กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

ชาวไทยรวมพลัง “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน”

กรุงเทพฯ, 18 พฤษภาคม 2557—วันนี้อาสาสมัคร เยาวชน ผู้สนับสนุนกรีนพีซ และนักวิ่งกว่า 1,500 คนร่วมวิ่งรณรงค์ปกป้องกระบี่ เพื่อสร้างความตระหนักแก่สาธารณะชนและแสดงเจตจำนงในการรวมพลังปกป้องกระบี่ พื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับโลก จากโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

กิจกรรม “Greenpeace Mini marathon – Run for Krabi” จัดขึ้นที่สวนหลวงพระราม 8 ในช่วงเวลาก่อนการวิ่งรณรงค์ กลุ่มเยาวชน อาสาสมัครกรีนพีซและนักวิ่งได้ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ กางป้ายผ้าภาพพะยูน ขนาด 5x12 เมตร พร้อมข้อความ “Protect Krabi” หรือ “ปกป้องกระบี่” เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดกระบี่  จังหวัดกระบี่มีพื้นที่หญ้าทะเลขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย นอกจากนี้ยังถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar Convention) และเป็นหนึ่งในจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งหมด 10 แห่งในประเทศไทยที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด

“จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์  โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างรุนแรง  รวมถึงสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตต่างๆที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว วันนี้ผู้คนกว่าพันคนได้มารวมตัวเพื่อแสดงพลังในงานรณรงค์ครั้งสำคัญนี้ พวกเราหวังว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องถูกทบทวนและยกเลิกในที่สุด” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ เป็นโครงการภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3) ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดยมีแผนดำเนินการสร้างในพื้นที่โรงไฟฟ้าเดิมของ กฟผ. เชื้อเพลิงถ่านหินอย่างน้อย 2.3 ล้านตันจะถูกนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ทุกๆ ปี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ในการขนถ่ายถ่านหินจะต้องขุดลอกพื้นที่ทะเลเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมของกระบี่ โดยเฉพาะปะการัง หญ้าทะเล ผืนป่าชายเลน แหล่งทำประมงพื้นบ้าน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ถิ่นที่อยู่อาศัยของพรรณพืชและสัตว์ และสร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่

“โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่กำลังคุกคามมรกตแห่งอันดามัน การพัฒนาใดๆในพื้นที่แห่งนี้ควรคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มาจากการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น การศึกษาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนเพื่อนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับจังหวัดกระบี่จึงเป็นทางออกที่ควรรีบลงมือ แทนที่จะกดดันให้ประชาชนมีตัวเลือกเพียงถ่านหินเท่านั้น”

“จังหวัดกระบี่กำลังก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน จากร่างแผนพัฒนาพลังงานหมุนเวียน จ.กระบี่ (2556-2570) ซึ่งจัดทำขึ้นโดยมูลนิธิสุขภาวะ กระบี่มีศักยภาพที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าใช้จากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด นอกจากนี้ จังหวัดกระบี่ยังสามารถบรรลุผลการลงนามปฏิญญาจังหวัดร่วมกันเพื่อผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนอีกด้วย (1) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงสวนทางกับแนวทางการพัฒนาของจังหวัดโดยสิ้นเชิง” จริยากล่าวเสริม

ประชาชนสามารถร่วมผลักดันข้อเรียกร้องยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่โดยการลงชื่อ "ปกป้องกระบี่" ได้ที่www.protectkrabi.org

กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร. +6681 692 8978 อีเมล chariya.senpong@greenpeace.org

 สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร. 081 929 5747 อีเมล spanasud@greenpeace.org

หมายเหตุ

(1)  //103.28.101.10/anda/krabi/download/Declaration.pdf




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 14:55:18 น.   
Counter : 833 Pageviews.  


