเชื่อก่อนจะส่งเสนอราคาประเมินที่ดีที่สุด นอกจากนี้การจัดจ้างคนภายนอกบางส่วนจะทำให้ธนาคารหลีกเลี่ยงปัญหาที่พบบ่อยในการเสนอราคา เช่น เทคนิคข้อเสนอการขายในราคาต่ำที่ดูน่าสนใจ แต่ราคาจะสูงขึ้นในภายหลัง

ระบบเศรษฐกิจของโลกทั้งหมดเชื่อมโยงกัน ความสำเร็จของแอฟริกาดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก

เนื่องจากภาวะการณ์เติบโตช้าของเศรษฐกิจทั้งในยุโรปและอเมริกา ทำให้ผู้ที่ให้ความสนใจในตลาดแหล่งพลังงานหมุนเวียนลดลง แต่ความสำเร็จของแอฟริกาสามารถดึงดูดความสนใจสู่ตลาดพลังงานหมุนเวียนได้อีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม  REIPPP อาจยังไม่ตอบทุกปัญหาของพลังงานในแอฟริกาใต้ แม้ว่าโครงการจะช่วยให้ บริษัท เอสคอม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของภาครัฐ ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 40,000 เมกะวัตต์ แต่พลังงานหมุนเวียนก็ยังไม่สามารถแก้ไขภาวะขาดแคลนพลังงานของประเทศได้ทั้งหมดในปัจจุบัน

แลสแตร์ เฮอร์เบิร์ตสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินเวสเทค (Investec) กล่าวว่า “ขณะนี้พลังงานหมุนเวียนผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่าหนึ่งในสิบของกำลังการผลิตทั้งหมด ซึ่งยังไม่เสถียรพอที่จะตอบโจทย์ความต้องการทางพลังงานในระยะแรกเริ่ม” 

อย่างไรก็ตาม โครงการ REIPPP คือจุดเริ่มต้นที่ดี

แหล่งพลังงานหมุนเวียนจากลมในประเทศแอฟริกาใต้ ขอบคุณภาพจากsolarfeeds.comแหล่งพลังงานหมุนเวียนจากลมในประเทศแอฟริกาใต้ ขอบคุณภาพจากsolarfeeds.com

ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนยังมีข้อบกพร่องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความล่าช้าในการอนุมัติ และความต้องการในท้องถิ่นที่จะเป็นเจ้าของกิจการการผลิตพลังงาน และโครงการยังคงมีข้อผิดพลาดที่ต้องร่วมกันแก้ไขกับทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาชน

กล่าวคือ แม้จะเป็นการเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ จากการผลิตระดับเมกะวัตต์ แต่เป็นก้าวที่สำคัญของแอฟริกาและประเทศอื่นๆ ในทวีป ซึ่งเป็นก้าวที่ไม่สามารถมองข้ามได้ 


แหล่งที่มา : afkinsider.com


Blogpost โดย Anna B. Wroblewska -- มีนาคม 13, 2558 ที่ 11:11


ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52317/




 

Create Date : 13 มีนาคม 2558   
Last Update : 13 มีนาคม 2558 18:17:45 น.   
Counter : 1901 Pageviews.  


บทใหม่แห่งชัยชนะ เปิดประตูปฏิรูป EHIA ปิดฉากถ่านหิน

เรามาวันนี้เพราะเราเดือดร้อนจริงๆ ถ้าพวกเราไม่เกี่ยวก็ข้ามพวกเราได้เลย เหยียบพวกเราก็ยินดี เพื่อทรัพยากรของเราอยู่รอด ถ้าบอกว่าการศึกษาผลกระทบรายงาน EIA แบบนี้ถูกต้อง ผมว่าประเทศคงตายหมดทั้งประเทศ”อาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลกระบี่ กล่าวท่ามกลางฉากโศกนาฏกรรมของชาวกระบี่เกือบ 50 ร่าง

