กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

บริษัททูน่ารายใหญ่ในสหรัฐฯเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสในทะเลและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วอชิงตัน ดี.ซี./ กรุงเทพฯ, 27 มีนาคม 2558- เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีได้เปิดเผยข้อมูลรายงานการสืบสวนเกี่ยวกับการใช้แรงงานทาสบนเรือประมงอวนลากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่และบริษัทแปรรูปอาหารทะเลทั่วสหรัฐอเมริกา ตามรายงานของสำนักข่าวเอพีระบุว่าแรงงานที่ถูกกดขี่และโดนบังคับให้ทำงานในบนเรือประมงบริเวณเกาะเบนจิน่าประเทศอินโดนีเซียส่วนใหญ่มาจากเมียนมาร์ โดยสัตว์น้ำที่จับได้จะถูกส่งมายังประเทศไทยแล้วถูกส่งต่อไปยังตลาดอาหารทะเลโลก ซึ่งรวมถึงห่วงโซ่การจัดหา จัดส่งผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของสหรัฐอเมริกา

Download English version here

รายงานได้ระบุถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการตั้งคำถามถึงปลายทางของอาหารทะเลที่มาจากการใช้แรงงานทาสว่าไปสิ้นสุดที่ใด บันทึกของศุลการกรสหรัฐอเมริการะบุว่าหลายโรงงานหลายแห่งในไทยมีความเชื่อมโยงกับการทำประมงที่ขาดความรับผิดชอบที่จัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสู่สหรัฐอเมริกา การตรวจสอบของสำนักข่าวเอพียังได้เปิดเผยถึงข้อมูลแรงงานทาสที่โดนทารุณกรรมทั้งโดยการเตะ ทุบตี หรือถูกเฆี่ยน นอกจากนี้ยังพบว่ามีการทิ้งศพผู้เสียชีวิตลงทะเลให้ฉลามหรือเก็บไว้ในตู้แช่แข็งปลา

หนึ่งในบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้จัดหาวัตถุดิบคือคือบริษัทไทยยูเนี่ยนซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ชิกเก้นออฟเดอะซีและกำลังอยู่ระหว่างการซื้อบริษัทบัมเบิลบี แม้ว่าสำนักข่าวเอพีไม่ได้เจาะจงในตรวจสอบการทำประมงทูน่า แต่จากเนื้อหาของรายงานได้ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับห่วงโซ่การผลิตสำหรับบริษัททูน่ารายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้การจัดอับดับผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องของกรีนพีซระบุว่าบริษัททูน่ารายใหญ่ได้แก่ ชิกเก้น ออฟ เดอะ ซี  (Chicken of the Sea) บัมเบิลบี (Bumble Bee) และสตาร์คิตส์(Starkist) มีส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐอเมริกาถึงร้อยละ 80โดยทั้งหมดได้รับคะแนนความล้มเหลวด้านความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน

มีแรงการกดดันต่ออุตสาหกรรมปลาทูน่าในประเทศไทยมากขึ้นในเรื่องความรับผิดชอบด้านแรงงาน ปี 2557 สหรัฐอเมริกาลดระดับประเทศไทยให้อยู่ในอันดับ 3 (Tier 3)ซึ่งเป็นอันดับที่ต่ำสุดของการจัดอันดับ เนื่องด้วยปัญหาการค้ามนุษย์ อีกทั้ง ประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองแรงงาน

บริษัทไทยยูเนี่ยนได้ตอบกลับรายงานการเปิดเผยข้อมูลของสำนักข่าวเอพีและยุติการรับซื้อสินค้าประมงจากบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาส อย่างไรก็ตาม รายงานของเอพีได้ตรวจสอบการส่งสินค้าจากผู้จัดหาวัตถุดิบเพียงรายเดียว ทำให้ยังคงมีข้อกังวลถึงแหล่งที่มาของอาหารทะเลของบริษัทว่ามีที่มาจากแหล่งอื่นๆอีกหรือไม่

จอห์น โฮซิวา ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ด้านมหาสมุทร กรีนพีซสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า

"สิ่งที่สำนักข่าวเอพีค้นพบนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเล และได้ชี้ให้เห็นถึงการทำงานบนเรือประมงซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสภาพการทำงานที่เลวร้ายที่สุด ในขณะที่การตรวจสอบยังไม่ได้เจาะจงไปที่เรือประมงทูน่าแต่รายงานได้เชื่อมโยงปัญหาแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้ากับตลาดปลาทูน่าขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา นั่นคือ บริษัทไทยยูเนี่ยน บริษัทดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับการทำประมงทูน่าที่ไม่ยั่งยืนที่พบในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ไทยยูเนี่ยนเป็นเจ้าของบริษัทชิกเก้นออฟเดอะซี และกำลัง���ะเป็นเจ้าของกิจการบริษัทบัมเบิลบีและส่งผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต Kroger และ Walmart หากคุณรับประทานปลาทูน่าที่มาจากไทยยูเนี่ยน ไม่มีวีธีการใดที่คุณจะมั่นใจได้ว่าคุณไม่ได้รับประทานปลาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานทาสหรือการจับปลาภายใต้สภาพการทำงานที่เลวร้ายสุดๆ”