แถลงการณ์ ประณามการใช้ความรุนแรงข่มขู่คุกคามทำร้ายชาวบ้านนักต่อสู้ เพื่อสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ตามที่ปรากฏรายงานข่าวว่าเมื่อช่วงกลางดึกคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ต่อเนื่องจนถึงเช้ามืดวันที่ 16 พฤษภาคม มีกลุ่มชายฉกรรจ์ปิดคลุมใบหน้าจำนวนประมาณ 100 กว่าคนพร้อมอาวุธปืนและไม้ บุกเข้าใช้กำลังควบคุมตัวและทำร้ายชาวบ้าน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” ที่กำลังเฝ้าเวรยามดูแลไม่ให้รถบรรทุกใช้เส้นทางหมู่บ้านเข้าไปขนแร่จากเหมืองแร่ทองคำ บ้านนาหนองบง ตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นเหตุให้ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างน้อย 7 คน และบาดเจ็บเล็กน้อยอีกไม่ต่ำกว่า 20 คน โดยมีรายงานเบื้องต้นว่าชายฉกรรจ์กลุ่มดังกล่าวได้เข้าปิดล้อมจับชาวบ้านบางส่วนมัดมือ คว่ำหน้า ทำร้ายร่างกาย ใช้ปืนยิงข่มขู่ และขัดขวางไม่ให้มีการนำตัวชาวบ้านที่บาดเจ็บสาหัสส่งโรงพยาบาล ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถเข้าไปดำเนินการขนแร่ออกมาจากเหมืองแร่ทองคำได้ ดังปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่ามีการใช้รถบรรทุกขนแร่ออกไปจากพื้นที่จำนวนหลายคันรถนั้น

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และองค์กรดังมีรายชื่อข้างท้าย ขอประณามการใช้กำลังและความรุนแรงข่มขู่คุกคามทำร้ายชาวบ้าน “กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด” นี้อย่างถึงที่สุด โดยถือเป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายของบ้านเมือง เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายและเสรีภาพของประชาชนอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง และเป็นการข่มขู่คุกคามชาวบ้านในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) ที่ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชน
เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องในสังคมไทยและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)  และองค์กรดังมีรายชื่อข้างท้าย จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้         
  1. ให้ตำรวจและหน่วยงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินคดีและนำตัวผู้กระทำความผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาดำเนินการลงโทษตามกฎหมายให้ถึงที่สุด
  2. ให้หน่วยงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการเยียวยาความเสียหายแก่ชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหายโดยเร็ว
  3. ให้ตำรวจและหน่วยงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของชุมชนและป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ข่มขู่คุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมายเช่นนี้ซ้ำอีก
  4. ให้รัฐบาลและหน่วยงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกำหนดให้มีกลไกมาตรการการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) อย่างเป็นระบบ

ด้วยความเคารพต่อสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น
ศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace Southeast Asia)
สถาบันพัฒนานักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ //www.protectkrabi.org #ProtectKrabi




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 16:41:30 น.   
Counter : 716 Pageviews.  


อีเอชไอเอ ค.2 ความผิดซ้ำสองของกฟผ. ที่กระบี่

เสียงปืน ความรุนแรง การข่มขู่ นี่คือสมรภูมิสงครามหรือการผลักดันให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่



ขอบคุณรูปภาพจาก //transbordernews.in.th/

หลังจากการเกิดความรุนแรง และการละเมิดสิทธิประชาชนในกระบวนการจัดทำ ค.1 เส้นทางขนส่งถ่านหินกระบี่  แต่ความรุนแรงต่อพี่น้องชาวกระบี่ผู้ปกป้องบ้านเกิดของตนและคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงเกิดขึ้น และยิ่งทวีความรุนแรกมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กำหนดไว้ว่าจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นกรณีการสร้างท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินกระบี่ (อีเอชไอเอ) ครั้งที่ 2 (ค.2 ) ในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ในที่สุดกลับจบลงด้วยการเลื่อนวันและเวลาในการจัดเวทีออกไปอย่างไม่แจ้งล่วงหน้า และไม่มีกำหนดการครั้งใหม่

ถ่านหิน ชนวนแห่งความขัดแย้งจากอำนาจผูกขาดทางพลังงาน

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เกิดกรณีการใช้ความรุนแรงของการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านคลองรั้ว อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ อีกครั้ง โดยทางเครือข่ายประชาชนภาคใต้และเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินได้กล่าวว่า “กฟผ.และบริษัทรับจ้างกลับใช้บริการของนักเลงอันธพาล ข่มขู่ประชาชนที่ออกมารักษาวิถีชีวิตและทรัพยากร มีการนำแพขนาดใหญ่เข้ามาเพื่อจะเข้าชนเรือประมงชาวบ้าน แต่การรวมตัวอย่างเข้มแข็งทำให้รอดพ้นมาได้ นอกจากนี้ยังมีการยิงปืนข่มขู่เพื่อให้ชาวบ้านสลายตัว พฤติกรรมดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการไม่สนใจความถูกต้อง ขอเพียงสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้เท่านั้น” การเกิดความรุนแรงในพื้นที่อันเนื่องมาจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และการเข้ามามีบทบาทของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่คลองรั้วทำให้เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินตั้งข้อสงสัยว่าสิ่งเหล่านี้คือ “ผลลัพธ์ของการใช้อำนาจที่ผูกขาดมานานของระบบไฟฟ้าประเทศไทย” และ “ทำไมกระทรวงพลังงานไม่ตั้งโจทย์ว่าจะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างไร แต่กลับไปตั้งโจทย์ว่าต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่มาจากถ่านหินทั้งที่มีงานวิจัยหลายพื้นที่ในโลกว่าก่อผลกระทบอย่างมหาศาลและร้ายแรงที่สุดในบรรดามลพิษทางอากาศทั้งหลาย” 

ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันนัดหมายสำคัญของพี่น้องชาวกระบี่ผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือคลองรั้ว กว่า 300 คนจากหลายหมู่บ้าน หลายอำเภอ หลายตำบล และหลากหลายอาชีพ ทุกคนต่างเดินทางไปยังเวทีรับฟังความคิดเห็นกรณีการสร้างท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินกระบี่ ค.2 เพื่อแสดงออกทางความคิดเห็นของคน และปกป้องมรกตแห่งอันดามันของไทยจากการคุกคามของโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ทางเจ้าหน้าที่ กฟผ.กลับแจ้งว่าอาจต้องเลื่อนวันและเวลาจัดกิจกรรมออกไปโดยไม่มีกำหนด และไม่มีการบอกล่วงหน้า หากใครที่เคยไปกระบี่คงทราบดีว่า การเดินทางข้ามเกาะ จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งต้องใช้เวลาเป็นอย่างมาก โดยการเกิดขึ้นของเวทีรับฟังความคิดเห็นในแต่ละครั้งนั้นมักแจ้งกำหนดการในช่วงเวลาสั้นๆ ล่วงหน้าเท่านั้น พี่น้องชาวกระบี่จึงกล่าวว่า “หาก กฟผ.ต้องการความเห็นประชาชนจริงๆต้องดำเนินการเวทีภายในวันและเวลาที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งข้อมูลที่สาธารณะรับรู้คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2557 ณ ตำบลคลองรั้ว โดยหากกฟผ.จะเลื่อนวันเวลาออกไป จำเป็นต้องแจ้งชาวบ้านทราบให้แน่ชัดและแจ้งล่วงหน้า ไม่สามารถทำได้โดยกระชั้นชิดอย่างนี้ ดังนั้นเมื่อ กฟผ.ดำเนินการไม่เป็นระบบ เวทีวันนี้ ถือว่าโมฆะ เพราะชาวบ้านเดินทางมารอร่วมเวทีเป็นเวลาหลายชั่วโมง”  

การยุติปัญหาความขัดแย้งเรื่องความมั่นคงทางพลังงานนั้น   ทางออกที่ดีที่สุดคือ เพียงแค่รัฐหันมาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สร้างมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวอันงดงาม รวมถึงช่วยรักษาวิถีชีวิตของชุมชนไว้ พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับอนาคตพลังงานของไทย บางทีรัฐบาลและกฟผ. เองอาจกำลังหลงลืมไปว่าสิ่งที่พี่น้องชาวกระบี่กำลังปกป้องอยู่นั้นคือชีวิตของพวกเขา และแหล่งทำรายได้ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลให้กับประเทศไทย ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเปลี่ยนแปลงกระบี่ไปตลอดกาล                                                                                                                       

อ่านแถลงการณ์เหตุการณ์ความรุนแรงกรณีการผลักดันสร้างท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินบ้านคลองรั้ว

ร่วมเป็นอีกพลังช่วยปกป้องกระบี่ด้วยการลงชื่อปกป้องกระบี่จากถ่านหินที่ www.protectkrabi.org


Blogpost
โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- พฤษภาคม 12, 2557 ที่ 11:56




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 14:49:20 น.   
Counter : 958 Pageviews.  


