กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

เสียงเพรียกจากทะเล

ทุกๆ วัน คือวันเต่า หากคุณเป็นผู้รณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร…

หลังจากที่ผมรู้ว่าวันนี้เป็นวันเต่า ผมก็มีเรื่องราวที่อยากเขียนผุดขึ้นมามากมาย เมื่อเราพูดถึงเต่า คนทั่วไปคงจะนึกถึงสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ผมคงไม่ลงรายละเอียดจำแนกว่าแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันออกไปอย่างไร ไม่ว่าจะเป็น  เต่าบก เต่าน้ำ เต่าชายน้ำ หรือตะพาบน้ำ แต่ในครั้งนี้ผมอยากบอกเล่าถึงเต่าทั้ง 7สายพันธุ์ที่แหวกว่ายอน่างอิสระอยู่ในมหาสมุทร นั่นก็คือ เต่าทะเล

เหตุผลหลักที่เราควรทำความรู้จักกับเต่าให้มากขึ้นในวันนี้ก็คือ เต่าเป็นสิ่งมีชีวิตสง่างามที่ใครๆ ก็หลงรัก และ 6 ใน 7 ของสายพันธุ์เต่าทะเลกำลังใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถูกมนุษย์คุกคาม ซึ่งถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องร่วมกันรักและปกป้องเต่าเหล่านี้กันมากขึ้นกว่าเดิมลองมาเรียนรู้เต่าทะเลกันนะครับ

เต่าทะเลเป็นนักท่องมหาสมุทรอย่างแท้จริง เต่าเพศเมียจะเดินทางกลับมายังชายหาดที่ตนฟักออกมาจากไข่เพื่อวางไข่ แต่สำหรับเต่าเพศผู้นั้นไม่มีความจำเป็นต้องกลับมายังดินแดนถิ่นฐานบ้านเกิดของตนอีก

เต่าบางสายพันธุ์นั้นสามารถกินอาหารได้หลากหลาย แต่บางสายพันธุ์ก็มีลักษณะการกินอาหารที่เจาะจงลงไป เต่ามะเฟืองชอบกินแมงกระพรุน ขณะที่เต่ากระชอบที่จะกินฟองน้ำทะเลมากกว่า แต่เต่าทั้งสองสายพันธุ์นี้ต่างก็ปรับตัวให้สามารถเคี้ยวกลืนพิษ และหนามของสิ่งมีชีวิตในทะเล เพื่อให้สามารถเอร็ดอร่อยกับอาหารจานโปรดได้อย่างไม่เป็นอันตราย

เต่าหัวฆ้อนมีศีรษะขนาดใหญ่และแข็งแรง เพื่อที่จะสามารถขบเคี้ยวปลาเปลือกแข็งต่างๆ ได้อย่างสบายๆ โดยย้อนไปในยุคของเชคสเปียร์ คำว่า “loggerhead”  นั้นถูกใช้กล่าวถึงคนที่โง่เขลา โดยมีความหมายว่า “คนงี่เง่า” ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ดีสักเท่าไร

เต่าตนุเป็นเต่าทะเลเพียงสายพันธุ์เดียวที่เป็นมังสวิรัติ แต่ในวัยที่พวกมันยังคงเป็นลูกเต่านั้นสามารถกินอาหารได้หลากหลาย และเริ่มที่จะเลือกกินเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและตัดสินใจว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้พวกมันเป็นฆาตรกร

การ “หงายเต่า” หมายถึงการพลิกเต่าให้หงายท้อง สำหรับเต่าที่กำลังเดินอยู่บนพื้นดินแล้วนี่ถือเป็นปัญหาใหญ่ แต่สำหรับเต่าทะเลแล้วล่ะก็ แค่เหมือนกับการตีกรรเชียงชิลล์ๆ

เต่านินจา หรือ Teenage Mutant Ninja Turtles อาจจะเป็นเต่าน้ำจืด (Terrapin) ดังนั้นชื่อที่แท้จริงของแกงค์เต่านี้น่าจะเป็น Teenage Mutant Ninja Terrapins มากกว่า อืมมม

เต่ามะเฟืองถือเป็นนักทำลายสถิติตัวยง พวกมันสามารถว่ายน้ำไปไกลถึง 10,000 ไมล์ต่อปี เพื่อหาอาหาร ดำน้ำได้ลึกลงไปในมหาสมุทร 1,200 เมตร  และสามารถเดินทางไปได้ไกลจากชิลีถึงอลาสกาเลยทีเดียว พวกมันยังสามารถปรับตัวกับน้ำที่เย็นยะเยือกได้  โดยปรับอุณหภูมิ และอาศัยชั้นไขมันในตัวในการสร้างความอบอุ่น

เต่ามะเฟืองนั้นมีขนาดที่ใหญ่มากกก โดยตัวใหญ่ที่สุดที่เคยได้รับการบันทึกไว้นั้นเป็นเต่าที่เคยขึ้นมาบนชายหาดของประเทศเวลส์ โดยมีความยาว 2.2 เมตร เทียบเท่ากับขนาดของเตียงแบบคู่ และขนาดของเต่ามะเฟืองที่เล็กที่สุดนั้นมีขนาด 60 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มวัย

ถึงแม้จะขนาดใหญ่เพียงใดเมื่อโตเต็มวัย แต่เต่ามะเฟืองร่างยักษ์ก็เกิดมาจากไข่ขนาดเล็กเท่าลูกปิงปอง ฝังลึกลงไปในหาดทรายอันอ่อนนุ่ม เต่าแรกเกิดจะต้องออกเดินทางสู่ท้องทะเลอันแสนอันตราย โดยที่จะต้องระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของนักล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวมากสำหรับสัตว์ตัวน้อยแสนน่ารักนี้

