กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
 

นมเชอร์โนบิล

ตอนเด็ก ฉันไม่ชอบดื่มนมเลย ไม่ว่าแม่ของฉันจะพยายามเติมน้ำตาลหรือช็อกโกแลตผสมลงไป แต่ฉันก็ยังไม่ชอบมันอยู่ดี สิ่งเหล่านี้คือเรื่องราวเล็กๆระหว่างฉันกับแม่เมื่อฉันเติบโตขึ้น วันนี้ฉันเป็นผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กรีนพีซและได้มีโอกาสเดินทางไปที่ยูเครน ภารกิจของเราก็คือ จะต้องทดสอบการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีของนมในบริเวณดังกล่าว แม้ว่าพวกเราจะขับรถออกมาจากเชอร์โนบิลราว 4 ชั่วโมง เรายังคงพบการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี โดยเฉพาะในนม ซึ่งเป็นอาหารจำเป็นของผู้คนที่นี่

พวกเรารู้ว่านมเหล่านี้มีการปนเปื้อน เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลออกมาหลังจากการเกิดเหตุระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล อย่างไรก็ตาม พวกเราหวังว่าจะไม่พบการปนเปื้อนดังกล่าว พวกเราไม่ต้องการตรวจสอบนมจากเจ้าของฟาร์มที่นี่ แล้วบอกพวกเขาว่า พวกเขากำลังในใส่ยาพิษลงในนมเหล่านั้นให้กับพวกเขาและเด็กๆ ของเขา การสะสมของกัมมันตภาพรังสีในร่างกายของเด็กเป็นเวลานาน เป็นสาเหตุให้เด็กปวดหัวผิดปกติ หมดสติและติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด พวกเราจะพูดอย่างไรกับผู้คนเหล่านี้ที่ชีวิตของเขาต้องขึ้นอยู่กับมัน ช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งวัน พวกเราพบตัวอย่างของการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในนมสูงกว่า 5-16 เท่า เมื่อเทียบกับการจำกัดระดับของกัมมันตภาพรังสีเพื่อความปลอดภัยของเด็กในยูเครน และสูงกว่า 30 เท่าเมื่อเทียบกับตัวอย่างที่เก็บได้ในเมืองเคียฟ (Kiev) ซึ่งเป็นตลาดที่มีการควบคุมอย่างใกล้ชิดและมีการตรวจการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีอย่างสม่ำเสมอ ฉันรู้สึกประหลาดใจมากหากแม่เด็กเหล่านี้ยังคงยืนยันที่จะให้ลูกของพวกเขาดื่มนมเหล่านี้ทุกเช้า

จากการสอบถาม พวกเราพบว่า แม่ของเด็กเหล่านี้รู้ว่านมและอาหารมีปัญหาการปนเปื้อนกัมมันภาพรังสี คนเหล่านี้จำเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เชอร์โนบิล และรู้สึกกลัวตลอดเวลาว่าพวกเขาอาจจะต้องตายภายในปีนี้ อย่างไรก็ตามพวกเขาไม่ได้เสียชีวิตภายในปีนั้นหรอก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเชอร์โนบิลจะยังคงอยู่และพวกเขาจะต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ในทุกๆวันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยปริยาย ในขณะเดียวกัน ที่โรงพยาบาลเด็ก พวกเราได้รับการบอกเล่าว่าที่นั่นแย่มาก ยังคงมีเด็กเข้ามารักษาเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งโรคกระดูกเสื่อม โลหิตจาง เป็นต้น หากเด็กคนใดมีอาการร้ายแรงมากก็จะถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลของจังหวัด และหากร้ายแรงสุดก็จะถูกส่งตัวด่วนไปรับการรักษาที่เมืองเคียฟ

พวกเราได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในชาวบ้านที่นั่นเมื่อเขาได้สอบถามผลการทดสอบที่เราตรวจพบ ในจุดตรวจวัดการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี มีผู้หญิงหลายคนกำลังยืนต่อคิวและนำอาหารของพวกเขามาด้วย เพื่อขอร้องให้พวกเราตรวจการปนเปื้อนดังกล่าวและบอกความจริงแก่พวกเขา ฉันได้อธิบายถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นและชุมชนจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือให้ผู้หญิงคนหนึ่งฟัง การกำหนดเขตอันตรายพิเศษจึงไม่ใช่แค่รอบเชอร์โนบิล แต่ต้องรวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในวงกว้าง เธอหัวเราะต่อความไม่รู้ของฉันแล้วบอกว่า “ไม่มีใครสนใจพวกเราหรอก” ฉันได้แต่นิ่งเงียบ ไม่ได้ตอบเธอว่า พวกเราสนใจเธอนะ ถึงแม้ว่าคนอื่นไม่ใส่ใจก็ตาม

ต่อมาพวกเราได้พบกับผู้หญิงอีกคนหนึ่ง ซึ่งเธอเดินตรงเข้ามาหยุดพวกเราที่ด้านหน้าของโรงพยาบาลชุมชน เธออุ้มลูกน้อยวัยสี่ขวบพร้อมด้วยน้าตานองหน้าและถามว่าพวกเราเป็นหมอหรือเปล่าหรือหากไม่ใช่ ก็โปรดช่วยเธอด้วย ลูกชายตัวน้อยของเธอชื่อว่า อีวาน เขามักเป็นลมบ่อยๆ โดยไม่มีใครสามารถอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้นและบอกสาเหตุของอาการดังกล่าวกับลูกของเธอได้ อีวานจ้องมาที่พวกเราผ่านเสื้อคลุมตัวใหญ่ที่ปิดหน้าของเขาไว้จากอากาศหนาวเย็นนอกจากแววตาอันเย็นยะเยือกของเขาเอง อีวานเป็นเด็กค่อนข้างขี้อายและไม่ต้องการที่จะพูดกับพวกเรา ฉันไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออีวานได้ ฉันไม่สามารถที่จะช่วยใครได้เลย และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า พวกเรายังคงตรวจการปนเปื้อนกัมมันตรังสีต่อและพบการปนเปื้อนดังกล่าวภายในวันเดียวโดยใช้เพียงแค่คนกลุ่มเล็กๆทำงาน ต่อมาทางการของยูเครนและองค์กรระหว่างประเทศได้รับทราบข้อมูลการปนเปื้อนดังกล่าว และพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสูงมาก แต่พวกเขาก็ยังคงเพิกเฉยและไม่มีการสั่งการเพื่อแก้ปัญหาใดๆทั้งสิ้น พวกเราเข้าใจดีว่า พื้นที่เหล่านั้นเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากยูเครนและไกลจากสายตาของสาธารณชน มันจึงมิใช่ปัญหาของพวกเขา


