กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

12 ภาพที่โลกให้ความสนใจ

Blogpost โดย Greenpeace Australia Pacific

แนวคิดการเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ คือหนึ่งในหลักการของกรีนพีซที่ยึดถึอปฏิบัติ และสิ่งเหล่านั้นปรากฏอยู่ในภาพถ่ายที่เราเผยแพร่

บ๊อบ ฮันเตอร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งของกรีนพีซ ผู้นำเสนอความคิด “Mind Bombs” ซึ่งหมายถึง ภาพที่มีพลังมากและเป็นที่จดจำของคน

ในโลกที่เต็มไปด้วยภาพดังเช่นทุกวันนี้ ภาพถ่ายยังคงมีอำนาจในการสร้างแรงบันดาลใจให้เราลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง เรามาลองมองย้อนกลับไปผ่านเลนส์ชมภาพต่างๆ ของกรีนพีซที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

ในปี พ.ศ.2514 การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของกรีนพีซ ตั้งแต่นั้นมาโลกก็ได้ตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นหนึ่งในความกังวลที่สำคัญ ไม่ต่างอะไรกับการที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตโลกร้อนในปัจจุบัน

นี่คือภาพประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายโดย Robert Keziere เป็นการเดินทางครั้งแรกของกรีนพีซที่ออกจากฝั่งแวนคูเวอร์ในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2514 เป้าหมายของการเดินทางคือยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์บนเกาะ Amchitka โดยการแล่นเรือไปในเขตหวงห้าม

ต่อมาลูกเรือได้ก่อตั้งเป็นกลุ่มกรีนพีซจากด้านซ้ายบนตามเข็มนาฬิกา พวกเขาคือ ฮันเตอร์ มัวร์ คัมมิงส์ เมทคาลฟ์ เบอร์มิงแฮม  คอร์แมค ดาร์เนล ซิมมอนส์ บอห์เลน เทิร์สตัน และ ไฟน์เบิร์ก

การเผชิญหน้าด้วยสันติวิธี คือหลักการสำคัญของกรีนพีซ ซึ่งได้กลายเป็นความเคลื่อนไหวของคนที่มุ่งมั่นยอมเอาชีวิตเข้าเสี่ยงเพื่ออนาคตด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า

ในภาพนี้ นักกิจกรรมกรีนพีซบนเรือยางได้ประท้วงต่อต้านการทิ้งขยะนิวเคลียร์ โดยเรือ Rijnborg ขยะประมาณ 318 ลิตรถูกทิ้งจากเรือขนขยะลงบนเรือยางของกรีนพีซ ทำให้เกิดการพลิกคว่ำและ Willem Groenier กัปตันเรือได้รับบาดเจ็บสาหัส

ปัจจุบันการทิ้งขยะนิวเคลียร์ในทะเลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ต้องขอบคุณการลงมือทำเช่นนี้

ในปี พ.ศ.2528 Greenpeace Rainbow Warrior ถูกวางระเบิดโดยตัวแทนหน่วยสืบราชการลับของฝรั่งเศส ทำให้ Fernando Pereira ช่างภาพของกรีนพีซเสียชีวิต ขณะนั้นเรือและลูกเรืออยู่ใน Auckland คัดค้านการทดลองนิวเคลียร์ในมหาสมุทรแปซิฟิก

ข่าวการระเบิดเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ปรากฏเป็นพาดหัวข่าวไปทั่วโลก ทำให้ประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงอำนาจและอิทธิพลที่กลุ่มกรีนพีซกำลังต่อกร

หลังจากการรณรงค์ที่ยาวนานและดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ในที่สุดแอนตาร์กติกาถูกประกาศให้เป็น World Park (หนึ่งในพื้นที่คุ้มครองของโลก) เป็นข้อพิสูจน์ถึงความทุ่มเท และไม่เคยล้มเลิกไม่ว่าจะส่งผลอย่างไร ภาพนี้ถ่ายในวันสุดท้ายของการสร้างฐาน World Park ในปี 2535

ภาพการปักหลักอยู่บนแท่นขุดเจาะน้ำมัน North Sea ที่ไม่ใช้แล้วของเชลล์เป็นเป็นเวลาสองเดือนในปี พ.ศ.2538

การรณรงค์ต่อต้านแท่นขุดเจาะน้ำมัน Brent Spar ทำให้เราได้เห็นว่าเป็นกลยุทธ์ที่ดีและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ การทิ้งวัสดุที่เป็นพิษในทะเลเหนือกลายเป็นสิ่งต้องห้ามในปัจจุบัน

กรีนพีซนำเสนอความจริงเกี่ยวกับการล่าวาฬมาบอกคนทั้งโลก และการถ่ายภาพก็เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อสำหรับการสื่อสารนี้

นี่เป็นภาพเรือยางของกรีนพีซที่เกี่ยวตะขอกับเรือล่าวาฬของญี่ปุ่นขณะที่กำลังดึงวาฬที่จับมาได้ขึ้นไปบนเรือ

นี่เป็นภาพเด็กชาวจีนที่นั่งอยู่ท่ามกลางสายเคเบิลและขยะอิเล็กทรอนิกส์ใน Guiyu ประเทศจีน ภาพนี้ช่วยให้คนทั้งโลกได้เห็นถึงผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยจำนวนมากมีส่วนผสมที่เป็นพิษ โดยขยะจำนวนมากมักจะผิดกฎหมายและถูกส่งเป็นของเสียมาจากยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ไปยังประเทศในเอเชียเป็นประจำ เพราะว่ามันเป็นเรื่องง่ายและราคาถูกกว่าการถ่ายโอนปัญหาที่เกิดขึ้นไปยังประเทศยากจนที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่า

การปฏิบัตินี้ เผยว่าคนงานและชุมชนได้รับผลกระทบจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อม และเป็นอันตรายต่อต่อสุขภาพ กรีนพีซขอเรียกร้องให้ผู้ผลิตรายใหญ่แยกวัสดุที่เป็นพิษออกจากผลิตภัณฑ์

