กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ดับกระหายคลายร้อนด้วยน้ำ … หรือถ่านหิน?

ประเพณีสงกรานต์ถือเป็นภูมิปัญญาไทยอันล้ำค่าอย่างหนึ่งในการดับร้อนในช่วงเดือนเมษายนที่อุณหภูมิทะยานขึ้นสูงกว่าเดือนไหนๆ น้ำเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ดังเช่นภาพของโอเอซิสท่ามกลางผืนทะเลทรายอันแห้งแล้ง ไม่ใช่ทุกประเทศ ทุกพื้นที่ที่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ เรียกได้ว่าประเทศไทยเราแสนจะโชคดีทีมีน้ำให้ได้ใช้อย่างอุดมสมบูรณ์  แต่ปัจจุบันนี้ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี และไม่ใช่ทุกชุมชนจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งน้ำสาธารณะที่หล่อเลี้ยงชีวิตเพื่อการดื่มกิน การเพาะปลูก การประมง และอุปโภคบริโภคอื่นๆ

แต่อุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษให้กับแหล่งน้ำอย่างโรงไฟฟ้าถ่านหินกลับเป็นหนึ่งในผู้โชคดีในการเข้าถึงแหล่งน้ำอันเป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชาวไทย


เหตุผลหนึ่งที่โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีทางสะอาด คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินต้องใช้น้ำในปริมาณมหาศาล ไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นมาจากการเผาไหม้ถ่านหินเพื่อทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำที่มีความดันสูงเพื่อปั่นกังหันไฟฟ้า น้ำยังใช้เพื่อการหล่อเย็นไอน้ำและส่งกลับเข้าหม้อน้ำ (Boiler) อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังใช้น้ำในกระบวนการชะล้างถ่านหินก่อนป้อนเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อชะล้างขี้เถ้าออกไป ลดปริมาณฝุ่นละอองในบริเวณที่กองถ่านหินและเพื่อป้องกันการเกิดไฟลุกไหม้

โดยทั่วไปแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินหนึ่งโรงใช้ปริมาณน้ำที่เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกทุกๆ 3.5 นาที หรือเรียกได้ว่าเป็นร้อยละ 8 ของความต้องการน้ำของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งน้ำส่วนที่เหลือจากการใช้งานนั้นมีปริมาณมากถึงหลายล้านตันที่เต็มไปด้วยมลพิษ และน้ำที่ปนเปื้อนเหล่านั้นจะถูกปล่อยลงสู่แม่น้ำและแหล่งน้ำสะอาดของเรา และเราก็ได้เห็นถึงผลกระทบจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่คงอยู่นานหลายสิบปี อย่างเช่นกรณีของโรงไฟฟ้าแม่เมาะกับมลพิษที่เกินมาตรฐาน หรือแม้แต่ที่กระบี่กับกรณีของโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่าและเหมืองร้างที่ถึงแม้จะยกเลิกการใช้งานไปแล้ว 31 ปี ณ คลองปะกาสัย พื้นที่ป่าชายเลน น้ำจากเหมืองยังคงไหลออกมาอยู่เรื่อยๆ ปัจจุบันชาวกระบี่ไม่ได้ใช้น้ำฝนและน้ำบาดาล เนื่องจากมีตะกอนดำ

คูมิ ไนดู ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซสากล กล่าวว่า “ขณะนี้มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ในแผนการพัฒนากว่า 1,200 แห่งทั่วโลก และการขยายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ อย่างจีน อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งรวมกันแล้ว ร้อยละ 63 ของประชาชนในประเทศเหล่านั้นกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด ปัญหานี้จึงควรนำมาพิจารณาว่าการขยายอุตสากรรมถ่านหินนั้นมีความจำเป็นแค่ไหนหากเทียบกับปริมาณน้ำสะอาดที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่มลพิษทางน้ำเข้ามาแทนที่”

