เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีผ่านมาแล้วที่วันที่ 5 มิถุนายน จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ “วันสิ่งแวดล้อมโลก” อย่างที่หลายคนคุ้นเคยอีกต่อไปแล้วค่ะ เพราะเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2552 รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”

และวันที่ 5 มิถุนายนที่กำลังจะมาถึงนี้ ถือเป็นการเฉลิมฉลองวันข้าวและชาวนาแห่งชาติเป็นปีที่ 2 แล้วค่ะ .... ถึงแม้ปีนี้จะมีการเฉลิมฉลองเป็นปีที่ 2 แล้วก็ตาม แต่ทุกครั้งที่ดิฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับคนรอบข้าง ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าประเทศไทยมีวันข้าวและชาวนาแห่งชาติด้วย???”เพราะส่วนใหญ่พอพูดถึงวันสำคัญที่เกี่ยวกับข้าว คนไทยก็จะนึกถึงแต่เพียงวันพืชมงคลเท่านั้น และคำถามที่ตามมาต่อจากนั้นเหมือนๆกันก็คือ “ทำไมถึงเป็นวันที่ 5มิถุนายนหล่ะ???” และนี่เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้ดิฉันต้องเริ่มค้นคว้าถึงที่มาของการกำหนดให้วันดังกล่าวเป็นวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ



จากข้อมูลของกรมการข้าวระบุว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 65 ปีที่แล้วหรือตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน 2489 เป็นวันประวัติศาสตร์ของชาติไทยวันหนึ่งเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา หลังตึกขาว
(ปัจจุบันคือ ตึกพืชพรรณ ของกรมวิชาการเกษตร)


การเสด็จพระราชดำเนินทรงหว่านข้าวในครั้งนั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ นอกจากนั้นยังสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการปลูกข้าวและการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมอีกด้วย และถือเป็นพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพสกนิกรชาวไทย


ถึงแม้ว่าการกำหนดให้มีวันข้าวและชาวนาแห่งชาติจะมีขึ้นแค่เพียง 1 วันในรอบ 1 ปีเท่านั้นก็ตาม แต่อย่างน้อยๆก็ทำให้คนเมืองอย่างดิฉันภาคภูมิใจในความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมไทยโดยเฉพาะอาชีพ “ชาวนา” ที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินมานับร้อยนับพันปี แต่สำหรับ “ชาวนาตัวจริง” หล่ะ เค้าคิดอย่างไร เค้ารู้หรือไม่ว่าตอนนี้มี “วันของพวกเค้า” แล้ว 


คิดดังนั้น ดิฉันจึงต่อสายคุยกับชาวนาที่รู้จักและสนิทสนมกันเสมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่งโดยทันที ด้วยความตั้งใจที่จะไถ่ถามสารทุกข์ของท่านหลังจากที่ไม่ได้เจอกันมานานพอสมควร ท่านกล่าวกับดิฉันว่า “ตอนนี้ชาวนาที่นี่สบายดีแล้ว ไม่เจ็บไม่จนไม่เหมือนในอดีต ต้องช่วยเหลือตัวเอง หาความรู้ใส่ตัวอะไรไม่ดีก็เปลี่ยน อะไรดีก็เอามาใช้ ไม่รอพึ่งพาใคร เพราะไม่มีใครช่วยเราได้จริงนอกจากตัวเราเอง” ประโยคสั้นๆเพียงเท่านี้แต่สะท้อนเบื้องหลังชีวิตของชาวนาตัวจริงได้มากพอสมควร มันสะท้อนให้เห็นว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบันชาวนามีวิถีชีวิตที่ลำบากยากแค้น หลายคนยังวนเวียนอยู่ในวงจร“จน และ เจ็บ”อย่างไม่มีทีท่าว่าจะหลุดพ้นออกมาได้ สิ่งสำคัญที่จะช่วยพลิกฟื้นชีวิตชาวนาได้นั่นคือ การส่งเสริมให้ชาวนาพัฒนาองค์ความรู้พื้นบ้าน หรือที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”และสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้นั้นสู่ชุมชน หาเทคโนโลยีที่เหมาะสมโดยเน้นการใช้ทรัพยากร องค์ความรู้ และปัจจัยการผลิตจากในพื้นที่มากกว่าการต้องจัดหาและพึ่งพาจากภายนอก ก็น่าจะเป็นหนทางที่ช่วยฉุดให้ชาวนาตัวจริงเหล่านี้หลุดพ้นจากวงจรดังกล่าวได้


