กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

จากเชอร์โนบิล สู่ฟูกูชิมา กับความมั่นคงด้านพลังงาน


“คนเจ็ดล้านคน ไม่มีอะไรที่ทำให้พวกเขาลืมเชอร์โนบิลได้” โคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ


โดย จริยา เสนพงศ์
ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้









หมู่บ้าน รู้ดย่า เซอเรเว็ตสก้า ที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี รู้ดย่า เซอเรเว็ตสก้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่แทบถูกทิ้งร้าง ตั้งอยู่ใกล้โซนที่หนึ่ง (Zone One) ที่ถูกปนเปื้อนมากที่สุด และยังเป็นพื้นที่ที่ได้รับมลพิษจากหายนะเชอร์โนบิลอย่างรุนแรง ประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้ย้ายเข้าไปยังพื้นที่เหล่านี้ พวกเขาทำได้เพียงออกไปเท่านั้น หมู่บ้านหลายแห่งกำลังถูกทิ้งร้างอย่างช้าๆ และกำลังเสื่อมสลายไปอย่างช้าๆ 1 มีนาคม 2554 © โรเบิร์ท นอธ / กรีนพีซ

จากเมืองเล็กที่ชื่อเชอร์โนบิล กลายเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกความหายนะด้านการจัดการพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งครบรอบ 25 ปีในเดือนเมษายนนี้ จวบจนถึงปัจจุบันเมืองร้างดังกล่าวยังคงปกคลุมด้วยความเสี่ยงจากมหันตภัยการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีแทนที่ความมีชีวิตชีวาของเมืองและผู้คน บทเรียนจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศต้องคำนึงถึงมาตรการและมาตรฐานด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด


ถึงแม้ว่าความต้องการด้านพลังงานนิวเคลียร์ในแถบยุโรปและอเมริกาจะสะดุด แต่กลับสวนทางกับกระแสความสนใจในการลิ้มลองรสชาติของพลังงานดังกล่าวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่างสิ้นเชิง และหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย รัฐบาลและหน่วยงานด้านพลังงานกำลังผลักดันให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นอีกครั้ง อ้างอิงเหตุผลความมั่นคงด้านพลังงานและความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่กำลังอยู่ในระหว่างการหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเข้ามาจะตัดสินใจว่าประเทศไทยต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ “การปฎิวัติพลังงาน” คือสิ่งที่ภาครัฐต้องทำให้เกิดความโปร่งใสและความเป็นธรรมด้านการจัดการพลังงานเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างแท้จริงก่อน จากนั้นคนไทยทุกคนจึงตัดสินใจร่วมกันว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่


สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันทั้งในระดับนโยบายและภาคปฎิบัตินั่นคือ การให้ความหมายของคำว่า ความมั่นคงด้านพลังงาน รัฐบาลและหน่วยงานด้านพลังงานจะต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม


ประการแรก ความสัมพันธ์ด้านพลังงานและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะทำให้ธุรกิจภาคไหนเติบโตและใครคือคนที่ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตอบสนองอุตสาหกรรมหลักเชิงเกษตร ประมงและการท่องเที่ยวของคนไทยมากน้อยเพียงใดหากศึกษาเปรียบเทียบกับต้นทุนทางสังคมที่ต้องสูญเสีย รายได้จากการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวและเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจและปากท้องของคนไทยจะต้องเปลี่ยนขั้วสู่การเป็นแรงงานตามค่าจ้างขั้นต่ำในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวทำให้สัดส่วนความยากจนในพื้นที่ต่างจังหวัดสูงกว่าความร่ำรวยของกลุ่มนายทุนและอุตสาหกรรมมากน้อยเพียงใด


การขาดแคลนข้อบังคับในระดับนโยบายอย่างเช่นกฎหมายพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการผลิตและขายพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นในทุกภาคส่วน กลายเป็นคอขวด เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวที่จะกำหนดโควต้าการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน (Feed in Tariff) และการทุ่มทุนสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่เพื่อหลุดพ้นข้อจำกัดและลดการนำเข้าพลังงานและเทคโนโลยีจากต่างประเทศอันเป็นข้อเรียกร้องของประชาชนมาโดยตลอด แต่กลับถูกเพิกเฉยมายาวนานเช่นกัน ข้อจำกัดด้านพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นข้ออ้างที่ทำให้ประเทศไทยต้องเลือกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งๆที่ยังไม่มีการวางแผนการจัดการพืชพลังงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดปริมาณ คุณภาพและการขนส่งวัตถุดิบดังกล่าวเพียงพอต่อการผลิตพลังงาน การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีดังกล่าว ภายใต้การคำนึงถึงความเหมาะสมของกังหันลมต่อสภาพอากาศร้อนชื้นและกระแสลมที่ค่อนข้างต่ำเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด


อุปสรรคทางด้านการอัดฉีดงบประมาณให้เกิดการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศเป็นเพียงแค่เศษเงินเมื่อเทียบกับการลงทุนเพื่อให้เกิดการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแสนล้านบาท ทั้งๆที่งบประมาณดังกล่าวควรผันมาศึกษาและหาทางออกให้กับพลังงานของประเทศที่ตอบสนองความมั่นคงของคนในประเทศอย่างเต็มที่ก่อน รวมทั้งมุมมองด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังก่อชนวนความขัดแย้งขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จนทำให้ฯพณฯ นายกอภิสิทธิและขุนพลพรรคประชาธิปัตย์ต้องยอมยกเผือกร้อนให้กับรัฐบาลหน้าต่อการตัดสินใจที่จะดำเนินโครงการดังกล่าว ด้วยเหตุผลหลักคือ ไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้นและลดผลกระทบต่อฐานคะแนนเสียงการเลือกตั้งของพรรค