ปัญหาเรื่องน้ำกับพลังงานกำลังเป็นปัญหาที่ร้ายแรงในหลายประเทศ อาทิ ที่ประเทศจีน โครงการถ่านหินบริเวณเขตมองโกเลียใน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานถ่านหินขนาดใหญ่ มีการใช้น้ำจำนวนมหาศาลในช่วงเวลา 8 ปี ของการดำเนินการ โดยประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ระบุว่าปริมาณน้ำในแหล่งน้ำของพื้นที่ลดลงมากถึง 100 เมตร และระดับน้ำในทะเลสาบลดลงถึงร้อยละ 62 ในประเทศแอฟริกาใต้ ประชาชน 1.63 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำตามสิทธิพื้นฐาน ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ แต่บริษัท Eskom กลับแย้งว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินของตนควรได้รับการยกเว้นจากมาตรฐานการปล่อยมลพิษเนื่องจากไม่มีน้ำมากพอในการดำเนินการทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ “ควบคุม” การปล่อยสารพิษ โดยสารพิษที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้ก่อให้เกิดฝนกรด ฝุ่นควัน และมลพิษทางอากาศ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ และปรอท ซึ่งคาดว่าเป็นสาเหตุให้ประชาชนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 20,000 คน ตามงานวิจัยของกรีนพีซ สำหรับในประเทศอินเดียดูเหมือนปัญหาจะเลวร้ายกว่านั้น งานวิจัยของ HSBC และ สถาบันทรัพยากรโลก ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ร้อยละ 70 ของโครงการพลังงานถ่านหินใหม่จะถูกสร้างขึ้นในบริเวณที่ขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว


ดูเหมือนสำหรับรัฐบาลในหลายประเทศ ถ่านหินยังเป็นตัวเลือกที่ล้ำค่ากว่าน้ำ และประชาชนจำเป็นต้องยอมเอาชีวิตและวิถีชีวิตความเป็นอยู่เข้าแลกเพื่อการได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้า

ปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ควรเป็นบทเรียนสำคัญให้กับประเทศไทยก่อนที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโครงการใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือถ่านหิน ที่จะเกิดขึ้นในกระบี่ อันเป็นจังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ด้วยระบบนิเวศทางทะเล และขึ้นชื่อด้านเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันสวยงามของโลก

แต่ปัญหาเรื่องพลังงานและน้ำนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ เราไม่จำเป็นต้องเลือกว่าต้องการพลังงานมากกว่าน้ำ หรือน้ำมากกว่าพลังงาน ในเมื่อเรามีทางเลือกที่ดีกว่านั้น สำหรับเรื่องพลังงานแล้ว เรามีทางเลือก พลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์นั้นใช้น้ำเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และมีงานวิจัยจาก IOP Science ระบุออกมาว่าพลังงานลมและแสงอาทิตย์นั้นเป็นรูปแบบการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อน้ำมากที่สุด 

ขณะที่เรากำลังบ่นเรื่องอากาศร้อนและเตรียมเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ในหลายพื้นที่กำลังมีปัญหาขาดแคลนน้ำ และกำลังถูกคุกคามจากอุตสาหกรรมถ่านหิน ทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังปล่อยมลพิษสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโครงการใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นและสร้างมลพิษแห่งใหม่ต่อแหล่งน้ำของเราในอนาคต บางทีรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเองอาจกำลังหลงลืมไปว่า “สายน้ำคือชีวิต” และพลังงานหมุนเวียนเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตพลังงานของไทย

มีคำสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “สายน้ำไม่มีวันหวนคืน” นอกจากจะหมายถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไข อีกนัยหนึ่งในแง่ของมลพิษที่เกิดขึ้นในแหล่งน้ำแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเก็บกลับคืนมาได้เช่นกัน

ร่วมกันลงชื่อปกป้องกระบี่จากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ที่ www.protectkrabi.org

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 11, 2557 ที่ 10:23




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 14:31:24 น.   
Counter : 1136 Pageviews.  


18 พ.ค. นี้ เชิญร่วมวิ่งรณรงค์ปกป้องกระบี่กับกรีนพีซในงาน "Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi"



รับสมัครนักวิ่งรณรงค์ปกป้อ
งกระบี่กับกรีนพีซในงาน "Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi"

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หากมีกระบี่อยู่ที่ใจ คุณคือผู้กล้าที่กรีนพีซกำลังตามหา

ร่วมผนึกพลังในการวิ่งรณรงค์ครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อปกป้องมรกตแห่งอันดามัน ท้องทะเลที่สวยงาม และความสมบูรณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมประกาศก้องให้โลกรู้ว่า..กระบี่ของไทย เอาถ่านหินมาแลกเราไม่ยอม

พบกันในงาน "Greenpeace Mini Marathon – Run for Krabi"
วันที่ 18 พฤษภาคม 2557 ณ ลานอเนกประสงค์ สะพานพระราม 8 เวลา 05.00 น.

