กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ทั่วโลกรวมใจ ชาวไทยร่วมยืนหยัดเคียงข้างนักกิจกรรมอาร์กติก 30 คน

“กระทำการอันเป็นโจรสลัด” กลายเป็นข้อหาที่คุณไม่จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรุนแรงต่อเรือลำอื่น แต่เพียงแค่คุณประท้วงอย่างสันติเพื่อสิ่งแวดล้อมของโลกก็ได้รับข้อหานี้แล้ว ความยุติธรรมเป็นเช่นนี้เองหรือ สำหรับผู้คนอีกกว่าล้านคนทั่วโลกแล้วไม่เป็นเช่นนั้น และได้ลุกขึ้นมายืนหยัดเคียงข้างนักกิจกรรมอาร์กติก 30 คน พร้อมกับเรียกร้องให้ปล่อยตัวจากการถูกกักขังเสรีภาพอยู่ในเรือนจำประเทศรัสเซียในขณะนี้ จนกระทั่งเกิดกิจกรรม Global Day of Solidarity เพื่อนักกิจกรรมอาร์กติก 30 คนขึ้นเมื่อวานนี้ในกว่า 140 เมือง ของ 47 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก ประเทศไทย ฟินแลนด์ และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ทั่วประเทศรัสเซีย ซึ่งขณะนี้ก็มีการรณรงค์เกิดขึ้นที่หน้าสำนักงานใหญ่ของบริษัทก๊าซพรอม (Gazprom) ในทุกวันทำการด้วยเช่นกัน

หลังจากนักกิจกรรมอาร์กติก 30 คน ร่วมรณรงค์ด้วยการประท้วงอย่างสันติวิธีเพื่อต่อต้านการ ขุดน้ำมัน ณ แท่นขุดน้ำมันของบริษัทก๊าซพรอมในทะเลเพโชรา และถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าของรัสเซียอย่างไม่เป็นธรรมตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันพุธและพฤหัสบดีที่ผ่านมา นักกิจกรรมรณรงค์ปกป้องอาร์กติกทั้ง 30 คน ถูกศาลรัสเซียตั้งข้อกล่าวหาอย่างรุนแรงคือ “กระทำการอันเป็นโจรสลัด” ซึ่งอาจมีการต้องโทษขั้นสูงสุดจำคุก 15 ปี นอกจากนี้ศาลแขวงเมอร์มันสก์ เลนิน มีคำสั่งให้สามารถควบคุมตัว นักกิจกรรมอาร์กติกทั้ง 30 คนได้จนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหา  โดยทนายความของทั้งสามสิบคนได้ยื่นขออุทธรณ์การคุมขังแล้วและได้รับการปฏิเสธจากศาลกลับมาในครั้งแรก

เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นกระแสสังคมที่คนทั่วโลกเริ่มจับตามองการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องอาร์กติก รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการประท้วงอย่างสันติของกรีนพีซและของทุกๆ คน เพียงกว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานับตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัสเซียบุกขึ้นเรืออาร์กติก ซันไรส์ อย่างผิดกฎหมายในเขตน่านน้ำสากล ผู้คนทั่วโลกกว่า 1 ล้านคน ได้ร่วมกันลงชื่อเปล่งเสียงสนับสนุนให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมอาร์กติกทั้ง 30 คนโดยเร่งด่วน ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่เกิดการรวมพลังของมวลชนทั่วโลกจำนวนมหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้ และในประเทศไทยเองก็เป็นส่วนสำคัญของการรณรงค์ปกป้องอาร์กติกมาตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม  “เรา ♥ อาร์กติก...รักครั้งนี้ต้องแสดงออกให้โลกรู้!"  ต่อเนื่องมาถึง “สองขาปั่น สองมือปลูก ปกป้องอาร์กติก”  ที่ต่างเป็นการรวมใจของชาวไทยหลายร้อยคนส่งต่อความรักและความหวังในการปกป้องอาร์กติก ภูมิภาคอันแสนเปราะบางแต่สำคัญในการรักษาความสมดุลของสภาพภูมิอากาศของโลกแห่งนี้


ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เป็นอีกครั้งนึงที่ชาวไทยร่วมรณรงค์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมปกป้องอาร์กติก ในกิจกรรม “Global Day of Solidarity เพื่อนักกิจกรรมอาร์กติก 30 คน” พร้อมกันกับนักกิจกรรมในหลายเมืองทั่วโลกในทุกทวีป มากกว่า 140 เมือง ใน 47 ประเทศ สำหรับในประเทศไทย นักกิจกรรมรณรงค์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กว่า 60 คน พร้อมกับนักกิจกรรมจากองค์กร 350.org และแอมเนสตี อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ได้ร่วมกันจุดเทียนพร้อมกับถือรูปของนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม โดยสื่อสัญลักษณ์ผ่านทางตราชั่งแห่งความยุติธรรมที่เอนเอียงไปทางบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างก๊าซพรอมและเชลล์เสียมากกว่านักกิจกรรมผู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลกทั้ง 30 คน โดยคุมิ ไนดู ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซสากล กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ประเทศรัสเซียว่าเป็นการทำร้ายคุกคามกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อ,ที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เหตุระเบิดเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ซึ่งเป็นเรือธงของกรีนพีซ เมื่อปี 2528

ซินิ ซาเรลา นักกิจกรรมจากฟินแลนด์ที่ถูกคุมขัง ได้กล่าวระหว่างการไต่สวนในห้องพิจารณาคดีที่มูร์มันสค์ว่า “ฉันเป็นคนซื่อตรงและพร้อมเสมอในการรับผิดชอบต่อสิ่งที่ฉันทำ แต่ฉันไม่ได้เป็นโจรสลัด การขุดเจาะน้ำมันในน้ำแข็งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมในอาร์กติกและสิ่งแวดล้อมของโลก” ส่วน เดนิส ซินยาคอฟ ช่างภาพอิสระ ที่ได้รับข้อกล่าวหาโจรสลัดเช่นกัน กล่าวในห้องพิจารณาคดีเช่นกันว่า “อาชญากรรมที่ผมถูกกล่าวหาคือ การที่ผมเป็นเป็นนักสื่อสารมวลชนธรรมดา และผมก็จะทำอาชีพนี้ต่อไป” 

“นักกิจกรรมอาร์กติกทั้ง 30 คนได้ยืนหยัดเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเราทุกคน และขณะนี้เราร่วมกันแสดงให้เห็นว่า พวกเราอยู่เคียงข้างพวกเขาเช่นกัน พวกเราเป็นประชากรโลก เราไม่ได้ต่อต้านรัสเซีย สิ่งที่เราพยายามต่อสู้นี้เพื่อปกป้องอาร์กติก ปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลก สำหรับทุกคน ทุกที่ และสำหรับทุกรุ่นสืบไป” พลาย  ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวแทนเสียงจากนักกิจกรรมกล่าวเบื้องหน้าสถานฑูตรัสเซียในครั้งนี้

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังการเรียกร้องเพื่ออิสรภาพที่เป็นธรรมของนักกิจกรรมอาร์กติก 30 คน กับอีกกว่า 1 ล้านเสียงทั่วโลก ที่ www.greenpeace.org/freeouractivists และช่วยกันแชร์ให้เครือข่ายสังคมออนไลน์ให้ได้มากที่สุด ส่งเสียงของพวกเราให้ไปถึงรัฐบาลรัสเซียเพื่อความถูกต้อง ความยุติธรรม และเพื่อปกป้องโลกของเราที่มีทุกสรรพชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกัน




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2556   
Last Update : 7 ตุลาคม 2556 9:53:12 น.   
Counter : 982 Pageviews.  


วันที่โลกรวมตัวกันเพื่อปกป้องอาร์กติก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น ผมขี่จักรยานไปรอบกรุงวอชิงตัน ดีซี ไม่ใช่เพียงแค่ผม แต่มีผู้คนอีกกว่า 14,000 คน จากกว่า 110 เมืองใน 36 ประเทศทุกทวีปทั่วโลก ได้ออกมาขี่จักรยานพร้อมกัน ผมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อการรณรงค์ปกป้องอาร์กติก และนี่เป็นเพียงแค่สิ่งเล็กน้อยเท่านั้นที่พลังการเคลื่อนไหวของพวกเราสามารถทำได้

