กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

3 โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผู้หญิงเป็นผู้นำ

Blogpost โดย Georgie Johnson

ผู้หญิงทั่วโลกเดินหน้าสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดด้วยตัวเองในรูปแบบที่มีเพียงผู้หญิงเท่านั้นที่สามารถทำได้

การเชื่อมโยงระหว่างเพศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อยๆกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้นอย่างกว้างขวาง  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นที่เข้าใจกันมากขึ้นในแง่ของสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมทางสังคม แต่สำหรับบางคนที่ยังสงสัย มีสองสิ่งที่สำคัญที่คุณต้องรู้คือ

1. ผู้หญิงคือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขา เช่นเดียวกับคนพื้นเมือง คนผิวสี และคนยากจนทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมกัน

2. ผู้หญิงสามารถนำเสนอทางออกที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ได้รับการยกเว้นจากรัฐบาลท้องถิ่นกับการเมืองระหว่างประเทศแม้ทางออกเหล่านั้นจะมีศักยภาพเพียงใดก็ตาม

การถูกแยกออกไปจากตำแหน่งหน้าที่ตามธรรมเนียมปฏิบัติ และการตัดสินใจ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงโดดเด่นในการเคลื่อนไหวทางมวลชนเพื่อต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นี้คือ 3 โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ยังมีวิธีอื่นๆ อีกมากที่ผู้หญิงได้เป็นส่วนสำคัญทั้งในการปรับตัว และต่อกรกับวิกฤตโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก

1. Solar Sister พี่น้องพลังงานแสงอาทิตย์

ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ (และความเปราะบางของผู้หญิงกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มากกว่า) มักจะเชื่อมโยงโดยตรงกับความยากจน แต่การศึกษาแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนประชากรในประเทศที่มีการเข้าถึงกระแสไฟฟ้าที่มากขึ้น นั้นหมายถึงความเท่าเทียมทางเพศที่มากขึ้น  แม้ว่าอัตราค่าครองชีพจะต่ำกว่ามาตรฐาน ($ 1.25 ต่อวัน)

บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล จะใช้ข้อมูลนี้เพื่ออ้างว่าถ่านหินราคาถูกมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศทางตอนใต้ของโลก แต่ผู้นำหญิงขององค์กรทางสังคม Solar Sister มีทางเลือก เป็นทางที่ในเชิงเศรษฐกิจจะช่วยมอบอำนาจให้แก่ผู้หญิง และไม่เกี่ยวข้องกับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

Solar Sister มีวัตถุประสงค์เพื่อขจัดความขาดแคลนพลังงานโดยการสร้างเครือข่ายขายตรงที่มีผู้หญิงเป็นจุดศูนย์กลาง ที่สามารถนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดไปยังชุมชนที่ยากจนที่สุดและชนบทที่ห่างไกลในแอฟริกา

กลุ่มผู้หญิงซื้อตะเกียงพลังงานแสงอาทิตย์และเตาปรุงอาหารพลังงานสะอาดจากเพื่อนผู้หญิงคนอื่นเพื่อนำมาใช้และขายภายในชุมชนของพวกเธอ ซึ่งเป็นการเสริมรายได้ให้กับพวกเธอในขณะที่มีแสงในการอ่านและการทำงานโดยปราศจากการสูดดมควันพิษ

2. Solar Grannies คุณยายไฟแรง

โครงการนี้จะคล้ายกับ โครงการ Solar Sister แต่ต่างไปอีกขั้นหนึ่ง บางทีอาจจะมุ่งเน้นไปที่ผู้หญิงที่ถูกโจมตีได้ง่ายที่สุดก็คือ คนชรา

ในชุมชนอีกฝากหนึ่งของโลก จากหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญในอินเดียสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่อายุมากขึ้น ผู้หญิงก็สูญเสียคุณค่าทางสังคม ไม่เป็นที่น่าดึงดูดใจหรือไม่สามารถมีบุตรได้  พวกเขาถูกมองว่าหมดประโยชน์ทางสังคม 

วิทยาลัย Barefoot ในรัฐราชสถาน อบรมหญิงสูงอายุชาวอินเดียให้กลายเป็นวิศวกรพลังงานแสงอาทิตย์ ช่วยให้พวกเขาได้ท้าทายการรับรู้ของการเสื่อมสภาพของพวกเขา ยกสถานะทางสังคมและอิทธิพลของตนในชุมชนของพวกเขา

โครงการ Solar Grannies ที่เป็นที่รู้จักกันดีในการเรียกร้องให้เคารพในการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำกระแสไฟไปยังหมู่บ้านของพวกเขา

การอบรมหญิงสูงอายุคือทางเลือกหนึ่งทางยุทธศาสตร์

พวกผู้ชายที่ยังหนุ่มอยู่มักออกจากหมู่บ้านเพื่อไปทำงานอยู่เสมอ และนำความรู้ที่จะใช้ไปกับพวกเขาด้วย พวกเขาออกจากชุมชนไปโดยที่ไม่มีใครสักคนที่จะดูแลรักษาแผงเซลล์แสงอาทิตย์และโคมไฟ และไม่มีใครสักคนที่จะส่งผ่านความเชี่ยวชาญของพวกเขาในรุ่นต่อไป

หญิงชราถูกตรึงไว้ในชุมชนของพวกเขา คอยดูแลเด็กๆและดำเนินเรื่องสำคัญต่างๆในบ้าน รวมทั้งการใช้พลังงานด้วย

หญิงสูงอายุส่วนใหญ่ในโครงการ Solar Grannies นั้นสามารถอ่านออกเขียนได้ พวกเขาเสร็จสิ้นการฝึกอบรมหลักสูตรหกเดือนที่วิทยาลัย Barefoot ก่อนจะกลับไปบ้านพร้อมด้วยไขควง แบตเตอรี่ แผงวงจรไฟฟ้า หลอดไฟและความรู้สึกใหม่ของการภาคภูมิใจในตัวเอง

3. ผู้หญิงคนหนึ่งที่หันหลังให้ธุรกิจน้ำมันและเชื้อเพลิง

นี่คือเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่แสนเรียบง่ายและชาญฉลาดที่ใช้ใน 16 ประเทศ ใน 5 ทวีป ประดิษฐ์โดย Eden Full Goh หญิงสาวชาวอเมริกัน ที่รู้สึกไม่สบายใจกับการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ

ดังที่เพื่อนนักศึกษาวิศวกรรมของเธอส่วนใหญ่คาดว่าจะทำ – ซึ่งสมเหตุสมผล ในขณะที่การสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะดูแลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ชาย

แต่เธอเลือกที่จะสร้างตามความคิดที่เธอมีอยู่ตอนโรงเรียนมัธยม  วิธีที่จะทำให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์คอยตามดวงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ที่เธอใช้คือขวดน้ำและแรงโน้มถ่วงที่จะค่อยๆเอียงแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งผลผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 โดยไม่ต้องใช้พลังงานเสริมอื่นๆเลย และยังให้น้ำดื่มสะอาดอีก 4 ลิตร  โดยในกระบวนการจะกรองน้ำออกจากน้ำหนัก และไหลเข้าไปในภาชนะพร้อมสำหรับการดื่ม

ปริมาณไฟฟ้าที่ได้เพิ่มขึ้นหมายความว่าใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์น้อยลง และจะช่วยประหยัดเงินและประหยัดพลังงานที่ใช้ในการทำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ประชาชนนอกพื้นที่ที่ยากจนมักต้องเลือกระหว่างการใช้จ่ายรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ ของพวกเขาในการใช้พลังงานหรือน้ำสะอาด วิธีนี้ เขาสามารถได้ทั้งสองอย่าง

ความไม่เท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมพลังงานเป็นปัญหาใหญ่

ในสหราชอาณาจักร มากกว่าสองในสามของ 100 บริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดไม่มีผู้หญิงแม้แต่คนเดียวในฝ่ายบริหารของพวกเขา  และเชื้อเพลิงฟอสซิลก็เป็นต้นเหตุที่เลวร้ายที่สุด: ในขณะที่ผู้หญิงร้อยละ17 ครอบครองที่นั่งในคณะกรรมการสำหรับการใช้พลังงานและพลังงานหมุนเวียน อีกร้อยละ 7 ในบริษัทน้ำมันและภาคก๊าซ ใครจะรู้ว่าเป็นเพราะผู้หญิงส่วนน้อยมีความสนใจในอาชีพกับธุรกิจโดยตรงที่นำไปสู่การทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก หรือเพราะเป็นคนที่ทำงานบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังคงจ้างผู้หญิงเป็นแค่เลขานุการเท่านั้น

Georgie Johnson  ฝึกงานด้านสื่อสังคม ฝ่ายพลังงานของกรีนพีซสหราชอาณาจักร

เรียบเรียงจากบทความของ Georgie ที่ Energydesk


เรียบเรียงโดย ชนนิกานต์ วาณิชยพงศ์ อาสาสมัครกรีนพีซ

ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/3/blog/55501




 

Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2559 15:28:18 น.   
Counter : 951 Pageviews.  


ไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่เป็นเวลาหนึ่งปี .. คุณทำได้ไหม?

Blogpost โดย Chiara Milford

ครั้งสุดท้ายที่ฉันซื้อชุดใหม่คือเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 มันเป็นชุดเดรสน่ารักๆสีฟ้าสำหรับวันสำเร็จการศึกษาของฉันเอง ตั้งแต่นั้นเสื้อผ้าทุกชิ้นในตู้เสื้อผ้ามาจากการซื้อมือสอง รับช่วงต่อมา หรือยืมมา

การสาบานว่าจะเลิกช้อปปิ้งอาจฟังดูน่าชื่นชม และเป็นการทำสิ่งที่ถูกต้อง แต่ที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่เหตุผล เหตุผลหลักที่ฉันหยุดซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆคือด้วยความขี้เกียจของฉันเอง ไม่ใช่แค่เพราะว่าเพื่อสิ่งแวดล้อม (ถึงแม้ว่ามันจะรู้สึกดีมากก็ตาม) คุณอาจคิดว่าคุณคงทำแบบนั้นไม่ได้ แต่เมื่อลงมือทำจริงไม่ใช่เรื่องยากเลย

การซื้อทุกครั้งมีผลกระทบมากกว่าการเพิ่มเสื้อผ้าชิ้นใหม่ในตู้เสื้อผ้า เมื่อคุณตระหนักได้เช่นนี้จะทำให้การตัดสินใจเลิกซื้อเสื้อผ้าใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก แน่นอนว่าการเลิกบริโภคนิยมไปเลยนั้นเป็นการก้าวกระโดดที่สำคัญ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะทำเช่นนั้นได้

แฟชั่นที่ออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้ง ทำให้เกิดความสะดวกอย่างไม่น่าเชื่อ และยังชวนให้เสพติดด้วย แต่การบริโภคเกินตัวนั้นเป็นเชื้อเพลิงที่นำไปสู่การใช้สารพิษในห่วงโซ่อุปทาน และเปลี่ยนผืนดินให้กลายเป็นพื้นที่ฝังกลบขยะจากการซื้อฟุ่มเฟือย เราจำเป็นต้องลดแรงอุปทานจากผู้ค้า ไม่ใช่เพิ่มมากขึ้น

ตอนนี้ในตู้เสื้อผ้าของฉันมีเสื้อผ้า 31 ชิ้นไม่รวมชุดชั้นใน ฉันแน่ใจว่ามันไม่น้อย แต่ฉันสามารถระบุเสื้อผ้าทุกชิ้นที่ฉันเป็นเจ้าของได้ บางชิ้นฉันใส่มาเป็นปี และยังคงสวมใส่ได้ เช่นเดียวกับเสื้อผ้าฤดูร้อนที่ฉันซื้อสำหรับปิกนิกเมื่อปี 2552 หรือกางเกงขาสั้นดิสโก้ระยิบระยับที่เคยใส่นับครั้งไม่ถ้วน

แฟชั่นเปลี่ยนแต่สไตล์ไม่เปลี่ยน ฉันกล้าให้คุณหาเสื้อผ้าเก่าของคุณสักชิ้นที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนสไตล์หรือรูปแบบ แต่ยังคงดูดีอยู่ แม้จะขัดแย้งกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกแฟชั่น ก็ไม่สำคัญ เสื้อผ้าเก่าของฉันเหมาะกับฉัน ฉันสวมใส่มานานเหมือนเป็นส่วนหนี่งของความเป็นตัวฉัน