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า

"หากไทยยูเนี่ยนมีความตั้งใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ก็จะนำไปสู่การขจัดการใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนหมดไปจากห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด มิใช่แต่เพียงการยกเลิกผู้จัดหาวัตถุดิบเพียงรายเดียว การรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตจากการใช้แรงงานทาสที่น้อยลงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่อาจยอมรับได้

ไทยยูเนี่ยนจะต้องเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างแท้จริงโดยมีมาตรการการตรวจสอบย้อนกลับในผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เรือต้นทางที่จัดหาวัตถุดิบไปถึงการวางจำหน่าย นอกจากนี้ ควรที่จะมีการตรวจสอบจากบุคคลภายนอกและการขึ้นตรวจเรือโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอ บริษัทควรเดินหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของวัตถุดิบนั้นมาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลิตภัณฑ์ทูน่าที่จัดจำหน่ายโดยไทยยูเนี่ยนจะต้องไม่มีแหล่งที่มาจากเรือลำอื่น หรือการขนถ่ายในทะเลซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการผิดกฎหมายและป้องกันการตรวจสอบย้อนกลับที่จำเป็นในการขจัดแรงงานทาสจากห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเล"

"แรงงานทาสถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2408 แต่บริษัทอเมริกันยังคงมีกำไรจากแรงงานทาสในเรือประมง ธุรกิจอาหารทะเลเช่น บริษัทไทยยูเนี่ยนซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะต้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างแข็งขัน มิฉะนั้นอาจไม่เป็นที่ยอมรับในตลาดอเมริกา" จอห์นกล่าวทิ้งท้าย

 

หมายเหตุ
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทะเล รวมทั้งคำแนะนำสำหรับอุตสาหกรรมประมงสามารถดูได้ที่://www.greenpeace.org/international/Global/international/briefings/oceans/2014/Slavery-and-Labour-Abuse-in-the-Fishing-Sector.pdf

สามารถอ่านรายงานการตรวบสอบของสำนักข่าวเอพี ได้ที่://bigstory.ap.org/article/b9e0fc7155014ba78e07f1a022d90389/ap-investigation-are-slaves-catching-fish-you-buy

รายงานกรีนพีซเรื่องการจัดอันดับทูน่ากระป๋อง สามารถดูได้ที่://www.greenpeace.org/usa/en/media-center/news-releases/Greenpeace-Canned-Tuna-Ranking-Finds-Most-Brands-Fail-Consumers-on-Ocean-Safe-Tuna/

 

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
อีเมล @greenpeace.org">tara.buakamsri@greenpeace.org

สมฤดี ปานะศุทธะ  ผู้ประสานงานสื่อมวลชน  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร. 081 929 5747 อีเมล: @greenpeace.org">spanasud@greenpeace.org

 

ข่าวประชาสัมพันธ์ - มีนาคม 27, 2558

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/press/releases/Owner-of-Major-US-Tuna-Brands-Connected-to-Slavery-at-Sea-and-Human-Rights-Abuses/




 

Create Date : 27 มีนาคม 2558   
Last Update : 27 มีนาคม 2558 18:19:55 น.   
Counter : 874 Pageviews.  


Krabi Goes Green: พลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย เกิดขึ้นได้จริงที่กระบี่

จากความเป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวและธรรมชาติที่สวยงาม แนวทางการพัฒนาจังหวัดกระบี่จึงเน้นที่การท่องเที่ยวที่สะอาด (Green Tourism) จนมาสู่การกำหนดปฏิญญา Krabi Goes Green ร่วมกันของภาครัฐและภาคีเอกชนของกระบี่ซึ่งชาวกระบี่ต้องการที่จะพัฒนาให้จังหวัดบ้านเกิดของพวกเขาก้าวสู่การผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อก้าวสู่จังหวัดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ โดยที่ไม่สนับสนุนการใช้แหล่งวัตถุดิบเพื่อนำมาซึ่งพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมใดๆ อาทิ พลังงานนิวเคลียร์ พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน แต่สนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาดเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของกระบี่อย่างยั่งยืน

แล้วกระบี่จะ Goes Green ได้อย่างไร? อะไรบ้างที่จะเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนในกระบี่?  

รู้หรือไม่ว่าชาวจังหวัดกระบี่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยมีการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในจังหวัดมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว กระบี่เป็นจังหวัดที่มีรายได้หลักจาก การประมง การปลูกปาล์มน้ำมัน (มีพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมันร้อยละ 65) และการท่องเที่ยว ดังนั้นวัสดุเหลือใช้จากปาล์มน้ำมันจึงสามารถนำมาทำเป็นพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลและชีวภาพได้ ซึ่งกระบี่มีโรงไฟฟ้าจากปาล์มน้ำมันกว่า 22 โรง เป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนหลักที่ผลิตไฟฟ้า หากเดินเครื่องเต็มที่จะสามารถผลิตกำลังไฟฟ้าได้ร้อยละ 40 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัดกระบี่ (ประมาณ 125 เมกะวัตต์) ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนปาล์มน้ำมันจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคพลังงานที่ดี

