กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

คงไม่มีใครอยากให้มหาสมุทรกลายเป็น “แพขยะ”

 

ลองจินตาการถึงถุงช้อปปิ้งของเราที่เต็มไปด้วยขวดน้ำ กระป๋องน้ำอัดลม แปรงสีฟัน สบู่ แชมพู และกล่องอาหารสำเร็จรูป ทีนี้ลองจินตาการว่าของทุกสิ่งที่เราซื้อมาเพื่อบริโภคนั้นหลังจากเราใช้แล้วจะถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทร และหากเราบอกคุณว่าประเทศไทยติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก คุณจะเชื่อไหม?

เมื่อปี พ.ศ.2553 ข้อมูลเผยออกมาว่า ประเทศต่างๆ ที่ติดชายฝั่งทะเลได้ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากถึง 8 ล้านตัน ขยะพลาสติกเหล่านี้ลอยไปเกาะกลุ่มรวมตัวกันเป็น “แพขยะ” ในมหาสมุทร

 

 

นักชีววิทยาทางทะเลทราบดีว่า ขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่ลอยอยู่บนผิวทะเลนั้นเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมในมหาสมุทรอย่างใหญ่หลวง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือแพขยะขนาดยักษ์ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งกินเนื้อที่อย่างน้อยก็สองเท่าของพื้นที่รัฐเท็กซัส  หรือใกล้เคียงกับพื้นที่ของประเทศไทย มลพิษนี้เป็นภัยต่อสัตว์ทุกชนิด ตั้งแต่แพลงก์ตอนตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงสัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอย่างวาฬ และไม่ใช่แค่สัตว์ทะเลเท่านั้น นกก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เสี่ยงอันตรายด้วย

หากคิดว่า โลกของเรามีแพขยะขนาดเกือบเท่าประเทศประเทศหนึ่งนั้นถือเป็นเรื่องร้ายแรงแล้ว ยังมีเรื่องร้ายแรงกว่านี้อีก เพราะขยะพลาสติกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ในอีก 100 ปีข้างหน้า หมายความว่า ถ้าเราไม่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค แพขยะก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอีก เว้นแต่ว่า เราจะพบวิธีการจัดการขยะที่ดีกว่าเดิม

แล้วขยะพลาสติกเหล่านี้มีจำนวนมหาศาลขนาดไหน?

ผลวิจัยล่าสุดที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแนวใหม่ ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Science  นั้น เป็นครั้งแรกที่งานวิจัยเผยให้เห็นถึงความพยายามในการคำนวณจำนวนขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่มหาสมุทรในทุก ๆ ปี

 

อันดับในภาพสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดที่ไหลลงสู่มหาสมุทรเป็นประจำทุกปี
 

เพื่ออธิบายถึงปริมาณขยะกว่า 8 ล้านตันให้เข้าใจง่ายนั้น ผู้นำการศึกษา เจนน่า แจมเบ็ค วิศวกรสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยจอร์เจีย หัวหน้าทีมวิจัยได้เปรียบเปรยว่า ขยะพลาสติกทั้งหมดมีปริมาณมากเท่ากับเวลาที่เราเดินเท้ารอบโลกแล้วทิ้งถุงพลาสติกไว้ 5 ถุง ในแต่ละก้าว

“และในปี พ.ศ.2568 ถุงพลาสติกที่ถูกทิ้ง 5 ใบในแต่ละก้าวนั้น จะเพิ่มเป็น 10 ถุง” ซึ่งก็หมายถึง ถุงขยะพลาสติกจะเพิ่มจาก 8ล้านตันต่อปี เป็น 155 ล้านตันต่อปี หากแต่ละประเทศยังมีการจัดการขยะในแบบเดิม

การใช้พลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการอุปโภคบริโภคนั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น  มีการผลิตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่มีการนำพลาสติกเข้ามาใช้ครั้งแรกและถูกใช้อย่างกว้างขวางตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว ยกตัวอย่างในปี พ.ศ.2555 อุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกใช้พลาสติกไปถึง 288 ล้านตัน

เพื่อการแก้ปัญหาขยะล้นทะเลได้อย่างถูกจุด ผลวิจัยล่าสุดนี้ยังได้กล่าวถึงประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรอีกด้วย ซึ่งทำการสำรวจจาก 192 ประเทศติดชายฝั่งทะเล โดยสาธารณรัฐประชาชนจีน คือประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก ในขณะที่สหรัฐอเมริกาปล่อยขยะลงสู่ทะเลเป็นอันดับที่ 20 ของโลก ทั้งที่สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีประชากรตามชายฝั่งทะเลหนาแน่น นอกจากนี้ยังเป็นประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ จึงทำให้สหรัฐฯมีผู้บริโภคผลิตภัณฑ์กลุ่มใหญ่ (ดูได้จากวิดีโอ  Are You Eating Plastic for Dinner ? )ทั้งนี้ยังมี 11 ประเทศจากทวีปเอเชีย ประเทศตุรกี  บราซิล และอีก 5 ประเทศจากทวีปแอฟริกา รวมอยู่ด้วย

แต่เป็นที่น่าตกใจสำหรับประเทศที่มีประชากรเพียง 65 ล้านคนอย่างประเทศไทยกลับติดอันดับที่ 6 ของประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทร แซงหน้าประเทศที่มีประชากรหนาแน่นกว่า 1,000 ล้านคนอย่างอินเดีย (อินเดียอยู่ในอันดับ 12)

 

กราฟจากทีมวิจัยของ เจนน่า เจมแบ็ค แสดงอันดับประเทศติดชายฝั่งทะเลที่ทิ้งขยะลงสู่ทะเล 20 อันดับแรก
ขอบคุณภาพจาก //www.motherjones.com/ 
 

เราควรทำอย่างไรเพื่อช่วยท้องทะเล?

ริชาร์ด ทอมป์สัน นักชีววิทยาใต้ทะเล มหาวิทยาลัยพลีมัธ แห่งสหราชอาณาจักรกล่าวไว้ว่า “สิ่งที่เราควรทำในตอนนี้คือ อุดช่องโหว่ของปัญหา”

ถูกต้อง! เราควรอุดช่องโหว่ของปัญหานี้เสีย เพราะหากเราไม่เริ่มช่วยกันแก้ไขปัญหาในเร็ววัน ต่อไปเราจะพบพลาสติกอยู่ในทุก ๆ ที่ แม้ในทะเลลึก กระทั่งถูกฝังอยู่ในธารน้ำแข็งของทวีปอาร์กติกเลยก็มี แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือสัตว์ที่อยู่ใกล้บริเวณแพขยะ (ไม่ว่าจะเป็นแพขยะที่ใดก็ตาม) มักจะเข้าใจว่าพลาสติกนี้เป็นอาหารและเผลอกินเข้าไป ขณะนี้มีสัตว์ทะเลกว่า 700 ชนิดที่ตกอยู่ในอันตรายเพราะการกินพลาสติก และคงจะมีสัตว์ที่ตกอยู่ในอันตรายมากกว่า 700 ชนิดแน่นอนหากเราเพิกเฉยและปล่อยให้ขยะพลาสติกล้นโลก