ราวสิบโมงเช้าวันนี้ บริเวณหน้าตึกสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (สผ.) ได้กลายเป็นสถานที่จำลองการเกิดเหตุอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม หากคณะคชก. พิจารณาเห็นชอบ รายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่

ศพ? ฉากโศกนาฏกรรมจากอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมจากถ่านหิน

ภาพของศพของคนร่วม  50 ร่าง นอนเรียงเรียงซ่อนสีหน้าความทุกข์ใจไว้ภายใต้ผ้าสีขาวบาง ปลายเท้าที่โผล่ออกมาภายนอกผ้ามีอักษรเขียนไว้ว่า “No Coal” บนฝ่าเท้าของทุกร่าง เดาได้ไม่ยากถึงสาเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนเหล่านี้ .. “ถ่านหิน” ฉากที่แสนน่าสะเทือนใจนี้ปรากฎขึ้นที่สผ. ในช่วงเช้าที่ผ่านมา โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิตจริง แต่นี่เป็นการนอนประท้วงคว่ำบาตรของเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินประมาณ 50 คน จากอำเภอปกาสัย เกาะปู เกาะจำ เกาะลันตา ศรีบอยา จังหวัดกระบี่ เครือข่ายประชาชนพัฒนาเมืองเทพา จังหวัดสงขลา ที่กำลังถูกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินคุกคามเช่นกัน และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย รวมถึงนักกิจกรรมกรีนพีซ ที่ร่วมคัดค้านกระบวนการ EIA โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วที่ฉ้อฉล เรียกร้องหยุดถ่านหิน ปฏิรูป E(H)IA โดยเร่งด่วน เพราะนี่คือภาพผลกระทบที่ชาวกระบี่จะได้รับ หากโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกสร้างขึ้น 

เรากำลังเข้าสู่หายนะการพัฒนา รัฐบาลกำลังคิดอะไร ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือคนน้อยนิด แต่ได้รับผลกระทบทั้งประเทศ อารยะขัดขืนของเราเพื่อบอกรัฐบาลว่าถ่านหินคือความตาย และบอกสผ.ว่าให้ยกเลิกรายงาน EIA ฉบับฉ้อฉลนี้เสีย เพราะจะนำไปสู่หายนะของกระบี่และอันดามันรวมถึงภาคใต้โดยรวม หากเมื่อมีการปฏิรูประบบ EIA ค่อยมาพูดถึงกระบวนการนี้ แต่ในจังหวัดนี้ EIA คือเครื่องมือของการนำไปสู่โรงไฟฟ้าถ่านหิน ไม่ใช่เครื่องมือของการหาคำตอบว่าจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างไร รัฐบาลต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจน เมื่อหยุดกระบวนการถ่านหิน เราจะลุกขึ้นมาปฏิรูปพลังงานด้วยกัน” เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินกล่าวแถลงการณ์

“การปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ ที่ตั้งท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินนี้ไม่เหมาะสมและมีโอกาสทำให้ทะเลปนเปื้อนจากสารเคมีและสารพิษจากถ่านหิน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่มีความสำคัญระดับโลก การพัฒนาอะไรต้องมองเห็นคนตรงพื้นที่นั้น อีกทั้งยังไม่มีเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดใดที่สามารถลดตะกั่วและปรอทได้” รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ตัวแทนของเครือข่ายนักวิชาการ กล่าวในการแถลงการณ์

การแสดงท่านอนตายประท้วงคว่ำบาตร EIA  ผ่านไปเป็นเวลากว่า 3 ชั่วโมงอย่างสงบภายใต้การเฝ้าสังเกตการณ์ของตำรวจอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาประมาณ 13.30 น. ที่การพิจารณาของ คชก. จะเริ่มขึ้น พี่น้องเครือข่ายและนักวิชาการได้ขอเชิญคณะคชก. ลงมาเพื่อฟังเสียงเดือดร้อนจากปากพี่น้องชาวกระบี่โดยตรงซึ่งเสียงเหล่านี้ไม่เคยได้อยู่กระบวนการ EIA อย่างไม่ชอบธรรมที่ กฟผ. อ้างถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา  

