กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

สุขภาพ: ภัยเสี่ยงที่มาพร้อมกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“….เหยื่อมลพิษแม่เมาะสิ้นลมอีกรายจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์”  (ผู้จัดการออนไลน์ 21 ธันวาคม 2557)

ไม่มี “ถ่านหินสะอาด” อยู่จริงบนโลกนี้ ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใดที่สะอาดอย่างแท้จริง โรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ละโรงนั้นต่างปล่อยสารพิษอันตรายหลากหลายชนิดออกมา ทำให้เกิดสารพิษตกค้างในดิน แหล่งน้ำ และมลพิษทางอากาศ รวมถึงก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วย และซ้ำร้ายอาจถึงชีวิต ลองมาทำความรู้จักกับอันตรายที่แฝงมากับถ่านหินที่ซุกซ่อนภัยมืดคุกคามสุขภาพของผู้คน แล้วอาจลองตั้งคำถามให้ภาครัฐได้คิดอีกสักนิดว่า ถูกแล้วหรือที่จะผลักดันพลังงานถ่านหินโดยที่ไม่สนใจกับสุขภาพของประชาชน

ผลจากการศึกษาวิจัยของกลุ่มแพทย์ในสหรัฐอเมริกา องค์กรแพทย์เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (Physicians for Social Responsibility: PSR)  ได้เผยว่ามลพิษจากการเผาผลาญถ่านหินนั้นคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ซึ่งสำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกานั้นมีอัตราการเสียชีวิตจากมลพิษถ่านหินสูงถึงหลายหมื่นคนต่อปี และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคทางระบบประสาท ทางเดินหายใจ หอบหืด โรคหัวใจ และอาจเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็ง ด้วยมลพิษจากถ่านหินสูงถึงสี่ในห้าของสาเหตุการเสียชีวิตทั่วสหรัฐอเมริกา

เหมืองถ่านหิน ดังเช่นเหมืองของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะนั้นเป็นแหล่งกำเนิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจในคนงานเหมือง และทำลายสิ่งแวดล้อมรอบตัวเหมืองและโรงไฟฟ้า  ทั้งดิน น้ำ และอากาศที่อยู่ในกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก็ต่างได้รับมลพิษปนเปื้อน อีกทั้งยังปลดปล่อยสารพิษมหาศาลไปในรัศมีไกล ชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงไฟฟ้าต่างได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวัน ทั้งทางสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ ล่าสุดเมื่อ 21 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ผู้ป่วยจากสารพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ได้เสียชีวิตลงอีกราย ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยเพียงคนเดียวที่ต้องเป็นเหยื่อสังเวยชีวิตให้กับพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นรวม 20 อีกทั้งยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพทั้งที่ต้องเผชิญกับอาการป่วยด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคทางระบบทางเดินหายใจ

ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมและชุมชนในบริเวณโรงไฟฟ้าแม่เมาะ
เชื่อว่าเป็นผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้

จากเหมืองขึ้นสู่ท้องฟ้า จากการขุดเจาะไปจนถึงการเผาไหม้ ก่อให้เกิดมลพิษในทุกขั้นตอนการผลิต โรงไฟฟ้าถ่านหินปลดปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ โดยมลพิษหลักนั้นได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ ฝุ่น และปรอท ซึ่งไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะใช้ดักจับปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพอย่างรุนแรง นอกจากนี้ยังมีสารโลหะหนักต่างๆ เช่น อาร์เซนิก แบรีเลี่ยม แคดเมี่ยม โครเมี่ยม ตะกั่ว แมงกานีส นิกเกิล เรเดี่ยม เซลีเนี่ยมและโลหะชนิดอื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบอยู่ในผงฝุ่นที่ออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วย  สารพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นจะวนเวียนอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น เมื่อคนในชุมชนบริโภคปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษเข้าไป คนก็จะได้รับสารพิษนั้นเข้าสู่ร่างกาย

ปอดสีดำ ผลพวงจากฝุ่นผงของถ่านหิน

มีผลการวิจัยออกมาว่า หนึ่งในสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด คือ ฝุ่นผงจากถ่านหิน โดยการสูดหายใจเอาฝุ่งผงจากถ่านหินเข้าสู่ปอดนั้นสามารถทำให้คนงานเหมืองถ่านหินเป็นโรคปอด หรือที่เรียกว่า “ปอดสีดำ” (black lung) ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ฝุ่นผงถ่านหินนั้นฝังตัวอยู่ในปอด ทำให้หายใจได้ลำบาก การวิจัยระบุว่าโรคนี้เกิดขึ้นกับร้อยละ 2.8 ของคนงานเหมืองถ่านหิน และร้อยละ 0.2 ของคนงานถ่านหินมีรายแผลเป็นในปอด ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงที่สุดของโรคนี้ โดยในแต่ละปีนั้นมีผู้เสียชีวิตเกือบ 400 คน จากอาการปอดสีดำนี้



ภาพผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ และเสียชีวิตแล้วหลายราย

