กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

หมอกจางๆ หรือควัน – การขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

เขียน โดย ณัฐชพร พรหมคำ อาสาสมัครกรีนพีซ และ วัชรพล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้สัมผัสกับความสดชื่นของทะเลหมอกและฟ้าใสในยามเช้า  แต่ทันที่อากาศเย็นหมดลงหมอกควันสีทึมๆ ก็จะเข้ามาแทนที่ หมอกควันจากการเผาในที่โล่งและการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตหมอกควันพิษปกคุลมในพื้นที่ภาคเหนือ

จากฟ้าใสสู่ฟ้าขมุกขมัว

หมอกควันพิษจากการเผาในที่โล่งและการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ส่งผลต่อทางเดินหายใจกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หลายภาคเหนือ จากสถิติของศูนย์ทะเบียนมะเร็งเชียงใหม่พบว่ามะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของเชียงใหม่ทุกปีมานานกว่า 30 ปี จากข้อมูลในปี 2550 พบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดในจังหวัดเชียงใหม่ คือ 34.44 ต่อแสนประชากร คนเชียงใหม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าคนไทยทั่วไปถึงเกือบ 7 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุของมะเร็งปอดที่สูงกว่าปกตินี้น่าจะมาจากสารก่อมะเร็งชื่อ Polycyclic aromatic hydrocarbon ซึ่งพบในหมอกควันพิษในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีความรุนแรงของปัญหาหมอกควันพิษส่งผลให้ยอดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1-7 มีนาคม 2555 ในโรงพยาบาล 87 แห่ง มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 23,685 ราย กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด 24,837 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 2,265 ราย และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 2,610 ราย

ภาพโดย วัชรพล แดงสุภา

ทำไมจึงต้องเผา?

การเพิ่มขึ้นของความต้องการผลผลิตข้าวโพดเพื่อทำอาหารสัตว์และราคารับซื้อข้าวโพดอันน่าดึงดูดใจ [ThaiNGO, 2012] ทำให้เกษตรกรเห็นช่องทางในการหารายได้จึงเปลี่ยนแนวทางการเกษตรจากการเพาะปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลักมาสู่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เนื่องจากการเกษตรแบบใหม่นี้ใช้พื้นที่มาก การถางและเผาป่าซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มพื้นที่การผลิตที่ง่ายและถูกที่สุดจึงถูกนำมาใช้

เมื่อปัญหาหมอกควันพิษเข้าสู่วิกฤตบริษัทผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์รายใหญ่กลับโยนความรับผิดชอบให้เกษตรกรรายย่อยเพียงลำพัง และอ้างว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาพื้นที่เกษตรหรือเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ทั้งที่ความเป็นจริงคือผลผลิตข้าวโพดในประเทศไทย 52% ปลูกในพื้นที่ป่าไม้

หากการเกษตรยังคงเป็นไปเพื่อการสร้างผลผลิตให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเช่นนี้ต่อไป วิกฤตหมอกควันพิษคงไม่สามารถลดน้อยลงได้ ยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐกลับสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพด ด้วยการแจกเมล็ดพันธุ์ของบริษัทใหญ่ให้กับเกษตรกร แทนที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงตามที่เคยประกาศไว้เมื่อหลายปีก่อน ทางออกที่ยั่งยืนของเกษตรกรรมสำหรับประเทศไทย คือ วนเกษตร และเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ที่ไม่ทำลายความสมบูรณ์ของป่าไม้ และสุขภาพของคนในพื้นที่

การเกษตรเชิงนิเวศและวนเกษตร การเพาะปลูกโดยไม่ต้องถางและเผา

การเกษตรเชิงนิเวศ เน้นระบบการจัดการความหลากหลายของพืชและปศุสัตว์สมัยใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ใช้ทรัพยากรตามธรรมชาติในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งยังลดปัจจัยภายนอกให้เหลือน้อยที่สุด (ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ) 

วนเกษตร (Agroforestry) ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้อย่างหลากหลายในฟาร์มและพื้นที่ชนบทเพื่อการฟื้นฟูผืนดิน เพื่อรักษาระบบนิเวศของป่าไว้ ซึ่งข้อดีของวนเกษตรจะทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องถาง และเผาป่าเพื่อให้ได้พื้นที่การเพาะปลูกขนาดใหญ่

ตัวอย่างการปลูกพืชอย่างหลากหลายในแปลงเดียวกัน (ที่มา: tondanolake)

เกษตรเชิงนิเวศและวนเกษตรให้ความสำคัญกับการเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ แนวทางนี้ไม่มุ่งเน้นการขยายพื้นที่การเกษตรเพื่อผลผลิต ตรงกันข้าม เกษตรเชิงนิเวศและวนเกษตรจะรักษาผืนป่าด้านบนของภูเขาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากพื้นที่ที่อยู่ต่ำลงมา การปลูกพืชจะให้ความสำคัญกับความหลากหลาย โดยคำถึงปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความสูงของพืช ขนาดของพืช ความต้องการแสงและน้ำ ความเหมาะสมของพืชต่อสภาพแวดล้อม บทบาทเชิงนิเวศของพืช เป็นต้น ตัวอย่างที่มีอยู่แล้วในภาคเหนือคือการปลูกกาแฟใต้ไม้ใหญ่ แนวทางอันยั่งยืนนี้จะไม่เผาตอซังแต่จะนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น ทำปุ๋ยหมัก คลุมดิน