นอกจากนี้กระบี่ยังมีศักยภาพที่จะผลิตกำลังไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ได้อีก เช่น พลังงานลมซึ่งจากการสำรวจพบว่า กระบี่มีความเร็วลมเฉลี่ยทั้งปี 4.5-5.0 m/s หากมีการติดตั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานลม จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งเอกชนสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ได้   ด้านพลังงานน้ำนั้น กระบี่ประสบความสำเร็จด้วยเทคโนโลยีไฟฟ้าจากพลังงานน้ำบริเวณ อำเภอเขาพนม และอำเภอปลายพระยา แม้จะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 10 กิโลวัตต์ แต่กระบี่ก็มุ่งมั่นที่จะพัฒนาพลังงานน้ำอย่างเต็มศักยภาพในอนาคต

อีกหนึ่งแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่เป็นที่น่าจับตามองและควรผลักดันให้เกิดการพัฒนานั้นก็คือ พลังงานแสงอาทิตย์ แม้ว่าแสงแดดในเยอรมนีจะมีระดับความเข้มของแสงเพียง 1,300 หน่วยต่อปี แต่พลังงานแสงอาทิตย์ก็ผลิตกำลังไฟฟ้าได้กว่า 22 กิกะวัตต์ แน่นอนว่าภาคใต้ของประเทศไทยที่มีระดับความเข้มของแสงถึง 1,700 หน่วยต่อปี ย่อมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้เช่นกัน [แผนที่แดด Geo Model Solar]

หากชาวกระบี่เพียงร้อยละ 10 ของจังหวัด (13,577 คน) ติดตั้ง แผงโซลาร์เซลล์ 3.2 กิโลวัตต์ บนหลังคาบ้านเรือน จะได้ไฟฟ้าปีละ 57 ล้านหน่วย นอกจากนี้ ในอนาคตกระบี่ยังมีนโยบายที่จะสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิต 250 กิโลวัตต์ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม

การพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มศักยภาพจะเป็นจริงได้ หากมีการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับจังหวัดกระบี่มีความต้องการไฟฟ้าประมาณ 125 เมกะวัตต์ ในขณะนี้ แหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตกำลังไฟฟ้าเพื่อใช้ในกระบี่ผลิตได้  44 เมกะวัตต์ และกำลังจะขยับไปเป็น 80.255 เมกะวัตต์ เมื่อโครงการที่เซ็นสัญญาแล้วดำเนินการ

ลองคิดดูว่า ถ้านำงบประมาณที่จะนำไปสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหิน รวมถึงการนำเข้าถ่านหินมาจากอินโดนีเชียและออสเตรเลีย มาพัฒนาศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในจังหวัดกระบี่ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานชีวมวลและชีวภาพ ได้จนเต็ม 100  เปอร์เซ็นต์ จะสร้างอนาคตพลังงานสีเขียวที่ยั่งยืนได้มากแค่ไหน

ผลก็คือ เมื่อเราพัฒนาการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้แบบเต็มศักยภาพแล้ว กระบี่ก็จะผลิตกำลังไฟฟ้าได้ถึง 470.1 เมกะวัตต์เลยทีเดียว ในขณะที่กระบี่ใช้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 125 เมกะวัตต์ เท่ากับว่า กระบี่ทั้งจังหวัดสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เราก็จะคงความเป็นมรกตแห่งอันดามันและรักษาสุขภาพของชาวกระบี่ อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าถ่านหินได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

[กระบี่กับพลังงานหมุนเวียน] ขอบคุณภาพจาก ผศ.ดร.จอมภพ แววศักดิ์
ศูนย์วิจัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

พลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน ปูทางสู่จังหวัดพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย

เมื่อมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มศักยภาพแล้ว ขั้นต่อไปคือการผลักดันให้กระบี่เป็นจังหวัดพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย!

เพื่อสนับสนุนปฏิญญา Krabi Goes Green และทำให้จังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อยได้นั้น “พลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน” (Hybrid Renewable Energy System - HRES) เป็นทางเลือกที่ทุก ๆ ฝ่ายจะได้ประโยชน์สูงสุด เพราะเป็นพลังงานที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าในท้องถิ่น และไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน รวมถึงวิถีชีวิตและอาชีพหลักของจังหวัด คือ การประมงและการเกษตร อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างไรก็ดี หากกระบี่จะก้าวไปเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนได้นั้น ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

“พลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน”  คือการนำพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ มาปรับใช้ร่วมกัน ระบบการผลิตไฟฟ้าจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ฝนตก แผงโซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้น้อย แต่กังหันลมมักจะผลิตไฟฟ้าได้ดีในสภาวะอากาศเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น กระบี่จะเป็นโมเดลแหล่งพลังงานหมุนเวียนนำร่องต่อไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้อีก เท่ากับว่าประเทศไทยจะเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มุ่งมั่นพัฒนาพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ด้วยความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งอยู่ในกรอบของนโยบายในการผลักดันประเทศให้ไปสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ”

กระบี่ไม่จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยพลังงานมูลนิธิสุขภาวะ ได้นำเสนอประเด็นเรื่องความต้องการใช้พลังงานว่า แม้ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในอนาคตประเทศไทยก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะขาดแคลนพลังงาน  แต่หากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ ประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นเกินความต้องการ สำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อภาคใต้นั้น ก็ยังเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ถึงความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นก็ตาม 

กระบี่มีศักยภาพมากพอจะก้าวสู่จังหวัดพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย แล้วทำไมเราจะต้องพึ่งพาถ่านหินที่เป็นภัยต่อธรรมชาติและสุขภาพร่างกายของเราอีก?