เดือนเมษายนที่จะถึงนี้ก็จะครบ 25 ปีหายนะของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่รัฐยืนยันว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวไม่ได้แย่มากนัก และมันก็เป็นแค่อดีต รวมทั้งการกล่าวถึงกรณีการกำหนดพื้นที่พิเศษแยกออกมาเพื่อทำการเพาะปลูก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเรื่องราวของความหายนะด้านการจัดการพลังงานนิวเคลียร์ของโลกมันจบสิ้นแล้วและพวกเราสามารถที่จะลบออกจากความทรงจำได้แล้ว พวกเขาต้องการเปิดพื้นที่พิเศษเพื่อทำเกษตรกรรมและปลูกหญ้าเลี้ยงวัว แล้วใครจะเป็นคนดื่มนมจากแม่วัวเหล่านี้ แม่คนไหนจะกล้าบอกลูกให้ดื่มนมจนหมดแก้ว ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้คนทั่วไปและฉันไม่สามารถเห็นความจริงผ่านการเผยแพร่ข้อมูลทางโทรทัศน์อย่างแน่นอน เรื่องราวเหล่านี้ไม่เคยเปิดเผยออกสู่สายตาประชาชนเพราะผู้คนที่ทุกข์ทรมานเหล่านี้มิใช่คนที่มีชื่อเสียงทางสังคม ภาครัฐยังคงผลักดันกฎหมายใหม่เพื่อให้การสูญเสียที่เชอร์โนบิลสาบสูญในที่สุด เพื่อพวกเขาจะได้ไม่ต้องอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจำนวนน้อยนิดเพื่อผู้คนเหล่านั้นต่อไปจนกระทั่งปัจจุบัน มันดูเหมือนว่า ถ้าชาวบ้านเหล่านั้นสามารถมีชีวิตอยู่สัก 25 ปีหลังจากเชอร์โนบิลเดินเครื่อง แค่นั้นก็เป็นเรื่องที่ดีเกินพอสำหรับชาวบ้านอย่างพวกเขาแล้ว
เชอร์โนบิลไม่มีวันตายไปจากความทรงจำของพวกเรา สิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นเพื่อผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า อุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บนโลกใบนี้ เมื่อครั้งที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลถูกสร้างครั้งแรก ผู้คนคิดว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นสิ่งหนึ่งที่จะไม่มีทางเกิดปัญหาขึ้น วันนี้เราได้รับรู้เพียงแค่เศษเสี้ยวของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรที่ไกลห่างออกไปจากเขตควบคุมพิเศษแห่งนี้ ยังคงมีเด็กอีกหลายคนหมดสติครั้งแล้วครั้งเล่า หรือกระดูกของเขาแทบจะแตกออกจากกันเพียงแค่ล้มลงขณะออกมาขี่จักรยานเล่น ความเสี่ยงเล็กๆที่ต้องใช้เวลายาวนานเหลือเกินที่จะทำให้เด็กเหล่านี้กลับมาเหมือนเดิม 




 

Create Date : 14 มีนาคม 2554   
Last Update : 8 พฤษภาคม 2554 9:18:07 น.   
Counter : 1023 Pageviews.  


จีเอ็มโอขาลง กับความเชื่อที่บิดเบือน



หลายวันก่อนดิฉันได้มีโอกาสอ่านรายงานของประจำปีของ ISAAA หรือ International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Application ที่พูดถึงสถานการณ์ของการปลูกพืชจีเอ็มโอทั่วโลกของปีค.ศ.2010 ที่ผ่านมา ทำให้หวนคิดขึ้นมาว่า เป็นระยะเวลากว่า 15 ปีมาแล้วที่พืชจีเอ็มโอเข้ามาปะปนอยู่ในห่วงโซ่อาหารของเรา ถูกนำมาวางขายรวมกับอาหารปกติในซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยที่เราไม่รู้ตัว นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาพืชจีเอ็มโอยัดเยียดความเชื่อให้กับเราว่า “อาหารกำลังจะหมดโลก ผู้คนนับล้านต่างหิวโหย จีเอ็มโอเท่านั้นจะที่ลบล้างความยากจนและความหิวโหยเหล่านั้นให้หมดสิ้น”



ถ้าจีเอ็มโอทำได้อย่างที่อวดอ้างจริง ... ทำไมภาพความยากจนและผู้คนอดอยากถึงมีให้เห็นอยู่จนชินตาไม่เว้นแต่ละวันและมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ... ในเมื่อความอดอยากหิวโหยยังคงอยู่ ความยากจนกลายเป็นสมบัติที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น


ความอดอยากกับความยากจนมักเป็นของคู่กันเสมอๆ แต่การ “แก้ปัญหา” ด้วยจีเอ็มโอได้ปิดบังปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของความอดอยาก ดังนั้นการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ในการเพาะปลูกเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือขจัดความอดอยากและความยากจนที่เป็นปัญหามานานนับร้อยๆปีได้  


ย้อนกลับมาที่รายงานของ ISAAA ที่ดิฉันอุตส่าห์เกริ่นมาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นที่มาที่ทำให้ดิฉันอยากลุกขึ้นมานำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแต่ถูกบิดเบือนในรายงานของ ISAAA ที่พยายามทำให้เราหลงไหลไปว่าพืชจีเอ็มโอได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคและเกษตรกร และการปลูกพืชจีเอ็มโอมีทิศทางการเติบโตที่สวยหรูซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด 