 เส้นทางวิ่ง 
บนทางยกระดับคู่ขนานบรมราชชนนีฝั่งขาออก วิ่งสวนทาง ปิดการจราจร 100% ปล่อยตัวเวลา 06.00 น.

 การแข่งขัน 
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท สำหรับชาววิ่งทุกสไตล์

1. วิ่งมินิมาราธอน ระยะ 10.5 กม. ชาย-หญิง แบ่งตามกลุ่มอายุ ดังนี้
=> อายุไม่เกิน 29 ปี ชาย/หญิง
=> อายุ 30-39 ปี ชาย/หญิง
=> อายุ 40-49 ปี ชาย/หญิง
=> อายุ 50 ปีขึ้นไป ชาย/หญิง
* การนับอายุผู้แข่งขัน เอาปี พ.ศ. 2557 ลบด้ายปี พ.ศ.เกิด

2. ทีม เดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพ (Fun Run) 5 กม. ไม่จำกัดเพศและอายุ ร่วมสนุกด้วยการ เดิน-วิ่ง

 การลงทะเบียนสมัคร 
ค่าสมัคร คนละ 300 บาท ทุกประเภทระยะทาง
รับสมัครจำกัดจำนวนเพียง 1,000 คน (โปรดสมัครล่วงหน้า)
ลงทะเบียนสมัครที่ >> //bit.ly/1lrnc3c <<

 รางวัลและของที่ระลึก 
▧ ผู้ชนะการแข่งขัน วิ่งมินิมาราธอน 10.5 กม. อันดับ 1-5 ทุกกลุ่มอายุ จะได้รับถ้วยเกียรติยศ
▧ ผู้สมัครทุกคน จะได้รับเสื้อที่ระลึก ท่านละ 1 ตัว
▧ นักวิ่งที่วิ่งเข้าเส้นชัยทุกคน ทุกประเภทการแข่งขัน จะได้รับ “เหรียญกรีนพีซผู้พิทักษ์กระบี่”
▧ ชมรมวิ่งหรือหน่วยงานที่ส่งสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด 5 อันดับแรก จะได้รับโล่เกียรติยศ
▧ รางวัลพิเศษสำหรับการแต่งกายที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และสร้างสีสันภายใต้คอนเซป "On the beach"

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ www.protectkrabi.org #ProtectKrabi





 

Create Date : 21 เมษายน 2557   
Last Update : 22 เมษายน 2557 13:53:12 น.   
Counter : 1334 Pageviews.  


เรียกร้องให้ตรวจสอบกระบวนการการจัดทำ EIA, EHIA ของประเทศไทย

ENGLISH version here
เลขที่จดหมายออก 4/2557

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี)120 หมู่ที่ 3 ถนน แจ้งวัฒนะ

แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

9 เมษายน 2557

เรื่อง  ขอเรียกร้องให้ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากการจัดทำนโยบายและการปฏิบัติการของกระบวนการการจัดทำEIA, EHIAของประเทศไทย

เรียน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ                                                                                                 

        Human Rights Watch

        เลขาธิการ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights     

สำเนาถึง           

ประธาน ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights   

Human Rights Watch

คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.)

คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

อ้างถึง   Open Letter to the ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights (AICHR) 

ตามที่เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อเลขาธิการ ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสิทธิมนุษยชนในระดับอาเซียนเริ่มต้นกระบวนการหารือระดับภูมิภาคด้านสิทธิสิ่งแวดล้อมและสิทธิด้านมนุษยชนในประเทศสมาชิกอาเซียน การกำหนดข้อบังคับและแนวทางการปฏิบัติร่วมกันตามกฎบัตรสหประชาชาติอันว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อคุ้มครองพลเมืองจากการกระทำการละเมิดต่อสิทธิอันพึงมี โดยจะต้องอยู่บนหลักความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ทั้งในกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการอื่นใด

