กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

The story of a spoon เรื่องราวของช้อน



เขียน โดย Arin de Hoog

แปล โดย จันทร์นารี ถัดทะพงศ์ อาสาสมัครกรีนพีซ

"เมื่อคุณซื้อเฟอร์นิเจอร์ คุณบอกกับตัวเองว่า นี่จะเป็นโซฟาตัวสุดท้ายที่ฉันต้องการในชีวิต... แล้วก็ตามมาด้วยชุดจานชาม เตียงนอน ผ้าม่าน พรม และแล้วคุณก็ติดอยู่ในบ้านที่แสนน่ารักของคุณ สิ่งต่างๆ ที่คุณเคยเป็นเจ้าของ ตอนนี้มันได้เป็นเจ้าของคุณแล้ว" Chuck Palahniuk, Fight Club กล่าว

พวกเราหลายคนอาศัยอยู่ในโลกที่ความสุขคือการเลือกระหว่างขวดน้ำพลาสติก 17 ยี่ห้อ ถึงแม้ว่าน้ำที่ออกมานั้นจะเหมือนกันก็ตาม เราซื้อของที่ระลึกซึ่งมีที่ผลิตที่อยู่ห่างไกลจากสถานที่ที่เราซื้อมา เรากำลังหลงเสน่ห์กับสิ่งประดับเล็กๆน้อยๆ โดยที่เราก็รู้ว่าสิ่งที่มีมูลค่าต้องได้รับการห่อบรรจุภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงของไทเทเนียมถึง 3 ชั้น เราประดับตกแต่งสำนักงานของเราด้วยกระดาษ Post-it Notes และใช้เวลาอาบน้ำเป็นเวลานานหลังจากที่ตัวของเราก็สะอาดแล้ว

พวกเราวิ่งแข่งกันไปตามทางเดินในห้างสรรพสินค้า ยื่นมือออกไป แล้วกวาดสิ่งของต่างๆจากชั้นวาง ลงไปในรถเข็นช้อปปิ้ง พวกเราตระหนักรู้เพียงลางๆเท่านั้นว่ามีคนมากกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน เช่น น้ำและเครื่องนุ่งห่ม

พวกเราซื้อสิ่งของเพียงเพื่อความสะดวกสบาย โดยไม่ตระหนักเลยว่าการผลิตและการทำลายของเหล่านั้นไม่ง่ายเลยสักนิด

เรื่องราวของช้อนเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้คน เพื่อที่จะหยุดการวิ่งแข่งกันไปตามทางเดินในห้างสรรพสินค้า เดินช้าลงสักนิด  เพื่อใช้เวลาสักครู่คิดดูว่าเราซื้อสิ่งของต่างๆ มีกระบวนการผลิตอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งของเหล่านั้นเมื่อเราไม่ได้ใช้งานมันแล้ว

เป็นเรื่องของการถามตัวเราเองว่า เมื่อคุณพิจารณาถึงอดีตและอนาคตของสิ่งๆหนึ่ง ว่าจะมีทางเลือกที่ยั่งยืนมากขึ้นไหม เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจ การพึ่งพาซึ่งกันและกันของเรากับสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภคให้ดีขึ้น

เรากำลังเริ่มจะเข้าใจ และกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง เรากำลังลดการใช้ ใช้ซ้ำ และรีไซเคิลให้มากขึ้น ร้านขายของชำในหลายเมืองของหลายประเทศมีนโยบายไม่ให้ถุงพลาสติก และพวกเราก็มีการแลกเปลี่ยนเสื้อผ้ากันหรือส่งต่อเสื้อผ้าเหล่านั้นไปให้ผู้ที่ต้องการแทนที่จะทิ้งและเสพติดการช้อปปิ้งเสื้อผ้าใหม่

อันที่จริงแล้ว…จุดเริ่มต้นและจุดจบของสิ่งๆหนึ่ง มันขึ้นอยู่กับตัวคุณ



ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 07 เมษายน 2559   
Last Update : 7 เมษายน 2559 10:42:35 น.   
Counter : 904 Pageviews.  


สัมภาษณ์(ผู้เชี่ยวชาญ)หมีขั้วโลก



เขียน โดย Larissa Beumer

มาร่วมกัน เรียนรู้เกี่ยวกับหมีขั้วโลกที่แสนมหัศจรรย์จากนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาหมีขั้วโลกมาหลายทศวรรษ

Thor S. Larsen ผู้ริเริ่มการวิจัยหมีขั้วโลก เขาทำงานในสาขาวิชาการตั้งแต่ พ.ศ.2508 ที่ Norwegian Polar Institute จากนั้นเขาก็กลายเป็นสมาชิกของ สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)

 และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องหมีขั้วโลก (Polar Bear Specialist) เมื่อ พ.ศ.2511 ถึง พ.ศ.2528 ในการทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เขาได้ริเริ่มเสนอข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการอนุรักษ์หมีขั้วโลกและได้ลงนามใน พ.ศ.2516

หลังจากการไปเยือนอาร์กติกนานกว่า 50 ปี เขาได้อธิบายความรู้สึกของเขาถึงภูมิภาคนั้นว่าเป็น “เรื่องราวความรักที่ไม่มีวันสิ้นสุด”

Larissa Beumer นักรณรงค์อาร์กติกของกรีนพีซเยอรมนี ได้สัมภาษณ์เกี่ยวกับงานของเขา


การศึกษาหมีขั้วโลกใน พ.ศ.2508 มีลักษณะเป็นอย่างไร?

