กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ประกาศรับนักสำรวจขั้วโลก ไม่ต้องมีประสบการณ์

Training for the North Pole Expedition in Fefor, Norway

อีกเพียงสองสัปดาห์หลังจากนี้ ผมจะไปยืนอยู่บนทะเลน้ำแข็งของอาร์กติก เพื่อเตรียมตัวสกีไปยังขั้วโลกเหนือ ผมจะต้องใส่เสื้อขนสัตว์สี่ชั้นและหมวกใบพิเศษที่มีคนถักให้ผม ในกระเป๋าผมจะมีชอคโกแลตอัลมอนด์ ไอพอด และคำประกาศแห่งความหวังของอนุชนคนรุ่นหลัง

เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ทั้ง 16 คนในทีม ผมไม่เคยมีประสบการณ์ใดๆ ในอาร์กติกมาก่อน อันที่จริงแล้ว กิจกรรมประเภทเอาท์ดอร์ของผมนั้นมีแค่เพียงการตั้งแคมป์ในสวนกับเพื่อนชื่อ บาร์นาบี สมัยผมอายุ 7 ปี เช่นนั้นแล้วทำไมกรีนพีซถึงพาพวกผมและกลุ่มเยาวชนที่ไร้ประสบการณ์ สกีไปยังขั้วโลกเหนือน่ะหรือ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ

เรากำลังไปยังขั้วโลกเหนือเพื่อประกาศให้เป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติของโลกในนามของทุกสรรพชีวิตบนผืนโลก เมื่อเราไปถึงเราจะเจาะรูที่ใต้ทะเลน้ำแข็งและปักธงแห่งอนาคต ในนั้น สิ่งที่ติดกับธงคือลูกแก้วซึ่งบรรจุรายชื่อของผู้คนที่เป็นผู้ปกป้องอาร์กติกกว่า 2.7 ล้านคน ที่ได้เข้าร่วมกับกรีนพีซใน savethearctic.org.

เราหวังที่จะสร้างมุมมองใหม่ของอาร์กติกให้คนได้กล่าวถึงกัน เป็นอาร์กติกที่มีความสำคัญต่อทุกชีวิตบนโลกใบนี้ เพราะขณะนี้สิ่งที่ผู้คนกำลังพูดถึงอาร์กติกมีแต่การจะขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างไร และจะทำการประมงอย่างไร ทั้งๆที่เวลานี้น้ำแข็งกำลังละลาย

และหากคุณยกมือขึ้นคัดค้านว่า “เอ่อ ขอโทษนะครับ การใช้โอกาสที่น้ำแข็งละลายไปเพื่อประโยชน์ในการขุดเจาะน้ำมันนั้นมันไม่ดูเห็นแก่ตัวไปหน่อยหรือ” คุณก็จะถูกหัวเราะเยาะใส่ ถูกหาว่าไร้เดียงสา และให้ไปนั่งอยู่มุมห้องจนกว่าจะทำตัวดีขึ้น

เราคิดว่ามีหนทางที่ดีกว่านั้น เราระดมพลังผู้คนเพื่อปกป้องอาร์กติกและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผนึกพลังเป็นหนึ่งเดียว ร่วมมือกัน ด้วยเจตนารมณ์แห่งสันติภาพ เราเริ่มด้วยการเรียกร้องให้ประธานาธิบดี โอบามา หยุดยั้งการขุดเจาะบริเวณนอกพื้นที่ชายฝั่งอลาสกา, และเรายังต้องการให้มีมุมมองใหม่ที่ดีขึ้นกว่านี้

การเดินทางในครั้งนี้ นอกจากผู้นำทางในขั้วโลกเหนือ ทีมสุดยอดช่างภาพ และทีมเทคนิคขั้นเทพแล้ว ผมก็จะร่วมการเดินทางไปพร้อมกับ เยาวชนที่น่าทึ่งอีก 4 คน ผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับอาร์กติก ทั้วเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความหวัง

เรนนี จากประเทศสาธารณรัฐเซเชลส์ ประเทศซึ่งเป็นเกาะของเขานั้นอาจจมหายไปทั้งหมดจากการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น แต่คุณคงเดาไม่ออกว่าเป็นเช่นนั้นจากการพูดคุยกับเขา ในตอนที่เราร่วมการฝึกเพื่อการเดินทางไปยังขั้วโลกเหนือที่ประเทศนอร์เวย์ เขาหัวเราะอยู่เสมอตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาที่เขานอนกลิ้งออกมาจากถุงนอน

เคียรา จากเมือง Denendeh ในทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศแคนาดา เธอเป็นนักกิจกรรมตัวยง นักร้อง และเป็นผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนพื้นเมือง เธอยังเป็นคนสนุกสนาน และจะนำกลองไปด้วย

โจเซฟินา มาจากชนเผ่าพื้นเมืองซามี่ ประเทศสวีเดน หนึ่งในชนเผ่าพื้นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับกวางเรนเดียร์มาหลายร้อยปี เธอยังถักหมวกใบพิเศษสำหรับการเดินทางในครั้งนี้อีกด้วย

Ezra Miller
เอซรา เป็นนักแสดงผู้มีพรสวรรค์จากนิวยอร์ก

เอซรา เป็นนักแสดงผู้มีพรสวรรค์จากนิวยอร์ก เขาได้ประสบกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการเกิด “โคตรพายุ” จากพายุเฮอริเคนแซนดี ที่พัดถล่มเมืองบ้านเกิดของเขา และเขากำลังเรียนซัมบา เพื่อเตรียมพร้อมอะไรสักอย่าง

หนทางที่จะก้าวเดินไปจะทั้งหนาวเหน็บและยากลำบาก และเราไม่มีวันรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณสามารถส่งข้อความหาพวกเรา และตรวจสอบความคืบหน้าของการเดินทางได้ที่นี่ และเราจะพยายามตอบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ชอคโกแลตของพวกเราจะหมดลง อวยพรให้เราด้วยนะครับ




 

Create Date : 27 มีนาคม 2556   
Last Update : 27 มีนาคม 2556 17:04:13 น.   
Counter : 1567 Pageviews.  