เทคนิคการทำเกษตรสำหรับพื้นที่ลาดชัน (ที่มา: Agrowing Culture)

ไม่ใช่แค่ข้าวโพดที่ทำได้

ไม่เพียงพืชเศรษฐกิจเช่นข้าวโพดเท่านั้นที่สามารถปลูกแซมกับไม้ใหญ่ ไม้เยื่อกระดาษ ปาล์มน้ำมัน และโกโก้ก็สามารถใช้ระบบวนเกษตรในการเพาะปลูกได้เช่นกัน ในประเทศอินเดียอุตสาหกรรมผลิตกระดาษในประเทศได้สนับสนุนการปลูกไม้เยื่อกระดาษด้วยระบบวนเกษตรโดยอาศัยฝนจากธรรมชาติ (Rainfed Condition) โดยแนะนำให้ปลูกร่วมกับ ฝ้าย พริก ถั่วดำ ถั่วเขียว ข้าว ถั่วลิสง และทานตะวัน ทำให้ในหนึ่งพื้นที่เพาะปลูกเล็ก ๆ มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากเกษตรกรจะได้รายได้จากการปลูกยูคาลิปตัสแล้ว ยังได้รายได้จากพืชเกษตรที่ปลูกแซมด้วย ซึ่งการเพาะปลูกนี้เป็นที่นิยมของเกษตรกรเพราะมั่นใจกับผลตอบแทนที่สูง รัฐบาลสนับสนุน ถ้าผลตอบแทนจากพืชการเกษตรจะต่ำและผันแปรได้นั้นก็เนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนที่ผิดปกติและความผันผวนของตลาด

ด้านประเทศบราซิลที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก มีการศึกษาและทำแปลงทดลองปลูกปาล์มน้ำมันด้วยระบบวนเกษตรและพบว่าภายหลัง 4 ปีครึ่งนับตั้งแต่เริ่มสร้างแปลงทดลองการวิเคราะห์ปรากฏว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ยในระบบวนเกษตรมีมากกว่า 7 ตัน/เฮกตาร์/ปี เปรียบเทียบกับ 5 ตันในการปลูกปาล์มน้ำมันเชิงเดี่ยวที่อายุเท่ากันภายใต้เงื่อนไขที่คล้ายกัน โดยวิธีการปลูกปาล์มด้วยระบบวนเกษตรจะให้ความสำคัญเรื่องร่มเงา (Shading) เป็นหลัก เพราะปาล์มเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดมากในการเจริญเติบโตดังนั้นจึงไม่นิยมปลูกพืชที่สูงกว่าต้นปาล์มร่วมด้วยเพราะจะทำให้ต้นปาล์มได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ แต่เน้นปลูกต้นปาล์มให้ร่มเงาแก่พืชชนิดอื่นที่ต้องการร่มเงา เช่น โกโก้ และพริกไทยดำ และดูว่าจะสามารถปลูกพืชชนิดใดได้ดีในสภาพแวดล้อมเช่นนี้

ด้านเกษตรกรและชุมชนแบบดั้งเดิมในบราซิลมีความสนใจในการปลูกปาล์มเป็นอย่างมากเพราะมีความต้องการสูง แต่ก็ยังคงกังวลกับรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่ถูกสนับสนุนโดยบริษัท พวกเขากลัวโรคพืชและความเสี่ยงด้านตลาดที่เกี่ยวกับการพึ่งพาสินค้าเพียงอย่างเดียว เกษตรกรยังคงต้องการที่จะสามารถปลูกพืชหลักและพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง ถั่ว โกโก้ ปาล์ม และคูพูอัสซู (cupuaçu) ดังนั้นการปลูกแบบวนเกษตรจึงเป็นทางเลือกที่ดี [World Agroforestry Centre, 2014]

ปาล์มน้ำมัน ระบบวนเกษตรในบราซิล (ที่มา: World Agroforestry)

ด้วยการเกษตรเชิงนิเวศหรือวนเกษตรจะช่วยให้วิถีชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการพึ่งพาผลผลิตเพียงอย่างเดียวในตลาด ยังจะช่วยลดปัญหาการขยายตัวของการทำลายป่าไม้เพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวในแปลงขนาดใหญ่ (Deforestation for plantation) จากแรงขับของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ และนำไปสู่วิกฤตหมอกควันพิษครอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง แม้ปัญหาจะเกิดในภาคเหนือ แต่การที่ภาคเหนือเป็นต้นน้ำสายสำคัญของประเทศผลกระทบจากการสูญเสียผืนป่านั้นจึงส่งผลกระทบจากคนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่เราทำได้ทันทีคือเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริโภคเนื้อสัตว์เท่าที่จำเป็นให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ไม่กินทิ้งกินขว้าง อย่าปล่อยให้หมอกควันพิษเป็นเรื่องของภาคเหนือเพียงลำพังเพราะป่าผืนนี้เกี่ยวข้องกับลมหายใจของทุกคน


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 22 มีนาคม 2559   
Last Update : 22 มีนาคม 2559 17:03:55 น.   
Counter : 2753 Pageviews.  