ผู้คนทั่วโลกได้หลั่งไหลไปตามท้องถนนเพื่อรณรงค์ปกป้องอาร์กติก และยืนหยัดต่อต้านการขุดเจาะน้ำมัน บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างเชลล์ และก๊าซพรอมต้องการรุกล้ำเข้าไปยังน่านน้ำอาร์กติกและทำการขุดเจาะน้ำมันเป็นเจ้าแรกขณะที่น้ำแข็งกำลังละลาย แต่หากเกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในทะเลน้ำแข็งนั้นจะเป็นการยากที่จะชะล้างคราบน้ำมัน และยังเป็นการทำลายระบบนิเวศที่แสนจะเปราะบางแห่งนี้ด้วย นอกจากนี้ยิ่งมีน้ำมันมากยิ่งขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายยิ่งขึ้นเท่านั้น

บริเวณขั้วโลกนั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าบริเวณอื่นๆ ของโลก ขณะที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้ ทะเลน้ำแข็งของอาร์กติกกำลังละลายจนแทบจะเหลือปริมาณต่ำสุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์นั้นทำให้ผมรู้สึกมั่นใจอย่างท่วมท้นว่า เราจะสามารถหยุดยั้งบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มดำเนินการ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน ปีค.ศ.1971 คนกลุ่มหนึ่งได้แล่นเรือออกไปเพื่อหยุดยั้งการทดลองนิวเคลียร์ และเริ่มการรณรงค์ในนามของกรีนพีซระดับโลก ในวันนี้ผ่านมาแล้ว 42 ปี เราชาวกรีนพีซหลายหมื่นคนทั่วโลกได้มารวมตัวกันและแสดงพลังของมวลชนที่เข้มแข็งและมุ่งมั่นกว่าที่เคย

นักปั่นกว่าพันคนได้ออกมาร่วมกิจกรรม Ice Ride ในเมืองซานติอาโก ประเทศชิลี ในประเทศไทย ประเทศรัสเซียได้มีนักปั่นออกมาตามท้องถนนใน 11 เมือง ในประเทศไทยเองก็ได้มีกิจกรรม  “สองขาปั่น สองมือปลูก ปกป้องอาร์กติก”  ที่ปิดท้ายด้วยการร่วมกันปลูกป่าชายเลน และที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ “ออโรรา” หมีขั้วโลกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ร่วมออกเดินรณรงค์ไปจนถึงสำนักงานใหญ่ของเชลล์ พร้อมกับผู้คนอีกนับพันคน กิจกรรมเหล่านี้ทั้งน่าตื่นเต้นและทรงพลัง เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกที่ออกมาจากการทำกิจกรรมร่วมกัน

การเคลื่อนไหวระดับโลกเพื่อปกป้องอาร์กติกกำลังขยายอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี ประชาชนทั่วโลกเกือบ 4 ล้านคน ก็ได้ร่วมลงชื่อในงานรณรงค์ปกป้องอาร์กติกแล้ว ในการแข่งขันกับบริษัทน้ำมันเพื่อปกป้องดินแดนอาร์กติกอันแสนมหัศจรรย์จากการขุดเจาะน้ำมันนี้จะต้องใช้ความมุ่งมั่นและการรวมพลังจากคนทั้งโลก และเราไม่สามารถจะแพ้ได้

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องอาร์กติก เพื่อเรียกร้องห้ามให้มีการขุดเจาะน้ำมันและการทำอุตสาหกรรมการประมงในภูมิภาคอาร์กติก และประกาศให้อาร์กติกเป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติของโลกในบริเวณรอบขั้วโลกเหนือ

//www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/46640/




 

Create Date : 17 กันยายน 2556   
Last Update : 17 กันยายน 2556 16:06:55 น.   
Counter : 1285 Pageviews.  


ชาวไทยรวมพลังปลูกและปั่น ปกป้องอาร์กติก ปกป้องอนาคตของทุกคน

วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน  หลายร้อยขาของชาวไทยได้มาช่วยกันเป็นพลังปั่น หลายร้อยมือมาช่วยกันเป็นพลังปลูกป่าชายเลน และอีกหลายพันดวงใจกำลังส่งรักไปให้กับอาร์กติกพร้อมกันกับอีกหลายหมื่นคนจากทั่วโลก เพราะการปกป้องอาร์กติกคือการปกป้องอนาคตของพวกเราทุกคน