ร่วมลงชื่อปกป้องกระบี่อันงดงามได้ที่ protectkrabi.org

 

Blogpost โดย Supang Chatuchinda -- มีนาคม 27, 2558 ที่ 9:35

 

ที่มา : //www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/krabi-goes-green/blog/52425/

 




 

Create Date : 27 มีนาคม 2558   
Last Update : 27 มีนาคม 2558 17:54:39 น.   
Counter : 1227 Pageviews.  


พลังหมุนเวียนทำได้! Co2 คงที่ แต่เศรษฐกิจโลกโตขึ้น

เป็นครั้งแรกในช่วง 40 ปีที่ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญนั้น มีอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่คงที่ ทั้งที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกนั้นสูงขึ้นร้อยละ 3 เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับการขยายตัวของพลังงานหมุนเวียน!

ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยองค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ได้รายงานถึงข่าวดีนี้ โดยในปี 2557 ที่ผ่านมา ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 32.3 พันล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2556 ข้อมูลที่ IEA เสนอนี้เป็นหลักฐานที่ดีว่าการกู้วิกฤตโลกร้อนโดยเร่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียนนั้นกำลังเห็นผล “ข้อมูลนี้ทำให้ผมรสึกมีความหวังว่ามนุษย์สามารถร่วมมือกันกอบกู้วิกฤตโลกร้อน ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดที่เรากำลังเผชิญ” เฟธ ไบรอล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการบริหาร IEA ในอนาคตกล่าว ข้อมูลรายละเอียดการวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดย IEA นั้นจะพร้อมเผยแพร่ในรายงานพิเศษเกี่ยวกับพลังงานและสภาพภูมิอากาศ ประมาณเดือนมิถุนายนนี้

ตัวแปรสำคัญในความสำเร็จระดับโลกนี้คือ พลังงานหมุนเวียน และความร่วมมือลดการใช้พลังงานฟอสซิลจากทั่วโลก ซึ่งผลดีนั้นก็ตกอยู่กับแต่ละประเทศที่สามารถลดมลพิษในประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน ที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นลดถึงร้อยละ 2 ในปี 2557 ซึ่งทาง IEA วิเคราะห์ว่าเป็นผลมาจากการที่จีนหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และน้ำ ขณะที่ลดการเผาผลาญถ่านหินลงถึงร้อยละ 2.9 เป็นครั้งแรกในรอบศตวรรษ ขณะที่เศรษฐกิจโตขึ้นร้อยละ 7.4 ส่วนประเทศในยุโรปนั้นจะเน้นไปที่การพัฒนาการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนและมั่นคง ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นก๊าซเรือนกระจกลดลงเป็นครั้งที่ 7 ในช่วง 23 ปี โดยที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งใหม่ร้อยละ 32 พลังงานลมร้อยละ 23 นอกจากนี้เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มองค์กรความร่วมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ได้โตขึ้นเกือบร้อยละ 7 ขณะที่ก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 4

ในอดีตปริมาณก๊าซเรือนกระจกก็เคยลดลงเช่นกันในช่วงปี 2523-2532 ปี 2535 และปี 2552 ทว่าในแต่ละครั้งนั้นเกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ในปี 2557 นี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้นร้อยละ 3  

สัดส่วนส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกปิดตัวลงและสร้างใหม่ ขอบคุณข้อมูลจาก Sierra Club

ล่าสุด Sierra Club ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และได้เสนอรายงานอย่างละเอียด เผยว่าตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา เมื่อมีการโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นใหม่ 1 โรง จะมีโครงการโรงไฟฟ้า 2 โครงการถูกยกเลิกไป แม้แต่สถาบันการเงินระดับโลกอย่าง Citi และGoldman Sachs ยังได้เตือนถึงขาลงของอุตสาหกรรมถ่านหินนี้ และสถิตินี้น่าจะเป็นสัญญาณเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังคงเชื่อว่าอุตสาหกรรมถ่านหินนั้นยังเฟื่องฟูเหมือนกับในยุคก่อนๆ

ตั้งแต่ปี 2553 สหรัฐอเมริกาได้ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินไปทั้งสิ้น 187 โรง เนื่องจากเสียงคัดค้านจากชุมชนด้านผลกระทบทางมลพิษ ส่วนที่ยุโรปนั้น สัดส่วนการยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อการอนุมัติโครงการใหม่ต่างกันที่ร้อยละ 22 แต่ที่โดดเด่นที่สุดคงเป็นสหราชอาณาจักร ที่รัฐบาลจากสามพรรคการเมืองหลักออกมาประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและยุติการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า