นักกิจกรรมคนนี้ได้ร่วมกิจกรรม Kingsnorth ในปี พ.ศ. 2550 ในสหราชอาณาจักร เธอได้ผ่านการพิจารณาคดีความที่มีความยาวและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์

ในการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาสรุปความว่านักกิจกรรมได้เรียกร้องให้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าของมนุษยชาติโดยการป้องกันการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออนไซด์ กรณีนี้ถูกใช้เป็นแบบอย่างและแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสู่ความยุติธรรมทางสภาพภูมิอากาศทั่วโลก

ในปี พ.ศ. 2553 คนงานพยายามที่จะแก้ไขปัญหาปั๊มใต้น้ำหลังจากการระเบิดท่อที่ท่าเรือ Dalian ประเทศจีน ในระหว่างการดำเนินการทำความสะอาดน้ำมันรั่วไหล คนงานตะเกียกตะกายอยู่ในคราบน้ำมันหนา พนักงานดับเพลิงคนหนึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ภาพนี้ถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก ซึ่งเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายที่ต้องเผชิญโดยคนงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

นักดำน้ำชาวฟิลิปปินส์ Joel Gonzaga อยู่หน้าอวนล้อม “Vergene” ในขณะทำงาน ในน่านน้ำสากล

จำนวนประชากรปลาในมหาสมุทรกำลังลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาทูน่า ภาพถ่ายนี้ช่วยในการสื่อถึงผลกระทบของการประมงเกินขนาดของอุตสาหกรรมประมง

รูปถ่ายที่ทรงพลังนี้แสดงให้เห็นว่า นกกระยางสีน้ำตาลโตเต็มวัยรออยู่ในเล้าเพื่อที่จะทำความสะอาดโดยอาสาสมัครที่ศูนย์การวิจัย Fort Jackson International Bird Rescue Research Center ใน Buras

นกเหล่านี้เปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ที่ BP เช่า ซึ่งระเบิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2553 และจมลงหลังจากการไหม้

ภาพที่ดึงความสนใจของคนทั้งโลกเกี่ยวกับมาตรการที่รุนแรง ที่เจ้าหน้าที่รัสเซีย ใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์จากน้ำมันอาร์กติก หนึ่งในเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ชายฝั่งของรัสเซียหันกระบอกปืนไปที่นักกิจกรรมกรีนพีซ ซึ่งกำลังรณรงค์อย่างสันติที่กำลังพยายามปีน แท่นขุดเจาะน้ำมัน Prirazlomnaya ในทะเล Pechora ประเทศรัสเซีย แท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวดำเนินการโดย บริษัทก๊าซพรอม ซึ่งรัสเซียเป็นเจ้าของ

นักกิจกรรมได้ทำให้แผนการติดตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมัน Prirazlomnaya ในทะเลน้ำแข็งอาร์กติก

กรีนพีซ คือการรวมกลุ่มของผู้คนเช่นคุณที่รณรงค์ขับเคลื่อนเพื่อปกป้องป่าไม้ มหาสมุทร และสภาพภูมิอากาศของเรา เรามีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างอนาคตสีเขียวและความสงบสุขร่วมกัน จากนวัตกรรมที่ยั่งยืน มิใช่ความโลภ และการทำลายล้าง


แปลโดย นางสาวภาวิณี สีสวาสดิ์ และนางสาวจันทร์นารี ถัดทะพงษ์ / อาสาสมัครกรีนพีซ

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/12/blog/55621




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2559 15:54:16 น.   
Counter : 1478 Pageviews.  


โลกจะเป็นอย่างไรหากไร้ฉลาม

Blogpost โดย Sophie Schroder

พอล ฮิลตัน กำลังจ้องมองเหล่าฉลามจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกตัดครีบทั้งเป็น  หลังจากนั้นพวกมันก็ต้องตายลงด้วยความทุกข์ทรมาน

ภาพที่เห็นทำให้เขาแทบกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ได้

เมื่อปีก่อน พอล ฮิลตันร่วมเดินทางไปกับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก ในฐานะช่างภาพเชิงสารคดี เพื่อถ่ายทำสารคดีเปิดโปงอุตสาหกรรมการจับปลาทูน่าอย่างไร้การควบคุม ซึ่งเขาไม่ได้พบเพียงแค่ปลาทูน่าจำนวนมหาศาล (จนน่าตกใจ) ที่ถูกจับได้เท่านั้น แต่เขายังค้นพบว่ามีฉลามอีกนับร้อยนับพันตัวที่ถูกฆ่าทุก ๆ ปี เพียงเพื่อนำครีบของมันมาทำเป็นอาหาร

พอล อุทิศชีวิตมากว่า 10 ปี เพื่อสืบสวนและเปิดโปงอุตสาหกรรมอันโหดเหี้ยมนี้ และพยายามจะยุติการกระทำเช่นนี้ แต่ฉลามบางสายพันธุ์ก็มีจำนวนลดลงกว่าร้อยละ 90 ….เวลาของพวกมันใกล้หมดลงแล้ว

“ฉลามคือนักล่าในห่วงโซ่อาหารของมหาสมุทร” พอลกล่าว “หากพวกมันสูญพันธุ์ไป พวกเราจะต้องเจอกับปัญหาที่ใหญ่หลวง”


จากออสเตรเลียประเทศบ้านเกิดจนมาถึงบาหลี เมืองที่พอลอาศัยอยู่ในปัจจุบัน พอลสนใจเกี่ยวกับสัตว์ป่าและการอนุรักษ์ตั้งแต่เมื่อเขายังเล็ก เขามีความสุขทุกครั้งที่เล่าเรื่องที่เขาแอบปล่อยเต่าที่เด็ก ๆ ในเมืองจับมา

เมื่ออายุ 21 ปี ด้วยความอยากเห็นโลกกว้าง พอลจากบ้านมาเรียนต่อที่ลอนดอน และเริ่มศึกษาเกี่ยวกับศาสตร์การถ่ายภาพ