ถ่านหินสะอาดคือความพยายามของภาคอุตสาหกรรมเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ที่สกปรก เป็นคำประดิษฐ์ของอุตสาหกรรมถ่านหินเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินสกปรกน้อยลงนั้นมีราคาสูงมาก และหากภาครัฐยังคงเสพติดอยู่กับพลังงานถ่านหิน ประชาชนอาจต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะลบปัญหาด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมออกไปได้ทั้งหมด

โรงไฟฟ้าถ่านหินทำให้ทุกคนตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อโรคภัยต่างๆ อันเกิดขึ้นจากมลพิษของถ่านหิน ไม่ว่าจะเป็นอายุเท่าใด หรือมีร่างกายแข็งแรงเพียงใด ก่อนจะเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ภาครัฐและผู้กำหนดนโยบายควรใคร่ครวญสักนิดว่า ควรแล้วหรือที่จะเติมปอดของประชาชนด้วยสารพิษ และเติมมลพิษร้ายสู่สิ่งแวดล้อม คุ้มแล้วหรือที่จะเอาสุขภาพของประชาชนไปแลกกับไฟฟ้าทั้งที่มีทางเลือกที่ยั่งยืนและปลอดภัยกว่าอย่างพลังงานหมุนเวียน

ร่วมเป็นอีกพลังเสียงผลักดันยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ HugKrabi.org

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- กุมภาพันธ์ 4, 2558 ที่ 15:28

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52033/




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2558 13:03:06 น.   
Counter : 885 Pageviews.  


สาส์นจากแอนตาร์กติก : อย่าให้น้ำมันทำร้ายเหล่าเพนกวินอีก

หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่าเมื่อวันที่ 20 มกราคมของทุก ๆ ปี เป็นวัน ระลึกถึงเพนกวิน “National Penguin Awareness Day” ซึ่งวัตถุประสงค์ของวันระลึกถึงเพนกวินนี้ก็คือ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเหล่านกเพนกวิน ทั้งเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว และภาวะโลกร้อนมีแต่จะวิกฤติมากขึ้น

นกเพนกวินจักรพรรดิ รวมตัวกันบริเวณอ่าวเซนต์แอนดรูว์ ทางใต้ของรัฐจอร์เจีย

นกเพนกวินทั่วโลกมีทั้งหมด 17 สายพันธุ์ ตั้งแต่เพนกวินสายพันธุ์ใหญ่อย่างเพนกวินจักรพรรดิ ไปจนถึงสายพันธุ์เล็กอย่างเพนกวินสีน้ำเงิน ซึ่งทุกสายพันธุ์อาศัยอยู่บริเวณซีกโลกใต้ เจ้านกหน้าตาน่ารักมีครีบคล้ายปลาเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบนิเวศของมหาสมุทร เนื่องจากเป็นทั้งผู้ล่าและผู้ถูกล่าในห่วงโซ่อาหาร พวกมันกินปลา กุ้งตัวเล็ก ๆ รวมทั้งหมึก ในขณะเดียวกัน เพนกวินก็เป็นอาหารให้กับวาฬและแมวน้ำอีกด้วย

บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง เชลล์ ยังคงไม่ล้มเลิกแผนการที่จะขุดเจาะน้ำมันในทวีปอาร์กติกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของ หมีขาว สิงโตทะเล แมวน้ำ รวมถึงสุนัขจิ้งจอกอาร์กติก แม้จะมีเสียงคัดค้านจากกว่า 6.6 ล้านเสียงทั่วโลก ผ่านทางSavethearctic.org และต้องการหยุดยั้งแผนของเชลล์ในครั้งนี้ เพราะอาร์กติกมีน้ำมันให้พวกเขาใช้ได้เพียงแค่ 3 ปีของปริมาณการใช้น้ำมันทั้งโลกเท่านั้น  ซึ่งแม้ว่าจะมีบริษัทน้ำมันหลายชาติถอนตัวออกจากการสำรวจน้ำมันที่อาร์กติกแล้ว แต่เชลล์ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านใด ๆ โดยมีแผนจะขุดเจาะน้ำมันในฝั่งอลาสกาของภูมิภาคอาร์กติกในฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

ล่าสุด โครงการแผนขุดเจาะน้ำมันที่อาร์กติกผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาแล้ว เรากำลังส่งเสียงไปให้ถึงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ท่านใช้สิทธิ์ปกป้องอาร์กติกจากภัยร้ายแรงครั้งนี้

แม้ว่าน้ำมันนั้นจะทำให้ยานพาหนะแล่นได้ ทำให้การคมนาคมจึงสะดวกสบายขึ้นก็ตาม แต่การขุดเจาะน้ำมันที่กำลังจะเป็นปัจจัยในการเร่งให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายเร็วขึ้นนั้น เป็นภัยร้ายแรงที่อยู่อาศัย รวมถึงชีวิตของสัตว์ในอาร์กติกทั้งหมด

แล้วเกิดผลกระทบอะไรกับนกเพนกวินที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในทวีปอาร์กติก ?