ณ เวลานั้น เราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับหมีขั้วโลก เราไม่รู้ว่าหมีขั้วโลกในอาร์กติกนั้นเป็นประชากรกลุ่มเดียวกันทั้งหมดหรือเป็นประชากรที่แตกต่างกัน มีจำนวนเท่าไหร่ หรือวิธีการอพยพหรือชีววิทยาประชากรของพวกเขา เช่น การสืบพันธุ์หรืออัตราการเสียชีวิต

การประชุมทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกที่ Fairbanks มีความกังวลอย่างชัดเจนว่าหมีขั้วโลกถูกล่ามากเกินไปในหลายพื้นที่ แต่ไม่มีประเทศใดสามารถให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับจำนวนของหมีขั้วโลกในอาร์กติกได้ การประมาณจำนวนประชากรของหมีขั้วโลกในบางพื้นที่อยู่ระหว่าง 5,000 และ 19,000 ตัว แม้ว่าจำนวนที่สูงที่สุดที่ได้บันทึกไว้คือ 25,000 ตัว แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียง “การคำนวณอย่างคร่าวๆ” มากกว่าการขึ้นอยู่กับการประมาณการที่อยู่บนพื้นฐานจากข้อมูลตามหลักวิทยาศาสตร์

ย้อนกลับไปใน พ.ศ.2510 เราเริ่มระบบการวิจัยหมีขั้วโลกใน Svalbard เราจับหมีขั้วโลก และทำสัญลักษณ์ที่หู เก็บตัวอย่างที่หลากหลาย และลงไปสำรวจในหลายพื้นที่ เพื่อที่จะนับจำนวนจากบนเรือและเครื่องบิน นอกจากนี้เรายังคุยกับนักล่าสัตว์เพื่อรวบรวมข้อมูลอีกด้วย

การลงสำรวจในสมัยก่อนมีความแตกต่างมากกับในปัจจุบัน 15 ปีที่ผ่านมา เราไป Kong Karls Land โดยใช้เพียงสกีที่ปราศจากเครื่องยนต์ ครั้งหนึ่งฉันเคยพักอยู่ที่ Edgeoya เป็นเวลา 16 เดือน เพื่อทำการสำรวจใช้แค่เพียงสุนัขเลื่อน ในพ.ศ.2516 เราเดินทางไปกับหน่วยลาดตระเวนซีเรียสในกรีนแลนด์ตามชายฝั่งตะวันออกเพื่อศึกษาหมีขั้วโลกที่นั่น การเดินทางสำรวจทั้งหมดนี้ เรามักจะพักที่กระท่อมขนาดเล็ก ประมาณ 4-5 ตารางเมตรเท่านั้น และเดินทางด้วยสกีทุกวัน คุณต้องทำทุกอย่างด้วยตัวคุณเอง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์และโหดร้ายอย่างแท้จริง

ภาพโดย Thor S. Larsen

ทำไมคุณถึงต้องการศึกษาเกี่ยวกับหมีขั้วโลก?

เราไม่รู้อะไรเกี่ยวกับหมีขั้วโลกเลย จึงเป็นความท้าทายทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง และผมรู้สึกหลงใหลอาร์กติกมาก ฉันเคยอยู่ที่นั่นเพื่อทำงานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับนก คุณจะตกหลุมรักเมื่อคุณทำงานกับหนึ่งในบรรดาสัตว์ที่สวยงามและน่าทึ่งของโลก ผมโชคดีมากๆที่ได้ทำงานนี้

ภาพโดย Thor S. Larsen

คุณเคยเห็นหมีขั้วโลกมามากแค่ไหนแล้วในชีวิต?

ผมเคยเห็นหมีขั้วโลกมามากกว่า 2,000 ตัว จากนั้นผมก็หยุดนับ แต่เมื่อผมเห็นอีกครั้งในวันนี้ มันช่างสวยงามเหมือนครั้งแรกที่ผมเคยเจอ

การเผชิญหน้ากับหมีขั้วโลกที่น่าจดจำที่สุดของคุณเป็นอย่างไร?

ผมอธิบายไม่ถูกเลย อาจจะเป็นเวลาที่เราทำการสำรวจถ้ำของหมีตัวเมียด้วยสกี คุณจะได้สังเกตหมีตัวเมียกับลูกตัวเล็กๆของมันออกจากถ้ำเป็นครั้งแรก หลังจากที่ใช้เวลาหลายเดือนในการอดอาหาร มีเพียงการให้กำเนิดและการดูแลลูกที่เพิ่งเกิด ลูกๆของมันจะเริ่มเล่นและสำรวจโลกใหม่ มันมองมาที่คุณ คุณก็มองไปที่พวกมัน ช่วงเวลานั้นมันวิเศษมากจริงๆ

คุณจะรู้สึกอ่อนน้อมมากขึ้น เมื่อคุณทำงานที่อาร์กติกเป็นเวลาหลายปี และคุณจะเคารพธรรมชาติอย่างแท้จริง

 ภาพโดย Thor S. Larsen

ข้อตกลงของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN)ว่าด้วยการปกป้องหมีขั้วโลกในพ.ศ.2516 เป็นอย่างไร?

IUCN ได้ก่อตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านหมีขั้วโลก (Polar Bear Group) ใน พ.ศ.2508 เขาส่งคำเชิญส่วนตัวให้กับผู้เชี่ยวชาญด้านหมีขั้วโลกในสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา แคนาดา เดนมาร์ก และนอร์เว ผมโชคดีที่ได้เป็นหนึ่งในนั้น

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเล็กๆ มีเพียงตัวแทนสองคนจากห้ารัฐในอาร์กติกและสำนักเลขาธิการขนาดเล็ก เราตัดสินใจที่จะจัดประชุมเล็กๆ   โดยมีเพียงผู้แปลภาษารัสเซียเป็นภาษาอังกฤษจากพนักงานของ IUCN ที่เหลืออยู่ในห้อง การนำเสนอและการปรึกษาหารือมีความตรงไปตรงมาและเปิดเผย เราท้าทายกันและกันเกี่ยวกับผลการวิจัยและการจัดการคำแนะนำ

การประชุมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2511 หลังจากการประชุมนั้นทำให้เห็นว่ามีความจำเป็นในการประชุมนานาชาติหรือข้อตกลงในการอนุรักษ์หมีขั้วโลก และเราติดตามการสนับสนุนนี้ในการประชุมครั้งต่อไปใน พ.ศ.2513 และ พ.ศ.2515

ในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ IUCN ไม่ได้รับอนุญาตในการดำเนินการในข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่ด้วยความช่วยเหลือของการวิจัยของเรา เราสามารถจัดทำร่างข้อตกลงระหว่างห้ารัฐในอาร์กติกได้

ห้าประเทศในอาร์กติกได้ลงนามในข้อตกลงในการอนุรักษ์หมีขั้วโลกใน พ.ศ.2516 และมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ.2519 ข้อตกลงโดยทั่วไปมีการห้ามฆ่าหมีขั้วโลกทุกกรณีโดยไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมายในประเทศและต่างประเทศ แต่มีข้อยกเว้นหนึ่งคือการล่าสัตว์แบบดั้งเดิมโดยชนพื้นเมือง เพื่อการดำรงชีวิตของพวกเขา

การกำหนดวัน เรียกว่าเป็นกรณีที่สำคัญของการร่วมมือระหว่างประเทศ ผมดีใจที่ผมสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิบัตินั้นและมีผลบังคับใช้ก่อนที่มันจะสายไป ก่อนที่ประชากรหมีขั้วโลกจะอยู่ในขั้นวิกฤต เพราะการล่าที่มากเกินไป

สิ่งใดที่เป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวงที่สุดต่อหมีขั้วโลกในปัจจุบันนี้ ?

ข้อตกลงที่ถูกลงนามใน พ.ศ.2516 เราคิดว่าหมีขั้วโลกได้รับการคุ้มครองตลอดไปแล้ว แต่วันนี้พวกมันเผชิญหน้ากับความท้าทายที่แตกต่างจากการล่าสัตว์โดยสิ้นเชิง

ทะเลน้ำแข็งกำลังถดถอยและน้อยลง ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับหมีขั้วโลกที่จะล่าแมวน้ำ สิ่งนี้มีผลต่อร่างกายของหมีขั้วโลก เมื่อหมีติดอยู่ที่ชายฝั่งในหน้าร้อน เมื่อทะเลน้ำแข็งลอยไปทางเหนือ มันสามารถมีชีวิตรอดโดยปราศจากอาหารได้ประมาณ 6 เดือน แต่หลังจากนั้นสุขภาพของพวกมันก็จะไม่สมบูรณ์ และพวกมันก็จำเป็นต้องใช้ไขมันสำรอง หมีบางส่วนก็กำลังตั้งครรภ์ เมื่อให้กำเนิดลูก ลูกๆของพวกมันจะมีน้ำหนักเพียง 500 กรัม เมื่อพวกมันออกจากถ้ำที่คลอดลูกในฤดูใบไม้ผลิ พวกมันจะมีน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม หมีตัวเมียต้องเลี้ยงดูลูกให้ถึงน้ำหนักนี้จากน้ำหนักร่างกายของพวกมัน หากแม่หมีไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอเพื่อใช้สะสมไขมันที่จะสามารถใช้เลี้ยงลูกหลังคลอดในช่วงฤดูร้อนได้ พวกมันอาจจะแท้งหรือทารกในครรภ์อาจถูกดูดกลับเข้าไปเพื่อให้ตนรอดชีวิต และจะไม่สามารถมีลูกได้ในปีนั้น และน้ำแข็งที่น้อยลงก็มีผลต่อการสืบพันธุ์ของพวกมันอีกด้วย

การที่ทะเลน้ำแข็งหายไปยังมีผลต่อพื้นที่ของถ้ำที่ใช้คลอดลูก ถ้ำที่หมีขั้วโลกมักจะใช้คลอดลูกคือบนเกาะ เช่น เกาะ Wrangel ในประเทศรัสเซีย หรือ Hopen และ Kong Karls Land ใน Svalbard อย่างไรก็ตาม หากอาณาเขตทะเลน้ำแข็งไปไม่ถึงเกาะเหล่านี้ในฤดูใบไม้ร่วง หมีตัวเมียก็จะไม่ไปคลอดลูกที่นั่น

เมื่อผมทำการวิจัยที่ Kong Karls Land ใน พ.ศ. 2515 และ พ.ศ.2528 ในฤดูใบไม้ผลิมักจะมีอัตราการคลอดประมาณ 40-50 ตัว และแต่ละปีจำนวนถ้ำก็เพิ่มขึ้น นั่นเป็นผลจากการอนุรักษ์หมีขั้วโลกใน Svalbard ฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ.2552 หลังจากที่ฤดูหนาวมีน้ำแข็งในอัตราที่ปกติ เพื่อนร่วมงานของฉันก็พบอีก 25 ถ้ำ ในฤดูใบไม้ร่วง พ.ศ.2553 น้ำรอบๆ Kong Karls Land ก็ปราศจากน้ำแข็ง ต่อมาในฤดูใบไม้ผลิ เราพบอีก 13 ถ้ำ ฤดูใบไม้ร่วงต่อมา น้ำก็ปราศจากน้ำแข็งอีกครั้ง และมีการพบถ้ำอีกเพียง 5 ถ้ำในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ.2555 เรากำลังสังเกตภาพเดียวกันนี้ในสถานที่อื่นๆอย่างเต็มที่ เพื่อนของฉันที่ทำงานบนเกาะ Wrangel บอกฉันว่าใน พ.ศ.2513 โดยปกติในแต่ละปีจะมีถ้ำ 300-400 ถ้ำ แต่ในปีที่ผ่านมานี้ มีถ้ำเพียง 30-40 ถ้ำเท่านั้น หากนี่จะกลายเป็นเรื่องปกติ ก็หมายความจะมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นน้อยมากในประชากรหมีขั้วโลก และนั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเอาซะเลย

ปัญหาใหญ่อีกเรื่องก็คือมลภาวะสารพิษปนเปื้อนข้ามพรมแดนจำนวนมหาศาล เช่น สารมลพิษที่ตกค้างยาวนานและโลหะหนัก ซึ่งจะสะสมในห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นหมีขั้วโลกจะมีความเสี่ยงมาก เพราะมันอยู่ด้านบนของห่วงโซ่อาหาร นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสิ่งนี้มีผลต่อการสืบพันธุ์ของพวกมัน แต่เรายังไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ แต่อย่างน้อยเราทราบดีว่า มลพิษของหมีขั้วโลกใน Svalbard นั้นสูงมาก

ภาพโดย Thor S. Larsen

สถานการณ์ของประชากรหมีขั้วโลกในปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ตามข้อมูลที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ (Specialist Group) ประกาศใน พ.ศ.2555 การเพิ่มขึ้นประชากรหมีขั้วโลกจำนวนมากกำลังลดลง มีเพียงเล็กน้อยที่ยังเพิ่มขึ้นในระดับปกติ แต่ข้อมูลอีกครึ่งหนึ่งของอาร์กติกยังไม่เพียงพอ ตามข้อมูลระบุว่าประชากรหมีขั้วโลกกลุ่มหนึ่งเพิ่มขึ้น  แต่เป็นข้อมูลจาก พ.ศ.2543 โดยปกติเราต้องการข้อมูลที่ดีกว่า เพื่อทำให้การประมาณนั้นเชื่อถือได้

คุณคิดว่าหมีขั้วโลกจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่?

ผมไม่รู้ มีการถกเถียงมากมายเกี่ยวกับหมีขั้วโลกแต่ละสายพันธุ์เกิดขึ้นมานานแค่ไหนแล้ว ปัจจุบันนี้เราคิดว่าหมีขั้วโลกดำรงชีวิตมาเป็นเวลา 600,000 ปี บนโลก ในระยะ 600,000 ปีนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นมาก รวมถึงระยะเวลาที่น้ำแข็งได้ลดน้อยลง บางทีหมีขั้วโลกอาจปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตได้  แต่เราก็ทำได้แค่คาดเดาเท่านั้น นอกจากนี้มันขึ้นอยู่กับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบด้านลบอื่นๆ เช่น มลพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชากรหมี นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย

มลพิษและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่งและเราสามารถแก้ไขได้ในระดับนานาชาติ เราจำเป็นต้องจัดการปัญหาเหล่านี้ให้ได้ แต่ยังเฝ้าดูผลกระทบด้านลบอื่นๆ เช่น ควบคุมการล่าสัตว์ที่ผิดกฎหมายอย่างน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลูกหมีขั้วโลกและตัวที่อายุครบ 1 ปีจะไวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ดังนั้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเคลื่อนย้ายควรจะถูกห้ามทั้งในและรอบๆพื้นที่ถ้ำ และควรจะมีการสำรวจถ้ำตามฤดูกาลปกติและการตรวจสอบการสืบพันธุ์ในประชากรหมีขั้วโลกด้วย

ภาพโดย Thor S. Larsen

มีแรงบันดาลใจที่จะทำเพื่อหมีขั้วโลกแล้วหรือยัง? ร่วมลงชื่อเพื่อปกป้องอาร์กติกที่นี่

Larissa Beumer นักรณรงค์ด้านอาร์กติกของกรีนพีซเยอรมนี เธอได้สัมภาษณ์ Thor S. Larsen ใน พ.ศ.2558

เรื่องราวการสัมภาษณ์นี้ ต้นฉบับถูกตีพิมพ์โดยกรีนพีซเยอรมนี


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 05 เมษายน 2559   
Last Update : 5 เมษายน 2559 10:17:17 น.   
Counter : 1115 Pageviews.  


การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ คือการส่งต่อมรดกชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด



เขียน โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์

“บนโลกใบนี้ จะมีสิ่งอื่นใดที่มั่นคงไปกว่าอาหารความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งแวดล้อม คือความมั่นคง ความงดงาม การมีชีวิตอยู่อย่างอิสระ ในวันนี้เราแทบจะไม่เหลือพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์หลากหลายพอที่ลูกหลานจะอยู่ได้ ต่อไปเวลาลูกหลานเราจะกิน เราอาจต้องจ่ายลิขสิทธิ์ เราไม่เคยซื้อขายเมล็ดพันธุ์ แต่ในอนาคตหากเมล็ดพันธุ์ตกอยู่ในลิขสิทธิ์ของจีเอ็มโอจะแพงยิ่งกว่าทองคำ”

--- คุณโจน จันได ผู้ก่อตั้งพันพรรณศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์

เคยไหมที่ซื้อเมล็ดพันธุ์พืชที่ระบุข้างซองไว้ว่า “ไฮบริดจ์ F1” และไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อด้วยเมล็ดได้  หรือหากได้ก็จะไม่ให้ผลผลิตที่สมบูรณ์ หนึ่งในจุดประสงค์สำคัญในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์จำพวกนี้ก็คือเพื่อให้เราซื้อเมล็ดพันธุ์จากผู้ขายทุกครั้งที่เราจะปลูก นี่คือการผูกขาดของเมล็ดพันธุ์โดยภาคอุตสาหกรรม ที่ทำให้เราจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ทั้งที่เมล็ดพืชคือของขวัญจากธรรมชาติที่เราทุกคนควรมีสิทธิที่จะปลูกและขยายพันธุ์ ไม่ใช่ถูกจำกัดเป็นเพียงสมบัติของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง 