กลางเดือนกันยายนเป็นช่วงเดือนที่อ่อนไหวมากที่สุดสำหรับภูมิภาคอาร์กติก  เนื่องจากทะเลน้ำแข็งละลายในปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช้าวันนี้ชาวไทยหัวใจสีเขียวมารวมตัวกันครั้งใหญ่อีกครั้งเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเพื่อปกป้องอาร์กติก ภูมิภาคอันเปราะบางแต่มีความสำคัญต่อการรักษาสภาพภูมิอากาศของโลกแห่งนี้จากการถูกอุตสาหกรรมน้ำมันคุกคาม  พี่น้องนักปั่นกลุ่มต่างๆ เริ่มมายังจุดนัดพบที่บริเวณหน้าห้างโลตัสพระรามสอง มีกลุ่มพี่ๆ เครือข่ายนักปั่นที่เราคุ้นเคยกันดี อย่าง นักปั่นกลุ่มสะพานบุญ นำโดยอาสุทธิชัย สุศันสนีย์ ที่ชักชวนกลุ่มจักรยานมาร่วมกิจกรรมกับเราหลายต่อหลายครั้ง  กลุ่มเจริญกรุง 103 กลุ่มสิงห์สลาตัน กลุ่มบางมด และกลุ่มอื่นๆ ที่มารวมพลังรักษ์อาร์กติกกับกรีนพีซ อีกทั้งยังมีกลุ่มเยาวชนจาก กลุ่มพีซเจน กลุ่ม 350.org ประเทศไทย เด็กๆ จากโรงเรียนสีตบุตรบำรุง และกลุ่มชมรมอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มาช่วยกันสร้างสีสันด้วยเสียงเพลงสนุกๆ

“การมาร่วมกิจกรรมเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถทำได้ เพราะสิ่งที่เราคิดว่าไกลตัวอย่างอาร์กติกนั้นสักวันหนึ่งก็จะกระทบถึงเราในที่สุด การที่พวกเรามาร่วมกันรณรงค์ในวันนี้จะเป็นการเผยแพร่การรณรงค์ต่อไปปากต่อปาก ให้เยาวชนเขาสนใจและอยากมาสัมผัสด้วยตนเอง” น้องภัรนนท์ อัตกิจบูลย์กุล ตัวแทนเยาวชนจากชมรมอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าว น่าปลื้มใจที่ในวันนี้มีนักกิจกรรมตัวน้อยมาร่วมเป็นนักปั่นกับเราด้วยจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีแฟนเพจเฟสบุ๊คที่ลงทะเบียนออนไลน์มาร่วมปั่นและปลูกกับเรา  “เพราะป้าเป็นคนรักโลก และคำนึงถึงกิจกรรมในแต่ละวันของตนที่ส่งผลกระทบต่อโลก จากที่เป็นแค่นักกิจกรรมออนไลน์ กดไลค์เพจเฟสบุ๊คก็หันมาร่วมกิจกรรมกับกรีนพีซอย่างจริงจัง พร้อมกับชักชวนเพื่อนและครอบครัวเข้ามาร่วมกิจกรรมต่อไปด้วย” ป้าปิ๋ว ปราณี ถีติปริวัตร นักกิจกรรมออนไลน์ จากจังหวัดราชบุรี กล่าวถึงที่มาจากการผันตัวจากนักกิจกรรมออนไลน์ สู่กิจกรรมรณรงค์ปกป้องอาร์กติก เรียกได้ว่ากว่า 800 คนที่มารวมกันในวันนี้ล้วนมาด้วยในที่มุ่งมั่นปกป้องอาร์กติก ภูมิภาคที่ทำหน้าที่สำคัญในการรักษาอุณหภูมิของโลกไว้ให้สมดุล
“ผู้ปั่นจักรยานเป็นกลุ่มคนที่รักษ์สิ่งแวดล้อมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม การที่ป่าชายเลนถูกทำลายเป็นการทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับภูมิอากาศ การที่เรามาปลูกป่าทำให้สัตว์ต่างๆ มีที่อยู่อาศัย ทำให้ระบบนิเวศกลับมาสมบูรณ์ ชาวประมงมีอาชีพให้ทำ และเราก็มีอาหารกิน ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าเราไม่ออกมาร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกก็จะแย่ขึ้นไปทุกวัน” อาสุทธิชัย ตัวแทนกลุ่มจักรยานกล่าว 