ทว่าทางเจ้าหน้าที่สผ.ไม่อนุญาต และกล่าวว่าไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติที่จะให้คชก.ลงมา แต่อนุญาตให้ขึ้นไปเพียง 3 คน โดยที่ไม่สามารถบันทึกภาพและเสียงใดๆ ทางเครือข่ายใช้เวลาขอร้องและเจรจาอยู่นาน ท้ายที่สุด รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล กล่าวว่า “ขอพบเพียงแค่ให้พี่น้องกระบี่ที่เดินทางมาไกลได้พูดเพียงแค่ 10 นาที ต่อหน้า คชก ทุกท่าน มีกฏหมายข้อใดหรือที่ห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปฟัง?” จนในที่สุดพวกเราทั้งหมดทุกคนได้จึงได้รับอนุญาตให้ได้ขึ้นไปในห้องพิจารณารายงาน EIA ต่อหน้า คชก ทุกท่าน 

นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การคัดค้านกระบวนการ EHIA ที่พวกเราทั้งหมดโดยพี่น้องกระบี่ร่วม 50 คน สามารถเข้าพบ คชก. ถึงห้องประชุม โดยต้องเดินขึ้นบันไดแถวเรียงหนึ่งเพื่อไปยังห้องประชุมบนชั้น 6  และเมื่อทุกคนเข้าไปในห้องประชุมแล้ว ตัวแทนกระบี่ก็ได้กล่าวขึ้นทั้งน้ำตา “ตรงนี้เป็นพื้นที่ทำมาหากินของพวกเรา เป็นตู้เอทีเอ็ม เป็นแหล่งส่งเสริมรายได้ของครอบครัว ถ้าถ่านหินเกิดขึ้นตรงนี้ แล้วจะมาจะทำมาหากินอะไร อยากขอทุกท่านว่า วันนี้เรามาด้วยความจริงใจพวกเราเดือดร้อน ขอให้ทุกท่านในที่นี้เอ็นดูชาวบ้าน เอ็นดูเด็กๆ พวกเราขอกราบ” เสียงนี้จบลงตรงหน้า คชก ทุกคนในเวลาจำกัด 10 นาที!

ความล้มเหลวขอกระบวนการ E(H)IA ในประเทศไทยได้ถูกตอกย้ำซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าและชัดเจนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะ EIA ฉบับฉ้อฉล!กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินบ้านคลองรั้ว  ทำให้ก่อนหน้าสองสามวันที่ผ่านมานี้ ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่ 5 คน จึงต้องเดินทางไปขอเข้าพบคณะคชก.ทั้ง 8 ท่านเพื่อฝากความหวังและอนาคตกระบี่เพื่อเป็นตัวแทนเสียงของประชาชนร่วมปกป้องกระบี่ในการประชุมวันนี้

จวบจนกระทั่งช่วงเวลา 17.00 น. นางปิยนันท์ โศภณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสผ. ได้ลงมาชี้แจงต่อชาวกระบี่ที่ยืนหยัดรอฟังผลการพิจารณา EIA ท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว จ.กระบี่ มาตลอดทั้งวัน ว่าการพิจารณา EIA ในวันนี้ยังไม่แล้วเสร็จ ยังคงต้องใช้เวลา เนื่องจากคชก.แต่ละท่านให้ความเห็นในด้านต่างๆ ว่ายังมีประเด็นข้อบกพร่องต้องพิจารณาแก้ไขอยู่มากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องนำไปปรับแก้ โดยเฉพาะกรณีการขัดต่อกฎหมายพื้นที่แรมซ่าร์ไซต์ด้วยโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติ รวมทั้งวิธีการก่อสร้างและมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ยังไม่มีความชัดเจน