บทเรียนจากหายนะกว่าสองทศวรรษของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ยังคงอยู่จึงที่มิใช่เรื่องเก่า หากประเทศไทยยังขาดการทบทวนแผนพัฒนาพลังงานในผลกระทบด้านพลังงานเชิงยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Strategic Environmental Assessment (SEA) ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้านพลังงานต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนพลังงานทั้งหมดของประเทศมิใช่แค่การวางแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในแต่ละครั้งและจำกัดเพียงแค่บางกลุ่มผลประโยชน์ แต่หมายรวมถึงผู้บริโภค ผู้ผลิตทั้งภาคประชาชน เอกชนและรัฐ นักปฎิบัติและนักวิชาการหลากหลายแขนงที่จะต้องเข้ามาร่วมกำหนดทิศทางด้านพลังงานร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงเชิงโครงสร้างด้านพลังงานที่กำลังคืบคลานเข้ามาคุกคามสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงด้านพลังงานอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจจะขยายตัวสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้น หากโครงสร้างการจัดการด้านพลังงานของรัฐยังปิดกั้นและผูกขาดการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพลังงานของภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง


ข้ออ้างของเชอร์โนบิลอันเกิดมาจากความผิดพลาดของคนหรือที่เราเรียกว่า Human Error ซึ่งเป็นผู้ปฎิบัติงานในโรงไฟฟ้า ณ ช่วงเวลาดังกล่าวยังทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ของโลก หากแต่ประเทศไทย “ความผิดพลาดของคน” เกิดขึ้นก่อนที่จะเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เสียอีก ทั้งการทับซ้อนผลประโยชน์ของหน่วยงานด้านพลังงานสอดคล้องกับการเปิดเผยผ่านรายงานของวุฒิสภา เรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ” และการไหลเวียนผลประโยชน์ดังกล่าวสู่กลุ่มนายทุน นักวิชาการขายตัว และภาครัฐส่วนท้องถิ่นอย่างเห็นได้ชัดในพื้นที่ที่โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้คนในพื้นที่เห็นด้วยและยอมรับทั้งๆ ที่ยังขาดความรู้และความจริงในการร่วมกันตัดสินใจด้านพลังงาน และสิ่งเหล่านี้คือ หายนะจากความผิดพลาดของคนอย่างแท้จริง



หายนะที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลกลายเป็นอดีตมาตลอด เมื่อภาครัฐเพิกเฉยต่อสถานการณ์และความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นเรื่องเก่าในอดีตที่รัฐมีการรับรองและยืนยันเสมอมาว่าจะไม่มีเหตุการณ์การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


ก่อนการครบรอบ 25 ปีของการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเพียงเดือนกว่า เหตุการณ์การระเบิดของอาคารเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองฟูกูชิมา ประเทศญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เปิดเผยความน่ากลัวกว่าประเด็นด้านความปลอดภัยจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์ เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย นั่นคือ การพยายามปกปิดข้อมูลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและการรายงานเท็จของบริษัทที่ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา ความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ของการจัดการพลังงานในประเทศ จึงสะท้อนบทเรียนสำคัญต่อสังคมไทยที่ต้องมีมาตรฐานตรงนี้อย่างเคร่งครัดเพื่อมุ่งสู่ความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างแท้จริง เนื่องจากข้อด้อยดังกล่าวจากการพัฒนาพลังงานและอุตสาหกรรมของรัฐที่ผ่านมายังคงมีหลักฐานให้สังคมเห็นคาตาทุกวัน มาตรฐานของคนที่ต้องไม่ด้อยกว่ามาตรฐานและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของหายนะจากยุคนิวเคลียร์ต่างหากที่จะนำมาซึ่งมาตรฐานและความไว้วางใจของคนไทยในการจัดการให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานร่วมกัน





 

Create Date : 21 เมษายน 2554   
Last Update : 21 เมษายน 2554 4:33:48 น.   
Counter : 1291 Pageviews.  


เชิญร่วมงาน เวทีสาธารณะ “วิกฤตฟูกูชิมะและอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนในสังคมไทย ในวาระครบรอบ ๒๕ ปี หายนะภัยเชอร์โนบิล”





เนื่องในวันครบรอบ ๒๕ ปี หายนะภัยนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลในปี ๒๕๕๔ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกรีนพีซจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อราลึกและเตือนสติสังคมไทยให้พิจารณาอดีตภาพและมองอนาคตพลังงานด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ และใคร่ขอเรียนเชิญท่านเข้าร่วมงานเวทีสาธารณะ “วิกฤตฟูกูชิมะและอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนในสังคมไทย ในวาระครบรอบ ๒๕ ปี หายนะภัยเชอร์โนบิล”


วันอังคารที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๔ เวลา๑๒.๓๐-๑๖.๔๕ น.
ณ ห้อง ๑๐๕ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


๑๒.๓๐-๑๓.๐๐ น. ลงทะเบียน รับเอกสาร


๑๓.๐๐-๑๓.๑๐ น. กล่าวต้อนรับ โดย ผศ.ภญ.ดร. นยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


๑๓.๑๐-๑๓.๒๐ น. กล่าวเปิดงาน โดย ส.ว.รสนา โตสตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล สานักงานเลขาธิการวุฒิสภา