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับอาร์กติกไม่ได้ส่งผลกระทบอยู่แค่เพียงในอาร์กติกเท่านั้น แม้จะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแถบแอนตาร์กติกหรือขั้วโลกใต้ที่ห่างไกลออกไปอีกซีกโลก แต่เพนกวินก็ไม่รอดพ้นจากภัยของการขุดเจาะน้ำมันในทวีปอาร์กติกที่กำลังจะเกิดขึ้น และบทเรียนจากผลกระทบของเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นกับนกเพนกวินเหล่านี้น่าจะเป็นบทเรียนที่แสนล้ำค่าให้กับอนาคตของภูมิภาคอาร์กติก หากมีการขุดเจาะน้ำมันเกิดขึ้น

ภัยจากน้ำมัน

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2543 นกเพนกวินแอฟริกันต้องรับเคราะห์จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วจากเรือ เทรเชอร์ หลายพันตันบริเวณนอกชายฝั่งเคป ทาวน์ แอฟริกาใต้ ระหว่างเกาะร็อบเบน และเกาะเดสเซน ซึ่งเกาะทั้งสองเป็นสถานที่ผสมพันธุ์หลักของเพนกวิน

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนั้นเพนกวินที่รอดชีวิต 20,000 ตัว ต้องเข้ารับการรักษาเนื่องจากทั้งตัวถูกเคลือบไปด้วยน้ำมันดิบ  เนื่องด้วยเจ้านกเพนกวินมีขนสองชั้น ชั้นด้านในเป็นขนหนานุ่มป้องกันความหนาวในฤดูหนาว ส่วนขนชั้นนอกจะมีน้ำมันตามธรรมชาติเคลือบไว้เพื่อเป็นขนกันน้ำ แต่เมื่อขนของมันถูกเคลือบน้ำมันดิบแล้ว ขนของมันจึงไม่สามารถกันน้ำและอากาศหนาวได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ ‘เทรเชอร์’ นี้ยังมีข่าวดีให้พอชื่นใจบ้าง เมื่อเหล่าอาสาสมัครกว่า 12,500 คน จาก The South African Foundation for the Conservation of Coastal Birds(SANCCOB) สามารถช่วยชีวิตนกเพนกวินแอฟริกันที่เคยถูกจดทะเบียนเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์ได้เกือบทั้งหมด

เจ้าหน้าที่กำลังทำความสะอาดนกเพนกวินสีน้ำเงิน เพื่อล้างคราบน้ำมันออกจากขน

เช่นเดียวกับเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ‘รีน่า’  ในปี พ.ศ.2554 เมื่อเรือรีน่าที่บรรทุกน้ำมันดิบ 1,700 ตัน น้ำมันเรือดำน้ำ200 ตัน รวมทั้งสารพิษอีกหลายชนิด ล่มที่ทัวรังก้า ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นอุบัติเหตุทางสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดของนิวซีแลนด์ นอกจากสารพิษที่จมลงทะเลจะทำลายสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลแล้ว ครั้งนี้น้ำมันที่รั่วไหลจากเรือรีน่าก็ทำร้ายนกเพนกวินสีน้ำเงินเช่นกัน

เพนกวินสีน้ำเงินที่เข้ารับการรักษาหลังจากเหตุการณ์ ‘รีน่า’

ขณะนี้ ถ้าโครงการขุดเจาะน้ำมันในอาร์กติกได้รับการอนุมัติแล้วล่ะก็ แม้ไม่ได้อยู่ในทวีปอาร์กติกก็ตาม แต่เพนกวินก็จะเสี่ยงต่อภัยจากน้ำมันดิบรั่วมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมน้ำมันมีการขนส่งไปทั่วโลก

ภัยจากสภาวะโลกร้อน

อาร์กติกเปรียบเหมือนเครื่องปรับอากาศของโลกและยังรักษาสมดุลของสภาพอากาศและน้ำทะเล  แต่ตอนนี้ อาร์กติกกำลังจะกลายเป็นทวีปไร้น้ำแข็งไปเสียแล้ว หลังจากนักวิทยาศาสตร์และลูกเรือกรีนพีซ ลงสำรวจพื้นที่อาร์กติก เพื่อสังเกตการละลายของน้ำแข็ง แล้วก็พบสิ่งที่น่าตกใจ

น้ำแข็งละลายเร็วกว่าปกติ! เพราะกระแสน้ำอุ่นขึ้น

แล้วเพนกวินตกอยู่ในอันตรายได้อย่างไร คำตอบก็คือ ภาวะโลกร้อนนั้นเป็นสาเหตุทำให้น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาละลายเช่นกัน ส่งผลให้จำนวนนกเพนกวินลดน้อยลง เพราะพวกมันต้องวางไข่บนผืนน้ำแข็งบางซึ่งเสี่ยงมากที่น้ำแข็งจะแตก หรือเมื่อลูกนกฟักออกมาแล้วพบกับสภาพอากาศแปรปรวนเนื่องจากภาวะโลกร้อน บางครั้งอากาศหนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาก บางครั้งอุณหภูมิสูงกว่าเยือกแข็งจะมีฝนตกลงมา ลูกนกเพนกวินจำนวนมากที่ยังไม่มีขนชั้นนอกที่กันน้ำได้ก็จะแข็งตาย