นอกจากนี้ หากสัตว์น้ำบริโภคชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กที่อาจมีสารพิษเข้าไป สารพิษนั้นก็จะตกค้างและอยู่ในตัวของห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ ในไม่ช้า หากสัตว์น้ำนั้นถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของเรา อาจจะเรียกได้ว่าเราเป็นผู้กินขยะที่เราทิ้งลงไปเองก็ไม่ผิดนัก

 
แมวน้ำติดอยู่ในเศษขยะส่วนหนึ่งของแพขยะในทะเลแปซิฟิก ขอบคุณภาพจาก //www.rurbanlife.net/
 
หากประเทศไทยมุ่งหวังจะแก้ไขปัญหาโดยการจัดการขยะทั้งประเทศโดยไม่ปล่อยปละละเลยอย่างที่ผ่านมา เราอาจจะต้องศึกษาจากการจัดการขยะของประเทศญี่ปุ่นที่มีระบบจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการศึกษาในที่นี้ก็มิใช่ศึกษาแต่เพียงระบบการจัดการขยะเท่านั้น แต่ต้องศึกษาลึกลงไปถึงกฎหมายเกี่ยวกับขยะ รวมไปถึงศึกษาพฤติกรรมการทิ้งขยะของชาวญี่ปุ่น  

อย่างไรก็ดี ฟากประชาชนร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องยาก แม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นก้าวเล็ก ๆ ในการลดขยะที่จะถูกปล่อยลงสู่มหาสมุทร แต่ตัวเราเองก็สามารถช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในชีวิตประจำวัน  ยกตัวอย่างเช่น เปลี่ยนตัวเองด้วยการใช้ถุงผ้า  ปฏิเสธการใช้โฟม และถุงพลาสติกที่ไม่จำเป็น หรือการนำกระป๋อง ขวดพลาสติกมาประยุกต์ใช้ เพื่อนำมารีไซเคิลใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม หากเราทำได้ ประเทศไทยก็คงจะลดปัญหาปริมาณขยะล้นเมืองได้ด้วย และช่วยให้มหาสมุทรสวยงามขึ้นอีกมาก

มาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตัวคุณ ช่วยกันลดการสร้างขยะคนละชิ้น ล้านคนก็เท่ากับล้านชิ้น เพียงเท่านี้เพื่อรักษาความสวยงามของท้องทะเลสีน้ำเงิน และสัตว์นานาชนิด ก่อนที่แพขยะจะดูดกลืนระบบนิเวศของมหาสมุทรไป

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก www.nationalgeographic.com

 

Blogpost โดย Supang Chatuchinda แปลและเรียบเรียง -- กุมภาพันธ์ 19, 2558 ที่ 15:43

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52153/




 

Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2558 1:54:19 น.   
Counter : 1582 Pageviews.  


ปี 2558 วิกฤตขนาดไหน ถึงเวลาที่เราต้องคว้า “โอกาสแห่งชีวิต”แล้วหรือยัง ?

แม้ว่าปี พ.ศ.2558 เพิ่งจะมาเยือน แต่กล่าวได้ว่า  เป็นปีที่สำคัญที่สุดสำหรับการต่อสู้เพื่อสภาพภูมิอากาศในทศวรรษนี้ และเป็น  “จุดเปลี่ยน” ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทั่วโลก  นาโอมิ ไคลน์ กล่าวว่า ในปีพ.ศ.2558 นี้ จะเป็นการต่อสู้เพื่อสภาพภูมิอากาศ ครั้งหนึ่งในยุค และองค์กรประชาสังคมระดับโลก Avaaz ก็เพิ่งประกาศกับสมาชิกของพวกเขาไปว่า “เราเหลือเวลาอีกเพียง 10 เดือนเท่านั้นที่จะ ปกป้องโลกของเรา ! 

 

Greenpeace activists block the outflow pipe at AKZO in Delfzijl. 03/07/1990 © Greenpeace / Benno Neeleman

ทำไมจึงต้องเป็นปีนี้ เกิดอะไรขึ้นกับโลกของเราอย่างนั้นหรือ?

 

ในเดือนกันยายนที่จะถึงในปีนี้ กลุ่มผู้นำโลกต่างเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่ของมนุษยชาติ ซึ่งก็คือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต่อจากนั้นในเดือนธันวาคม ก็ได้ประชุมถึงความพยายามของแต่ละชาติที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทั้งสองวาระดังกล่าวต่างก็มีผลกระทบต่อโลกอย่างใหญ่หลวง อีกทั้งสื่อมวลชนก็หันมาให้ความสนใจในประเด็นนี้อย่างล้นหลาม จนพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มถึงกับเรียกวาระการประชุมนี้ว่า "โอกาสแห่งชีวิต" รวมถึงคนดังอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ฟาร์เรล วิลเลี่ยมส์ ศิลปินชื่อดังยังได้เริ่มต้นกิจกรรมเพื่อ ระดมการสนับสนุนจากประชาชนเพื่ออนาคตสีเขียวของสิ่งแวดล้อม

ไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดเราจึงต้องเร่งรีบปกป้องสิ่งแวดล้อมนักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะบอกกับเราว่า ดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวงในระบบสุริยะนั้น มีดาวเคราะห์ถึง 4 ดวงที่มนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ สัญญาณของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเริ่มปรากฏขึ้นรอบ ๆ โลก การขุดเจาะน้ำมัน กลายเป็นการลงทุนที่บ้าคลั่ง ไม่คุ้มเสี่ยงและเป็นภัยต่อสภาพภูมิอากาศของโลก ดังเช่น การขุดเจาะน้ำมันบริเวณทวีปอาร์กติก

ถึงเวลาที่เราต้องมีข้อปฏิบัติสากลให้กับมนุษย์ในดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้อย่างจริงจังเสียที  เราไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้มีการประชุมก็ได้ แต่การประชุมจะสามารถกำหนดขีดจำกัดได้ อีกทั้งยังเป็นการกำหนดข้อบังคับให้รัฐบาลในแต่ละประเทศให้มีเวลาถกเถียงกันเพื่อเห็นด้วยกับข้อสรุปของการประชุม  นอกจากนี้ยังโน้มน้าวให้ประชาชนหันมาสนใจกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ซึ่งนั่นอาจจะเป็นทางออกให้กับการเมืองได้ เราคงจะไม่ประสบความสำเร็จกับการยอมรับพันธะสัญญาทางกฎหมายในการ ปกป้องสัตว์ทะเลในทะเลที่ไม่ได้อยู่ในอาณาเขตของประเทศใด จากประเทศกว่าครึ่งโลก ภายใน 1 เดือนได้ (ถึงแม้ว่าจะยอมรับในเวลาที่เหลือน้อยแล้วก็ตาม) ถ้าเราไม่มีวาระการประชุม ‘สหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน’ หรือRio+20 เมื่อปีพ.ศ.2555 เพื่อให้ปัญหานี้เป็นที่ถกเถียงกันถึงระดับสากล