คำถามถึง Mars

เขียน โดย Kate Simcock

เจ้าแมวเหมียวของคุณกินปลาทูน่าจากประมง IUU และการกดขี่ขูดรีดแรงงานเรือประมงหรือไม่?

ไม่ใช่เพียงปลาทูน่า #NotJustTuna อย่างที่เรารู้กัน ในแซนวิชหรือซูชิ แต่เป็นอาหารที่สัตว์เลี้ยงของเรากินด้วย

ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป อุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังถูกตามหลอนจากเรื่องราวการกดขี่ขูดรีดแรงงาน ความทุกข์ยากของมนุษย์และการประมงทำลายล้าง ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกที่ส่งผลิตภัณฑ์ทูน่า และอาหารทะเลอื่นๆนับหมื่นนับแสนกระป๋อง เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารแมวบรรจุซองและบรรจุกระป๋องของบริษัทมาร์ส (Mars)

ใช่แล้ว มาร์ส บริษัทที่ขายช็อกโกแลตแท่งยี่ห้อมาร์สยังเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

บริษัทมาร์สยังเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารสัตว์หลายแบรนด์ที่คุณอาจเคยเห็นในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือในคลีนิครักษาสัตว์ แบรนด์เหล่านั้นได้แก่  IAMS วิสกัสและ Dine ซึ่งใช้ปลาทูน่าและดูเหมือนว่าวัตถุดิบทั้งหมดมาจากประเทศไทย

ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของปลาทูน่าเหล่านี้วางขายอยู่ในชั้นวางสินค้าอาหารแมวระดับบน ด้วยชื่ออย่าง ‘succulent tuna, whitebait และ snapper’ พร้อมภาพของเจ้าแมวเหมียวน่ารัก แต่ในขณะเดียวกัน เราได้ยิน เรื่องราว ของ แรงงานประมง บนเรือประมงนอกน่านน้ำ ทำงานกะละ 20 ชั่วโมง และทุกข์ทรมาจากการถูกหลอกลวง เพิ่มระดับความสะพรึงที่ต้องคิดว่าโศกนาฏกรรมของมนุษย์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพียงเพื่อผลิตอาหารแมว

บทความของนิวยอร์คไทม์ ล่าสุดยืนยันว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล IAMS นั้นผลิตในโรงงานปลากระป๋องของไทยยูเนี่ยนซึ่งเคยพบว่ามีการใช้ปลาจากเรือประมงที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานและแรงงานที่มาจากกระบวนการค้ามนุษย์ 

และเราเกรงว่ามันไม่หยุดอยู่แค่นั้น

เราได้สอบถามบริษัทมาร์สหลายครั้งในเรื่องความเชื่อมโยงกับไทยยูเนี่ยนและที่มาของอาหารทะเลในผลิตภัณฑ์ Whiskas  คำตอบที่เราได้คือบริษัทมาร์สไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ก่อนกระบวนการทางศาล

บริษัทมาร์สอ้างถึงคดีฟ้องร้องแบบกลุ่ม(Class Actions) ในแคลิฟอร์เนียที่กลุ่มคนเลี้ยงแมวได้ท้าทายผู้ผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์ในชั้นศาล รวมถึง มาร์ส(Mars) และ Iams ในข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกดขี่ขูดรีดแรงงานบนเรือประมงอย่างทารุณในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล กลุ่มคนรักแมวอ้างถึงการที่พวกเขาถูกล่อลวงให้ซื้ออาหารแมวที่พวกเขาไม่ควรจะซื้อซึ่งกลายเป็นเรื่องการสนับสนุนกระบวนการกดขี่ขูดรีดแรงงานอย่างไม่ตั้งใจ 

แต่หากมาร์สไม่บอกกับเราว่าอาหารทะเลที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารแมวนั้นมาจากไหน เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่สนับสนุนการกดขี่ขูดรีดแรงงานบนเรือประมง ถ้าเราซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านั้นมาให้แมวกิน

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถามมาร์สว่า “อะไรอยู่ใน Whiskas ?”

ในทางตรงกันข้าม บริษัทผลิตและจำหน่ายอาหารเลี้ยงสัตว์แห่งอื่น อย่างเช่น เนสท์เล่ ได้รับรู้ถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานของตนและกำลังอยู่แถวหน้าของการเปลี่ยนแปลง เราคิดว่าถึงเวลาที่มาร์สจะทำในแบบเดียวกัน

ความจริงที่แสนเจ็บปวดคือมันยากที่จะรู้ว่าอาหารแมวบรรจุกระป๋องมาจากไหน ห่วงโซ่อุปทานนั้นคลุมเครือและการติดฉลากผลิตภัณฑ์นั้นก็แย่มาก ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่จะบอกว่าอาหารแมวบรรจุกระป๋องนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงาน คุณต้องตั้งคำถามมันทั้งหมด

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนรักแมวหรือไม่ก็ตาม ประเด็นคือว่า บริษัทระดับโลกกำลังทำเงินเข้ากระเป๋าตนเองครั้งใหญ่ และทำโดยไม่สนใจอะไร ไม่ว่าจะเป็น แรงงานประมง ปลาทูน่า หรือไม่สนใจว่าลูกค้าของพวกเขาจะรู้สึกอย่างไรกับวิธีการได้มาซึ่งอาหารทะเล