“หลังจากนั้น ผมประสบความสำเร็จกับอาชีพช่างภาพโฆษณาในฮ่องกง เมื่อครั้งที่ผมยื่นผลงานภาพถ่ายให้พวกเขาดู เขาบอกกับผมว่าภาพของผมหลุดโฟกัส และถามผมว่า คุณอยากเป็นช่างภาพจริง ๆ เหรอ ?” พอลหัวเราะ “ผมตอบไปว่า ‘ใช่’ แล้วผมก็ได้งานนั้น”

บทสนทนานั้นนำไปสู่งานประจำที่ ยูโรเปี้ยน เพรสโฟโต้ เอเจนซี่ ในฮ่องกง

“ผมเดินไปตามถนนทุกวันเพื่อมองหาเรื่องราวที่พอจะนำมาทำเป็นสารคดีได้ ผมรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่เดินผ่านตลาดอาหารทะเลที่ผมมองเห็นกองครีบฉลาม มันทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจ”

ในปี พ.ศ.2548 เป็นปีที่ดิสนีย์แลนด์ฮ่องกงเปิดเป็นครั้งแรก พวกเขาขอให้พอลถ่ายภาพอาหารในศูนย์อาหาร พวกเขาซักถามเกี่ยวกับเงื่อนไขของการถ่ายรูปของพอล และพอลก็ตอบกลับไปว่า เขาไม่ขอถ่าย หูฉลาม แล้วพอลก็ถูกถอดออกจากการถ่ายภาพในครั้งนั้นทันที

“ตอนนั้น ผมคิดว่าต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างแล้ว” พอลกล่าว

เขาพบกับเพื่อนเก่าที่ชื่อ อเล็กซ์ ฮอฟฟอร์ด ทั้งคู่วางแผนเดินทางไปรอบโลก จากเมืองโมซัมบิกในแอฟริกา สู่เยเมนในตะวันออกกลาง ไปถึงอินโดนิเซียและประเทศไทย เพื่อสืบสวนการค้าครีบฉลาม

พวกเขาอัดวิดีโอสั้น ๆและเขียนหนังสือเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษชื่อว่า Man & Shark ซึ่งเป็นหนังสือสารคดีสองภาษาเล่มแรกที่อธิบายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการล่าครีบฉลามทั่วโลก

“ในขณะนั้นยังไม่มีใครพูดถึงประเด็นนี้เลย ทั่วฮ่องกงสามารถขายหูฉลามเป็นอาหารได้แบบไม่มีขีดจำกัด การบริโภคหูฉลามไม่สามารถควบคุมได้เลย”

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของพอล  ได้เปิดโปงบางส่วนของตลาดมืดที่ทำลายสัตว์ในตระกูลเดียวกับฉลาม ซึ่งก็คือปลากระเบนปีศาจและปลากระเบนราหู

ในอินโดนิเซีย สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ที่รักสงบเหล่านี้ถูกล่าจนใกล้จะสูญพันธุ์เต็มที พวกมันถูกล่าเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมสมุนไพรระดับพรีเมี่ยมในตลาดจีน

ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของพอลและเพื่อน ๆ เพราะในปี พ.ศ.2556 กระเบนเหล่าดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (CITES) โดยอนุสัญญานี้ไม่อนุญาตให้ล่าปลากระเบนในอินโดนิเซีย

และในปีเดียวกันนี้เอง  รายงานของ ไวลด์เอด (WildAid) แสดงให้เห็นถึงการลดลงของการบริโภคซุปหูฉลามลดลงถึงร้อยละ 80

พอลบอกกับเราอีกว่า “ผมยังมีความหวังที่เราจะได้รับชัยชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ ผู้บริโภคชาวจีนรุ่นใหม่ตระหนักเกี่ยวกับปัญหานี้มากกว่าใคร พวกเขาคือเจนเนอร์เรชั่นแห่งการเปลี่ยนแปลง”  

แต่ก็ยังมีภารกิจที่จะต้องทำต่อไป เพราะเทรนด์ใหม่ในประเทศจีนเริ่มมีการพูดถึงการนำน้ำมันจากฉลามที่มีโอเมก้า 3 มาบริโภค และจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นหากเป็นน้ำมันจากฉลามวาฬ

เรื่องราวนักสืบจำเป็น พอลและอเล็กซ์ที่ทำหน้าที่เป็นร่วมกันสืบสวนกระบวนการล่าฉลามวาฬอย่างผิดกฎหมายได้รับความสนใจจาก หลุยส์  ไซโฮโยส ผู้กำกับภาพยนตร์รางวัลออสการ์ เดอะ โคฟ (The Cove)

หลุยส์ได้ร่วมงานในโครงการภาพยนตร์เรื่อง การสูญหายของสายพันธุ์(Racing Extinction) เขาขอให้พอลเข้ามาช่วยเหลือโครงการในส่วนของเกาะฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่

“การสืบสวนเรื่องฉลามวาฬของเรากำลังมุ่งสู่ทางแยก แต่เมื่อหลุยส์ติดต่อเข้ามาหาผมและชวนร่วมงานในการถ่ายภาพยนตร์สืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ ผมก็ยิ่งรู้สึกลังเลเกี่ยวกับการเปิดเผยตัวตนของตนเอง” พอลกล่าว

“แต่หลุยส์ก็คุยกับผมและบอกผมว่า บางครั้งคุณก็ต้องยืนหยัดขึ้นเพื่อส่งเสียงบอกกับโลกว่า เราจำเป็นต้องมีผู้คนที่เข้าใจในสิ่งที่เราทำมากขึ้น  เขาโน้มน้าวใจผมแบบนั้น แม้ว่าผมจะยังกังวลกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้”

ภาพยนตร์เรื่องการสูญหายของสายพันธุ์ (Racing Extinction) ถูกฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับตลาดมืดที่อันตรายที่สุดของโลกและการสืบสวนถึง 6 พฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดปรากฏการณ์การสูญพันธุ์ ซึ่งประเด็นของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นประเด็นที่กระตุกหัวใจของมนุษย์เราได้ดีเพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเสียตั้งแต่ตอนนี้แล้ว สัตว์อีกหลายสายพันธุ์ที่ไม่ใช่แค่ฉลามก็จะสูญพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล

พอลยังเสริมอีกว่า “ผมไม่คิดว่าเราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีการจับฉลามอย่างยั่งยืน ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องหยุดการล่าฉลามและปล่อยให้พวกมันใช้ชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น ชีวิตที่พึ่งพากับระบบห่วงโซ่อาหาร ผมไม่ได้คาดหวังให้ทุก ๆ คนมารักสายพันธุ์ฉลามแต่คิดว่ามนุษย์ควรจะเห็นถึงผลกระทบของธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากเผ่าพันธุ์มนุษย์อาศัยอยู่บนโลกราว ๆ สี่ล้านปี”


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55565




 

Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2559 9:48:06 น.   
Counter : 1061 Pageviews.  