ยามที่แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่ชายหาดนั้น แม่เต่าอาจจะถูกโจมตีโดยนักล่าที่ไม่ใช่นักล่าตามธรรมชาติเมื่ออยู่ในท้องทะเล ดังเช่น ในอเมริกาใต้นั้นเคยมีผู้พบเห็นเสือจากัวร์ออกหาอาหารตามชายหาด

กระดองของเต่านั้นมีความแข็งแรงราวกับเป็น “โล่ห์” ป้องกันให้กับเต่า ซึ่งคำภาษาอังกฤษก็คือ “scute” ที่แปลว่าโล่ห์นั้น เผชิญคล้องจองกับคำว่า “So cute!” หรือ “น่ารักจังเลย” คำที่ทุกคนต้องพูดออกมาเมื่อพบเห็นลูกเต่านั่นเอง

เต่าทะเลที่กินสาหร่ายนั้นช่วยสร้างสมดุลให้กับแนวปะการัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะในขณะนี้ปะการังกำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ส่วนเต่าทะเลที่กินแมงกระพรุนนั้นยังช่วยให้ชายหาดปลอดภัยสำหรับมนุษย์ยิ่งขึ้นด้วย

แต่สำหรับเต่าทะเลแล้ว ถุงพลาสติกที่ดูคล้ายกับแมงกระพรุนนั้น เป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด

หากพูดถึงวิธีการอนุรักษ์เต่าทะเล สิ่งพื้นฐานที่เราสามารถทำได้คือ ช่วยกันปกป้องชายหาดที่เต่าทะเลใช้วางไข่ รวมถึงท้องทะเลโดยรอบอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัย แต่กระนั้น การพัฒนาพื้นที่ชายหาดเพื่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมของมนุษย์นั้นยิ่งเป็นสิ่งทำให้เต่าทะเลมีที่อยู่อาศัยน้อยลง และลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วทั่วโลก

ขณะนี้บริเวณชายหาดของบางประเทศที่เคยมีการล่าเต่าเพื่อเอาไข่ เนื้อ และกระดองของเต่านั้นได้เปลี่ยนไปเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้างแล้ว เพราะเช่นเดียวกับวาฬ และสัตว์ชนิดต่างๆ เต่านั้นมีคุณค่าขณะที่ยังมีชีวิตอยู่มากกว่าตอนที่กลายเป็นตำนานไปแล้ว จริงไหม

เต่าเป็นฑูตแห่งท้องทะเลอันแสนวิเศษ และยังเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ามนุษย์เรากำลังทำลายท้องทะเลมากน้อยเพียงไร การปกป้องเต่าทะเล หมายถึง การเปลี่ยนแปลงวิธีการประมง  การปกป้องบริเวณที่เป็นแหล่งอาหาร พื้นที่ฟักตัวเจริญพันธุ์ และการเปลี่ยนทัศนคติว่าทะเลและมหาสมุทรเป็นแหล่งทิ้งขยะขนาดใหญ่

ร่วมเรียกร้องกำหนดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล

ขณะนี้กรีนพีซกำลังเดินหน้ารณรงค์ให้ทั่วโลกร่วมกันเรียกร้องกำหนดพื้นที่ต่างๆ ในมหาสมุทรรวมกันเป็นเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำและแหล่งที่อยู่อาศัยในทะเลจากการใช้พื้นที่ทำประมง ทำเหมืองแร่ และการทำกิจกรรมใดๆ โดยจะครอบคลุมร้อยละ 40 ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมดทั่วโลก สิ่งนี้จะเป็นหัวใจสำคัญในการกู้วิกฤติมหาสมุทรและทะเลที่กำลังมีสัตว์น้ำจำนวนน้อยลงอย่างชัดเจนในปัจจุบัน เขตคุ้มครองนี้อาจรวมถึงการอนุรักษ์ชายฝั่งขนาดเล็กต่างๆ ที่ช่วยปกป้องลูกเต่าทะเล และการอนุรักษ์เขตนอกชายฝั่งทะเลในมหาสมุทรที่เต่าทะเลกำลังเสี่ยงต่อการเป็นผลพวงของการประมงแบบทำลายล้างเช่นกัน

ร่วมกันรักษ์เต่า และปกป้องท้องทะเลนะครับ




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2556   
Last Update : 29 พฤษภาคม 2556 13:44:45 น.   
Counter : 1262 Pageviews.  


ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

29 พฤษภาคม 2556 ฉลามวาฬในอ่าว Cenderawasih © Paul Hilton / Greenpeace

ทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยภาพที่เรากำลังชมอยู่นี้เป็นภาพแห่งท้องทะเลที่น่าทึ่งของประเทศอินโดนีเชีย ไม่ว่าจะเป็นภาพของฉลามขาว แนวปะการังอันสง่างาม และป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ ที่เรือเรนโบว์วออริเออร์ของกรีนพีซได้บันทึกภาพไว้ขณะที่กำลังเดินทางรณรงค์เพื่อปกป้องความสวยงามที่แสนเปราะบางของสภาพแวดล้อมในประเทศอินโดนีเชียนี้

และภาพเหล่านี้คือสิ่งที่เราจะต้องสูญเสียไป หากเราทุกคนไม่ร่วมมือกันปกป้องตั้งแต่ตอนนี้

29 พฤษภาคม 2556 แนวปะการังของเกาะ Pristine © Paul Hilton / Greenpeace

หากเราต้องการโลกที่ทุกสรรพชีวิตสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เราสามารถช่วยกันปกป้องโลกจากการถูกทำลายด้วยอุตสาหกรรม และการประมงแบบทำลายล้าง โดยเราสามารถรณรงค์ให้รัฐบาลร่วมปกป้องมหาสมุทรและป่าไม้จากการล่มสลายทางชีวภาพอันมีต้นเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ขณะนี้ทะเลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยของเราเองก็กำลังเสี่ยงต่อการล่มสลายเต็มที