ลูกนกเพนกวินที่ยังไม่มีขนชั้นนอก

การขุดเจาะน้ำมันที่อาร์กติกก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้โลกร้อนขึ้นอีก เพราะนอกจากการขุดเจาะน้ำมันบนน้ำแข็งจะทำความสะอาดได้ยากแล้ว สภาพแวดล้อมของอาร์กติกยังเป็นอุปสรรคต่อการขุดเจาะน้ำมัน เช่น การชนกันของภูเขาน้ำแข็งกับแท่นขุดเจาะ ซึ่งวิธีการจัดการของบริษัทคือการใช้เรือไฟละลายน้ำแข็งหากมีภูเขาน้ำแข็งเข้ามาใกล้   ซึ่งเรือไฟนี้ไม่ใช่วิธีที่เข้าท่าเอาเสียเลย

สภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้กุ้งที่เป็นอาหารของเพนกวินและสัตว์อีกหลายชนิดมีจำนวนลดลง  ทำให้ให้เพนกวินขาดแหล่งอาหารจนจำนวนประชากรเพนกวินลดลง ส่วนวาฬและแมวน้ำซึ่งกินเพนกวินเป็นอาหารก็จะได้รับผลสะเทือนไปด้วย

แม้จะไม่ได้อาศัยอยู่ในทวีปอาร์กติก นกเพนกวินเองก็จะได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะน้ำมันเหมือนกับเพื่อนหมีขาว จิ้งจอกอาร์กติก และสิงโตทะเล  ดังคำที่กล่าวไว้ว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว”

เราช่วยเพนกวินได้อย่างไรบ้าง

เราสามารถช่วยเหลือนกเพนกวินเหล่านี้ได้ ด้วยการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่สกปรก หันไปสู่ทางออกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างการใช้พลังงานหมุนเวียน ยุติการเผาไหม้พลังงานสกปรก ที่เป็นตัวการทำให้น้ำแข็งละลายส่งผลกระทบต่ออาร์กติกตั้งแต่แรกเริ่ม

เหล่านกเพนกวินคงจะดีใจมาก ถ้าพวกเขารู้ว่าคุณกำลังช่วยเหลือพวกเขาอยู่!

ร่วมลงชื่อกับเราเพื่อเป็นอีกหนึ่งเสียงในการร่วมปกป้องอาร์กติก

Blogpost โดย Supang Chatuchinda -- กุมภาพันธ์ 3, 2558 ที่ 16:17

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/52024/




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2558 12:37:58 น.   
Counter : 1573 Pageviews.  


ข่าวดีครั้งใหญ่สำหรับคนรักทะเล สหประชาชาติเดินหน้าทำพันธะสัญญาปกป้องมหาสมุทรเขตทะเลหลวง

A Long-snouted Spinner Dolphin (Stenella longirostris) swims in the waters off Sri Lanka. 04/18/2010 © Paul Hilton / Greenpeace

เย้! ถึงเวลาที่คนรักทะเล #OceanLovers ทั่วโลกต้องฉลองครั้งใหญ่ หลังจากที่ต่อสู้ด้านนโยบายกันมาหลายปี และสี่วันแห่งการเจรจาต่อรองอันหนักหน่วง ที่สหประชาชาติ เราก็ได้รับข่าวดีครั้งใหญ่ ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา รัฐบาลทั่วโลกต่างตกลงร่วมกันพัฒนาพันธะสัญญาทางกฎหมายในการปกป้องสัตว์ทะเลในทะเลที่ไม่ได้อยู่ในอาณาเขตของประเทศใด การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์นี้เป็นการเริ่มกระบวนการกำหนดกฏเกณฑ์ในการสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในทะเลหลวง อันเป็นพื้นที่ทางทะเลที่เป็นของเราทุกคน ข้อตกลงนี้เป็นการระบุว่าจำเป็นต้องมีการประเมิณผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก่อนอนุญาตให้มีการทำกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่มหาสมุทรดังกล่าว

ข่าวดีที่ถือเป็นก้าวสำคัญของวงการสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ คงเกิดขึ้นไม่ได้หากเราทุกคนทั่วโลกไม่ได้ร่วมกันเรียกร้องให้มีการปกป้องมหาสมุทรเขตทะเลหลวง ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฎการณ์แฮชแทค #OceanLovers จากการทวีตกว่า 6,000 ข้อความ และอีกหลายพันข้อความจากเฟสบุ๊ค ที่ช่วยทำให้ผู้แทนสหประชาชาติรับรู้ว่าโลกต้องการให้พวกเขาหันมาลงมือปกป้องมหาสมุทร

สหประชาชาติได้ตระหนักแล้วว่า การดูแลมหาสมุทร คือการปกป้องคุ้มครอง ไม่ใช่เพียงแค่การจัดการกับ “การทำลายมหาสมุทร” และทรัพยากรทางทะเล นี่เป็นโอกาสดีในการกำหนดมาตรฐานระกับโลกในการปกป้องมหาสมุทร และเชื่อมโยงการทำงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร พัฒนาการจัดการและร่วมมือกันระหว่างการทำประมง เหมือง การขนส่ง และด้านการจัดการมลพิษ แน่นอนว่านี่เป็นการดำเนินการครั้งใหญ่ และการกำหนดกฎเกณฑ์ที่จะคุ้มครองพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดบนโลกนั้นจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย อีกทั้งยังจำเป็นต้องใช้เวลากว่ากฏเกณฑ์เหล่านี้จะถูกนำมาปฏิบัติใช้จริงในท้องทะเล และคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการนั้นในที่สุดได้เกิดขึ้นแล้ว ที่นี่ เวลานี้ #waveofchange