 

นักกิจกรรมกรีนพีซเรียกร้องการปกป้องอาร์กติกจากการขุดเจาะน้ำมัน ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล
ระหว่างการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
 
นอกจากนี้ การประชุมยังเป็นที่ที่รัฐบาลจะส่งสัญญาณระยะยาวให้กับตลาดพลังงานยกตัวอย่างเช่น การประชุมภาวะโลกร้อนที่กรุงปารีสเมื่อปลายปีที่แล้วสามารถผลักดันข้อเสนอ การลดการปล่อยมลพิษลงจนหมดภายในปี พ.ศ.2593 และนั่นคือ หนึ่งในตัวเลือกที่รัฐบาลกำลังพิจารณา หากพวกเขานำข้อตกลงนี้มาใช้อย่างจริงจังก็แสดงว่า ยุคของเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะสิ้นสุดลง ซึ่งแน่นอนนักลงทุนเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจจะหลับไม่ลงเลยทีเดียว

เรายืนหยัดเพื่อพลังงานหมุนเวียน และจะใช้การประชุมทั้งสองวาระที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นโอกาสในการเรียกร้องถึงอนาคตของโลกที่ไร้คาร์บอน อนาคตที่เราทุก ๆ คนเข้าถึง พลังงานหมุนเวียน 100%

“โอกาสแห่งชีวิต”สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ และนั่นคือเป้าหมายของเราภายในปีนี้ ถ้าเราทำได้จริงก็ยิ่งเป็นข่าวดีในการเพิ่มโอกาสผลักดันให้กลายเป็นวาระระดับโลก!

 

สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ในมณฑล ซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
 

การปฏิวัติพลังงานเริ่มเป็นกระแสไปทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2557 ทางมหาอำนาจฝั่งเอเชียหรือจีนก็ตอบรับนโยบายนี้  โดยเป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษที่ประเทศนี้ลดการใช้ถ่านหินลง และหันมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมากกว่าปริมาณที่สหรัฐฯติดตั้งและเสร็จสิ้นภายในเวลา 1 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศนี้ได้ทำให้จีนเริ่มนำแนวคิดพลังงานหมุนเวียนไปใช้ เพื่อหยุดภัยคุกคามจากมลพิษทางอากาศให้หมดไปภายในปี พ.ศ.2573 แต่เท่านี้ยังไม่พอสำหรับการสร้างอนาคตสีเขียว หากจีนสามารถถอยห่างจากถ่านหินรวมถึงสลายมลพิษในประเทศภายในปีนี้  และ หยุดมหามลพิษในเมืองสำเร็จ จะไม่เป็นเพียงการยุติมหามลพิษควันที่ทำให้ประชากรกว่าล้านคนต้องลำบาก แต่การเดินหน้าลดปริมาณการใช้ถ่านหินของจีนจะทำให้จีนก้าวขึ้นอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกอีกด้วย

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องช่วยกันในปีนี้ คือการต่อสู้กับอุตสาหกรรมถ่านหินที่ เป็นผู้เร่งให้สภาวะอากาศเลวร้ายลงเรื่อย ๆ

 

เหมืองถ่านหิน Niederaussem ประเทศเยอรมนี

หากไม่อยากให้ลูกหลานของเราต้องผจญกับสภาพอากาศที่เลวร้ายในอนาคต เราจะต้องต่อสู้หยุดยั้งโครงการคาร์บอน และต้องเดินหน้าหยุดการขุดเจาะน้ำมันในทวีปอาร์กติกต่อไป

ร่วมเรียกร้องให้ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ปกป้องอาร์กติกจากการขุดเจาะน้ำมัน

นี่คือเหตุผลที่กรีนพีซทั่วโลกสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนและต่อต้านอุตสาหกรรมถ่านหิน ตั้งแต่อินเดีย จีน ไปจนถึงเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมถ่านหินในออสเตรเลีย และของประเทศไทย

ถ้าคุณคิดว่าผลประโยชน์จากถ่านหินในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่คุ้มค่ากับการสูญเสีย “เกรตแบร์ริเออร์” แหล่งปะการังอันสวยงามและมีความยาวที่สุดในโลกแล้วล่ะก็ ร่วมเป็นอีก 1 เสียงกับเราเพื่อปกป้องปะการังอันสวยงามนี้ได้

เราจะ “เปลี่ยน” ปี 2558 ไปด้วยกัน เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง จากอาร์กติกสู่ออสเตรเลีย เราทำได้ อย่างที่เราเคยทำมาแล้วในงานรณรงค์ก่อน ๆ ฉะนั้น “อย่าปล่อยเวลาให้เสียเปล่า”

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดของปีนี้ เพราะโลกของเราไม่ปลอดภัยแน่ ๆ ด้วยการประชุมแค่เพียง 1 ครั้ง ใน 10 เดือน  เราต้องปกป้องโลกอย่างเร่งด่วน และเราสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง ด้วยการหยุดยั้งผู้ที่จ้องจะทำลายดาวเคราะห์สีน้ำเงินของเราและหันมาร่วมมือกันปฏิวัติพลังงาน อย่าลืมว่าเราสามารถผลักดันการประชุมให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นี้ได้

ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงกับเรา หยุดการขุดเจาะน้ำมันในภูมิภาคอาร์กติก


 

Blogpost โดย Daniel Mittler -- กุมภาพันธ์ 17, 2558 ที่ 13:14


ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/2558/blog/52131




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2558 16:58:26 น.   
Counter : 1231 Pageviews.  


13 สัตว์ ที่เราอาจต้องบอกลาตลอดกาลในปี 2558

ครั้งหนึ่ง เซอร์เดวิด แอทเดนเบอโรว์ นักข่าวและนักอนุรักษ์เคยตั้งคำถามเอาไว้ว่า “เราจะมีความสุขหรือ ถ้าหลาน ๆ ของเรารู้จักช้างเพียงแค่รูปในหนังสือ ?”