อาหารแมวไม่ได้เป็นตลาดเล็กๆ เจ้าแมวเหมียวทั้งหลายกินปลามากกว่าคน เฉพาะในสหรัฐอเมริกามากเกือบเป็นสองเท่า ในขณะที่ แหล่งปลาทูน่ากำลังร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วและคนทั่วโลกกำลังอดอยาก มีบางสิ่งบางอย่างที่ดูผิดพลาด 

หากคุณเป็นคนเลี้ยงสัตว์ คุณสามารถใช้อำนาจการซื้อของคุณปฏิเสธแบรนด์ที่ป้อนแมวของคุณด้วยปลาทูน่าจากประมง IUU และการกดขี่ขูดรีดแรงงานประมง ขั้นแรกสุด ถึงเวลาที่มาร์สต้องบอกเราว่าอาหารทะเลมากจากไหนและรับประกันว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อาหารของตน

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ออนไลน์ เพื่อถามมาร์สว่า อะไรอยู่ในอาหารแมว Whiskas ของฉัน


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/mars/blog/55907




 

Create Date : 18 มีนาคม 2559   
Last Update : 18 มีนาคม 2559 16:06:13 น.   
Counter : 1090 Pageviews.  


ภาพยนตร์สิ่งแวดล้อมที่คนรักษ์โลกจะต้องชอบ

เขียน โดย Shuk-Wah Chung

การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภัยแล้งรุนแรง พายุภัยพิบัติ ผู้คนโหยหาอาหาร สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนฉากหลังของภาพยนตร์เกี่ยวกับโลกหลังหายนะ แต่นี้คือสถานการณ์จริงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นจริงอยู่ในขณะนี้

“วิกฤตโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริง และกำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้”

ลีโอนาร์โด ดิคาปิโอ เจ้าของรางวัลออสการ์สาขาดารานำชาย และนักสิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ An Inconvenient Truth ของ Al Gore หรือภาพยนตร์เรื่องการเปลี่ยนแปลงโลกของกรีนพีซ How to Change  the World

ภาพยนตร์ล้วนสามารถบอกเล่าเรื่องราวปัญหาสิ่งแวดล้อมและช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงจำกัดแค่ภาพยนตร์สารคดี หรือเรื่องราวที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Cli-Fi)  ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการเล่าถึงกระแสวิกฤตภัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความจำเป็นที่ต้องลงมือทำอะไรสักอย่าง

อย่างไรก็ตาม ดังที่เจ้าของรางวัลออสการ์ตัวแรก และนักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศ ลีโอนาร์โด ดิคาปิโอ กล่าวไว้ว่า

“วิกฤตโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นจริง และกำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้” และกำลังคุกคามทุกสรรพชีวิตบนโลก เราจำเป็นต้องร่วมมือกัน เลิกผลัดวันประกันพรุ่งในการแก้ปัญหา”

และนี่คือภาพยนตร์สิ่งแวดล้อมที่คนรักษ์โลกต้องไม่พลาด

A Plastic Ocean (พ.ศ. 2559)

เมื่อนักเล่นเซิร์ฟ นักข่าว และ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์อย่าง Craig Leeson ได้ยินเรื่องเกี่ยวกับพลาสติกในมหาสมุทร เขารู้สึก“ตกใจและหวาดกลัว”

ผมอยากจะคิดว่าผมตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและผมรักทะเล และผมก็ใช้ทรัพยากรของโลกอย่างไม่ดูแลรักษา ผมถูกล้างสมองให้เชื่อว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่ใช้แล้วทิ้ง เหมือนที่ทุกๆคนคิด เขาพูดกับสำนักข่าว South China Morning Post

ผลคือการออกเดินทางแบบส่วนตัวเพื่อค้นหาสาเหตุและวิธีการที่ขยะมากมายเหล่านั้นจบลงในมหาสมุทรของเรา เพราะท้ายที่สุดแล้ว หากพวกเราไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เราอาจจะลงเอยด้วยการที่ในมหาสมุทรมีพลาสติกมากกว่าปลาในปี พ.ศ. 2593


Behemoth (พ.ศ. 2558)

Zhao Liang ผลิตสารคดีที่แสดงถึงความกล้าหาญ เช่น คนที่อาศัยอยู่กับเชื้อHIV และ ชาวบ้านในกรุงปักกิ่ง แต่เขาเองก็อยากจะผลิตหนังที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว ผลก็คือภาพยนตร์เรื่อง Behemoth ภาพยนตร์หลอน 90 นาที ที่มีความสวยงามสไตล์กอธิค ประกอบเสียงซาวน์แทร็คมองโกเลียน และไม่มีบทพูด

ภาพยนตร์เรื่องนี้ตีแผ่ให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของการทำเหมืองถ่านหิน คนงานที่ทุกข์ทรมานจาก “โรคฝุ่นจับปอด” หรือ “Black Lung disease” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ฝุ่นผงถ่านหินนั้นฝังตัวอยู่ในปอด ภาพของเหมืองถ่านหินตัดกันกับทุ่งหญ้าสีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ และขยายตัวอย่างรวดเร็วลุกล้ำเมืองอันว่างเปล่า