ยังไร้เสียงตอบรับจากรัฐบาลกรณีความไม่ชอบธรรมของโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

จากแผนพีดีพี 2015 ที่กำหนดเป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 9 โรง กำลังผลิตจำนวน 7,300 เมกะวัตต์ นำไปสู่การดึงดันผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของภาคประชาชน และการที่รัฐบาลเพิกเฉยต่อเสียงร้องของประชาชนกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนี่เอง อาจเป็นชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมและความไม่ชอบธรรมทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เครือข่ายภาคประชาชนกำลังเรียกร้องให้ภาครัฐหยุดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ที่แฝงไปด้วยความไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิชุมชน แต่ดูเหมือนว่าขณะนี้ภาครัฐยังคงไม่รับฟังและเร่งรัดเดินหน้าโครงการท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ที่ถูกแปรเปลี่ยนให้เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ยังไม่ได้รับคำตอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการที่ เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีในประเด็นความไม่ชอบธรรมของการจัดทำรายงาน EHIA  หลังจากที่ไม่ได้รับคำตอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับใบแดงจากเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน

หลังจากเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2559  เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้เดินทางมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ จากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิกเฉยไม่ต่ออายุพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่เป็นเวลา 3 ปี และปล่อยให้กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แก้ไขในร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ฉบับใหม่เพื่อเอื้อต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดย รมว.กระทรวงทรัพย์ฯให้คำมั่นจะให้คำตอบ"เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้" 

แต่เมื่อทางเครือข่ายกลับไปขอฟังคำตอบอีกครั้งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ หรือ 16 วันหลังจากนั้น แต่ทางกระทรวงทรัพย์ฯ ก็ยังคงไร้คำตอบ เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงมอบใบแดงเป็นเชิงสัญลักษณ์ให้ เนื่องจากได้ทำตามระเบียบขั้นตอนทั้งหมดแล้ว แต่ทางกระทรวงยังไม่มีคำตอบในสิ่งที่เป็นไป ตามเจตนารณ์และภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพึงกระทำเพื่อปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

“ใจไม่เป็นธรรม” อดีตฝ่ายบริหารปตท.นั่งที่ปรึกษากรรมการไตรภาคีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

ขณะที่ยังไร้คำตอบจากกระทรวงทรัพย์ฯ อีกด้านหนึ่งของกรรมการไตรภาคีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ได้แต่งตั้งที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมการฯ จำนวน 5 ราย โดยหนึ่งในนั้นคือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ อดีตกรรมการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท. ซึ่ง นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า หากมีการแต่งตั้งนายประเสริฐเป็นที่ปรึกษาจริง ทั้ง พล.อ.สกนธ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบ ปตท. เป็น 1 ใน 2 บริษัท ที่ผลิตถ่านหิน และถือเป็นการผิดข้อตกลงกรรมการไตรภาคี เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีนี้

“มีแต่จิตใจที่เป็นธรรมเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ จิตใจที่เอนเอียงจะนำมาสู่ปัญหาใหม่อย่างไม่รู้จักจบสิ้น กรณีกรรมการ 3 ฝ่ายหากยังมีชื่อของที่ปรึกษาซึ่งมีประวัติว่าเกี่ยวข้องกับกิจการถ่านหิน จะทำให้การทำงานหลังจากนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก และอาจก่อปัญหาใหม่มาอย่างไม่รู้จบ เราขอเรียกร้องต่อพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ว่าเพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลายจงจัดการกับรายชื่อที่ปรึกษาเสียใหม่ให้สะอาดโปร่งใส มิเช่นนั้นเราจะขอเรียกร้องร้องให้กรรมการในส่วนของประชาชนจังหวัดกระบี่ยุติการปฏิบัติหน้าที่ เพราะชาวกระบี่ไม่ควรปฏิบัติงานในกรรมการชุดที่มีเจตนาอันน่าสงสัย” นายประสิทธิชัย หนูนวล กล่าว 

คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

วันนี้ 16 ก.พ.59 เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลาโดย "โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา" จะมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยถึง 2,200 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,000 ไร่ เผาไหม้ถ่านหินวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และใช้น้ำทะเลในกระบวนการผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมหาศาล ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และความมั่นคงทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนและนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล จึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกฯ ได้พิจารณาสั่งการให้หยุดกระบวนการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ฉ้อฉล ไม่มีหลักวิชาการ และไม่เป็นธรรมในทันที

Posted by Greenpeace Thailand on Monday, February 15, 2016

“ยกเลิก EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” เสียงเรียกร้องจากเทพา

ในวันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2559) เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ ได้เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสื่อต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากวานนนี้ได้เข้ายื่นหนังสือที่สำนักงานนโยบายและแผน (สผ.) เรื่องประเด็นความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำเวที ค.1 ค.2 และ ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา และการไม่มีส่วนร่วมของคนปัตตานี ข้อเสนอให้มีการศึกษาผลกระทบในรัศมี 100 กิโลเมตร โดยมีนายพันศักดิ์ เจริญ ผอ.ส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทนรับมอบ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยถึง 2,200 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,000 ไร่ เผาไหม้ถ่านหินวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และใช้น้ำทะเลในกระบวนการผลิตวันละ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมหาศาล ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และความมั่นคง

ทางเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนและนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล จึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกฯ ได้พิจารณาสั่งการให้หยุดกระบวนการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ฉ้อฉล ไม่มีหลักวิชาการ และไม่เป็นธรรมในทันที

“1.) ได้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมในรัศมีเพียง 5 กิโลเมตร โดยมีเจตนาที่จะไม่ทำการศึกษาเข้าไปในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ทั้งๆ ที่หมู่บ้านแรกของปัตตานีห่างจากโครงการเพียง 7 กิโลเมตรเท่านั้น อันแสดงถึงความไร้หลักวิชาการ ทั้งๆ ที่ผลกระทบนั้นไกลถึง 100 กิโลเมตร จึงควรที่จะตีกลับทั้งหมด เพื่อให้ไปทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพใหม่ให้ครอบคลุมรัศมี 100 กิโลเมตร

2.) กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งการทำ ค.1 ค.2 และ ค.3 มีความฉ้อฉล มีการซื้อเสียงด้วยการแจกสิ่งของในเวที ค.1 ไม่มีการรับฟังกลุ่มเห็นต่างในการทำเวที ค.2 และมีการใช้กำลังปิดกั้นการมีส่วนร่วมในเวที ค.3 รวมทั้งไม่มีการจัดเวทีสร้างการรับรู้ หรือการรับฟังความคิดเห็นใดๆ ในพื้นที่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส แม้แต่ครั้งเดียว จึงควรที่จะให้ กฟผ.เริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งหมด” เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ กล่าว

อ่านเหตุผลที่ อ.ดิเรก เหมนคร ตัวแทนเครือข่ายฯ ชี้แจงถึงการลุกขึ้นมาต่อสู้ ที่นี่

เสียงจากประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นมหันตภัยและผลักดันการลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและมุ่งเน้นระบบกระจายศูนย์พลังงาน อันเป็นความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55568




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2559 13:37:30 น.   
Counter : 642 Pageviews.  


แค่ 9 ทิปง่าย ๆ ก็ช่วยให้งานของเรารักษ์โลกได้

Blogpost โดย Supang Chatuchinda (แปลและเรียบเรียง)

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากให้การทำงานของคุณช่วยรักษ์โลกด้วยล่ะก็ เรามี 9 วิธีง่าย ๆ ที่แม้ว่าจะนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศ แต่ก็สามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองได้ ทั้งนี้เรากับเพื่อนร่วมงานในบริษัทยังมีส่วนช่วยไม่ให้ภาวะโลกร้อนเลวร้ายลงได้อย่างน่าอัศจรรย์

ไอเดียนี้ถูกคิดค้นขึ้นโดย ซาราห์ นีล เธอเป็นอาสาสมัครจากกรีนพีซออสเตรเลียมาหลายปี เธอมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานรณรงค์ และตรวจเช็คการใช้ภาษาในบทความของกรีนพีซ เธอยังกระตือรือร้นในการใช้ไลฟ์สไตล์ที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเธอก็ได้แชร์ทิปดี ๆ เหล่านี้เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ที่อยากเปลี่ยนให้ออฟฟิศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

1. พยายามลดการใช้พลังงาน

เลือกใช้แบตเตอรีที่สามารถชาร์จใหม่ได้ หลีกเลี่ยงการใช้พลังงาน ยกตัวอย่างเช่น ใช้บันไดแทนลิฟต์ หรือปิดคอมพิวเตอร์ทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน เป็นต้น

2. รีไซเคิลทุกอย่างที่ทำได้

ก่อนอื่น เราจะต้องรู้ก่อนว่า ขยะในออฟฟิศ สามารถรีไซเคิลได้ เพียงค้นหาบริษัทรับรีไซเคิล หรือแม้แต่บริษัทรายย่อยที่รับกระป๋อง ขวดพลาสติกหรือกระดาษ และสอบถามเกี่ยวกับข้อกำหนดสำหรับการรีไซเคิล เพราะพวกเขาอาจมีข้อกำหนดเช่น  แยกถ้วยกาแฟออกจากฝาครอบ หรือ บางครั้งพวกเขาอาจไม่รับกล่องน้ำผลไม้ที่มีฟอยล์หุ้มอยู่ภายใน ตรวจของที่จะทิ้งทุกครั้งก่อนทิ้งขยะ เพื่อให้แน่ใจว่าขยะที่เราทิ้งนั้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้แล้ว นอกจากนี้ ควรมีกล่องสำหรับใส่อุปกรณ์สำนักงานที่สามารถรีไซเคิลได้ เช่น แบตเตอรี และ ตลับหมึกพิมพ์

3. ลดการใช้ภาชนะใช้แล้วทิ้ง เปลี่ยนมาใช้ภาชนะใช้ซ้ำได้

รู้หรือไม่ว่าในปี พ.ศ.2553 มีขยะพลาสติกไหลลงสู่มหาสมุทรมากถึง 8 ล้านตัน ดังนั้นเวลาที่เราซื้อกาแฟสักแก้วหรือซื้ออาหารกลางวันนั้น ลองเปลี่ยนตัวเองด้วยการพกกล่องใส่อาหาร และกระติกน้ำ แทนการเพิ่มขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่นเดียวกับเวลาที่เราไปซูเปอร์มาเก็ตหรือตลาดสด เพียงแค่พกถุงผ้าและปฏิเสธถุงหิ้วพลาสติกเท่านั้นเอง นอกจากนี้เราจะได้นำถุงต่าง ๆ ในออฟฟิศออกมาใช้ซ้ำอีกหากเราลืมพกถุงผ้าติดตัวมา

พยายามพกภาชนะภาชนะก่อนออกจากบ้าน เพียงแค่มองหากล่องใส่อาหารในครัว เราเชื่อว่าคุณต้องมีสัก 2-3 กล่องเป็นอย่างต่ำ หลีกเลี่ยงช้อนส้อมพลาสติก แต่ใช้ช้อนส้อมที่ออฟฟิศแทน และถ้าคุณอยากกินกาแฟสักแก้วล่ะก็อย่าลืมพกแก้วไปด้วย