การผูกขาดเมล็ดพันธุ์เช่นนี้คือลักษณะที่ปรากฎอยู่ในเมล็ดพันธุ์พืชจีเอ็มเช่นกัน ในขณะที่อุตสาหกรรมจีเอ็มโอกำลังสร้างมายาคติว่าพืชจีเอ็มโอคือทางออกของเกษตรกรรมโลก แต่ที่จริงแล้วคำลวงนี้กลับเป็นสิ่งที่คุกคามและทำลายความมั่นคงและหลากหลายของพืชพรรณอาหารของไทย ทางออกที่แท้จริงคือเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เป็นภูมิปัญญาไทยแท้ดั้งเดิมของเรา ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายของพืชพรรณ และการปลูกเพื่อเป็นอาหารไม่ใช่เพื่อป้อนระบบอุตสาหกรรม  หลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะทำการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุดเพื่อนำมาเพาะปลูกในฤดูการถัดไป วิธีการเช่นนี้เองที่ทำให้ประเทศไทยมีสายพันธุ์พืชชั้นดีจำนวนมาก  การคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีนี้คือแนวทางที่คุณโจน จันได  (ผู้ก่อตั้งพันพรรณศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์) พยายามถ่ายทอดให้กับผู้สนใจเพื่อรักษาความมั่นคงหรืออธิปไตยทางอาหารให้กับคนรุ่นต่อไป

ความสำคัญของการเก็บเมล็ดพันธุ์ และความมั่นคงทางอาหาร

คุณโจน จันได  ได้กล่าวไว้ว่า “เมล็ดพันธุ์คืออาหาร อาหารคือชีวิต ไม่มีอาหารก็ไม่มีชีวิต เมล็ดพันธุ์จึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแยกกันไม่ได้ หากเมล็ดพันธุ์หายไป ชีวิตเราก็จะแย่ลง” พันพรรณศูนย์เรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ คือแนวทางการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรสามารถทำได้เอง ด้วยการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาด้วยตนเอง โดยผลของการพัฒนาด้วยวิธีการที่ไม่พึ่งพาการดัดแปลงพันธุกรรม คือความหลากหลายของสายพันธุ์เนื่องจากแต่ละคนพัฒนาเมล็ดพันธุ์ออกมาได้แตกต่างกัน ดังที่พันพรรณได้เผยแพร่อบรมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น แสดงให้เห็นว่าไม่ยากเกินไป ต่างจากที่บริษัทสามารถทำได้เพียงไม่กี่พันธุ์  และปัจจุบันเมล็ดพันธุ์มีราคาสูงมาก การมีเมล็ดพันธุ์จึงช่วยลดต้นทุนได้มหาศาล และการหายไปหรือการผูกขาดของเมล็ดพันธุ์นั้นเชื่อมโยงกับสุขภาพ เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางอาหาร 

“พืชแต่ละพันธุ์จะมีการทนทานโรคระบาด ฝนแล้ง สภาพอากาศอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป แต่เมื่อเน้นพัฒนาเพียงแค่สายพันธุ์เดียว เมื่อเผชิญกับวิกฤตอะไรสักอย่าง ก็จะจบ ความมั่นคงก็จะลดน้อยลง เมล็ดพันธุ์เป็นความมั่นคงของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ทุกอย่างอยู่ได้ด้วยความหลากหลายของสรรพสิ่ง ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด วันนี้ชีวิตเรากลับไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของบริษัทไม่กี่บริษัท เราได้กินพืชพันธุ์อาหารเพียงไม่กี่พันธุ์ เพราะบริษัทเป็นเจ้าของพันธุ์เหล่านั้น ซึ่งไม่ได้พัฒนามาเพื่อคนกิน แต่เพื่อยึดครองตลาดเป็นหลัก” คุณโจน จันได  กล่าว

“แหล่งที่อยู่อาศัยของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านถูกลบออก ถูกแย่งที่โดยข้าวโพดบริษัท ผืนดินแย่ลง มีการคัดพันธุ์เหล่านั้นให้ชอบปุ๋ยยี้ห้อนี้ ยาฆ่าแมลงนี้เป็นหลัก ทำให้ต้นทุนสูงแต่คุณภาพห่วย เกษตรกรเป็นหนี้มากขึ้น พันธุ์พืชสัตว์ในปัจจุบัน ถึงเบียดบังโดนบริษัท เมื่อเกษตรกรปลูกพันธุ์แท้ ก็ไม่มีใครรับซื้อ เมื่อเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้ปลูกในสองปี ก็จะไม่งอกอีก การพัฒนาพันธุ์ในปัจจุบันจึงน่าเป็นห่วง สิ่งนี้เป็นการชี้ชะตาว่ามนุษยชาติจะอยู่ได้อีกนานเท่าไหร่ ในวันนี้เราไม่เหลือความหลากหลายพอที่จะพึ่งพาได้”

นอกจากนี้ คุณโจน จันได ยังเสริมว่า เมล็ดพันธุ์ไฮบริดจ์และจีเอ็มโอเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือการปนเปื้อนของจีเอ็มโอในเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และทางอ้อมคือเป็นการบีบให้คนปลูกจีเอ็มโอไปด้วยเนื่องจากกลัวผลกระทบที่ตามมาจากการถูกปนเปื้อน ดังที่เห็นในกรณีที่เกษตรกรทั่วโลกถูกฟ้องร้องและแพ้คดีความให้กับบริษัทจีเอ็มโอ 

คุณโจนเล่าว่า “แต่ก่อนผมเป็นเด็ก เรากินข้าวแต่ละมื้อไม่ต่ำกว่า 5 สายพันธุ์ การกินอะไรที่หลากหลายคือความมั่นคงยั่งยืนของชีวิต ได้สารอาหารหลายชนิด การกินชนิดเดียว คือได้อาหารชนิดเดียว ถึงแม้จะมีเงินมาก แต่เป็นโรคขาดสารอาหารกันโดยไม่รู้ตัว การที่หายไปของเมล็ดพันธุ์ทำให้เราเหลือพันธุ์พืชเพียงไม่กี่พันธุ์ และที่เหลืออยู่นั้น อุตสาหกรรมกลับเลือกพันธุ์ที่ผลิตได้จำนวนมากในระยะเวลาสั้นเท่านั้น เป็นการเน้นที่ปริมาณไม่ใช่สารอาหาร”