อย่างน้อยในวันนี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่ามาตรการการบรรเทามลพิษสามารถทำได้จริง ทั้งคนกระบี่และคนเทพาที่มาในวันนี้จะไม่ยอมให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น หลังจากนี้คงมีกระบวนการแก้ไขรายงาน EIA ไม่รู้ว่านานเท่าไร แต่สำหรับเราไม่สำคัญอีกแล้ว เพราะในวันนี้เห็นได้ชัดแล้วว่ากฟผ.ไม่มีความชอบธรรม หลังจากนี้ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องถอดแผนโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากแผนพีดีพี และปฏิรูประบบ EHIA” ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินกล่าว

หลังจากผ่านการต่อสู้ในกระบวนการ EIA ที่ไม่ชอบธรรมมาอย่างยาวนาน ในที่สุดความชอบธรรมก็กลับคืนสู่ประชาชน แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ เนื่องจาก กระบวนการ E(H)IA ยังคงเป็นเพียงเครื่องมืออำนวยความชอบธรรมในการทำโครงการโดยขาดกระบวนการการรับฟังประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าของโครงการและชุมชน แม้กระทั่งคนในชุมชนด้วยกันเอง สิ่งที่จะหยุดความขัดแย้งและไม่ยั่งยืนทางพลังงานได้ คือ การหยุดยุคถ่านหิน ปฏิรูป EHIA เพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา และคอยสร้างบาดแผลร้ายให้กับชุมชน

ขอขอบคุณทุกเสียงที่ร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องไปถึงคณะคชก. หลายพันเสียงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  และ ผู้ร่วมปกป้องกระบี่ทั้งหมดกว่า 47,000 จาก ProtectKrabi.orgHugKrabi.org และ Change.org ได้ถูกส่งมอบให้กับนางปิยนันท์ โศภณคณาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงถึงพลังจากประชาชนที่หวังให้สผ.และคณะคชก.เป็นตัวแทนปกป้องกระบี่จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เพราะกระบี่คือสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยทุกคน !

 
Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 6, 2558 ที่ 21:20
 




 

Create Date : 06 มีนาคม 2558   
Last Update : 6 มีนาคม 2558 23:29:16 น.   
Counter : 1147 Pageviews.  


เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินนอนประท้วงคว่ำบาตร EIA ท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้ว

กรุงเทพฯ, 6 มีนาคม 2558 – วันนี้เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและภาคีเครือข่าย (1) จำนวน 40 คน นอนประท้วงบนพื้นหน้าอาคารสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยแต่ละคนมีข้อความว่า “No Coal” บนฝ่าเท้าสองข้าง เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์ที่จังหวัดกระบี่ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบ EIA/EHIA โดยทันที

กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่จะพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้วซึ่งจะมีขึ้นในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินระบุว่า การจัดทำรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จังหวัดกระบี่เป็นกระบวนการที่ขาดความชอบธรรม มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงและตรวจสอบรายงาน นอกจากนี้ ข้อมูลที่นำเสนอในรายงาน EIA นั้นไม่รอบด้านและประเมินผลกระทบต่ำกว่าความเป็นจริง

"บ้านคลองรั้วมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร มีกุ้ง กุ้งมังกร หอย ปู ปลา ซึ่งถูกจับด้วยวิธีประมงพื้นบ้านด้วยเรือหัวโทง บริเวณช่องแหลมหิน เกาะปู เกาะจำ เกาะศรีบอยา จึงเป็นพื้นที่หากินของเรือประมงทั้งจากบ้านคลองรั้วและเรือจากพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 400 ลำ ปูม้าของพื้นที่นี้ถูกส่งมาจำหน่ายที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นแหล่งรายได้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของคนในพื้นที่"

"เนื้อหาของรายงาน EIA โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ละเลยความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ (Krabi river estuary) และมองข้ามคุณค่าของระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญรวมทั้งวิถีชีวิตชาวประมงท้องถิ่นบนฐานการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่(2)"นายสมนึกกล่าวเพิ่มเติม