ISAAA ระบุว่าทั่วโลกมีการปลูกพืชจีเอ็มโอทั้งหมด “1,000 ล้านเฮกเตอร์...” “โอ้โหตั้ง 1,000 ล้านเฮกเตอร์” ดิฉันเปรยกับตัวเองด้วยความรู้สึกกังขาในข้อมูลที่ ISAAA นำเสนออย่างมาก เพราะจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ของพืชจีเอ็มโอทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ทำให้สำหรับดิฉันตัวเลขดังกล่าวดูจะเกินจริงไปมาก เลยต้องทำสมาธิอ่านรายงานและเอาข้อมูลของ ISAAA ที่มีในรายงานมาแจกแจงใหม่จนจบ ทำให้เข้าใจว่า แหม... 1,000 ล้านเฮกเตอร์ที่ว่านี้จริงๆก็คือพื้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอที่เค้าเก็บรวบรวมทั้งหมดนับย้อนหลังไป 15 ปี เฮ้อ...นี่ถ้าใครเผลอๆอาจจะละเมอแล้วไขว้เขวกับตัวเลขของ ISAAA เอาได้ง่ายๆ


ดิฉันนำตัวเลขของ ISAAA มาคำนวณและแจกแจงใหม่ทำให้พบทิศทางของพืชจีเอ็มโอในมุมที่ต่างไป คือ มีเกษตรกรรายย่อยเพียง 0.6% ทั่วโลก (2,600 ล้านคน) เท่านั้นที่ปลูกพืชจีเอ็มโอ และ 90% เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชจีเอ็มโอใน 5 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, บราซิล, อาร์เจนติน่า และอินเดีย ISAAA พยายามทำให้ตัวเลขนี้ดูน่าสนใจ แต่สำหรับดิฉันตัวเลขดังกล่าวไม่มีนัยสำคัญใดๆเลย เพราะการปลูกพืชจีเอ็มโอเพื่อการค้านั้นมีมากว่า 15 ปีแล้ว แต่จำนวนเกษตรกรที่ปลูกพืชจีเอ็มโอก็ยังคงจำกัดอยู่เพียง 0.6% เท่านั้นเอง



ถ้าจะพูดถึงจีเอ็มโอแล้วไม่เอ่ยถึงยุโรปก็คงไม่ได้ เพราะสหภาพยุโรปถือเป็นผู้นำเข้าสำคัญของโลกตลอดหนึ่งเช่นกัน ข้อมูลอย่างเป็นทางการจากสหภาพยุโรป หรือ EU แสดงให้เห็นว่าในปีค.ศ.2010 พื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอ MON810 ในยุโรปลดลง 13% เมื่อเปรียบเทียบกับปีค.ศ.2009 และสหภาพยุโรปประกาศห้ามไม่ให้มีการปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอดังกล่าวใน 7 ประเทศ เนื่องจากข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยที่ประเทศโรมาเนียปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอน้อยลงถึง 75% และพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจีเอ็มโอรายใหญ่ที่สุดของโรมาเนียได้ยกเลิกการปลูกพืชจีเอ็มโอดังกล่าวแล้วและกล่าวหามอนซานโต้บริษัทเจ้าของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอที่เขานำมาปลูกว่า “ไม่ให้ผลผลิตตามที่กล่าวอ้าง”


อีกข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ ผลจากการทำโพลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในยุโรปโดย Eurobarometer พบว่าผู้บริโภคยุโรปกว่า 61% ต่อต้านพืชจีเอ็มโอ ซึ่งสวนทางกับทิศทางการขยายตัวของการปลูกพืชจีเอ็มโอซึ่งโดยรวมแล้วมีการปลูกพืชจีเอ็มโอลดลงทั่วโลก ก็เพราะข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยในอาหารจีเอ็มโอซึ่งไม่เคยได้รับความกระจ่างว่าจะปลอดภัยกับผู้บริโภคอย่างเราๆ 100% ทำให้คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเอาตัวเองเป็นหนูทดลองจีเอ็มโอ และเลือกหาอาหารที่แท้จริงที่ปลอดภัย นั่นคือ อาหารธรรมชาติ


อีกหนึ่งข้อสังเกตที่ละเลยไม่ได้นั่นคือ ทั่วโลกมีการปลูกพืชจีเอ็มโอเชิงพาณิชย์ใน ข้าวโพด เรปซีด และฝ้าย เท่านั้น ซึ่งพืชดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้โลกพ้นจากความอดอยากหิวโหยเลยแม้แต่น้อย เพราะพืชเหล่านี้ไม่ใช่อาหารหลักและไม่เคยตกถึงมือผู้ที่หิวโหยหรือคนยากจนจริงๆ แต่กลับถูกป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ใช้เป็นอาหารสัตว์ในบางประเทศเท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยที่นำมาวางขายเป็นอาหารคน คำถามที่ยังเหลืออยู่ในใจดิฉัน คือ ตลอด 15 ปีของการผลักดันพืชจีเอ็มโอที่ผ่านมา ผลประโยชน์ตกอยู่ที่ใคร???








 

Create Date : 14 มีนาคม 2554   
Last Update : 14 มีนาคม 2554 12:21:09 น.   
Counter : 1112 Pageviews.  


รวยทางเลือก จนทางออก



นายสมมติเป็นเจ้าหน้าที่ของการผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศไทย หน้าที่หลักของเขาคือการทำให้ชาวบ้านเข้าใจและยอมรับโครงการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ให้ได้ งานแรกของเขาและทีมคือการลงปฏิบัติงานในพื้นที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช  วันนี้สมมติเดินไปเรื่อยๆ เพื่อสังเกตการเตรียมงานคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เห็นลุงจริงกำลังเตรียมป้ายรณรงค์และบล็อกสกรีนเสื้อหยุดถ่านหิน  การพูดคุยบนชายหาดของคนสองวัยจึงเริ่มต้นขึ้น


สมมติ     : ลุงคิดว่าคนท่าหลา รวยม้าย?


ลุงจริง    : รวยหรือไม่รวย ลุงไม่รู้หรอก รู้แต่ว่ามีกินตลอดชาติหากรักษาเล แผ่นดิน ผืนน้ำและอากาศให้ดี ตอนนี้ลูกพร้าวขายได้ลูกละ 20 บาท ยางพาราราคาขึ้นแทบทุกเดือน หากินกับเลมีรายได้เดือนละเป็นหมื่น


สมมติ    : ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหินสัก 800 เมกะวัตต์ คนที่นี่ก็จะใช้ไฟได้เต็มที่?