กระบวนการการจัดทำ EIA, EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เป็นกรณีศึกษาที่เห็นชัดอย่างยิ่ง เมื่อกระบวนการการจัดทำดังกล่าวก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในพื้นที่โดยตรงและส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเมืองทุกคนผู้มีสิทธิปกป้องและจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประเทศร่วมกัน  กระบวนการการจัดทำ EIA, EHIA ของกระบี่จึงเป็นความต่อเนื่องและเรื้อรังของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยที่โดนกระทำการละเมิดผ่านนโยบาย กฎหมายและกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 เป็นต้นมา

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำการตรวจสอบบริษัทที่ปรึกษา สถาบันและ/หรือผู้รับจ้างจัดทำรายงาน EIA,EHIA คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (คชก.) คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำนโยบายและดำเนินการปฏิบัติ ที่ได้พิจารณาอนุมัติโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ/หรือสุขภาพที่ผ่านมาทุกโครงการ รวมทั้งโครงการที่กำลังดำเนินการกระบวนการการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและ/หรือสุขภาพในอันที่จะส่งผลต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในอนาคตเช่นกัน

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และเพื่อพิจารณาในการดำเนินการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจากนโยบายและการปฏิบัติการของกระบวนการการจัดทำEIA, EHIAของประเทศไทยเพื่อให้ประเทศไทยเกิดการปฏิรูปนโยบายและกระบวนการจัดทำEIA, EHIAให้อยู่บนหลักสิทธิมนุษยชนที่มีความถูกต้อง โปร่งใส ชอบธรรมและตรวจสอบได้

เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน

1.กลุ่มรักลันตา

2.กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย

3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา

4.สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา

5.มูลนิธิอันดามัน

6.ศูนย์สร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา

7.กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

8.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย

9.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้  (กปอพช.)

10.โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้

11.กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง    

12.กลุ่มรักษ์อันดามัน

13.กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัย จังหวัดกระบี่

14.กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่

15.เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่

16.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน

17.เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน

18.เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ

19.เครือข่ายติดตามผลกระทบจาดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน

20. มูลนิธินโยบายสุขภาวะ

21.เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย

22.เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ //www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

ที่มา : Greenpeace Thailand




 

Create Date : 21 เมษายน 2557   
Last Update : 22 เมษายน 2557 13:50:27 น.   
Counter : 1052 Pageviews.  


ปฐมนิเทศเยาวชนกรีนพีซกลับมาแล้วค่ะ

ปฐมนิเทศเยาวชนกรีนพีซกลับมาแล้ว!!!

26 เม.ย.นี้ น้องๆเยาวชนที่ได้ลงชื่อไว้ จะได้ปฐมนิเทศเพื่อเข้าร่วมเป็น “เยาวชนกรีนพีซ” กันอย่างเต็มตัวแล้วนะคะ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
▧ เช็คกำหนดการ  //bit.ly/1nVVNvz
▧ ยืนยันเข้าร่วมปฐมนิเทศ(เมษายน 2557)  //bit.ly/OU92x7
▧ หากมีคำถามเพิ่มเติม ติดต่อที่ พี่เกี้ยว(ผู้ประสานงานเยาวชนกรีนพีซ) โทร. 081 667 0103

*** ปฐมนิเทศครั้งนี้ สำหรับเยาวชนที่ได้ร่วมลงชื่อไว้ก่อนหน้านี้เท่านั้น น้องๆคนไหนที่ต้องการเข้าร่วมปฐมนิเทศเป็นเยาวชนกรีนพีซในครั้งถัดไป สามารถลงชื่อไว้ได้ที่นี่ค่ะ //bit.ly/19pI1ay




 

Create Date : 01 เมษายน 2557   
Last Update : 3 เมษายน 2557 11:58:25 น.   
Counter : 950 Pageviews.  