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อเริ่มลงมือ และกลายเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เมื่อทำสำเร็จ – บ็อบ ฮันเตอร์

เป็นเวลาเกือบสิบปีมาแล้วที่เราเริ่มผลักดันให้รัฐบาลของโลกหันมากำหนดเครือข่ายอนุรักษ์ทางทะเลระดับโลก ที่ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 40 ของมหาสมุทรโลก ผ่านการเผยแพร่รายงาน Roadmap to Recovery นี้

Proposal for a global network of marine reserves - click to view interactive map

การเสนอตำแหน่งพื้นที่เครือข่ายอนุรักษ์ทางทะเลระดับโลก ที่ครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 40 ของมหาสมุทรโลก คลิกที่นี่เพื่อดูแผนที่

การเสนอที่เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์นี้แสดงให้เห็นว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์นั้นมีเพียงพอที่จะสร้างระบบพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลที่มีประสิทธิภาพได้ หลังจากนั้น อนุสัญญาว่าด้วยความหลากลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity) ได้นำเอาเกณฑ์แบบเดียวกันนี้มาปรับใช้ และเริ่มระบุตำแหน่งพื้นที่ในทะเลหลวงที่ต้องการการคุ้มครอง (รวมถึงน่านน้ำบริเวณรอบขั้วโลกเหนือที่เราต้องการกำหนดให้เป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติของโลกบริเวณอาร์กติก). แน่นอนว่าการกำหนดวิสัยทัศน์เช่นนี้ออกมา เราจำเป็นต้องเพ่งเล็งว่าเครือข่ายดังกล่าวนั้นสามารถสร้างขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกลไลใดในการสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในน่านน้ำหลวง จากนั้นประเด็นนี้ และการรณรงค์เรียกร้องให้เกิดข้อตกลงว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณน่านน้ำหลวงของสหประชาชาติ (UN High Seas Biodiversity Agreement) จึงเกิดขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากหลายพันคนทั่วโลก

ในปี พ.ศ. 2555 ในที่สุดเราก็ผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ในแง่บวก จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNCSD) หรือ Rio+20 ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร นั่นก็คือ กำหนดเส้นตายในเดือนกันยายน ปี 2558 ที่สหประชาชาติจะต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับทะเลหลวงที่แสนสำคัญนี้

Postcard desk UN

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เส้นตายจาก Rio+20 งวดเข้ามา คนรักทะเลทั่วโลกได้ร่วมกันเรียกร้องให้ปกป้องมหาสมุทร ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามจากหลายต่อหลายประเทศ จนกระทั่งกลายเป็นกระแส และสามารถโน้มน้าวให้ประเทศมหาอำนาจต่างๆ ที่คัดค้านข้อตกลงนี้มาหลายปี หันมาเห็นชอบด้วย ประเด็นสำคัญที่คนรักทะเล #OceanLovers เรียกร้อง ให้รัฐบาลลงมือคือ “ข้อตกลงกำหนดเขตคุ้มครองทางทะเลหลวง” ซึ่งเพียงไม่กี่วันต่อมาพวกเขาก็ทำสำเร็จ

เราดีใจมากที่ทางสหประชาชาติเข้าร่วม จากที่เคยไม่เห็นด้วยมาหลายปี ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่า ข้อความหลายพันฉบับที่ส่งตรงไปยังเลขาธิการของสหประชาชาติ จอห์น เคอร์รี่ ซึ่งเป็นคนรักทะเลตัวยงเช่นกัน มีส่วนสำคัญต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2557 ที่ผ่านมา กรีนพีซและประเทศต่างๆ ทั่วโลก(รวมถึง สวีเดนเยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลี และ อาร์เจนตินา) ได้ร่วมกันส่งจดหมาย “Dear John” ไปยังสถานทูตอเมริกา ถึงเลขาธิการ จอห์น เคอร์รี โดยตรง เพื่อผลักดันให้เขาหันมา “ลงมือปกป้องทะเลหลวง”  ในช่วงการประชุม Our Ocean ในปี 2557u ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ของจอห์น เคอร์รี ได้รับข้อความกว่า 1,000 ข้อความภายในวันเดียว เรียกร้องให้เขา รับฟัง และลงมือเพื่อมหาสมุทร ต้องขอบคุณคนรักทะเล #OceanLovers จากทั่วโลกที่ร่วมกันเรียกร้อง ซึ่งทำให้จอห์น เคอร์รี ถึงกลับเอ่ยปากในงานประชุมว่า “กลุ่มการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องมหาสมุทรนั้นเป็นกลุ่มคนที่หัวรั้นมาก!”