ดิฉันถามต่อไปว่า ชาวนาที่นั่นรู้หรือไม่ว่ารัฐบาลกำหนดให้มีวันของพวกเค้าขึ้นมาแล้ว ...คำตอบที่ได้ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้ดิฉันแต่อย่างใด
เพราะชาวนาที่อยู่ห่างไกลเหล่านี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากคนเมืองอย่างเราๆที่ไม่
ทราบเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ดิฉันสามารถสัมผัสได้หลังจากที่บอกกล่าวท่านว่าตอนนี้รัฐบาลกำหนดให้มีวันข้าวและชาวนาแห่งชาติแล้วนะ นั่นคือ น้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจของชาวนาที่ได้รับทราบว่าพวกเขากำลังได้รับการเหลียวแลและยกย่อง


นอกจากความ “จน และ เจ็บ” ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาพื้นฐานของชาวนาไทยในปัจจุบันไปเสียแล้ว แต่ในอนาคตอันใกล้ชาวนาไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤติรูปแบบใหม่ที่แยบยลและหนักหน่วงกว่า นั่นคือ การรุกคืบของ “ข้าวจีเอ็มโอ” ซึ่งนับวันยิ่งขยับเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีๆ หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น เวียตนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งจีน เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นถึงการรุกคืบที่หนักหน่วงเหล่านี้แล้ว ผลกระทบของข้าวจีเอ็มโอมีมากมาย และแน่นอนว่าคงไม่ได้หยุดอยู่ที่ความเสี่ยงทางด้านสุขภาพต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ แต่หมายถึงชีวิตชาวนาอีกหลายล้านคนทั่วประเทศที่จะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตินี้อย่างโดดเดี่ยว พันธุกรรมข้าวที่เคยเป็นมรดกและความภาคภูมิใจของชาวนาไทยอาจตกไปอยู่ในมือของต่างชาติโดยผ่านเครื่องมือที่ชอบธรรมอย่าง “สิทธิบัตร” ที่มาพร้อมกับข้ออ้างอันสวยหรูว่าข้าวจีเอ็มโอคือ “ยาแก้โรคสารพัดนึก”

ดังนั้นการปกป้องชาวนาและผืนนาไทยให้ปลอดจากจีเอ็มโอจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน
ที่ต้องมีการดำเนินการกันอย่างเอาจริงเอาจัง และหากทำได้ นี่คงเป็นหนึ่งของขวัญที่สำคัญที่รัฐสามารถมอบให้เป็นของขวัญกับชาวนาไทยเนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด       



ท้ายที่สุด สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้จากชาวนาตัวจริงท่านนี้ก็คือ สำหรับชาวนาอย่างพวกเค้าแล้ว “การทำนา” ไม่ใช่แค่ “อาชีพ” แต่คือมรดกที่ตกทอดจากบรรพบุรุษและความรับผิดชอบที่ต้องสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น ชาวนาตัวจริงมิอาจจะละที่นาของตนได้ ทุกคนต่างพยายามกระเสือกกระสนดิ้นรนบนผืนนาเล็กๆ ของตัวอย่างสุดความสามารถ และ “เมล็ดพันธุ์ข้าว” ก็ถือเป็น “เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต” ที่พวกเค้าหวงแหนเพราะมันคืิอ มรดกที่ไม่อาจจะยอมให้ใครแย่งชิงจากมือไปได้