29 พฤษภาคม 2556 ป่าในปาปัว © Paul Hilton / Greenpeace

ประเทศอินโดนีเซียมีความหลากหลายทางชีวภาพมากถึงร้อยละ 20 ของทั่วโลก และเป็นบ้านของพืชพันธุ์กว่า 30,000 ชนิด มีสัตว์ประเภทต่างๆ อีกกว่า 3,000 ชนิด

29 พฤษภาคม 2556 แนวปะการังที่ Dampier Straight Raja Ampat © Paul Hilton / Greenpeace

ปัจจุบันนี้อินโดนีเซียมีป่าฝนเขตร้อนประมาณร้อยละ 10 ของทั่วโลก แต่ในอดีตเพียง 50 ปีที่มา ร้อยละ 82 ของประเทศนั้นปกคลุมไปด้วยป่าไม้ และเพียงทศวรรษที่ผ่านมานั้นปริมาณป่าไม้ได้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 48 เนื่องจากการทำลายป่าไม้เพื่ออุตสาหกรรมกระดาษและน้ำมันปาล์ม รวมถึงการทำเหมืองแร่

ท้องทะเลของประเทศอินโดนีเซียก็เปี่ยมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน โดยพื้นที่ต่างๆ เช่นที่ Raja Ampat ในปาปัวตะวันตก ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่ขณะนี้แนวปะการังของอินโดนีเซียกำลังเสี่ยงต่อการล่มสลายทางชีวภาพอันเนื่องมาจากผลกระทบของการประมงเกินขนาด มลพิษ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

29 พฤษภาคม 2556 นกแก้วโนรีครอบหัวดำที่ปาปัว © Paul Hilton / Greenpeace

การนิ่งเฉยต่อไปไม่ใช่หนทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนของทุกคน

เราต้องร่วมกันลงมือตั้งแต่ตอนนี้เพื่อหยุดยั้งอุตสาหกรรมการประมงเกินขนาดที่กำลังทำร้ายมหาสมุทรของเรา

ร่วมเป็นผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลกับกรีนพีซ เพื่อปกป้องท้องทะเลของเรา




 

Create Date : 29 พฤษภาคม 2556   
Last Update : 29 พฤษภาคม 2556 13:35:45 น.   
Counter : 1167 Pageviews.  


เล็กน้อยแต่มหาศาล เต่ามะเฟืองและสิ่งละอันพันละน้อยเพื่อท้องทะเล

เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมือง

ท้องมหาสมุทรสีครามที่ดูกว้างใหญ่ราวกับมีจุดสิ้นสุดคือเส้นขอบฟ้านั้นเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตจำนวนมหาศาล หรือเรียกได้ว่ามีความหลากหลายและซับซ้อนของระบบนิเวศมากเสียจนกระทั่งการทำลายธรรมชาติของน้ำมือมนุษย์นั้นส่งผลให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลายยากที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดจนบางสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ไป แต่ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด สัตว์สายพันธุ์หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นสัตว์ดึกดำบรรพร้อยล้านปี คือ เต่ามะเฟือง เต่ายักษ์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกผู้เดินทางไปทั่วโลกที่เป็นเจ้าแห่งชายหาดมาตั้งแต่ยุคสมัยไทแรนโนซอรัสเร็กซ์ (ทีเร็กซ์) ทว่าปัจจุบันมนุษย์ครองโลกพื้นพิภพและสร้างการเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงให้กับโลกแห่งนี้ เต่ามะเฟืองที่จำเป็นต้องเลือกหาดทรายที่มืดและเงียบสงบ มีอุณหภูมิ ความชุ่มน้ำ และความละเอียดของเม็ดทรายที่เหมาะสมทำให้ประชากรของเต่ามะเฟืองลดลงจนนับวันยิ่งขยับใกล้การสูญพันธุ์เข้าไปทุกที

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เป็นสถานที่วางไข่แหล่งสุดท้ายในประเทศไทยสำหรับเต่ามะเฟือง และเป็นหนึ่งในสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่ยังคงมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์อยู่ ทั้งทางทะเลและบนบก ชายหาดที่สวยงามของหาดท้ายเหมือง มีความยาว 13.6 กิโลเมตร ซึ่งมีความสมบูรณ์ ขาวสะอาด เงียบสงบ และมีพันธุ์ไม้ทะเลที่หลากหลายทางชีวภาพ เหมาะกับเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลทุกชนิด ทุกวันนี้ชายหาดที่สวยงามกลับกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของธุรกิจการท่องเที่ยว แต่เต่าไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้ ในอดีตมีแม่เต่ามะเฟืองเข้ามาวางไข่ที่บริเวณชาดหาดทุกคืน แต่ปัจจุบันเราคงเพียงได้แค่หวังว่าแม่เต่าจะกลับมาวางไข่ตามฤดูเป็นประจำทุกปีเท่านั้น