เสื้อผ้าทุกชิ้นในตู้เสื้อผ้าของ Chiara Milford

ซ่อมแซมให้ดูทันสมัย

บางทีคุณไม่ควรรับคำแนะนำเกี่ยวกับแฟชั่นจากฉัน เพราะว่าฉันใส่ยีนส์ตัวเดิมมาตั้งแต่อายุ 18

ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีขนาดตัวเท่าเดิมเหมือนปีที่ผ่านๆมา การปรับขนาดกางเกงยีนส์มีราคาพอๆ กับการซื้อยีนส์ตัวใหม่ แต่เราก็สามารถวัดให้พอดีตัวเราได้ ดีกว่าสุ่มเลือกซื้อจากการช้อปปิ้ง

เสื้อผ้าของฉันเก่า และมีร่องรอยของเรื่องราวที่พวกมันเคยผ่านมากับฉัน มีกระดุมหายไปและมีรอยเปื้อนที่ซักไม่ออกและมีรูอยู่ทุกที่ ถ้าหากว่า Kanye West สามารถออกไปข้างนอกด้วยการใส่เสื้อยืดที่มีรูได้ ดังนั้นฉันก็สามารถทำได้ หรือฉันจะพยายามซ่อมแซมมัน Upcycling เป็นวลีที่นิยมมากใน slow-fashion และมันช่วยปรับปรุงอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น

เสื้อตัวโปรดที่มีรูขาดสี่รู ซ่อมแซมไปแล้วบ้างบางรู แต่บ้างก็ปล่อยไว้อย่างนั้น

ร้านขายของมือสอง

ขอบคุณการบูมของแฟชั่นแบบฮิปสเตอร์ แฟชั่นแบบวินเทจก็เติบโตขึ้นด้วย โดยแหล่งที่รวบรวมสินค้ายุคเก่าอย่างร้านขายของมือสอง ตลาดนัด และร้านค้าราคาประหยัดต่างก็เต็มไปด้วยเหล่าแฟชั่นนิสต้าที่ช้อปหาของคูลๆ

มันช่วยให้การแต่งกายยุค 80 นั้นหวนกลับมาอีกครั้ง เมื่อวันก่อนเพื่อนของฉันให้ความเห็นว่าฉันดูเหมือนคุณยายของเฮอร์ไมโอนี ซึ่งก็ไม่แย่เท่าไหร่ที่คุณสวมใส่เสื้อคลุมอูฐตัวโคร่ง (ประมาณ 300 กว่าบาทจากตลาดนัด Amsterdam’s Ij-Hallen) และหมวกที่คุณเจอมันตกอยู่บนพื้นรถบัส สไตล์คือสิ่งที่จะทำให้คุณรู้สึกดี ดูแปลก คุณไม่จำเป็นต้องกลมกลืนไปกับคนอื่นหรอก

ฉันโชคดีที่อยู่ที่เบอร์ลิน สถานที่ที่มีตลาดนัดวันเว้นวัน และหาซื้อเสื้อผ้ามือสองได้ง่าย แต่สำหรับใครที่ไม่ได้อยู่ใกล้ร้านค้าราคาประหยัด ก็มีร้านค้าออนไลน์จำนวนมากที่มีคนจำหน่ายเสื้อผ้าวินเทจ

ข้อดี

  • ราคาถูก
  • คุณจะทันสมัยโดยอัตโนมัติ
  • เมื่อใครสักคนชมคุณ คุณตอบได้เต็มปากว่า  “ขอบคุณ มันคือสไตล์วินเทจ” 

ข้อด้อย

  • คุณไม่สามารถได้ในสิ่งที่คุณต้องการเสมอ (แต่คุณเคยเมื่อไหร่? แฟชั่นที่ออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้ง เป็นกระแสสังคม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันทันสมัย)
  • เป็นเรื่องยากที่คุณจะเจอสิ่งที่คุณกำลังมองหาดังนั้นอย่าไปตามวิสัยทัศน์ภายในใจ เปิดใจมองหาสิ่งที่แตกต่าง
เสื้อผ้าที่ได้มาจากร้านขายของมือสอง

ทีม SWAP

แฟชั่นรีไซเคิล ไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือยุค 60s แต่ตอนนี้ยุค 70s กำลังจะกลับมา แนวโน้มแฟชั่นในปัจจุบันมีการสวมใส่เฉพาะตัว เสื้อผ้าแบบเก่า และดูคล้ายกับที่พ่อแม่ของคุณทำเมื่อพวกเขายังเป็นหนุ่มสาว วิธีที่ดีที่จะได้ลักษณะนี้คืออยู่กับเสื้อผ้าเก่าๆและอยู่ในที่ที่จะได้รับมันมากกว่าได้มาจากใครสักคนที่เคยใช้มาแล้ว

หากทุกคนแบ่งปันเสื้อผ้าของพวกเขาแก่คนอื่นๆ เราจะลดการผลิตเสื้อผ้าใหม่ลงได้ครึ่งหนึ่ง

ฉันบังเอิญยืมเสื้อผ้ามาประมาณหนึ่งในห้าซึ่งในตอนนี้กลายเป็นของฉันไปแล้ว ฉันได้เสื้อถักไหมพรมมาจากแฟนเก่าของแฟนฉัน เสื้อสีดำจากน้องสาวเขา เสื้อเชิ้ตบางตัวของเขา ผ้าพันคอและหมวก 2 ใบจากแม่ของฉันอีกด้วย

เสื้อผ้าที่หยิบยืมมาจากหลายๆ คน

ฉันไม่จำเป็นต้องชี้แนะวิธีเหล่านั้น แต่มีกลุ่มต่างๆ บนโซเชียลมีเดียและบางเว็บไซต์ที่เป็นพื้นที่แบ่งปันเสื้อผ้า  และแลกเปลี่ยนสิ่งของเก่าๆของคุณกับคนอื่นๆ

บางรายการเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาจากของมือสอง  เช่น ชุดชั้นใน แต่ยังมีตัวเลือกที่ไม่เกี่ยวกับแฟชั่นที่ใช้แล้วทิ้ง เพียงแค่กำหนดเป้าหมายของตัวเอง หาสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง แฟชั่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครสวมใส่อะไร มันเป็นเรื่องของความรู้สึกที่น่าตื่นตาตื่นใจในเสื้อผ้าของคุณ เรื่องราวที่มาของรอยขาดต่างๆ ความเก่าแก่ และการค้นหาจากร้านค้ามือสอง

บางทีคุณอาจจะลดปริมาณของเสื้อผ้าใหม่ที่คุณซื้อได้ หรือบางทีคุณจะอดทนและให้คำมั่นว่าคุณจะทำทุกอย่างด้วยตัวคุณเอง เริ่มต้นง่ายๆ ในสุดสัปดาห์นี้ ด้วยการไม่ซื้ออะไรยังไงล่ะ

Chiara Milford นักเขียนอิสระ อาศัยอยู่ในกรุงเบอร์ลิน เธอพยายามดำรงชีวิตด้วยการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


เรียบเรียงโดย ภาวิณี สีสวาสดิ์ อาสาสมัครกรีนพีซ

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55483




 

Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2559 15:58:38 น.   
Counter : 1112 Pageviews.  


20 ปีแห่งความล้มเหลวของจีเอ็มโอ สารพันเหตุผลที่เราต้องปกป้องพืชพรรณอาหารของไทย

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

20 ปีมาแล้วที่เราได้ยินคำสัญญาอันสวยหรูจากอุตสาหกรรมจีเอ็มโอ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการเกษตร การลดปริมาณการใช้สารเคมี การแก้ปัญหาความอดอยาก หรือเป็นทางออกให้กับการเกษตร แต่ 20 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเพียงลมปาก ก่อนที่ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์อาหารของเราจะกลายเป็นอื่นไป ถึงเวลาที่เราจะมาทำความรู้จักข้อเท็จจริงของจีเอ็มโอและความล้มเหลวต่อคำกล่าวอ้าง ซึ่งในรายงาน “20 ปี แห่งความล้มเหลว จีเอ็มโอกับคำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ” นี้ คือ การพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างทั้งหมด

หนึ่งในกระแสการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่มาแรงในปัจจุบันนี้ คือกระแสคนไทยไม่เอาจีเอ็มโอ #ThailandNoGMO กับการคัดค้านที่เกิดขึ้นทั่วประเทศต่อ ร่างพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพที่เต็มไปด้วยช่องโหว่เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องยกเลิกการพิจารณาร่าง และการห้ามการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอ จึงเป็นที่มาของการเปิดเผยรายงาน “20 ปี แห่งความล้มเหลว จีเอ็มโอกับคำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ” พร้อมกับการพูดคุยโดยผู้เชี่ยวชาญวงการเกษตรอินทรีย์ คุณวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) คุณนคร ลิมปคุปตถาวร ผู้ก่อตั้ง “ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก” และคุณโจน จันได  ผู้ก่อตั้งพันพรรณศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์  เพื่อถกกันถึงคำโฆษณาชวนเชื่อจากอุตสาหกรรมจีเอ็มโอ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นมายาคติซึ่งส่งผลกระทบอันใหญ่หลวง

20 ปี แห่งความล้มเหลวของจีเอ็มโอ โดยกรีนพีซ

พืชพรรณอาหารของไทย ความหลากหลายของครัวโลกที่ไม่ต้องพึ่งพืชดัดแปลงพันธุกรรม

รายได้จำนวน 16,560 ล้านบาท (349 ล้านยูโร) ถึง 85,860 ล้านบาท (1,811 ล้านยูโร) คือมูลค่าการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยอาจะสูญเสียหากตลาดโลกยุติการสั่งซื้อข้าวจากไทยเนื่องจากการปฏิเสธข้าวที่มีการปนเปื้อนจีเอ็มโอนี่คือตัวเลขที่น่าคิดว่าจะคุ้มเสี่ยงไหมกับการที่ไทยจะผันตัวไปสู่การเป็นครัวของโลกที่ถูกตราว่าเป็นพืชพรรณที่มาจากจีเอ็มโอ เพราะความภาคภูมิใจของคนไทยคือ พืชพรรณอาหารอันหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ

กรณีของข้าวสีทองซึ่งเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม ที่อ้างสรรพคุณว่าให้เบตาแคโรทีน หรือวิตามินเอ แต่อันที่จริงแล้ว การที่เราจะได้รับปริมาณวิตามินเอที่เพียงพอจากข้าวสีทองนั้นเราจะต้องกินข้าวให้ได้ปริมาณมากถึง 30 จานต่อวัน ซึ่งยากที่จะเป็นไปได้ แต่ทางออกที่หาได้ง่ายคือการบริโภคผักพื้นบ้าน เช่น ฟักทอง และตำลึง ที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายและสามารถหาได้ทั่วไป

เป้าหมายของพืชจีเอ็มโอนั้นคือการผลิตเพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรม ไม่ใช่การผลิตเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ จีเอ็มโอเป็นมุ่งผลิตพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ (ข้าวโพด) หรือเครื่องนุ่งห่ม (ฝ้าย) ดังนั้นผู้ที่ต้องการพืชดัดแปลงพันธุกรรม คือ ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่

“คำมั่นสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ เพิ่มขึ้น แต่ความนิยมของพืชจีเอ็มโอนั้นตรงกันข้าม แม้ว่าจะมีการผลักดันอย่างหนักตลอด 20 ปีที่ผ่านมาโดยกลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมที่ทรงอำนาจ แต่เทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรมกลับได้รับการยอมรับในเพียงไม่กี่ประเทศและเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิด โดยพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอมีเพียงร้อยละ 3 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั่วโลก แท้ที่จริงแล้วข้อมูลจากอุตสาหกรรมจีเอ็มโอแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอทั้งโลกกระจุกตัวอยู่เพียง 5 ประเทศเท่านั้น และเกือบ 100 % ของพืชจีเอ็มโอเหล่านี้เป็นพืชเพียง 2 ชนิดเท่านั้น หนึ่งคือพืชต้านทานยากำจัดวัชพืช และสองคือพืชที่ผลิตพิษฆ่าแมลง ในขณะที่ทุกภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยก็ปฏิเสธพืชจีเอ็มโอ ผู้บริโภคในยุโรปไม่กินอาหารจีเอ็มโอ และข้าวโพดจีเอ็มโอเป็นพืชจีเอ็มโอชนิดเดียวที่มีการปลูกในยุโรป ส่วนใหญ่ของทวีปเอเชียยังปลอดพืชจีเอ็มโอ อินเดียและจีนมีพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่ส่วนใหญ่เป็นพืชที่ไม่ใช่อาหารนั่นคือฝ้าย และมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นในทวีปแอฟริกาที่ปลูกพืชจีเอ็มโอ กล่าวง่าย ๆ คือ พืชจีเอ็มโอไม่ได้เลี้ยงคนทั้งโลก” นายวัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพืชจีเอ็มโอ ที่พิสูจน์แล้วว่าสรรพคุณของจีเอ็มโอเป็นเพียงมายาคติ คือ