ปัญหาหนึ่งที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลเนื่องจากการรุกล้ำและกัดเซาะของน้ำทะเล ส่งผลกระทบถึงประชากรจำนวนมากที่ประกอบอาชีพและมีวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพาท้องทะเล นั่นคือไม่ใช่เพียงแค่ชุมชนชายฝั่งหลายจังหวัดในประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับความเดือดร้อน แต่การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศและท้องทะเลยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศทางทะเล แนวปะการังจะได้รับความเสียหาย ส่งผลต่อสัตว์น้ำและปลาเศรษฐกิจจำนวนมากที่เป็นแหล่งอาหารสำหรับชาวไทยอีกด้วย และการละลายของน้ำแข็งอาร์กติกจะยิ่งทวีความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤตโลกร้อน

การปลูกป่าชายเลน และการใช้จักรยานจึงเป็นอีกวีธีหนึ่งที่ช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็นการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลต้นเหตุของมลพิษ และยังปลูกป่าชายเลนเพื่อเพิ่มแหล่งผลิตออกซิเจนให้กับทั้งอากาศและในน้ำ รวมถึงสร้างปราการธรรมชาติช่วยชะลอการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดจากภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน หลังจากที่ทั้งนักปั่นและนักปลูกเดินทางจากจุดนัดพบเป็นระยะทาง 29 กิโลเมตร ก็มาถึงที่ศูนย์เรียนรู้และปฏิบัติการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาชัยฝั่งตะวันออก จ.สมุทรสาคร และรวมพลังกันปลูกต้นโกงกางใบใหญ่จำนวน 8,000 ฝัก บนพื้นที่ป่าชายเลน 5 ไร่แห่งนี้“ปีพ.ศ. 2525 เราเริ่มสังเกตได้ว่าชายฝั่งหายไป ต้นไม้เริ่มล้มลง แต่ขณะนั้นยังไม่รู้ว่าอะไรคือโลกร้อน อะไรคือน้ำทะเลสูงขึ้น อะไรคือการกัดเซาะชายฝั่ง เพราะขณะนั้นยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเชิงวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อปีพ.ศ.2535 จากดินแดนของเราที่เคยอยู่ติดทะเล เราก็ต้องหนีทีละร้อยเมตรทุก 3-4 ปี ขยับเข้ามาเรื่อยๆ เราจึงคิดว่าหากยังต้องหนีต่อไปเรื่อยๆ เราคงต้องหนีไปถึงถนน จึงหันมาศึกษาองค์รวมของปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

เราเริ่มคิดว่าการปลูกป่าจะช่วยชะลอคลื่นก่อนถึงชายฝั่ง จนในที่สุดหันมาใช้ไม้ไผ่ชะลอคลื่น และใช้ตะกอนที่ตกนำมาปลูกป่าชายเลน เมื่อมีตะกอนเลน มีป่าที่ช่วยบำรุงรักษาระบบนิเวศ สัตว์น้ำวัยอ่อนก็กลับมา กลายเป็นอาชีพของชุมชน และช่วยชะลอการกัดเซาะหน้าดินได้ ที่สำคัญคือเราต้องให้เวลากับระบบนิเวศและธรรมชาติ อยากให้ผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกอย่างเช่นบริษัทน้ำมันและถ่านหินหันมาชดเชยฟื้นฟูสภาพแวดล้อมมากขึ้นมากกว่าการทำ CSR ที่ทำแต่เพียงเอาหน้าเท่านั้น” ผู้ใหญ่หมู--วรพล ดวงล้อมจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน จังหวัดสมุทรสาคร กล่าวถึงพื้นที่อนุรักษ์แห่งนี้และการกัดเซาะชายฝั่งอันเป็นผลกระทบของวิฤตโลกร้อน