“วิกฤตน้ำ” ประเทศไทยปี พ.ศ. 2556 สถานการณ์ปัญหาและหนทางแก้ไข

สถานะการณ์น้ำ 2556

แหล่งน้ำจืดของโลกมีอยู่จำกัดปริมาณน้ำสะอาดที่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำกำลังเป็นปัญหาท้าทายการบริหารจัดการน้ำที่จะเข้มข้นขึ้นนับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปถึงแม้ว่าน้ำจะมีปริมาณมากถึง  2  ใน 3 ของโลกแต่มีเพียงร้อยละ 3  ที่เป็นน้ำจืดและมีเพียงร้อยละ 0.003 เท่านั้นที่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้[1]  ประเทศไทยได้เผชิญปัญหาเกี่ยวกับน้ำอย่างต่อเนื่อง อาทิ ปัญหาแหล่งน้ำสำคัญเสื่อมโทรม และปนเปื้อนมลพิษ ปัญหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร และในปีพ.ศ. 2556 นี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นมากจากอดีต ปริมาณน้ำสำรองในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหลือไม่ถึงร้อยละ 25  และกว่า 26,107 หมู่บ้านได้ถูกประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง [2] พื้นที่เกษตรเสียหายไปแล้ว 711,635 ไร่[3] และคาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นในฤดูแล้งที่กำลังจะถึงนี้ โดย “วิกฤตน้ำ” ที่กำลังเผชิญอยู่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปริมาณความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และสถานการณ์แหล่งน้ำสะอาดถูกคุมคามจากผู้ก่อมลพิษ  

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังจะคงมีปริมาณน้ำใช้เพียงพอสำหรับทุกคนหากมีการใช้อย่างพอดีและเท่าเทียมกันของทุกภาคส่วนและการรักษาแหล่งน้ำสะอาดให้ปลอดจากมลพิษ  อย่างไรก็ตาม ตลอดหลายปีที่ผ่านมาปัญหามลพิษทางน้ำได้ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้แหล่งน้ำที่ดีพอสำหรับการอุปโภคบริโภคมีปริมาณลดลงเหลือไม่ถึงร้อยละ 20 ของปริมาณแหล่งน้ำผิวดินทั้งหมด การเจริญเติบโตอย่างไร้การควบคุมของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้ส่งผลโดยตรงกับปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งการแย่งชิงทรัพยาน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดสำหรับการผลิตอาหารโดยภาคเกษตรและการผลิตสินค้าโดยภาคอุตสาหกรรม และปัญหามลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพแหล่งน้ำ

ในตลอดปีที่ผ่านมายังพบว่าการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือในพื้นที่ชุมชมเกษตรกรรมได้เกิดบ่อยครั้งขึ้น จนเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเกิดมลพิษและปนเปื้อนสารเคมีอันตรายในแหล่งน้ำชุมชน ซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่สามารถใช้แหล่งน้ำเหล่านั้นเพื่อการดำรงชีวิตได้แล้ว สารเคมีอันตรายยังสามารถสะสมในสิ่งแวดล้อม แพร่กระจายสู่ห่วงโซ่อาหาร ก่อให้เกิดการปนเปื้อนและส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในที่สุด ปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ปัจจุบันปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศมีจำนวน 3.95 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 84 ของปริมาณของเสียอันตรายทั้งหมด หากแต่มีโรงงานรับจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วที่เป็นของเสียอันตรายเพียงประมาณ 300 แห่ง ซึ่งร้อยละ90 ของโรงงานเหล่านี้ ยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย[4] และขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

เมื่อแหล่งน้ำสะอาดของชุมชนได้ถูกคุกคามอย่างหนัก หลายชุมชนจึงเริ่มลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรของตนเอง หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือ ชุมชนใน ตำบลหนองแหน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่กลายเป็นแหล่งลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมที่แอบทำกันอย่างกว้างขวางมากมายหลายครั้งนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 จนกระทั้งในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2555 ชุมชนจึงได้มีร่วมตัวกันดักจับรถที่นำน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมาทิ้งส่งให้ตำรวจและคัดค้านการประกันตัว หลังจากนั้นได้มีหน่วยงานรัฐมากมายเข้ามาตรวจสอบดูแลปัญหานี้ แต่กระนั้น แม้ว่าชุมชนจะรวมตัวกันกดดันภาครัฐอย่างไร แต่การแก้ปัญหากลับไร้ความคืบหน้า จนกระทั้งแกนนำต่อต้านการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมของชุมชน ผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส ได้ถูกฆ่าสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยการยิงระยะเผาขน 4 นัด ความกล้าหาญและเสียสละของผู้ใหญ่ประจบ เนาวโอภาส ในครั้งนี้ถือว่าเป็นวีระบุรุษผู้ปกป้องแหล่งน้ำสะอาด ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับการปกป้องสิ่งแวดล้อมของไทยและเป็นตัวอย่างการต่อสู้ที่ดีให้กับทุกชุมชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาการคุมคามจากอุตสาหกรรมและการแย่งชิงและทำลายทรัพยากร 



สิทธิชุมชนในการใช้ประโยชน์และเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิตถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรและเรียกร้องความชอบธรรมจึงเป็นสิทธิที่พึงได้เช่นกัน หลายครั้งการลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมักถูกสังคมเมืองหรือกระแสโลกาภิวัตน์มองว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการขัดขวางความเจริญของประเทศ และนักพัฒนาทางอุตสาหกรรมต่างสร้างมายาคติให้มีการยอมรับในสังคมว่าการพัฒนาประเทศอาจจะต้องมีการเสียสละของชุมชนและการทำลายสิ่งแวดล้อมบ้าง ซึ่งเป็นความคิดที่อันตรายและจะเป็นการบั่นทอนต่อการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน เกิดการเอาเปรียบ และความล่มสลายของระบบนิเวศและชุมชน