ฉันมาร่วมกิจกรรมทำดีเพื่อทะเลของกรีนพีซ ในระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมาเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกการอนุรักษ์ทะเลโดยเริ่มจากสิ่งเล็กน้อยรอบตัว เช่น การเก็บขยะ การศึกษาระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ในวันแรกของการร่วมกิจกรรมฉันได้รับแจ้งข่าวดีว่ามีแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมายังชายหาดเพื่อวางไข่เมื่อประมาณหนึ่งอาทิตย์ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะกลับมาวางไข่ครั้งที่สอง ในคืนนั้นเวลาตี 03.45 น. ฉันถูกปลุกขึ้นท่ามกลางห้องพักที่มืดมิดและเงียบสงัด คู่สนทนาปลายสายคือรองหัวหน้าอุทยาน “ไปดูแม่เต่ามะเฟืองวางไข่ไหม” แน่นอนว่าฉันไม่ปฏิเสธโอกาสอันแสนพิเศษนี้ ฉันออกจากห้องตรงพุ่งตรงไปยังที่นัดหมาย เราขึ้นรถกะบะแล่นไปตามความมืดสู่ส่วนลึกของหาดท้ายเหมือง ที่เป็นพื้นที่คุ้มครองและห้ามไม่ให้คนเข้า จากนั้นลงจากรถและเดินผ่านพุ่มไม้เพื่อลงไปยังชายหาด ลำแสงเล็กๆ จากไฟฉายส่องสว่างจากระยะไกล บ่งชี้ว่าแม่เต่าและไข่ของเธออยู่ในจุดนั้น มันเป็นแม่เต่ามะเฟืองขนาดประมาณ 200 กิโลกรัม หลังยาวประมาณ 2 เมตร ฉันคิดในใจว่ามันเป็นเต่าตัวใหญ่ที่สง่างามอะไรอย่างนี้ กระดองของมันเป็นหนังเรียบแต่มีขอบหยักราวกับมะเฟือง มีลายจุดสีจางๆ บนผิวหนังสีน้ำเงินเข้มเกือบจะดำรอบตัวและที่กระดอง เมื่อมองไปที่ใบหน้าของมันขณะวางไข่จะดูเหมือนว่ามันกำลังร้องไห้อยู่ มีเรื่องเล่าขานกันว่าที่แม่เต่าร้องไห้เพราะเธอต้องขึ้นมาวางไข่แต่จะไม่มีโอกาสได้พบเห็นลูกของเธออีกเลย เพราะเต่ามะเฟืองจะกลับเข้าฝั่งเฉพาะช่วงเวลาวางไข่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นวิธีขับเกลือออกจากร่างกายนั่นเอง แต่ลึกๆ ข้างในแล้วฉันกลับมองเห็นถึงความเหนื่อยล้าที่ต้องดำรงชีวิตอยู่ในระบบนิเวศที่ใกล้จะพังครืนทุกที

เต่ะมะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมือง

เราบอกลาแม่เต่าและอวยพรให้เธอโชคดี ความตื่นเต้นที่ได้พบกับเต่าผู้สง่างามสิ้นสุดลง ถึงเวลาที่ต้องนำไข่มาดูแลก่อนที่สัตว์อื่นๆ และมนุษย์จะนำไปขายหรือเป็นอาหารตามความเชื่อที่ผิดๆ พนักงานอุทยานขุดกองทรายอย่างระวังเพื่อไม่สร้างความเสียหายให้กับไข่ เขาค่อยๆ เกลี่ยทรายออกจนพบไข่สีขาว และได้เคลื่อนย้ายไปยังกล่องบรรจุขณะนับ ไข่ที่สมบูรณ์ที่จะมีรูปทรงกลมคล้ายกับลูกปิงปอง แต่บางส่วนคือไข่ลมซึ่งเป็นไข่ที่ไม่สมบูรณ์จะมีรูปร่างผิดแปลกเป็นวงรีบ้างวงกลมบ้าง มีขนาดเล็กกว่าปรกติ ไม่ว่าไข่จะถูกวางอยู่ในหลุมทิศทางไหน เราจะต้องหยิบขึ้นและวางกลับลงไปในทิศทางเดิมเพื่อที่ไข่จะได้เติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์ หากมีการพลิกคว่ำไข่นั้นจะฟักออกมาเป็นเต่าที่พิการได้ ไข่จะฟักตัวในระยะเวลา 2 เดือน เมื่อลูกเต่าออกจากไข่จะรีบรุดคลานลงสู่ท้องทะเลทันที โดยในอาทิตย์แรกจะได้รับสารอาหารจากไข่แดงที่ติดอยู่กับตัว ลูกเต่ามะเฟืองไม่สามารถฟักในสถานอนุบาลเต่าได้เนื่องจากมันจะว่ายน้ำไปชนกำแพงไปเรื่อยๆ เพื่อต้องการไปหาทะเลจนกระทั่งไข่แดงที่ตัวหมดไปและตายในที่สุด ทว่ามีเพียงหนึ่งในพันของลูกเต่าเท่านั้นที่จะรอดชีวิต และน้อยตัวนักที่จะโชคดีเจริญเติบโตเต็มวัยกลับมาวางไข่บนชายหาดเดิมที่ตนเกิด ภายใน 15 หรือ 20 ปีต่อจากนี้

การลดลงอย่างน่าใจหายของจำนวนเต่ามะเฟืองเหล่านี้ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าในอนาคตเต่ายักษ์ผู้สง่างามแห่งท้องทะเลจะสูญสิ้นไป แต่ไม่เพียงแค่สัตว์เพียงหนึ่งสายพันธุ์จะหายไปเท่านั้น แต่การลดจำนวนลงของเต่าจะส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศโดยรวมเป็นทอดๆ และระบบนิเวศของโลกทั้งหมดสามารถพังครืนลงได้ราวกับโดมิโน ขนาดเต่ายักษ์ล้านปีสายพันธุ์อึดยังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ถึงเพียงนี้ แล้วสัตว์ทะเลชนิดอื่นจะได้รับผลกระทบขนาดไหน ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ทั้งใกล้ชิดกับทะเลจนได้ยินเสียงคลื่น หรือห่างไกลจากชายหาดขึ้นไปยังภูเขาสูงเสียดฟ้า แต่ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์กระทำจะกระทบถึงมหาสมุทรที่เป็นระบบนิเวศที่รองรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนบก การกระทำเล็กๆ อย่างการทิ้งขยะสามารถส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศทางทะเลได้ แต่หากคุณระมัดระวังสักนิดก่อนทำลายธรรมชาติ คำนึงถึงการ “ทำดีเพื่อทะเล” ด้วยการสร้างจิตสำนึกก่อนทำลายธรรมชาติที่เริ่มจากคุณเอง ไม่ใช่เพียงแค่จะช่วยเต่ามะเฟืองและเต่าทะเลชนิดอื่นๆ ได้ แต่ยังเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกที่จะส่งผลต่อระบบนิเวศทั้งโลกได้อีกด้วย




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2556   
Last Update : 27 พฤษภาคม 2556 9:18:49 น.   
Counter : 1341 Pageviews.  