ลุงจริง   : คนคอนใช้ไฟทั้งเหม็ด 320 เมกะวัตต์ คนท่าหลาใช้ไฟประมาณ 10 เมกะวัตต์ แล้วที่เหลือเอาไปไหนละไอ้เหม๋อ


สมมติ     : ถ้าส่งไฟขายให้โรงงานอุตสาหรรมขนาดใหญ่ ถ้ามีโรงงานอุตสาหกรรม คนท่าหลาต้องรวยกว่านี้?


ลุงจริง     : ชาวบ้านรวยมลพิษ รวยหนี้สิน รวยมะเร็ง คนรวยจริงคือนายทุนและคนของรัฐที่อนุมัติแผนพลังงาน


สมมติ     :  ถ้ามันเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ลุงว่าพรือ?


ลุงจริง     : นายทุนยืนได้ แต่คนในพื้นที่ไม่มีที่ยืน อย่า


สมมติ     : ถ้าถ่านหินสะอาด?


ลุงจริง     : ถ่านหินสะอาดเมื่อหมาบินได้  


สมมติ     : ถ้าตอนนี้มีเทคโนโลยีกรองเถ้าถ่านหินระหว่างเผา?


ลุงจริง     : กองขี้เถ้าที่อั้นอยู่ในท่อกรอง เอามาทำยิปซัมบล็อกให้ชาวบ้านใช้ ป่าวประกาศว่าโรงไฟฟ้าอยู่ร่วมกับชุมชนได้ แต่ชาวบ้านยังตายผ่อนส่ง ถ้าอยากรอดก็ต้องย้ายออกไป ไอ้ที่บอกว่าพื้นที่นี้ปลอดภัยก็เพราะวางเครื่องวัดมลพิษไว้ไกลจากปากท่อกรอง ไม่เข้าท่าอย่างแรง


สมมติ     : ถ้าเถ้าถ่านหินเล็ดออกมา มันบินไปได้ไม่ไกลหรอก?


ลุงจริง     : ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามา พัดเถ้าถ่านหินคลุ้งไปถึงเขาหลวง ตีกลับมาอำเภอหัวไทร กลับมาตกบ่อน้ำที่วลัยลักษณ์ เกาะที่ใบยางพารา ถมลงเลของคนท่าหลา มันบินไปไม่ไกลหรอกไอ้ลูกบ่าวเหอ เดี๊ยวมันก็บินกลับมาที่เดิม


สมมติ     : ถ้าลุงต้องเสียสละ เพื่อให้ประเทศเจริญ?


ลุงจริง     : น้ำยางพาราหด คนไอไม่หยุด นกเขาไม่ขัน เปิดสปาพอกถ่านหินแทนโคลน แช่ฝนกรดแทนนมแพะ ถ้าชาวบ้านลำบาก ประเทศคงเจริญยาก


สมมติ     : ถ้าลุงต้องเลือก ถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็ต้องเอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถ้าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ต้องเอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


ถ้าไม่คัดค้านก็จะได้ทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ?
ลุงจริง  : ทางเลือกของพลังงานมีตั้งเยอะ ที่อำเภอหัวไทรก็ใช้กังหันลม แดดแรงจนตัวดำเป็นเหนียง ยังบอกว่าแดดไม่พอ แล้วไซร้ ไม่ทดลองหาวิธีและเครื่องมือที่มันเหมาะกับบ้านเรา


สมมติ    : ลุงจะเอาตังที่ไหนไปสู้กับคนพวกนั้น เขามีเงินทำโครงการเป็นพันล้าน?


ลุงจริง  : ตังไม่มี แต่มีแรง เสื้อที่จะใส่รณรงค์ “คนท่าศาลาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ก็ออกตังคนละร้อย เอามาเข้าเป็นกองทุน ลูกเล็กเด็กแดงก็เอาเสื้อเก่ามาสกรีนให้ใส่แทน ส่วนป้ายที่ใช้ขึงหน้าบ้านว่าไม่เอาถ่านหิน ก็ใช้เศษผ้า กระสอบปุ๋ยที่มีเขียน ทางเลือกของการต่อสู้ และทางเลือกใช้พลังงานมีเยอะแยะ ขอแค่ไม่จนทางออกเหมือนรัฐบาล 






 

Create Date : 03 มีนาคม 2554   
Last Update : 3 มีนาคม 2554 8:48:34 น.   
Counter : 1029 Pageviews.  


ศรัทธาแห่งสายน้ำ - ตอน 1

walk01.jpg
walk02.jpg


“การเดินธรรมยาตราจากจากขุนเขาน้ำแม่ปิงสู่ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาจรดอ่าวไทย” เป็นกิจกรรมซึ่งจัดขึ้นโดยคนกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความศรัทธาต่อธรรมชาติ จากการที่ธรรมชาติกำลังถูกทำลายโดยมนุษย์ คนกลุ่มนี้จึงจะเดินบำเพ็ญเพียรเพื่อที่จะรับฟังความในใจของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ที่ส่งผ่านมาจากสายน้ำ รับรู้ถึงปัญหาและสื่อสารไปถึงผู้คนทั้งหลายตลอดระยะทาง 1,200 กิโลเมตร จากต้นน้ำแม่ปิงจนจรดอ่าวไทย กิจกรรมนี้ได้ก่อเริ่มมาจากกลุ่มนักอนุรักษ์รณรงค์ อาทิ คุณนิคม พุทธา และอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้ซึ่งต่างมีประสบการณ์ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมมายาวนานรวมถึงการเดินรณรงค์ในที่ต่างๆ ครั้งนี้จะเป็นการเดินเพื่อรณรงค์อนุรักษ์ “สายน้ำ” โดยมีประเด็นปัญหาต่างๆ มากมายที่แตกต่างกันจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การบริหารจัดการน้ำ ป่าต้นน้ำ เขื่อน ความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนริมน้ำ การเกษตร และปัญหามลพิษ เป็นต้น



โดยวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 เป็นวันเริ่มต้นของกิจกรรม ณ พุทธสถาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการแถลงเกี่ยววัตถุประสงค์ของกิจกรรม แนะนำผู้ที่จะร่วมเดินทาง และทำพิธีบูชาพระอุปคุต บริเวณริมฝั่งน้ำแม่ปิง (บริเวณสะพาน นวรัฐ) ตำนานแต่โบราณได้กล่าวว่า พระอุปคุตท่านเป็นพระเถระสำคัญองค์หนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นพระเถระผู้เปี่ยมด้วยพุทธานุภาพและฤทธิ์เดช สามารถปราบพญามารและกำจัดสิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำลายพิธีกรรมใหญ่ ๆ ดังนั้นจึงเป็นประเพณีความเชื่อของชาวล้านนาสืบมาแต่โบราณที่จะมีการอัญเชิญพระอุปคุตก่อนที่จะมีกิจกรรมสำคัญใดๆ เพื่อมาปกป้องคุ้มครอง สร้างความเป็นสิริมงคล ขวัญและกำลังใจให้สามารถปฏิบัติงานไปได้อย่างราบรื่น ไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใด ๆ มาขัดขวาง