4. ตระหนักถึงกระดาษที่เราใช้

เราควรพิมพ์เอกสารเท่าที่จำเป็น หันไปใช้กระดาษจากการรีไซเคิลให้มากขึ้น หรือลดการใช้กระดาษด้วยวิธีการพิมพ์งานสองหน้า และหลีกเลี่ยงการพิมพ์ด้วยกระดาษมัน หรือการพิมพ์หมึกสี ทั้งนี้เราควรตรวจสอบเนื้อหาทุกครั้งก่อนพิมพ์เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด

สำหรับออฟฟิศของซาราห์นั้น เธอบอกว่า พวกเธอใช้กระดาษที่พิมพ์ไปแล้วเพียงหน้าเดียวมาทำเป็นสมุดให้กับพนักงาน

5. พยายามอย่าทิ้งอาหาร

อย่าลืมอาหารที่เราแช่ทิ้งไว้ในตู้เย็นของออฟฟิศ  อาหารเหล่านี้ไม่เพียงแค่จะหมดอายุและเปลืองพื้นที่ที่เราต้องใช้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานแล้ว อาหารที่หมดอายุเหล่านี้นำไปสู่ปัญหาเศษอาหารเหลือทิ้งมหาศาลซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก

วิธีการแก้ปัญหาง่าย ๆ หากเราทานอาหารกลางวันที่ออฟฟิศไม่หมดก็สามารถแบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศ  หรือเก็บอาหารไว้ในถังหมักแทนการทิ้งลงถังขยะ

6. ดูแลต้นไม้ในออฟฟิศ

ลองคิดดูว่าเราจะมีความสุขในการทำงานขนาดไหน หากมีอากาศอันสดชื่นในออฟฟิศ? เมื่อองค์กรระดับโลกอย่างนาซ่า ต้องการช่วยนักบินอวกาศให้หายใจได้อย่างสะดวกสบาย พวกเขาใช้ต้นไม้ช่วยยกระดับคุณภาพอากาศ และแน่นอน ต้นไม้ในออฟฟิศเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ สำหรับการขจัดมลพิษ แต่อย่าให้ความรักกับต้นไม้ด้วยการให้น้ำเกินความต้องการ นอกจากนี้ยังมีบล็อกต่าง ๆ ที่มีวิธีใช้ต้นไม้เพื่อทำให้ออฟฟิศสดชื่นอีก

7. แข่งกันทำแคมเปญประหยัดพลังงานในออฟฟิศ

จะดีแค่ไหนถ้าพนักงานของแต่ละแผนกแข่งกันประหยัดพลังงานในพื้นที่ที่ตนเองทำงานอยู่? การทำแคมเปญประหยัดพลังงานเพื่อแข่งกันประหยัดพลังงานเป็นกิจกรรมที่ท้าทายสำหรับพนักงานแต่ละแผนกในออฟฟิศ โดยจะต้องตั้งกรรมการตรวจตราการใช้ไฟของแต่ละแผนกในช่วงพักเที่ยง ยกตัวอย่างเช่น แผนกไหนไม่ได้ปิดไฟหรือเสียบปลั๊กคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ ก็จะถูกหักคะแนน ซึ่งคะแนนเหล่านี้จะรวมกันและประกาศแผนกผู้ชนะในทุกๆเดือน นอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟให้กับบริษัทแล้ว แผนกที่คะแนนถูกลบน้อยที่สุดก็จะได้รับรางวัลตอบแทนอีกด้วย

8. ประหยัดพลังงานด้วยการจัดพื้นที่ภายในออฟฟิศ

การจัดพื้นที่การทำงานในออฟฟิศอย่างชาญฉลาดคือโต๊ะทำงานสองถึงสามโต๊ะสามารถใช้แสงสว่างจากไฟเพียงหนึ่งดวงได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้โคมไฟช่วยเสริมแสงสว่างอีก หรือในวันที่พนักงานมาทำงานน้อย ก็น่าจะมีพื้นที่ที่ทุกคนนั่งทำงานรวมกันได้โดยใช้ไฟเพียงไม่กี่ดวง นอกจากจะประหยัดไฟแล้วก็ยังเป็นการสร้างมิตรภาพของเพื่อนร่วมงานระหว่างแผนกได้อีกด้วย ทั้งนี้การเปิดม่านหน้าต่างยังช่วยเพิ่มแสงสว่างจากธรรมชาติและเป็นการลดการใช้พลังงานได้อีกทางหนึ่งด้วย

9. สร้างวัฒนธรรมองค์กรในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรยังเป็นแนวทางที่สำคัญยิ่งอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งจะพัฒนาออฟฟิศของเราให้กลายเป็นออฟฟิศรักษ์โลกอย่างยั่งยืนได้ เพียงให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางการปฏิบัติเพื่อลดการใช้ทรัพยากรพร้อมทั้งประโยชน์ที่จะได้รับ ก็สามารถทำให้องค์กรของเรากลายเป็นองค์กรสีเขียว พนักงานมีความรู้และตระหนักในประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนในที่สุด


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/9/blog/55511




 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2559 14:43:55 น.   
Counter : 946 Pageviews.  


ปลูกผักกินเองกับเจ้าชายผัก ปลูกความสุขในบ้านด้วยมือของเรา

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“การปลูกผักกินเองเป็นการสร้างสำนึกของคนร่วมกัน มีจิตสำนึกใหม่ร่วมกัน สร้างชุมชนที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เราอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตนเองได้ทั้งหมด แต่เป็นการส่งเสริมการพึ่งพาอาศัยกัน ที่สำคัญคือสามารถเลือกซื้อเลือกผักเองได้ รับรู้ความแตกต่างของผักที่ใช้สารเคมีกับไม่ใช้สารเคมี เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการปลูกกินเอง” คุณนคร ลิมปคุปตถาวร ผู้ก่อตั้ง ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก

การปลูกผักกินเอง คือแนวทางในการพึ่งพาตนเอง สร้างความมั่นคงทางอาหารด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นการปลูกเพื่อกินเองเราจึงเลือกและดูแลผักของเราเป็นอย่างดี เราจึงแน่ใจได้ว่าสิ่งที่เรากินนั้นดีและปลอดภัยที่สุด การปลูกผักกินเองเป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ และเป็นการสนับสนุนการสร้างความมั่นคงทางอาหารของไทยได้โดยเริ่มที่ตัวเราเอง ภายในครัวเรือนหรือภายในชุมชนของเรา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา กรีนพีซได้เปิดเผยรายงาน “20 ปี แห่งความล้มเหลว จีเอ็มโอกับคำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ” โดยในงานนี้ยังมีเวิร์คช็อปการปลูกผักสำหรับคนเมือง โดย คุณนคร ลิมปคุปตถาวร หรือที่เรารู้จักกันในนาม “คุณปรินซ์-เจ้าชายผัก” พร้อมกับคำแนะนำดีๆ ในการปลูกผักกินเองที่ทุกคนสามารถทำได้ รวมถึงเคล็บลับง่ายๆ สไตล์เจ้าชายผักที่พร้อมเปลี่ยนนักกินผักอินทรีย์เป็นมือปลูกที่หันมาใส่ใจต่อตนเอง สิ่งแวดล้อม และสังคม เพียงแค่เริ่มจากการทำเรื่องง่ายๆ ที่บ้านได้เองอย่างการปลูกผัก


ปลูกผักอินทรีย์กินเอง ดีอย่างไร..?

การปลูกผักกินเองมีข้อดีมากกว่าความภูมิใจ โดยคุณปรินซ์-เจ้าชายผักได้กล่าวถึงข้อดีของการปลูกผักอินทรีย์กินเองว่า “ดีทั้งต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เสมือนมีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ในบ้าน ได้อาหารที่เรามั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากเรารู้ถึงที่มา รู้กระบวนการผลิต และได้คุณภาพของผักอินทรีย์ที่สดกว่าที่ใด เพราะเดินทางมาน้อยกว่า มีทั้งพลังชีวิต และมีแร่ธาตุมากกว่า อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ในสังคมอีกด้วย เมื่อทำอย่างใส่ใจจะนำเพื่อนมาเจอกัน เกิดสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูล”

ไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มต้นปลูกผักกินเองได้ เพราะมีต้นทุนที่ถูก ใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และทำได้ในชีวิตประจำวัน “การลงมือทำเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุด เพียงแต่เริ่มหยอดเมล็ดเพื่อทำการรู้จักต้นไม้ว่าเติบโตยังไง ต้นไม้จะปลูกเราไปด้วย นำพาให้เราใส่ใจมัน เราจะอยากเห็นพืชพรรณเติบโตงอกงาม ต่อจากนั้นเราจะเรียนรู้ว่าปัจจัยอะไรทำให้เติบโต และอาหารอะไรที่เราควรกินในฤดูกาลเช่นนี้ ในสภาพแวดล้อมแบบนี้” คุณปรินซ์กล่าวเสริม

สิ่งที่การปลูกผักอินทรีย์ได้สอนคนปลูกคือ การสังเกตข้อแตกต่างระหว่างผักอินทรีย์และผักเคมี คือ ผักที่ได้รับสารเคมีจะมีสีเขียวเข้มมาก ส่วนผักอินทรีย์จะมีสีเขียวอ่อนต้นแข็งแรงไม่อวบน้ำ โดยผักอวบน้ำจะใส่ปุ๋ยเคมีมาก เน่าเสียง่าย ไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน มีเส้นใยน้อย แร่ธาตุที่ได้จากดิน และคุณค่าทางอาหารก็ย่อมลดลงไปด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณปรินซ์เรียกคุณค่าทางอาหารจากผักอินทรีย์เหล่านี้ว่า “ธัญโอสถ” เป็นโอสถที่ได้มาจากการกลั่นกรองจากธรรมชาติเท่านั้น 

ปลูกผักกินเอง สังคมสีเขียวที่พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ไม่ง้อจีเอ็มโอ

เจ้าชายผักได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับสวนผักคนเมืองในฐานะอาวุธที่ตอบโต้การคุกคามของจีเอ็มโอว่า สวนผักคนเมืองเป็นเรื่องของระบบอาหารในเมือง เป็นการพัฒนาคุณภาพทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สังคมเมือง ไปถึงความเติบโตอย่างถาวร หรือวัฒนธรรมยั่งยืน (permaculture) ปรับเปลี่ยนเป็นเมืองที่ลดการพึ่งพาทรัพยากรภายนอก หันมาใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น (transition town) พึ่งพาตนเองทั้งในเรื่องอาหาร พลังงาน และอื่นๆ การปลูกผักกินเองเป็นการสร้างสำนึกของคนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนกินหันมาเรียนรู้จากการปลูกผักกินเอง และรู้จักที่จะเลือกสรรสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตนเอง เมื่อนั้นเราจะเชื่อในจีเอ็มโอน้อยลง ยึดถือหลักการปลอดภัยไว้ก่อน และปฏิเสธจีเอ็มโอ

จากความรู้ที่สั่งสมมาทั้งจากการเรียนทั้งในและนอกตำรา และจากประสบการณ์จริง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก ของคุณปรินซ์ โดยนอกจากการสอนเรื่องเทคนิควิธีทั้งการปลูก การทำปุ๋ย การทำน้ำยาไล่แมลงต่างๆ แล้ว ยังเน้นให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการปลูกผักกินเอง  ความมั่นคงทางอาหาร และพลังชีวิตในอาหารด้วย “การให้คนเมืองมีความรู้คือทำให้ดู อยู่ให้เห็น หนทางแบบนี้ทำให้เรามีความสุขที่จะทำ เป็นการปลูกความสุขในบ้านเราเอง เพราะความเป็นปกติเป็นความสุข ความผิดปกตินำพาไปสู่ความทุกข์ต่างๆ” เจ้าชายผักกล่าวเสริม “จีเอ็มโอไม่ใช่เรื่องเฉพาะวิทยาศาสตร์ แต่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และอาหารการกิน เป็นความสำคัญทางปากท้อง และชีวิต ธรรมชาติมีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ผมเองก็ทำไปเรียนรู้ไป อะไรที่ไม่ใช่ธรรมชาติ ผิดธรรมชาติ คงจะไม่ผิดที่จะเรียกว่า ‘อธรรม’ ”