๑๓.๒๐-๑๓.๓๐ น. สารคดี จากเชอร์โนบิลถึงฟูกูชิม


๑๓.๓๐-๑๓.๕๐ น. มองญี่ปุ่นผ่านวิกฤตฟูกูชิมะ โดย ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำานวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


๑๓.๕๐-๑๔.๑๐ นa. -วิเคราะห์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเวียดนาม โดย วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง


๑๔.๑๐-๑๔.๓๐ น. -วิพากษ์ “องค์ความรู้เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของสานักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ กระทรวงพลังงาน” โดย ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


๑๔.๓๐-๑๔.๔๕ น. พักรับประทานอาหารว่าง


๑๔.๔๕-๑๖.๓๐ น. ข้อเสนออนาคตพลังงานไทย


ร่วมถ่ายทอดโดย “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม” โดย ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


“เศรษฐกิจ พลังงานและความยั่งยืน” โดย สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ


“การมีส่วนร่วมจัดการพลังงาน” โดย ประสาท มีแต้ม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


“รัฐ นักลงทุนและผู้บริโภค” โดย อิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค


“เยาวชนกับการปฏิวัติพลังงาน” โดย อุทุมพร ยาวิชัย ตัวแทนเยาวชนยุคพลังงานสะอาด


ดำเนินรายการโดย ชัยรัตน์ ถมยา


๑๖.๓๐-๑๖.๔๕ น. ซักถาม แลกเปลี่ยน


*หมายเหต: กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม


ดาว์นโหลดใบตอบรับการเข้าร่วมเวทีสาธารณะเพื่อสำรองที่นั่งของท่านที่นี่ //bit.ly/foCfX9  ภายในวันที่ 21 เม.ย. นี้


หากท่านต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม (คุณวีรากานต์) โทรศัพท์ ๐๒-๓๕๗-๑๙๒๑, ๐๘๑-๐๓๔- ๖๕๓๕


ขอความกรุณาตอบแบบตอบรับ และส่งกลับภายใน วันพุธที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๔  ที่ โทรสาร๐๒-๓๕๗-๑๙๒๙ หรือส่ง E-Mail: wkengkaj@greenpeace.org เพื่อการจัดเตรียมจำนวนเอกสารและของพิเศษในงาน





 

Create Date : 19 เมษายน 2554   
Last Update : 19 เมษายน 2554 12:42:38 น.   
Counter : 1081 Pageviews.  


ว่าด้วยเรื่องของรังสีที่ฟูกูชิมา 1 (ไดอิชิ)


โดย ดร. เรเน่ ทูเล่ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงาน กรีนพีซสากล

รายงานของกรีนพีซฉบับนี้ทำหน้าที่ในการช่วยวิเคราะห์และให้คำแนะนำต่ออันตรายและผล กระทบต่อสุขภาพจากการรั่วของรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมา/ไดอิชิ1ที่ญี่ปุ่นซึ่งได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและ สึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554
อภิธานศัพท์


ปริมาณที่ได้รับ(dose) : ปริมาณรังสีทั้งหมดที่ร่างกายได้รับในช่วงระยะเวลาเวลาหนึ่ง

หน่วยวัด :

− ไมโครซีเวิร์ท (µSv) 
− มิลลิซีเวิร์ท (1 mSv = 1000 uSv) 
− ซีเวิร์ท (1 Sv = 1000 mSv). 

อัตราปริมาณการรับ = ปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับต่อชั่วโมง, แสดงในหน่วย 

−ไมโครซีเวิร์ทต่อชั่วโมง (µSv/h) 
− มิลลิซีเวิร์ทต่อชั่วโมง (mSv/h =1000 µSv/h)


ความเป็นมา : 

การประเมินการแพร่กระจายของรังสี

จากการเปิดเผยสถานการณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา1/ไดอิชิเมื่อวันที่ 18 มีนาคมระบุว่าสถานการณ์อาจจะเลวร้ายขึ้นได้ ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงผลกระทบจากรังสี เราจะกล่าวถึงผลกระทบที่เป็นไปได้ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เราแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่รังสีแพร่ไปถึงใช้วิธีการที่เหมาะสมเพื่อลดการสัมผัสรังสีให้อยู่ในระดับต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้


สารกัมมันตรังสีถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมและยังมีความเสี่ยงที่จะถูกปล่อยออกมาเพิ่มขึ้นในวันต่อๆไป มีรายงานปริมาณรังสีระดับสูงบริเวณโรงไฟฟ้าและมีอัตราการรับรังสีสูงถึง 10 ไมโครซีเวิร์ทต่อชั่วโมงในบริเวณระยะ 10 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า


สารกัมมันตรังสีที่ถูกปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าครอบคลุมบริเวณกว้าง ขวางในรูปของ “หมอก" กัมมันตรังสี แหล่งกำเนิดรังสีที่แน่นอน, ระยะทาง, ความสูงของหมอกกัมมันตรังสี, ทิศทางลมและสภาพอากาศ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยบอกการแพร่กระจายของหมอกกัมมันตรังสี และระบุว่าอนุภาคกัมมันตรังสีจะตกลงสู่พื้นดิน ณ ที่ไหน อย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก


ในทางทฤษฎี ปริมาณรังสีโดยรวมที่ปล่อยออกมาจากอุบัติเหตุนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณสารกัมมันตรังสีจากแกนเตาปฏิกรณ์และบ่อเชื้อเพลิงใช้แล้วที่เกิดความเสียหลาย รังสีอาจถูกปล่อยออกมาเป็นระยะๆ ขึ้นอยู่กับสถานะของโรงไฟฟ้า – ก่อให้เกิดหมอกกัมมันตรังสีแผ่กระจายออกไปเป็นเวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์


ในการปล่อยรังสีแต่ละครั้งอาจทำให้เกิดหมอกกัมมันตรังสีเคลื่อนย้ายไปในทิศทางต่างๆกันขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ กรีนพีซยังคงติดตามการพยากรณ์อากาศเพื่อระบุการแพร่กระจายและทิศทางของเมฆรังสีให้ได้แน่นอนยิ่งขึ้น


มีรายงานอัตราการได้รับรังสีไม่กี่ร้อยมิลลิซีเวิร์ทต่อชั่วโมงที่บริเวณใกล้เคียงเตาปฏิกรณ์ในฟูกูชิมา และประมาณ 150 ไมโครซีเวิร์ทต่อชั่วโมงที่บริเวณ 30 กิโลเมตรห่างจากโรงไฟฟ้า นั่นหมายความว่าบริเวณรอบๆโรงไฟฟ้ามีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแล้ว ณ วันที่ 18 มีนาคม 


อันตรายจากรังสี

ภัยจากการสัมผัสรังสีสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม :

  1. การแผ่รังสีภายนอกจากสารกัมมันตรังสีภายนอกร่างกาย ;
  2. การปนเปื้อนจากสารกัมมันตรังสีที่เข้าสู่ภายในร่างกาย;

การสัมผัสกัมมันตรังสีทำให้เกิดการกลายพันธุ์, ความพิการ, มะเร็ง, มะเร็งเม็ดเลือดขาวและความบกพร่องของ ระบบสืบพันธุ์, ระบบภูมิคุ้มกัน, หัวใจและหลอดเลือด และต่อมไร้ท่อ ถ้าได้รับปริมาณรังสีในระดับสูง (>1 ซีเวิร์ท) สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในทันทีและอาจทำให้เสียชีวิต ผลต่อสุขภาพเมื่อได้รับในปริมาณน้อยจะเกิดขึ้นในระยะยาว การปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมักทำให้เกิดการสัมผัสรังสีอย่างมีนัยสำคัญกล่าวคือสารกัมมันตรังสีจะถูกกักเก็บไว้ในร่างกายเป็นระยะเวลานานและยังคงปล่อยรังสีอยู่ตลอดเวลาที่อยู่


ในบริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า (<10กิโลเมตร) มีปริมาณรังสีรั่วออกมามาก ยิ่งใกล้โรงไฟฟ้ามากเท่าไรก็ยิ่งมีระดับรังสีสูงเท่านั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เป็นเวลานาน (หลายวัน, หลายสัปดาห์, หลายเดือน) จะได้รับรังสีสะสมซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะปานกลางถึงยาวได้ 


หมอกกัมมันตรังสีก่อให้เกิดการสัมผัสรังสีทั้งทางตรงและทางอ้อม คนที่สัมผัสกับหมอกกัมมันตรังสีจะได้รับอันตรายโดยตรงจาก (1)ปริมาณรังสีทีสัมผัสภายนอกจากหมอกกัมมันตรังสี และ (2) การสูดดมอนุภาคกัมมันตรังสี ในทางอ้อม จะได้รับอันตรายจากการสูดดมอนุภาคกัมมันตภาพรังสีสะสมจากที่เคยปล่อยออกมาแล้วและที่ปล่อยออกมาใหม่ และการปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร


การสัมผัสรังสีและอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ในขณะนี้ระดับความเข้มข้นของรังสีที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด คาดว่ารังสีที่รั่วออกมาคือไอโซโทปอายุยืนเช่น ซีเซียม-137 ซึ่งสามารถอยู่ในสภาพที่แผ่รังสีได้นานถึง 300 ปี


เป็นที่แน่นอนว่าจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษเพื่อประโยชน์ระยะยาวในการป้องกันประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบโรงไฟฟ้าฟูกูชิมาและบริเวณที่รังสีแผ่ไปถึง ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าประชาชนจะสามารถย้ายกลับถิ่นฐานเดิมได้เมื่อไร


สำหรับเด็ก (โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยๆ) และหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสได้รับอันตรายต่อสุขภาพสูงกว่าคนทั่วไปเนื่องจากความไวของการสร้างเซลล์สูงกว่า ดังนั้นจึงมีความสำคัญมากที่คนกลุ่มนี้ต้องได้รับความระมัดระวังเป็นพิเศษ


คำแนะนำในการป้องกันรังสี

เพื่อให้ระดับการสัมผัสรังสีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ :  