ในขณะที่ประเทศจีนอาจกำลังก้าวไปสู่อนาคตพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว และกำลังดำเนินการปิดตัวเหมืองถ่านหิน ความจริงแล้วหลายๆส่วนของประเทศและเมืองใหญ่ๆนั้นกำลังทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียงของอุตสาหกรรมถ่านหิน – มลพิษทางอากาศ ความเสี่ยงด้านสุขภาพ สิทธิแรงงาน และ ค่าตอบแทน และ จะยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายปี


Surviving El Nino (พ.ศ. 2559)

“พวกเราควรที่จะทำการเพาะปลูกตอนนี้ แต่ไม่มีน้ำ และไม่มีฝนก็แปลว่าไม่มีรายได้”

ภัยแล้งรุนแรงในประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญได้ทำลายพืชผลเกษตรกรชาวฟิลิปปินส์จำนวนมาก ความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์เหล่านี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งและพายุไต้ฝุ่นที่รุนแรง

หนังสั้นเรื่องนี้เกี่ยวกับเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเกษตรของชาวนาในการต่อกรกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและยากต่อการคาดเดา ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรชาวฟิลิปปินส์จะพบว่าการใช้วิธีการเลี้ยงสัตว์เชิงนิเวศเป็นการปฎิบัติที่ช่วยให้พวกเขาปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน


Tomorrowland (พ.ศ. 2558)

จอร์จ คลูนีย์ และบริตต์ โรเบิร์ตสัน นำแสดงในภาพยนตร์อเมริกัน cli-fi แนวผจญภัยลึกลับเกี่ยวกับนักประดิษฐ์สติเฟื่องผู้ไม่แยแสอย่างแฟรงค์ วอล์คเกอร์ (คลูนีย์) และผู้หญิงอัจฉริยะทางวิทยาศาตร์อย่าง เคซี่ นิวตัน (โรเบิร์ตสัน) เมื่อเคซี่สะดุดกับเข็มกลัดวิเศษ มันแสดงให้เธอเห็นทันทีถึงโลกที่มีสภาพภูมิอากาศเลวร้าย เธอขอความช่วยเหลือจากแฟรงค์ ผู้ที่รู้ถึงพลังของเข็มกลัดนั้นด้วย พวกเขาสามารถรักษาโลกนี้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ไว้ในอนาคตได้หรือไม่?


Mermaid (พ.ศ.2559)

ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฮ่องกงที่เป็นที่รู้จักกันสำหรับการสร้างหนังประเภทคอมเมดี้-แอ็คชั่น เช่น นักเตะเสี้ยวลิ้มยี่ (Shaolin Soccer) และคนเล็กหมัดเทวดา (Kung Fu Hustle) ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาอย่างเดอะ เมอร์เมดก็ไม่แตกต่างกันภาพยนตร์เรื่องอื่น แต่มีจุดสำคัญอย่างหนึ่งที่เด่นออกมาเหนือแอ๊คชั่นและแอฟเฟคซีจี คือ ลึกลงไปภาพยนตร์นี้เกี่ยวกับวิธีที่มนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อม และแน่นอนรวมไปถึงนางเงือกด้วย

ตั้งแต่ภาพยนตร์เริ่มฉาย ก็ทำรายได้มหาศาล กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดของจีน  ใช้ภาพมลพิษทางน้ำและสัตว์ทะเลที่ตายจริงๆ ทิ้งข้อสงสัยให้ผู้ชมไว้หนึ่งคำถาม

“สมมุติว่าถ้าโลกไม่มีหยดน้ำสะอาดสักหยดหรืออากาศบริสุทธิ์ให้เราหายใจ สิ่งที่คุณต้องการมากที่สุดคืออะไร”


Under the Dome (พ.ศ. 2558)

กว่าหนึ่งปีที่นักข่าวสืบสวนอย่าง Chai Jing เข้าไปเยี่ยมโรงงาน สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐ พูดกับผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและเจ้าของธุรกิจ และเธอได้พบว่าเธอมีเนื้องอกในมดลูกในขณะตั้งครรภ์ลูกสาวของเธอ

ผลลัพธ์ก็คือ? เรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของจีน  มีผู้ชมมาแล้วกว่า 150 ล้านครั้ง!

หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไรน่ะหรือ? มลพิษทางอากาศ


Shuk-Wah Chung เป็นบรรณาธิการด้านเนื้อหา ที่กรีนพีซเอเชียตะวันออก

หากต้องการชมภาพยนตร์เพิ่มเติม ลองดูภาพยนตร์และวิดีโอกรีนพีซ ที่นี่


แปลโดย ชนนิกานต์ วาณิชยพงศ์ อาสาสมัครกรีนพีซ

ที่มา : www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55888




 

Create Date : 17 มีนาคม 2559   
Last Update : 17 มีนาคม 2559 11:51:28 น.   
Counter : 3737 Pageviews.  