ปีนี้เป็นปีครบรอบ 100 ปี การจากไปของ มาร์ธา นกพิราบนักเดินทาง พันธุ์เก่าแก่ของทวีปอเมริกา มาร์ธา มีชีวิตอยู่ในสวนสัตว์ได้เพียง 14 ปี  หลังจากพี่น้องของมันที่อาศัยอยู่ในป่าเริ่มสูญพันธุ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ แรดสีขาวอายุ 44 ปีก็เพิ่งตายในสวนสัตว์ที่ซานดิเอโก  โลกของเราจึงเหลือแรดสีขาวจำนวนเพียง 5 ตัวเท่านั้น และแน่นอน ทั้งหมดไม่ได้อาศัยอยู่ในป่า มีโอกาสสูงที่ลูกหลานของเราจะไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่งนี้อีก

ความจริงแล้ว โลกของเรากำลังจะสูญเสียพันธุ์สัตว์ จำนวนมากไปจากโลก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเป็น การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่รอบที่ 6 ในประวัติศาสตร์ ร้อยละ 30-50 ของสัตว์ทุกชนิด มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ และอาจสูญพันธ์ภายในอีก 50 ปี หากถามว่าเป็นความผิดใคร ก็ต้องโทษพวกเราเอง

“การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย การปล่อยมลพิษ หรือการทำประมงเกินขนาด เป็นการฆ่าสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยของมัน หรือไม่ก็เป็นการทำให้พวกมันใกล้ตาย” ดีเร็ก ทิตเทนเซอร์ นักนิเวศวิทยาทางทะเลประจำศูนย์อนุรักษ์และตรวจสอบสิ่งแวดล้อมโลก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  กล่าว “ปัญหาดังกล่าวกำลังจะเป็นเรื่องใหญ่ของยุค เพราะสภาวะโลกร้อนยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นและเป็นสาเหตุบ่อนทำลายสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้”

ในเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2557 องค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมเกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนขึ้นโดยมี 190 ประเทศเข้าร่วม ณ เมืองลิมา ประเทศเปรู เพื่อหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีต่อไปให้มากที่สุด การประชุมจบลงด้วยข้อตกลงประเด็นการลดการปล่อยคาร์บอน แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยต่อสู้กับสภาวะโลกร้อนได้เท่าไหร่นัก

นอกจากนี้การคอร์รัปชั่นและการค้าออนไลน์แบบผิดกฎหมายยังเป็นภัยคุกคามต่อความพยายามในการอนุรักษ์สัตว์อีกด้วย  มีการประมาณมูลค่าจากอุตสาหกรรมการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายได้ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลล่าสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งเป็นการค้าแบบผิดกฎหมายที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 รองจากการค้ายาเสพติด เหตุเพราะความต้องการนำสัตว์ป่าไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ของที่ระลึก ส่วนผสมในยา หรือแม้กระทั่งอาหารและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ไม่ต้องสงสัยว่าเรากำลังต่อกรกับความโลภของมนุษย์ที่ไม่มีวันจบสิ้น แต่การปกป้องและอนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ก็เป็นการต่อสู้ที่เรายอมแพ้ไม่ได้

และสัตว์ป่าต่อไปนี้คือสัตว์ป่าที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปในปี พ.ศ.2558

เสือดาวอามัวร์


(SEBASTIEN BOZON/AFP/Getty Images)

เสือดาวอามัวร์ถูกล่าเพราะรูปร่างที่สวยงาม ขนด่าง ซึ่งในตระกูลแมวป่านั้น เสือดาวอามัวร์เป็นสัตว์หายากมากที่สุดและใกล้สูญพันธุ์ไปจากโลกเต็มที พวกมันอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างฝั่งตะวันออกที่ไกลในรัสเซียกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ปัจจุบัน มีเสือดาวอามัวร์ประมาณ 30 ตัวหลงเหลืออยู่ในป่าแถบนั้น เพราะสัตว์ชนิดนี้กำลังเผชิญกับการรุกล้ำและถูกทำลายที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังไม่มีอาหารมากพอ

ช้างสุมาตรา


(Wikimedia Commons)

ช้างสุมาตราคือช้างที่มีขนาดเล็กที่สุดในเอเชีย ปัจจุบันมีช้างสุมาตราอาศัยอยู่ในป่าอยู่ประมาณ  2,400 ถึง 2,800 ตัว แต่สิ่งที่น่าตกใจคือจำนวนประชากรของช้างชนิดนี้ลดลงกว่าร้อยละ 80 ในเวลาไม่ถึง 25 ปีเนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า ไม่มีแหล่งที่อยู่อาศัย และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้างบนเกาะสุมาตรา

อีกปัจจัยหนึ่งก็คืองาช้าง แม้ว่าช้างสุมาตราตัวผู้มีขนาดงาที่ค่อนข้างเล็ก แต่เหล่านักบุรุกยังคงลอบฆ่าสัตว์ชนิดนี้เพื่อนำงาช้างไปขายในตลาดมืด ทำการบิดเบือนอัตราส่วนเพศของช้างป่าและทำให้ในอนาคตช้างชนิดนี้ก็จะสูญพันธุ์ไป

กอริลลาตะวันตก


(GREG WOOD/AFP/Getty Images)

ถึงแม้ว่าการล่าและฆ่าสัตว์ชนิดนี้จะผิดกฎหมาย แต่เนื้อกอริลลาตะวันตกก็ยังเป็นที่ต้องการเพื่อนำไปเป็นอาหาร ดังนั้น พวกมันจึงถูกไล่ล่าต่อไปเรื่อย ๆ  ในขณะที่ลูกกอริลลาไร้แม่ก็จะถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยง

นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กอริลลาตะวันตกใกล้สูญพันธุ์นั่นก็คือเชื้อไวรัสมรณะอีโบลาที่คร่าชีวิตประชากรลิงป่าเฉพาะในอุทยาน Gabon's Minkébé ก็มีกอริลลาและชิมแปนซีตายไปมากกว่า ร้อยละ90 แล้ว

เสือไซบีเรียน

(Justin Sullivan/AFP/Getty Images)

เสือไซบีเรียนก็เป็นสัตว์ชนิดเดียวกับเสืออามัวร์ แต่พวกมันมีขนาดใหญ่และเป็นสัตว์ตระกูลแมวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งถูกล่าไปขายเพื่อเป็นยาแผนโบราณในประเทศจีน หรือแม้กระทั่งเป็นกีฬาการฆ่าเพื่อความสนุกสนานของมนุษย์

ส่วนการล่าสัตว์ การทำเหมืองแร่ การเผาป่า การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้คุณภาพและการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ก็เป็นภัยคุกคามต่อเสือไซบีเรียนอยู่ ซึ่งในปัจจุบันมีประชากรเสือไซบีเรียนอยู่ในป่าประมาณ 400-500 ตัว

กอริลลาภูเขา


(Brent Stirton/AFP/Getty Images)

กอริลลาชนิดนี้พบได้ในเทือกเขาวีรูงกา แถบชายแดนประเทศยูกันดา รวันดา สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกและในเขตหวงห้ามของอุทยานแห่งชาติ บวินดี ปัจจุบันเหลือกอริลลาภูเขาประมาณ 880 ตัวที่ต้องดิ้นรนสู้ชีวิตและเผชิญกับภัยคุกคาม เช่น การถูกล่าโดยพราน โรคร้าย และเหมืองถ่านหิน ก็ได้ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของกอริลลา 