ช่วงต่อไปของการรณรงค์นั้นจะต้องยากลำบากอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราจำเป็นต้องยืนหยัดร่วมกันเพื่อต่อสู้กับอุตสาหกรรมที่ทำลายมหาสมุทร อาทิกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังการจัดการอย่างหละหลวมขององค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค (RFMOs) ซึ่งทำให้จำนวนปลาส่วนใหญ่หายไปจากท้องทะเลอย่างน่าตกใจ

เรายังต้องดำเนินการอีกมากเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของการสร้างเครือข่ายเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลที่ครอบคลุมร้อยละ 40 ของมหาสมุทรของพวกเราทุกคน ผลของการประชุมอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นต้องได้รับการปรับใช้โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ภายในเดือนกันยายน ปีนี้ เพื่อที่จะก้าวต่อไป และดำเนินการเจรจาต่อรองข้อกำหนดตกลงทางกฎหมาย ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาปฏิบัติใช้ในภายหลัง การเดินทางเพื่อปกป้องมหาสมุทรได้เริ่มขึ้น และการขับเคลื่อนจากกลุ่มคนรักทะเลทั่วโลกก็เข้มแข็งขึ้น พร้อมที่จะสนับสนุนและผลักดันต่อสู้ต่อไปเพื่อท้องทะเล เราได้ก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ แต่เรายังต้องการความช่วยเหลือจากทุกคนเพื่อก้าวไปสู่ชัยชนะของท้องทะเลของพวกเราอย่างแท้จริง

ร่วมปกป้องมหาสมุทร

Blogpost โดย Sofia Tsenikli -- มกราคม 29, 2558 ที่ 11:38

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/51984/




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2558 13:06:04 น.   
Counter : 731 Pageviews.  


ความคืบหน้าพืชจีเอ็มโอไทย กับไพ่ใบสุดท้ายของบริษัทเมล็ดพันธุ์

หลังจากที่ “คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย” ได้มีมติร่วมกันในเรื่องพืชจีเอ็มโอว่าให้กลับไปใช้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2550 แต่เราจะวางใจได้เพียงไรตราบใดที่พระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพยังคงเป็นไพ่ใบสุดท้ายของบริษัทเมล็ดพันธุ์

จากมติดังกล่าวของครม.ทำให้พืช GMO หรือสิ่งมีชีวิตตัดต่อพันธุกรรม ยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขการทดลองภาคสนามที่เข้มงวด เช่น ต้องทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ต้องทดลองในสถานที่ของราชการเท่านั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ องค์กรสาธารณะประโยชน์ และนักวิชาการ นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรีต้องเป็นผู้อนุมัติให้มีการทดลองเป็นรายกรณีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ GMO และผู้ได้รับผลประโยชน์จึงเดินหน้าเต็มกำลังในการผลักดันพ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้แทน ซึ่งพ.ร.บ.ความปลอดภัยนี้ถือได้ว่าเป็นไพ่ใบสุดท้ายของผู้สนับสนุนพืช GMO

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 รศ.ดร.จิราภรณ์ ลิ้มปานานนท์ ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล และนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และมูลนิธิชีววิถี ได้แถลงข่าวในการประชุมเพื่อวิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน สิ่งแวดล้อม และภาคเศรษฐกิจและสังคมดังต่อไปนี้

หมวดความปลอดภัยทางชีวภาพ

  • การขาดความมีส่วนร่วมของภาคประชาชน – ในมาตรา 6 ได้กำหนดให้คณะกรรมการความปลอดภัยทางชีวภาพมาจากภาครัฐ 11 คน (ปลัดกระทรวงและอธิบดี) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 10 คนที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรี ซึ่งมาตรานี้เปิดช่องให้รัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในจำนวนเท่าใดก็ได้ เพื่อความโปร่งใส พ.ร.บ.ฯ ควรเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพคัดเลือกตัวแทนกันเอง นอกจากนั้นควรกำหนดจำนวนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ชัดเจน

  • ควรกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทที่มีผลประโยชน์จาก GMO

การควบคุมทั่วไป

  • มาตรา 17 ควรประกาศในลักษณะห้ามมิให้มีการผลิตหรือนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมทุกชนิด เว้นแต่จะได้ประกาศยกเว้นไว้แทนร่างฉบับปัจจุบันซึ่งระบุว่า “มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ห้ามผลิตหรือนำเข้า” เพราะตามมาตรา 17 นี้พ.ร.บ.ฯ จะคุ้มครองเฉพาะพืชที่ถูกประกาศ ซึ่งจะเปิดช่องให้การกับการผลิตและนำเข้าพืช GMO นอกรายการ

การขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

  • ควรกำหนดให้มีตัวแทนภาคประชาชน หรือองค์กรพัฒนาเอกชนเข้าไปเป็นคณะกรรมการ

  • การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกรณีคณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบรายงานประเมินความเสี่ยง (มาตรา 43) โดยผู้ยื่นคำขอขึ้นบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมเอง อาจเกิดปัญหาในการจัดการรับฟังความคิดเห็นและทำให้ไม่ได้รับทราบความเห็นที่แท้จริง จึงควรให้หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นกลางอื่นเป็นผู้จัดการรับฟังความคิดเห็น

  • ผลการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 43 จะถูกนำไปประกอบการพิจารณาโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบเท่านั้น (มาตรา 44) และหน่วยงานผู้รับผิดชอบไม่จำเป็นต้องรับฟังหรือปฏิบัติตามผลการรับฟังความคิดเห็นก็ได้

สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม

  • การพิจารณาความปลอดภัย หรืออันตรายที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมใช้เฉพาะข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน และต้องเกิดความเสียหายแล้วเท่านั้น (มาตรา 35, 46) ถือว่าขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายแคบเกินไปทั้งที่ Biosafety Protocol อนุญาตให้ใช้ดุลพินิจตามสมควรได้แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสามารถใช้เหตุผลด้านสังคมเศรษฐกิจ (Socio-Economic consideration) ได้ (Biosafety Protocol Act, 11.8, 26)

  • ร่าง พ.ร.บ. นี้ใช้บัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมเป็นกลไกในการบริหารจัดการ โดยหากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยฯ ก่อให้เกิดความเสียหาย ร่าง พ.ร.บ. นี้ไม่ได้กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยกำหนดให้ต้องมีการรับผิดชอบเฉพาะกรณีความเสียหายเกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยเท่านั้น (มาตรา 52) ซึ่งรูปแบบการกำหนดแยกประเภทสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่และไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยนั้นเป็นรูปแบบที่ไม่ปรากฏใน Biosafety Protocol หรือ Nagoya-Kuala lumper Supplement Protocol ดังนั้นการไม่กำหนดให้ต้องมีการรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยจึงอาจขัดกับวัตถุประสงค์ของ Biosafety Protocol หรือ Nagoya-Kuala lumper Supplement Protocol

ด้วยสภาวะทางการเมืองในปัจจุบันเป็นการยากที่เราจะทราบว่า พ.ร.บ. ความปลอดภัยทางชีวภาพ จะประกาศออกมาเมื่อไร แต่จากฉบับร่างที่ถูกนำมาเปิดเผยในงานแถลงข่าวก็พอจะเห็นได้ชัดเจนว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีช่องโหว่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ต้องการให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาโดยขาดการรับรู้และมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่นเดียวกันกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โปรดช่วยกันแชร์เรื่องนี้ออกไปให้เป็นกระแสสังคมเพื่อรักษาอธิปไตยบนผืนดินให้ลูกหลานของเราในวันหน้า


รู้ทัน GMO

ในช่วงนี้มีข่าวที่ไม่ดีนักเกี่ยวกับแอปเปิลที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ผู้ บริโภคพอจะหลีกเลี่ยงได้ไม่ยากด้วยการหันมาบริโภคผลผลิตในประเทศซึ่ง นอกจากจะปลอดภัยจากความเสี่ยงแล้วยังเป็นการลดการก่อมลภาวะจาก การขนส่งด้วย อย่างไรก็ตามนอกจากแหล่งกำเนิดของผลผลิตแล้วกระบวน การผลิตก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคควรจะรับรู้ซึ่งข้อมูลนี้จะแสดงอยู่บนสติก เกอร์เล็ก ๆ ที่ติดอยู่บนฉลากนั่นเอง

International Federation for Produce Standard ได้กำหนด ตัวเลขบนฉลากสำหรับการคำนวณราคา ณ จุดขาย (Price Look-Up) ซึ่ง ตัวเลขบนฉลากนี้นอกจากจะใช้ในการคิดราคาแล้วยังบอกถึงระบบการเพาะ ปลูกของผลผลิตนั้น ๆ ได้อีกด้วย

  • หากบนฉลากมีตัวเลขอยู่สี่หลัก หรือห้าหลักที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข “0” หมายความว่าผลผลิตนั้นปลูกขึ้นในระบบทั่วไปซึ่งจะใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง เช่น กล้วยที่ปลูกโดยใช้สารเคมีจะติดฉลากด้วยหมายเลข 4011

  • หากบนฉลากมีตัวเลขอยู่ห้าหลักและขึ้นต้นด้วยหมายเลข “8” หมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นพืชที่ถูกตัดต่อพันธุกรรม ดังนั้นกล้วย GMO จะติดฉลากด้วยหมายเลข 84011

  • หากบนฉลากมีตัวเลขอยู่ห้าหลักและขึ้นต้นด้วยหมายเลข “9” หมายความว่าผลิตภัณฑ์นั้นเป็นพืชปลูกในระบบอินทรีย์ ดังนั้นกล้วยอินทรีย์จะติดฉลากด้วยหมายเลข 94011

อย่างไรก็ตามเนื่องจากไม่มีการบังคับใช้ที่เข้มงวดในการติดหมายเลข “8” หรือ “9” ผู้ค้าส่วนมากจึงหลีกเลี่ยงการติดหมายเลข “8” เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าเป็นผลผลิต “ทั่วไป”

และที่น่ากลัวมากขึ้นไปอีกคือ ในปี 2557 International Federation for Produce Standard ได้กำหนดหมายเลขนำหน้าเพียงสองหมายเลขคือ หมายเลข “0” และหมายเลข “9” โดยไม่ได้ระบุหมายเลข “8” ไว้ในคู่มือผู้ใช้งานอีกต่อไป นี่หมายความว่าผู้บริโภคจะไม่สามารถทราบได้อีกต่อไปว่าพวกเขากำลังบริโภคอะไรอยู่


เรื่องราว - มกราคม 27, 2558

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/Thai-gmo-and-last-card/




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2558 13:10:32 น.   
Counter : 1211 Pageviews.  