หนทางที่ก้าวข้าวพ้นวิกฤตขาดแคลนน้ำสะอาดคือการปกป้องแหล่งน้ำจากมลพิษ โดยความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมถือเป็นสิ่งที่สำคัญ และรัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างจริงจัง โดย “มาตรการเชิงป้องกัน” ควรเป็นมาตรการหลักที่ต้องนำมาปฏิบัติ เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด การลดและมุ่งสู่การยกเลิกการใช้สารเคมีอันตรายตั้งแต่ต้นทาง และความโปร่งใสด้านการรายงานข้อมูลสิ่งแวดล้อม ทั้งการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษอุตสาหกรรมสู่สิ่งแวดล้อม การนำระบบติดตามข้อมูลการขนส่งของเสียอันตรายมาใช้อย่างเคร่งครัดตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และการตรวจสอบโรงงานรับกําจัดและบําบัดกากอุตสาหกรรม นอกจากนี้จะต้องมีการนำเครื่องมือนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อลดมลพิษ หรือหลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” เช่น ภาษีจากการปล่อยมลพิษและกากของเสีย และมาตรการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับผู้ที่ปฏิบัติด้านการลดมลพิษ เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทําผิดทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ผู้ที่กระทําผิดกฏหมาย

สำหรับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบนั้น ภาครัฐควรต้องให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งการสนับสนุนทุนด้านการเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน  และให้ผู้ก่อมลพิษต้องรับผิดชอบจ่ายในการฟื้นฟูให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม หากภาครัฐมีแผนการจัดการที่ชัดเจนและสามารถควบคุมให้ภาคเอกชนดำเนินงานตามกระบวนการที่ถูกต้องและมีการติดตามตรวจสอบอย่างเคร่งครัดโดยเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาและเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องได้แล้วนั้น การละเมิดสิทธิชุมชนและปัญหามลพิษก็จะไม่เกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอีกต่อไป และเราก็จะสามารถก้าวข้ามพ้น “วิกฤตน้ำ” ครั้งนี้ไปได้


[1] May, L.W.(1996), Water resources Handbook (McGraw Hill, USA., 1996)

[2] รายงานสถานการณ์สาธารณภัย กรมปภ. ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย (ส่วนปฏิบัติการ)

 *รายชื่อจังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง จ.กาฬสินธุ์ อุดรธานี ยโสธร มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา สุโขทัย แพร่ จันทบุรี ตาก เชียงราย หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครสวรรค์ สุรินทร์ อุตรดิตถ์ เลย ลำพูน น่าน พิจิตร กำแพงเพชร พิษณุโลก เชียงใหม่ พะเยา มุกดาหาร ฉะเชิงเทรา สตูล ปราจีนบุรี ตรัง ชัยนาท สกลนคร และ บึงกาฬ

[3] กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, //www.moac.go.th/home.php

[4] สำนักบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม, พ.ศ.2555,  //www.diw.go.th/hawk/intranet/showinfo.php?id=154




 

Create Date : 22 มีนาคม 2556   
Last Update : 22 มีนาคม 2556 12:22:06 น.   
Counter : 1854 Pageviews.  


ยุคพลังงานนิวเคลียร์ล่มสลาย ทั่วโลกก้าวสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน

ปัญหาพลังงานสกปรกและไม่ยั่งยืนอย่างฟอสซิลก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนและผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะเป็นภัยทางธรรมชาติที่รุนแรง อย่างเช่น เฮอร์ริเคน พายุไต้ฝุ่น ซึ่งคร่าชีวิตและสร้างความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้ แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (หรือพีดีพี 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 มีแนวทางการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 4,400 เมกะวัตต์ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ยุคเฟื่องฟูของพลังงานนิวเคลียร์กำลังสิ้นสุดลงในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกับการที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างทะยอยกันปิดตัวลง และโครงการก่อสร้างเดิมที่ยังไม่เสร็จหลายโครงการก็กลายเป็นโครงการร้างที่ไม่มีแผนดำเนินการต่อ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ร่วมกับกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ มูลนิธีไฮน์ริคเบิลล์ จัดสัมนาเรื่อง ปฏิรูปนโยบายพลังงาน ประสบการณ์ของไทยและเยอรมนี โดยมี นายฮานส์-โจเซฟ เฟลล์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคกรีนเยอรมนี และ นายวลาดิเมียร์ สลัฟยัค ประธานกรรมการกลุ่ม Eco-Defense จากรัสเซีย มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ถึงความล้มเหลวของพลังงานนิวเคลียร์และการหาทางออกของปัญหาพลังงานของโลกด้วยพลังงานหมุนเวียน โดย วลาดิเมียร์ สลัฟยัค กล่าวถึงมหันภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า อุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมาไดอิชิ ทำให้หลายประเทศหันไปหาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ถึงเหตุการณ์นั้นจะทำให้ทั่วทั้งโลกตระหนักถึงความน่าสะพรึงกลัวของพลังงานนิวเคลียร์แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับภัยพิบัติเชอร์โนบิล ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรงครอบคลุมร้อยละ 50 ของทวีปยุโรป ซึ่งมีประชากรได้รับผลกระทบ 400 ล้านคน โดยในจำนวนนั้นประชากรกว่า 336,000 คนจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่ และถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วเกือบ 30 ปี แต่เด็กที่เกิดหลังจากเหตุการณ์นั้นมีสุขภาพแข็งแรงเพียงร้อยละ 20 จากเดิมที่เคยมีถึงร้อยละ 80 ส่วนคนทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงเพียงร้อยละ 29 จากเดิมมีถึงร้อยละ 67.7 ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงจำนวนคนที่เสียชีวิตไปจากภัยพิบัติที่ไม่มีวันจะลบล้างความเจ็บปวดและความสูญเสียได้

fukushima
ในเดือนมีนาคมนี้เองเป็นวันครบรอบสองปีของอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีที่มาจากการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์ ซึ่งเดิมทีอุตสาหกรรมนิวเคลียร์อ้างว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีเพียง 1 ครั้งในล้านปี แต่ตามสถิติแล้วเกิดขึ้นแทบจะทุก 15 ปี หลังจากอุบัติเหตุนี้ วลาดิเมียร์ สลัฟยัค กล่าวว่า เยอรมนีเดินหน้าปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วครึ่งหนึ่ง และมีแผนจะปิดทั้งหมดภัยในปีพ.ศ. 2556 นี้ พร้อมลงทุนอีกประมาณ 7,890  พันล้านบาท* กับพลังงานหมุนเวียน  ในประเทศจีนเองก็ไม่มีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 และกำลังลงทุนมหาศาลกับพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ขณะเดียวกันที่สหรัฐอเมริกาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างๆ กำลังพากันปิดตัวลงพร้อมกับบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ดุ๊ก เอเนอร์จี ก็ประกาศเตรียมปิดกิจการหลังจากดำเนินการมาถึง 36 ปี ถือเป็นการยืนยันคำตัดสินชะตากรรมของพลังงานนิวเคลียร์จากนิตยสารฟอร์บส์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2555 ว่า "โรงงานนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่ของยุคนี้แล้ว"