เมล็ดพันธุ์ มรดกแห่งชีวิต ไม่ควรเป็นลิขสิทธิ์ของอุตสาหกรรม

คุณโจน จันได  กล่าวไว้ว่า “การยึดครองอาหารอย่างเดียว คือการยึดครองโลกได้ทั้งโลก นั่นหมายความว่าข้าวทุกคำที่ป้อนให้ปาก ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัททั้งหมด การถูกผูกขาดทางเมล็ดพันธุ์ และการถูกตัดขาดความเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคและผู้ปลูกนั้นถือเป็นวิกฤตของธรรมชาติ การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ คือการส่งต่อมรดกชีวิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ‘มะม่วงนี้อร่อย เก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อให้ลูกหลานกิน’ นี่คือการส่งต่อมรดกชีวิต” เมื่อคนปลูกไม่รู้จักกับคนกิน ความใส่ใจในการปลูกอย่างปลอดภัยก็จะขาดหายไปเช่นกัน เราต้องรวมตัวกัน เชื่อมต่อกันให้ได้ระหว่างคนปลูกและคนกิน และสิ่งสำคัญของการรู้ที่มาของอาหารและกระบวนการตลอดห่วงโซ่การผลิต คือการดูแลสุขภาพของเราเอง เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะดำรงอยู่ได้ต้องพึ่งพาอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ 

ปัจจุบันนี้ภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศเท่าที่ควร แต่กลับสนับสนุนการใช้สารเคมี ดังเช่นกรณีที่ปุ๋ยเคมีไม่ต้องจ่ายภาษี มีการตัดป่ามากขึ้นเพื่อทำพื้นที่ทางการเกษตร แต่เกษตรกรที่เพาะปลูกเชิงนิเวศไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ อีกทั้งมายาคติของจีเอ็มโอที่กล่าวอ้างว่าให้ผลผลิตสูง ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นนั้น แท้ที่จริงแล้ว พืชที่โตเร็วจะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก จำเป็นต้องมีอาหารเลี้ยงเพียงพอเพื่อที่จะได้ผลผลิต นอกจากนี้ยังมีกระแสการต่อต้านจีเอ็มโออยู่เสมอ ในขณะที่ไม่เคยมีใครปฏิเสธอาหารอินทรีย์ ที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรจะรับฟัง เพราะทางออกที่เป็นความหวังของประเทศไทยที่แท้จริง คือพันธุ์พืชอันหลากหลายของเรา ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์คือเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของไทย 

“ขนาดยังไม่เป็นจีเอ็มโอ เราก็ได้กินพืชผักที่น้อยชนิดอยู่แล้ว เราก็ได้กินแค่คะน้า ผักบุ้ง กะหล่ำ แต่หากเป็นจีเอ็มโอ เราจะได้กินเพียงถั่วเหลืองและข้าวโพด มันน่าเสียดายว่าเมืองไทยมีมันมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่เราได้กินแค่มันฝรั่ง ประเทศไทยมีพืชพันธุ์ดีๆ จำนวนมากที่ไม่ต้องแข่งขันกับใคร การเก็บเมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งเร่งด่วนที่เราต้องทำในวันนี้ ก่อนที่จะสาย ทุกคนมีสิทธิที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ คนเมืองคือผู้บริโภค ถ้าคนเมืองสนับสนุนเกษตรกรที่ทำอินทรีย์ เก็บเมล็ดพันธุ์ จะทำให้เกษตรกรเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีคนต้องการ เขาก็จะปลูกมากขึ้น ช่วยกันเก็บ ช่วยกันกิน เก็บไว้ในวิถีชีวิต ไม่ใช่ในห้องเย็น ต้องเก็บวิธีปลูก กิน ใช้ และกินอะไรที่หลากหลายมากขึ้น นั่นคือความมั่นคงสูงสุดในชีวิต” คุณโจน จันไดกล่าวทิ้งท้าย


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 04 เมษายน 2559   
Last Update : 4 เมษายน 2559 12:15:01 น.   
Counter : 928 Pageviews.  


[ภาพ] พรมแดนอาร์กติก : ธรรมชาติที่แสนอัศจรรย์แห่งดินแดนขั้วโลกเหนือ

เขียน โดย Angela Glienicke

มหาสมุทรอาร์กติก คือมหาสมุทรที่แสนเปราะบางของขั้วโลกเหนือ ภาพเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคนั้น และทำให้อดคิดไม่ได้ว่า หากกองทัพอุตสาหกรรมประมงเดินหน้าไปทางขั้วโลกเหนือเพื่อใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทากทะเล นางฟ้าทะเลตัวใสแจ๋ว และนาร์วาลหรือยูนิคอร์นแห่งท้องทะเลจะอาศัยอยู่ที่ไหน

นาร์วาลขณะกำลังเจาะแผ่นน้ำแข็ง © Glenn Williams / National Institute of Standards and Technology

การละลายของน้ำแข็งในทะเลเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เรือประมงสามารถเดินทางไปยังพื้นที่ในอาร์กติกที่ในอดีตไม่สามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

ร่วมลงชื่อปกป้องน่านน้ำมหาสมุทรอาร์กติกรอบเกาะสฟาลบาร์(Svalbard)