วิกฤตไฟฟ้าดับและถ่านหิน

เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้จากความล้มเหลวผิดพลาดของระบบสายส่งไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของระบบพลังงานรวมศูนย์ของประเทศไทย คนนับล้านใน 14 จังหวัดภาคใต้ตกอยู่ในความมืดนับเป็นเวลาหลายชั่วโมงและความเสียหายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีเป็นจำนวนมหาศาล

เหตุการณ์วิกฤตในครั้งนี้ข่าวสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องสาเหตุและผลกระทบได้ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อกระแสหลักและสื่อสังคมออนไลน์และมีบทบาทสำคัญถ่ายทอดสถานการณ์และข้อเท็จจริงให้กับสังคม

แม้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นองค์กรระดับชาติที่ทำหน้าที่ควบคุมการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าของประเทศจะชี้แจงว่าสาเหตุมาจากระบบสายส่ง แต่กลับเน้นว่าหากไฟฟ้าไม่พอใช้ในภาคใต้ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าซึ่งรวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 870 เมกกะวัตต์ที่จังหวัดกระบี่

การชี้แจงของ กฟผ. ถูกโต้กลับโดยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงานโดยหยิบยกให้เห็นรากเหง้าของปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริหารจัดการพลังงานของประเทศที่ไร้ประสิทธิภาพและละเลยความสำคัญของพลังงานหมุนเวียนที่เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนตลอดจนความพยายามของรัฐบาลที่มุ่งเน้นระบบพลังงานขนาดใหญ่แบบรวมศูนย์บนมายาคติที่ว่าจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่นำไปตอบสนองการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น

มีคำถามหลายคำถามที่ยังคงค้างคาใจของผู้คน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยก็ยังคงเลี่ยงหรือตอบไม่ตรงประเด็น

ดังเช่นคำถามที่ว่า การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน (ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างเพราะกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าในภาคใต้ยังมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด) จะช่วยรับประกันว่า จะไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในอนาคตได้จริงหรือ แม้ในกรณีที่มีไฟฟ้าเพียงพอใช้ในภาคใต้

เห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์ไฟฟ้าดับสามารถเกิดขึ้นได้เนื่องมาจากการบริหารจัดการระบบสายส่งไฟฟ้า

หากพิจารณาให้กว้างออกไป “ไฟฟ้าดับสนิท (Blackout)” หรือ “ไฟฟ้าติด ๆ ดับ ๆ (Brownout)” เป็นโลกาภิวัตน์ของระบบพลังงานโลกที่มีรากฐานอยู่บนการผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ ไม่ว่าจะผูกขาดโดยรัฐหรือถูกยึดกุมโดยภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในอเมริกาและยุโรป หรือประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชียอย่างเช่นจีนและอินเดีย ประเทศนับร้อยทั่วโลกต่างเผชิญกับภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับสนิทด้วยกันทั้งนั้น

ที่น่าสนใจ คือภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับสนิทหลายกรณีทั่วโลกเกิดขึ้นมาจากการขาดแคลนเชื้อเพลิงที่ถือว่ามีเหลือเฟือที่สุดในโลกนั่นก็คือ “ถ่านหิน” !!!

ประเทศจีนต้องปล่อยให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน 50 แห่ง ทิ้งไว้เพราะว่าขาดแคลนถ่านหินที่นำมาป้อนเข้าระบบ ภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับสนิทในจีนที่เกิดขึ้นหลายครั้งเป็นภัยคุกคามการพัฒนาเศรษฐกิจ เขื่อนผลิตไฟฟ้าที่สร้างกั้นแม่น้ำในแถบเชิงเขาหิมาลัยของอินเดียไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพราะภัยแล้งอันมีสาเหตุจากสภาวะโลกร้อน อินเดียพยายามผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมและแผงเซลสุริยะเพิ่มมากขึ้น แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมขนานใหญ่ต้องนำถ่านหินจำนวนมหาศาลมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้านำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นและการขาดแคลนถ่านหินในระดับโลก

ที่แอฟริกาใต้ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ไม่ว่าจะเป็นเหมืองถ่านหิน เหมืองทองและเหมืองเพชร ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านพลังงานและการขาดแคลนไฟฟ้า

ในอังกฤษเองยังประสบกับภาวะไฟฟ้าดับเพิ่มขึ้นบ่อยครั้ง นักวิเคราะห์อธิบายโครงสร้างพื้นฐานการผลิตไฟฟ้าของประเทศว่าเป็นระบบพลังงานแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ห่วยแตกมาก ภาคอุตสาหกรรมประมาณว่าต้องใช้เงินลงทุนถึงแสนล้านปอนด์ในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการลงทุนโครงการของประเทศที่ผ่านมา

อุตสาหกรรมถ่านหินของอังกฤษซึ่งเคยมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าป้อนระบบสายส่ง ปัจจุบันหายไปโดยสิ้นเชิงอันเนื่องจากการหร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วของแหล่งถ่านหินที่เคยมีเหลือเฟือ