สิบเหตุผลที่ถ่านหินไม่มีวันสะอาด

ท่ามกลางม่านหมอกควันมลพิษในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน สิ่งที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังบิดเบือนความจริงก็คือ มายาคติที่ว่า “ถ่านหินสะอาด” อันที่จริงแล้ว ถ่านหินสะอาดคือความพยายามของภาคอุตสาหกรรมเพื่อลบล้างภาพลักษณ์ที่สกปรก เป็นคำประดิษฐ์ของอุตสาหกรรมถ่านหิน มิใช่ถ่านหินชนิดใหม่แต่อย่างใด และนี่คือสิบเหตุผลง่ายๆ ที่ถ่านหินไม่มีสะอาด




หนึ่ง

เทคโนโลยีการเผาที่พ่นหินปูนเข้าไปในเตาเผาเพื่อให้หินปูนทำหน้าที่ดูดซับกำมะถันไม่ช่วยให้การเผาถ่านหินเป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างไร เนื่องจากเทคโนโลยีการเผาไหม้ถ่านหินสะอาดวิธีอื่นยังคงอยู่ในขั้นตอนการเริ่มพัฒนา และไม่มีแนวโน้มที่จะพัฒนาประสิทธิภาพได้เกินร้อยละ 43 อาจจะได้รับการพัฒนาให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่ก่อนจะถึง 100 ปีนั้นสิ่งแวดล้อมจะต้องถูกทำลายไปอย่างไม่สามารถหวนคืน

สอง

การทำความสะอาดถ่านหินจะช่วยลดระดับซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ แร่ธาตุในถ่านหิน ไม่เป็นความจริง เนื่องจากผลจากการทำความสะอาดถ่านหินทำให้เกิดสารอันตรายจำนวนมาก โดยการนำถ่านหินไปกองไว้รวมกัน และให้น้ำฝนเป็นตัวชะล้าง โดยน้ำฝนจะชะเอาสารพิษออกจากถ่านหินและน้ำเสียเหล่านั้นก็จะไหลลงสู่แม่น้ำ และลำธารน้ำเสียจะเต็มไปด้วยกรดและโลหะหนักต่างๆ แต่ซัลเฟอร์ไม่ใช่มลพิษชนิดเดียว ยังมีปรอทที่ไม่สามารถควบคุมได้

สาม

การเผาไหม้โดยใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดไม่สามารถควบคุมมลพิษให้กับโรงไฟฟ้าด้วยการลดการปล่อยก๊าซที่ปนสารพิษได้จริง ถ่านหินประกอบด้วยวัสดุที่ไม่สามารถเผาไหม้ประมาณร้อยละ 7-30 และจะต้องมีการกำจัดขั้นสุดท้ายในที่สุด เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดพยายามดักจับกากของเสียเหล่านี้ก่อนที่จะถูกปล่อยออกทางปล่องของโรงไฟฟ้า กากของเสียพร้อมด้วยสารพิษตกค้างเหล่านี้ไม่ได้หายไปไหน การใช้ถ่านหินที่มีคุณภาพสูงขึ้น ซึ่งมีปริมาณเถ้าและซัลเฟอร์ต่ำกว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเสียออกทางปล่อง และเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นได้ แต่ประสิทธิภาพด้านความร้อนจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 แน่นอนว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มสูงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะใช้ดักจับปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินได้  


สี่

ถ่านหินสะอาด คือ วิธีการปล่อยทิ้งมลพิษจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ซึ่งในที่สุดก็ยังคงปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อมอยู่นั่นเอง เมื่อใดก็ตามที่มีการเผาไหม้ถ่านหิน ก็จะมีการปล่อยสารปนเปื้อนออกมา ซึ่งอาจอยู่ในรูปของเถ้าลอย ก๊าซที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ น้ำเสีย หรือ กากของเสีย ที่ถูกทิ้งไว้หลังการเผาไหม้ ท้ายที่สุดล้วนแต่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม

ห้า

การดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ที่กล่าวว่าสามารถจับคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และกักเก็บมันไว้ในทะเล หรือใต้ผิวโลก มีราคาต้นทุนการผลิตพลังงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 เป็น 80 เกิดรายจ่ายมากขึ้นในระยะยาว การเฝ้าระวังและการตรวจสอบที่กินเวลานานนับทศวรรษเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บไว้ แม้กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดในการเข้าไปแทรกแซงเพื่อป้องกันหรือควบคุมเหตุการณ์รั่วไหลที่อาจเกิดขึ้นได้ ด้วยความไม่แน่นอนนี้เองจึงไม่ไม่ใช่เทคโนโลยีสำหรับวันนี้หรือในอนาคต