  • ประชาชนควรอยู่ให้ห่างจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมาและบริเวณที่รังสีแผ่ขยายไปถึง มีการอพยพประชาชนในบริเวณ 30 กิโลเมตรรอบๆโรงไฟฟ้า และรัฐบาลสหรัฐแนะนำให้ประชาชนในบริเวณ 80 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าย้ายออกจากพื้นที่หลังจากที่ได้รับการประเมินจากเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ของสหรัฐ
  • ติดตามวิทยุ/โทรทัศน์ท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดเพื่อรับข้อมูลถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากหมอกกัมมันตรังสีที่ใกล้กับบริเวณที่อยู่อาศัยของคุณ ฟังประกาศจากทางหน่วยงานราชการถึงวิธีการป้องกันรังสี 
  •  ในกรณีที่หมอกกัมมันตรังสีเคลื่อนมาใกล้กับบริเวณที่พักอาศัยของคุณ ให้อยู่ภายในอาคารและปิดหน้าต่าง, ประตู และทางเข้าของอากาศทุกที่ ห้ามออกจากอาคารนอกจากจะมีความจำเป็นจริงๆ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่กลับเข้ามาภายในอาคาร 
  •  ไม่ควรดื่มนมที่ผลิตในพื้นที่ที่มีการตรวจวัดรังสีได้ในระดับสูง และล้างผักและผลไม้ให้สะอาด สถานทูตอังกฤษประจำประเทศญี่ปุ่นเสนอ ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับอาหาร, นมและน้ำ
  •  ทานยาเม็ดไอโอดีนเมื่อได้รับคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ (เฉพาะเวลานั้นเท่านั้น!)เพื่อป้องกันการสะสมกัมมันตภาพรังสีไอโอดีนที่ต่อมไทรอยด์ ปฏิบัติตามคำแนะนำและปรึกษาแพทย์สำหรับหญิงตั้งครรภ์, ผู้มีอาการแพ้ยาและผู้มีโรคประจำตัว และทารก (ยาอาจทำให้เกิดผลกระทบข้างเคียงได้)

ควรจำไว้ว่ายาเม็ดไอโอดีนจะป้องกันกัมมันตรังสีไอโอดีนเท่านั้นไม่รวมถึงกัมมันตรังสีไอโซโทปอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตามประชาชนควรอยู่ให้ห่างจากบริเวณที่มีรังสีและอยู่แต่ภายในอาคารเมื่อมีหมอกกัมมันตรังสีผ่านถึงแม้ว่าจะทานยาเม็ดไอโอดีนแล้วก็ตาม


ข้อมูลพื้นฐานของรังสี  

1. รังสีนิวเคลียร์คืออะไร? 

รังสีมีอยู่มากมาย : ความร้อน, แสงสว่าง, ไมโครเวฟและนิวเคลียร์ การแผ่รังสีนิวเคลียร์สามารถเกิดได้ 5 รูปแบบ (ดู 5) ลักษณะทั่วไปของรังสีนิวเคลียร์คือมันมีอานุภาพในการทำลายโมเลกุล ในขณะที่ความร้อนและแสงอาทิตย์ไม่สามารถทำลายได้


2. ทำไมรังสีนิวเคลียร์ถึงอันตราย? 

การ แผ่รังสี หรือ รังสี (จากนี้จะใช้คำว่า “รังสี” แทนคำว่า "รังสีนิวเคลียร์") ทำลายโมเลกุล ทั้งนี้รวมถึงโมเลกุลในร่างกาย เมื่อโมเลกุล DNA ในเซลล์ร่างกายถูกทำลายลงจะก่อให้เกิดมะเร็ง รังสีนี้ถูกเรียกว่าสารก่อมะเร็งเนื่องจากมันก่อให้เกิดมะเร็ง ลักษณะพิเศษที่ทำให้รังสีนี้ต่างจากสารก่อมะเร็งอื่นๆ (เช่น สารเคมี เป็นต้น) คือมันไม่มี “ปริมาณที่ปลอดภัยที่ได้รับ” ขั้นต่ำที่จะไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง

 

3. แหล่งกำเนิดของรังสีคืออะไร?

สารกัมมันตภาพรังสีปล่อยรังสีออกมา สารเหล่านี้ถูกสร้างมาจากอะตอมที่ไม่เสถียรที่แยกตัวออกมาจากอะตอมเสถียร ในกระบวนการแตกตัวนี้จะปล่อยพลังงานออกมาในรูปของการแผ่รังสี กระบวนการนี้เรียกว่าการสลายตัวของกัมมันตภาพรังสี 

 

4. กัมมันตภาพรังสีคืออะไร? 

กัมมันตภาพรังสีของสสารบ่งชี้ถึงปริมาณการแตกสลายของอะตอมในสาร ถ้าสารใดมีกัมมันตภาพรังสีมาก สารนั้นจะถูกเรียกว่ามีกัมมันตรังสีสูงมากซึ่งประกอบด้วย 2 ปัจจัยด้งนี้ : 


1.สารนั้นๆประกอบด้วยอะตอมกัมมันตรังสีมาก
2.อะตอมกัมมันตภาพรังสีในสารนั้นมีการแตกตัวเร็วมาก

ซึ่งถ้ามีทั้งสองปัจจัยร่วมกันก็จะทำให้สารนั้นมีความเป็นกัมมันตรังสีสูงมาก

 

5. อะตอมกัมมันตรังสีมีกี่ชนิด?

มี 3 ชนิดด้วยกันคือ : อะตอมที่ปล่อยรังสีแกมม่า, อะตอมที่ปล่อยรังสีเบต้า และอะตอมที่ปล่อยรังสีอัลฟ่า ทำให้เกิดรังสี 3 ชนิดคือ รังสีแกมม่า, เบต้าและอัลฟ่า อะตอมกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่จะปล่อยรังสีร่วมกันทั้ง 3 ชนิดแต่จะมีรังสีเพียง 1ชนิดที่เด่นชัดมากที่สุด 

 

6. อะไรคือความแตกต่างระหว่างรังสีแกมม่า, เบต้าและอัลฟ่า?