ไม่ใช่เพียงแค่ดุ๊ก เอเนอร์จี จากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จากทั่วทวีปยุโรปต่างประสบปัญหาหนี้สิน อาทิ บริษัทอีเนล จากอิตาลี ที่มีหนี้สินประมาณ 1,975 พันล้านบาท* บริษัทอีดีเอฟ จากอังกฤษ มีหนี้สินประมาณ 1,466 พันล้าน*บาท บริษัทอเรวา จากฝรั่งเศส มีความเสียหายปี 2544 ถึงประมาณ 105 พันล้านบาท* รวมถึงบริษัทโรซาตอม จากรัสเซียก็มีปัญหาหนี้สินเป็นทวีคูณขึ้นทุกปีเช่นกันหลังจากต้องหยุดการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งใหม่ เนื่องจากมีการออกแบบโครงสร้างเดียวกันกับเตาที่เกิดการระเบิดที่ฟุกุชิมะไดอิชิ เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ซีเมนส์ ของเยอรมนี เองก็ได้ประกาศปิดกิจการพลังงานนิวเคลียร์หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะขึ้นไม่นาน เช่นเดียวกับอีกหลายธุรกิจที่ปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้วลาดิเมียร์ สลัฟยัค ยังแสดงความกังวลต่อโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เวียดนามร่วมกับบริษัทโรซาตอมจากรัสเซียว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการผลิตของรัสเซียนั้นมีชื่อเสียงในแง่ลบเรื่องคุณภาพของวัสดุเตาปฏิกรณ์ รวมถึงเวียดนามยังไม่มีหน่วยงานที่จะมาควบคุมดูแลเรื่องนิวเคลียร์ และเมื่อพิจารณาจากพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างแล้ว ถือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเวียดนามเองก็ขาดประสบการณ์ในการป้องกันภัยธรรมชาติอย่างสึนามิหรือไต้ฝุ่นอีกด้วย ลองคิดดูสิว่าหากเกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกับภัยพิบัติเชอร์โนบิลและฟูกูชิมาจะส่งผลกระทบวงกว้างต่อภูมิภาคและประเทศไทยมากเพียงใด บทเรียนจากเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะคงบอกเล่าได้เป็นอย่างดีว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นไม่มีหน่วยงานใดๆ สามารถรับผิดชอบความเสียหายได้ และสิ่งที่สูญเสียไปก็ไม่สามารถเยียวยาให้กลับมาดังเดิมได้ ล่าสุดมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยผลออกมาว่าประเทศเดียวที่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ โปแลนด์ (ร้อยละ 52) นอกนั้นเสียงส่วนมากคือปฏิเสธ หรือเรียกได้ว่ามีเพียง 3 ใน 10 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยังคงสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ แล้วไทยล่ะจะยังคงเลือกเดินสวนทางสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ที่ทั้งราคาสูง สร้างมลพิษ และเป็นอันตรายอยู่หรือ???

solution
ฮานส์-โจเซฟ เฟลล์ กล่าวเพิ่มเติมถึงยุทธศาสตร์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสภาพภูมิอากาศว่า น้ำมันและนิวเคลียร์ทำให้เกิดปัญหาระดับโลกต่างๆ เช่น ปัญหาโลกร้อน วิกฤตน้ำมัน สิ่งแวดล้อม ความขัดแย้ง และสงครามน้ำมัน การกลับมาก่อสร้างโรงงานนิวเคลียร์แห่งใหม่มีแต่จะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทางออกที่ยั่งยืนคือเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สามารถสร้างพลังงานให้โลกได้ร้อยละ 100 โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานที่อันตรายและสกปรก นอกจากนี้พลังงานหมุนเวียนยังสร้างการจ้างงานมากขึ้นด้วย โดยในประเทศเยอรมันปี 2543 มีอัตราการจ้างงาน 30,000 ตำแหน่ง  สิบปีต่อมาในปี 2554 มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 370,000 ตำแหน่ง และคาดว่าในปี 2563 นี้จะสูงถึง 500,000 ตำแหน่ง พลังงานหมุนเวียนจะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วได้หากรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้น ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปที่จะสร้างพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งการพูดว่าพลังงานหมุนเวียนมีราคาแพงนั้นก็ไม่จริงและล้าสมัยไปแล้ว ฮานส์-โจเซฟ เฟลล์ ยกตัวอย่างการศึกษาล่าสุดจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ปีพ.ศ. 2556 ที่ศึกษาเปรียบเทียบราคาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ (เปรียบเทียบโรงไฟฟ้าสร้างใหม่) ซึ่งพบว่า ในประเทศออสเตรเลีย การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนมีราคา 2,400 บาท* ต่อเมกะวัตต์ แต่ถ้าผลิตด้วยถ่านหิน จะมีราคา 4,290 บาท* ต่อเมกะวัตต์ และด้วยก๊าซธรรมชาติจะมีราคา3,480 บาท* ต่อเมกะวัตต์ ทั้งๆที่ประเทศออสเตรเลียมีเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินจำนวนมหาศาลและส่งออกถ่านหินอีกด้วย การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนกลับมีราคาถูกกว่ามาก ซึ่งชี้ให้เห็นเช่นกันว่าการกล่าวว่าพลังงานหมุนเวียนมีราคาแพงนั้นไม่จริงเลย

วิกฤตพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นการรักษาสภาพภูมิอากาศจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกประเทศทั่วโลกที่จะร่วมมือกันช่วยดูแลโลกของเรา หันมาเลือกทางเดินของพลังงานที่ยั่งยืนสู่อนาคตสีเขียว ช่วยกันกู้วิกฤติโลกร้อนด้วยการนำความร้อนจากดวงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ มาเป็นพลังงานที่ช่วยให้โลกหมุนไปโดยไม่สร้างมลพิษและภัยพิบัติ หรือประเทศไทยจะยังหลงเชื่อมายาคติพลังงานนิวเคลียร์และปล่อยให้ประวัติศาสตร์จากเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะซ้ำรอย