จีเอ็มโอ คือภัยทำร้ายคนกินและความมั่นคงทางอาหาร

ผลกระทบของจีเอ็มโอนั้นเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่มักมีผลกระทบมากกว่าสิ่งที่ผู้ผลิตตั้งใจจะพัฒนา เมื่อเกิดขึ้นแล้วและเกิดการรั่วไหลปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ก็จะไม่สามารถทำย้อนกลับได้ ดังนั้นสิ่งที่คุณปรินซ์ให้นิยามกับจีเอ็มโอไว้ คือ ความผิดปกติ ผิดธรรมชาติ และเป็นต้นเหตุของวิกฤตหลายด้าน เนื่องจากจีเอ็มโอเชื่อมโยงกับการลงทุนในการวิจัย การผลิต การแปรเปลี่ยนมาเป็นสินค้า การบริโภค เศรษฐกิจ วัฒนธรรม (เช่น การหายไปของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน) และสังคม “การจะเข้าคู่กันได้ของรหัสพันธุกรรมเป็นเรื่องของวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนาน บนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นเราอาจสร้างมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมเทียมได้ตั้งนานแล้ว การที่เราไปข้องแวะกับการเข้าคู่กันของรหัสพันธุกรรมเป็นสิ่งที่เราคาดเดาไม่ได้ เราสามารถทำได้แต่เราทำย้อนกลับไม่ได้ เมื่อเราปล่อยไปในธรรมชาติจะเป็นความเสี่ยงอย่างมาก การเกษตรแบบธรรมขาติ คือการทำความเข้าใจกับธรรมชาติ แต่การเกษตรแบบควบคุมธรรมชาติคิดว่าสามารถออกแบบแก้ไขได้ทุกอย่าง ซึ่งเทคโนโลยีที่ดีไม่ควรไปริดรอนสิทธิทางธรรมชาติหรือสังคม และความรู้ทางพันธุศาสตร์ยังมีมุมมองที่รับผิดชอบและใส่ใจต่อธรรมชาติที่ทำได้มากกว่าและดีกว่าจีเอ็มโอ” คุณปรินซ์-เจ้าชายผัก กล่าวถึงความเสี่ยงจากการดัดแปลงพันธุกรรมพืชของจีเอ็มโอ

การเชื่อมโยงระหว่างคนปลูกกับคนกิน ทางออกเพื่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของไทย

การที่ผู้กินและผู้ปลูกรู้จักกัน นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างบทบาทของคนกินและคนปลูก เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับความปลอดภัยในอาหารของเราแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้คนกินใส่ใจในอาหารการกินมากขึ้น “Active citizen หรือ Active Consumer คือการเป็นพลเมืองหรือผู้บริโภคที่ใส่ใจนั้น เป็นฐานสำคัญของสังคมที่มีเกษตรนิเวศเป็นองค์ประกอบ บริบทใหม่ๆ อย่างการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างหรือดาดฟ้าเป็นแปลงผักทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับเกษตรกรมากขึ้นในเขตเมือง เกิดพื้นที่สีเขียวกินได้ เพราะเมืองที่เจริญที่แท้จริงต้องมีความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม” คุณปรินซ์กล่าว

เจ้าชายผักของเรายังเสริมถึงบทบาทของคนเมืองว่า “ปัจจุบันนี้คนไทยตระหนักเรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้น กลายเป็นค่านิยมของคนรุ่นใหม่  พูดไปใครก็อยากได้เกษตรอินทรีย์ แต่ในทางกลับกันได้เกิดคำถามว่าผักเคมีใช้สารเคมีอะไร ใช่จีเอ็มโอหรือไม่ การเลือกของคนเมืองมีความหมาย การที่เราอยู่ปลายทางก็เหมือนต้นทางของผู้ผลิต การเลือกของเราไปกำหนดเป้าหมายของคนผลิต การปลูกผักกินเองจะเห็นชัดถึงขั้นตอนนี้ ว่าเราอยากกินอะไร เท่ากับว่าเราช่วยเลือกให้ผู้ผลิตทำทางนี้ ปัญหาตอนนี้คือ ผู้ผลิตกับผู้บริโภคไม่รู้จักกัน ต้องเข้าอกเข้าใจ เกื้อกูล เป็นวิถีตามธรรมชาติ เป็นกลไกที่ต้นไม้และสิ่งแวดล้อมก็ใช้เช่นกัน เป็นภาวะเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ ถ้าไม่มีผู้บริโภคที่เข้าใจการผลิตระบบอาหารเกษตรอินทรีย์ก็เติบโตไม่ได้ ต้องอาศัยชุมชน สังคม ในบทบาทของตน ที่ช่วยสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างเข้าอกเข้าใจ นำความรู้มาใช้ศึกษาธรรมชาติ ไม่ใช่ทำลายธรรมชาติ”

การปลูกผักกินเอง คือการดำเนินแนวทางตามวิถีเกษตรอินทรีย์ หนทางสู่ความมั่นคงทางอาหารซึ่งเราทุกคนสามารถทำได้ นี่คืออธิปไตยทางอาหารที่แท้จริง ไม่เหมือนกับคำโฆษณาชวนเชื่อในการเลี้ยงคนทั้งโลก แต่กลับแฝงด้วยข้อเท็จจริงอย่างการผูกขาดทางลิขสิทธิ์ของเมล็ดพันธุ์อย่างจีเอ็มโอ เพียงแค่มีเมล็ดผักที่เราชอบ กระถางพร้อมดินสักหนึ่งกระถาง คุณก็สามารถเริ่มปลูกความสุขและปกป้องความมั่นคงทางอาหารของเราได้ไปพร้อมๆ กัน มาร่วมกันปลูกผักกันในวันนี้ เพื่อที่เราจะได้มีผักอร่อยๆ กินเองในวันนี้ และส่งเสริมให้ไทยมีผักพื้นบ้านอร่อยๆ กินตลอดไป!


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55510




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2559 13:24:56 น.   
Counter : 1301 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com