เกษตรอินทรีย์ การเกษตรแห่งความยั่งยืน

แปลและเรียบเรียง โดย Supang Chatuchinda

ภาพรวมพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของไทยในปีที่ผ่านมาถือว่าขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่มีแนวโน้มในการทำเกษตรโดยวิธีอินทรีย์มากขึ้น มีหลายประเทศในซีกโลกตะวันออกที่กำลังตื่นตัวกับการทำเกษตรอินทรีย์ เช่น ประเทศอินเดีย รัฐบาลอินเดียมีนโยบายสนับสนุนการทำเกษตรกรรมแบบอินทรีย์ ส่วนในประเทศจีน รายงานของสถาบัน หลุยส์ โบล์ค เปิดเผยว่าในปีพ.ศ. 2550 จีนมียอดผลผลิตจากการเกษตรแบบอินทรีย์ราว ๆ 3 ล้านตันและมีมูลค่าการส่งออกผลผลิตเหล่านี้ถึง 350 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของจีนยังคาดหวังว่าในปีถัด ๆ ไป (พ.ศ.2559) ตลาดการเกษตรอินทรีย์จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20-30 ต่อปี

เกษตรกรชาวจีนกำลังเก็บใบชาอินทรีย์

ส่วนทางฝั่งตะวันตกก็ไม่น้อยหน้าเพราะตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง รายงาน The World of Organic Agriculture ได้เผยถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับตลาดเกษตรอินทรีย์ในยุโรป (และทั่วโลก) ผู้นำตลาดด้านการเกษตรอินทรีย์ในโลกตะวันตกนี้หนีไม่พ้น 3 ยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา เยอรมนีและฝรั่งเศส ยิ่งไปกว่านั้นในปี พ.ศ.2557 ตลาดเกษตรอินทรีย์ของสวีเดนยังขยายตัวมากถึงร้อยละ 38 

ตลาดผักผลไม้อินทรีย์ในฝรั่งเศส

เพราะอะไรที่ทำให้การเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมจนสามารถครองพื้นที่ตลาดได้ขนาดนี้?

สาเหตุการขยายของตลาดเกษตรอินทรีย์อาจเป็นเพราะผลกระทบจากการทำเกษตรอุตสาหกรรมรวมถึงการเพาะปลูกพืชดัดแปลงพันธุกรรม

ยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เราอาจเรียกได้ว่าเป็นฝันร้ายของเกษตรกร เป็นที่รู้กันดีว่าประเทศในทวีปอเมริกาอย่างสหรัฐอเมริกาและอาเจนตินานั้นมีการผลักดันนโยบายการเกษตรอุตสาหกรรมอย่างหนักและสนับสนุนการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมหรือที่เรารู้จักกันในนามพืชจีเอ็มโอ

พืชจีเอ็มโอเหล่านี้ถูกตัดต่อพันธุกรรมให้ทนทานต่อยาฆ่าแมลง (ทั้งเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอและยาฆ่าแมลงที่พืชจีเอ็มโอต้านทานผลิตโดยบริษัทเดียวกัน) และบทเรียนที่เปรียบเสมือนฝันร้ายของประเทศเหล่านี้ได้รับก็คือความผลกระทบอันเลวร้ายทั้งต่อสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

อ่านเพิ่ม: 20 ปีแห่งความล้มเหลว จีเอ็มโอกับคำสัญญาลม ๆ แล้ง ๆ

นอกจากผลกระทบข้างต้นแล้ว ปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าแท้จริงแล้วพืชจีเอ็มโอปลอดภัยพอสำหรับการบริโภคหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่แล้วการศึกษาวิจัยพืชจีเอ็มโอมักได้รับเงินทุนจากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพข้ามชาติ แทบจะไม่มีการศึกษาวิจัยที่เป็นอิสระและเป็นการศึกษาระยะยาวเกี่ยวกับพืชจีเอ็มโอผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์เลย

นักกิจกรรมกรีนพีซเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธ์ข้าวโพดภายในฟาร์มแห่งหนึ่งของประเทศเยอรมนี 

ปัจจุบัน ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะก้าวเดินไปในเส้นทางของจีเอ็มโอ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจีเอ็มโอซึ่งจำหน่ายโดยบริษัทสัญชาติอเมริกัน ‘ มอนซานโต’ เติบโตในตลาดยุโรปเพียงร้อยละ 0.1 ของพื้นที่การทำเกษตรในยุโรป เมื่อเปรียบเทียบกับการทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งกินพื้นที่ถึงร้อยละ 5.7 ของพื้นที่การทำเกษตรในยุโรป (เปรียบเทียบข้อมูลจากรายงานของ ไอซาร์ (ISAAA)และ ยูโรสแต็ท(Eurostat)) 

เกษตรกรรมที่ยั่งยืนเป็นมิตรต่อเราและสิ่งแวดล้อม

ฟาร์มผักและผลไม้อินทรีย์ในสโลวาเกีย

เพราะการเกษตรอุตสาหกรรมและพืชจีเอ็มโอไม่ใช่ทางออกของการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ตรงกันข้ามกลับส่งผลเสียต่อสุขภาพ สังคมและสิ่งแวดล้อม การทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสารเคมีและพืชจีเอ็มโอจึงเป็นทางเลือกที่ดีและยั่งยืนยิ่งกว่า