*หมายเหตุ: จำนวนเงินเป็นการเทียบกับสกุลเงินบาท โดยอัตราเงินตามสกุลเดิม คือ
7,890  พันล้านบาท เท่ากับ 263 พันล้านเหรียญฯ
1,975 พันล้านบาท เท่ากับ 44.9 พันล้านยูโร
1,466 พันล้าน เท่ากับ 33.33 พันล้านยูโร
105 พันล้านบาท เท่ากับ 2.4 พันล้านยูโร
2,400 บาท เท่ากับ 80 เหรียญฯออสเตรเลีย
4,290 บาท เท่ากับ 143 เหรียญฯออสเตรเลีย
3,480 บาท เท่ากับ 116 เหรียญฯออสเตรเลีย




 

Create Date : 15 มีนาคม 2556   
Last Update : 15 มีนาคม 2556 10:22:56 น.   
Counter : 1659 Pageviews.  


บทสรุปวิเคราะห์นโยบายการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯ ของผู้สมัครผู้ว่าฯ

จากสถานการณ์วิกฤตปัญหาขยะในกรุงเทพฯ ที่อัตราการเกิดขยะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านการจัดการโดยเฉพาะการจัดเก็บ การจัดหาสถานที่ และวิธีการกำจัดทำลาย อีกทั้งกรุงเทพมหานครยังคงประสบปัญหาการลงมือปฎิบัติบริหารจัดการขยะอย่างบูรณาการ การจัดการกับปัญหาขยะอย่างยั่งยืนนั้นควรตั้งเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะ มากกว่าการเน้นว่าจะจัดการกับขยะที่ปลายทาง เพราะหากไม่มีการลดปริมาณขยะที่ต้นทางแล้ว จะมีหลุมฝังกลบหรือเตาเผาขยะจำนวนมากเท่าใดก็คงไม่เพียงพอในการจัดการ

วิกฤตปัญหาขยะกับนโยบายของว่าที่ผู้ว่าฯกทม.

ในแต่ละปี กรุงเทพมหานครใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทในการจัดการขยะ ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บและฝังกลบ วิกฤตที่เกิดขึ้นขณะนี้คือบ่อฝังกลบขยะของกรุงเทพมหานครต่างๆ เริ่มที่จะเต็มหรือไม่เพียงพอที่จะสามารถรองรับปริมาณขยะในอนาคตได้ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายต่อกรุงเทพมหานครที่จะต้องเร่งหาทางออกให้ได้อย่างโดยเร็ว

เนื่องในวาระการเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2556 นี้ ประชาชนควรช่วยกันพิจารณาเลือกผู้สมัครที่มีความสามารถในการกำหนดทิศทางและนำพากรุงเทพมหานครให้พ้นจากปัญหาวิกฤตขยะนี้ ดังนั้น กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้มีการรณรงค์ในโครงการ “ผู้ว่า (ไม่ทิ้ง) ขยะ” เพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่กำลังจะมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้มีนโยบายการจัดการขยะที่เหมาะสมและยั่งยืน โดยทางกรีนพีซได้มีการจัดทำการประเมินวิเคราะห์นโยบายหาเสียงของผู้สมัครฯ เรื่องการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพ เพื่อให้สังคมรับรู้ถึงแง่มุมต่างๆของนโยบายนั้นๆ อันจะเป็นเป็นเครื่องมือในการประกอบการตัดสินใจเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการติดตามการนำนโยบายไปปฏิบัติในอนาคต

ว่าที่ผู้ว่าฯคนไหนจะพากทม.พ้นวิกฤตปัญหาขยะ

ทั้งนี้ กรีนพีซ ได้ทำการส่งคำถามถึงผู้สมัครฯ ทั้งหมด จำนวน 25 ท่าน เพื่อให้แสดงชี้แจงถึงนโยบายและแนวคิดของตนในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ว่าที่ผู้ว่ากรุงเทพฯกับการบริหารจัดการขยะ” ซึ่งมีคำถามดังต่อไปนี้

  1. คุณมีแผนงานจัดการบริหารดูแลขยะอย่างไรในกรุงเทพมหานคร
  2. คุณจะทำอย่างไรให้แผนงานของคุณปฏิบัติได้จริง
  3. คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับโครงการเตาเผาขยะที่กำลังจะก่อสร้างที่เขตหนองแขม

โดยกรีนพีซได้คำตอบของผู้สมัครฯ มาประเมินวิเคราะห์เบื้องต้นโดยยึดหลักเกณท์การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งนอกจากการให้ความสำคัญในเรื่องของเทคนิคการจัดการแล้ว ยังคำนึงถึงแง่มุมต่างๆที่จะพัฒนาการบริหารจัดการขยะให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ดังนั้นหลักการประเมินวิเคราะห์นโยบายจึง แบ่งออกเป็น 6 ส่วนสำคัญ ได้แก่ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการพัฒนาสถาบันองค์กร ด้านการพัฒนาสังคมโดยรวม ด้านการบริหารจัดการการเงิน ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพทางเศษฐกิจ ด้านเทคนิคการจัดการ และเหนือสิ่งอื่นใด คือด้านความปลอดภัยของชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากถ้านโยบายการจัดการนั้นสามารถก่อให้เกิดมลพิษต่างๆขึ้นในสังคมแล้ว นโยบายนั้นนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาขยะได้ในระยะยาว ยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอื่นๆในสังคม

กราฟแสดงคะแนนการตอบคำถามจากผู้สมัครที่ตอบกลับ 11 ท่าน

score chart
คลิกที่รูปเพื่อแสดงรูปใหญ่


คลิกดูรายละเอียดหลักเกณท์ในประเมินวิเคราะห์การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน

รายงานประเมินวิเคราะห์นโยบายหาเสียงของผู้สมัครฯ

ท่านสามารถดูรายละเอีียดผู้สมัครแต่ละท่านได้โดยคลิกที่รูปผู้สมัคร

ลบล้างมายาคติของเตาเผาขยะเพื่อกรุงเทพฯและประเทศไทย

การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน คืองานพื้นฐานหลักในการพัฒนาเมือง ทั้งนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ส่วนใหญ่ได้วาดฝันให้กรุงเทพฯกลายเป็นมหานครระดับโลก แต่ความฝันนั้นจะไม่มีวันเป็นจริงได้เลยถ้ากรุงเทพมหานครยังไม่สามารถแก้ปัญหาขยะได้ดีกว่านี้  แม้ผู้สมัครฯเกือบทั้งหมดจะมีการนำเสนอนโยบายและโครงการด้านการจัดการขยะในนโยบายหาเสียงหลัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้สมัครฯให้ความสำคัญในเรื่องวิกฤตขยะกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นพบว่านโยบายของผู้สมัครฯเกือบทั้งหมดยังขาดเป้าหมายที่ชัดเจน ขาดแผนปฏิบัติจัดการอย่างองค์รวมที่จะเป็นหลักประกันถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหา ขาดการเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและร่วมมือปฏิบัติ  ขาดความกล้าหาญที่จะนำเครื่องมือนโยบายใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การลดปริมาณขยะมาใช้ อาทิ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ และการนำหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายมาใช้ ที่จะสามารถลดปริมาณการเกิดขยะได้เป็นอย่างดีหากใช้ควบคู่กับเครื่องมืออื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ผู้สมัครฯ ส่วนใหญ่กลับเน้นให้ความสำคัญการแก้ปัญหาที่ปลายทาง เน้นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงการสร้างโรงงานเผาขยะ โดยสร้างมายาคติ “เตาเผาขยะปลอดมลพิษ”  บ้างก็อ้างว่าจะใช้เตาเผาขยะขนาดเล็กสำหรับชุมชน แต่ที่มากที่สุดเห็นจะเป็นโรงงานเผาขยะผลิตเพื่อกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้  เทคโนโลยีการเผาขยะเหล่านี้ล้วนมีพื้นฐานการทำงานที่คล้ายกัน  และในปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดของเตาเผาขยะที่สามารถทำให้การเผาขยะได้ปลอดมลพิษได้ 100 เปอร์เซนต์ การเผาขยะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและเถ้าอันตรายซึ่งก็ต้องนำไปฝังกลบอยู่ดี  ผลจากการเผาขยะเหล่านี้หมายถึงอันตรายต่อสุขภาพประชาชนและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้หมดไป ที่สำคัญ การเผาขยะเป็นการบั่นทอนความพยายามในการลดและคัดแยกขยะเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ จึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีกฏหายสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดกำลังลดวิธีกำจัดขยะโดยการเผาเพราะต้องเผชิญปัญหาการจัดเก็บเถ้าขยะอันตราย ในประเทศกำลังพัฒนาที่ใช้การเผาขยะในการกำจัดขยะนั้น ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ตามมา เช่น  ชาวบ้านรอบโรงงานเป็นโรคมะเร็งจากสารพิษไดอ๊อกซินที่เกิดจากการเผา อากาศและแหล่งน้ำเป็นพิษต่อประชาชน ไม่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ สำหรับประเทศไทยแล้ว เรามีมาตรฐานการควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่เคร่งครัดพอ ไม่ครอบคลุมการควบคุมสารพิษ ไม่ควบคุมปริมาณการปล่อยโดยรวม และมีปัญหาด้านการตรวจสอบติดตามด้านมลพิษ  จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะรีบสรุปใช้เทคโนโลยีมักง่ายอย่างเตาเผาขยะ ที่มีราคาแพงและไม่มีหลักประกันถึงปัญหามลพิษที่จะตามมา  

กรีนพีชหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การการประเมินวิเคราะห์นโยบายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เรื่องการบริหารจัดการขยะในกรุงเทพฯในครั้งนี้  จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านและอนาคตของกรุงเทพฯไม่มากก็น้อย

กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกร้องต่อกรุงเทพมหานคร ดังนี้

  1. ให้ความสำคัญเรื่องปัญหาขยะอย่างแท้จริง โดยมีการวางเป้าหมายให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มี “ขยะเหลือศูนย์” ซึ่งสามารถทำได้โดยเน้นการใช้มาตรการเชิงรุก เช่น การลดปริมาณขยะ การนำขยะไปรีไซเคิล และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่  
  2. นำเครื่องมือนโยบายทางเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตามหลักการ “ผู้ปล่อยมลพิษเป็นผู้จ่าย”   เช่น การสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าร่วมโครงการที่เกี่ยวกับการลดและแยกขยะ การเก็บภาษีมลพิษกับผู้ผลิตขยะ เป็นต้น
  3. กรุงเทพมหานครควรเปลี่ยนนำงบประมาณลงทุนในโครงการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีที่เป็นอันตรายและสิ้นเปลือง เช่น การสร้างโรงงานเผาขยะ มาใช้สนับสนุนโครงการ “ขยะเหลือศูนย์” ซึ่งสามารถปรับแผนงานของโครงการให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละชุมชนในกรุงเทพฯ

หมายเหตุ***
หลักเกณท์ในประเมินวิเคราะห์การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน
(Adapted from Conceptual Framework For Municipal Solid Waste Management In Low-Income Countries. UNDP/UNCHS. August 1996)

ประเด็น

หลักเกณท์ในการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน

ด้านการเมืองการปกครอง

การกำหนดเป้าหมายของแผนงาน

มีเป้าหมายชัดเจน สอดคล้องกับแนวความคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

แผนการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้

มีการปรับปรุง เพิ่มเติม และบังคับใช้ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครในเรื่องการบริหารจัดการขยะ อย่างจริงจัง

ความโปร่งใสในแผนการทำงาน

มีการเผยแพร่ข้อมูลโครงการต่างๆสู่สาธารณะ มีการทำประชาพิจารณ์ ปรับปรุงให้วิธีการประมูลจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส

ความเป็นไปได้ของแผนงาน

แก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถดำเนินงาน แผนงานควรอยู่ในกรอบหน้าที่ความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร

ด้านสถาบัน

การเพิ่มความสามารถของแต่ละภาคส่วน

มีการจัดกิจกรรมโครงการให้ความรู้ในเรื่องการจัดการขยะอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างความเข้าใจในชุมชนต่อประโยชน์ในการแยกขยะ