รังสีแกมม่าเป็น “คลื่น” เหมือนแสงแต่มีพลังงานมากกว่าแสง รังสีเบต้าประกอบด้วยอนุภาคเล็กๆ (อิเลคตรอน) วิ่งด้วยความเร็วสูงมาก รังสีอัลฟ่าประกอบด้วยอนุภาคใหญ่ๆ (โปรตอน 2 ตัวและนิวตรอน 2 ตัว) วิ่งด้วยความเร็วสูงเหมือนกัน

 

ความ แตกต่างที่สำคัญก็คือ “พลังการทำลายล้าง” โดยที่รังสีอัลฟ่ามี “พลังการทำลายล้าง”สูงที่สุด และที่ต่ำที่สุดคือรังสีแกมม่า แต่ข้อดีคือรังสีที่มี “พลังการทำลายล้าง”สูงที่สุดจะไม่ส่งออกไปไกลเนื่องจากระดับพลังงานจะลดลงอย่างรวดเร็วมาก ตัวอย่างเช่นอนุภาคอัลฟ่าจะไม่ทะลุเข้าสู่ผิวหนังหรือไม่แม้แต่จะทะลุแผ่นกระดาษ

 

7. อะไรคือปริมาณรังสีที่ได้รับและมีผลกระทบต่างกันอย่างไรในรังสีแต่ละชนิด? 

ปริมาณรังสีที่ได้รับคือปริมาณพลังงานที่รังสีให้แก่ร่างกาย ปริมาณนี้บ่งบอกถึงอันตรายกล่าวคือถ้าได้รับปริมาณมากก็ได้รับอันตรายมากนั่นเอง เราจะได้รับปริมาณรังสีเมื่อรังสีเดินทางผ่านร่างกายและเข้าสู่เซลล์และอวัยวะของร่างกาย นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมรังสีอัลฟ่าไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายภายนอก เนื่องจากมันไม่สามารถซึมเข้าแทรกซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าอะตอมของพลูโตเนียม(ซึ่งปล่อยรังสีอัลฟ่า)เข้าสู่อวัยวะภายในร่างกายในรูปของอนุภาคขนาดใหญ่ก็จะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างมาก กัมมันตภาพรังสีจะจะไปทำลายทุกอย่าง (DNAและเนื้อเยื่อเซลล์) ที่รังสีนี้ไปสัมผัส ดังนั้นจึงเรียกว่าเป็นปริมาณที่ได้รับสูง

 

รังสีแกมม่าจะเดินทางผ่านร่างกายแต่โอกาสที่จะ”ชน”กับอะไรก็ตามนั้นน้อยมากดังนั้นจึงถูกจัดว่าเป็นปริมาณที่ได้รับไม่มาก แต่อะตอมที่ปล่อยรังสีแกมม่าทั้งหมดไม่ว่าจะภายในหรือภายนอกร่างกายก็ตามทำให้เกิดอันตรายจากรังสีทั้งนั้น

 

8. อะไรคือการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี?

การปนเปื้อนจะเกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี(อนุภาคขนาดต่างกันแต่บางครั้งก็เล็กเท่ากับไม่กี่อะตอม)บน(การปนเปื้อนภายนอก)หรือใน (การปนเปื้อนภายใน)ของอะไรหรือใครก็ตาม ควรจำไว้ว่าสารกัมมันตภาพรังสีมีพฤติกรรมเหมือนสารอื่นๆคือมันสามารถไปได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็น : ฝุ่นละอองในอากาศ, อาหาร, เฟอร์นิเจอร์, มนุษย์ แต่ก็เหมือนกับสิ่งสกปรกทั่วๆไปที่ล้างออกได้ ซึ่งเรียกว่าการกำจัดการปนเปื้อน แต่การปนเปื้อนภายในเป็นสิ่งที่อันตรายกว่าเนื่องจากอันตรายจากอะตอมที่ปล่อยรังสีอัลฟ่ายังมีอยู่ต่อเนื่องและมีความยากในการกำจัดออก

 

9. ระดับปริมาณที่ได้รับที่ปลอดภัยคือเท่าไร?

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นว่า รังสีไม่มีระดับปริมาณที่ได้รับที่ปลอดภัย นอกจากจะพยายามให้ระดับปริมาณที่ได้รับอยู่ที่ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ระดับที่รับได้ของสากลที่กำหนดไว้สำหรับสาธารณะที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากภูมิหลังหรือรังสีตามธรรมชาติคือ 1 มิลลิซีเวิร์ทต่อปี และ 20 มิลลิซีเวิร์ทต่อปีสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ ในขณะที่ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการปล่อยรังสีตามธรรมชาติเฉลี่ยทั่วโลกคือ 2.4 มิลลิซีเวิร์ทต่อปี






 

Create Date : 30 มีนาคม 2554   
Last Update : 30 มีนาคม 2554 19:09:40 น.   
Counter : 949 Pageviews.  


โฆษณาทีวีเพื่อเรียกร้องให้ Facebook หันหลังให้กับถ่านหิน

คุณได้ชมโฆษณาตัวใหม่ของเราที่ส่งถึงเฟสบุ๊คหรือยัง?  เราใช้รูปของผู้สนับสนุนที่ร่วมโพสรูปตนเองลงในหน้า "เฟสบุ๊ค หันหลังให้กับการใช้ถ่านหิน"  ดูวีดีโอด้านล่างนี้ และมาช่วยกันแชร์วีดีโอนี้ให้เพื่อนของคุณกัน


(คลิกเลือกอ่านภาษาไทย หรือภาษาอื่น ๆ ที่คุณต้องการแปล)




ในสัปดาห์นี้ วีดีโอนี้จะมาจะฉายทางโทรทัศน์ในรัฐแคลิฟอเนียร์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของการก่อตั้งเฟสบุ๊คเพื่อให้พนักงานหลายร้อยคนได้เห็นการเรียกร้องของคุณเพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง!