เราคงทราบกันอยู่แล้วว่าเกษตรอินทรีย์นั้นคือการปลูกพืชให้เป็นไปตามระบบนิเวศ ปราศจากสารเคมีหรือสิ่งแปลกปลอมที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันวัชพืชและแมลงศัตรูพืช ไม่ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ รวมถึงการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์

การผลิตอาหารด้วยวิธีนี้ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่และสุขภาพของเกษตรกรมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นคือช่วยป้องกันการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรจากการเข้ามาผูกขาดโดยบริษัทข้ามชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าอีกด้วย

และยังมีอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงถึงผู้บริโภคอย่างเราด้วยนั่นคือ พลังของผู้บริโภค

ร้านขายผลผลิตอินทรีย์ในเมือง ซาน ฟรานซิสโก ซึ่งก่อตั้งโดยชาวเกษตรกรที่ปลูกพืชอินทรีย์เพื่อจำหน่ายอาหารให้กับผู้บริโภคโดยตรง

หากมองเผิน ๆ แล้วผู้บริโภคอย่างเราซึ่งอยู่ปลายทางของสายพานการผลิตอาหารไม่น่าจะมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงที่มาของอาหารที่เราบริโภคได้  แต่รู้หรือไม่ว่าผู้บริโภคคือพลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงต้นทางสายพานการผลิตอาหารเลยทีเดียว

กฎที่เป็นจริงของอุปสงค์และอุปทานยังใช้ได้อยู่เสมอ เมื่อใดที่ความต้องการซื้อมากขึ้นเมื่อนั้นความต้องการขายก็จะมากขึ้นตามไปด้วย หากผู้บริโภคทยอยเลือกบริโภคผลิตผลที่มาจากการทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น แน่นอนว่าความต้องการขายอาหารที่มาจากเกษตรอินทรีย์มากขึ้นตาม เพียงแค่เลือกจับจ่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่มีที่มาจากการเกษตรอินทรีย์ หรือเลือกซื้อผักผลไม้อินทรีย์จากเกษตรกร และชักชวนให้ญาติพี่น้องมาร่วมกันสนับสนุนผลิตผลเหล่านี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกร และเพื่อสุขภาพที่ดีของพวกเขาเอง


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55674




 

Create Date : 15 มีนาคม 2559   
Last Update : 15 มีนาคม 2559 10:56:04 น.   
Counter : 1100 Pageviews.  


คู่สามีภรรยาผู้ได้รับความเสียหายจากนิวเคลียร์ฟุกุชิมะกลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์

เขียน โดย Ai Kashiwagi

30 ปีที่ผ่านมา Shin และ Tatsuko Okawara ใช้เวลาทั้งชีวิตของพวกเขาทำงานเป็นเกษตรกรอินทรีย์ ในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของพวกเขาเอง การทำงานในชนบทอยู่ในสายเลือดของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลบนผืนแผ่นดินเดียวกันกับครอบครัวของพวกเขาที่ทำมาเป็นเวลาหกชั่วอายุคน พวกเขาขายผักปลอดสารพิษให้กับลูกค้าโดยตรงและการบริการของพวกเขาก็ยังเป็นที่ชื่นชอบในชุมชนอีกด้วย


คู่สามีภรรยา Okawara ใส่ใจในผลิตภัณฑ์ของพวกเขามาก  ถึงขนาดติดตัวการ์ตูนของตัวเองลงบนฉลาก!

สามีภรรยาOkawara อาศัยอยู่ทางทิศตะวันตก ห่างจากจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ประมาณ 45 กิโลเมตร และพวกเขาก็รักที่ที่พวกเขาอยู่ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องอยู่แบบระมัดระวัง พวกเขาได้ซื้อเครื่องตรวจจับรังสีหลังจากที่รู้สึกกังวลจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติเชอร์โนบิลปี พ.ศ.2529 จากนั้นในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2554 สี่วันหลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ สัญญาณจากเครื่องตรวจจับของพวกเขาส่งเสียงดังและระดับรังสีก็เพิ่มขึ้น พวกเขาไม่มีทางเลือกและต้องย้ายออกจากที่นั่น



คู่สามีภรรยาผู้น่ารักในร้านค้าที่เป็นเกษตรอินทรีย์ของพวกเขาในเมือง Miharu

ในที่สุดพวกเขาก็ตัดสินใจที่จะกลับมา “พวกเรามีวัวและไก่ที่ต้องดูแล เราต้องกลับมาให้อาหารพวกมัน เราไม่สามารถปล่อยพวกมันไว้และไปอยู่ที่อื่นได้” พวกเขาบอกเราเมื่อปี พ.ศ.2555

แต่นอกเหนือจากการจัดการกับผลที่ตามมาจากอุบัติเหตุอันน่าเศร้า พวกเขายังต้องรับมือกับอนาคตทางธุรกิจของฟาร์ม ฐานลูกค้าของพวกเขาลดลงเนื่องจากกลัวการปนเปื้อนในการผลิต และพวกเขายังคิดเกี่ยวกับการเลิกทำการเกษตรด้วย



Tatsuko Okawara ร้องไห้ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในร้านของเธอในปี พ.ศ.2557 ขณะที่เธอพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ

แทนที่จะปล่อยให้อุบัติเหตุนิวเคลียร์มีอิทธิพลต่อพวกเขา พวกเขารู้ว่าพวกเขาจะต้องก้าวไปข้างหน้า เพื่อตัวพวกเขาเอง เพื่อชุมชนและเพื่ออนาคตของลูกหลาน

ในปี พ.ศ.2556 พวกเขาเปิดร้านค้าแบบเกษตรอินทรีย์ ชื่อร้านว่า Esperi ขึ้น ในเมือง Miharu จังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นเมืองทางการเกษตร พวกเขามีความตั้งใจที่จะช่วยฟื้นฟูพื้นที่และสร้างพื้นที่ชุมชนที่ผู้คนสามารถมารวมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ เมื่อพิจารณาดูแล้วชื่อร้าน Esperi หมายถึง ความหวัง ในภาษา Esperanto แต่นี่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2558 คู่สามีภรรยาได้ปล่อยโครงการ  Solarise Fukushima crowdfunding เพื่อติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนชั้นดาดฟ้าที่ร้านค้าของพวกเขา จุดมุ่งหมายของพวกเขาคือ “ความหวังที่จะแพร่กระจายชีวิตด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากเมือง Miharu จังหวัดฟุกุชิมะ”

ก่อนที่พวกเขาจะรู้ตัว คนทั่วประเทศญี่ปุ่นและคนอื่นๆทั่วโลกก็เริ่มบริจาคให้โครงการระดมทุนสาธารณะ (crowdfunding) ของพวกเขาแล้ว ประมาณหนึ่งเดือนต่อมาพวกเขาบรรลุเป้าหมาย คือมีเงินประมาณ 1.5 ล้านเยน (ประมาณ 13,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ข้อความจากผู้คนที่สนับสนุนเงินทุน ให้กำลังใจที่พวกเขาต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขารู้สึกว่า "ถูกลืมไปแล้ว" แต่ไม่ใช่เลย


นอกจากนี้ คู่สามีภรรยา Okawara ยังเป็นนักแสดงที่มีความกระตือรือร้นอีกด้วย นี่คือภาพที่ Shin เล่นกีตาร์และร้องเพลง ...

…ในขณะที่ Tatsuko เป็นนักเชิดหุ่นที่มีความสามารถ เธอกำลังทำการแสดงเรื่อง "Taro and Hanako" ซึ่งเป็นเรื่องราวที่มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงของคู่สามีภรรยาที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ

กรีนพีซญี่ปุ่น ได้ช่วยเผยแพร่โครงการนี้ และในเดือนมกราคม ปี พ.ศ.2559 แผงเซลล์แสงอาทิตย์ถูกติดตั้งบนชั้นดาดฟ้าของร้าน Esperi



คู่สามีภรรยา Okawara และฉันช่วยกันติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์แผ่นแรก…



คนงานก็กำลังติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหลือ



ในระหว่างนั้นเด็ก ๆ ในชุมชนก็เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์



และเมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว พวกเราทุกคนก็มีความสุข



ใช่แล้ว พวกเราทุกคนมีความสุข



โดยเฉพาะ สองคนนี้ ☺



ตอนนี้ร้าน Esperi มีระบบพลังงานแสงอาทิตย์ 10 กิโลวัตต์และจะสร้างกระแสไฟฟ้า 10 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ในทุกๆปี

เมื่อทีมสืบสวนการแผ่รังสีของกรีนพีซสากล ได้พบกับคู่สามีภรรยาเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2554 นาง Okawara กล่าวว่า:

“ผู้คนที่ฟุกุชิมะค่อนข้างเป็นคนซื่อ เป็นเวลานานแล้วที่พวกเราไม่มีเงินและเพิ่งยอมรับแผนการของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่สำหรับอนาคตลูกหลานของเรามันจะเป็นความอัปยศ ถ้าเราไม่ดำเนินการทำเกษตรอินทรีย์ต่อและดำเนินการอย่างเข้มงวด”

ในปี พ.ศ.2555 จังหวัดฟุกุชิมะ ให้คำมั่นที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ.2583 แต่นโยบายที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะส่งเสริมในปัจจุบันคือ การมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม

เพื่อให้ก้าวถึงเป้าหมายระบบพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืน เชื่อถือได้ และราคาไม่แพง รัฐบาลญี่ปุ่นต้องมีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงมาตรการของตนอย่างเร่งด่วน จะต้องใส่ใจประชาชนก่อนสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ และหยุดความพยายามที่เปล่าประโยชน์ในการเริ่มเดินเครื่อง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่อีกครั้ง หยุดการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีส่วนในการทำลายสภาพภูมิอากาศ และตั้งเป้าหมายพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ท้าท้าย

สำหรับชาวฟุกุชิมะความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขา คือการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์และอนาคตที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย ร้าน Esperi เป็นเครื่องพิสูจน์ตัวตนในอนาคตของชุมชน สิ่งนี้เองคือความหวังของพวกเรา

Ai Kashiwagi ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน กรีนพีซญี่ปุ่น

แปลโดย นางสาวจันทร์นารี ถัดทะพงษ์ /อาสาสมัครกรีนพีซ


ที่มา: www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/55777




 

Create Date : 14 มีนาคม 2559   
Last Update : 14 มีนาคม 2559 10:53:53 น.   
Counter : 1198 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com