การร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ

มีการนำศักยภาพของสถาบันและองค์กรต่างๆมาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ เช่น โรงเรียน สำนักงาน ร้านค้า

การให้ความสำคัญแก่แรงงานนอกระบบ

มีการพัฒนากลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น ซาเล้ง ควบคู่กับการพัฒนาแผนบริหารจัดการขยะโดยรวม

ด้านสังคม

การพัฒนาทัศนคติของประชาชน

มีการพัฒนาให้ประชาชนมีจิตสาธารณะในการรับผิดชอบตนเองและสังคม เช่น การลดการใช้ผลิตภัณท์พลาสติก

การตอบสนองต่อการเจริญเติบโตของสังคม

มีการลงพื้นที่ ศึกษาความต้องการของแต่ละชุมชนอย่างสม่ำเสมอ

ความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการ

ชุมชนแต่ละชุมชนได้รับบริการจัดการอย่างเท่าทียม

ด้านการเงิน

การวางแผนการใช้งบประมาณการจัดการ

มีแผนงานการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทฺภาพ ให้ความสำคัญกับแผนงานส่งเสริมและพัฒนาการจัดการขยะอย่างยั่งยืนมากขึ้น

การลดต้นทุนการดำเนินงาน

มีแผนงานลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้าง ทำระบบปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

การจัดเก็บค่าบริการ

พัฒนาระบบจัดเก็บค่าบริการ นำระบบจัดเก็บค่าบริการตามปริมาณขยะมาใช้

ด้านเศรษฐกิจ

การสร้างงานและรายได้

จัดสร้างงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากขยะ เช่น สร้างโรงงานรีไซเคิล และโรงงานซ่อมแซมสิ่งของใช้แล้วในชุมชน

การพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานวัสดุในภาคการผลิตและบริโภค

รณรงค์ให้ประชาชนใช้ของอย่างคุ้มค่า เช่น ใช้กระดาษทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ใช้หลอดไฟฟ้าที่อายุงานสูง

นโยบายช่วยเหลือสนับสนุนการจัดการขยะที่รักษาสิ่งแวดล้อม

มีโครงการให้กู้ยืมเงินลงทุนธุรกิจในดอกเบื้ยต่ำ หาตลาดผลิตภัณท์รีไซเคิล การลดภาษีโรงเรือนแก่ธุรกิจขยะ

ด้านเทคนิค

การพัฒนาระบบจัดเก็บ

มีการเสนอระบบจัดการที่มีประสิทธิภาพ ถูกสุขอนามัย เช่น มีจุดเก็บขยะส่วนกลางในชุมชน พร้อมถุงและถังแยกประเภทขยะให้ชัดเจน

การพัฒนาระบบขนส่งและสถานีพักถ่ายขยะ

การจัดทำตารางเวลาจัดเก็บแยกตามประเภทขยะ มีแนวความคิดในการลดระยะทางการขนส่ง ปรับปรุงและพัฒนาให้สถานีพักถ่ายขยะถูกสุขอนามัย

การพัฒนาระบบรีไซเคิลและกำจัด

มีการลงทุนในโครงการโรงงานรีไซเคิล มีพัฒนาระบบจัดการขยะอันตรายและขยะติดเชื้อ

ด้านความ

ปลอดภัย

คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

เลือกใช้เทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


ที่มา :: //www.greenpeace.org/seasia/th/news/summary-BMA-candidate-vision/




 

Create Date : 03 มีนาคม 2556   
Last Update : 3 มีนาคม 2556 10:54:00 น.   
Counter : 2230 Pageviews.  


แนวทางและตัวอย่างการจัดการขยะในชุมชนสู่อนาคตสีเขียว

“คนเกาะสมุยประท้วงยืดเยื้อปิดถนนทางเข้าออกโรงเผาขยะเนื่องจากเตาเผาเสียจนมีกองขยะที่ไม่ได้กำจัดมาร่วม 2 ปี ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงและมีน้ำเน่าเสียไหลสู่แหล่งน้ำชุมชุน” ถึงแม้จะดำเนินการซ่อมโรงงานเผาขยะเจ้าปัญหาที่สมุยเรียบร้อยแล้ว แต่ประเด็นปัญหานี้ยืดเยื้อมานานถึงสองปีกว่าจะได้รับการแก้ไข ขณะที่ปัญหาเก่าดูเหมือนจะถูกแก้ไปอย่างขอไปที



โรงงานเผาขยะแห่งใหม่ก็กำลังจะเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ อะไรคือทางออกของปัญหาขยะกันแน่ในเมื่อโรงงานเผาขยะเป็นเตาเผาแห่งมลพิษอันไม่รู้จบ

การจัดการขยะที่ต้นทางฟังดูเหมือนจะเป็นโครงการในฝัน แต่อันที่จริงนั้นไทยเองก็มีศักยภาพในการดำเนินการไม่แพ้ประเทศใดในโลก รวมถึงมีตัวอย่างของชุมชนที่นำหลักการนี้มาใช้จริงและประสบความสำเร็จแล้วด้วยการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนดังต่อไปนี้

การคัดแยกขยะ ณ แหล่งกำเนิด

หัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาขยะที่ทุกคนสามารถทำได้นี้เป็นสิ่งที่ ชุมชนบ้านพักทหารหนองไผ่ล้อม ของกองทัพภาคที่ 2นำมาใช้และจัดการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ โดยคัดแยกขยะมูลฝอยออกเป็นขยะอินทรีย์ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย และดำเนินการรีไซเคิลครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ ถือหลักการกำจัดขยะจากแหล่งกำเนิดต้นทาง ลดปริมาณขยะ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือเรียกว่าขยะรีไซเคิล  เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย เช่นเดียวกับที่ ชุมชนอยู่เย็น อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งนำเอาโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) มาใช้และสามารถจัดการขยะในชุมชนได้เกือบทั้งหมด รวมถึงนำขยะกลับมาใช้ใหม่ในหลายรูปแบบ โดยมีการจัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะรีไซเคิล การผลิตน้ำหมักจากขยะอินทรีย์ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษผักและเศษอาหาร ซึ่งได้จากตลาดสดที่อยู่ใกล้ชุมชน เป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ใหม่เพื่อทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์สูงสุด