  • พืชจีเอ็มโอเพิ่มปริมาณการใช้ยากำจัดศัตรูพืช
    เกือบทั้งหมดของพืชจีเอ็มโอถูกผลิตมาเพื่อสร้างพิษกำจัดศัตรูพืชหรือทนต่อการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชบางอย่าง ศัตรูพืชและวัชพืชมีการพัฒนาให้ต้านทานต่อพิษเหล่านี้ ทำให้เกิดแมลงและวัชพืชที่ดื้อยา ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีอยู่ตลอดเวลา

  • พืชจีเอ็มโอไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนได้ทั้งโลก
    ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าพืชจีเอ็มโอไม่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตและยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็ก ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหาร

  • ไม่มีความเห็นร่วมกันในทางวิทยาศาสตร์ว่าพืชจีเอ็มโอปลอดภัย
    แม้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพพยายามสร้างความมั่นใจถึงความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอให้แก่ผู้บริโภค แต่นักวิทยาศาสตร์อิสระกว่า 300 คน ได้โต้แย้งในประเด็นนี้ นอกจากนี้ พันธุวิศวกรรมยังเป็นเทคโนโลยีที่เป็นภัยที่นำความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ และส่งผลกระทบอันไม่คาดคิดและไม่อาจย้อนคืนได้ต่อสิ่งแวดล้อม

  • พืชจีเอ็มโอไม่สามารถเอาตัวรอดได้ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเนื่องจากเป็นการปลูกพืชที่มีลักษณะที่เหมือนกัน ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการเอาตัวรอดต่อวิกฤตโลกร้อน ดังที่มีตัวอย่างในบ้านเราคือโมเดล ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวทางพระราชดำริ

“จีเอ็มโอยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยนักวิทยศาสตร์กว่า 300 คนทั่วโลก ลงนามว่ายังไม่ปลอดภัยมีการใช้วิจัยกับสัตว์เพียง 90 วันก็บอกว่าปลอดภัยแล้ว ซึ่งสั้นมาก และนักวิจัยอิสระไม่สามารถทดลองได้ เนื่องจากติดปัญหาลิขสิทธิ์ อาจมีการกรณีฟ้องเกิดร้องขึ้นหากนำมาทำวิจัย ดังนั้นเราควรใช้หลักปลอดภัยไว้ก่อนสำหรับจีเอ็มโอ” นายวัชรพล แดงสุภา กล่าวเสริม

ปลอดภัยไว้ก่อน หลักการเดียวในการต่อกรกับจีเอ็มโอ

“ตอนนี้มีปลูกจีเอ็มโอในไทยแล้วประมาณ 4 ชนิด โดยมีร้อยละ 30 เป็นมะละกอ รองลงมาคือ ฝ้าย และข้าวโพด  ซึ่งมีการหลุดรอดจากแปลงทดลองและไม่เคยควบคุมการปนเปื้อน สุดท้ายคือถั่วเหลือง ที่พบเจอแม้ไม่เคยอนุญาตให้มีการทดลอง ถึงจะมีสัดส่วนน้อยไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ที่เราประหลาดใจมาก คือเราพบพริกจีเอ็มโอ โดยที่น่าคิดคือ เทคโนโลยีทั้งหมดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีของต่างชาติทั้งสิ้น” นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถีกล่าว “การป้องกันสำหรับผู้บริโภควิธีเดียว คือการติดฉลาก แต่ที่ดีที่สุดคือ การประกาศไม่ให้นำเข้า หรือไม่ให้ปลูกเลย ดังเช่นประเทศนอร์เวย์ และรัสเซีย ที่ประกาศปฏิเสธอย่างชัดเจน รวมถึง 16 ประเทศ และ 3 เขตการปกครองในยุโรปก็แบนจีเอ็มโอในปัจจุบัน”

ในวงเสวนาวันนี้ผู้เชี่ยวชาญทุกคนต่างลงความเห็นว่า หลักการปลอดภัยไว้ก่อน คือหลักการเดียวที่ใช้ในการปฏิเสธจีเอ็มโอ

ความล้มเหลวของจีเอ็มโอคือการพิสูจน์ว่าไม่ได้ผลจริง ไม่ได้เพิ่มผลผลิต และใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น และเป็นสารที่อันตรายร้ายแรง เช่น ไกลโฟเซตที่อาจก่อมะเร็ง รวมถึงสิ่งการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในไทย กล่าวคือ การบอกว่าจะควบคุมการทดลอง แต่กลับพบว่ามีการปนเปื้อนไปทั่ว นั่นหมายความว่า เรายังไม่สามารถวางใจจีเอ็มโอได้  ตราบใดที่ยังไม่สามารถควบคุมกระบวนการทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่การทดลอง

“เราไม่เสี่ยงได้ไหม เราจะไปเสี่ยงกับการคาดเดาทำไม เพราะจีเอ็มโอไม่มีความแน่นอน ยังไร้ข้อพิสูจน์ยืนยัน และยังต้องทดลองดัดแปลง ผลกระทบที่คาดเคียงก็เป็นผลกระทบที่ยังไม่ทราบแน่นอน คนทำจีเอ็มโอคิดว่าตนเองควบคุมธรรมชาติได้ แต่ก็มีข้อผิดพลาดจากการสุ่มหรือการเดาได้ ซึ่งหากเกิดการปนเปื้อนแล้วนั้นจะไม่มีทางแก้ไขคืนได้” คุณนคร ลิมปคุปตถาวร ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง สาขาเจ้าชายผัก กล่าวถึงความไม่แน่นอนของจีเอ็มโอ