ในเอกสาร "สรุปความเห็นต่อกระบวนการและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ของ กฟผ." (3) ที่เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินส่งถึงเลขาธิการ สผ. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการในการพิจารณาโครงการ ลงวันที่ 5 มีนาคม 2558 ยังระบุด้วยว่า โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งขัดกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในส่วนที่ 3 ที่ห้ามการใช้ประโยชน์ในที่ดินและห้ามทำกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อให้เกิดผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่เขตอนุรักษ์และพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณค่าสิ่งแวดล้อม

การก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหิน ซึ่งรวมถึงการสร้างแนวกันคลื่น 1 กิโลเมตร จะก่อให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง สูญเสียผืนแผ่นดินและผืนป่าชายเลน การลำเลียงถ่านหินผ่านสายพานจะตัดผ่านป่าชายเลน ซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ดำเนินโครงการ นอกจากนี้ กิจกรรมการเดินเรือซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของท่าเรือนี้จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศที่สำคัญ สิ่งเหล่านี้ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำกระบี่ซึ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลอินทรีย์ต้องได้รับผลกระทบอย่างหนักและท้ายสุดกลายเป็นซูเปอร์ไฮเวย์ถ่านหิน

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินยังได้ยื่นรายชื่อผู้ร่วม "ปกป้องกระบี่" 44,000 รายชื่อ ที่เป็นพลังเรียกร้องให้กระบี่ยังคงเป็นพื้นที่ที่คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและปราศจากภัยคุกคามถ่านหิน

"ผู้คนหลายหมื่นคนเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) คณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนและสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่อนุมัติ EIA โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินพร้อมยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่โดยทันที เพราะผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นสูงเกินกว่าที่สังคมจะแบกรับได้"  นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

หมายเหตุ :
(1) เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินประกอบด้วย 1.กลุ่มรักลันตา 2.กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา 4.สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา 5. มูลนิธิอันดามัน 6. ศูนยสร้างเสริมจิตสานึกนิเวศวิทยา 7. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8. สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 9. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพฒันาเอกชนภาคใต้(กปอพช) 10.โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้ 11.กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง 12.กลุ่มรักษ์อันดามัน 13.กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัยจังหวัดกระบี 14. กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ 15. เครือข่ายประมงพื้นบ้านจงัหวัดกระบี่ 16.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน 17.เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน 18. เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 19. เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน 20. เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย Thailand Coal Network 21.เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Coal Network 22.มูลนิธินโยบายสุขภาวะ23. เครือข่ายนักวิชาการ EIA EHIA Watch Thailand 24. สมาคมคนรักษ์เลกระบี่ 25. มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย 26. กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเกาะกลาง จ.กระบี่
ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนพัฒนาเมืองเทพา และเครือข่ายปกป้องพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง

(2) ในเดือนตุลาคม 2557 เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินได้นำเสนองานวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลาย ทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ หรือ “งานวิจัยมหาลัยเล” โดยข้อมูลที่ระบุในรายงานมีจำนวนและชนิดพันธุ์ของสัตว์ทะเลที่พบเบื้องต้นในการศึกษามากกว่าการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำ กระบี่ที่ผ่านมา บทสรุปผู้บริหารของสามารถดาวน์โหลดได้ที่ //www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/krabi-research-progress-report/

(3) ดาวน์โหลด เอกสาร “สรุปความเห็นต่อกระบวนการและการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ของ กฟผ.” ได้ที่ //www.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/660589/ProtectKrabiFullreport.doc.pdf

(4) ดาวน์โหลดแถลงการณ์เครือข่ายนักวิชาการ EHIA ต่อรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมฯ โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ได้ที่ https://secured-static.greenpeace.org/seasia/th/PageFiles/660589/ehia_network.pdf

(5) แถลงการณ์จากเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและภาคีร่วม (หน้า 1) (หน้า 2)

ข้อมูลเพิ่มเติม: 
สมฤดี ปานะศุทธะ  ผู้ประสานงานสื่อมวลชน  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
โทร. 081 929 5747 อีเมล: @greenpeace
.org">spanasud@greenpeace.org

English version here

ข่าวประชาสัมพันธ์ - มีนาคม 6, 2558
 




 

Create Date : 06 มีนาคม 2558   
Last Update : 6 มีนาคม 2558 18:48:38 น.   
Counter : 1015 Pageviews.  