การลดขยะที่ตัวเราเอง 

ปัญหาขยะไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยี แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากเราทุกคน ดังนั้นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ คือ การลดขยะที่ตัวเราเอง โดยมีหลายชุมชนที่นำแนวคิดนี้มาใช้ หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “ชุมชนไร้ถัง” ดังเช่นที่ ชุมชนเทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน โดยเดิมทีนั้นมีการจัดเก็บขยะโดยภาคเอกชนแล้วเกิดปัญหาขึ้นมากมาย จึงดำเนินการยกเลิกระบบถังขยะ ยกเลิกการเก็บค่าขยะ และเน้นหนักมาตรการทางสังคมให้สมาชิกในชุมชนร่วมมือกันลดขยะและคัดแยกขยะแทนการพึ่งพาเทคโนโลยี และยึดหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายสำหรับเป็นมาตรการทางการคลังผ่านการจำหน่ายถุงขยะ แต่ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ผู้นำชุมชนมีการติดตามและสนับสนุนการคัดแยกขยะอย่างจริงจัง อีกชุมชนหนึ่งที่มีเอกลักษณ์อย่างชัดเจน คือ ชุมชนตำบลเมืองแก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีแนวคิดว่า “ถังขยะไม่ใช่เครื่องประดับ” เริ่มดำเนินการตั้งแต่การตั้งคำถามเพื่อให้ชุมชนได้ร่วมคิดตามเกี่ยวกับขยะ ว่าขยะเกิดจากอะไร ใครมีหน้าที่กำจัดขยะ และวิธีกำจัดขยะที่ถูกต้องนั้นทำอย่างไร และเปิดโอกาสให้ชาวบ้านร่วมกันอภิปราย ระดมความเห็นกันว่าเราควรมีการจัดการอย่างไร จนได้เป็นข้อสรุปของการบริหารจัดการขยะอย่างมีศักยภาพ โดยได้กำหนดมาตราการช่วยกันกำจัดขยะในชุมชนร่วมกันว่า ชาวบ้านจะต้องมาช่วยกันกำจัดขยะในพื้นที่สาธารณะเดือนละ 1 ครั้ง โดยแต่ละหมู่บ้านช่วยกันทำอย่างพร้อมเพียง

การเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของที่เราไม่ต้องการ 

แนวคิดเปลี่ยนขยะให้เป็นเงินนี้เป็นการปลูกฝังให้ประชาชนมองเห็นมูลค่าขยะของ ร้านศูนย์บาท ศูนย์วัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เขตประเวศ กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้ได้ขยายสังคมรีไซเคิลไปยังภาคเหนือแล้ว ร้านศูนย์บาททำหน้าที่เป็นคนกลางในการรับซื้อ และบริหารจัดการขยะ ภายในร้านมีสินค้าอุปโภคบริโภคเหมือนกับร้านขายของชำทั่วไป โดยให้คนในชุมชนนำขยะมาตีมูลค่าเป็นตัวเงิน และแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าที่มีอยู่ภายในร้านโดยไม่ต้องใช้เงิน จากนั้นร้านศูนย์บาทที่เปรียบเสมือนธนาคารขยะจะนำขยะที่รับซื้อไปขาย ทำให้ร้านได้กำไรทั้งจากการขายขยะ และการขายสินค้า ก่อนที่จะเกิดร้านศูนย์บาทขึ้นชุมชนแห่งนี้เคยประสบปัญหาการจัดการขยะเช่นเดียวกับชุมชนอื่นๆ แต่ในปัจจุบันนอกจากจะแก้ปัญหาขยะได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยปลูกฝังจิตสำนึกในการแยกขยะ และเห็นคุณค่าของสิ่งของทุกชิ้นก่อนจะทิ้งอีกด้วย

ระบบมัดจำ-คืนเงิน

เป็นระบบที่ประเทศไทยใช้มานาน และเราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับการจ่ายคืนค่าขวดเปล่าให้กับผู้บริโภค  และให้ผู้ค้าส่งจ่ายค่าขวดให้กับผู้ค้าปลีก ซึ่งประเทศไทยสามารถขยายขอบข่ายการครอบคลุมผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม จะเป็นการเปลี่ยนความรับผิดชอบทางการเงินในการจัดการของเสียจากชุมชนไปสู่ผู้ผลิต และช่วยให้ปริมาณขยะลดลงอย่างมากดังที่ประเทศเกาหลีใต้ได้ใช้ระบบนี้ครอบคลุมกับกล่องบรรจุอาหาร ยางรถยนต์ แบตเตอรี น้ำมันหล่อลื่น ถังบรรจุยาฆ่าแมลง และพลาสติก อย่างประสบความสำเร็จมาแล้ว

ขยะล้นเมืองเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ใครก็ต่างเจอ และต้นเหตุของปัญหานั้นก็คือมนุษย์ คือพวกเราทุกคน หากทุกคนทุกบ้านทุกชุมชนและทั้งประเทศไทยร่วมมือกันแล้ว เราก็สามารถเปลี่ยนเมืองขยะล้น เป็นเมืองไร้ถัง หรือเมืองปลอดขยะได้โดยไม่ยากเย็นอะไร ดังที่มีตัวอย่างอันน่าชื่นชมปรากฏให้เห็นแล้วนับไม่ถ้วน นอกเหนือจากความมีวินัยและจิตสำนึกในการจัดการขยะในครัวเรือนของชุมชนแล้ว ถึงแม้ชุมชนและทุกครัวเรือนจะร่วมกันจัดการขยะเป็นอย่างดีเพียงไร แต่หากขาดระบบการบริหารจัดการรองรับที่ดีของรัฐก็จะไม่มีทางเกิดการจัดการขยะแบบบูรณาการได้เลย อีกทั้งการดำเนินการของชุมชนก็จะไม่สามารถขยายผลไปในระดับประเทศได้ ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะต้องหันมาแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน และไม่ปล่อยให้วิกฤตขยะเป็นปัญหาที่ชุมชนต้องแก้ไขด้วยตนเอง ก่อนที่จะสายเกินเยียวยา

ที่มาของข้อมูล
จดหมายข่าว คสอ ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม
2555 ปีที่ 4 ฉบับที่ 3




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2556   
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2556 10:59:31 น.   
Counter : 2153 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com