เมื่อแเฟสบุ๊คได้ชื่อว่าเป็นผู้สร้างการปฏิวัติวิธีด้านการสื่อสารของโลกในขณะนี้ เเฟสบุ๊คก็สามารถก่อให้เกิดการปฏิวัติภาคเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ถ่านหินเป็นหลักได้ ชื่อเสียงของเฟสบุ๊คในเรื่องนวัตกรรมต่างๆแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าเเฟสบุ๊คจะไปที่ไหน บริษัท IT อื่นๆก็จะตามไปที่นั่น เข้ามาดูรายละเอียดแคมเปญของเราที่เรียกร้องให้เฟสบุ๊คหันมาใช้พลังงานสะอาดกันเถอะ


เนื่องจากศูนย์ฐานข้อมูลขนาดมหึมาสองที่ใหม่ของเฟสบุ๊คจะเปิดทำการเร็วๆ นี้ ซึ่งในแต่ละที่นั้นจะใช้พลังงานเพื่อให้ความสว่างแก่บ้านหลายพันหลัง ดังนั้น คงไม่มีเวลาไหนที่เหมาะสมกว่าเวลานี้ที่เฟสบุ๊คจะหันหลังในการใช้พลังงานถ่านหินและเลือกที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และปลอดภัยในอนาคต


นับถอยหลังวันคุ้มครองโลก



กรีนพีซเรียกร้องให้เฟสบุ๊คร่วมกันสร้างพื้นที่สีเขียว ภายในวันคุ้มครองโลกในวันที่ 22 เมษายนนี้ ซึ่งก็เหลือเพียง 25 วันเท่านั้น เพื่อเป็นการกดดันและส่งสัญญาณแก่พวกเขา เราต้องการให้คุณช่วยเพิ่มจำนวนคนรับชมและแลกเปลี่ยนวีดีโอให้มากที่สุด


Share on Facebook - Share on Twitter


คุณมีบล็อกหรือเว็ปไซต์ส่วนตัวหรือไม่


ถ้าคุณมีบล็อกหรือเว็ปไซต์ส่วนตัว คุณสามารถช่วยทำให้การรณรงค์นี้ประสบความสำเร็จได้โดยนำลิงค์ โฆษณาทีวี Facebook พร้อมกับข้อความนี้ใส่หัวข้อที่เขียนว่า ""Facebook TV Ad"" ลงในบล็อคหรือเว็ปไซต์ของคุณ


ถ้ามีจำนวนเว็ปไซต์ที่ร่วมรณรงค์มากพอ วีดีโอของเราก็จะปรากฏเป็นสิ่งแรกสำหรับคนที่ค้นหาโฆษณาเฟสบุ๊คเลยทีเดียว






Free TextEditor




 

Create Date : 30 มีนาคม 2554   
Last Update : 30 มีนาคม 2554 13:38:32 น.   
Counter : 1416 Pageviews.  


พลังงานนิวเคลียร์ไม่จำเป็น



คูมิ ไนดู ผู้อำนวยการกรีนพีซสากล เขียนความคิดเห็นลงในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์/อินเตอร์แนชั่นแนล เฮอรัลด์ทริบูน



ระยะเวลาเพียง 12 วันไม่เพียงพอที่จะเข้าใจถึงความเสียหายมหาศาลที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นนับจากวันที่ 11 มีนาคมได้ เด็กๆต้องสูญเสียพ่อแม่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว คนที่รักที่หายสาบสูญไปจากภัยสึนามิ และวีรบุรุษจำนวนมากที่ต้องทำงานเสี่ยงกับผลกระทบต่อสุขภาพในการทำให้โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมามีความเสถียรขึ้น – นี่ยังไม่ใช่จุดจบของเรื่องนี้


แต่ในความเศร้าโศกเสียใจและความเห็นใจที่ผมมีต่อประชาชนญี่ปุ่น ผมก็มีความรู้สึกอีกอย่างเกิดขึ้นด้วย นั่นคือความโกรธ ในขณะที่พวกเราเฝ้ารอคอยข่าวความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมาอย่างใจจดใจจ่อ หวังให้ปัญหากัมมันตรังสีที่รั่วไหลและถูกปล่อยออกมาถูกจัดการลงได้ หวังให้ความเสี่ยงต่อหายนะที่จะเกิดขึ้นอีกจบลง และหวังให้ประชาชนญี่ปุ่นจะได้มีฝันร้ายน้อยลงไปหนึ่งคืน แต่รัฐบาลจากอีกซีกโลกหนึ่งยังคงมีการส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างต่อเนื่อง เช่นรัฐบาลจากประเทศบ้านเกิดของผมในอัฟริกาใต้ ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเพิ่มการผลิตพลังงานนิวเคลียร์อีก 9,600 เมกะวัตต์ลงในแผนพลังงานฉบับใหม่


สมมติฐานที่อันตรายยิ่ง 2 ข้อเกิดเป็นจริงขึ้นมาแล้วท่ามกลางวิกฤตนิวเคลียร์ในขณะนี้คือ พลังงานนิวเคลียร์ปลอดภัย และ นิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นในการก้าวไปสู่อนาคตสังคมคาร์บอนต่ำ ที่จะทำให้เรารอดพ้นจากหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมมติฐานทั้งสองข้อนี้ ไม่จริงแล้ว