บางประเทศที่สามารถซื้อหาน้ำมันราคาแพงมาใช้นั้นไม่มีไฟฟ้าเพียงพอที่จะป้อนให้โรงกลั่นน้ำมันให้ทำงานได้ ประเทศร่ำรวยพลังงานอย่างเวเนซุเอลาและอิหร่านก็ไม่หนีไม่พ้นจากภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับได้ ถึงแม้ประเทศทั้งสองมีการส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานคาดการณ์ว่าภาวะวิกฤตไฟฟ้าดับจากระบบสายส่งไฟฟ้าจะเกิดถี่มากขึ้นอันเนื่องมาจากการขาดแคลนกำลังการผลิตและระบบสายส่งที่โบราณใกล้หมดอายุซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุง

ถ่านหินในสหรัฐอเมริกาที่เหมือนดูจะมีเหลือเฟือ จริง ๆ แล้ว อุตสาหกรรมถ่านหินในประเทศเริ่มส่งออกถ่านหินไปขายเพราะความต้องการถ่านหินในระดับโลกและราคาที่พุ่งสูงขึ้น ส่วนถ่านหินที่มาจากเหมืองถ่านหินในประเทศมีคุณภาพลดลง ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงพึ่งพาถ่านหินน้อยลงแม้ว่าการขุดทำเหมืองถ่านหินลึกลงไปในผิวโลกนั้นมีมากขึ้น

ไฟฟ้าที่ผลิตและนำมาใช้ทั่วโลกนั้นมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงถ่านหินราวร้อยละ 40 เป็นสัดส่วนที่มากกว่าเชื้อเพลิงใดๆ ที่เรานำมาผลิตไฟฟ้า จึงดูเสมือนว่าถ่านหินในโลกนั้นยังมีอยู่เหลือเฟือ ส่วนประเทศไทย สัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ในราวกว่าร้อยละ 20 ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 70 และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลและผู้วางแผนพลังงานของประเทศต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้มากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

ราคาถ่านหินในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงกลางปี พ.ศ. 2549 และ 2551 แหล่งถ่านหินที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะกลายเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงทางพลังงานของหลายประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาถ่านหินถึงขั้นเสพติด ปัญหาของการนำถ่านหินมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนและความไม่แน่นอนการในการขนส่งจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่แพงมากขึ้น

เราต้องไม่ลืมว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกาใต้ แหล่งถ่านหินในประเทศไทยที่สามารถขุดขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ามีอยู่กระจัดกระจายทางภาคเหนือ เหมืองลิกไนต์ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อสิ้นสุดอายุในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าจะเป็นเหมืองถ่านหินแบบเปิดที่ลึกที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยลึกลงไปในผิวโลกนับเป็นกิโลเมตร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเองก็มีความพยายามจะต่ออายุโรงไฟฟ้าลิกไนต์ที่แม่เมาะโดยการเปิดเหมืองถ่านหินใหม่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงราย ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีบริษัทบ้านปู มหาชน จำกัด อุตสาหกรรมถ่านหินยักษ์ใหญ่ของไทยร่วมทุนนั้นใกล้จะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีและส่งไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งไฟฟ้าอันหิวโหยของประเทศไทย

ถ่านหินที่อ้างว่าจะนำมาใช้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทยนั้นเป็นมายาคติที่สร้างขึ้นผ่านการประชาสัมพันธ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเรื่องโกหกกลายเป็นเรื่องที่ผู้คนต้องเชื่อคล้อยตามกันโดยไม่มีข้อสงสัย และผู้ที่มีข้อสงสัยก็ถูกประนามว่าเป็นผู้ขัดขวางความเจริญและการพัฒนา

ในระดับโลก แหล่งสำรองถ่านหินที่มีคุณภาพสูงอย่างแอนทราไซต์ บิทูมินัสและซับบิทูมินัสก็กำลังหร่อยหรออย่างรวดเร็วและกลายเป็นปัจจัยสำคัญของความล่าช้าในการขนส่งถ่านหินจากเหมืองในประเทศหนึ่งไปยังโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่ปลายทางในอีกประเทศหนึ่ง ความล่าช้าในการขนส่งได้เพิ่มต้นทุนและผนวเข้าไปในราคาไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย และความล่าช้าของการขนส่งถ่านหินก็เป็นสาเหตุหนึ่งของ “ภาวะไฟฟ้าดับสนิท” ที่เกิดขึ้นในจีนและอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาถ่านหินถึงขั้นเสพติดดังที่กล่าวมา

หากเรายังคงดำเนินไปตามกระแสปัจจุบันนี้ ผลที่ตามมานั้นยากที่จะประเมิน เว้นแต่ว่าสังคมไทยและสังคมโลกเองจะปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ด้านพลังงานที่แตกต่างเกือบจะโดยสิ้นเชิงกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อการหร่อยหรอของแหล่งสำรองถ่านหินที่นำมาผลิตไฟฟ้าและผลกระทบที่เป็นต้นทุนจริงของถ่านหินปรากฏชัดเจนแจ่งแจ้งในมโนทัศน์ของผู้คนและผลกระทบอันเลวร้ายแผ่ขยายเพิ่มขึ้นปีต่อปี ในอีกสองหรือสามทศวรรษข้างหน้า อารยธรรมของมนุษย์อาจจะเป็นถึงจุดที่เรียกว่า “ภาวะไฟฟ้าดับโดยสิ้นเชิง (final blackout)