ลิงอุรังอุตังสุมาตรา


(Sutanta Aditya/AFP/Getty Images)

ในช่วงที่มีการเผาป่าเพื่อนำพื้นที่ไปพัฒนาเป็นสวนปาล์ม ทำให้อุรังอุตังถูกรุกล้ำแหล่งที่อยู่อาศัยอยู่บนเกาะสุมาตราและมีอัตราลดลงเป็นที่น่าตกใจ ซึ่งการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและการนำพื้นที่ป่าไปพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรนั้น ทำให้สัตว์สายพันธุ์นี้อยู่ในสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในขั้นวิกฤติ

นอกจากนี้ลิงอุรังอุตังยังถูกล่าเพื่อกินเนื้อ และถูกจับมาเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อแสดงฐานะทางสังคม อุรังอุตังกำลังเผชิญหน้าอยู่กับอัตราการลดจำนวนลงของประชากรอย่างต่อเนื่อง เพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ได้ผล และการลักลอบค้าสัตว์ผิดกฎหมายที่มีมากขึ้น ขณะนี้จึงเหลือลิงอุรุงอุตังเพียง 7,300 ตัวในป่า

แต่เราสามารถร่วมกันปกป้องพวกสัตว์ป่าบนเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของทั้งช้างสุมาตรา อุรังอุตัง เสือและสัตว์ป่าอีกหลากหลายพันธุ์ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์ จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และการบุกรุกผืนป่าเพื่อทำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มได้

แรดชวา


ขอบคุณภาพจาก wikipedia.org

สัตว์ชนิดนี้เป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามมากที่สุดในแรดทั้ง 5 ชนิด ตลอดเวลาที่อินโดนีเซียตกเป็นอาณานิคม แรดชวาถูกฆ่าตายโดยนักล่ารางวัล และการล่าก็มีเพิ่มขึ้นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอแรดนั้นมีราคาสูง เนื่องจากในสมัยนั้นนอแรดถูกเชื่อว่าเป็นวัตถุในการปรุงยารักษาตามแบบโบราณ ปัจจุบันแรดชวาเหลือเพียง 35 ตัวในอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลน ชวา ประเทศอินโดนิเซีย

แรดสายพันธุ์นี้มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์เนื่องจากภัยธรรมชาติ ถูกพรานไล่ล่า โรคร้าย และความไม่หลากหลายทางพันธุกรรม 

เต่ามะเฟือง


(Cameron Spencer/AFP/Getty Images)

เต่ามะเฟืองเป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นสายพันธุ์ที่มีการอพยพมากที่สุด ประชากรของเต่ามะเฟืองลดลงจนน่าเป็นห่วงในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการประมงแบบทำลายล้าง การกินขยะพลาสติก การขโมยไข่ และการสูญเสียที่อยู่อาศัยเนื่องจากการขยายตัวของชายฝั่งทะเลเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งนั่นรบกวนและทำลายสถานที่วางไข่ของเต่า

ซาวลา หรือ วัวหวูกว่าง


(World Wildlife Fund/Courtesy)

ซาวลาเป็นที่รู้จักในอีกชื่อคือ ยูนิคอร์นแห่งเอเชีย ปัจจุบันไม่มีค่อยมีใครพบมันในป่าแล้ว และก็ไม่มีสัตว์ชนิดนี้อาศัยในสวนสัตว์อีกด้วย (ภาพถ่ายซาวลาในภาพนี้นั้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปีที่ช่างภาพพบซาวลาและสามารถจับภาพมันได้) ประชากรซาวลาปัจจุบันน่าจะอยู่ระหว่าง 10-100 ตัว เจ้ายูนิคอร์นแห่งเอเชียนี้ถูกล่าเพื่อนำไปทำเป็นยาแผนโบราณในประเทศจีน ส่วนประเทศเวียดนามและลาวก็ชอบบริโภคซาวลาเป็นอาหาร

นอกจากนี้ มันยังสูญเสียแหล่งอยู่อาศัยและความไม่หลากหลายทางพันธุกรรม ทั้งสองสิ่งนี้ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดลงของประชากรซาวลาด้วย

วากีตา


(Wikimedia Commons)

ในฐานะที่เป็นสัตว์ทะเลที่หายากที่สุดในโลก วากีตาใกล้จะสูญพันธุ์แล้วด้วยจำนวนประชากรที่มีไม่ถึง 100 ตัวทั่วโลก

วากีตาพบได้ในบริเวณอ่าวแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ  น่าเศร้าที่วากีต้าทุก ๆ 5 ตัวจะมี 1 ตัวที่   จมน้ำตายเพราะตัวของมันพันกับอวน เพราะการใช้อวนล่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อีกชนิดหนึ่งซึ่งก็คือ ปลาจวดเม็กซิกัน ปลาชนิดนี้ถูกล่าอย่างผิดกฎหมายเพียงเพื่อเอากระเพาะของมันไปทำเป็นอาหารที่ขายได้ราคาสูงมาก

ตราบใดที่การค้าปลาจวดเม็กซิกันอย่างผิดกฏหมายนี้ยังดำเนินต่อไป จำนวนประชากรของวากีตาก็คงลดลงไปอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าการกระทำต่อปลาจวดเม็กซิกันจะผิดต่อกฎหมายการค้าอย่างยั่งยืนของสากลก็ตาม แต่ประชากรของวากีตาก็ยังคงลดลง

ร่วมกับเราเพื่ออนุรักษ์สิ่งมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์นี้ได้ ด้วยการยุติการประมงแบบทำลายล้างและผิดกฏหมาย เพื่อปกป้องวากีตาที่ใกล้สูญพันธุ์จากภัยคุกคาม

ลีเมอร์ไม้ไผ่

เราพบลีเมอร์ไม้ไผ่ได้ในป่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของมาดากัสการ์ ลีเมอร์ไม้ไผ่เป็นสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่สุดในบรรดาพันธุ์ลีเมอร์บนมาดากัสการ์ ขณะนี้เชื่อว่ามีลีเมอร์ไม้ไผ่หลงเหลืออยู่ในป่าเพียง 60 ตัวเท่านั้น และกระจายอยู่ตามสวนสัตว์ไม่เกิน 150 ตัว

และสาเหตุที่ทำให้เจ้าลีเมอรืไม้ไผ่มีแนวโน้มที่จะหายไปจากโลกก็เพราะสภาวะโลกร้อน การลักลอบตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียไม้ไผ่นั้นหมายถึงความตายของสัตว์ชนิดนี้

แรดดำ

(Horst Ossinger/Getty Images)