ครั้งนี้พ่อหลวงสมบูรณ์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านสันกับตอง อ.สารภี ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มในการอัญเชิญอัญเชิญพระอุปคุต โดยตั้งอธิฐานจิตและดำลงไปในน้ำเพื่อหาหินหนึ่งก้อนที่มีรูปร่างสวยงามไม่บิดเบี้ยวหรือแตกบิ่น และสมมุติว่าหินก้อนนั้นเป็นพระอุปคุต ขอนิมนต์ไปปราบปรามห้ามมารที่จะมารบกวนงาน จากนั้นจึงนำเอาหินก้อนที่สมมุติว่าคือพระอุปคุตใส่พาน ผู้ที่มาร่วมพิธีจะพรมน้ำส้มป่อย โปรยข้าวตอกดอกไม้ และนิมนต์ร่วมเดินทางไปตลอดกิจกรรมการเดินทาง เมื่องานสำเร็จลุล่วงก็จะต้องนิมนต์ท่านกลับยังที่เดิม


หลังเสร็จพิธี ดร. ประมวล เพ็ญจันทร์ ยังได้แสดงปาฐกถา เรื่อง “จิตวิญญาณ ศรัทธาแห่งสายน้ำ” ในตอนหนึ่งท่านได้กล่าวไว้ว่า “หากเราลบซึ่งความเกลียดชังออกแล้วเปลี่ยนเป็นความศรัทธาเราก็จะพบกับความอัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้น” มันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะที่อาจารย์ประมวลได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินเดีย ท่านได้เคยมีความเกลียดชังในแม่น้ำคงคา เนื่องจากชาวอินเดียจะประกอบพิธีศพและมีการปล่อยน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำคงคา แต่เมื่อท่านได้ละทิ้งซึ่งความเกลียดชังต่อสายน้ำออก ก็ได้พบกับความน่าอัศจรรย์ของสายน้ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีการดำรงชีวิตของชาวอินเดีย ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอินเดีย “หากเราละทิ้งซึ่งจิตสำนึกต่อสายน้ำเราอาจจะลืมว่าสายน้ำก็เปรียบเสมือนน้ำนมของแม่ซึ่งคอยหล่อเลี้ยงชีวิตเรา” อาจารย์ประมวลได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนจบงานปาฐกถา จิตวิญญาณ ศรัทธาแห่งสายน้ำ หลังจากจบขบวนเดินธรรมยาตราก็ได้เดินทางสู่ดอยหลวงเชียงดาว ดินแดนที่หุบเขาเปื้อนหมอก ขบวนเดินทางของเราได้เดินมามาถึงที่เชียงดาวในยามเย็นและได้พักค้างแรมที่ ค่ายเยาวชนเชียงดาว เพื่อร่วมพิธีคารวะจิตวิญญาณแห่งสายน้ำ และเลี้ยงผีขุนน้ำตามวัฒนธรรมของชนเผ่าพื้นเมืองที่ ตำบล เมืองนะ โดยงานจะจัดขึ้นที่หมู่บ้านแม่นะ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสายน้ำ “ปิง” หนึ่งในสายน้ำต้นกำเนิดของ “แม่น้ำเจ้าพระยา”


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------




ในวันที่ 10 พฤศจิกายน ตอนเช้าเราได้เริ่มเปิดวงสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับสายน้ำ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนของการเดินทางอันยาวไกลที่มีระยะเวลาประมาณ 4 เดือนรวมระยะทาง 1200 กิโลเมตร ผู้ที่ร่วมเดินทางประกอบด้วยกลุ่มพระสงฆ์จากวัดต่างๆ รวมถึงหลวงพ่อประจักษ์ (พระนักอนุรักษ์ผืนป่า ป่าดงใหญ่จากการถูกนายทุนบุกรุก และในที่สุดผืนป่าแห่งนี้ก็ได้ถูกผนวกรวมเป็นผืนป่าดงพญาเย็น ซึ่งปัจจุบันได้รับการรับรองเป็นมรดกโลก) และกลุ่มคนทั่วไปที่สนใจ โดยมีคุณนิคม พุทธา เป็นตัวยืนที่จะเดินทางอย่างต่อเนื่อง การเดินทางจะเป็นการเดินภาวนา ไม่รีบเร่ง สัมผัสธรรมชาติโดยรอบและวิถีชีวิตชุมชน


“หากเราคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรให้เราเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราก่อน” เป็นคำพูดของอาจารย์ประมวลที่กล่าวในวงสนทนา ทำให้เราต้องมาคิดตามว่าแม้เราจะมีการณรงค์ มากซักเพียงใด แต่เราไม่ยอมเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงตัวของเราเองก่อนสิ่งที่เราทำไปก็คงไม่สำเร็จ เราได้เคลื่อนขบวนเดินธรรมยาตราไปสู่ วัดถ้ำเมืองนะ ตำบลเมืองนะ ในยามบ่ายเพื่อที่จะประกอบพิธี “เลี้ยงผีขุนน้ำ” ซึ่งเป็นประเพณีที่มีมานับตั้งแต่สมัยโบราณตามความเชื่อของชาวล้านนา เชื่อกันว่าในขุนน้ำหรือต้นน้ำมีเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิทักษ์ปกป้องรักษาป่าต้นน้ำ ทำให้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ตลอดปี ทำให้น้ำไม่แห้งขอดเ มื่อมีน้ำกินน้ำใช้อย่างเหลือเฟือชาวบ้านก็สามารถเพาะปลูกพืชสวนทำไร่ไถนามีอาหารไว้บริโภคตลอดทั้งปี หากปีใดน้ำแห้งมีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ เป็นสัญญาณว่าต้องมีอะไรผิดปกติ หรือมีใครหรือกลุ่มคนได้เข้าไปละเมิดต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือทำอะไรผิดต่อผืนป่าต้นน้ำทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์โกรธจึงลงโทษทำให้สายน้ำแห้งเหือดหรือเกิดน้ำท่วม