กังหันลมผลิตไฟฟ้าภายในหอไอเฟล

นอกจากการปิดตัวลงของโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังมีเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย อาทิ การกังหันลมผลิตไฟฟ้า 10,000 กิโลวัตต์ให้กับหอไอเฟล การติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับมัสยิด 6,000 แห่งของประเทศจอร์แดน และเครื่องบินขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สุดล้ำที่จะเดินทางไปรอบโลก[] เพื่อรณรงค์ให้รัฐบาลต่างๆ ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือแม้แต่การแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนของบริษัทยักษ์ใหญ่

เครื่องบินขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สุดล้ำที่จะเดินทางไปรอบโลก

การที่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นนี้ ถือเป็นข่าวดีจากการร่วมมือกันของหลายประเทศทั่วโลก แต่มิได้หมายความว่าเราสามารถละเลยหันกลับไปใช้พลังงานฟอสซิลอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต รวมถึงสัดส่วนการปิดตัวลงของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นก็ยังไม่น่าวางใจ เนื่องจากยังมีอีกหลายโครงการทั่วโลกที่ผ่านการอนุมัติแล้ว ผลิตไฟฟ้ากว่า 1,000 เมกะวัตต์ แม้จะไม่สามารถปลุกยุคถ่านหินให้กลับมาเฟื่องฟูแต่ก็เพียงพอที่จะสร้างมลพิษและทำลายสุขภาพของคนทั่วโลก อย่างไรก็ตามข่าวนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการผลักดันการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และหยุดยั้งการเกิดขึ้นใหม่ของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเป็นภัยคุกคามสภาพภูมิอากาศของโลกต่อไป

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 24, 2558 ที่ 15:24




 

Create Date : 24 มีนาคม 2558   
Last Update : 24 มีนาคม 2558 16:59:20 น.   
Counter : 1249 Pageviews.  


วิกฤตขาดแคลนน้ำของโลกกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เพราะเหตุใด ผลกระทบของถ่านหินที่มีต่อแหล่งน้ำ
จึงไม่ค่อยมีใครกล่าวถึง?

ภาวะขาดแคลนน้ำได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาที่อยู่ในขั้นวิกฤตอันดับต้น ๆ ของโลก แต่กลับมีการกล่าวถึงการปกป้องแหล่งน้ำที่ลดน้อยลงเนื่องจากแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเติบโตอยู่ทั่วโลกอยู่น้อยนัก

แม้ว่า ในปี พ.ศ. 2558 นี้ ประเด็นของแหล่งน้ำและพลังงานจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างถึงพริกถึงขิงในการอภิปรายเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ก็ไม่มีใครเชื่อมต่อหัวข้อทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน  ในความจริงนั้น การขยายตัวของแผนการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตพลังงานเป็นปัจจัยที่ทำให้ภาวะขาดแคลนน้ำยิ่งวิกฤตหนัก แต่ภาคพลังงานก็มักได้รับชัยชนะเมื่อสิ่งมีค่าเหล่านี้เข้าไปถึงมืออยู่เสมอ

วิกฤตการขาดแคลนน้ำเชื่อมโยงกับปัญหาใหญ่อีก 2 หัวข้อ คือความล้มเหลวในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนอาหาร โดย World Economic Forum  องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจของโลกจัดประเภทวิกฤตการขาดแคลนน้ำเอาไว้ในประเภท ‘ความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลทำให้เกิดความเสี่ยงทางสังคม’ และมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในด้านต่างๆ เพื่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์

ถึงแม้ว่าปัญหาเรื่องการขาดแคลนแหล่งน้ำจะเป็นปัญหาเรื้อรังมานานก็ตาม แต่ภาคพลังงานก็ยังมีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งคาดว่าจะสร้างเพิ่มขึ้นกว่า 1,350  โรง และพร้อมใช้งานได้ในปี พ.ศ.2568  ซึ่งการขยายตัวของการใช้ถ่านหินส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคที่มีความตึงเครียดด้านปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะเป็นภูมิภาคที่ใช้น้ำสำหรับสุขาภิบาล สุขภาพอนามัย และวิถีชีวิต

และในเดือนมกราคมปีนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นอีกครั้งว่า เราจำเป็นต้องเก็บปริมาณสำรองถ่านหินมากกว่าร้อยละ 80 ในพื้นดินเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อน  เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ่านหินกำลังเป็นภัยใหญ่คุกคามสภาพภูมิอากาศของเรา และแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 1,350 โรงยิ่งจะทำให้ความสามารถในการแก้ปัญหาเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหาการขาดแคลนอาหารเป็นไปไม่ได้อีกด้วย หากการขยายตัวดังกล่าวยังคงดำเนินการต่อไป แหล่งน้ำที่หายากขึ้นทุกวันก็จะถูกนำมาใช้ในกระบวนการผลิตถ่านหินแทนที่จะนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรมและการบริโภคในประเทศ ซึ่งผลักดันให้ภาวะโลกร้อนยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้นก็คือไฟฟ้าที่ผลิตได้จะทำให้เศรษฐกิจโลกขาดดุลสูงขึ้น หรือกว่าพันล้านคนจะมีน้ำและอาหารที่พอจะพึ่งตนเองอย่างนั้นหรือ?