ทุกย่างก้าวเพื่อจุดจบยุคถ่านหิน ปฏิรูประบบ EHIA ประเทศไทย

เพราะเหตุใดตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่ 5 คน ถึงมาเดินระยะทาง 13 กิโลเมตรในกรุงเทพฯ เพื่อฝากความหวังและอนาคตของกระบี่ให้กับคณะคชก.

หลายต่อหลายครั้งที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นจากการออกก้าวเดินของคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง และในวันนี้ (3 มีนาคม 2558) ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและกรีนพีซได้ออกเดินรณรงค์ไปยังหน่วยงานรัฐและสถาบันอุดมศึกษาที่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) สังกัดอยู่ เพื่อฝากความหวังให้คณะคชก. ทั้ง 8 ท่าน ช่วยปกป้องกระบี่มรกตแห่งอันดามันให้พ้นจากอนาคตที่อยู่ใต้เงามืดของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินคลองรั้ว ในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 นี้


จากกระบี่สู่กรุงเทพฯ ฝากเสียงและความหวังของชาวกระบี่ และคนรักกระบี่อีกกว่า 46,000 เสียง จากทาง ProtectKrabi.org และ Change.org ส่งถึงคณะคชก. โดยวันนี้ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่ ได้เดินเท้าไปพบ คชก. ทั้งหมด 4 ท่าน ด้วยใจมุ่งมั่นต้องการยื่นข้อเรียกร้องและฝากความหวังให้ถึงมือท่าน ทั้ง 5 คนออกเดินด้วยการเริ่มจากกรมควบคุมมลพิษ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วมุ่งสู่ย่านสยามสแควร์ เพื่อไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ถ่านหินเป็นมหันตภัยร้าย และการหยุดถ่านหินถือเป็นภารกิจสำคัญของคนไทยและโลกเรากังวลว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ได้รับฟังเสียงของประชาชน เราจึงมาเพื่อหารือกันในวันนี้ เรามาเพราะเราไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากหยุดกระบวนการที่จะได้มาซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหิน” หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่ กล่าว

13 กิโลเมตรที่เปี่ยมไปด้วยความหวังเริ่มต้นที่กรมควบคุมมลพิษ เพื่อพบ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศและเสียง ซึ่งได้ร่วมกันหารือด้วยบรรยากาศเป็นมิตร “คณะคชก.เป็นอิสระ ให้ความเห็นตามทิศทางความเชี่ยวชาญของตนเอง วันศุกร์นี้ผมจะพิจารณาโดยละเอียด ตามข้อห่วงใยของตัวแทนเครือข่าย แต่ทางสผ.ไม่สามารถชะลอโครงการนี้ได้ จำเป็นต้องเป็นเจ้าของโครงการ” นายเถลิงศักดิ์ กล่าว

ย่างก้าวต่อมา ทั้ง 5 คนได้เดินมาถึง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในย่านอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้พบกับ นายสุวิทย์ ชุมนุมศิริวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำเสียและการระบายน้ำ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ประจำภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล อย่างไรก็ตามทั้ง 5 คน ได้ฝากความหวังไว้กับตัวแทนของคณะที่ออกมารับเรื่อง และหวังว่าอาจารย์จะพิจารณาโครงการนี้ด้วยความชอบธรรม และเป็นไปตามข้อเท็จจริงด้านสาธารณสุขซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชน สมกับความเชี่ยวชาญและความนับถือของทุกคนในมหาวิทยาลัย