ขบวนเดินธรรมยาตรา และชาวเขาเผ่าลาหู่ซึ่งเป็นผู้ที่จะทำพิธี ได้เดินทางด้วยเท้าเข้าไป ณ จุดต้นน้ำปิง พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ซึ่งประกอบด้วย สุรา บุหรี่ หัวหมู ไข่ต้ม ข้าวเหนียวสุก ผลไม้ หมาก พลู รวมทั้งดอกไม้ธูปเทียน จากนั้นผู้ประกอบพิธีซึ่งเป็นผู้เฒ่าภายในหมู่บ้าน จะเข้าไปจุดธูปเทียน แล้วบอกกล่าวเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกปักษ์รักษาต้นน้ำลำธาร มีฝนตกลงมา เพื่อจะให้แม่น้ำลำธารอุดมสมบูรณ์มีน้ำตลอดปีให้เพียงพอต่อการเพาะปลูกตลอดปีและหล่อเลี้ยงชีวิต รวมทั้งกล่าวคำขอขมาลาโทษต่อสิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่เกิดจากบุคคลที่เข้าคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้เข้า ไปล่วงละเมิดต่อผืนป่าต้นน้ำ


หลังจากนั้น หลวงพ่อประจักษ์ก็นำผู้คนทำพิธีบวชป่า เริ่มจากไหว้พระรัตนตรัย สมาทานศีล พระสงฆ์เจิมต้นไม้ เสร็จแล้วพระสงฆ์ จะห่มผ้าเหลืองให้ต้นไม้ จากนั้นประพรมน้ำพระพุทธมนต์ตามต้นไม้ที่บวชไว้ เป็นเสร็จพิธี ต้นไม้ที่เราประกอบพิธีบวชป่านั้นเป็นต้นไทรขนาดใหญ่ ประมาณ 6 คนโอบ หลังจากเสร็จพิธี พ่อหลวงสมบูรณ์ได้พาเดินขึ้นไปชมบริเวณต้นน้ำแม่ปิงก่อนจะถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้วจึงพาคณะเดินธรรมยาตรากลับลงมา


---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------



ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นวันแรกของการเดินธรรมยาตรา จากต้นน้ำปิงสู่ที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาจรดอ่าวไทย การเรียนรู้ทุกย่างก้าวกำลังจะเริ่มขึ้น การเดินในวันแรกนี้เป็นการเดินระยะทางที่ไม่ไกลมากนักเพื่อให้ร่างกายของผู้เดินธรรมยาตราได้ปรับตัว หลังอาหารเช้า ขบวนได้เริ่มออกเดินทางจากวัดถ้ำเมืองนะซึ่งเป็นที่พัก ไปจนถึงห้วยเม่เกี๋ยงซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำแม่ปิงอีกสายหนึ่ง ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร และหยุดพักวันแรกที่วัดถ้ำวัว


ตลอดการเดินทางในครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นการอนุรักษ์สายน้ำของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามรณรงค์รักษาสายน้ำให้คงอยู่สืบต่อไป แต่...เราจะไม่สามารถรักษาสายน้ำไว้ได้ถ้าหากพวกเราทุกคนไม่ช่วยกันดูแล ก้อนหินก้อนเล็กๆไม่อาจหยุดสายลมได้ แต่ถ้าก้อนหินรวมกันเป็นภูเขาก็จะสามารถหยุดสายลมได้ คณะเดินธรรมยาตราก็เปรียบเสมือนก้อนหินก้อนเล็กๆที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงสายน้ำให้ดีขึ้นได้ แต่พวกเราทุกคนเปรียบเสมือนภูเขาที่จะช่วยกันปกป้องสายน้ำได้เพื่ออนาคตเริ่มวันนี้เริ่มที่ตัวเราทุกคน ป่าต้นน้ำกับการเกษตรที่กำลังเปลี่ยนแปลง


ในยามที่ฝนตก พื้นที่ป่าต้นน้ำจะทำหน้าที่เสมือนอ่างเก็บน้ำและฟองน้ำขนาดมหึมาตามธรรมชาติ ที่คอยเก็บกักน้ำในหน้าฝนไม่ให้น้ำฝนที่ตกลงมาไหลออกไปหมดและค่อยๆปลดปล่อยออกในหน้าแล้ง น้ำที่ถูกปล่อยออกมาจะรวมเป็นกันลำธารสายเล็กๆแล้วลำธารก็จะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำ หล่อเลี้ยงชีวิตทั้ง มนุษย์ พืช และสัตว์ ตลอดสายน้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี


“ป่าต้นน้ำ” เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมากเพราะป่าต้นน้ำมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงมากเป็นที่ซึ่งควรแก่การอนุรักษ์ไว้ หากไม่มีซึ่งป่าต้นน้ำการเกษตรก็จะขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกแม่น้ำลำคลองไม่มีน้ำก็จะทำให้ไม่สามารถทำการประมงได้ซึ่งผลกระทบจากการสูญเสียป่าต้นน้ำจะเป็นวงกว้างไม่เพียงมนุษย์ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังรวมไปถึงพืชและสัตว์รวมถึงระบบนิเวศต่างๆที่ต้องใช่น้ำ ป่าต้นน้ำในประเทศไทยของเรากำลังถูกทำลายลงเรื่อยๆด้วยเหตุผลเดิมๆ การบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวที่พักและสนามกอล์ฟ และการลักลอบตัดไม้ เป็นต้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น การขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง น้ำท่วมในหน้าฝน การเสื่อมโทรมลงของระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และการลดลงของพื้นที่ป่าชุมชนหรือป่าสาธารณะของชุมชนซึ่งส่งลต่อการดำรงชีพของผู้คนจำนวนมาก