ระหว่างทางก่อนถึงบริเวณป่าชายเลน ผู้ร่วมกิจกรรมจำนวน 400 คน ยังได้จอดแวะสถานีปั๊มน้ำมันเชลล์ และร่วมกันชูป้ายข้อความ “ปกป้องอาร์กติก” เพื่อสื่อสารไปยังบริษัทเชลล์ให้ยุติการรุกรานทำลายอาร์กติกจากการขุดเจาะน้ำมัน แล้วจึงมุ่งหน้าต่อไปยังป่าชายเลนเป้าหมายของพวกเรา ท่ามกลางความสวยงามของแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน ชาวเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน ก็ได้มาแนะนำให้ความรู้ รวมถึงปัญหาและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งในวันเดียวกันนี้ นักกิจกรรมกรีนพีซในชุดหมีขั้วโลก “ออโรร่า” ที่มีน้ำหนักราว 3 ตัน นำขบวนรณรงค์พร้อมกับนักกิจกรรม 30 คน ได้นำรายชื่อผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเกือบ 4 ล้านคนไปยื่นให้แก่สำนักงานใหญ่บริษัทเชลล์ เพื่อเรียกร้องต่อเชลล์ยุติการขุดเจาะน้ำมันที่อาร์กติก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ด้วยเช่นกัน

ความหวังครั้งใหม่กำลังเติบโตขึ้นที่ป่าชายเลนแห่งนี้ แรงกายและแรงใจจากชาวไทยกว่า 800 คนกำลังส่งต่อไปถึงดินแดนที่อยู่ห่างไกลอย่างอาร์กติก พร้อมกันกับผู้คนในเมืองต่างๆ กว่า 110 เมือง ของ 36 ประเทศทั่วโลก “อาร์กติกเปรียบเสมือนเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ของโลกที่ปรับสมดุลอุณหภูมิโลก  ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับอาร์กติกจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเราทุกคน หากเราปล่อยให้บริษัทน้ำมันเข้ามาคุกคามพื้นที่อันเปราะบางที่มีความสำคัญของโลกแห่งนี้ต่อไป เราก็จะเป็นผู้แบกรับผลจากการกระทำของบริษัทน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น การเพิ่มของระดับน้ำทะเล และการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถคาดเดาได้อีกต่อไป”  พลาย  ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

//www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/46612/




 

Create Date : 17 กันยายน 2556   
Last Update : 17 กันยายน 2556 15:59:29 น.   
Counter : 1191 Pageviews.  


ร่วมลงชื่อผลักดันให้หายนะน้ำมันรั่วไหลในอ่าวไทยครั้งนี้ต้องเป็นครั้งสุดท้าย!

หายนะภัยจากเหตุการณ์น้ำมันดิบกว่า 50,000 ลิตร รั่วไหลลงสู่ทะเลนอกชายฝั่งมาบตาพุด จังหวัดระยอง จากระบบท่อรับน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ได้แปรเปลี่ยนเกาะเสม็ด สวรรค์แห่งท้องทะเลอันสวยงามให้กลายเป็นนรกสีดำภายในชั่วข้ามคืนหาดทรายที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสีขาวนวลปกคลุมด้วยคราบน้ำมันดิบสีดำทมิฬที่ซัดสาดเข้าชายฝั่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและระบบนิเวศทางทะเลที่หล่อเลี้ยงชุมชนชายฝั่งและชาวไทยทั้งประเทศ

ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ ‪#‎ปตท‬. ทำการศึกษาประเมินผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาทางทะเลอย่างรอบด้าน และโปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากผลกระทบทั้งหมด รวมถึงรัฐบาลไทยต้องทบทวนนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยยกเลิกสัมปทานขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซในอ่าวไทย และหันมาเสริมสร้างนโยบายพลังงานหมุนเวียนให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง!


บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรวมถึงการชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วรัฐบาลไทยต้องทบทวนนโยบายพลังงานแห่งชาติอย่าปล่อยให้บริษัทน้ำมันทำลายท้องทะเลและอนาคตของเราอีก

หนทางเดียวที่หยุดยั้งมิให้หายนะน้ำมันรั่วเกิดขึ้นอีกคือการลดละเลิกพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

กรีนพีซเรียกร้องให้

  1. บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)ทำการศึกษาประเมินผลกระทบทางสังคมสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาทางทะเลอย่างรอบด้านและโปร่งใสและรับผิดชอบค่าเสียหายในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติทั้งหมด

  2. รัฐบาลไทยทบทวนนโยบายพลังงานแห่งชาติโดยยกเลิกสัมปทานขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซในอ่าวไทยและเสริมสร้างนโยบายพลังงานหมุนเวียนมีความเข้มแข็งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนอย่างแท้จริง

อย่าปล่อยให้บริษัทน้ำมันทำลายท้องทะเลและอนาคตของเราอีกต่อไป ร่วมลงชื่อด้วยกันวันนี้ที่ www.greenpeace.or.th/s/NoMoreOilSpill 




 

Create Date : 01 สิงหาคม 2556   
Last Update : 1 สิงหาคม 2556 18:40:40 น.   
Counter : 1400 Pageviews.  