การนำถ่านหินมาใช้ผลิตไฟฟ้าไม่ว่าในประเทศไทยหรือที่ใดในโลกล้วนแล้วแต่มีผลกระทบที่ทำลายล้างตั้งแต่โรคฝุ่นจับปอด(ของคนงานเหมือง) ไปจนถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจากไฟถ่านหินที่ลุกไหม้เอง และน้ำทิ้งจากเหมืองถ่านหินที่มีสภาพเป็นกรด รวมไปถึงภัยคุกคามจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมในชั้นบรรยากาศ หรืออันตรายที่มักถูกลืมที่เกิดจากเหมืองถ่านหินร้างและความพยายามในการฟื้นฟูสภาพเหมืองที่ไม่เคยสัมฤทธิ์ผล

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มาจากถ่านหิน หลายประเทศก็ยังคงมีแผนการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ ซึ่งหากแผนการเป็นไปตามนั้น จะทำให้การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากถ่านหินเพิ่มเป็นร้อยละ 60 ภายในปี 2573 แผนการดังกล่าวไม่เพียงแต่ขาดความยั่งยืนในอนาคตอย่างที่สุดแล้ว แต่เป็นแผนการที่ไม่จำเป็นและมีอันตราย

เรายังมีทางเลือกอื่นที่สามารถนำมาใช้ได้จริง  แผนการปฏิวัติพลังงานของกรีนพีซเสนอว่าเมื่อนำพลังงานหมุนเวียนมารวมเข้ากับประสิทธิภาพด้านพลังงานที่ดียิ่งขึ้น สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วโลกได้ถึงร้อยละ 50 ในระดับเดียวกันกับการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ทั้งยังช่วยให้เราสามารถลดการพึ่งพาถ่านหินลงไปอีกด้วย

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ช่วยให้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม แผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือโฟโตวอลเทอิก โรงไฟฟ้าชีวมวล และการทำความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Thermal Collectors) กลายมาเป็นเทคโนโลยีกระแสหลัก นอกจากนี้ ตลาดของพลังงานหมุนเวียนยังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกมีมูลค่านับแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงความสูญเปล่าจากระบบพลังงานแบบรวมศูนย์ได้ ด้วยการใช้มาตรการประสิทธิภาพพลังงานและเทคโนโลยีที่มีอยู่

เราจะเห็นได้ว่า แม้ว่าจีนและอินเดียจะเสพติดถ่านหินหนัก แต่ทั้งสองประเทศมีนโยบายและกฎหมายที่เข้มแข็งด้านพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพพลังงาน ในภาวะไฟฟ้าดับสนิท ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายและเกิดจากการวางแผนดับไฟฟ้าก็ตาม ไฟฟ้าจากลมและแสงแดดยังทำงานช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคม

การยุติยุคถ่านหินจึงเป็นแนวทางเดียวที่เราต้องทำ ต้นทุนผลกระทบภายนอกจากการนำถ่านหินมาผลิตไฟฟ้าทำความเสียหายให้กับภูมิอากาศ โลกของเราและสังคมนั้นสูงเกินกว่าที่จะแบกรับ ถ่านหินอาจจะมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ช่วงเวลานั้นได้ผ่านพ้นไปแล้ว เราต้องร่วมมือกัน “ปฏิวัติพลังงาน” ที่ขับเคลื่อนโดยการใช้้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและยั่งยืนและระบบพลังงานกระจายศูนย์ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจสีเขียว กู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเราทั้งในปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต


อ่านเพิ่มเติม
ไฟฟ้าดับทั่วใต้ กรีนพีซยัน “ถ่านหินไม่ใช่คำตอบ”




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2556   
Last Update : 27 พฤษภาคม 2556 9:09:36 น.   
Counter : 980 Pageviews.  


เมื่อชาวไทยรวมพลังกันบอกรักอาร์กติกให้ก้องโลก

ตอนนี้เราต่างรู้ดีว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอาร์กติกนั้นไม่ได้อยู่แค่เพียงในอาร์กติก แต่ทุกพื้นที่ ทุกประเทศ แม้แต่ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ในวันที่ 20 เมษายน 2556 นี้เอง ผู้คนทั่วโลกกว่า 10,000 คนจาก 280 เมืองทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นเมืองบัวโนสไอเรส คิรูนา หรือเคปทาวน์ ได้ออกมารวมตัวกันแปรอักษรภาพมนุษย์ (Human Banner) ร้อยเรียงเป็นคำว่า "I ♥ Arctic" หรือ เรารักอาร์กติก เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำทางการเมืองระดับโลกออกมาปกป้องอาร์กติกและกำหนดให้เป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติของโลก ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้อง อาร์กติก และร่วมเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์การบอกรักอาร์กติกที่โลกจะต้องจารึกไว้ใน ประวัติศาสตร์เช่นกัน!


วันนี้ยามเช้าของกรุงเทพฯ เริ่มต้นขึ้นเร็วเป็นพิเศษสำหรับชาวไทยหัวใจสีเขียว ทีมงานของกรีนพีซไปตั้งโต๊ะรอตั้งแต่เช้าเพื่อต้อนรับบรรดานักกิจกรรม เครือข่ายจักรยาน อาสาสมัคร นักกิจกรรมออนไลน์ เยาวชน นักศึกษา และประชาชนทุกคนที่ตั้งตารอให้วันนี้มาถึงไม่แพ้กัน..วันที่ทั่วโลกพร้อมใจบอกรักอาร์กติกเป็นเสียงเดียวกัน ไม่นานนักตัวแทนชาวไทยผู้ปกป้องอาร์กติกกว่า 200 คนก็มารวมตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน ณ จุดนัดหมายต่างๆ เพื่อร่วมกิจกรรมการขับเคลื่อนมวลชนครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลก “เรา ♥ อาร์กติก...รักครั้งนี้ต้องแสดงออกให้โลกรู้!"