เรามีทางเลือกในการผลิตพลังงานอีกมาก
แต่กับแหล่งน้ำ เราไม่มีทางเลือก

เราต่างก็รู้ว่าในการผลิตพลังงานในแหล่งพลังงานหมุนเวียน ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ เช่น พลังงานลม หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ เราไม่ต้องใช้น้ำช่วยในกระบวนการผลิตเลยถ้าเราไม่ใช้พลังงานฟอสซิล เราไม่ล้างถ่านหินเพื่อทำให้สะอาด และเราไม่เผาถ่านหิน เมื่อเราใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตพลังงาน เราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเพื่อระบายความร้อน ไม่ต้องนำน้ำไปไปล้างเถ้าถ่านหิน และไม่ต้องจัดการน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารพิษอีก

นอกเหนือจากการประหยัดน้ำแล้ว แหล่งพลังงานหมุนเวียนยังไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว!

อัลบั้มภาพ “ถ่านหินกับความกระหาย”

ภาพในอัลบั้มนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้น้ำและผลกระทบในแต่ละขั้นตอนของวงจรชีวิตถ่านหิน

น้ำใช้ในการสกัดและชะล้างถ่านหิน และในโรงไฟฟ้าน้ำจะถูกใช้ในสามกระบวนการคือ ระบายความร้อน ควบคุมมลพิษ และทำหน้าที่จัดการของเสีย

ความขัดแย้งเหล่านี้มักจะไม่ถูกพูดถึง

เรามีทางเลือกในการผลิตพลังงานอีกมาก แต่กับน้ำ เราไม่มีทางเลือก

เราต่างก็รู้ว่าน้ำไม่มีความจำเป็นในการผลิตพลังงานในแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ เราไม่ใช้พลังงานฟอสซิล เราไม่ล้างถ่านหินเพื่อทำให้สะอาด และเราไม่เผาถ่านหิน เมื่อเราใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตพลังงาน เราไม่จำเป็นที่จะต้องใช้น้ำเพื่อระบายความร้อน ไม่ต้องนำน้ำไปไปล้างเถ้าถ่านหิน และไม่ต้องจัดการน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารพิษอีก

ทวิตสิ่งที่คุณคิดเกี่ยวกับ “ทำไมถ่านหินคือศัตรูของน้ำ มากกว่าที่จะเป็นเพื่อนที่แยกจากกันไม่ได้”

ความจริงเกี่ยวกับ “ผลกระทบของถ่านหินที่กระหายน้ำ”

  • ลองเปรียบเทียบการใช้น้ำของถ่านหินกับมนุษย์ :  องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ปริมาณน้ำที่มนุษย์ 1 คนต้องการอยู่ระหว่าง 50-100 ลิตร ซึ่งในหนึ่งปี มนุษย์ 1 คนบริโภคน้ำ 36.5 ลูกบาศก์เมตร แต่จากผลวิจัยในปี พ.ศ.2555โดยองค์กร International Energy Agency  รายงานว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกใช้น้ำไป 37 พันล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกใช้น้ำไปเท่ากับ ความต้องการใช้น้ำของคนถึง 1 พันล้านคนเลยทีเดียว
  • ประชากร 1.2 พันล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ (แหล่งน้ำเกือบจะไม่สามารถพัฒนาให้มีความยั่งยืน หรือไม่สามารถพัฒนาให้ยั่งยืนได้แล้ว)  
  • ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ ประชากรสามารถใช้น้ำได้เพียง 973 ลูกบาศก์เมตรต่อคน แต่น้ำมากกว่าร้อยละ 90 ถูกใช้ไปกับการผลิตพลังงานจากถ่านหินโดย เอสคอม บริษัทพลังงานรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งกระบวนการผลิตพลังงานจากถ่านหินที่นี่ใช้น้ำเท่ากับการบริโภคน้ำของคน 1 คน ในหนึ่งปี เพื่อให้โรงไฟฟ้าดำเนินงานเพียง 1 วินาที ในที่สุดครอบครัวบางครอบครัวถูกบังคับให้ซื้อน้ำขวดเพราะไม่มีน้ำสะอาดให้บริโภค
  • อินเดียก็เป็น 1 ในหลาย ๆ ประเทศของโลกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก เป็นที่น่าตกใจเพราะต้องใช้ทรัพยากรน้ำร้อยละ 3.5 ของโลก หล่อเลี้ยงประชากร 1.2 พันล้านคน
  • โรงไฟฟ้าถ่านหินในอินเดียใช้น้ำที่ทดได้อย่างน้อย 1 ล้านไร่จากพื้นมี่การเกษตร ทศวรรษที่ผ่านมา ในรัฐราษฏระมีเกษตรกรฆ่าตัวตายไปกว่า 40,000 ราย เพราะขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก
  • ทางด้านสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศที่มีการเสนอแผนการผลิตพลังงานจากถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นประเทศที่ต้องใช้แหล่งน้ำกว่าร้อยละ 5 ของโลก เพื่อหล่อเลี้ยงประชากร 1.3 พันล้านคน