หก

ต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่สามารถประเมินค่าได้ ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ถ่านหินเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เหมือง คนงานในเหมืองเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และความเจ็บป่วย ชุมชนท้องถิ่นต้องได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียที่มีภาวะเป็นกรดจากโรงไฟฟ้าลงสู่แม่น้ำและลำธาร การปล่อยสารปรอทและสารพิษอื่นๆ ในกระบวนการเผาไหม้ รวมถึงก๊าซที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ และสุขภาพมนุษย์


เจ็ด

ถ่านหินเป็นหนึ่งในสาเหตุอันดับต้นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากเหมืองขึ้นสู่ท้องฟ้า จากการขุดเจาะไปจนถึงการเผาไหม้ ก่อให้เกิดมลพิษในทุกขั้นตอนการผลิต โดยถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เต็มไปด้วยธาตุคาร์บอน โดยปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์มากกว่าน้ำมันร้อยละ 29 และปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่าก๊าซถึงร้อยละ 80

แปด

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยทั่วไป อาทิโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่นั้นต้องใช้น้ำอย่างน้อย 104,330 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน น้ำหล่อเย็นของโครงการโรงไฟฟ้าจะถูกปล่อยลงแหล่งน้ำ อย่างน้อย 66,960 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ นอกจากนี้ถ่านหินที่ตกลงทะเลจะก่อมลพิษในท้องทะเลและสร้างสารพิษปนเปื้อนเมื่อรับประทานอาหารทะเลที่จับได้ในบริเวณนั้น

เก้า

การขนส่งถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศจำเป็นต้องขนส่งทางเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ ซึ่งระหว่างที่เรือเดินทางในทะเลนั้นจะทำลายแนวปะการัง ห่วงโซ่อาหาร สัตว์น้ำทั้งหมด รวมถึงทำให้เกิดสารพิษปนเปื้อนในอาหารทะเล

สิบ

ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและร้องเรียนต่อผู้สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่มักจะถูกเพิกเฉยเนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากภาครัฐ และไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการ EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นมักเกิดขึ้นโดยไม่รับฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยกับการเกิดขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานสกปรก

ร่วมลงชื่อหยุดยั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ได้ที่ www.protectkrabi.org



Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 26, 2557 ที่ 10:04




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 14:36:56 น.   
Counter : 1146 Pageviews.  


พอกันทียุคอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก

"การเปลี่ยนแปลงเพื่อสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นโอกาส ไม่ใช่ภาระ … และสำหรับกรีนพีซแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องหยุดการเผาผลาญถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซซึ่งเราสามารถทำได้"



เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอีกสัปดาห์ที่ยาวนานในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี หลังจากเมือเดือนมีนาคมรายงานฉบับที่สองของชุดรายงานการประเมินคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ IPCC เผยว่าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ขยายวงกว้างอย่างรวดเร็วในทั่วทุกทวีปและมหาสมุทร และอาจเลวร้ายมากไปกว่านี้หากเลือกแนวทางที่คำนึงเพียงผลระยะสั้น และโลกยังไม่พร้อมกับหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อมารายงานล่าสุดในฉบับที่สามของ IPCC ได้ออกมาสรุปย้ำเตือนอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน ถึงทางออกของวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น

และคำตอบนั้นชัดเจนว่า โลกจำเป็นต้องปฏิวัติสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนอย่างเร่งด่วน


ในการประชุมเรื่องสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมเป็นผู้นำด้านพลังงานระดับโลก และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ได้กล่าวสรุปว่า ในการป้องกันหายนะภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ระบบการผลิตพลังงานจากทั่วโลกจะต้องปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วนตั้งแต่ระดับพื้นฐานและสำหรับกรีนพีซแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องหยุดการเผาผลาญถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซซึ่งเราสามารถทำได้

เพราะยุคของพลังงานหมุนเวียนมาถึงแล้ว

พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยนั้นกำลังขยายตัวเติบโตขึ้น พัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และประหยัดขึ้นทุกวัน ซึ่งเป็นทางออกที่โลกต้องการ พลังงานหมุนเวียนเป็นทางออกที่เอื้อต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากที่สุด สอดคล้องกับศักยภาพทางพลังงานของหลากหลายประเทศทั่วโลก