ชายฝั่งทางตอนใต้ของ Kongsfjorden ประเทศนอร์เวย์  

© Nick Cobbing / Greenpeace 2014

ฝูงวาฬเบลูกาในทะเลชุกชี  © Vicki Beaver / NSB

Bjørnoya ในภาษานอร์เวย์มีความหมายว่า “เกาะหมี” แต่เป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นหมีขั้วโลกบนนั้น เกาะนี้อยู่ทางตอนเหนือของทะเลแบเร็นตส์ที่อยู่ระหว่างสฟาลบาร์และแผ่นดินนอร์เวย์  เกาะอาร์กติกเป็นที่อยู่อาศัยที่สำคัญของนกทะเล โดยเฉพาะนกทะเล Guillemot ซึ่งนกชนิดนี้จะใช้หน้าผาสูงเพื่อเลี้ยงลูกและให้อาหารในน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์มากจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรในบริเวณใกล้เคียง

© Nick Cobbing / Greenpeace 2014

หมีขั้วโลกบนหินที่ปกคลุมไปด้วยมอสบนเกาะ Karl-XII-Island ที่สฟาลบาร์

© Larissa Beumer / Greenpeace 2013

นก Doveky บนหินที่ภูเขา Ingeborgfjellet บนเกาะสฟาลบาร์

© Bernd Roemmelt / Greenpeace 2008

ก้อนน้ำแข็งสีครามจากการแยกตัวของธารน้ำแข็ง ที่ Fjortonde julibreen บนเกาะสฟาลบาร์

© Christian Åslund / Greenpeace 2014

วาฬหัวคันศร / วาฬหัวบาตร ใต้น้ำแข็งที่อาร์กติก 

© Nature Picture Library / Alamy Stock Photo

ปลาค็อดแอตแลนติก

© Joachim S. Müller CC

แมงกะพรุน scyphozoan ในอาร์กติก

© Alexander Semenov

ทากทะเลหรือนางฟ้าทะเล (Sea Angel) ในอาร์กติก

©Alexander Semenov

วาฬเบลูกาหรือวาฬขาว

© Andrea Izzotti / Shutterstock

แม่หมีขั้วโลกและลูกเดินอยู่บนทะเลน้ำแข็ง ทางตอนเหนือของสฟาลบาร์

© Larissa Beumer / Greenpeace 2013

แสงเหนือ (aurora borealis) บนเมืองกราฟดัล เกาะโลโพเทน ประเทศนอร์เวย์ สถานที่ที่เก่าแก่นี้ถูกคุกคามจากอุตสาหกรรมประมงแบบทำลายล้าง

© Christian Aslund / Greenpeace


แปลโดย นางสาวชนนิกานต์ วาณิชยพงศ์  อาสาสมัครกรีนพีซ

ที่มา : Greenpeace Thailand




 

Create Date : 24 มีนาคม 2559   
Last Update : 24 มีนาคม 2559 10:07:03 น.   
Counter : 1291 Pageviews.  


สงครามน้ำของอุตสาหกรรมถ่านหิน

เขียน โดย จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP 21) ซึ่งเป็นการเจรจาระหว่างผู้นำประเทศจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก วันนี้ผู้นำและประชาชนหลายประเทศกำลังขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และแน่นอนว่าเชื้อเพลิงถ่านหินตกอยู่ในภาวะความขัดแย้งตั้งแต่การวางแผนจัดการพลังงานและการจัดการผลกระทบที่เกินกว่าจะเรียกคืน

พื้นที่แห้งแล้งใน Maharashtra ประเทศอินเดีย

วิกฤตน้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนน้ำผลักดันให้รัฐบาลของหลายประเทศจำต้องหันกลับมาทบทวนนโยบายพลังงานและการจัดการพลังงานที่จำเป็นต้องคำนึงทั้งความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน จากรายงานของ World Economic Forum’s Global Risk 2015 ชี้ชัดว่า วิกฤตน้ำเป็นความเสี่ยงสูงสุดที่ประชากรบนโลกต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกันในอีก 10 ปีที่จะถึงนี้ ซึ่งความมั่นคงของน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอันมาจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ

ในขณะที่กรีนพีซสากลเปิดเผยให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนด้วยการปล่อยให้อุตสาหกรรมถ่านหินดึงน้ำจากแหล่งน้ำหลักโดยปราศจากการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งๆที่วงจรของการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินก่อให้เกิดผลกระทบมหาศาลต่อระบบน้ำจืด ตั้งแต่กระบวนการทำเหมืองถ่านหิน การเผาไหม้ถ่านหิน และการจัดการเถ้าถ่านหิน เป็นที่ทราบกันดีว่าในหลายประเทศอุตสาหกรรมถ่านหินใช้น้ำจากแหล่งน้ำจืดมากที่สุดเป็นอันดับต้นของความตัองการน้ำในประเทศ ทั้งนี้มีการเทียบเคียงการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 500 เมกะวัตต์เพื่อใช้ในการหล่อเย็นนั้น ทุกๆ ราว 3 นาทีต้องดูดน้ำขนาดเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิคมาใช้ให้เพียงพอในระบบหล่อเย็นดังกล่าว ในขณะที่บางประเทศกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและแย่งชิงน้ำ ผู้ที่มีอำนาจของประเทศเหล่านั้นจึงยืนอยู่บนความท้าทายอันแสนเข็ญในการรักษาความสมดุลของแหล่งน้ำที่ต้องจัดการให้มีใช้ในการผลิตอาหาร การผลิตพลังงานและการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชนในเมืองใหญ่ รวมทั้งความจำเป็นในการรักษาสิ่งแวดล้อม

รายงานล่าสุดของกรีนพีซว่าด้วยน้ำและถ่านหินจึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงวิกฤตน้ำจากอุตสาหกรรมถ่านหิน โดยใช้ข้อมูลจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่องและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกจนถึงปี 2556 โดยใช้ฐานข้อมูลหลักของ Platts World Electric Power Plant Database ในช่วง 2ปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นปี 2556 ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเดินเครื่องรวมกัน 8,359 โรงและยังอีก 2,668 โรงที่กำลังรอการอนุมัติจากแต่ละรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น

การเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกใช้น้ำจืดราว 19 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีนั่นหมายถึง ทุกปีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่องจำนวน 8,359 โรงใช้น้ำในการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่ากับความต้องการใช้น้ำพื้นฐานของประชากรมากกว่า 1 พันล้านคน หากมีการรวมการใช้น้ำของการทำเหมืองถ่านหินความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรมถ่านหินจะเพิ่มขึ้นราว 22.7 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เทียบเท่ากับความต้องการใช้น้ำพื้นฐานของประชากรราว 1.2 พันล้านคน ซึ่งภายใต้เกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก(World Health Organization) ความต้องการใช้น้ำพื้นฐานของประชากร 1 คนจะอยู่ที่ราว 50-100 ลิตรต่อวันหรือราว 18.3 ลูกบาศก์เมตรต่อคนเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกที่ต้องใช้น้ำราว 19 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้การขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นในหลายประเทศพบว่ามีการใช้น้ำเร็วเกินกว่าที่ระบบน้ำจืดจะสามารถฟื้นตัวได้ทันตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำลังเดินเครื่องและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับการขาดแคลนน้ำและผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศวิทยา ในทุกปีของการใช้น้ำของโรงไฟฟ้าถ่านหินเกินขีดจำกัดที่ธรรมชาติจะฟื้นตัวทันย่อมหมายถึงอุตสาหกรรมถ่านหินได้แย่งชิงน้ำในอนาคตมาใช้ล่วงหน้าแล้วราว 5 ปี

การขาดแคลนน้ำทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนักทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารและการผลิตพลังงาน การขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายประเทศทั้งแอฟริกาใต้ อินเดีย ตุรกี จีนและโปแลนด์ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นและต่อเนื่อง ในแอฟริกาใต้ต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบร้อยปี ความน่ากังวลของแอฟริกาใต้อยู่ที่การผลิตไฟฟ้าของประเทศมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมากถึงร้อยละ 85 อีกทั้งการวางแผนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ก็ยังตั้งอยู่ในพื้นที่ที่กำลังขาดแคลนน้ำ น้ำที่มีจำเป็นต้องใช้ป้อนโรงไฟฟ้าถ่านหินในขณะที่ประชาชนเกือบหนึ่งล้านครัวเรือนในแอฟริกาขาดแคลนน้ำอย่างหนักและไม่มีน้ำใช้เพียงพอตามขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 25 ลิตรต่อคนต่อวัน

การขาดแคลนน้ำในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทเอสคอมของรัฐบาลนั้นส่งผลให้ทางบริษัทอ้างเหตุผลดังกล่าวในการหลีกเลี่ยงการติดตั้งเทคโนโลยีดักจับมลพิษทางอากาศจากปล่องโรงไฟฟ้าและไม่สามารถจะปฎิบัติตามกฎหมายควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศฉบับใหม่ได้ซึ่งคาดการณ์ว่าจะก่อให้ประชาชนตายก่อนวัยอันควรสูงถึง 20,000 รายตลอดการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนี้

ส่วนสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ต้องเผชิญกับวิกฤตบ่อยครั้งจากการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกับน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด จีนเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อป้อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับถ่านหินและอุตสาหกรรมเคมี โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เดินเครื่องใช้น้ำจืดราว 7.4 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี  แม้ว่าการใช้ถ่านหินในจีนลงลงตั้งแต่ปี 2557 และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จีนได้ประกาศหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่จนถึงปี 2562 เพื่อจัดการการล้นทะลักในอุตสาหกรรมถ่านหิน ทั้งนี้การมีเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่หลายแห่งของจีนทำให้การควบคุมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่เรื่องง่ายและอำนาจในการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีนตกอยู่ภายใต้รัฐบาลของแคว้นและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งของจีนอยู่ในพื้นที่แห้งแล้งสุดของประเทศ

สิ่งแวดล้อมในบริเวณโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัด Shanxi ประเทศจีนกำลังถูกทำลาย เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในแม่น้ำฮวงโหสายย่อยที่ไหลผ่านพื้นที่นี้ ผลผลิตในบางพื้นที่ลดลง และน้ำในแหล่งเก็บน้ำเหือดแห้ง

ประเทศที่ประกาศมุ่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเต็มสูบอย่างประเทศไทยกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะที่กำลังเดินเครื่องและที่กำลังเดินหน้าขยายกำลังผลิต การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยออกมายอมรับว่า ปีนี้เป็นปีที่มีน้ำป้อนโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะน้อยสุดในรอบ 20 ปี และสามารถผลิตไฟฟ้าได้จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้เท่านั้น โดยแหล่งน้ำจืดมาจากอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ หากไม่มีน้ำเพียงพอทางโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะก็จะต้องหยุดเดินเครื่องซึ่งขณะนี้การลดลงของแหล่งน้ำดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เกษตรกรรมจำเป็นต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นเช่นกัน

ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงหากรัฐบาลยังคงเพิกเฉยต่อการวางแผนการจัดการน้ำควบคู่กับการวางแผนพลังงานของประเทศ ที่ผ่านมาการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ขาดการศึกษาผลกระทบในภาพรวมหากยังเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะก่อให้เกิดความขัดแย้งจากการแย่งชิงน้ำของอุตสาหกรรมถ่านหิน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเพิกเฉยต่อการศึกษาเปรียบเทียบการใช้น้ำของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกับการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีการศึกษาวงจรการใช้น้ำตลอดวงจรชีวิตของเชื้อเพลิงแต่ละชนิดพบว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าใช้น้ำน้อยกว่าการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน


ที่มา: Greenpeace Thailand




 

Create Date : 23 มีนาคม 2559   
Last Update : 23 มีนาคม 2559 14:21:39 น.   
Counter : 1100 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com