“แนวรั้วทะเล” เขตแดนแห่งพลังเรือประมงพื้นบ้านประจวบฯ

ทะเลไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผืนน้ำสีครามที่มีหาดทรายเรียงล้อม แต่ทะเลคือชีวิตที่เกื้อหนุนโลกของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวประมงพื้นบ้านแล้ว ทะเลถือเป็นสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตและชุมชนของตน ลมหายใจของทะเลจึงเป็นเสมือนลมหายใจของพี่น้องชาวประมงเช่นกัน ประจวบคีรีขันธ์เป็นจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลยาว มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และเหนือสิ่งอื่นใด มีชุมชนที่เข้มแข็งคอยปกป้องสิ่งแวดล้อมเสมอมา จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าเหตุใดประจวบฯจึงเป็นจังหวัดแรกที่ได้กฏหมายเขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเล จากเดิมเพียงแค่ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่งซึ่งเป็นเพียงพื้นที่เล็กน้อยเท่านั้น และในวันนี้ 3 ไมล์ทะเลจะเด่นชัดขึ้น ด้วยพลังอันเข้มแข็งของชาวประมงพื้นบ้านเกือบ 200 ลำที่ช่วยขีดเส้นอาณาเขตปกป้องชายฝั่งทะเลจากการประมงแบบทำลายล้างทุกชนิด

เช้าวันนี้ (23 มิถุนายน 2556) พลังอันยิ่งใหญ่ของชุมชนพี่น้องชาวประจวบฯ ได้เป็นที่ประจักษ์อีกครั้ง ฝูงเรือประมงพื้นบ้านประจวบคีรีขันธ์จำนวนเกือบ 200 ลำ จาก 14 ชุมชน ร่วมกับสมาคมรักษ์ทะเลไทย พร้อมด้วยเรือเอสเพอรันซาของกรีนพีซ ร่วมกันปักเขตแนวรั้วทะเลเพื่อประกาศเป็น “เขตอนุรักษ์ทางทะเล” ห้ามเครื่องมือประมงทำลายล้างรุกล้ำทำประมงเป็นครั้งแรกของประวัติศาตร์ไทย โดยที่เรือประมงพาณิชย์สามารถจับปลาได้ ตราบใดที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เรือประมงและพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านจำนวนมากขนาดนี้จะมารวมตัวกันเกิดเป็นรั้วทะเลจากการวางทุ่นกำหนดเขตแดน และเรือประมงเป็นแนวยาวร่วม 60 กิโลเมตร จากชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 5.5 กิโลเมตร  รั้วทะเลนี้จึงเสมือนเป็นเขตแดนแห่งพลังเรือประมงพื้นบ้านประจวบฯ อย่างแท้จริง


ฉันมีโอกาสได้เห็นช่วงที่พี่น้องชาวประมงพื้นบ้านประจวบฯ จากหลายชุมชนช่วยกันตระเตรียมทุ่นจำนวนมาก นำมารวมกัน แล้วแบ่งไปตามเรือแต่ละลำเพื่อแยกกันไปวางทุ่นกำหนดเขตแดน ณ จุด 3 ไมล์ทะเลเรียงรายเป็นแนวยาว เขตอนุรักษ์ 3 ไมล์ทะเลเป็นสิ่งที่พี่น้องในพื้นที่ต่อสู้มา กว่าจะก้าวมาถึงวันนี้ได้เป็นเพราะความเข้มแข็งของประชาชนที่ช่วยกันผลักดันให้กฎหมายประมงนั้นเอื้อต่อความยั่งยืนของท้องทะเลมากขึ้น ไม่ใช่การมุ่งเน้นแต่จำนวนปลาโดย ใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างจนส่งผลให้ปลาหลายชนิดใกล้สูญพันธ์เข้าไปทุกที

“ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เราจับปลาได้น้อยลง แต่ขณะเดียวกันเรากลับเห็นพัฒนาการประมงพาณิชย์ที่ใช้วิธีการจับปลาแบบทำลายล้างเพื่อให้สามารถจับปลาได้มากขึ้น การประมงด้วยวิธีทำลายล้างเราจะได้ปลาจำนวนมากอยู่เพียงไม่นาน แต่หลังจากนั้นไม่ว่าเราจะใช้เครื่องมืออะไรเราก็จะไม่สามารถจับได้จำนวนมากดังเดิมเพราะสัตว์น้ำฟื้นตัวไม่ทัน ปลาขนาดเล็กที่ถูกจับขึ้นมาไม่สามารถขายได้มูลค่าสูง และปลาเหล่านั้นเป็นปลาเศรษฐกิจที่ควรมีมูลค่ามากกว่านี้ เช่น ลูกปลาทู ปัจจุบันนี้ในตลาดขาย ครึ่งกิโล 500 ตัว ขายในราคาไม่กี่บาท แต่ขณะเดียวกัน ปลาทูตัวโตเต็มที่ 12 ตัวกิโล สามารถขายได้ในราคา 70 บาท เป็นการเพิ่มมูลค่าได้มหาศาล เป็นที่น่าเสียดายที่เราจับพวกมันขึ้นมาก่อนวัย เราเห็นว่าการประมงแบบนี้เป็นการประมงแบบทำลายล้าง” พี่กรณ์อุมา พงษ์น้อย หรือพี่กระรอก ภรรยาของ พี่เจริญ วัดอักษร อดีตประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวถึงการประมงแบบทำลายล้างระหว่างการพูดคุยของกลุ่มพี่น้องชาวประจวบฯ

ภาพที่ฉันได้เห็นในวันนี้จะเป็นภาพที่ฉันจดจำไว้ไม่มีวันลืม เส้นแบ่งเขตกันเป็นรั้วทะเลยาวเรียงรายและเรือประมงจากพี่น้องชาวประจวบฯ อีกร่วมร้อย ทุ่นอันเป็นแนวรั้วทะเลนี้ถือเป็นพลังแรงและพลังใจอันแข็งแกร่งของชุมชนในจังหวัดประจวบฯ อย่างแท้จริง  “กิจกรรมในวันนี้ถือว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของชาวประมงไทยรวมถึงชาวประมงของโลก วันนี้ เราได้ประกาศชัยชนะต่อการทำประมงทำลายล้างโดยป้องกันไม่ให้มันเข้ามาในเขตอนุรักษ์ เราร่วมกันทำสิ่งที่มีความหมายโดยสร้างแนวรั้วทะเลที่เป็นทั้งเส้นแบ่งเขต และแนวรั้วปราการจากพลังชุมชนที่จับมือกันพิทักษ์ปกป้องทะเลที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญและเป็นชีวิตของเราและลูกหลาน” ปิยะ เทศแย้ม ตัวแทนประมงพื้นบ้าน นายกสมาคมประมงบ้านทุ่งน้อย กล่าว

ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะหันมาจัดการการประมงชายฝั่งทะเลอย่างยั่งยืน และเร่งบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัด เพื่อปกป้องฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลไทย เพราะการปกป้องท้องทะเลไทยไม่ใช่เพียงหน้าที่ของพลังชุมชนเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยการบังคับทางกฏหมายที่เอื้อต่อการรักษาท้องทะเลด้วย

ฉันได้พบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างระหว่างการเดินทางร่วมกับเรือเอสเพอรันซาทั้งการประมงแบบทำลายล้างหลากชนิดที่ไม่เคยเห็นถึงความร้ายกาจของมันด้วยตาตนเองมาก่อน และได้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของชุมชนที่ทำให้ฉันอิ่มเอมใจอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อนอีกเช่นกัน เราต่างกำลังช่วยปกป้องทะเลอันเป็นชีวิต เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของโลก ถึงแม้จะมีผู้หวังทำลายล้างทะเลเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางพาณิชย์ แต่หากยังมีพลังแห่งความหวังดังเช่นพลังอันเข้มแข็งของผู้พิทักษ์รักษ์ทะเลชาวประจวบฯ ฉันยังเชื่อว่าเรายังสามารถปกป้องทะเลได้และทะเลไทยจะต้องสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยพลังของทุกคนอย่างแน่นอน

ร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังพิทักษ์รักษ์ทะเลได้ที่ defendouroceans.org




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2556   
Last Update : 24 มิถุนายน 2556 11:32:44 น.   
Counter : 1306 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com