มองดูผลกระทบหายนะน้ำมันรั่วจากปตท.ในวันครบรอบ 25 ปี เหตุน้ำมันรั่วแอกซอน วัลเดซ



24 มีนาคม พ.ศ.2532 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ณ ทะเลทางตอนใต้ของอลาสกา ภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของโลกจากฝีมือของมนุษย์ได้เกิดขึ้น เรือบรรทุกน้ำมันแอกซอน วัลเดซ เกยตื้นบริเวณชายฝั่งปรินส์ วิลเลียม ซาวนด์ ปลดปล่อยน้ำมันดิบปริมาณ 750,000 บาร์เรล ลงสู่น่านน้ำอาร์กติก ก่อมลพิษให้กับดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ของอลาสกากินพื้นที่ความเสียหายหลายพันไมล์ อุบัติภัยที่มนุษย์ก่อครั้งนี้เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ร้ายแรงที่สุด จนกระทั่งเกิดการรั่วไหลของน้ำมันดิบ 4.9 ล้านบาร์เรล จากแท่นขุดเจาะดีพ วอเทอร์ ฮอไรซัน (บีพี) ในอ่าวเม็กซิโก เมื่อปีพ.ศ. 2553

ถึงแม้จะผ่านมาแล้ว 25 ปี แต่ผลกระทบจากน้ำมันรั่วในครั้งนั้นยังคงปรากฏให้เห็นได้ในทุกวันนี้ บรรดาสัตว์ต่างๆ อาทิ วาฬเพชฌฆาต นาก และสิงโตทะเลก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวจากเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ รวมถึงชาวโลกคงยังไม่ลืมภาพชายฝั่งสีดำ นก และสัตว์ทะเลต่างๆ ที่ถูกมฤตยูสีดำคร่าชีวิตไป

นอกจากความทรงจำแล้ว น้ำมันยังคงอยู่ใต้โขดหินน้อยใหญ่ของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการประมงสัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่าง ปลาเฮอร์ริง ปูอลาสก้า ปูดันเจเนสส์ ก็ไม่สามารถฟื้นตัวในพื้นที่ได้อีก จากผลการสำรวจวิจัยพบว่ามีเพียงสัตว์ 13 ชนิด จาก 32 ชนิด เท่านั้นที่สามารถฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ หรือฟื้นตัวได้พอสมควร ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่แอกซอนทำนายไว้ว่าชายฝั่งปรินส์ วิลเลียม ซาวนด์ จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

จากเหตุการณ์เรือบรรทุกน้ำมันแอกซอน วัลเดซ บริษัทแอกซอนได้ใช้เงินจำนวน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการล้างคราบน้ำมัน แต่มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นของคราบน้ำมันเท่านั้นที่ถูกชะล้างออกไป ส่วนบริษัทบีพีเองก็ได้ใช้เงินจำนวน 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในการล้างคราบน้ำมันจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วจากแท่นขุดเจาะดีพ วอเทอร์ ฮอไรซัน แต่ยิ่งแย่กว่าเดิมมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นของคราบน้ำมันเท่านั้นที่ถูกชะล้างออกจากพื้นผิวและชายทะเล

บทเรียนสำคัญจากหายนะน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ของโลกแสดงให้เห็นแล้วว่า การล้างคราบน้ำมันเป็นเสมือน “มายาคติ” เมื่อน้ำมันรั่วไหลออกมาแล้ว ไม่มีทางที่จะเก็บกักกลับไป ฟื้นฟู และแน่นอนว่าไม่สามารถชะล้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีใด ของประเทศใด และเหตุการณ์น้ำมันรั่วโดยบริษัทปตท.ที่จังหวัดระยองเมื่อ 27 กรกฎาคม ในปีที่ผ่านมาก็คงไม่ใช่ข้อยกเว้น

สำหรับหายนะน้ำมันรั่วของปตท. จวบจนวันนี้เป็นเวลาครบรอบ 7 เดือนแล้ว แต่สิ่งที่ชาวระยองยังพบเห็นอยู่เป็นระยะ คือ ทาร์บอลที่ปรากฏขึ้นมาอยู่เสมอ และแน่นอนว่าผลกระทบไม่ได้สิ้นสุดลงหลังจากที่คราบน้ำมันจางหายไป น้ำมันดิบกว่า 50,000 ลิตร ยังคงหลงเหลืออยู่ในท้องทะเล และนี่เป็นเพียงช่วงแรกเท่านั้นที่เราเห็นผลกระทบ

“ในสายตาคนส่วนใหญ่แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมองเห็นไม่ชัดเจน รวมถึงชาวบ้านชาวประมงขาดข้อมูลความรู้ที่แท้จริง เข้าใจผิดว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงระยะสั้น สักพักก็ฟื้นตัวได้ ไม่ได้ตื่นตัวเรื่องมลพิษมากนัก ที่จริงแล้วผลกระทบเพิ่งจะเกิดขึ้นเท่านั้น ยิ่งนานวันยิ่งประมงแทบไม่ได้เลย สัตว์น้ำหายไปเรื่อยๆ อาชีพประมงชายฝั่งก็เดือดร้อนขึ้นเรื่อยๆ” เสียงจากตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดระยองกล่าว