นอกจากนี้ คุณโจนยังได้บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้สอบถามกับเกษตรกรปลูกพืชจีเอ็มโอ ที่รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ว่า “ปลูกจีเอ็มโอดีกว่าปลูกพืชธรรมดาอย่างไร”คำตอบที่ได้มาคือ ไม่มีทางเลือก เกษตรกรจำเป็นต้องปลูกจีเอ็มโอหากต้องการปลูกข้าวโพด ถ้าไม่ปลูกจะโดนฟ้อง และไม่สามารถปลูกพืชพันธุ์พื้นบ้านได้อีก ราคาพืชจีเอ็มโอก็ไม่ต่างจากพืชธรรมดา โดยสหรัฐอเมริกาปลูกพืชจีเอ็มโอมากที่สุด แต่อยู่ได้เพราะการอุดหนุนจากรัฐบาล เป็นคำถามที่น่าเศร้าว่า เกษตรกรจะสามารถอยู่ในระบบการเกษตรแบบนี้ได้อีกนานเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทยที่รัฐฯยังไม่มีเงินอุดหนุน คนปลูกจะกินอะไร เพราะไม่สามารถปลูกกินเองได้ เนื่องจากต้นทุนแพงกว่าตลาด

20 ปีแห่งความล้มเหลวของจีเอ็มโอ

"เมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ทำไมเราจึงกระเสือกกระสนที่จะเป็นจีเอ็มโอ ของที่เรามีเยอะมาก แต่ทำไมถึงอยากกินข้าวโพดจีเอ็มโอ จีเอ็มโอไม่ใช่อาหาร แต่เป็นอาวุธของระบบล่าอาณานิคมยุคใหม่ ต่างประเทศใช้เมล็ดพันธุ์เป็นอาวุธ เพื่อให้ผืนดินที่ปลูกเมล็ดพันธุ์ของเขาต้องจ่ายเงินให้ กฎหมายสิทธิบัติทำให้การปล้นธรรมชาติถูกกฎหมาย เรายึดครองชีวิตพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ซึ่งนั่นหมายถึงการยึดครองชีวิตคนทั้งโลก" คุณโจน จันได กล่าว

ผลประโยชน์จากจีเอ็มโอที่แท้จริงไม่ใช่ของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่อยู่ในมือของผู้ผลิตเพียงไม่กี่บริษัท ดังที่ นายวัชรพล แดงสุภา กล่าวว่า “เมล็ดพันธุ์ 87% ทั่วโลกเป็นของมอนซานโต้ และมอนซานโต้ได้รับ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการฟ้องร้องเจรจากรณีละเมิดลิขสิทธิ ถือเป็นการผูกขาดที่ต้องระวังให้ดี และเป็นสิ่งที่เกษตรกรชาวไทยจะต้องเผชิญกับการผูดขาดเช่นนี้หากประเทศไทยเปิดรับจีเอ็มโอ ผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงเพียงหยิบมือ คือเจ้าของอุตสาหกรรมจีเอ็มโอเพียงแค่ไม่กี่บริษัท ไม่ใช่เกษตรกรหรือชาวนา”

ทางออกของความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริง คือ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งเป็นการปลูกแบบผสมผสาน สร้างผลผลิตได้มากขึ้น และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ มีการขับไล่และอารักขาพืชจากแมลงตามธรรมชาติ ในทางกลับกันจีเอ็มโอไม่ได้เพิ่มปริมาณผลผลิตดังคำอ้าง แต่ทำให้ผลผลิตคงที่ จากนั้นหากศัตรูพืชและแมลงปรับตัวได้ ผลผลิตก็จะลดลง นั่นคือข้อเท็จจริงของจีเอ็มโอ ศัตรูตัวร้ายที่จะทำลายความอุดมสมบูรณ์หลากหลายของผืนแผ่นดินไทย ท่ามกลางคำกล่าวอ้างเพียงไม่กี่ข้อหลัก ๆ ของจีเอ็มโอในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ผลลัพธ์ก็คือ จีเอ็มโอได้พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นว่า คำอ้างเหล่านั้นเป็นเพียงแค่มายาคติชวนเชื่อของอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชน ที่ผู้บริโภคและเกษตรกรทุกคนต้องร่วมกันตระหนักรู้ ทำการศึกษาพิจารณาข้อมูล ควบคู่ไปกับการปฏิเสธจีเอ็มโอ สนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องผืนดินอันเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเรา ให้ยังคงเป็นของประชาชน ของลูกหลาน เป็นอธิปไตยทางอาหารของชาวไทย ไม่ใช่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่งดังที่จีเอ็มโอพยายามจะแปรเปลี่ยนผืนแผ่นดินไทย

ข้อมูลเพิ่มเติม:




 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2559   
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2559 12:29:19 น.   
Counter : 1003 Pageviews.  


ประชาชนหรือผลประโยชน์ สิ่งที่ภาครัฐต้องเลือกบนชะตากรรมของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“ทำไมความถูกต้องชอบธรรมต้องแลกมาด้วยการต่อรอง เรียกร้อง ประท้วง ตลอดมา”

เชื่อว่านี่เป็นคำถามที่ก้องอยู่ในใจคนไทยมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มนายทุน กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ดูมักมีอำนาจในการต่อรองเหนือเสียงของประชาชน และคำถามนี้ดังกระหึ่มขึ้นมาอีกครั้ง กับการออกมาเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินร่วมกับผู้คนที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อทวงคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ จากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เพิกเฉยไม่ต่ออายุพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่เป็นเวลา 3 ปี และปล่อยให้กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แก้ไขในร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ฉบับใหม่เพื่อเอื้อต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