ความเสี่ยงของเทคโนโลยีนิวเคลียร์เกิดขึ้นได้เสมอจากความผิดพลาดของมนุษย์ ภัยธรรมชาติ ความผิดพลาดในการออกแบบ และการก่อการร้าย เหตุการณ์ที่ฟูกูชิมาเป็นความล้มเหลวของระบบ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์นั้นสามารถทนต่อแผ่นดินไหวและสึนามิได้แต่ระบบระบายความร้อนที่สำคัญกลับล้มเหลว และเมื่อระบบไฟฟ้าสำรองก็ล้มเหลว จนทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ร้อนเกินไป ก็ทำให้เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตรังสี นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น


พลังงานนิวเคลียร์โดยเนื้อแท้แล้วไม่ปลอดภัย อีกทั้งการเจ็บป่วยจากการสัมผัสและรับสารกัมมันตรังสีก็เป็นที่น่าสะพรึงกลัวอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการกลายพันธุ์ทางพันธุ กรรม ความพิการแต่กำเนิด โรคมะเร็ง มะเร็งเม็ดเลือดขาว ความผิดปกติของระบบต่างๆ ทั้งระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหัวใจและหลอดเลือด และต่อมไร้ท่อ


เราเคยได้ยินข่าวที่เกิดขึ้นกับเชอร์โนบิลและทรีไมล์ไอแลนด์มาแล้ว อุตสาหกรรมนิวเคลียร์พยายามที่จะทำให้เราเชื่อว่าสิ่งที่เกิดเป็นเหตุการณ์เฉพาะที่ต่างออกไป ซึ่งไม่จริงเลย มีเหตุการณ์กว่า 800 เหตุการณ์ที่มีการรายงานต่อสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency ) ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่มาแยค โตไกมูระ โบฮุนิส ฟอสมาร์ค เป็นต้น 


ข้อถกเถียงที่ว่าพลังงานนิวเคลียร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เราก้าวไปสู่อนาคตที่ปราศจากคาร์บอนก็เป็นเท็จ


กรีนพีซและสภาพลังงานหมุนเวียนแห่งยุโรป (European Renewable Energy Council) ได้ทำการศึกษาร่วมกันเรื่อง“การปฏิวัติพลังงาน” (Energy [R]evolution) ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าหนทางพลังงานสะอาดนั้นราคาถูกกว่า ทำให้สุขภาพดีกว่า และช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้เร็วกว่าทางเลือกอื่นๆ หนทางดังกล่าวเรียกร้องให้มีการปลดระวางเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่วโลกและหยุดการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการพาณิชย์


แบบจำลองทางพลังงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ได้ชี้ให้เห็นว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่ทางเลือกที่จำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้จะเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็น 4 เท่าในปีพ.ศ.2593 สัดส่วนพลังงานที่ได้ก็ยังคงต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทั่วโลก ซึ่งเท่ากับว่าช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงร้อยละ 4 เท่านั้นเอง แต่ถ้านำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานสะอาด เช่น ลมและแสงอาทิตย์ กลับจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีมากกว่า


พลังงานนิวเคลียร์มีราคาแพงและกลับจะยิ่งทำให้เราก้าวห่างจากแนวทางการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง แหล่งพลังงานที่ “ปราศจากน้ำมัน” จะต้องไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ (ในขณะที่เขียนนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงประเทศลิเบีย) จะต้องไม่ “หมดไป” และต้องไม่ส่งผลกระทบ แน่นอนจะต้องมีการลงทุนด้านการเงินมากในระยะแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ราคาของพลังงานหมุนเวียนก็จะถูกลง เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการแข่งขันทางการตลาดจะทำให้ต้นทุนต่ำลง และยิ่งกว่านั้น หากมีการใช้อย่างชาญฉลาด อนาคตโลกสีเขียวของเรา ที่ปราศจากนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็จะสร้างงานใหม่ที่ปลอดภัยขึ้นอย่างมาก


องค์กรระหว่างประเทศ เช่น กรีนพีซได้ร่วมมือกับศูนย์ข้อมูลนิวเคลียร์เพื่อประชาชนญี่ปุ่น ในการร้องเรียนไปยังรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อให้มีการปรับปรุงแผนการอพยพและมาตรการการป้องกันสำหรับประชาชนที่ยังคงอาศัยอยู่ในระยะรัศมี 30 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา เพราะประเด็นเรื่องการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารและน้ำจะยังคงเป็นปัญหาในเอเชีย อีกทั้งยังมีเรื่องการขายไอโอดีนชนิดเม็ดไปทั่วโลก และประชาชนในบริเวณที่ไกลออกไป เช่นในลอสแองเจลลิส จะยังคงต้องเสี่ยงกับ “การแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี” (radioactive plumes) และนี่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เราในฐานะประชากรบนโลกนี้จะยังคงออกมาส่งเสียงต่อต้านการลงทุนในพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป เราต้องการการปฏิวัติไปสู่พลังงานที่สะอาดอย่างแท้จริง


ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์อินเตอร์แนชั่นแนล เฮอรัลด์ทริบูน วันที่ 21 มีนาคม 2554 //www.nytimes.com/pages/opinion/global/index.html





Free TextEditor




 

Create Date : 24 มีนาคม 2554   
Last Update : 24 มีนาคม 2554 18:58:53 น.   
Counter : 1113 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com