กลายเป็นว่าพลังงานสะอาดนั้นไม่ได้มีต้นทุนสูง แต่การนิ่งเฉยต่างหากที่ทำให้เป็นเช่นนั้น โดยต้นทุนที่สูงนั้นยังต้องคำนึงถึงชีวิต วิถีชีวิต และเศรษฐกิจที่ต้องสูญเสียไป หากรัฐบาลและภาคธุรกิจยังคงยินยอมให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้ปัญหาหลักคือระบบพลังงานสกปรกที่ล้าหลังตกยุค ตัวอย่างเช่น โรงงานไฟฟ้าเก่าที่ปล่อยมลพิษ เมื่อกรีนพีซสากลได้สอบถามกับบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ในปัจจุบัน พวกเขายอมรับว่าเขาเข้าใจถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานสะอาด แต่การลงทุนที่บริษัทได้ทุ่มเทไปกับโรงไฟฟ้าพลังงานสกปรก เป็นสิ่งที่เหนี่ยวรั้งกลุ่มบริษัทพลังงานเหล่านี้ไว้

ถึงเวลาแล้วที่จะบอกกับอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลว่า ยุคพลังงานสกปรกนั้นผ่านพ้นไปแล้ว


กรีนพีซมุ่งมั่นที่จะปูทางเดินสู่ยุคพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเคารพต่อสิทธิของผู้คนที่ทำงานในส่วนของพลังงานสกปรก จากการวิเคราะห์รายงานปฏิวัติพลังงาน (Energy Revolution)  ระบุว่าภายในทศวรรษที่ผ่านมา พลังงานหมุนเวียนได้สร้างงานมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในทวีปแอฟริกาใต้ การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานหมุนเวียนเพียงแค่ประเทศเดียวสามารถเพิ่มตำแหน่งงานได้มากถึง 149,000 ตำแหน่ง ภายในปีพ.ศ. 2573 เรียกได้ว่ามากกว่าแผนพัฒนาปัจจุบันของรัฐบาลถึง 38,000 ตำแหน่งทีเดียว

รายงาน IPCC กล่าวว่า ก๊าซเรือนกระจกกำลังขยายตัวมากขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และเราไม่มีเวลาอีกแล้ว โดยกว่าครึ่งของจำนวนก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประเทศจีนก่อมลพิษขึ้นจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงถ่านหิน และการเดินหน้าผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไปนั้นยิ่งจะทำให้ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศจีนเลวร้ายยิ่งขึ้น ล่าสุดจีนจึงนำมาตรการอากาศปลอดมลพิษมาใช้ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ประชาชนชาวจีนมีอากาศบริสุทธิ์ได้หายใจเต็มปอดเท่านั้นแต่ยังเป็นการร่วมยุติการเพิ่มขึ้นของมลพิษที่เกิดขึ้นในโลกก่อนปี 2563

การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงของจีนนั้นจะเป็นการแปรเปลี่ยนกระแสของการโต้เถียงเรื่องสภาพภูมิอากาศของโลก ว่าประเทศใดจะเป็นผู้เริ่มก่อน และแทนที่จะใส่ไฟว่าใครเป็นผู้ผลิตก๊าซเรือนกระจกมากกว่ากัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ จะต้องยอมรับความจริงว่าหากเรายังมัวแต่เถียงกันต่อไป และไม่ลงมือเปลี่ยนแปลง ปี 2593 อาจไม่มีมนุษย์หลงเหลือคอยปลดปล่อยมลพิษได้อีกต่อไป เรามาถึงจุดที่ต้องเลิกคิดแล้วว่าการลงมือเพื่อสภาพภูมิอากาศนั้นเป็นสิ่งที่ยากเกินความสามารถ

ถึงคราวที่มังกรแห่งเอเชียจะผงาดเหนือยุโรปและอเมริกา พาโลกหมุนไปสู่ยุคการยุติมลพิษ โดยมาตรการเพื่อลดวิกฤตโลกร้อนก็จะถูกนำไปใช้ในเมืองปารีสในปีหน้าเช่นกัน การริเริ่มเดินหน้าสู่พลังงานหมุนเวียนของจีนและปารีสนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน 100% ยุติการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่นานนักรัฐบาลจากทั่วโลกคงจะเข้าใจถึงใจความสำคัญของรายงาน IPCC ที่เผยออกมาในสัปดาห์นี้ และสำหรับประเทศไทย รัฐบาลคงต้องตอบคำถามกับชาวไทยและประชาชนทั้งโลกว่า ในขณะที่โลกกำลังหมุนสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน เหตุใดจึงไม่ยุติการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานสกปรกอย่างถ่านหิน และหันมาผลักดันการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนเสียที

ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ //www.protectkrabi.org #ProtectKrabi


Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- เมษายน 21, 2557 ที่ 12:36




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2557   
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 16:42:52 น.   
Counter : 1004 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com