ป่าต้นน้ำของประเทศไทยส่วนใหญ่กำลังถูกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นแปลงเกษตรเชิงเดี่ยว พี่นิคม พุทธาได้พูดติดตลกในขณะที่เดินไปทำพิธีเลี้ยงผีขุนน้ำที่ต้นน้ำปิงว่า “ถ้าอยากรู้ว่าตรงไหนเป็นเขตของประเทศไทยตรงไหนเป็นเขตพม่าดูง่ายๆ ที่เราเห็นเป็นไร่นั้นละเป็นเขตของประเทศไทยแล้วที่เห็นเป็นแนวป่านั้นเป็นชายแดนพม่า ” เป็นคำพูดติดตลกเล็กๆของพี่นิคม ที่ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า มันเกิดอะไรขึ้นกับป่าต้นน้ำของประเทศไทยในขณะนี้


แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมการตัดไม้เพื่อการพาณิชย์ แต่ก็ยังมีการเปิดป่าเพื่อ การเกษตร ซึ่งยังไม่มีกฎหมายมารองรับในกรณีนี้ ซึ่งเป็นการทำลายป่าต้นน้ำอย่างน่าเสียดาย


การเกษตรเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรที่มากเกินไปทำให้ดินในบริเวณนั้นตาย ตามความเชื่อผิดๆที่ว่าปลูกพืชเพียงชนิดเดียวแล้วจะทำให้ได้กำไรมากกว่าในช่วงที่ผลผลิตดี แต่ความจริงเป็นเหมือนกับเป็นการหนี้โปะหนี้ที่เกษตรกรจำต้องแบกรับเอาไว้ ชาวเกษตรส่วนใหญ่ในบริเวณป่าต้นน้ำนิยมที่จะใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงเพราะเชื่อว่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจะทำให้พวกเข้าได้ผลผลิตที่สูง น่ากังวลว่าการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงในบริเวณต้นน้ำจะทำให้มีการปนเปื้อนสารพิษลงสู่แหล่งน้ำ


ในพื้นที่ชนบทหรือเมืองต่างๆ ในประเทศไทยมักจะพบร้ายขายอุปกรณ์ทางการเกษตรที่ขายปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืชมากมาย รวมถึงโฆษณาขายเคมีเกษตรตลอดถนนหนทางทั่วไป ในทางกลับกัน เรามักไม่ค่อยพบร้านขายปุ๋ยอินทรีย์เลยและน้ำหมักชีวภาพเลย การทำเกษตรบริเวณต้นน้ำทำให้มีเปิดพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นเพื่อสนองต่อการเกษตรกรและนายทุนที่ต้องการพื้นที่มากขึ้น หากไม่มีการควบคุม เราสูญเสียป่าต้นน้ำเป็นบริเวณกว้าง และความเสี่ยงที่จะเกิดการปนเปื้อนของสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งระบบ รวมถึงมนุษย์


น้ำ ตะกอนดินที่ได้รับการปนเปื้อนสารเคมีก็จะทำให้พืชน้ำเกิดการปนเปื้อนสารพิษ สัตว์น้ำที่อยู่ในน้ำที่ปนเปื้อนและบริโภคพืชน้ำก็จะได้รับการสารพิษ สัตว์น้ำขนาดเล็กถูกสัตว์น้ำขนาดใหญ่กินก็จะได้รับสารพิษเพิ่มขึ้นตามลำดับ แล้วมนุษย์ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารที่จับสัตว์น้ำมากินก็จะได้รับสารพิษที่สะสมมาจากสัตว์น้ำเหล่านั้น และเมื่อสะสมในร่างกายมากเข้าก็ก่อให้เกิดการเป็นโรคต่างๆ สิ่งที่เราก่อไว้ไม่ได้จางหายไปไหนหากแต่มันจะกลับมาถึงตัวเราสักวันหนึ่ง หากเรายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงยังคงใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ….


เยี่ยมชมลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

Facebook : ธรรมยาตรา ศรัทธาแห่งสายน้ำ
www.doichiangdaocampingsite.com www.smartsmile-school.com
การพบกันของสายน้ำ อ.ประมวล เพ็งจันทร์
เพลงต้นเจ้าพระยา - ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
ธร รมยาตรา ลำน้ำแม่ปิง - ข่าวสดออนไลน์ 28ธค53
ธรรมยาตรา ศรัทธาสู่สายน้ำ - ทีวีไทย 20ธค53
ขุนเขาลุ่มน้ำแม่ปิง - เกริ่น เขียนชื่น
ภาพฝัน ริมฝั่งสองนทีของสายน้ำแม่ปิง - เกริ่น เขียนชื่น
ก้าวย่างพิเศษดอยหลวง - เกริ่น เขียนชื่น
พิธีกรรมการบูชาพระอุปคุต - เกริ่น เขียนชื่น
สิบห้าชีวิตจากขุนเขา - เกริ่น เขียนชื่น
มิตรภาพระหว่างทางสายน้ำแม่ปิง กับหมา หมา






 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2554   
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2554 8:09:11 น.   
Counter : 1146 Pageviews.  


สภาพอากาศสุดขั้วและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ: เราต้องถกเถียงกันไปอีกนานเท่าไหร่


เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วจะเกิดบ่อยขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้น


ใครก็ตามที่ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับสภาพอากาศสุดขั้วที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีความเข้าใจแต่ก็อาจจะปนความสับสนอยู่บ้างที่มีการพูดถึงความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องต่างๆ เหล่านี้ ก็ดูจะมีน้ำหนักมากขึ้นทุกปี แต่ที่น่าเสียดายก็คือเป็นการพูดวนเวียนซ้ำๆอยู่อย่างเดิม มีแต่คำถามเพียงระยะสั้นๆในแต่ละช่วงที่เกิดเหตุการณ์โดยไม่คำนึงถึงสัญญาณอันตรายที่ใหญ่หลวงและน่ากลัว


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุทกภัยในออสเตรเลีย สื่อให้ความสนใจและทำข่าวอย่างมาก พูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างลา นีน่า กับ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ลา นีน่า เป็นเหตุการณ์ความหนาวเย็นรุนแรงที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและฝั่งตะวันออกในออสเตรเลีย (โดยเฉพาะทางออสเตรเลียตะวันออก) เหตุการณ์ลา นีน่า จะเกิดขึ้นพร้อมๆกับสภาพฝน นักวิทยาศาสตร์บอกว่าอุทกภัยที่รัฐควีนสแลนด์เป็นผลมาจากเหตุการณ์ลา นีน่าปีนี้ ซึ่งมีความรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517