เมื่อสาวนิวยอร์กวัย 23 ใช้ชีวิตโดยที่ไม่ผลิตขยะเป็นเวลาสองปี

หากลองคิดดูว่าในชีวิตประจำวันเรามีส่วนผลิตขยะมากเพียงใด หลายคนก็คงคิดว่าการที่จะใช้ชีวิตอยู่โดยไม่สร้างขยะนั้นเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ด้วยแล้ว ตัวอย่างง่ายๆ อย่างเช่นเพียงแค่เรากินชาไข่มุกสักแก้ว สิ่งที่เราจะได้มาก็คือ แก้วพลาสติก หลอด ฝาครอบแก้ว บ้างก็จัดเต็มมาด้วยถุงพลาสติกอีกชั้น และถุงกระดาษอีกชั้น รวมถึงกระดาษทิชชูที่ห่อแก้วกันเย็นมืออีก เรียกได้ว่า น้ำหนึ่งแก้วที่ซื้อมา เราได้สร้างขยะมากถึง 6 ชิ้นเข้าไปแล้ว ซึ่งขยะเหล่านี้บางชิ้นยังคงอยู่บนโลกของเรา ไม่ย่อยสลาย ถึงแม้เราจะจากโลกไปแล้วหลายสิบปี แล้วไหนจะพลาสติก โฟม และอื่นๆ ที่เป็นสิ่งห่อผลิตภัณฑ์ที่เราซื้อและบริโภคอีกจำนวนมาก แต่ถ้าบอกว่ามีสาวนิวยอร์กวัย 23 ใช้ชีวิตโดยที่ไม่ได้ผลิตขยะมาเป็นเวลาสองปีแล้ว คุณจะเชื่อไหม…?

Lauren Singer คือสาวอายุ 23 อาศัยอยู่ในเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยเธอเป็นนักศึกษาสาขาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เมื่อวันหนึ่งเธอตระหนักว่าชีวิตเธอเต็มไปด้วยพลาสติก ทั้งพลาสติกห่อของ ห่ออาหาร และทุกสิ่ง

เธอเริ่มหันมาทำยาสีฟันใช้เอง ใช้แปรงสีฟันที่ทำจากไม้ไผ่แทนที่พลาสติก ขณะที่เธอค้นหาข้อมูลที่เว็บไซท์www.zerowastehome.com/ ก็พบว่ามีคุณแม่พร้อมลูกสองคนสามารถทำได้ แล้วทำไมล่ะเธออยู่ตัวคนเดียวจะทำไม่ได้ และการค้นหาทางเลือกที่จะเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นขยะนี่เอง เธอก็ได้รับแรงบันดาลใจที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสิ่งรอบตัว ในที่สุดเธอก็ไม่ได้ตีกรอบว่าการใช้ชีวิตแบบไม่ผลิตขยะ (Zero waste) เป็นกรอบของชีวิต แต่เป็นไลฟ์สไตล์ที่เธอเลือกและสร้างสรรค์ขึ้น รวมถึงเป็นเป้าหมายที่สามารถทำได้ นอกเหนือจากเป็นการช่วยสิ่งแวดล้อมแล้ว ที่สำคัญคือ เธอยังมีเงินเก็บมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้น เวลาที่ไปซูเปอร์มาร์เก็ตเธอก็มีตัวเลือกแล้วในใจว่าจะซื้ออะไรบ้าง และสามารถทำให้ประหยัดเงินได้หลายร้อยดอลลาร์

นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์ไร้ขยะของเธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้เธอออกจากงาน หันมาเปิดบริษัทของเธอเอง ผลิตผงซักฟอกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมี และปรากฏว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากชาวอเมริกัน สร้างรายได้ให้กับเธอมากถึง 10,000 เหรียญสหรัฐฯ ภายในเวลา 48 ชั่วโมง และกำลังจะได้รับใบรับรองสินค้าปลอดสารพิษ USDA Organic Certified

หากสาวนิวยอร์กที่อยู่ท่ามกลางมหานครแห่งแสงสีสามารถทำได้ แล้วทำไมเราจะลองทำดูบ้างไม่ได้ อาจจะเริ่มจากสิ่งใกล้ๆ ตัว อาทิ การซื้อชาไข่มุกที่กล่าวตอนแรก หากเราพกพากระติกน้ำไปซื้อก็จะสามารถปฏิเสธขยะได้ หรือเพียงแค่ปฏิเสธขยะชิ้นอื่นๆ ให้ขยะให้น้อยลง ไม่ใช้หลอด ไม่ใช้ถุงพลาสติก ไม่ใช้ฝาครอบ เราหนึ่งคนก็จะสามารถลดขยะได้อย่างน้อย 3 ชิ้น และหากเราหลายพันคนร่วมมือกันล่ะก็ โลกของเราจะเบาขยะขึ้นกี่ชิ้น ลองคิดดูสิคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก Collectively.org [https://collectively.org/en/article/lauren-singer-zero-waste-life]

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มกราคม 5, 2558 ที่ 12:36

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/23/blog/51809/




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2558   
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2558 13:15:29 น.   
Counter : 1185 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com