จากความคิดเห็นของพี่น้องชาวระยองที่ได้รับผลกระทบ ปัญหาในช่วงแรกเป็นระยะสั้นที่ส่งผลกระทบรุนแรงเนื่องจากความมั่นใจด้านความปลอดภัยของอาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้สำคัญของจังหวัดระยองถูกทำลายไป เกิดเป็นวิกฤตทางเศรษฐกิจสำหรับพี่น้องในพื้นที่ ขณะนี้นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้วร้อยละ 70-80 แต่สิ่งที่ยังไม่หวนกลับมา คือ สัตว์น้ำเศรษฐกิจของระยอง

“การที่พบเห็นทาร์บอลตามชายหาด นั่นหมายถึงมีทาร์บอลอยู่ใต้น้ำ และขณะนี้สัตว์น้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด พวกเราหาปลา ปู ปลาหมึก และหอยสายได้น้อยลง บางคนต้องเปลี่ยนแปลงอาชีพ เลิกทำอาชีพประมง การที่กระทรวงทรัพยากรมาช่วยเหลือเรื่องการวิจัย แต่เราชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้รับทราบว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบเข้ามีส่วนร่วมมากน้อยเพียงไร เพราะมีเพียงชาวประมงที่ทำอาชีพตรงนั้นที่รับรู้ถึงผลกระทบอย่างแท้จริง แผนการฟื้นฟูจะครอบคลุมถึงการพัฒนาอาชีพได้มากน้อยเพียงไร หากไม่รับรู้ข้อเท็จจริงจากผู้ได้รับผลกระทบ เพราะสิ่งที่หายไป คือทรัพยากรสัตว์น้ำ อันเป็นเศรษฐกิจ และอาชีพของประมงพื้นบ้าน” ตัวแทนสมาคมเรือประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยองเสนอกล่าว

พี่น้องชาวระยองได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้กว่า 3,000 ครัวเรือน แต่การเยียวยาจากปตท.และจากหน่วยงานราชการยังไม่ปรากฎเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ไม่ใช่เพียงชดเชยด้วยค่าเยียวยาเพียง 30,000 บาท ดังที่พี่น้องชาวระยองบางกลุ่มได้รับ

“พวกเราคิดว่าควรมีแผนการฟื้นฟูที่ชัดเจนกว่านี้ รวมถึงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในด้านปิโตรเคมีและผลกระทบของมันอย่างแท้จริง รวมถึงมีการฟื้นฟูอาชีพที่สูญหายไปจากผลกระทบของน้ำมันรั่วควบคู่กันไปด้วย” ตัวแทนสมาคมเรือประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยองเสนอ

แน่นอนว่าผลกระทบจากหายนะน้ำมันรั่วครั้งนี้ยังไม่สิ้นสุด สมาคมรักษ์ทะเลไทย สภาทนายความ สมาคมเรือประมงพื้นบ้านเรือเล็กจังหวัดระยอง และกรีนพีซ  ยังคงเดินหน้าเรียกร้องให้ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง เหตุการณ์ครบรอบ 25 ปีเรือบรรทุกน้ำมันแอกซอน วัลเดซ คงเป็นอีกตัวอย่างที่สำคัญที่ช่วยย้ำเตือนว่าผลกระทบจากน้ำมันรั่วอันเลวร้ายต่อระบบนิเวศทางทะเล สัตว์ทะเล ชาวประมง และทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังคงฝังรากลึกและกระทบต่อสรรพชีวิต ซึ่งปตท.ยังต้องให้คำตอบกับคนไทยด้วยการเข้ามารับผิดชอบชดเชยและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลที่เป็นสายเลือดของชาวประมง และท้องทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 26, 2557 ที่ 12:44


ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ www.protectkrabi.org #ProtectKrabi

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Letter-to-thailand-human-right




 

Create Date : 31 มีนาคม 2557   
Last Update : 2 เมษายน 2557 15:06:58 น.   
Counter : 1470 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com