แต่สิ่งที่เรายังไม่แน่ใจนักก็คือ ระดับอันตรายระหว่างความรุนแรงของลา นีน่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในทำนองเดียวกัน เราก็ต้องหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงโดยตรงระหว่างเหตุการณ์วิกฤตสภาพอากาศแต่ละเหตุการณ์ด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องรอไปเรื่อยๆจนเราสามารถเข้าใจถึงความเชื่อมโยงดังกล่าวอย่างถ่องก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการได้ สาเหตุและผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นในแต่ละเหตุการณ์ยากที่จะบอกได้อย่างชัดเจน แต่เรารู้ว่ารูปแบบโดยรวมของเหตุการณ์ความรุนแรงและวิกฤตสภาพอากาศที่เราประสบในแต่ละปีนั้น มีความสอดคล้องกับการคาดการณ์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือผลกระทบจากโลกร้อนที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายแล้ว ถ้าเรายังคงรอพิสูจน์ถึงความเชื่อมโยงให้แน่ชัดระหว่างเหตุการณ์วิกฤตอากาศกับโลกร้อน ในไม่ช้าเราก็จะเผชิญกับความสูญเสียที่ไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ ถ้าตอนนี้เรายังไม่ถึงจุดๆนั้น ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดก็คือ เราต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นกับโลกเราแล้วในขณะนี้ และผลกระทบก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และก่อให้เกิดความสูญเสียในสังคมมากขึ้นด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องเร่งดำเนินการในทุกหนทางที่จะทำให้เรามีโอกาสบรรเทาความถี่ของเหตุการณ์วิกฤตต่างๆลง แม้ว่าจะยังมีความไม่ชัดเจนถึงความเชื่อมโยงอยู่ก็ตาม


30 ตุลาคม 2549 พระภิกษุไทยเดินลุยน้ำที่ท่วมจากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะบิณฑบาตรที่เกาะเกร็ด เกาะที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงต้นปีนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้เตือนว่า ประเทศไทยจะประสบกับสภาพอากาศสุดขั้วบ่อยครั้งขึ้น อันเป็นผลมาจากโลกร้อน

ในปี พ.ศ. 2545 เราได้ทำสารคดีเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์อุทกภัยในยุโรปตะวันออก หมอกควันที่รุนแรงในเอเชีย ภัยน้ำท่วมและภัยแล้งในอินเดียและจีน คลื่นความร้อนในแคนาดา สหรัฐฯ และออสเตรเลีย เรื่องราวดังกล่าวได้อ้างถึงคำพูดของปิแอร์ เวลลิงกา (Pier Vellinga) ซึ่งเป็นนักอุตุนิยมวิทยาที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ว่า
 “อากาศที่ร้อนขึ้นเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ในโลกนี้ มีไม่กี่แห่งที่จะรอดพ้นจากภัยจากสภาพอากาศสุดขั้วได้ เราสามารถพูดได้อย่างมั่นใจพอสมควรว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นี้ กำลังส่งผลต่อความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว”

ในปี พ.ศ. 2546 เราได้พูดว่า “แม้จะไม่มีเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซักครั้งเดียวที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการ เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การที่สภาพภูมิอากาศร้อนขึ้น ก็จะหมายถึงพายุที่มากขึ้น น้ำท่วมมากขึ้น และภัยแล้งรุนแรงขึ้น” เหตุการณ์คลื่นความร้อนและภัยแล้งในยุโรปปีนี้ ก็มีความสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์ 2-3 ปีก่อนหน้านั้น ที่กล่าวว่า
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้อากาศร้อนขึ้นและมีฝนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้พืชเติบโตขึ้น แต่ก็จะตามมาด้วยความแห้งแล้งที่ ยาวนาน แล้วจะทำให้พืชตายลง” โดยมายน์ราต แอนเดรีย (Minerat Andreae) จากสถาบันเคมีแมกซ์ พลังค์ (Max Planck Institute for Chemistry) สิงหาคม ปี พ.ศ. 2544 

ในปี พ.ศ. 2547 เราได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว ที่กำลังกลายเป็นเหตุการณ์ปกติไปแล้วเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและ ในปี พ.ศ. 2550 เราได้รวมรวบแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ที่คาดการณ์รูปแบบสภาพอากาศสุดขั้วและเปลี่ยน แปลงไป ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ฝนตกหนัก และ ภัยแล้งยาวนาน ในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมี การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้เผยแพร่ลงในวารสาร Journal ด้วย ซึ่งเป็นการศึกษาเปรียบเทียบฝนที่ตกตามที่ได้มีการบันทึกไว้กับที่มีการคาดการณ์จากแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปว่า รูปแบบของสภาพอากาศสุดขั้วได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว

สำหรับผมแล้ว เวลากำลังจะหมดไปแล้ว เราสามารถพูดและถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างไม่รู้จบ แต่เหตุการณ์วิกฤตสภาพอากาศแต่ละครั้ง ไม่ว่าความรุนแรงนั้นจะเกี่ยวข้องกับโลกร้อนหรือไม่ อย่างไร ก็จะยิ่งย้ำเตือนถึงผลกระทบและความเสียหายด้านโครงสร้างและความสูญเสียต่อมนุษย์ อีกทั้งยังตอกย้ำให้เห็นถึงความสามารถที่มีอยู่อย่างจำกัดของเรา ทั้งๆที่เรามีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมากมายในการคาดการณ์ การบรรเทาเหตุการณ์ และการฟื้นฟู วิกฤตต่างๆเป็นเครื่องย้ำเตือนที่แสนจะเจ็บปวดถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต้องปฏิวัติพลังงาน (Energy Revolution)


เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่จะต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้


โดย ดร. พอล จอห์นสัน นักวิทยาศาสตร์หลัก แห่งสถาบันห้องค้นคว้าวิจัยกรีนพีซ มหาวิทยาลัยเอ็กเซ็ทเตอร์ และ หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์กรีนพีซสากล (Dr. Paul Johnston is principal scientist at the Greenpeace Research Laboratories at the University of Exeter and Head of the Greenpeace International Science Unit)


Image © Greenpeace / Vinai Dithajohn


แปลและเรียบเรียง สุรัจนา กาญจนไพโรจน์


//www.greenpeace.org/seasia/th/Blog1/blog/32503





 

Create Date : 22 มกราคม 2554   
Last Update : 22 มกราคม 2554 15:54:24 น.   
Counter : 1096 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com