น้ำกว่าพันล้านลูกบาศก์ลิตรถูกใช้ไปในแต่ละขั้นตอนของวงจรชีวิตถ่านหิน น้ำใช้ในการสกัดและชะล้างถ่านหิน เมื่อถ่านหินเข้าสู่กระบวนการผลิต จะใช้น้ำในสามกระบวนการคือ ระบายความร้อน ควบคุมมลพิษ และจัดการกับเถ้าถ่านหิน

ทุก ๆ 3.5 นาที โรงไฟฟ้าถ่านหินจะปล่อยน้ำเสียออกมาในปริมาณที่เติมสระว่ายน้ำในการแข่งขันโอลิมปิกได้สบาย ๆ ถ่านหินจะดูดทรัพยากรน้ำและทำให้สภาวการณ์ขาดแคลนน้ำวิกฤตหนัก แต่เรายังสามารถหลีกเลี่ยงมันได้โดยหันมาเลือกใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน ไม่ใช่แค่เพื่อสภาพภูมิอากาศในโลกของเรา แต่เพื่อการใช้น้ำในการผลิตพลังงานอีกด้วย 

Blogpost โดย Iris Cheng -- มีนาคม 23, 2558 ที่ 20:18
 




 

Create Date : 24 มีนาคม 2558   
Last Update : 24 มีนาคม 2558 15:53:00 น.   
Counter : 1112 Pageviews.  


แผนพีดีพี ภาพสะท้อนของกำลังสำรองไฟฟ้าล้นเกิน และความไม่จำเป็นของโรงไฟฟ้าถ่านหิน

รู้หรือไม่ว่า หากประเทศไทยสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2578 (PDP 2015) เราจะมีไฟฟ้าล้นเกินการใช้งานในแต่ละปีมากถึง 1,800-15,000 เมกะวัตต์

อีกครั้งหนึ่งที่แผน PDP วางแผนผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ที่ผ่านมาการจัดทำแผน PDP ของประเทศมีข้อวิพากษ์จากภาควิชาการและภาคประชาชนเนื่องจากมีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงกว่าความเป็นจริง ผลคือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับแผนที่วางไว้ นำไปสู่การผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินการใช้งาน เกิดการลงทุนเกินความจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน นั่นหมายถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสุขภาพของคนในพื้นที่ขยายเพิ่มมากขึ้น ดังที่เกิดปัญหาในหลายกรณี ยิ่งไปกว่านั้นยังกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะสูงขึ้นในอนาคตตามการปรับโครงสร้างราคาไฟฟ้า ผลกระทบจึงล้วนตกอยู่กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่อาจต้องใช้ไฟจากโรงไฟฟ้าที่สร้างผลกระทบให้กับชุมชนอย่างไม่มีทางเลือก รวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าที่ต้องสูญเสียวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนไป ทั้งที่การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน และประเทศไทยมีศักยภาพอย่างเต็มที่

การผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ล้นเกินถึงปี พ.ศ.2573

ในการถกเถียงประเด็นกลไกอีไอเอ/อีเอชไอเอ กรณีถ่านหินกระบี่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คุณศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ได้วิเคราะห์ถึง “ความไม่จำเป็นของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และทางเลือกพลังงานยั่งยืน” ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

“กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศคาดว่าจะล้นเกินอย่างมากจนถึงปี พ.ศ. 2573 โดยที่ในแต่ละปีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจะล้นเกิน 1,800-15,000 เมกะวัตต์ ในแต่ละปี จากเกณฑ์มาตรฐานกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (ร้อยละ 15) ซึ่งหมายความว่าขณะนี้เรามีความมั่นคงทางพลังงานมากพออยู่แล้ว แต่แนวทางแผน PDP ยังคงยืนยันว่าต้องมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อเพิ่มความมั่นคง แม้จะไม่มีมติผูกพัน และมีปัญหาขัดแย้งหลายภาคส่วน การเลื่อนโครงการถ่านหิน 4 โครงการ ไปอีก 12 ปี คือ ที่เขาหินซ้อน กระบี่ และเทพาอีกสองโรง จะไม่มีผลกระทบ และช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า รวมถึงลดกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่ล้นเกินได้” คุณศุภกิจ นันทะวรการ กล่าว

คุณศุภกิจ นันทะวรการ วิเคราะห์ว่าการใช้พลังงานไฟฟ้าเมื่อปี 2557 ว่า มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด คือ 26,942 เมกะวัตต์ ในวันที่ 23 เมษายน 2557 ซึ่งต่ำกว่าที่พยากรณ์ความต้องการไว้ในแผน PDP 1,848 เมกะวัตต์ โดยรวมแล้ว ระบบไฟฟ้าไทยในปีพ.ศ.2557 มีกำลังผลิตติดตั้งมากกว่าความต้องการอยู่ 6,437 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังผลิตสำรองมากถึงร้อยละ 23.9 ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด โดยที่เกณฑ์มาตรฐานของการผลิตไฟฟ้าเพื่อสำรองไฟนั้นอยู่ที่ร้อยละ 15

ภาคใต้กำลังผลิตไฟฟ้าไม่พอ จริงหรือ?