หรือว่าประชาชนกำลังถูกมัดมือชก ให้ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เมื่อวานนี้ (26 มกราคม 2559) เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้เดินทางมายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ โดยตัวแทนเครือข่ายฯ มุ่งมั่นรอจนกว่ารัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ จะยืนยันดำเนินการตามข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ไปปฏิบัติ โดยตั้งแต่ช่วงเช้าตัวแทนเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันเรียกร้องในเชิงสัญลักษณ์ด้วยการมัดมือ เสมือนการถูกภาครัฐมัดมือชกให้ยินยอมรับการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และขณะนี้กำลังรวบรวมรายชื่อเพื่อขอคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยมีการติดสติกเกอร์รูปฉลามวาฬแทนรายชื่อของทุกคน เพื่อเปล่งเสียงให้ดังถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพย์ฯ

“เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ประกาศเมื่อ 17 มีนาคม 2550 มีระยะเวลาการบังคับใช้ 5 ปีและสิ้นสุดลงเมื่อปี 2555 และปล่อยให้เวลาล่วงเลยมาถึง 5 ปี ช่วงเวลาดังกล่าวกฟผ. พยายามทำงานมวลชน และการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ EIA/EHIA เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่ต้องคำนึงถึงพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เมื่อปรากฎร่างพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะประกาศใช้กลับปรากฎข้อความเปิดทางให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ มีข้อสังเกตว่าทั้งช่วงเวลาที่ไม่ประกาศและเนื้อหาการประกาศใหม่กลับสอดคล้องต้องกันเพื่อเอื้อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น คำถามคือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำลังคิดอะไรอยู่?” เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกล่าวในแถลงการณ์

รมว.กระทรวงทรัพย์ฯให้คำมั่นจะให้คำตอบ"เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้"

ไม่นานนักตัวแทนจากทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลายท่านได้ลงมาพูดคุยกับเครือข่ายและพี่น้องชาวอันดามัน โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายเกษมสันต์ จิณณวาโส ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มารับเรื่อง พร้อมกับส่งเรื่องต่อไปยัง พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมาท่านรมว. กระทรวงทรัพย์ฯ ได้เชิญตัวแทนเครือข่ายไปประชุมพูดคุยซึ่งข้อสรุปของการหารือในครั้งนี้คือ ทางกระทรวงทรัพย์ฯ รับข้อเสนอของเครือข่ายฯ แม้ว่ายังไม่สามารถรับปากว่าจะให้คำตอบได้เมื่อใด แต่ให้คำสัญญาว่าจะให้คำตอบ "เร็วที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้"

“ที่กระบี่มีป้ายประกาศของกระทรวงทรัพย์ฯ ติดอยู่เต็ม โดยอ้างอิงถึงกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เกี่ยวกับการรักษาป่าชายเลน ซึ่งแสดงถึงเจตนารมณ์ของกระทรวงทรัพย์ฯ อย่างชัดเจน เราหวังว่ากระทรวงทรัพย์จะดำเนินตามเจตนารมณ์นี้ โดยทางเครือข่ายให้เวลากับทางกระทรวง เนื่องจากมีกระบวนการทางกฎหมายที่ไม่อาจบรรลุได้ในเร็ววัน เราจะกลับมารับคำตอบอีกครั้งที่นี่ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อขอดูข้อความตามที่ท่านได้รับปากไว้ พวกเราไม่ได้คัดค้านโรงไฟฟ้า แต่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เป็นอันตราย เพื่อประโยชน์ของชาวอันดามัน และของคนไทยโดยรวม” นายประสิทธิชัย หนูนวล ตัวแทนเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกล่าว

รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล ตัวแทนของเครือข่ายนักวิชาการ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า “ขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้งหมด 9  แห่ง มีจุดประสงค์เพื่อประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์ แต่ปัจจุบันนี้ขาดอายุไปทั้งสิ้น 6  แห่ง ระหว่างนี้หมายความว่าแต่ละแห่งนั้นไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครองทั้งสิ้น และแห่งอื่นๆ ก็ไม่มีการเพิ่มเติมข้อความเข้ามาในเชิงที่เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่อย่างไร”

นายไกรศักดิ์ ชุณหวัณ นักกิจกรรมขับเคลื่อนด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า “โรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างมลพิษมหาศาล  จึงทำให้พี่น้องรู้สึกเหมือนกับถูกมัดมือชก ต้องออกมาเรียกร้องเพราะสิ่งแวดล้อมคือ การทำมาหากิน วิถีชิวิต และการท่องเที่ยวที่หล่อเลี้ยงประเทศไทย แต่สิ่งเหล่านี้จะถูกทำลายโดยโรงไฟฟ้าถ่านหิน  รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ที่การประชุมด้านสภาพภูมิอากาศที่กรุงปารีสเมื่อปลายปีที่แล้วว่า จะลดการปล่อยคาร์บอนลงร้อยละ 20 นั่นหมายถึงจะต้องไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ตรงกันข้ามกับแถลงการณ์และปฏิญญาของโลกโดยสิ้นเชิง”

แม้ว่าวันนี้ยังไม่มีคำตอบถึงการปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เอื้อต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจะรอคำตอบอย่างมีความหวังในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้โดยเร็วที่สุดและปราศจากข้อความที่เปิดโอกาสให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมอันตรายดำเนินการได้ในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคำขอข้อเดียวเท่านั้น และเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนมองเห็นว่าเหมาะสม ตามเจตนารณ์และภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพึงกระทำเพื่อปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของประชาชนเหนือผลประโยชน์ของอุตสาหกรรม


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55408




 

Create Date : 27 มกราคม 2559   
Last Update : 27 มกราคม 2559 15:21:11 น.   
Counter : 1066 Pageviews.  