ตลอดระยะทางที่ผู้มาร่วมกิจกรรมทั้งหมดที่มาจากหลากหลายจังหวัด ได้ร่วมขบวนรณรงค์ตั้งแต่สวนรถไฟ ท่าพระอาทิตย์ สนามหลวง วัดพระแก้วมรกตฯ ไปจนถึงสวนนาคราภิรมย์ (ท่าเตียน) มีผู้คนตลอดสองฝั่งถนนได้ให้ความสนใจถามไถ่ถึงที่มาที่ไปของการรณรงค์นี้ ถึงแม้ 'อาร์กติก' จะยังเป็นสถานที่ห่างไกลไปอีกซีกโลกและยังไม่คุ้นหูคนไทยสักเท่าไร แต่ท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุแม้จะยังไม่ถึงเวลาสิบนาฬิกาเช่นนี้ ชาวกรุงคงจะเข้าใจถึงความหมายของวิกฤตโลกร้อนได้เป็นอย่างดี และตระหนักได้มากขึ้นว่าการละลายของน้ำแข็งอาร์กติกนั้นไม่ใช่ปัญหาที่ไกลตัวอย่างที่คิด แต่เป็นสิ่งที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของโลกใบนี้เนื่องจากอาร์กติกเป็นเสมือนตู้เย็นของโลกที่รักษาระดับความเย็นของโลกทั้งใบไว้ และไม่ว่าประเทศไทยจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

การปกป้องอาร์กติกหมายถึงการปกป้องทุกสรรพชีวิตบนโลกและพวกเราทุกคน ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้มาร่วมกิจกรรมหลากหลายกลุ่มที่พร้อมใจมาร่วมตัวกันในวันนี้เพื่อร่วมกันรณรงค์ครั้งสำคัญระดับโลกกับการเรียกร้องให้ผู้ที่มีอำนาจระดับโลกและบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ยุติการทำลายอาร์กติกและหันมาปกป้องอาร์กติกด้วยการประกาศให้บริเวณขั้วโลกเหนือที่ไร้ผู้อยู่อาศัยเป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติของโลก ผ่านทางการแปรอักษรภาพมนุษย์เป็นรูปหัวใจขนาดใหญ่สื่อสารว่า "I Love Arctic" และเปล่งเสียงตะโกนออกมาว่า "เรารักอาร์กติก" พร้อมเพรียงกันกับอีกหลายหมื่นคนทั่วโลก และยังมีอีกหลายล้านเสียงจากทั่วโลกที่ร่วมกันลงนามรณรงค์ปกป้องอาร์กติก ซึ่งแน่นอนว่าทุกๆคน ทุกๆเสียงในวันนี้คงกำลังบอกรักอาร์กติกเป็นเสียงเดียวกัน ไม่ว่าจะพูดภาษาอะไรและอยู่ในชาติใด

"เรามารวมตัวในครั้งนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นกิจกรรมไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นการทำเพื่อโลก เราต้องการรณรงค์ให้ผู้นำที่มีอำนาจรับรู้ว่ายังมีคนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการทำลายอาร์กติก" นายสุทธิชัย สุศันสนีย์ ตัวแทนจากกลุ่มนักปั่นจักรยานกล่าว

ไม่ใช่เพียงแค่กรุงเทพฯเท่านั้น ชาวไทยในอีกหลายจังหวัดก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมบอกรักอาร์กติกเช่นเดียวกัน และในขณะเดียวกันนี้เมืองต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกก็กำลังจัดกิจกรรมแปรอักษรมนุษย์เพื่อรณรงค์ปกป้องอาร์กติกขึ้น ภาพถ่ายหลายร้อยภาพจากการแปรอักษรภาพมนุษย์ "เรา♥ อาร์กติก" นี้จะถูกรวบรวมเป็นรูปเล่มและส่งต่อให้กับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในกลุ่มอาร์กติกในการประชุมสภาอาร์กติก ที่เมืองคิรูนา ประเทศสวีเดน ในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อแสดงให้ผู้นำทางการเมืองเห็นว่าการเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อปกป้องอาร์กติกนั้นมีพลังเกินกว่าจะเพิกเฉยได้



การปกป้องอาร์กติกคือการปกป้อง 'บ้าน' ของเราและของเยาวชนคนรุ่นหลัง กิจกรรมรณรงค์ที่กรุงเทพฯเองจึงมีเยาวชนจำนวนเกือบร้อยคนให้ความสนใจเช่นกัน โดยหนึ่งในนั้น นายนที วลัญชพฤกษ์ ตัวแทนอาสาสมัครได้กล่าวถึงเหตุผลของการมาร่วมปกป้องอาร์กติกในครั้งนี้ว่า "สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องของคนทั้งโลกที่ต้องช่วยกันดูแล ในอนาคตผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงขึ้น การปกป้องอาร์กติกจึงเป็นการปกป้องโลกของเราเพื่อลูกหลานและคนรุ่นหลัง เสียงเล็กๆ ที่เราร่วมกันแสดงออกมาในวันนี้จะรวมกันกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่ร่วมกันบอกออกไปว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาปกป้องอาร์กติกและอนาคตของเราทุกคน"

ข้อความและภาพถ่ายจำนวนหลายร้อยหลายพันภาพจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกในวันนี้เป็นสารที่ประกาศออกไปว่าประชาชนกำลังเรียกร้องให้อาร์กติกได้รับการปกป้อง และเราจะไม่หยุดยั้งจนกว่าอาร์กติกจะได้รับการปกป้องอย่างถาวร การรวมพลังมหาชนระดับโลกคงไม่สามารถสำเร็จลุล่วงได้เช่นนี้หากปราศจากพลังของทุกคน และ"คุณ"นั่นเองที่เป็นผู้ปกป้องอาร์กติกเพื่อพวกเราทุกคน




 

Create Date : 21 เมษายน 2556   
Last Update : 21 เมษายน 2556 21:46:32 น.   
Counter : 1508 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com