เหตุการณ์ไฟฟ้าดับพร้อมกันใน 14 จังหวัดภาคใต้นาน 6 ชั่วโมง เมื่อ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2556 ยังคงเป็นข้ออ้างหลังถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งในความจริงภาคใต้มีกำลังผลิตติดตั้ง 2,429 เมกะวัตต์ รวมถึงอีกสองระบบเข้ามาเสริม คือ การรับจากภาคกลาง 500 เมกะวัตต์ และมีการแลกไฟฟ้ากับประเทศมาเลเซียอีก 300 เมกะวัตต์ เฉลี่ยแล้วรวมทั้งสิ้น 3,229 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองโครงการมีการลงทุนไว้แล้วมูลค่าหลาย 10,000 ล้านบาทแต่มักไม่ถูกนับรวมในแผนการผลิตพลังงาน ดังนั้นเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการจ่ายไฟ ไม่เกี่ยวกับการที่กำลังการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชน

ในปีพ.ศ. 2557 ความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้สูงสุดอยู่ที่ 2,468 เมกะวัตต์ ขณะที่ข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตระบุไว้ว่า ทางภาคใต้สามารถผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 3,888 เมกะวัตต์ แม้ในแผน PDP จะมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2558 จะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งจะทำให้ความต้องการสูงสุดอยู่ที่ 2,609 เมกะวัตต์  แต่หากไม่นับโรงไฟฟ้าดีเซลสุราษฎร์ฯ และสายส่งจากมาเลเซีย ในปีพ.ศ.2558 นี้ คุณศุภกิจ คาดว่าจะมีกำลังผลิตสำรอง 754 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 29 ของการใช้สูงสุด และหากคิดรวมทั้งหมด (โรงไฟฟ้าดีเซลสุราษฎร์ฯ 234 เมกะวัตต์ และ สายส่งจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์) จะมีกำลังผลิตสำรอง 1,279 เมกะวัตต์ เรียกได้ว่าเกินพอต่อความต้องการ ถึงร้อยละ 49

“เมื่อประเมินแล้ว ภาคใต้จำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2564-2565 ประมาณ 400 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถเพิ่มได้จากการปรับปรุงโรงไฟฟ้าขนอม กำลังผลิตไฟฟ้า 930 เมกะวัตต์ และสามารนำแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี มาใช้ตามร่างแผน PDP 2015 ซึ่งเป็นแผนที่คุ้มค่ามากในการลงทุน โดยในช่วง 5 ปีแรกใช้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ 29,500 ล้านบาท เพื่อการประหยัดถึง 55,700 ล้านบาทต่อปี” คุณศุภกิจ นันทะวรการ กล่าว

พลังงานหมุนเวียน ศักยภาพที่ไทยมี
แต่แผน 
PDP ยังไม่สนับสนุนเต็มร้อย

ภาครัฐมักอ้างว่าพลังงานหมุนเวียนมีความไม่มั่นคง และมีต้นทุนที่สูง แต่แท้ที่จริงแล้วไฟฟ้าจากถ่านหินนั้นมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชุมชนต้องเป็นผู้รับภาระจ่ายในส่วนของผลกระทบอย่างไม่สามารถคำนวนได้ แต่ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนเต็มร้อย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ จังหวัดกระบี่ ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าตามแผน PDP “ขณะนี้ร้อยละ 30 ของไฟฟ้าที่ใช้ในกระบี่นั้นมาจากพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ 11 ราย ชีวมวล 1 ราย แสงอาทิตย์ 1 ราย ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะขยับเป็นร้อยละ 50 จากโครงการที่ผ่านการเรียบร้อยแล้ว พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบของพลังงานชีวมวลและชีวภาพที่เหลือใช้จากโรงงานปาล์มมีสูงมาก จากโรงงานปาล์มทั้งหมด 17 โรง สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซชีวภาพจากกากปาล์มและน้ำเสียแล้วทั้งสิ้น 13 โรง และผลิตไฟฟ้าด้วยชีวมวลจากกากเส้นใย และเศษวัสดุ 4 โรง ยังไม่รวมถึงศักยภาพจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งสามารถทำให้กระบี่ตั้งเป้าพึ่งตนเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าทำได้เมื่อไร และอย่างไร” คุณศุภกิจ นันทะวรการ กล่าวทิ้งท้าย

น่าเสียดายกำลังไฟฟ้าที่จะสูญหายไปโดยเปล่าประโยชน์จากการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาด และพยายามดึงดันเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินจากร้อยละ 20 เป็น 30 ของแผน PDP 2015 ผู้กำหนดนโยบายจำต้องมีวิสัยทัศน์และเจตจำนงแน่วแน่ในการปฏิวัติพลังงานไทยไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนอย่างแท้จริงด้วยระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด การนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียและอินโดนีเซียนั้นมิได้ตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน แต่เป็นการทิ้งภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า และชุมชน  อีกทั้งเมื่อมองผ่านมุมวิเคราะห์กำลังสำรองไฟฟ้าที่ยังเหลือใช้เช่นนี้แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินยิ่งไม่ใช่คำตอบ ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรืออนาคต

Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- มีนาคม 18, 2558 ที่ 13:57




 

Create Date : 18 มีนาคม 2558   
Last Update : 18 มีนาคม 2558 16:17:44 น.   
Counter : 1415 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com