พื้นที่คุ้มครอง”สิ่งแวดล้อม”กระบี่ กำลังจะถูกเปลี่ยนให้คุ้มครอง”ถ่านหิน”

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

รู้กันหรือยัง..? ว่าพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ กำลังจะถูกแก้ไขถ้อยคำในประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ฉบับใหม่ เพื่อเอื้อให้ กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโครงการท่าเทียบเรือขนถ่านหิน อาคารเก็บถ่านหินและการลำเลียงถ่านหินในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้

เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ ถูกประกาศขึ้นเพื่อป้องกันหรือยับยั้งการดำเนินการตามโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์บำรุง รักษา คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อยู่ได้อย่างสมดุลตามระบบนิเวศ และคงความสมบูรณ์เพื่ออนุชนรุ่นหลังได้ใช้ต่อไปในอนาคต แต่เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ไม่ได้รับการต่ออายุตั้งแต่ 26 มีนาคม 2555 โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิกเฉยไม่ประกาศต่ออายุพื้นที่คุ้มครองฯดังกล่าว อีกทั้งยังปล่อยให้รัฐบาล กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แก้ไขในร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ฉบับใหม่ที่เตรียมจะประกาศเร็วๆ นี้ โดยในร่างฯ ดังกล่าวกำหนดให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าโครงการด้านพลังงานให้เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ได้ ซึ่งเป้าหมายที่รัฐบาล กระทรวงพลังงานและกฟผ. ต้องการผลักดัน  คือให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเรือถ่านหินกระบี่ขึ้นในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ 

ถูกแล้วหรือที่ภาครัฐกำลังร่วมมือกันปรับเปลี่ยนเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่อันเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญระดับประเทศและครอบคลุมพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน แต่กลับทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ครอบคลุมไปถึงพื้นที่แรมซาร์ไซต์ (พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่) อันเป็นเสมือนปอด ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลน หาดเลน และหญ้าทะเลผืนใหญ่

ร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองฯฉบับใหม่ปลดล๊อคให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อย่างไร?

จุดเปลี่ยนที่สำคัญอันเป็นจุดพลิกชะตาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ คือ หลัง 26 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันหมดอายุการบังคับใช้ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองฯ และถูกเพิกเฉยต่อการต่ออายุพื้นที่ดังกล่าวฯ ตามประราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535

เป็นเวลากว่า 3 ปี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ประชาชนในพื้นที่และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดสั่งรับคำร้องในวันที่ 24กันยายน 2557 เพื่อพิจารณาคำฟ้องอันเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาลงมติอนุมัติในหลักการของร่างประกาศคุ้มครองฯฉบับใหม่โดยเนื้อหาที่อนุมัติในหลักการยังไม่มีการเพิ่มเติมข้อความที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมถ่านหินตามที่สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ จากนั้นทางสำนักเลขาธิการรัฐมนตรีอ้างตามนร.0503/23943 ได้ส่งร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองฯดังกล่าวให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณาอีกครั้งโดยมีเงื่อนไขว่าให้รับความเห็นของกระทรวงพลังงานมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อได้ สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ ข้อความในร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ถูกเปลี่ยนโดยชัดเจนดังเช่น ลในร่างประกาศฯฉบับนี้ระบุในข้อ 6(1)(จ) ว่า ยกเว้น “โรงงานที่เป็นการดำเนินการตามนโยบายเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศที่ได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งโครงสร้างที่เป็นองค์ประกอในกระบวนการผลิตขนส่ง" โดยข้อความดังกล่าวที่เพิ่มเข้ามาให้สามารถเดินหน้าโครงการความมั่นคงด้านพลังงานของรัฐได้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมถ่านหินที่กำลังผลักดันให้กฟผ. กระทรวงพลังงานและรัฐบาลเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเรือถ่านหินกระบี่ได้

ขณะนี้ร่างประกาศฯกำลังอยู่ในขั้นตอนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์ฯ จะลงนามประกาศใช้ร่างฉบับใหม่อย่างเป็นทางการ หากร่างประกาศฯ ฉบับใหม่นี้บังคับใช้จริงเมื่อใด

จะเปิดโอกาสให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือถ่านหินสามารถดำเนินการได้ เป็นการยกเลิกการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและหันมาคุ้มครองโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมถ่านหินที่จะทำลายความอุดมสมบูรณ์ของกระบี่อย่างถาวร

โรงไฟฟ้าถ่านหิน และผลกระทบต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่

ความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ครอบคลุมอำเภออ่าวลึก อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง เอื้อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งด้านวิถีชีวิต การทำประมง การท่องเที่ยว และส่วนหนึ่งของพื้นที่แห่งนี้ยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศหรือที่รู้จักกันในชื่อ พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ (แรมซาร์ไซต์กระบี่) ที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดร่วมอนุรักษ์พื้นที่แห่งนี้มายาวนาน

การอนุมัติสร้างท่าเรือขนส่งถ่านหินจะต้องขุดลอกร่องน้ำเพื่อให้เรือขนส่งถ่านหินสามารถขนส่งและจอดได้ และจะมีการสร้างสายพานลำเลียงที่รุกเข้าไปในป่าชายเลนเป็นระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร เพื่อขนส่งถ่านหินไปเผาไหม้ยังโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่อยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งซึ่งส่งผลกระทบต่อป่าชายเลนและหญ้าทะเลอย่างแน่นอน ภัยคุกคามต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมยังรวมถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น สารโลหะหนักที่จะตกค้างอยู่ในธรรมชาติ ที่จะปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนในที่สุด

มรดกทางสิ่งแวดล้อมชิ้นสำคัญของชาวไทยนี้กำลังจะถูกเปลี่ยนด้วยอุตสาหกรรมถ่านหินและเพียงผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อเอื้อต่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มนี้ คือการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนในชุมชน

ร่วมทวงคืนพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่

ก่อนที่ร่างประกาศพื้นที่คุ้มครองฯฉบับใหม่จะได้รับการอนุมัติและประกาศใช้ไปอย่างเงียบๆ อย่างที่ภาครัฐ กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องการ ถึงเวลาที่ประชาชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่ เปล่งเสียงคัดค้านการบังคับใช้เปลี่ยนแปลงกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและขาดวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ยั่งยืน 

26 มกราคม 2559 นี้ เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป มาร่วมกันรวมตัวพร้อมกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการแก้ไขประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมกระบี่  มิให้มีการกำหนดข้อความให้รัฐบาลสามารถดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่

26 มกราคม 59 นี้ เวลา 10 โมงเป็นต้นไป ร่วมทวงคืนพื้นที่สิ่งแวดล้อมกระบี่ หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงช...

Posted by หยุดถ่านหินกระบี่ on Friday, January 22, 2016

ข้อมูลเพิ่มเติม


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55381




 

Create Date : 25 มกราคม 2559   
Last Update : 25 มกราคม 2559 17:34:43 น.   
Counter : 1550 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com