ในยุคแห่งการล่าอาณานิคมนั้น แรดดำถูกฆ่าทุก ๆ วัน เพื่อราคาของนอ หรือถูกฆ่าเป็นอาหาร แม้กระทั่งการฆ่าเป็นกีฬาเพื่อความสนุกสนาน จนกระทั่งแรดสายพันธุ์นี้ได้รับการพิจารณาให้เป็นสัตว์สำคัญต่อการท่องเที่ยวของประเทศในทวีปแอฟริกาเพื่ออนุรักษ์พวกมันไว้

แต่น่าเศร้าที่แม้ว่าจะมีความพยายามอย่างยิ่งในการอนุรักษ์แรดชนิดนี้เอาไว้ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะยังมีการรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัย เนื่องจากความต้องการนอแรดเพิ่มขึ้นในตลาดมืด และการและการเปลี่ยนแปลงแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เนื่องจากปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ปัจจุบันแรดดำมีประชากรอยู่เพียง 4,848 ตัวในโลก

โลมาหัวบาตรหลังเรียบ แม่น้ำแยงซีเกียง

(Wikimedia Commons)

โลมาชนิดนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ แพนด้ายักษ์แห่งลุ่มน้ำ เจ้าสิ่งมีชีวิตสุดแสนฉลาดนี้พบมากที่สุดในแม่น้ำแยงซีเกียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในทวีปเอเชีย

แพราะการทำประมงเกินขนาด แหล่งอาหารที่ลดลง มลพิษและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเนื่องจากการสร้างเขื่อน  ทำให้ปัจจุบันเหลือโลมาหัวบาตรหลังเรียบอยู่เพียง 1,000-1,800 ตัว และมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์เหมือนกับ เรื่องราวน่าเศร้าของโลมาไป๋จี้ ญาติสนิทของโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ซึ่งถูกประกาศให้สูญพันธุ์เนื่องจากการกระทำของมนุษย์

นอกจากการล่าอย่างไม่ใส่ใจกับกฎหมายและศีลธรรมแล้ว อีกสาเหตุสำคัญที่เร่งให้สัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ คือ พฤติกรรมของมนุษย์ที่สร้างรอยเท้าคาร์บอนให้กับโลกของเรา นำไปสู่ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกอย่างเกินความจำเป็น เป็นต้นตอของการทำประมงเกินขนาด การบุกรุกผืนป่าเพื่อผลิตปาล์มน้ำมัน การสร้างมลพิษและขยะ และท้ายที่สุดคือการเสพติดพลังงานฟอสซิลที่สร้างภาวะเรือนกระจก ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของทั่วโลก ผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมมากที่สุดและเห็นผลที่ชัดเจนมากที่สุดคือ สัตว์ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง ยากแก่การปรับตัว ทำให้สัตว์ที่แสนมหัศจรรย์จะต้องสูญพันธุ์ไป

“ในความคิดผม เสือที่เด็ก ๆ อยากเห็น คือเสือซึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่ แต่ทุกวันนี้เรากลับปล่อยให้สัตว์เหล่านี้ตายไปด้วยเหตุผลที่ว่าเรากำลังยุ่งอยู่กับงานและไม่ว่างพอที่จะปกป้องพวกมัน ต่อไปลูกหลานของเราคงจะไม่เห็นมันในป่าอีกแล้ว และการอธิบายเรื่องเสือคงแย่พอ ๆ กับการที่จะต้องอธิบายเรื่องผู้พิทักษ์ฟันน้ำนมให้เด็ก ๆ ฟัง เพราะเสือได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง” –ไซมอน อีวานส์ นักแสดงตลกชาวอังกฤษ

ขอขอบคุณบทความโดย Hyacinth Mascarenhas จาก GlobalPost.com

Blogpost โดย Supang Chatuchinda แปลและเรียบเรียง -- กุมภาพันธ์ 9, 2558 ที่ 15:28

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/13-2558/blog/52065/




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2558 18:10:58 น.   
Counter : 1703 Pageviews.  


อีไอเอ/อีเอชไอเอ กลไกที่สร้างความชอบธรรมให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

เพราะเหตุใดนักวิชาการ และคนรักกระบี่หลายภาคส่วนถึงยังต้องมาถกกัน แม้ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำอีไอเอ/อีเอชไอเอ โครงการท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ จะสิ้นสุดไปแล้ว? และเพราะเหตุใดเรือหัวโทงอัตลักษณ์ของอันดามัน แหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุด ความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นความมั่นคงทางอาหารของไทย ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำติดอันดับโลก และความหลากหลายของชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของกระบี่ จึงถูกมองข้ามไปในอีไอเอ/อีเอชไอเอฉบับนี้

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นักวิชาการ ชาวกระบี่ และประชาชนคนรักกระบี่ได้รวมตัวกันถกถึงระบบกลไกอีไอเอ/อีเอชไอเอ กรณีถ่านหินกระบี่ เปิดรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ถือเป็นการชำแหละกระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีไอเอ/อีเอชไอเอ) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทําโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เผยให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมและไม่โปร่งใสของกระบวนการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ดูแล้วจะเอื้อต่อการสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการ จนไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กังวลต่ออนาคตของกระบี่ และไม่คำนึงว่าจะเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของกระบี่ที่แสนสวยงามจนได้ขนานนามว่าเป็นมรกตแห่งอันดามัน

หรือกระบี่ก็เป็นเพียงแค่อัญมณีชิ้นหนึ่งที่ไร้ค่าไร้ราคาในสายตาของกฟผ.

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทําโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ต. ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เพื่อขนถ่านหินไปใช้ที่โรงไฟฟ้า โครงการนี้มีการตัดไม้ป่าชายเลน และขนถ่านหินผ่านพื้นที่ป่าชายเลน แหล่งประมง แหล่งดำน้ำ พื้นที่ชุมชน ตลอดระยะเวลาการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของโครงการนี้ ชาวกระบี่ ชาวไทย นักท่องเที่ยว และทุกคนที่รักกระบี่ต่างออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา แต่ดูเหมือนว่าเสียงของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการนั้นจะเป็นเสียงที่กฟผ.ไม่ยอมรับฟัง จึงเป็นที่มาของความไม่ชอบธรรมและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นกับกระบวนการการจัดทำอีไอเอ/อีเอชไอเอ ที่แต่ละครั้งนั้นละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น การใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจา การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยที่ชุมชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ ท้ายที่สุดในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งสุดท้าย ชาวกระบี่ผู้ไม่เห็นด้วยจากหลายพื้นที่ได้มานั่งปิดปากแสดงอารยะขัดขืนต่อกลไกอันไม่ชอบธรรมเพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเเสียงของประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อปกป้องจังหวัดกระบี่ไม่มีใครฟัง สิ่งเหล่านี้คือความไม่ชอบธรรม ไม่โปร่งใส และไม่ชอบด้วยกฏหมาย ที่เป็นคำถามคาใจประชาชนว่ากระบวนการอีไอเอผ่านพ้นลุล่วงมาถึงจุดที่ใกล้อนุมัติโครงการเช่นนี้ได้อย่างไร

โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่สําคัญนอกเหนือจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ําปากน้ํากระบี่ที่เป็นแรมซาร์ไซต์แล้ว ยังเป็น พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมซึ่งมีผืนหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีสัตว์ที่ถูกคุกคามระดับโลกและระดับประเทศ ทําให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งผลิตอาหารและปอดเลี้ยงคนกระบี่ เป็นระบบนิเวศที่เกื้อหนุนให้สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อาศัยอยู่ และมีชาวประมงเรือเล็กใช้พื้นที่ทํากินกว่า ๔๐๐ ลํา การขนถ่านหินมีเส้นทางเดินเรือซ้อนทับกับเรือท่องเที่ยว ผ่านจุดดําน้ําที่สําคัญและผ่านตําแหน่งวางอุปกรณ์ทําการประมงของชาวประมงเรือเล็ก

ความหลากหลายทางชีวภาพและสังคมมากขนาดนี้…
ทำไมอีไอเอ/อีเอชไอเอไม่บอก

“อีไอเอระบุว่าหญ้าทะเลมีน้อยมาก ทั้งที่มีขนาดพื้นที่หญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดของไทย ไม่ศึกษาชนิดปลา กุ้ง หอย หมึก ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหาร มีแต่แพลงตอน และสัตว์หน้าดิน ขณะที่มหาลัยเล พบปลา 269 ชนิด เฉพาะแหลมหินที่เดียวที่จะสร้างท่าเทียบเรือพบ 173 ชนิด หอย 72 ชนิด เกาะปู หอย 42 ชนิด กุ้งและกั้ง 21 ชนิด พบที่ป่าชายเลนที่รายงานระบุว่าเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม” --- ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิเคราะห์ถึงรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอฉบับย่อ เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยมหาลัยเลของชุมชน

ไม่เพียงเท่านั้น ในรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอ ยังให้ความสำคัญของข้อมูลการประมงไว้น้อยมาก ทั้งที่คลองรั้วช่องแหลมหิน เป็นเสมือน “เมืองหลวงของการประมงแห่งอันดามัน”  เป็นพื้นที่สำคัญของการทำประมงชุมชนแถวนี้ เป็นตู้เอทีเอ็มของชาวบ้าน เป็นพื้นที่วิถีชีวิตและเศรษฐกิจของชาวบ้าน “ถึงแม้จะมีความอุดมสมบูรณ์มากเพียงนี้ แต่กฟผ.กลับอ้างว่าหากได้รับผลกระทบจะรองรับชดเชยด้วยการให้เลี้ยงปลากระชัง ซึ่งไม่สมเหตุสมผลและทดแทนไม่ได้กับความอุดมสมบูรณ์ที่กระบี่มี” นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าว

ไม่ใช่เพียงแค่ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังละเลยมิติทางสังคมของชุมชน กล่าวอ้างว่าไม่มีแหล่งโบราณคดี โดยที่ไม่ได้อธิบายให้เห็นประวัติศาสตร์ชุมชนที่มีความหลากหลาย เช่น อุรักละโวย ไทยพุทธ  และไทยมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีวันจัดการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ได้จัดตรงกับพิธีลอยเรือ ซึ่งมีความสำคัญกับชุมชน แสดงว่าไม่ให้ความสำคัญกับคนแต่อย่างไร รวมถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านของการประมงที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และขาดการกล่าวถึงเรือหัวโทงเป็นอัตลักษณ์ของอันดามัน

ผลกระทบต่อคลองปะกาสัย… ทำไมอีไอเอ/อีเอชไอเอไม่บอก

“ทางกฟผ.อ้างว่าไม่มีการขุดลอกคลอง แต่ช่องเดินเรือแหลมหินมีความตื้นเพียง  2.5 เมตร อ้างว่าจะลอยเรือรอน้ำขึ้น แต่ระยะเวลาที่ต้องรอให้เรือเข้านั้นชาวประมงจะทำมาหากินไม่ได้ อีกทั้งยังระบุทิ้งท้ายว่าหากมีการขุดลอกคลอง จะเป็นมาตรการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งที่อันที่จริงแล้วการขุดลอกร่องน้ำจะต้องใช้เวลา 8 ปี กว่าระบบนิเวศจะฟื้นคืนกลับมา นอกจากนี้ดูเหมือนว่ากฟผ.ยังลืมนึกถึงปริมาณน้ำหล่อเย็นที่ต้องทิ้งเป็นหลานแสนคิวต่อวันที่อาจต้องปล่อยลงคลองปะกาสัยที่แคบมาก แต่เป็นคลองของชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ” --- คุณณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร นักวิชาการอิสระวิเคราะห์เนื้อหาของรายงานอีไอเอ/อีเอชไอ

เมื่อมีการเปรียบเทียบเนื้อหาของรายงานอีไอเอ/อีเอชไอเอค.1 และค.3 ประเด็นสำคัญที่เป็นข้อถกเถียงคือ ขนาดของเรือขนส่งถ่านหิน จากเดิม3,000 เดทเวทตัน (กินน้ำลึก 3.5 เมตร) ในค.1 แต่ในค.3 เปลี่ยนเป็น 10,000 เดทเวทตัน (กินน้ำลึก 5.5 เมตร) วันละ 2 รอบ มีเรือนำ 2 ลำ และเรือนำเชือกอีก 1 ลำ “เห็นได้ชัดว่าที่ตั้งของโครงการไม่เหมาะสม ในบริเวณที่ใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่นี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่ประมง เกษตร การท่องเที่ยว พื้นที่สีเขียว การกำจัดปรอททำได้ยาก แม้จะใช้เทคโนโลยีระดับหนึ่ง แต่โครงการนี้ใช้เพียงระดับสี่เท่านั้น” คุณณัติกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร กล่าว

ไม่ต้องห่วงหากถ่านหินตกลงทะเล ทางกฟผ.จัดการได้! ด้วยการช้อนเก็บและใช้นักประดาน้ำ

“ถ้ามีถ่านหินร่วงหล่น จะต้องใช้นักประดาน้ำสักกี่คน ต้องใช้สวิงใหญ่ขนาดไหน จึงจะเก็บถ่านหินได้หมด กฟผ.จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ต่อผลกระทบเรื่องประมง เกษตร และการท่องเที่ยว  ทั้งที่การศึกษาวิจัยเสร็จสิ้นขั้นตอนแล้วยังไม่มีอะไรชัดเจน” ---  นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวถึงวิธีการจัดการของกฟผ.

นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์  เสริมว่า ในการแก้ไขปัญหาเรื่องถ่านหินตกลงทะเลระหว่างการขนส่ง ทางกฟผ.มีการจัดการด้วยการช้อนเก็บ และใช้นักประดาน้ำดำน้ำเก็บกู้ ซึ่งวิธีเช่นนี้จะยิ่งทำให้ถ่านหินฟุ้งกระจาย และยิ่งหากตกลงชายหาดด้วยไม่รู้ว่าจะมีวิธีจัดการอย่างไร

“หากเรือถ่านหินล่ม การท่องเที่ยวฝั่งอันดามันก็พังหมด ขณะนี้มีมติคณะรัฐมนตรีว่าห้ามใช้ป่าชายเลนโดยเด็ดขาดเพียงแต่ยังไม่ประกาศออกมา พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่สำคัญระดับโลก เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ หากสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นี่ได้ ก็สามารถสร้างที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย” รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล กล่าว

หลากหลายเสียงที่มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นเรื่องอีไอเอ/อีเอชไอเอ ของโครงการท่าเรือขนส่งถ่านหินกระบี่ในวันนี้ต่างเรียกร้องให้ภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย และกฟผ.ยุติโครงการที่จะคุกคามความอุดมสมบูรณ์ของกระบี่แห่งนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นยังมีพี่น้องจากมาบตาพุด จังหวัดระยองมากล่าวถึงความเดือดร้อนของตน และกังวลว่ากระบี่จะเป็นอีกประวัติศาตร์ที่ซ้ำรอย “ถ่านหินไปเกิดที่ไหน หายนะก็เกิดที่นั่น น้ำฟ้าไม่ได้กิน น้ำดินไม่ได้ใช้ ตั้งแต่มาบตาพุดมีอุตสาหกรรม มีท่าเรือ มีแต่ต้องรับกรรมจากกลุ่มทุนหลายๆ ชนิด เราคิดว่ากระบี่ควรเป็นแหล่งอาหารของประเทศไทย อย่าให้เหมือนระยอง เป็นความทุกข์ที่เจ็บปวดของคนระยอง ฝนตกลงมาเราจะแสบ ผมจะร่วง เมื่อมีท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้า อุตสาหกรรมจะตามไปแน่นอน และชะตาก็คงไม่หนีจากคนระยอง”

“หนูจะเอาเงินที่ไหนเรียนหนังสือ ถ้าพ่อจับปลาไม่ได้” นี่ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงเล็กๆ จากเยาวชนผู้เป็นอนาคตของกระบี่ แต่อนาคตของกระบี่ยังคงอยู่ในเงื้อมมือของกระบวนการอีไอเอ/อีเอชไอเอที่ไม่ชอบธรรม จากนี้ไปจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ชะตากระบี่ว่าจะให้อีไอเอ/อีเอชไอเอฉบับนี้ผ่านหรือไม่ แต่ยังไม่สายที่เราทุกคนจะมารวมพลังกันกำหนดอนาคตสีเขียวให้กับกระบี่และประเทศไทย ร่วมเปล่งเสียงรักกระบี่ให้ดังยิ่งขึ้นที่ HugKrabi.org และบอกกับกฟผ.ว่า ทางออกที่ยั่งยืนของพลังงานคือพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่การดึงดันเร่งผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยอย่างไม่ชอบธรรม

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- กุมภาพันธ์ 12, 2558 ที่ 17:10

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52097/




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2558 10:36:58 น.   
Counter : 956 Pageviews.  


รักเธอที่สุด…มหาสมุทรสุดที่รัก

ในวันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ ไม่ว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่คนกำลังมีความรัก จนมีคำกล่าวว่า “Love is in the air”ไอความรักกำลังอบอวลในอากาศ หากจะบอกว่าแทบจะหายใจเข้าหายใจออกก็มีแต่ความรักเป็นเสมือนออกซิเจนหล่อเลี้ยงหัวใจก็คงจะไม่เกินความจริงเท่าไรนักในวันนี้ แต่รู้ไหมคะว่าออกซิเจนที่เป็นลมหายใจของเรานี้ มากกว่าครึ่งหนึ่งนั้นเป็นออกซิเจนที่มหาสมุทรสร้างขึ้น ในวันวาเลนไทน์วันนี้เราจึงอยากให้คุณกุมมือคนข้างๆ มาร่วมกันโอบกอดท้องทะเล แบ่งกันความรักให้กับมหาสมุทรและผองเพื่อนสัตว์ทะเลใต้เกลียวคลื่น เพราะความรักจากคุณก็ช่วยต่อลมหายใจให้มหาสมุทรได้เช่นกัน 

รู้ไหมคะว่าขณะนี้มหาสมุทรของเรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามจนเข้าใกล้วิกฤต ไม่ว่าจะเป็นจากการประมงแบบทำลายล้างที่ทำลายระบบนิเวศจนเกินกว่าธรรมชาติจะฟื้นฟูได้ทัน  โดยในทุกปีตาข่ายจับปลาและอวนลากได้คร่าชีวิตวาฬ และโลมาไม่น้อยกว่า 300,000 ตัวทั่วโลก ปัญหามลพิษทั้งจากการทิ้งลงทะเลโดยตรง มลพิษจากน้ำเสีย รวมถึงจากการชะล้างมลพิษทางอากาศและพื้นดินของน้ำฝนที่ไหลลงสู่ทะเล และท้ายที่สุดสภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกปีนั้นทำให้อุณหภูมิของท้องทะเลสูงขึ้น และทำให้น้ำทะเลมีภาวะเป็นกรด คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งถูกดูดซับโดยน้ำในมหาสมุทร ทั้งความเป็นกรดและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ทะเลมีสภาวะที่เหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์ทะเลน้อยลง และส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรวม สัตว์น้ำบางชนิดไม่สามารถรอดชีวิตได้ในอุณหภูมิและกระแสน้ำที่แปรเปลี่ยน เช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ทุกสิ่งที่เราทำบนผืนดินนั้นสะเทือนถึงผืนทะเลได้มากกว่าที่เราคิด ดังคำกล่าวที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว”

Love is in the air, and in the ocean! แสดงความรักต่อคนที่คุณรักแล้ว อย่าลืมแบ่งปันความรักให้กับมหาสมุทรด้วยนะคะ มาปกป้องมหาสมุทรร่วมกัน เพราะหากปราศจากมหาสมุทรแล้ว โลกใบนี้ก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เช่นกัน

ช่วยกันแชร์รูปน่ารักๆ นี้แล้วชวนทุกคนมารักและปกป้องมหาสมุทรร่วมกันนะคะ

© Greenpeace / Paul Hilton

© Greenpeace / Paul Hilton

© Greenpeace / Paul Hilton


© Greenpeace / Paul Hilton

© Greenpeace / Paul Hilton
© Greenpeace / Paul Hilton
    
Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- กุมภาพันธ์ 13, 2558 ที่ 15:04
ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52112/




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2558 10:31:47 น.   
Counter : 1037 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com