ต่อมาตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่ได้ออกเดินต่อมุ่งหน้าสู่สยามสแควร์เพื่อให้คนเมืองได้รับรู้ถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกแห่งนี้ โดยระหว่างทางได้มีผู้ให้ดอกไม้เป็นกำลังใจ และบ้างก็สงสัยว่า “ฮักกระบี่” และ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” คืออะไร แต่อย่างน้อยในวันนี้ผู้คนในเมืองก็เริ่มสะกิดใจถึงปัญหาที่กำลังคุกคามความสวยงามของมรกตแห่งอันดามัน

เราได้มาถึงทั้งสองคณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และวิศวรรมศาสตร์ แต่น่าเสียดายที่อาจารย์ทั้งสองท่านไม่อยู่ แต่เราต้องขอบคุณตัวแทนของ นายวัฒนสิทธิ์ ศิริวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ และ รศ. ดร. พูลศักดิ์ เพียรสุสม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้าง โดย รศ.ดร. สรวิศ นฤปิติหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้ให้เกียรติเป็นตัวแทนมาพบ และกล่าวว่า “เชื่อว่าตัวแทนคชก.แต่ละท่านที่มาจากสาขาความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ได้รับการคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว และจะพิจารณาได้อย่างตรงไปตรงมาและเหมาะสม”

 การเดินไปเยี่ยมเยือนคณะคชก. ทั้ง 4 ในวันนี้ได้สิ้นสุดลง และเปี่ยมไปด้วยความหวัง ถึงแม้จะเป็นระยะทางที่ไม่ไกลนัก แต่เรายังต้องหวังอีกว่าก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยก็คงจะไม่ยาวไกลเช่นกัน “ประเทศไทยต้องเร่งปฏิรูประบบ E(H)IA ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้มีกำกับดูแล จากหน่วยงานอิสระด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่แยกจาก สผ. เพื่อให้กระบวนการจัดทำรายงาน E(H)IA เป็นไปตามหลักการทางวิชาการอย่างแท้จริง มีความยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายพลังงานระดับชาติต้องมีวิสัยทัศน์และเจตจำนงทางการเมืองที่มุ่งมั่นต่อระบบพลังงานหมุนเวียนผสมผสานและกระจายศูนย์ที่เป็นความมั่นคงด้านพลังงานที่แท้จริง มิใช่การเสพติด “ถ่านหิน” ซึ่งไม่มีอนาคตในสังคมที่ยั่งยืนและปลอดภัย” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเดินในครั้งนี้ กล่าว

ทุกย่างก้าวของตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินทั้ง 5 คน ในวันนี้ จะเป็นก้าวของพี่น้องกระบี่ที่ส่งต่อคนไทยทั้งประเทศ เพราะกระบี่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยทุกคนที่มั่งคั่งไปด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจ ซึ่งก้าวนี้จะยังเป็นก้าวสำคัญของอนาคตสีเขียวของไทย ที่มีพลังงานหมุนเวียนใช้อย่างยั่งยืน พร้อมจะเป็นกระบี่ Go Green ดังที่ชาวกระบี่ตั้งปฏิญญาไว้ และตามที่ศักยภาพของจังหวัดกระบี่มีอย่างเต็มร้อย

ติดตามอีกครั้งว่า การเดินของตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่ในวันที่ 5 มีนาคม จะเป็นอย่างไร ….วันนี้คุณได้ลงมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง ร่วมลงมือปกป้องถ่านหินกับเราได้ที่ ProtectKrabi.org และส่งเสียงถึงคณะคชก.ได้ที่ //bit.ly/beourvoice

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 3, 2558 ที่ 19:35

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/ehia/blog/52224/




 

Create Date : 05 มีนาคม 2558   
Last Update : 5 มีนาคม 2558 10:25:38 น.   
Counter : 1002 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com